ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 317อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 324อ่านอรรถกถา 7 / 329อ่านอรรถกถา 7 / 664
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ
พุทธานุญาตภัตร เป็นต้น

               [ว่าด้วยสังฆภัต]               
               ข้อว่า น สกฺโกนฺติ สงฺฆภตฺตํกาตุํ มีความว่า ก็แลชนทั้งหลายไม่สามารถทำภัต เพื่อสงฆ์ทั้งมวลได้.
               วินิจฉัยในคำว่า อิจฺฉนฺติ อุทฺเทสภตฺตํ เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               ชนทั้งหลายปรารถนาจะทำภัต เพื่อภิกษุที่ตนได้ ด้วยการเจาะจงอย่างนี้ว่า ขอท่านจงให้ภิกษุรูป ๑ หรือ ๒ รูป ฯลฯ หรือ ๑๐ รูปเจาะจงจากสงฆ์.
               ชนอีกพวกหนึ่ง ปรารถนาจะกำหนดจำนวนภิกษุอย่างนั้นเหมือนกัน นิมนต์แล้วทำภัตเพื่อภิกษุเหล่านั้น.
               อีกพวกหนึ่ง ปรารถนาจะกำหนดสลาก นิมนต์แล้วทำภัตเพื่อภิกษุเหล่านั้น.
               อีกพวกหนึ่ง ปรารถนาจะทำภัตเพื่อภิกษุรูป ๑ หรือ ๒ รูป ฯลฯ หรือ ๑๐ รูป กะไว้อย่างนี้ว่า ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต ภัตมีประมาณเท่านี้ ได้โวหารนี้ว่า อุทเทสภัต นิมันตนภัต ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง แม้หากว่าชนเหล่านั้น ไม่สามารถจะทำสังฆภัตได้ในคราวทุพภิกขภัย, แต่จักสามารถทำสังฆภัตได้อีกในคราวมีภิกษาหาได้ง่าย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงรวมแม้ซึ่งสังฆภัตนั้นไว้ในจำนวนด้วย ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆภัต อุทเทสภัต ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาภัตเหล่านั้น ในสังฆภัตไม่มีลำดับเป็นธรรมดา, เพราะฉะนั้น ในสังฆภัตนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ควรกล่าวอย่างนี้ว่า ๑๐ วันหรือ ๑๒ วัน ทั้งวันนี้แล้ว เฉพาะพวกเราฉัน, บัดนี้ท่านจงนิมนต์ภิกษุมาจากที่อื่นเถิด. ทั้งไม่ได้เพื่อจะกล่าวอย่างนี้ว่า ในวันก่อนๆ พวกเราไม่ได้เลย, บัดนี้ท่านจงให้พวกเรารับสังฆภัตนั้นบ้าง ดังนี้. เพราะว่า สังฆภัตนั้น ย่อมถึงแก่ภิกษุผู้มาแล้วๆ เท่านั้น.

               [ว่าด้วยอุทเทสภัต]               
               ส่วนในอุทเทสภัตเป็นต้น มีนัยดังนี้ :-
               เมื่อพระราชาหรือมหาอมาตย์ของพระราชา ส่งคนไปนิมนต์ว่า ท่านจงเจาะจงสงฆ์ นิมนต์มาเท่านี้รูป ดังนี้ พระภัตตุทเทสก์ พึงแจ้งเวลาถามหาลำดับ, ถ้าลำดับมี พึงให้รับตั้งแต่ลำดับนั้น, ถ้าไม่มีพึงให้รับตั้งแต่เถรอาสน์ลงมา, พระภัตตุทเทสก์อย่าพึงข้ามลำดับ แม้แห่งภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเสีย. อันภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเหล่านั้น เมื่อจะรักษาธุดงค์ จักให้ข้ามเสียเอง.
               เมื่อให้รับอยู่โดยวิธีอย่างนี้ พระมหาเถระผู้มีปกติเฉื่อยชา มาภายหลัง, อย่ากล่าวกะท่านว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังให้ภิกษุ ๒๐ พรรษารับ, ลำดับของท่านเลยไปเสียแล้ว. พึงเว้นลำดับไว้ ให้พระมหาเถระเหล่านั้นรับเสร็จแล้วจึงให้รับตามลำดับในภายหลัง.
               ภิกษุทั้งหลายได้ฟังข่าวว่า ที่สำนักโน้น อุทเทสภัตเกิดขึ้นมาก จึงพากันมาแม้จากสำนักซึ่งมีระยะคั่นกันโยชน์หนึ่ง. พึงให้ภิกษุเหล่านั้นรับจำเดิมแต่สถานที่พวกเธอมาทันแล้วๆ ยืนอยู่.
               เมื่ออันเตวาสิกเป็นต้น จะรับแทนอาจารย์และอุปัชฌาย์แม้ผู้มาไม่ทัน แต่เข้าอุปจารสีมาแล้ว พึงให้รับเถิด.
               พวกเธอกล่าวว่า ท่านจงให้รับแทนภิกษุทั้งหลายผู้ตั้งอยู่นอกอุปจารสีมา, อย่าให้รับ. แต่ถ้าว่า ภิกษุผู้อยู่ที่ประตูสำนักหรือที่ภายในสำนักของตน เป็นผู้เนื่องเป็นอันเดียวกันกับภิกษุทั้งหลายผู้เข้าอุปจารสีมาแล้ว. สีมาจัดว่า ขยายออกด้วยอำนาจบริษัท เพราะฉะนั้น พึงให้รับ.
               แม้ให้แก่สังฆนวกะแล้ว ก็ควรให้ภิกษุทั้งหลายผู้มาภายหลังรับเหมือนกัน. แต่เมื่อส่วนที่ ๒ ได้ยกขึ้นสู่เถรอาสน์แล้ว ส่วนที่ ๑ ย่อมไม่ถึงแก่ภิกษุผู้มาทีหลัง. พึงให้รับตามลำดับพรรษาตั้งแต่ส่วนที่ ๒ ไป.
               ในสำนักหนึ่ง อุทเทกภัตที่ทายกกำหนดสถานที่แจกภัตไว้แห่งหนึ่งแล้ว บอกในที่ใดที่หนึ่งในอุปจารสีมาแม้มีประมาณคาวุตหนึ่ง ต้องให้รับในสถานที่แจกภัตนั้นแล.
               ทายกผู้หนึ่งส่งข่าวแก่ภิกษุรูปหนึ่งว่า เฉพาะพรุ่งนี้ ขอท่านเจาะจงสงฆ์ส่งภิกษุไป ๑๐ รูป. ภิกษุนั้นพึงบอกเนื้อความนั้นแก่พระภัตตุทเทสก์ ถ้าวันนั้นลืมเสีย, รุ่งขึ้นต้องบอกแต่เช้า. ถ้าลืมเสียแล้วจะเข้าไปบิณฑบาต จึงระลึกได้, สงฆ์ยังไม่ก้าวล่วงอุปจารสีมาเพียงใด, พึงให้รับเนื่องด้วยลำดับตามปกติในในโรงฉันเพียงนั้น.
               แม้ถ้าภิกษุทั้งหลาย ผู้ก้าวล่วงอุปจารสีมาไปแล้ว เป็นผู้เนื่องเป็นแถวเดียวกันกับภิกษุทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในอุปจารสีมา คือเดินไปไม่ทิ้งระยะกันและกัน ๑๒ ศอก. พึงให้รับเนื่องด้วยลำดับตามปกติ แต่เมื่อความเนื่องเป็นแถวเดียวกันเช่นนั้นของภิกษุทั้งหลายไม่มี, ตนระลึกได้ในที่ใดภายนอกอุปจารสีมา, พึงจัดลำดับใหม่ให้ถือเอาในที่นั้น. เมื่อระลึกได้ที่โรงฉันภายในบ้าน พึงให้ถือเอาตามลำดับในโรงฉัน. ระลึกได้ในที่ใดที่หนึ่งก็พึงให้ถือเอาแท้, จะไม่ให้ถือเอาไม่ควร. เพราะว่าในวันที่ ๒ จะไม่ได้ภัตนั้น.
               หากว่า ทายกบางคนเห็นภิกษุทั้งหลายออกจากที่อยู่ของตนไปสู่สำนักอื่น จึงขอให้แจกอุทเทสภัต.
               ภิกษุทั้งหลายในภายในที่ใกล้เคียงกับภิกษุทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในอุปจารสีมา เป็นผู้เนื่องเป็นแถวเดียวกัน ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นเองเพียงใด, พึงให้ถือเอาด้วยอำนาจลำดับในที่อยู่ของตนนั่นแลเพียงนั้น.
               ส่วนอุทเทสภัตที่ทายกถวายภิกษุทั้งหลายผู้ตั้งอยู่นอกอุปจาร เมื่อเขากล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงแสดงภิกษุเพียงเท่านี้รูปจากสงฆ์ ดังนี้ พึงให้ถือเอาตามลำดับแห่งภิกษุผู้มาทัน.
               แม้ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในที่ไกล โดยนัยคือเนื่องเป็นแถวเดียวกัน ไม่ทิ้งระยะกัน ๑๒ ศอกนอกอุปจารนั้นนั่นแล พึงทราบว่า ผู้มาทันเหมือนกัน.
               ถ้าภิกษุทั้งหลายไปสู่สำนักใด, เขาบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เข้าไปในสำนักนั้นแล้ว ; พึงถือเอาด้วยอำนาจลำดับแห่งสำนักนั้น.
               แม้ถ้าทายกคนใดคนหนึ่ง พบภิกษุที่ประตูบ้าน หรือที่ถนน หรือที่ทาง ๔ แพร่ง หรือในละแวกบ้าน จึงบอกภัตที่จะพึงแสดงจากสงฆ์ ให้ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ภายในอุปจารในที่นั้นถือเอา.
               ก็บรรดาอุปจารแห่งประตูบ้านเป็นต้นนี้ อุปจารเรือน พึงทราบด้วยอำนาจแห่งเรือนเหล่านี้ คือ :-
               เรือนหลังเดียว มีอุปจารเดียว, เรือนหลังเดียว ต่างอุปจารกัน. เรือนต่างหลังกัน มีอุปจารเดียวกัน, เรือนต่างหลังกัน ต่างอุปจารกัน.
               ในเรือนเหล่านั้น เรือนใดของสกุลหนึ่ง เป็นที่พึงใช้สอย (แต่ออกโดยประตูเดียวกัน), เรือนนั้น ชื่อว่ามีอุปจารเดียวในร่วมในแห่งแดนกำหนดชั่วกระด้งตก.
               อุทเทสลาภที่เกิดขึ้นในเรือนนั้น ย่อมถึงแก่ภิกษุทั้งปวงผู้ยืนอยู่ แม้ด้วยภิกขาจารวัตรในอุปจารนั้น นี้ชื่อว่าเรือนหลังเดียวมีอุปจารเดียว.
               ส่วนเรือนใดหลังเดียว เขากั้นฝาตรงกลาง เพื่อต้องการอยู่สบายสำหรับภรรยา ๒ คน ทำประตูสำหรับใช้สอยคนละทาง, อุทเทสลาภที่เกิดขึ้นในเรือนนั้น ไม่ถึงแก่ภิกษุผู้อยู่ภายในห้องฝาด้านหนึ่ง ถึงแก่ภิกษุผู้นั่งอยู่ในที่นั้นเท่านั้น, นี้ชื่อว่าเรือนหลังเดียว ต่างอุปจารกัน.
               ส่วนในเรือนใด เขานิมนต์ภิกษุเป็นอันมากให้นั่งเนื่องเป็นกระบวนเดียวกัน ตั้งแต่ภายในเรือนจนเต็มหลามไปถึงเรือนเพื่อนบ้านผู้คุ้นเคย, อุทเทสลาภที่เกิดขึ้นในเรือนนั้น ถึงแก่ภิกษุทั่วทุกรูป.
