บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
[วินิจฉัยในวัตตักขันธกะ] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงที่ใกล้อุปจารสีมา ด้วยพระพุทธพจน์นี้ว่า บัดนี้ เราจักเข้าสู่อาราม ; เพราะฉะนั้น ภิกษุถึงอุปจารสีมาแล้ว พึงทำคารวกิจทั้งปวง มีถอดรองเท้าเป็นต้น. บทว่า ตเหตฺวา ได้แก่ ใช้ไม้เท้าคอนรองเท้าไป. บทว่า ปฏิกฺกมนฺติ ได้แก่ ประชุมกัน. หลายบทว่า อุปาหนปุญฺฉนโจฬนํ ปุจฺฉิตฺวา อุปาหนา ปุญฺฉิตพฺพา มีความว่า พึงถามภิกษุทั้งหลายผู้เจ้าถิ่นว่า ผ้าเช็ดรองเท้าอยู่ที่ไหน. บทว่า วิสชฺเชตพฺพํ คือ พึงผึ่งไว้. ข้อว่า โคจโร ปุจฺฉิตพฺโพ มีความว่า พึงถามถึงที่เที่ยว เพื่อภิกษาอย่างนี้ว่า โคจรคามอยู่ใกล้หรือไกล. ภิกษุพึงเที่ยวบิณฑบาตแต่เช้าหรือสาย? ดังนี้. บ้านของพวกมิจฉาทิฏฐิก็ดี บ้านที่มีภิกษาเขาจำกัดไว้ก็ดี ชื่อว่า อโคจร. ภิกษาในบ้านใด เขาถวายแก่ภิกษุรูปเดียวหรือ ๒ รูป, บ้านแม้นั้นก็ควรถาม. หลายบทว่า ปานียํ ปุจฺฉิตพฺพํ, ปริโภชนียํ ปุจฺฉิตพฺพํ มีความว่า พึงถามถึงน้ำใช้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ย่อมดื่มน้ำที่ควรดื่มแน่ สระนี้ ทั้งการใช้สอย มีอาบเป็นต้นด้วยหรือ? สัตว์ร้ายหรือเหล่าอมนุษย์ย่อมมีในสถานบางตำบล ; เพราะฉะนั้น จึงควรถามว่า ควรเข้าไปเวลาไร? ควรออกมาเวลาไร? สองบทว่า พหิ ฐิเตน มีความว่า เห็นทางของงูหรือของอมนุษย์กำลังออกไป พึงยืนดูอยู่ข้างนอก. หลายบทว่า สเจ อุสฺสหติ โสเธตพฺโพ มีความว่า ถ้าว่าตนสามารถ, พึงชำระสำนักทั้งหมดให้สะอาด, เมื่อไม่สามารถ พึงจัดแจงโอกาสเป็นที่อยู่ของตน. ก็แลในธรรมเนียมแห่งการชำระสำนักให้สะอาด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว สำหรับภิกษุผู้สามารถชำระสำนักทั้งหมดให้สะอาด พึงทราบวินิจฉัย ตามนัยที่กล่าวแล้วในมหาขันธกะนั่นแล. [อาวาสิกวัตร] เมื่ออาคันตุกะผู้แก่กว่ามา พึงงดจีวรกรรมหรือนวกรรมเสีย ทำกิจทั้งปวงมีอาทิอย่างนี้ว่า พึงแต่งตั้งอาสนะ ดังนี้ กำลังกวาดลานเจดีย์ พึงเก็บไม้กวาดเสีย เริ่มทำวัตรแก่เธอ. หากว่า อาคันตุกะเป็นผู้ฉลาด, เธอจักกล่าวว่า จงกวาดลานเจดีย์เสียก่อนเถิด ผู้มีอายุ. อนึ่ง กำลังทำยาเพื่อคนไข้อยู่ ถ้าว่า คนไข้ไม่ทุรนทุรายนัก, พึงงดทำไว้ ทำวัตรเสียก่อน, แต่สำหรับไข้หนัก