               เรือนแม้ใดของต่างสกุล เขาไม่ทำฝากั้นกลางใช้สอยทางประตูเดียวกันนั่นเอง, แม้ในเรือนนั้น ก็มีนัยนี้แล. นี้ชื่อว่าต่างเรือนมีอุปจารเดียวกัน.
               ก็อุทเทสลาภใด เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งในเรือนต่างสกุล, ภิกษุทั้งหลายย่อมเห็นกันทางช่องฝาก็จริง, ถึงกระนั้น อุทเทสลาภนั้นย่อมถึงแก่ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งในเรือนนั้นๆ เท่านั้น. นี่ชื่อว่าต่างเรือนต่างอุปจารกัน.
               อนึ่ง ภิกษุใดได้อุทเทสภัตที่ประตูบ้าน ถนนและทาง ๔ แพร่งสถานใดสถานหนึ่ง, เมื่อภิกษุอื่นไม่มี จึงให้ถึงแก่ตนเสียแล้ว จะได้อุทเทสภัตอื่นในที่นั้นนั่นเอง แม้ในวันรุ่งขึ้น. ภิกษุนั้นเห็นภิกษุอื่นใดเป็นนวกะหรือแก่ก็ตาม พึงให้ภิกษุนั้นรับ. ถ้าว่า ไม่มีใครๆ เลย, ถึงแก่ตนแล้วฉันเถิด.
               หากว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายนั่งคอยเวลาอยู่ที่โรงฉัน อุบาสกบางคนมากล่าวว่า ท่านจงให้บาตรที่เจาะจงจากสงฆ์ ท่านจงให้บาตรเฉพาะจากสงฆ์ ท่านจงให้บาตรของสงฆ์. อุทเทสบาตรควรให้ภิกษุรับตามคำสั่งแล้วให้ไปเถิด.
               แม้ในคำที่เขากล่าวว่า ท่านจงให้ภิกษุเจาะจงจากสงฆ์ ท่านจงให้ภิกษุเฉพาะจากสงฆ์ ท่านจงให้ภิกษุเป็นของสงฆ์ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ก็ในเรื่องอุทเทสภัตนี้ จำต้องปรารถนาพระภัตตุทเทสก์ ผู้มีศีลเป็นที่รัก มีความละอาย มีความฉลาด. ภิกษุผู้ภัตตุทเทสก์นั้นพึงถามลำดับ ๓ ครั้ง ถ้าไม่มีใครๆ ทราบลำดับ พึงให้ถือเอาที่เถรอาสน์. แต่ถ้าภิกษุบางรูปกล่าวว่า ข้าพเจ้าทราบภิกษุ ๑๐ พรรษาได้ พึงถามว่า ผู้มีอายุ ๑๐ พรรษามีไหม? ถ้าภิกษุได้ฟังคำของเธอจึงบอกว่า เรา ๑๐ พรรษา เรา ๑๐ พรรษาแล้วมากันมาก. อย่าพึงกล่าวว่า ถึงแก่ท่าน ถึงแก่ท่าน พึงสั่งว่า พวกท่านจงเงียบเสียงทั้งหมด แล้วจัดตามลำดับ.
               ครั้นจัดแล้ว พึงถามอุบาสกว่า ท่านต้องการภิกษุเท่าไร ?
               เมื่อเขาตอบว่า เท่านี้เจ้าข้า แล้วอย่าพึงกล่าวว่า ถึงแก่ท่าน ถึงแก่ท่าน พึงถามถึงจำนวนพรรษา ฤดู ส่วนแห่งวันและเงาของภิกษุผู้มาใหม่กว่าทุกรูป.
               ถ้าเมื่อกำลังถามถึงเงาอยู่ ภิกษุผู้แก่กว่ารูปอื่นมาถึง, พึงให้แก่เธอ, ถ้าเมื่อถามถึงเงาเสร็จแล้วสั่งว่า ถึงท่านด้วย ดังนี้ ภิกษุผู้แก่กว่ามาถึง ก็หาได้ไม่.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุผู้แก่กว่า นั่งด้วยความชักช้าแห่งถ้อยคำก็ดี หลับเสียก็ดี อุทเทสภัตที่ให้ภิกษุผู้ใหม่กว่า ถือเอาแล้ว ก็เป็นอันให้ถือเอาเสียแล้วด้วยดี, ข้ามเลยไปเสีย ก็เป็นอันข้ามเลยไปด้วยดี. เพราะว่า ธรรมดาของที่ควรแจกกันนั้น ย่อมถึงแก่ภิกษุผู้มาทันเท่านั้น, ความเป็นผู้มาทันในที่นั้น พึงกำหนดด้วยอุปจาร.
               ก็แล ภายในโรงฉัน เครื่องล้อมเป็นอุปจาร. ลาภย่อมถึงแก่ภิกษุผู้อยู่ในอุปจารนั้น ฉะนี้แล.
               ทายกบางคน ใช้คนให้นำอุทเทสบาตร ๘ บาตรมาจากโรงฉัน บรรจุโภชนะประณีตเต็ม ๗ บาตร ใส่น้ำเสียบาตรหนึ่ง ส่งไปยังโรงฉันคนถือมา ไม่พูดว่ากระไร ประเคนไว้ในมือภิกษุทั้งหลายแล้วหลีกไป. ภัตใดภิกษุใดได้แล้ว ภัตนั้นย่อมเป็นของภิกษุนั้นนั่นแล.
               ส่วนน้ำภิกษุใดได้ พึงงดลำดับแม้ที่ข้ามเลยไปแล้วของภิกษุนั้นเสีย ให้เธอถือเอาอุทเทสภัตส่วนอื่น.
               ก็แล เธอได้อุทเทสภัตส่วนนั้น จะทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม มีไตรจีวรเป็นบริวารก็ตาม ภัตนั้น ย่อมเป็นของเธอทั้งนั้น.
               จริงอยู่ ลาภเช่นนี้เป็นบุญพิเศษของเธอ, แต่เพราะน้ำไม่ใช่อามิส เพราะฉะนั้น เธอจึงต้องได้อุทกเทสภัตอื่น.
               แต่ถ้าชนผู้ถือมานั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ภัตทั้งปวงนี้ ท่านจะแบ่งกันฉันเองเถิด ดังนี้ แล้วจึงไป. น้ำอันภิกษุทั้งปวงพึงแบ่งกันดื่ม.
               แต่เมื่อทายกกล่าวว่า ท่านเจาะจงเฉพาะสงฆ์ให้พระมหาเถระ ๘ รูป, ให้ภิกษุปูนกลาง, ให้ภิกษุใหม่, ให้สามเณรผู้มีปีครบ, ให้ภิกษุผู้กล่าวมัชฌิมนิกายเป็นต้น จงให้ภิกษุผู้เป็นญาติของข้าพเจ้า.
               ภิกษุผู้ภัตตุทเทสก์พึงชี้แจงว่า อุบาสก ท่านพูดอย่างนี้, แต่ลำดับของท่านเหล่านั้นยังไม่ถึง ดังนี้แล้ว พึงให้เนื่องด้วยลำดับนั้นเอง
               อนึ่ง เมื่อภิกษุหนุ่มและสามเณรได้อุทเทสภัตกันแล้ว, ถ้าในเรือนของพวกทายก มีการมงคล, พึงสั่งว่า พวกเธอจงนิมนต์อาจารย์และอุปัชฌาย์ของเธอมาเถิด.
               ก็ในอุทเทสภัตใด ส่วนที่ ๑ ถึงแก่สามเณร ส่วนรองถึงแก่พระมหาเถระทั้งหลาย ในอุทเทสภัตนั้น สามเณรย่อมไม่ได้เพื่อจะไปข้างหน้าด้วยทำในใจว่า เราทั้งหลายได้ส่วนที่ ๑ พึงไปตามลำดับเดิมนั่นแล.
               เมื่อทายกกล่าวว่า ท่านจงเจาะจงจากสงฆ์มาเองเถิด ดังนี้ ภิกษุพึงกล่าวว่า สำหรับเรา ท่านจักทราบได้โดยประการอื่นบ้าง แต่ลำดับย่อมถึงอย่างนี้ แล้วพึงให้ถือเอาด้วยอำนาจแห่งลำดับนั่นแล.
               หากว่า เขากล่าวว่า ท่านจงให้บาตรที่อุทิศจากสงฆ์ ดังนี้ เมื่อบาตรอันพระภัตตุทเทสก์ยังไม่ทันสั่งให้ถือ ก็ฉวยเอาบาตรของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งบรรจุเต็มนำมา. แม้อุทเทสภัตที่เขานำมาแล้วพึงให้ถือเอาตามลำดับเหมือนกัน.
               ชนผู้หนึ่ง ซึ่งเขาใช้ไปว่า ท่านจงนำบาตรเจาะจงสงฆ์มา ดังนี้กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจงมอบบาตรใบหนึ่ง เราจักนำนิมันตนภัตมาถวาย, ถ้าชนนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า ผู้นี้มาจากเรือนอุทเทสภัต จึงถามว่า ท่านมาจากเรือนโน้นมิใช่มิหรือ? จึงตอบว่า ถูกแล้ว ท่านผู้เจริญ ไม่ใช่นิมันตนภัต เป็นอุทเทสภัต, พึงให้ถือเอาตามลำดับ.
               ฝ่ายชนใด ซึ่งสั่งเขาว่า จงบำบาตรลูกหนึ่งมา จึงย้อนถามว่า จะนำบาตรอะไรมา ได้รับตอบว่า จงนำมาตามชอบใจของท่าน ดังนี้ แล้วมา ; ชนนี้ ชื่อ วิสสัฏฐทูต (คือทูตที่เขายอมตามใจ) เขาต้องการบาตรเฉพาะสงฆ์ หรือบาตรตามลำดับ หรือบาตรส่วนตัวบุคคล อันใด พึงให้บาตรนั้นแก่เขา.
               ผู้หนึ่งเป็นคนโง่ไม่ขลาด ซึ่งเขาใช้ไปว่า จงนำบาตรเฉพาะสงฆ์มาดังนี้ ไม่เข้าใจที่จะพูด จึงยืนนิ่งอยู่, ภิกษุไม่ควรถามเขาว่า ท่านมาหาใคร หรือว่า ท่านจักนำบาตรของใครไป เพราะว่า เขาถูกถามอย่างนั้นแล้ว จะพึงตอบเลียนคำถามว่า มาหาท่าน หรือว่า จักนำบาตรของท่านไป. เพราะเหตุที่กล่าวนั้น ภิกษุเหล่าอื่นจะพากันชัง ไม่พึงแลดูภิกษุนั้นก็ได้. ที่เหมาะควรถามว่า ท่านจะไปไหน? หรือว่า ท่านเที่ยวทำอะไร.
               เมื่อเขาตอบว่า มาเพื่อต้องการบาตรเฉพาะสงฆ์ ดังนี้ พึงให้ภิกษุถือเอาแล้ว ให้บาตรไป.
               ที่จัดว่า ลำดับโกงมีอยู่ชนิดหนึ่ง. จริงอยู่ ในพระราชนิเวศน์หรือในเรือนของราชมหาอำมาตย์ ถวายอุทเทสภัตอย่างประณีตยิ่ง ๘ ที่เป็นนิตย์ ภิกษุทั้งหลายจัดอุทเทสภัตเหล่านั้น ให้เป็นภัตที่จะพึงถึงแก่ภิกษุรูปละครั้ง ฉันตามลำดับแผนกหนึ่ง.
               ภิกษุบางพวกคอยกำหนดลำดับของตนว่า พรุ่งนี้แล จักถึงแก่พวกเรา ดังนี้ แล้วไป.
               ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านั้น ยังมิทันจะมา ภิกษุอาคันตุกะเหล่าอื่นมานั่งที่โรงฉัน. ในขณะนั้นเอง ราชบุรุษพากันกล่าวว่า ท่านจงให้บาตรสำหรับปณีตภัต พวกภิกษุอาคันตุกะไม่ทราบลำดับ จะให้ภิกษุทั้งหลายถือเอา. ในขณะนั้นเอง ภิกษุผู้ทราบลำดับก็พากันมา จึงถามว่า ท่านให้ถือเอาอะไร.
               ภิกษุอาคันตุกะตอบว่า ปณีตภัตในพระราชนิเวศน์ ตั้งแต่พรรษาเท่าไรไป? ตั้งแต่พรรษาเท่านี้ไป.
               พวกภิกษุผู้ทราบลำดับ พึงห้ามว่า อย่าพึงให้ถือ แล้วให้ถือเอาตามลำดับ.
               ภิกษุทั้งหลายผู้ทราบลำดับมาแล้ว ในเมื่อภิกษุอาคันตุกะให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาแล้วก็ดี, มาแล้วในเวลาที่จะให้บาตรก็ดี, มาแล้วในเวลาที่ให้ไปแล้วก็ดี, มาแล้วในเวลาที่ราชบุรุษยังบาตรให้เต็มนำมาจากพระราชนิเวศน์ก็ดี, มาแล้วในเวลาที่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายถือบิณฑบาต ซึ่งพระราชาทรงใช้ราชบุรุษไปว่า วันนี้ ภิกษุทั้งหลายจงมาเองเถิด ดังนี้แล้ว ทรงประเคนบิณฑบาตในมือของภิกษุทั้งหลายนั้นแล มาแล้วก็ดี, พึงห้ามว่า อย่าฉัน แล้วพึงให้ภิกษุทั้งหลายนถือเอาตามลำดับเถิด.
               หากว่า พระราชาทรงนิมนต์ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นฉันแล้ว ยังบาตรของพวกเธอให้เต็มแล้วถวายด้วย. ภัตที่เธอนำมา พึงให้ถือเอาตามลำดับ แต่ถ้ามีภัตเพียงเล็กน้อยที่เขาใส่ในบาตร ด้วยคิดว่า ภิกษุทั้งหลายอย่าไปมือเปล่า. ภัต ไม่พึงให้ถือเอา.
               พระมหาสุมัตเถระกล่าวว่า ถ้าฉันเสร็จแล้วมีบาตรเปล่ากลับมา ภัตด้วยสินใช้. ภิกษุผู้ไม่ทราบลำดับ พึงนั่งรอจนกว่าภิกษุผู้ทราบจะมา, แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ภัตที่ฉันแล้ว เป็นอันฉันแล้วด้วยดี, แต่ไม่พึงให้เธอถึงเอาภัตอื่น ในที่ๆ ถึงเข้าในบัดนี้. บิณฑบาตหนึ่งมีราคาหนึ่งร้อย มีไตรจีวรเป็นบริวาร ถึงแก่ภิกษุไม่มีพรรษา ถ้าว่า ต่อล่วงไป ๖๐ ปี บิณฑบาตเห็นปานนั้นอื่น จึงเกิดขึ้นอีกไซร้.
               ถามว่า บิณฑบาตนี้ จะพึงให้ถือเอาตามลำดับภิกษุผู้ไม่มีพรรษา หรือว่า จะพึงให้ถือเอาตามลำดับภิกษุผู้มีพรรษา ๖๐?
               ตอบว่า ในอรรถกถาทั้งหลายท่านกล่าวว่า พึงให้ถือเอาตามลำดับภิกษุผู้มีพรรษา ๖๐, เพราะว่า ภิกษุนี้รับลำดับแล้วก็แก่ไปเอง.
               ภิกษุรูปหนึ่งฉันอุทเทสภัตแล้ว (ลาสิกขา) เป็นสามเณร ย่อมได้เพื่อถือเอาภัตนั้น อันถึงตามลำดับแห่งสามเณรอีก. ได้ยินว่า ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้ตกเสียในระหว่าง.
               ฝ่ายสามเณรรูปใด มีปีบริบูรณ์ จักได้อุทเทสภัตในวันพรุ่ง แต่เธออุปสมบทเสียในวันนี้, ลำดับของสามเณรรูปนั้น เป็นอันเลยไป.
               อุทเทสภัตถึงแก่ภิกษุรูปหนึ่ง, แต่บาตรของเธอไม่เปล่า, เธอจึงให้มอบบาตรของภิกษุอื่นซึ่งนั่งใกล้กันไปแทน.
               ถ้าว่า ชนเหล่านั้นนำบาตรนั้นไปเสียด้วยความเป็นขโมย, เป็นสินใช้แก่เธอ. แต่ถ้าว่า ภิกษุนั้นยอมให้ไปเองว่า เราให้บาตรของเราแทนท่าน นี้ไม่เป็นสินใช้.
               แม้ถ้าว่า ภิกษุนั้น เป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยภัตนั้น จึงบอกกะภิกษุอื่นว่า ภัตของเราพอแล้ว, เราให้ภัตนั้นแก่ท่าน ท่านจงส่งบาตรไปให้นำมาเถิด. สิ่งใดเขานำมาจากที่นั้น, สิ่งนั้นทั้งหมด ย่อมเป็นของภิกษุผู้เจ้าของบาตร.
               หากว่า คนที่นำบาตรไปเลยลักไปเสีย, ก็เป็นอันลักไปด้วยดี, ไม่เป็นสินใช้ เพราะเธอได้ให้ภัตแก่เจ้าของบาตร.
               ในสำนักมีภิกษุ ๑๐ รูป ใน ๑๐ รูปนั้น เป็นผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์เสีย ๙ รูป รูป ๑ รับ#- เมื่อทายกกล่าวว่า ท่านจงบอกบาตรสำหรับอุทเทสภัต ๑๐ บาตร ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ ไม่สามารถจะให้ถือเอา ภิกษุนอกนี้รับด้วยคิดว่า อุทเทสภัตทั้งหมด ถึงแก่เรา ดังนี้ ลำดับไม่มี.
               หากว่า เธอรับเอาไว้ให้ถึงทีละส่วนๆ ลำดับย่อมคงอยู่. ภิกษุนั้น ครั้นรับแล้วอย่างนั้น ให้เขานำมาทั้ง ๑๐ บาตรแล้ว ถวาย ๙ บาตรแก่ภิกษุผู้ถือบิณฑปาติกธุดงค์ว่า ขอท่านผู้เจริญ จงทำความสงเคราะห์แก่ข้าพเจ้า ภัตเช่นนี้ จัดเป็นภัตที่ภิกษุถวาย ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุงดงค์สมควรรับ.
               หากว่า อุบาสกนั้นนิมนต์ว่า ท่านผู้เจริญพึงไปเรือน และภิกษุนั้นชวนภิกษุเหล่านั้นว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ จงเป็นเพื่อนข้าพเจ้า ดังนี้แล้ว ไปยังเรือนของอุบาสกนั้น เธอได้สิ่งใดที่ในเรือนนั้น สิ่งนั้นทั้งหมด ย่อมเป็นของเธอเท่านั้น ภิกษุนอกนี้ย่อมได้ของที่เธอถวาย.
               หากว่า อุบาสกนั้นนิมนต์ให้นั่งในเรือนแล้วและถวายน้ำทักษิโณทก แล้วถวายยาคูและของขบเคี้ยวเป็นต้นแก่ภิกษุเหล่านั้น ยาคูเป็นต้นนั้น ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุงดงค์นอกนี้ เฉพาะด้วยถ้อยคำของภิกษุนั้นที่ว่า ท่านผู้เจริญ ชนทั้งหลายถวายสิ่งใด ท่านจงถือเอาสิ่งนั้นเถิด ดังนี้.
               พวกทายกบรรจุภัตลงในบาตรจนเต็มแล้ว ถวายเพื่อต้องการให้ถือเอาไป ภัตทั้งหมดย่อมเป็นของภิกษุนั่นเท่านั้น ภัตที่ภิกษุนั้นให้ จึงควรแก่พวกภิกษุนอกนี้.
               แต่ถ้าว่า ภิกษุผู้ถือบิณฑปาติกธุดงค์เหล่านั้น อันภิกษุนั้นเผดียงไว้ แต่ในสำนักว่า ท่านผู้เจริญ จงรับภิกษาของข้าพเจ้า และสมควรทำตามถ้อยคำของพวกชาวบ้าน ดังนี้ จึงไปไซร้ พวกเธอฉันภัตใดในที่นั้น และนำภัตใดในที่นั้นไป ภัตนั้นทั้งหมดเป็นของพวกเธอเท่านั้น.
               แม้ถ้าว่า พวกเธออันภิกษุนั้นมิได้เผดียงว่า ท่านจงรับภิกษาของข้าพเจ้า แต่ได้รับเผดียงว่า สมควรทำตามคำของพวกชาวบ้าน ดังนี้ จึงไป. หากว่า พวกชาวบ้านฟังภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุเหล่านั้น ผู้ทำอนุโมทนาด้วยเสียงอันไพเราะ และเลื่อมใสในอาการอันสงบระงับของพระเถระทั้งหลาย จงถวายสมณบริขารเป็นอันมาก ลาภนี้ เกิดขึ้นเพราะความเลื่อมใสในเหล่าพระเถระ จัดเป็นส่วนพิเศษ เพราะฉะนั้น ย่อมถึงแก่ภิกษุทั่วกัน.
               ทายกผู้หนึ่ง นำบาตรที่ให้เฉพาะสงฆ์แล้วให้ถือเอาตามลำดับไป บรรจุบาตรเต็มด้วยขาทนียะและโภนียะอันประณีตนำมาถวายว่า ท่านเจ้าข้า สงฆ์ทั้งปวงจงบริโภคภัตนี้ ภิกษุทั้งปวงพึงแบ่งกันฉัน แต่ต้องงดลำดับ แม้ที่ล่วงไปแล้วของภิกษุผู้เจ้าของบาตรเสีย ให้อุทเทสภัตอื่น.
               หากว่า ทายกกล่าวว่า ขอท่านจงมอบบาตรเป็นของเฉพาะสงฆ์ทั้งปวง ให้ก่อนทีเดียว พึงมอบให้บาตรเป็นของภิกษุลัชชีรูปหนึ่ง และเมื่อเขานำมา แล้วกล่าวว่า สงฆ์ทั้งปวงจงบริโภค ดังนี้พึงแบ่งกันฉัน.
               อนึ่ง ทายกผู้นำภัตมาด้วยถาดหนึ่งถวายว่า ข้าพเจ้าขอถวายภัตเฉพาะสงฆ์ อย่าให้รูปละคำ พึงให้กะให้พอยังอัตภาพให้เป็นไปแก่ภิกษุรูปหนึ่งตามลำดับ.
               หากว่า เขานำภัตมาแล้ว ไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรจึงเป็นผู้นิ่งอยู่, อย่าถามเขาว่า ท่านนำมาเพื่อใคร ? ท่านประสงค์จะถวายใคร? เพราะว่า เขาจะพึงตอบเลียนคำถามว่า นำมาเพื่อท่าน ประสงค์จะถวายท่าน. เพราะเช่นนั้น ภิกษุเหล่าอื่นจะพากันชังภิกษุนั้น จะไม่พึงเอาใจใส่เธอ แม้ซึ่งเป็นผู้ควรเอี้ยวคอแลดู.
               แต่ถ้าภิกษุถามว่า ท่านจะไปไหน? ท่านเที่ยวทำอะไร? ดังนี้ เขาจะตอบว่า ข้าพเจ้าถือเอาอุทเทสภัตมา ภิกษุลัชชีรูปหนึ่งพึงให้ถือเอาตามลำดับ.
               ถ้าภัตที่เขานำมามีมาก และพอแก่ภิกษุทั้งปวง ไม่ต้องให้ถือเอาตามลำดับ. พึงถวายเต็มบาตรตั้งแต่เถรอาสน์ลงมา.
               เมื่อทายกกล่าวว่า ขอท่านจงมอบบาตรที่เฉพาะสงฆ์ให้ อย่าถามว่า ท่านจะนำอะไรมา? พึงให้ถือเอาตามลำดับปกตินั่นแล.