ต้องทำยาก่อน ถ้าอาคันตุกะเป็นผู้ฉลาด, เธอจักกล่าวว่า จงทำยาเสียก่อน. เมื่อถามถึงน้ำฉัน ถ้าว่า อาคันตุกะดื่มน้ำที่นำมาแล้วครั้งเดียวหมด, พึงถามท่านว่า ผมจักต้องนำมาอีกไหม? อนึ่ง พึงพัดท่านด้วยพัด. เมื่อพัด พึงพัดที่หลังเท้าครึ่งหนึ่งกลางตัวครั้งหนึ่ง ศีรษะครั้งหนึ่ง. เธออันท่านกล่าวว่า พอหยุดเดินพึงพัดให้อ่อนลง. เธออันท่านกล่าวว่า พอละ จึงพัดให้อ่อนลงกว่านั้น. ท่านกล่าวถึงครั้งที่ ๓ พึงวางพัดเสีย. พึงล้างเท้าของท่าน. ครั้นล้างแล้ว ถ้าน้ำมันของตนมี, พึงทาด้วยน้ำมัน. ถ้าไม่มี, พึงทาด้วยน้ำมันของท่าน. ส่วนการเช็ดรองเท้า พึงทำตามความชอบใจของตน. ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สเจ อุสฺสหติ. เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นอาบัติ แม้แก่ภิกษุผู้ไม่เช็ดรองเท้า. เธออันท่านถามว่า เสนาสนะถึงแก่เราที่ไหน? พึงจัดแจง เสนาสนะ. อธิบายว่า พึงบอกอย่างนี้ว่า เสนาสนะนี่ถึงแก่ท่าน ดังนี้. แลสมควรแท้ ที่จะตบเสียก่อน จึงปูลาด. วินิจฉัยในวัตรของอาคันตุกะผู้นวกะ พึงทราบดังนี้ :- ข้อว่า ปานียํ อาจิกฺขิตพฺพํ มีความว่า ภิกษุผู้เจ้าถิ่น พึงบอกว่า ท่านจงถือเอาน้ำนั่นดื่ม ดังนี้. แม้ในน้ำใช้ ก็มีนัยเหมือนกัน. คำที่เหลือเหมือนคำก่อนนั่นแล. จริงอยู่ ภิกษุเจ้าถิ่นจะไม่ทำวัตรแก่อาคันตุกะ ผู้มาถึงสำนักของตน แม้ในอาวาสใหญ่ ย่อมไม่ได้. [คมิกวัตร] บทว่า ทารุภณฺฑํ ได้แก่ เตียงและตั่งเป็นต้น ที่กล่าวแล้วในเสนาสนักขันธกะ. แม้ภัณฑะดิน ก็ได้แก่ภาชนะสำหรับย้อมเป็นต้น ภัณฑะทั้งปวงมีประเภทดังกล่าวแล้วในเสนาสนักขันธกะนั่นแล. ภัณฑะทั้งปวงนั้นอันภิกษุผู้เตรียมจะไป พึงเก็บไว้ที่โรงไฟหรือไม่ที่อื่นซึ่งคุ้มได้แล้วจึงไป. จะเก็บไว้ในเงื้อมที่ฝนไม่รั่วก็ควร. วินิจฉัยในคำว่า เสนาสนํ อาปุจฺฉิตพฺพํ นี้ พึงทราบดังนี้ :- เสนาสนะใด สร้างไว้บนศิลาดาดหรือบนเสาศิลา, ปลวกทั้งหลายขึ้นไม่ได้ในเสนาสนะใด, ไม่เป็นอาบัติ แม้แก่ภิกษุไม่บอกมอบเสนาสนะนั้น. คำว่า จตูสุ ปาสาณเกสุ เป็นอาทิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงอาการที่จะพึงกระทำ ในเสนาสนะมีบรรณศาลาเป็นต้น อันเป็นสถานที่เกิดแห่งปลวกทั้งหลาย. ข้อนี้ว่า บางที แม้ส่วนทั้งหลาย จะพึงเหลืออยู่บ้าง ดังนี้ เป็นอานิสงส์ในเสนาสนะที่ตั้งไว้กลางวัน. ส่วนในเรือนที่ฝนรั่วได้ เมื่อหญ้าและก้อนดินตกลงข้างบน (แห่งเตียงและตั่ง) แม้ส่วนทั้งหลายแห่งเตียงและตั่ง ย่อมฉิบหายไป. [เรื่องอนุโมทนา] สองบทว่า อิทฺธิ อโหสิ มีความว่า ภัตได้เป็นของถึงพร้อมแล้ว. ข้อว่า จตูหิ ปญฺจหิ มีความว่า เมื่อพระสังฆเถระนั่งแล้วเพื่อต้องการจะอนุโมทนา ภิกษุ ๔ รูปพึงนั่งตามลำดับข้างท้าย. เมื่อพระอนุเถระนั่งแล้ว พระมหาเถระพึงนั่ง และภิกษุ ๓ รูปพึงนั่งข้างท้าย. เมื่อภิกษุรูปที่ ๕ นั่นแล้ว ภิกษุ ๔ รูปพึงนั่งข้างบน. เมื่อภิกษุหนุ่มข้างท้าย อันพระสังฆเถระแม้เชิญแล้ว ภิกษุ ๔ รูป พึงนั่งตั้งแต่พระสังฆเถระลงมาทีเดียว. ก็ถ้าว่า ภิกษุผู้อนุโมทนากล่าวว่า ไปเถิด ท่านผู้เจริญ ไม่มีกิจที่จะต้องคอย ดังนี้ ควรไป. เมื่อพระมหาเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พวกเราจะไปละ เธอกล่าวว่า นิมนต์ไปเถิด, แม้อย่างนี้ ก็ควรไป. พระมหาเถระแม้ทำความผูกใจว่า พวกเราจักคอยอยู่นอกบ้านดังนี้ ไปถึงนอกบ้านแล้ว แม้จะสั่งนิสิตของตนว่า เธอทั้งหลายจงคอยความมาของภิกษุนั้น ดังนี้ แล้วไปเสีย ควรเหมือนกัน. แต่ถ้าชาวบ้านให้ภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งตนพอใจ ทำการอนุโมทนา หาเป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น ผู้อนุโมทนาอยู่ไม่, ไม่เป็นภาระแก่พระมหาเถระ. จริงอยู่ เพราะในอุปนิสินนกถา ต้องเรียนพระเถระก่อนในเมื่อชนทั้งหลายให้กล่าว. ส่วนภิกษุที่พระมหาเถระเชิญเพื่ออนุโมทนาแทน ภิกษุทั้งหลายต้องคอย. นี้เป็นลักษณะในเรื่องอนุโมทนานี้. บทว่า วจฺจิโต มีความว่า พระเถระเกิดปวดอุจจาระ. อธิบายว่า ผู้อันอุจจาระบีบคั้นแล้ว. [ภัตตัคควัตร] ในอรรถกถาทั้งหลายกล่าวว่า จะเป็นในละแวกบ้านหรือในวัดก็ตาม, การที่ภิกษุผู้จะไปสู่ที่เลี้ยงของชนทั้งหลาย ห่มจีวรคาดประคดนั่นแล สมควร. หลายบทว่า น เถเร ภิกฺขู อนูปขชฺช มีความว่า ไม่พึงนั่งเบียดภิกษุผู้เป็นเถระนัก หากว่า อาสนะเสมอกับอาสนะที่พระมหาเถระนั่ง, เมื่ออาสนะมีมาก พึงนั่งเว้นไว้ ๑ หรือ ๒ อาสนะ ไม่พึงนั่งบนอาสนะที่เขานับภิกษุแต่งตั้งไว้, พระมหาเถระสั่งว่า จงนั่งเถิด พึงนั่ง. ถ้าพระมหาเถระไม่สั่ง, พึงเรียนว่า อาสนะนี้สูงขอรับ เมื่อท่านบอกว่า จงนั่งเถิด