               ส่วนข้าวปายาสหรือบิณฑบาตมีรสอันใด สงฆ์ได้อยู่เป็นนิตย์, สำหรับโภชนะประณีตเช่นนั้น พึงจัดลำดับไว้แผนกหนึ่ง. ยาคูพร้อมทั้งของบริวารก็ดี ผลไม้ที่มีราคามากก็ดี ของขบเคี้ยวที่ประณีตก็ดี ควรจัดลำดับไว้แผนกหนึ่งเหมือนกัน. แต่ภัตยาคูผลไม้และของขบเคี้ยวตามปกติ ควรจัดลำดับเป็นอันเดียวกันเสีย.
               เมื่อทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักนำเนยใสมา สำหรับเนยใสทั้งปวง ควรเป็นลำดับเดียวกัน. น้ำมันทั้งปวงก็เหมือนกัน.
               อนึ่ง เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าจักนำน้ำผึ้งมา สำหรับน้ำผึ้งควรเป็นลำดับอันเดียวกัน. น้ำอ้อยและเภสัชมีชะเอมเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               ถามว่า ถ้าพวกทายกถวายของหอมและระเบียบเฉพาะสงฆ์, จะควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์หรือไม่ควร?
               พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ควร เพราะท่านห้ามแต่อามิสเท่านั้น แต่ไม่ควรถือเอาเพราะเขาถวายเฉพาะสงฆ์.
____________________________
#- สาทิยนโก - (ส + อาทิยนโก).
               อุทเทสภัตตกถา จบ.               

               [นิมันตนภัต]               
               นิมันตนภัต ถ้าเป็นของส่วนบุคคล, ผู้รับเองนั้นแลเป็นใหญ่ ส่วนที่เป็นของสงฆ์ พึงให้ถือเอาตามนัยที่กล่าวแล้วในอุทเทสภัตนั่นแล.
               แต่ในนิมันตนภัตนี้ ถ้าเป็นทูลผู้ฉลาด เขาไม่กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงรับภัตสำหรับภิกษุสงฆ์ในพระราชนิเวศน์ กล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับภิกษา ดังนี้ไซร้ ภัตนั้น ย่อมควรแม้แก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               ถ้าทูตไม่ฉลาดกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายนจงรับภัต ดังนี้. พระภัตตุทเทสก์เป็นผู้ฉลาด ไม่ออกชื่อว่า ภัต กล่าวแต่ว่า ท่านจงไป ท่านจงไป ดังนี้ แม้อย่างนี้ ภัตนั้น ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               แต่เมื่อพระภัตตุทเทสก์กล่าวว่า ภัตถึงแก่พวกท่านตามลำดับ ดังนี้ ไม่ควรแก่ภิกษุถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               ถ้าคนทั้งหลาย ผู้มาเพื่อจะนิมนต์ เข้าไปยังโรงฉันแล้วกล่าวว่า ท่านจงให้ภิกษุ ๘ รูป หรือว่า ท่านจงให้บาตร ๘ บาตร แม้อย่างนี้ ก็ควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์. พระภัตตุทเทสก์พึงกล่าวว่า ท่านด้วย นิมนต์ไป.
               แต่เขากล่าวว่า ท่านจงให้ภิกษุ ๘ รูป ท่านทั้งหลายจงรับภัต หรือท่านจงให้บาตร ๘ บาตร ท่านทั้งหลายจงรับภัตดังนี้ พระภัตตุทเทสก์พึงให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาตามลำดับ. และเมื่อจะให้ถือเอา ตัดบทเสียไม่ออกชื่อว่า ภัต พูดแต่ว่า ท่านด้วย ท่านด้วยนิมนต์ไป ดังนี้ ควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจงให้บาตรของพวกท่าน นิมนต์ ท่านมา ดังนี้ พึงรับว่า ดีละ อุบาสก แล้วไปเถิด.
               เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายเจาะจงเฉพาะจากสงฆ์มาเถิด ดังนี้ พึงให้ถือเอาตามลำดับ.
               อนึ่ง เมื่อเขามาจากเรือนนิมันตนภัต เพื่อต้องการบาตร พึงให้บาตรตามลำดับ โดยนัยที่กล่าวแล้วในอุทเทสภัตนั่นแล.
               ทายกผู้หนึ่งไม่กล่าวว่า จงให้บาตรตามลำดับจากสงฆ์ กล่าวแต่เพียงว่า ท่านจงให้บาตรใบหนึ่ง ดังนี้ เมื่อยังไม่ทันให้ถือเอาบาตร ก็ฉวยเอาบาตรของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปบรรจุเต็มนำมา ภัตนั้น เป็นของภิกษุผู้เจ้าของบาตรเท่านั้น อย่าให้ถือเอาตามลำดับเหมือนในอุทเทสภัต.
               แม้ในนิมันตนภัตนี้ ทายกใดมาแล้วยืนนิ่งอยู่ ทายกนั้นอันภิกษุไม่พึงถามว่า ท่านมาหาใคร? หรือว่า ท่านจักนำบาตรของใครไป? เพราะว่า เขาจะพึงตอบเลียนคำถามว่า ข้าพเจ้ามาหาท่าน จักนำบาตรของท่านไป เพราะเช่นนั้น ภิกษุนั้นจะพึงถูกภิกษุทั้งหลายเกลียดชัง.
               แต่ครั้นเมื่อภิกษุถามว่า ท่านจะไปไหน ท่านเที่ยวทำอะไร? เมื่อเขาตอบว่า มาเพื่อต้องการบาตร ดังนี้ พึงถือเอาบาตรตามลำดับเรียงตัวกันเหมือนกัน.
               ถ้าเขานำมาแล้วกล่าวว่า ขอพระสงฆ์ทั้งปวงจงฉัน พึงแบ่งกันฉัน
               ต้องงดลำดับแม้ที่ล่วงไปแล้วของภิกษุผู้เจ้าของบาตรเสียให้เธอถือเอาภัตเนื่องในลำดับอื่นใหม่.
               ทายกผู้หนึ่ง นำภัตมาด้วยถาดแล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายสงฆ์ พึงแบ่งกันโดยสังเขปเป็นคำๆ ตั้งต้นแต่ลำดับแห่งอาโลปภัตไป.
               อนึ่ง ถ้าเขานิ่งอยู่ ภิกษุอย่าถามเขาว่า ท่านนำมาเพื่อใคร ท่านประสงค์จะถวายใคร? และถ้าเมื่อภิกษุถามว่า ท่านจะไปไหน? ท่านเที่ยวทำอะไร? เขาจึงตอบว่า ข้าพเจ้านำภัตมาเพื่อสงฆ์ ข้าพเจ้านำภัตมาเพื่อพระเถระ ดังนี้ พึงรับแล้วแบ่งให้ตามลำดับแห่งอาโลปภัต.
               ก็ถ้าว่า ภัตที่เขานำมาอย่างนั้นมีมาก พอแก่สงฆ์ทั้งสิ้น นี้ชื่อว่า อภิหฏภิกฺขา (ภิกษาที่เขานำมาพอ) ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์. ไม่มีกิจที่จะต้องถามถึงลำดับ. พึงถวายเต็มบาตรตั้งแต่เถรอาสน์ลงมา.
               อุบาสกส่งข่าวไปถึงพระสังฆเถระก็ดี ภิกษุผู้มีชื่อเสียงเนื่องด้วยคันถธุระและธุดงค์ก็ดี พระภัตตุทเทสก์ก็ดี ว่า ท่านจงพาภิกษุมา ๘ รูป เพื่อประโยชน์แก่การรับภัตของข้าพเจ้า.
               แม้หากว่า ข้าวนั้นจะเป็นข่าวที่ญาติและอุปัฏฐากส่งไปก็ดี ภิกษุ ๓ รูป (มีพระสังฆเถระเป็นต้น) นี้ ย่อมไม่ได้เพื่อจะสอบถามเขา. ลำดับเป็นอันยกขึ้นทีเดียว. พึงให้นิมนต์ภิกษุ ๘ รูปจากสงฆ์ มีตนเป็นที่ ๙ ไปเถิด เพราะเหตุไร? เพราะว่าลาภอาศัยภิกษุเหล่านั้น จึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์.
               ส่วนภิกษุเจ้าของถิ่น ซึ่งไม่มีชื่อเสียงทางคันถธุระและธุดงค์เป็นต้น จะถามก็ได้. เพราะฉะนั้น เธอพึงถามเขาว่า ข้าพเจ้าจะนิมนต์จากสงฆ์ หรือว่าจะมากับภิกษุทั้งหลายที่ข้าพเจ้ารู้จัก? ดังนี้แล้ว จึงจัดเข้าลำดับปฏิบัติหน้าที่ทายกเขาสั่ง.
               ก็เมื่อเขาสั่งว่า ท่านจงพานิสิตของท่าน หรือภิกษุที่ท่านรู้จักมาเถิด ดังนี้ จะไปกับภิกษุที่ตนปรารถนาจะนิมนต์ก็ได้.
               ถ้าเขาส่งข่าวมาว่า ท่านจงส่งภิกษุมา ๘ รูป พึงส่งไปจากสงฆ์เท่านั้น ถ้าตนเป็นผู้อาจจะได้ภิกษาในบ้านอื่น พึงไปบ้านอื่น. หากว่า เป็นผู้ไม่อาจจะได้ ก็พึงเข้าไปบิณฑบาตที่บ้านนั้นแล.
               ภิกษุทั้งหลายที่รับนิมนต์ นั่งอยู่ในโรงฉัน ถ้าคนมาที่โรงฉันนั้นบอกว่า ขอท่านทั้งหลายจงให้บาตร ภิกษุผู้มิได้รับนิมนต์อย่าให้ พึงบอกว่า นี่ ภิกษุที่ท่านนิมนต์ไว้. แต่เมื่อเขาตอบว่า ท่านจงให้ด้วย ดังนี้ ควรให้.
               ในคราวมีมหรสพเป็นต้น ชนทั้งหลายไปสู่บริเวณและเรือนบำเพ็ญเพียร นิมนต์ภิกษุผู้ทรงไตรปิฏกและพระธรรมกถึก กับภิกษุร้อยรูปเองทีเดียว.
               ในกาลนั้น ภิกษุผ็ทรงไตรปิฎกและธรรมกถึกเหล่านั้น จะพาภิกษุทั้งหลายที่ทราบไป ก็ควร. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่าชนทั้งหลาย มีความต้องการด้วยภิกษุสงฆ์หูม่ใหญ่ จึงไปยังบริเวณและเรือนบำเพ็ญเพียรหามิได้. แต่เขานิมนต์ภิกษุทั้งหลายตามสิตตามกำลังไป จากที่ชุมชนแห่งภิกษุทั้งหลาย.
               ก็ถ้าว่า พระสังฆเถระหรือภิกษุผู้มีชื่อเสียงทางคันถธุระและธุดงค์หรือพระภัตตุทเทสก์ก็ดี จำพรรษาในที่อื่น หรือไปในที่บางแห่ง กลับมาสู่สถานของตนอีก. ชนทั้งหลายจึงทำสักการะสำหรับอาคันตุกะ พึงพาภิกษุทั้งหลายที่รู้จักไปวาระ ๑. จำเดิมแต่กาลที่ติดเนื่องกันไป เมื่อเริ่มวาระที่ ๒ พึงนิมนต์ไปจากสงฆ์เท่านั้น.
               อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นอาคันตุกะผู้มาใหม่ๆ ไปด้วยตั้งใจว่า จักเยี่ยมญาติหรืออุปัฏฐาก นั้น ญาติและอุปัฏฐากทั้งหลายของภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นกระทำสักการะ.
               ก็แลในอาวาสนั้น ภิกษุเหล่าใดทราบ พึงนิมนต์ภิกษุเหล่านั้นไป, ฝ่ายภิกษุใดเป็นผู้มีลาภเหลือเฟือ ฐานะของเธอและฐานะของอาคันตุกะเป็นเช่นเดียวกัน, ชนทั้งหลายในที่ทั้งปวงตระเตรียมสังฆภัตเสร็จแล้วอยู่. ภิกษุนั้นพึงนิมนต์ภิกษุไปจากสงฆ์เท่านั้น, นี้เป็นความแปลกกันในนิมันตนภัต.
               ปัญหาทั้งปวงที่ยังเหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในอุทเทสภัตนั่นแล.
               ส่วนในกุรุนทีแก้ว่า เมื่อเขากล่าวว่า ท่านจงให้พระมหาเถระ ๘ รูป. พึงให้พระเถระเท่านั้น ๘ รูป. ในภิกษุทั้งหลายมีภิกษุปูนกลางเป็นต้น ก็นัยนี้แล.
               แต่ถ้าเขากล่าวมิให้แปลกกันว่า ท่านจงให้ภิกษุ ๘ รูป ดังนี้พึงนิมนต์ให้ไปจากสงฆ์ ดังนี้แล.
               นิมันตนภัตตกถา จบ.               

               [สลากภัตตกกา]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในสลากภัต, เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จดชื่อในสลาก หรือในแผ่นป้ายแล้ว รวมกันเข้าแจกกัน๑- ดังนี้ พระภัตตุทเทสก์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงเขียนอักษรลงในสลากไม้แก่น หรือในแผ่นป้ายที่ทำด้วยตอกไม้ไผ่และใบตาลเป็นต้น อย่างนี้ว่า สลากภัตของทายกชื่อโน้น แล้วรวมสลากทังหมดใส่ในกระเช้า หรือในขนดจีวร แล้วคนกลับไปกลับมาจนทั่งถึงทั้งข้างล่างข้างบนทีเดียว ถ้าลำดับมี พึงแจกสลากจำเดิมแต่ลำดับไป, ถ้าไม่มี พึงแจกตั้งแต่ที่เถรอาสน์ลงมา.
               ภิกษุผู้มาภายหลังก็ดี ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในที่ไกล ด้วยอำนาจเนื่องถึงกันก็ดี พึงให้ตามนัยที่กล่าวแล้วในอุทเทสภัตนั่นแล.
____________________________
๑- จุลฺลวคฺค. ทุติย. ๗๑๔๘.

               บทว่า โดยรอบสำนักมีโคจรคามมาก, ส่วนภิกษุมีไม่มาก สลากทั้งหลายย่อมถึงแม้ด้วยอำนาจแห่งบ้าน จึงแจกสลากด้วยอำนาจแห่งบ้านทีเดียว ว่าสลากภัตทั้งหลาย ในบ้านโน้น ถึงแก่พวกท่าน, สลากภัตทั้งหลาย ในบ้านโน้น ถึงแก่พวกท่าน.
               เมื่อพระภัตตุทเทสก์ให้ถือเอาอย่างนั้น แม้หากว่า ในบ้านตำบลหนึ่งๆ มีสลากภัต ๖๐ ที่ มีประการต่างๆ กัน สลากภัตทั้งหมดเป็นอันเธอให้ถือเอาเสร็จสิ้นไปแล้ว.
               ในบ้านใกล้เคียงกับบ้านที่ถึงแก่ภิกษุ ยังมีสลากภัตอื่นอีก ๒-๓ ที่, แม้สลากภัตเหล่านั้น ก็ควรให้แก่เธอเสียด้วย. เพราะว่าพระภัตตุทเทสก์ไม่สามารถจะส่งภิกษุอื่นไป เพราะเหตุแห่งสลากภัตเหล่านั้นได้ ฉะนี้แล.
               ถ้าว่าในบางบ้านมีสลากภัตมาก พึงกำหนดให้แก่ภิกษุ ๗ รูปบ้าง, ๘ รูปบ้าง แต่เมื่อจะให้ต้องมัดสลากรวมกันให้แก่ภิกษุ ๔-๕ รูปผู้จะไป.
               ถ้าว่า ถัดบ้านนั้นไป มีบ้านอื่น, และในบ้านนั้นมีสลากภัตเพียงทีเดียว. และเขาถวายสลากภัตนั้นแต่เช้าเทียว. สลากภัตแม้นั้น พึงให้ด้วยบังคับแก่ภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุเหล่านี้ แล้วสั่งเธอว่า ท่านจงรับสลากภัตนั้นเสียแต่เช้า ภายหลังจึงค่อยรับภัตนอกนี้ที่บ้านใกล้.
               ในกุรุนทีกล่าวนัยดังนี้ว่า ถ้าว่า เมื่อสลากภัตทั้งหลายในบ้านใกล้ ยังมิได้แจกจ่ายกันเลย ภิกษุนั้นไปเสีย ด้วยสำคัญว่าได้แจกกันเสร็จแล้ว, ครั้นให้ถือเอาสลากภัตในบ้านไกลแล้ว ต้องกลับมาวิหารอีก รับแจกสลากภัตนอกนั้น แล้วจึงค่อยไปบ้านใกล้ เพราะว่าลาภสงฆ์จะแจกกันภายนอกสีมา ย่อมไม่ได้.
               แต่ถ้าภิกษุมีมาก, สลากด้วยอำนาจแห่งบ้านไม่พอกัน ; พึงให้ถือเอาด้วยอำนาจถนนหนึ่ง หรือด้วยอำนาจฟากหนึ่งในถนนหรือด้วยอำนาจสกุลหนึ่งก็ได้.
               ก็แล ในถนนเป็นต้น ในที่ใดมีภัตมาก, ในที่นั้น พึงให้ภิกษุมากรูปถือเอง ตามนัยที่กล่าวในบ้านนั่นแล. เมื่อสลากไม่มี พึงเจาะจงให้ถือเอาก็ได้. อันภิกษุผู้ให้สลากต้องรู้จักวัตร.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ให้สลากนั้น พึงลุกขึ้นแต่เช้า ถือบาตรและจีวรไปสู่หอฉัน กวาดสถานที่ซึ่งยังมิได้กวาด จัดตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้กะเวลาว่า บัดนี้ วัตรจักเป็นอันภิกษุทังหลายทำเสร็จแล้ว จึงตีระฆัง เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมกันแล้ว พึงให้ถือสลากภัตที่บ้านเวรเสียก่อน, คือพึงกล่าวว่า สลากที่บ้านเวรชื่อโน้น ถึงแก่ท่าน ท่านจงไปที่บ้านนั้น.
               ถ้าว่า บ้านอยู่ในระยะทางเกินกว่า ๑ คาวุต, ภิกษุผู้ไปในวันนั้นย่อมเหน็ดเหนื่อย, พึงให้เอาเสียแต่ในวันนี้ทีเดียวว่า พรุ่งนี้สลากที่บ้านเวรถึงแก่ท่าน.
               ภิกษุใด ถูกส่งไปบ้านเวร ไม่ยอมไป จะเลือกเอาสลากอื่นอย่าพึงให้แก่ภิกษุนั้น. เพราะว่า จะเสื่อมบุญของพวกชนผู้มีศรัทธาและจะขาดลาภสงฆ์ ; เพราะฉะนั้น แม้ในวันที่ ๒ ที่ ๓ ก็อย่าพึงให้สลากอื่นแก่เธอ. พึงบอกเธอว่า ท่านจงไปยังสถานที่ถึงแก่ตนแล้วฉันเถิด. แต่เมื่อเธอไม่ยอมไปครบ ๓ วัน พึงให้เธอถือเอาสลากที่บ้านในแต่บ้านเวรเขามา.
               หากว่า เธอยอมรับสลากนั้นไซร้, จำเดิมแต่นั้นไป ไม่สมควรให้สลากอื่นแก่เธอ.
               ส่วนทัณฑกรรมต้องลงให้หนัก คือ พึงลงทัณฑกรรมให้ตักน้ำ อย่าให้น้อยกว่า ๖๐ หรือ ๕๐ หม้อ หรือให้ขนฟืนอย่าให้น้อยกว่า ๖๐ หรือ ๕๐ มัด หรือให้ขนทรายอย่าให้หย่อนกว่า ๖๐ หรือ ๕๐ บาตร.
               ครั้นให้รับสลากที่บ้านเวรแล้ว พึงให้รับวาระเฝ้าสำนัก. พึงบอกเธอว่า วาระเฝ้าสำนักถึงแก่ท่าน. พึงให้สลากยาคู ๒-๓ ที่ และสลากภัต ๓ หรือ ๔ ที่ แก่ภิกษุผู้รับวาระเฝ้าสำนัก, แต่อย่าให้เป็นประจำ. เพราะว่า ทายกผู้ถวายยาคูและภัต จะพึงถึงความเสียใจว่า พวกภิกษุผู้เฝ้าสำนักเท่านั้น ฉันยาคูและภัตของพวกเรา เพราะฉะนั้น จึงควรให้สลากในสกุลอื่นๆ.
               หากว่า พวกภิกษุผู้ชอบพอกันของภิกษุผู้รับวาระเฝ้าสำนัก นำมาถวายเอง. อย่างนั้นนั่นเป็นการดี ; ถ้าว่า พวกเธอไม่นำมาถวาย, พึงให้รับวาระแทน. ให้นำยาคูและภัตมาให้ แก่ภิกษุผู้รับวาระเฝ้าสำนักเหล่านั้น. และสลากเหล่านั้นของพวกภิกษุผู้รับวาระเฝ้าสำนักนั้นย่อมเป็นส่วนเพิ่มแท้ ทั้งเธอทั้งหลายย่อมเป็นส่วนเพิ่มแท้ ทั้งเธอทั้งหลายย่อมได้เพื่อถือเอาสลากภัตประณีตแม้อื่น ในที่ซึ่งถือตามลำดับพรรษาด้วย, พึงแจกสลากจัดลำดับไว้แผนกหนึ่ง สำหรับเอาวาริยภัต ที่มีเครื่องปิ้งจี่เหลือเฟือ.
               ถ้าว่า สลากอันภิกษุใดได้แล้ว, แต่ภิกษุนั้นไม่ได้ภัตนั้นในวันนั้น พึงให้เธอรับในรุ่งขึ้น.
               ภิกษุใดได้แต่ภัต ไม่ได้เคื่องปิ้งจี่, แม้อย่างนี้ ก็พึงให้รับใหม่. แม้ในสลากภัตมีนมสด ก็นัยนี้แล.
               แต่ถ้าว่า ได้แต่นมสด ไม่ได้ภัต, อย่าพึงให้รับซ้ำอีก จำเดิมแต่ได้นมสดไปแล้ว. เอกวาริยภัต ๒-๓ ที่ ถึงแก่ภิกษุรูปเดียวเท่านั้น, ในทุพภิกขสมัย พึงเฉลี่ยให้ถือเป็นแผนกๆ ในเวลาที่สังฆนวกะได้แล้ว. สลากภัตตามปกติ แม้ภิกษุที่ยังไม่ได้ ก็พึงให้รับในวันรุ่งขึ้น.
               ถ้าเป็นสำนักเล็ก, ภิกษุทั้งปวงฉันรวมกัน, เมื่อจะให้ถือเอาสลากอ้อย จะให้ถึงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงหน้าแล้วปอกถวายพระมหาเถระเป็นต้นในกาล ก็ควร.
               สลากน้ำอ้อย ครั้นแจกกันแล้ว แม้ภายหลังภัต พึงกรองหรือให้ทำเป็นผาณิตแล้ว ถวายแม้แก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์เป็นต้น, ต้องรู้ว่า ภิกษุอาคันตุกะมาแล้วหรือยังไม่มาก่อน จึงให้ถือเอาสลาก.
               ในอาวาสใหญ่ ต้องจัดลำดับให้ถือเอา. สลากเปรียง๒- เล่า จะให้ถึงในที่แห่งภิกษุผู้เป็นสภาคกัน หรือจะให้อุ่น หรือจะให้เจียวถวายพระเถระทั้งหลาย ก็ควร. พึงปฏิบัติตามนัยที่กล่าวแล้วในอาวาสใหญ่นั่นแล.
               แม้สลากผลไม้ สลากขนมและสลากเภสัชของหอมและระเบียบเป็นต้น พึงให้ถือเอาตามลำดับเป็นแผนกๆ.
               ก็แล ในสลากเหล่านี้ สลากเภสัชเป็นต้น ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ก็ไม่พึงยินดี เพราะเป็นปัจจัยที่ให้ถือเอาเนื่องด้วยสลาก.
               ทายกถวายสลากภัต แม้มีแต่สักว่าภิกษาเลิศ, พึงถามถึงลำดับแล้วให้ถือเอา. เมื่อไม่มีลำดับ พึงให้ตั้งแต่เถรอาสน์ลงมา. หากว่า ภัตเช่นนั้นมีมาก พึงให้แก่ภิกษุรูปละ ๒-๓ ที่. ถ้ามีไม่มาก, พึงให้รูปละที่เท่านั้น เมื่อลำดับหมดแล้วตามลำดับ พึงให้แต่ที่เถระอาสน์ลงมาอีก. ถ้าขาดลงเสียกลางคัน, พึงจำลำดับไว้. แต่ถ้าภัตเช่นนั้น เป็นของมีเป็นประจำทีเดียว, ภัตนั้นถึงแก่ภิกษุพึงบอกภิกษุนั้นว่า ท่านได้แล้วก็ตาม ยังไม่ได้ก็ตาม แม้พรุ่งนี้ก็พึงรับ.
____________________________
๒- ฆต เรียกตามฮินดูว่า ฆี (Chee), เขมรว่า เปรง แปลว่าน้ำมัน เราเรียนเพี้ยนไป.

               ภัตรายหนึ่ง เป็นของที่เขามิได้ให้เป็นนิตย์ แต่ในวันที่ได้ย่อมได้พอฉัน. วันที่ไม่ได้มีมากกว่า. ภัตนั้น ไม่ถึงแก่ภิกษุใด, พึงสั่งภิกษุนั้นว่า ท่านไม่ได้ พึงรับในพรุ่งนี้เถิด.
               เมื่อให้จับสลากแล้ว ภิกษุใดมาภายหลัง, สลากของภิกษุนั้นเป็นอันเลยไปแล้ว อย่าพึงจัดแจงให้เลย.
               จำเดิมแต่ตีระฆังไป ภิกษุผู้มายื่นมือแล ย่อมได้ลาภคือสลากเป็นแท้.
               เมื่อภิกษุอื่น แม้มายืนอยู่ในที่ใกล้ สลากก็เป็นอันเลยไปแล้ว แต่ถ้า ภิกษุอื่น ผู้จะรับแทนภิกษุนั้นมีอยู่, ภิกษุนั้นแม้ไม่มาเอง ย่อมได้.
               ในฐานที่เป็นผู้ชอบพอกัน ภิกษุผู้แจกทราบว่า ภิกษุโน้นยังไม่มา จะเก็บไว้ให้ด้วยตั้งใจว่า นี่สลากของภิกษุนั้น ดังนี้ก็ควร.
               ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายทำกติกาไว้ว่า ไม่พึงให้ แม้แก่ภิกษุผู้ไม่มา, กติกานั้น ไม่เป็นธรรม. เพราะว่า ภัณฑะที่จะพึงแจกกันย่อมถึงแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอุปจาร. และถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายทำเสียงอื้ออึงว่า ท่านจงให้แก่ภิกษุผู้ไม่มา พึงเริ่มตั้งทัณฑกรรมพึงสั่งว่า จงมารับเอาเองเถิด.
               สลากหายไป ๕-๖ ที่, พระภัตตุทเทสก์นึกชื่อทายกไม่ได้ ถ้าว่าพระภัตตุทเทสก์นั้น ให้สลากที่หายถึงแก่พระมหาเถระหรือแก่ตนแล้ว พึงสั่งภิกษุทั้งหลายว่า สลากภัตที่บ้านโน้น เราให้ถึงแก่ตัวเรา ท่านทั้งหลายพึงฉันสลากภัตที่ได้ในบ้านนั้นเถิด ดังนี้ สมควร.
               แต่ไม่มอบถวายในสำนัก ได้ภัตนั้นที่โรงฉัน แล้วจะแจกกันฉันที่โรงฉันนั้นเอง หาควรไม่.
               เมื่อทายกกล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ท่านทั้งหลายจงรับสลากภัต ของข้าพเจ้า ดังนี้ จะให้ถือเอาที่โรงฉันในที่นั้น ไม่ควร. ต้องนำมายังสำนักแล้ว จึงให้ถือเอา.
               อนึ่ง เมื่อทายกกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับสลากภัตของข้าพเจ้า ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป ดังนี้ พึงบอกแก่พระภัตตุเทสก์ว่าสกุลชื่อโน้น ถวายสลากภัต ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป, ท่านพึงนึกในเวลาให้จับสลาก.
               ในคราวทุพภิกขภัย ชนทั้งหลายงดสลากภัตเสีย เมื่อถึงคราวหาภิกษาได้ง่าย พบภิกษุบางรูปแล้ว เริ่มตั้งไว้อีกว่า ท่านทั้งหลายจงรับสลากภัตของพวกข้าพเจ้า ตั้งแต่วันนี้ไป. อย่าแจกกันภายในบ้าน ต้องนำมาสำนักก่อน จึงค่อยแจกกัน. เพราะว่าธรรมดาสลากภัตนี้ ไม่เป็นเหมือนอุทเทสภุต, ทายกย่อมหมายเฉพาะสำนักถวาย ; เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรแจกกันนอกอุปจาร.
               อนึ่ง เมื่อทายกบอกว่า ท่านทั้งหลายจงรับสลากภัตของข้าพเจ้า ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป ดังนี้ ต้องแจกกันในสำนักเหมือนกัน.
               คมิกภิกษุประสงค์จะไปสู่ทิศาภาคใด, สลากที่บ้านเวรในทิศาภาคนั้น เป็นของอันภิกษุอื่นได้แล้ว, คมิกภิกษุจะถือเอาสลากนั้น แล้วสั่งภิกษุนอกนี้ว่า ท่านจงถือสลากที่ถึงแก่เรา ดังนี้ แล้วไป ก็ควร. แต่ภิกษุนั้นต้องถือเอาสลากของคมิกภิกษุนั้นเสีย ในเมื่อเธอยังมิทันก้าวล่วงอุปจารสีมาไปทีเดียว.
               ชนทั้งหลายอยู่ในสำนักร้าง จัดตั้งสลากภัตไว้ ด้วยคิดว่า ภิกษุทั้งหลายปรนนิบัติต้นโพธิ์และเจดีย์เป็นต้นแล้ว จงฉันเถิด ดังนี้. ภิกษุทั้งหลายค้างอยู่ในที่ภิกษุผู้ชอบพอกันแล้ว ไปแต่เช้ามืด กระทำวัตรในสำนักร้างนั้นแล้วฉันภัตนั้น ควรอยู่.
               หากว่า เมื่อภิกษุเหล่านั้น ให้ถึงแก่ตนเพื่อจะได้ฉันในพรุ่งนี้ แล้วพากันไป ภิกษุอาคันตุกะอยู่ในสำนักร้าง กระทำวัตรแต่เช้าทีเดียว ตีระฆังแล้วให้สลากภัตถึงแก่ตนแล้วไปสู่โรงฉัน. ภิกษุอาคันตุกะนั้นแล เป็นใหญ่แห่งภัตนั้น.
               ฝ่ายภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำวัตรอยู่เทียว กวาดที่แผ่นดิน ๒-๓ ทีแล้ว ตีระฆังแล้ว ไปด้วยทำในใจว่า สลากภัตที่บ้านไกลถึงแก่เรา. สลากภัตนั้น ย่อมไม่ถึงภิกษุนั้น เพราะเธอถือเอาด้วยอาการลอบชิง, ย่อมเป็นของภิกษุผู้กระทำวัตรเสร็จแล้วให้ถึงแก่ตนมาภายหลังเท่านั้น.
               บ้านหนึ่งอยู่ไกลนัก, ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะไปเป็นนิตย์. ชนทั้งหลายจึงกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าเป็นผู้เหินห่างบุญ. พึงสั่งภิกษุทั้งหลายที่ชอบพอกันในสำนักใกล้บ้านนั้นว่า ในวันที่ภิกษุเหล่านี้ไม่มา พวกท่านจงฉันแทน.
               อนึ่ง สลากต้องให้จับทุกวัน. ก็และสลากนั้นแล ไม่เป็นอันพระภัตตุทเทสก์นั้นให้จับแล้ว ด้วยอาการสักว่าตีระฆัง หรือสักว่าคนกระเช้า.
               แต่ต้องจับกระเช้าเกลี่ยสลากลงในตะกร้า และอย่าจับกระเช้าที่ขอบปาก. เพราะถ้าว่า ในกระเช้านั้นมีงูหรือแมงป่อง มักจะก่อทุกข์ให้ เพราะฉะนั้น ต้องจับข้างใต้ หันปากกระเช้าออกนอก และครั้นจับกระเช้าแล้วพึงเกลี่ยสลากลง.
               ถ้าแม้จักมีงู, มันจักหนีไปข้างโน้นเทียว เพราะฉะนั้น จึงต้องเกลี่ยสลากอย่างนั้น. สลากพึงให้จับเนื่องด้วยบ้านเป็นต้น ตามนัยที่กล่าวแล้วในก่อนนั่นแล.
               อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้แจกสลากนั้น ให้สลากหนึ่งถึงแก่พระมหาเถระแล้ว จึงให้ถึงแก่ตนว่า สลากที่เหลือ ย่อมถึงแก่เรา ดังนี้ ทำวัตรไหว้เจดีย์แล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่โรงระงับวิตกถามว่า ผู้มีอายุ สลากให้จับเสร็จแล้วหรือ? พึงตอบว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงรับสลากภัตที่บ้านซึ่งพวกท่านไปแล้วๆ เถิด.
               จริงอยู่ สลากแม้ที่ให้ถึงแล้วอย่างนี้ จัดว่าให้ถึงแล้วด้วยดีเหมือนกัน.
               ภิกษุทั้งหลายจะไปสู่สำนักอื่น เพื่อฟังธรรมตลอดทั้งคืน จึงสั่งว่า เราทั้งหลายไม่รับทานในที่นั้นละ จักเที่ยวบิณฑบาตที่โคจรคามของเราแล้วจักมา ดังนี้ ไม่รับสลากแล้วไปเสีย. ภิกษุเหล่านั้นจะมาเพื่อฉันสลากภัตที่ถึงแก่พระเถระในสำนักเช่นนี้ก็ควร.
               ถ้าว่า แม้พระมหาเถระก็ไปกับภิกษุเหล่านั้น ด้วยคิดว่า เราจะทำอะไรอยู่ที่นี่ ภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้ฉันที่สำนักซึ่งตนไป เที่ยวไปสู่โคจรคามตามลำดับ อย่าพึงให้บาตร ในเมื่อทายากกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ จงมอบบาตรให้เถิด, ข้าพเจ้าจักนำสลากยาคูเป็นต้นมาถวาย.
               เมื่อเขาถามว่า เหตุไรจึงไม่ให้เล่า ท่านผู้เจริญ? พึงตอบเขาว่า ภัตที่เจาะจงสำนัก ย่อมถึงแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในสำนัก เราทั้งหลายอยู่ในสำนักอื่น.
               ก็เมื่อเขากล่าวว่า โปรดให้เถิด ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าหาได้ถวายแก่สีมาแห่งสำนักไม่, ข้าพเจ้าถวายแก่ท่าน, ขอท่านจงรับภิกษาของข้าพเจ้าเถิด ดังนี้ สมควรให้บาตรไปได้.
               สลากภัตตกถา จบ.               