พึงนั่ง, ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุใหม่ แม้เรียนแล้วอย่างนั้น พระมหาเถระไม่อนุญาต, ไม่เป็นอาบัติแก่เธอผู้นั่ง. เป็นอาบัติแก่พระมหาเถระเท่านั้น. จริงอยู่ ภิกษุใหม่ไม่เรียนก่อน นั่งบนอาสนะเห็นปานนั้น ย่อมต้องอาบัติเหมือนพระเถระอันภิกษุใหม่เรียนแล้วไม่อนุญาตฉะนั้น. หลายบทว่า น สงฺฆาฏึ โอตฺถริตฺวา มีความว่า ไม่พึงปูสังฆาฏิแล้วนั่งทับ. คำว่า อุโภหิ หตฺเถหิ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาน้ำสำหรับล้างบาตร ส่วนน้ำทักษิโณทก พึงวางบาตรบนเชิงข้างหน้าแล้วจึงรับ. บทว่า สาธุกํ ได้แก่ ไม่ทำให้มีเสียงน้ำ. สองบทว่า สูปสฺส โอกาโส มีความว่า โอกาสแห่งแกงจะมีอย่างใด พึงรับข้าวสุกพอประมาณอย่างนั้น. คำว่า ท่านจงได้ทั่วถึงเท่าๆ กัน นี้ อันพระเถระพึงกล่าวในเนยใสเป็นอาทิอย่างเดียวหามิได้, แม้ในข้าวสุก ก็พึงกล่าว. ก็บรรดาเภสัชมีเนยใสเป็นต้น สิ่งใดมีน้อย, สิ่งนั้นสมควรแก่ภิกษุรูปเดียว หรือ ๒ รูป, เมื่อพระเถระกล่าวว่า ท่านจงให้ทั่วถึงเท่าๆ กันแก่ภิกษุทั้งปวง ความลำบากย่อมมีแก่พวกชาวบ้าน เพราะฉะนั้น ของเช่นนั้น พึงรับครั้งเดียวหรือ ๒ ครั้งแล้ว ที่เหลือไม่ควรรับ. คำว่า น ตาว เถเรน ภุญฺชิตพฺพํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาโรงเลี้ยงที่มีภิกษุอันทายกจำกัดไว้ (และ) โรงเลี้ยงที่ชนทั้งหลายเป็นผู้ประสงค์จะให้อาหารถึงแก่ภิกษุทั่วกันแล้วไหว้. ส่วนโรงเลี้ยงใด เป็นโรงใหญ่, คือ ในโรงเลี้ยงใด ภิกษุทั้งหลายฉันอยู่ในประเทศหนึ่ง, ทายกถวายน้ำในประเทศหนึ่ง, ในโรงเลี้ยงนั้น พึงฉันตามสบาย. คำว่า น ตาว เถเรน อุทกํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาน้ำล้างมือ, ฝ่ายภิกษุผู้มีความกระหายในระหว่าง หรือผู้มีอามิสติดคอ พึงดื่มน้ำ ไม่พึงล้างมือ. ถ้าว่าชนทั้งหลายกล่าวว่า นิมนต์ล้างบาตรและมือเถิดท่านผู้เจริญ หรือภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่านจงรับน้ำเถิด, พระเถระควรล้างมือ. ด้วยคำว่า นิวตฺตนฺเตน เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า สงฆ์เมื่อจะลุกขึ้นกลับจากโรงเลี้ยง พึงกลับอย่างนี้. อย่างไร? พึงเห็นคำทั้งปวงว่า นวเกหิ เป็นต้น. จริงอยู่ ในเรือนทั้งหลายที่คับแคบ ไม่มีโอกาสที่พระเถระทั้งหลายออก ; เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น. ก็นวกภิกษุทั้งหลาย ผู้กลับอยู่อย่างนั้น รออยู่ที่ประตูเรือน พึงไปตามลำดับกันได้ ในเมื่อพระเถระทั้งหลายออกอยู่. แต่ถ้าว่า พระมหาเถระทั้งหลาย เป็นผู้นั่งอยู่ไกล พวกนวกภิกษุนั่งอยู่ภายในเรือน, พึงออกมาแถวตั้งแต่เถรอาสน์ลงมาทีเดียว อย่าให้กายกับกายเบียดกัน เดินเป็นแถวห่างๆ ให้ชนทั้งหลายอาจไปในระหว่างได้. [ปิณฑจาริกวัตร] ข้อว่า กมฺมํ วา นิกฺขิปนฺติ มีความว่า ชนทั้งหลายถือสิ่งใดเป็นฝ้ายหรือกระด้งหรือสาก ทำการอยู่ เป็นผู้ยืนก็ตาม นั่งก็ตาม, วางสิ่งนั้นเสีย. ข้อว่า น จ ภิกฺขาทายิกาย มีความว่า ผู้ถวายภิกษา จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ในเวลาถวายภิกษา ภิกษุไม่พึงมองหน้า (เขา). [อารัญญกวัตร] สองบทว่า เสนาสนา โอตริตพฺพํ มีความว่า พึงออกจากที่อยู่. ในคำว่า ปตฺตํ ถวิกาย ปกฺขิปิตฺวา นี้ มีวินิจฉัยว่า ถาว่าภายนอกบ้านไม่มีน้ำ, พึงทำภัตกิจภายในบ้านนั่นแล, ถ้าว่า ภายนอกบ้านมีน้ำ, พึงทำภัตกิจภายนอกบ้านแล้วล้างบาตร ทำให้สะเด็กน้ำแล้วใส่ถลก. ข้อว่า ปริโภชนียํ อุปฏฺฐาเปตพฺพํ มีความว่า หากว่าภาชนะไม่พอไซร้, พึงเตรียมน้ำฉันนั่นแลไว้ ทำให้เป็นน้ำใช้ด้วย. เมื่อไม่ได้ภาชนะ พึงขังไว้ในกระบอกไม้ไผ่ก็ได้. ภิกษุผู้ไม่ได้แม้ซึ่งกระบอกไม้ไผ่นั้น พึงทำให้มีบ่อน้ำอยู่ในที่ใกล้. เมื่อไม้สีไฟไม่มี แม้จะไม่ก่อไฟก็ควร. เหมือนอย่างภิกษุผู้อยู่ป่า พึงต้องการไม้สีไฟฉันใด, แม้ภิกษุผู้เดินทางกันดาร ก็พึงต้องการไม้สีไฟฉันนั้น แต่สำหรับภิกษุผู้อยู่ในหมู่ การอยู่ แม้เว้นจากไม้สีไฟนั้น ก็ควร. ดาวทั้งหลายนั่นเอง ชื่อนักษัตรบถ. [เสนาสนวัตร] ธรรมดาประตูเป็นทางที่ใช้มาก เพราะฉะนั้น ไม่มีกิจที่จะต้องบอกเล่าสำหรับประตู ส่วนกิจที่เหลือเป็นต้นว่าให้อุทเทส ต้องบอกเล่าเสียก่อน จึงค่อยทำ, สมควรบอกทุกวัน. แม้หากว่า เมื่อนวกภิกษุกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เฉพาะกิจที่ผมจะต้องบอกเล่า จงเป็นอันบอกเถิด ภิกษุผู้แก่กว่ารับว่า ดีละหรือภิกษุผู้แก่กว่าบอกเสียเองว่า ท่านจงอยู่ตามสบายเถิด ; แม้อย่างนี้ จะไม่บอกเล่าก็ได้. แม้ด้วยความคุ้นเคย จะไม่บอกเล่าแก่ภิกษุผู้ชอบกัน ควรเหมือนกัน. ข้อว่า เยน วุฑฺโฒ เตน ปริวตฺติตพฺพํ มีความว่า ตรงหน้าภิกษุผู้แก่ พึงเลี้ยวไปเสีย. แม้ในโภชนาศาลาเป็นต้น พึงปฏิบัติอย่างนี้เหมือนกัน. วินิจฉัยในชันตาฆรวัตร พึงทราบดังนี้ :- คำว่า ปริภณฺฑํ นั้น ได้แก่ ชานภายนอก. [เรื่องน้ำชำระ] ในคำว่า สติ อุทเก นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้ามีน้ำ แต่ไม่มีที่กำบัง, พึงใช้ภาชนะตักไปชำระ. เมื่อไม่มีภาชนะ พึงเอาบาตรตักไป. แม้บาตรก็ไม่มี เป็นอันชื่อว่าไม่มีภาชนะ. ภิกษุผู้ไปด้วยทำในใจว่า ที่นี่เปิดเผยนัก ข้างหน้าจักมีน้ำอื่น ยังไม่ทันได้น้ำ ได้เวลาภิกษาจาร, พึงเช็ดด้วยไม้หรือของบางอย่างแล้วจึงไป. ภิกษุนั้นฉันก็ดี กระทำอนุโมทนาก็ดี ย่อมควร. บทว่า อาคตปฏิปาฏิยา มีความว่า ลำดับแห่งผู้มาเท่านั้นเป็นประมาณ ในสถานทั้ง ๓ คือ เวจกุฏี ที่ถ่ายปัสสาวะ ท่าอาบน้ำ. [เวจกุฏิวัตร] ข้อว่า ไม่พึงเคี้ยวไม้สีฟันพลาง ถ่ายอุจจาระพลาง นี้เป็นข้อห้ามในที่ทั้งปวงทีเดียว ทั้งเวจกุฏี ทั้งมิใช่เวจกุฎี. ข้อว่า ผรุเสน กฏฺเฐน มีความว่า ไม่ควรเช็ดด้วยไม้ที่ผ่า หรือไม้คม หรือไม่มีปม หรือไม่มีหนาม หรือไม้มีแผล หรือไม้ผุ. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ถือชำระเข้าไป. คำว่า น อาสจมนสราวเก นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาฐานที่ทั่วไปแก่ภิกษุทั้งปวง. จริงอยู่ ภิกษุอื่นๆ ย่อมมาที่สาธารณฐานนั้น, เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเหลือน้ำไว้. ส่วนฐานใด เป็นสถานที่ทำไว้ในเอกเทศในวัด แม้เป็นของสงฆ์ เพื่อต้องการจะไปถ่ายเป็นนิตย์ หรือเป็นฐานส่วนตัวบุคคล, ในฐานนั้น จะเหลือน้ำไว้ในขันชำระก็ได้. แม้ภิกษุผู้ฉันยาถ่าย เข้าไปบ่อยๆ จะเหลือไว้ก็ควรเหมือนกัน. บทว่า อูหตา ได้แก่ เปื้อน. อธิบายว่า ภายนอกเปื้อนอุจจาระ. บทว่า โธวิตพฺพา ได้แก่ พึงนำน้ำมาล้าง. น้ำมี ภาชนะไม่มี, เป็นอันชื่อว่าไม่มี ; ภาชนะมี น้ำไม่มี, แม้อันนี้ ก็ชื่อว่าไม่มี ; เมื่อไม่มีทั้ง ๒ อย่าง เป็นไม่มีแท้. พึงเช็ดด้วยไม้ หรือด้วยของบางอย่างแล้วจึงไป คำที่เหลือทุกสถาน ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล. วัตตักขันธกวรรณนา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ วัตตขันธกะ เรื่องพระอาคันตุกะเป็นต้น จบ. |