               [ปักขิกภัตเป็นต้น]               
               ก็วินิจฉัยในปักขิกภัตเป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               ภัตใด อันชนทั้งหลายผู้ขวนขวายในการงาน ถวายในวันปักษ์ (ที่บัณฑิตกำหนดไว้) เหล่านี้ คือ วัน ๑๔ ค่ำ, วัน ๑๕ ค่ำ, วัน ๗ ค่ำ วัน ๘ ค่ำ, เพื่อต้องการเตือนสติ สำหรับทำอุโบสถภัตนั้นชื่อว่าปักขิกภัต. ปักขิกภัตนั้น มีคติอย่างสลาภภัตนั่นเอง. พึงให้ภิกษุทั้งหลายรับไปฉัน.
               ถ้าว่า สลากภัตก็ดี ปักขิกภัตก็ดี มีมากทั่วถึงแก่ภิกษุทั้งปวง, เพราะภัตตุทเทสก์พึงให้ถือเอาภัตแม้ทั้ง ๒ เป็นแผนกๆ.
               หากว่า ภิกษุสงฆ์มีมาก, พึงให้ถือเอาปักขิกภัตแล้ว จึงให้ถือเอาสลากภัตต่อลำดับแห่งปักขิกภัตนั้นก็ได้ หรือพึงให้ถือเอาสลากภัตแล้ว จึงให้ถือเอาปักขิกภัต ต่อลำดับแห่งสลากภัตนั้นก็ได้.
               ภัต ๒ นั้น ยังไม่ถึงแก่ภิกษุเหล่าใด, ภิกษุเหล่านั้น จักเที่ยวบิณฑบาต.
               แม้ถ้าว่า ภัตทั้ง ๒ มีมาก, ภิกษุมีน้อย. ภิกษุย่อมได้สลากภัตทุกวัน. เพราะฉะนั้น พึงงดสลากนั้นเสีย ให้ถือเอาแต่ปักขิกภัตเท่านั้นว่า ผู้มีอายุ ท่านจงฉันปักขิกภัตเถิด ดังนี้.
               พวกทายกถวายปักขิกภัตประณีต, พึงจัดลำดับไว้ต่างหาก. ไม่พึงให้ถือเอาปักขิตภัตแต่ในวันนี้ว่า พรุ่งนี้ เป็นวันปักษ์.
               ก็แล ถ้าทายกทั้งหลายกล่าวว่า พรุ่งนี้แล ในเรือนของพวกข้าพเจ้าจักมีภัตเศร้าหมอง, ขอท่านจงแจกปักขิกภัตเสียแต่ในวันนี้ทีเดียว. อย่างนี้ควรให้ถือเอาในวันนี้ได้.
               ที่ชื่ออุโปสถิกภัตนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               บุคคลสมาทานองค์อุโบสถ ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือนแล้ว ตนเองบริโภคภัตใด, ภัตนั้นแลอันเขาย่อมให้.
               ที่ชื่อปาฏิปทิกภัตนั้น ได้แก่ ทานที่ทายกให้ในวันปาฏิบทด้วยกำหนดหมายว่า ในวันอุโบสถ ชนเป็นอันมากผู้มีศรัทธาเลื่อมใสย่อมสักการะแก่ภิกษุทั้งหลาย, ส่วนในวันปาฏิบท ภิกษุทั้งหลายย่อมลำบาก, ทานที่ถวายในวันปาฏิบท ย่อมเป็นกุศลมีผลใหญ่ด้วยคล้ายทุพภิกขาทาน, หรือทานที่ถวายในวันที่ ๒ แก่ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์เพราะอุโบสถ ย่อมเป็นกุศลมีผลใหญ่ ดังนี้. ภัตทั้ง ๒ แม้นั้น มีคติอย่างสลากภัตเหมือนกัน.
               ภัตทั้ง ๗ อย่างนั้น ไม่ควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ ย่อมกระทำความทำลายแห่งธุดงค์เป็นแท้ ด้วยประการฉะนี้.

               [อาคันตุกภัตเป็นต้น]               
               ภัตแม้เหล่าอื่นอีก ๔ ที่ นางวิสาขาขอประทานพรถวายในจีวรขันธกะ๑- คือ อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัตมาแล้วในบาลีเหมือนกัน.
               บรรดาภัตทั้ง ๔ นั้น ภัตที่ถวายแก่ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ชื่ออาคันตุกภัต. ในภัต ๓ อย่างที่เหลือ มีนัยเช่นเดียวกัน.
               ก็ถ้าว่า ในภัตทั้ง ๔ อย่างนี้ ทั้งอาคันตุกภัต ทั้งอาคันตุกภิกษุมีมาก, พึงให้ภิกษุทั้งปวงถือเอารูปละส่วนๆ เมื่อภัตไม่พอพึงให้เอาตามลำดับ.
               ภิกษุอาคันตุกะรูปหนึ่ง มาก่อนทีเดียว ให้ถือเอาคันตุกภัตทั้งหมดเพื่อตนแล้วนั่งอยู่, อาคันตุกภัตทั้งปวง ย่อมเป็นของเธอเท่านั้น ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายผู้มาทีหลัง พึงฉันที่เธอให้แล้ว.
               แม้เธอก็พึงถือเอาเพื่อตนส่วนหนึ่งแล้ว พึงให้ส่วนที่เหลือ. นี้เป็นความชอบยิ่ง.
               แต่ถ้าว่า ภิกษุอาคันตุกะนั้น แม้มาก่อน แต่ไม่ถือเอาเพื่อตนนั่นเฉยอยู่. ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายผู้มาทีหลัง พึงถือเอาตามลำดับพร้อมกับเธอ.
               ถ้าว่า ภิกษุอาคันตุกะมาเป็นนิตย์ พึงฉันอาคันตุกภัตเฉพาะในวันที่มาเท่านั้น, ถ้าว่า มาในระหว่างๆ, พึงฉันรูปละ ๒-๓ วัน.
____________________________
๑- มหาวคฺค. ทุติย. ๒๑๐.

               ส่วนในมหาปัจจรีแก้ว่า ควรฉันได้ ๗ วัน. ภิกษุผู้เจ้าถิ่นไปไหนๆ มาก็ดี, แม้เธอก็พึงฉันอาคันตุกภัต.
               อนึ่ง ถ้าว่า อาคันตุกภัตนั้น เป็นของที่เขาให้เนื่องในสำนักต้องให้ถือเอาในสำนัก. ถ้าสำนักอยู่ไกล เขาจึงให้เนื่องในโรงฉัน ต้องให้ถือเอาในโรงฉัน.
               ก็ถ้าว่า ครั้นเมื่อภิกษุอาคันตุกะไม่มี ทายกจึงสั่งว่า แม้ภิกษุผู้เจ้าถิ่นก็ฉันได้ ดังนี้, สมควรที่ภิกษุผู้เจ้าถิ่นจะฉัน. เมื่อเขาไม่สั่ง ไม่ควร.
               ทางของเรื่อง แม้ในคมิกภัตก็เหมือนกันนี้. ส่วนเนื้อความที่แปลกดังนี้ :-
               อาคันตุกภิกษุ ย่อมได้แต่อาคันตุกภัตเท่านั้น.
               คมิกภิกษุ ย่อมได้ทั้งอาคันตุกภัต ทั้งคมิกภัต. แม้ภิกษุผู้เจ้าถิ่นผู้จำนงจะหลีกไป ย่อมกลายเป็นคมิกภิกษุ ย่อมได้คมิกภัต. เหมือนอย่างว่า อาคันตุกภัต อันอาคันตุกภิกษุย่อมได้ฉันใด คมิกภัตนี้ อันคมิกภิกษุย่อมได้ตั้ง ๒-๓ วัน หรือ ๗ วัน ฉันนั้นหามิได้.
               ภิกษุผู้ฉันด้วยตั้งใจว่า เราจักไป ตลอดวันนั้นไปไม่ได้ เพราะกรณียะอะไรๆ ก็ตาม, แม้ในวันรุ่งขึ้นจะฉันก็ควร เพราะยังมีอุตสาหะ (ที่จะไป).
               ในมหาปัจจรีแก้ว่า เมื่อภิกษุตั้งใจว่า จักไป ฉันเสร็จแล้ว พวกโจรดักทางเสียก็ได้, น้ำหลากมาก็ดี, ฝนตกก็ดี, หมู่เกวียนยังไม่ไปก็ดี, เธอผู้ยังมีอุตสาหะ พึงฉัน.
               อันภิกษุผู้รอดอุปัทวะเหล่านั้นอยู่ จะฉัน ๒-๓ วันก็ควร. แต่ภิกษุผู้อ้างเลศว่า จักไป จักไป ย่อมไม่ได้เพื่อฉัน.
               คิลานภัตเล่า ถ้ามีพอแก่ภิกษุผู้อาพาธทั่วกัน, ก็พึงให้ๆ ทั่วกัน หากว่าไม่พอ ก็พึงจัดลำดับให้ถือเอา.
               ภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง ท่วงทีเหมือนคนไม่มีโรค ยังอาจไปภายในบ้านได้, รูปหนึ่งไม่อาจ รูปนี้ชื่อผู้อาพาธหนัก. จึงให้คิลานภัตแก่เธอแท้.
               ภิกษุผู้อาพาธหนัก ๒ รูป, รูปหนึ่งรวยลาภ เป็นผู้มีชื่อเสียงได้ ขาทนียโภชนียะมาก, รูปหนึ่งอนาถา ต้องเข้าไปภายในบ้านเพราะมีลาภอัตคัด, พึงให้คิลานภัตแก่รูปหลังนั้น.
               ในคิลานภัต ไม่มีกำหนดวัน, ภิกษุผู้อาพาธพึงฉันตลอดเวลาที่โรคยังไม่สงบ เมื่อไม่ฉันโภชนะที่สบาย จะยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้.
               แต่ในกาลใด เมื่อภิกษุผู้อาพาธนั้น แม้ฉันยาคูที่ระคน หรือภัตที่ระคน โรคก็ไม่กำเริบ, จำเดิมแต่กาลนั้นไป ไม่พึงฉันคิลานภัต.
               คิลานุปัฏฐากภัตเล่า มีพอแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ทั่วถึงกัน พึงให้ๆ ทั่วถึงกัน, หากว่าไม่พอ พึงจัดลำดับให้ถือเอา.
               แม้คิลานุปัฏฐากภัตนี้ ก็พึงแจกให้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุที่อาพาธนัก ในบรรดาภิกษุผู้อาพาธ ๒ รูป.
               สกุลใด ถวายทั้งคิลานภัต ทั้งคิลานุปัฏฐากภัต แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธที่อนาถา ในบรรดาภิกษุผู้อาพาธหนัก ๒ รูป ภัตในสกุลนั้น ถึงแก่ภิกษุผู้อาพาธรูปใด แม้ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุที่อาพาธรูปนั้น ก็พึงให้ถือเอาในสกุลนั้นแล.
               แม้ในคิลานุปัฏฐานภัต ก็ไม่มีกำหนดวัน. ภิกษุผู้อาพาธยังได้อยู่เพียงใด, แม้ผู้พยาบาลของเธอย่อมได้เพียงนั้น, เพราะเหตุนั้น ภัต ๔ อย่างนี้ ถ้าเป็นของที่เขาถวายอย่างนี้ว่า ภิกษุอาคันตุกะ, ภิกษุผู้เตรียมตัวไป, ภิกษุผู้อาพาธ, และภิกษุผู้พยาบาลภิกษุผู้อาพาธ, จงรับภิกษาของข้าพเจ้า ย่อมควรแม้แก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์. แต่ถ้าเป็นของที่เขาถวายอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจัดภัตไว้ให้เป็นประจำ เพื่อภิกษุอาคันตุกะเป็นต้น, ภิกษุอาคันตุกะเป็นต้นจงรับภัตของข้าพเจ้า ไม่ควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.

               [ภัตอีก ๓ ชนิด]               
               ภัตอื่นอีก ๓ ชนิดเหล่านี้ คือ ธุวภัต กุฏิภัต วารกภัต. ในภัต ๓ ชนิดนั้น นิตยภัต เรียกว่า ธุวภัต. ธุวภัตนั้น มี ๒ อย่าง คือ ของสงฆ์ ๑ ของเฉพาะบุคคล ๑.
               ใน ๒ องร่างนั้น ธุวภัตใด อันทายกถวายให้เป็นประจำว่า ข้าพเจ้าถวายธุวภัตแก่สงฆ์ ดังนี้ ธุวภัตนั้นมีคติอย่างสลากภัตเหมือนกัน. ก็แล ธุวภัตนั้น อันทายกบอกถวายว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงรับภิกษาประจำของข้าพเจ้า ดังนี้ ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทั้งหลายถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               แม้ครั้นเมื่อธุวภัตเป็นของเฉพาะบุคคล อันทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายธุวภัตแก่ท่านทั้งหลายน ดังนี้ ธุวภัตนั้น ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์เท่านั้น. แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับภิกษาประจำของข้าพเจ้า ดังนี้ ควรอยู่, ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์พึงยินดี.
               แม้ถ้าว่าภายหลัง เมื่อล่วงไปแล้ว ๒-๓ วัน เขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับธุวภัต ภัตนั้นควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ เพราะเป็นของที่เธอรับไว้ดีแล้วในวันแรก.
               ที่ชื่อกุฏิภัต คือภัตที่ทายกสร้างที่อยู่ถวายสงฆ์แล้ว ถวายให้เป็นประจำอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้อยู่ในเสนาสนะของพวกข้าพเจ้า จงรับภัตของพวกข้าพเจ้าเท่านั้น ดังนี้ กุฏิภัตนั้น มีคติอย่างสลากภัตเหมือนกัน, พึงให้ภิกษุทั้งหลายรับมาฉัน.
               ก็เมื่อทายกกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้อยู่ในเสนาสนะของพวก้ข้าพเจ้า จงรับภิกษาของพวกข้าพเจ้าเท่านั้น ดังนี้ กุฏิภัตนั้น ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ ส่วนกุฏิภัตใด อันทายกเลื่อมใสในบุคคล ย่อมเป็นของบุคคลนั้นเท่านั้น ครั้นเมื่อบุคคลนั้นไปในที่ไหนๆ เสีย พวกนิสิตพึงฉันแทน.
               ที่ชื่อวารกภัต คือภัตที่ทายกถวายจำเดิมแต่เรือนใกล้ไปว่า พวกข้าพเจ้าจักเปลี่ยนวาระกันบำรุงภิกษุทั้งหลาย ในสมัยที่ภิกษาหายาก, แม้วารกภัตนั้น ที่ทายกถวายออกชื่อภิกษุ ก็ควรแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ แต่เมื่อทายกกล่าวว่า ถวายวารกภัต ดังนี้ วารกภัตนั้น มีคติอย่างสลากภัต.
               ก็ถ้าว่า พวกทายกส่งข้าวสารเป็นต้นไปให้ว่า สามเณรทั้งหลายจงหุงต้มถวาย ดังนี้, ภัตนั้นควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               ภัตเหล่านี้ ๓ กับภัตอีก ๔ มีอาคันตุกภัตเป็นต้น รวมเป็น ๗ ภัต ๗ นั้น รวมกับภัตอีก ๗ มีสังฆภัตเป็นต้น จึงเป็นภัต ๑๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.

               [ภัตอื่น ๔ อย่างในอรรถกถา]               
               อนึ่ง ในอรรถกถากล่าวภัต ๔ อย่างแม้อื่น คือ วิหารภัต อัฏฐภัต จตุกภัต คุฬกภัต. ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อวิหารภัต ได้แก่ภัตที่เกิดแต่กัลปนาสงฆ์ในสำนักนั้น. สำนักภัตนั้น สงเคราะห์ด้วยสังฆภัต.
               อนึ่ง วิหารภัตนั้น ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ในฐานะทั้งหลายเช่นนั้น เพราะเป็นภัตที่พระขีณาสพผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ในติสสมหาวิหารและจิตตลบรรพตเป็นต้น (เคย) รับแล้ว อย่างที่เป็นภัตอันภิกษุ แม้ถือปิณฑปาติกธุดงค์ก็สามารถฉันได้. ส่วนภัตที่ทายกถวายอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าถวายแก่ภิกษุ ๘ รูป, ข้าพเจ้าถวายแก่ภิกษุ ๔ รูป ดังนี้ ชื่ออัฏฐกภัต และชื่อจตุกภัต.
               อัฏฐภัตและจตุกภัตแม้นั้น ที่ทายกถวายออกชื่อภิกษา ควรแก่ภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               ภัตที่ทายกหมายบาตรไว้ ด้วยขนมมีรสอร่อยยิ่ง มีเครื่องปรุงมากแล้วถวาย ชื่อคุฬกภัต. ภัต ๓ อย่างนี้ มีคติอย่างสลากภัตเหมือนกัน.
               แม้ภัตอื่นอีกที่ชื่อ คุฬกภัต ก็ยังมี (คือ) คนทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ให้ทำการฟังธรรมเป็นการใหญ่ และการบูชาในสำนักแล้วกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าไม่สามารถถวายแก่พระสงฆ์ทั้งสิ้นได้, ภิกษุ ๒-๓ ร้อยจงรับภิกษาของพวกข้าพเจ้า ดังนี้, แล้วถวายน้ำอ้อยงบ เพื่อทราบจำนวนภิกษุ. คุฬกภัตนี้ ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               จีวรที่ควรแจก ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในจีวรขันธกะ ส่วนเสนาสนะที่ควรแจก และบิณฑบาตที่ควรแจก ข้าพเจ้าได้กล่าวในเสนาสนักขันธกะนี้ด้วยประการฉะนี้.

               [คิลานปัจจัยที่ควรแจก]               
               ส่วนคิลานปัจจัยที่ควรแจก พึงทราบอย่างนี้ :-
               บรรดาเภสัชมีเนยใสเป็นต้น พระราชาหรือราชมหาอมาตย์ ส่งเนยใสร้อยหม้อก็ดี พันหม้อก็ดี ไปสู่สำนักก่อน. พระภัตตุทเทสก์ตีระฆัง ให้ๆ เต็มภาชนะที่ถือมา จำเดิมแต่เถรอาสน์ลงมา. เนยใสนั้น ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือปิณฑปาติกธุดงค์.
               ถ้าว่า พระมหาเถระทั้งหลายเป็นผู้มักล่าช้า มาภายหลัง อย่าพึงกล่าวกะท่านว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ากำลังแจกแก่ภิกษุผู้มีพรรษา ๒๐, ลำดับของพวกท่านเลยไปเสียแล้ว, พึงพักลำดับไว้ ถวายแก่พระมหาเถระเหล่านั้นแล้ว จึงถวายตามลำดับในภายหลัง.
               ภิกษุทั้งหลายได้ฟัง (ข่าว) ว่า ที่สำนักโน้น มีเนยใสเกิดขึ้นมา จึงพากันมาแม้จากสำนักในระยะโยชน์หนึ่ง. พึงให้ตั่งแต่สถานที่เธอทั้งหลายมาทันๆ กันยืนอยู่.
               เมื่อพวกนิสิตมีอันเตวาสิกเป็นต้น จะรับแทนภิกษุทั้งหลายนแม้ผู้มาไม่ทัน แต่เข้าอุปจารสีมาแล้ว ก็ควรให้แท้.
               พวกนิสิตเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านจงให้แก่อุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้าผู้ตั้งอยู่ภายนอกอุปจารสีมา ดังนี้ ไม่พึงให้.
               ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้เนื่องเป็นอันเดียวกันกับภิกษุผู้เข้าสู่อุปจารสีมาแล้ว มีที่ประตูสำนักของตนก็ดี ที่ภายในแห่งสำนักทีเดียวก็ดี, สีมาชื่อว่าขยายออกด้วยอำนาจบริษัท ; เพราะฉะนั้น พึงให้. แม้เมื่อให้ส่วนแก่สังฆนวกะเสร็จแล้ว ก็พึงให้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้มาภายหลังเหมือนกัน.
               แต่ว่า เมื่อส่วนที่ ๒ ได้ยกขึ้นสู่เถรอาสน์แล้ว ส่วนที่ ๑ ย่อมไม่ถึงแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มาทีหลังอีก, พึงให้ตามลำดับพรรษาตั้งแต่ส่วนที่ ๒ ไป เนยใสเป็นของที่ทายกเข้าไปสู่อุปจารสีมาแล้วให้ในที่ใดที่หนึ่ง, เนยใสทั้งหมด พึงแจกในที่ประชุมเท่านั้น.
               ในสำนักใด มีภิกษุ ๑๐ รูป และหม้อเนยใสเป็นต้น อันทายกถวาย ๑๐ หม้อเหมือนกัน, ในสำนักนั้น พึงแจกกันรูปละหม้อ.
               เนยใสมีหม้อเดียว, ภิกษุมี ๑๐ รูป, พึงแบ่งออกแล้วให้ถือเอา.
               ถ้าว่า ภิกษุเหล่านั้นถือเอาว่า เนยใสทั้งหม้อตามที่ตั้งอยู่นั่นแล ย่อมถึงแก่พวกเรา ดังนี้, เนยใสนั้น เป็นอันถือเอาไม่ชอบ, ย่อมเป็นของสงฆ์ในที่ซึ่งตนไปแล้วๆ ทีเดียว.
               แต่ว่า ภิกษุเอียงหม้อ เทเนยใสลงในภาชนะหน่อยหนึ่งแล้วกล่าวว่า นี่ถึงแก่พระมหาเถระ, ที่เหลือถึงแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว กลับใส่เนยใสนั้นลงในหม้อนั่นเอง ถือเอาไปตามต้องการ ควรอยู่.
               ถ้าว่า เนยเป็นแท่ง แม้ขีดเป็นรอยถือเอาด้วยคิดว่า ส่วนอื่นจากรอยที่ขีด ย่อมถึงแก่พระมหาเถระ, ส่วนที่เหลือถึงแก่พวกเรา ดังนี้ ย่อมเป็นอันถือเอาชอบ.
               ในภิกษุและหม้อเนยใส แม้หย่อนหรือเกินกว่ากำหนดดังกล่าวแล้ว ก็พึงแบ่งกันโดยอุบายนั้นแล. ก็ถ้าว่า ภิกษุมีอยู่รูปเดียว เนยใสก็มีอยู่หม้อเดียว ภิกษุนั้นจะตีระฆังแล้วถือเอาด้วยคิดว่า นี้ถึงแก่เรา ดังนี้ก็ดี ควรอยู่. แม้จะให้ถึง (แก่ตน) ทีละน้อยๆ อย่างนี้ว่า นี้ส่วนที่ ๑ ถึงแก่เรา นี้ส่วนที่ ๒ ดังนี้ก็ควร. แม้ในเภสัชที่เหลือมีเนยข้นเป็นต้น ก็นัยนี้.
               แต่ว่า รอยขีดไม่คงอยู่ในน้ำมันงาเป็นต้นที่ใสใด, น้ำมันงาเป็นต้นนั้น พึงตักแจกแท้.
               เภสัชมีขิงสดและพริกเป็นต้นก็ดี, สมณบริขารมีบาตรและภาชนะที่เหลือเป็นต้นก็ดี, ทั้งหมดพึงกำหนดให้ดีแล้วแจกตามนัยอันสมควรแก่อธิบายดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ภิกษุผู้เฉลียวฉลาด พึงพิจารณาบาลีและอรรถกถาแล้วอย่าประมาท แจกปัจจัยของสงฆ์อย่างนั้นเถิด.
               กถาว่าด้วยปัจจัยที่ควรแจกโดยอาการทั้งปวง จบแล้วด้วยประการฉะนี้

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ พุทธานุญาตภัตร เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 317อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 324อ่านอรรถกถา 7 / 329อ่านอรรถกถา 7 / 664
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=2837&Z=2872
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=8128
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=8128
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :