บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า เอกาทส ได้แก่ บุคคล ๑๑ พวก มีบัณเฑาะก์เป็นต้น. สองบทว่า เอกาทส ปาทุกา ได้แก่ เขียงเท้า ๑๐ อย่าง เป็นวิการแห่งรัตนะ เขียงเท้าไม้ ๑, ส่วนเขียงเท้าทำด้วยหญ้าสามัญ หญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่ายเป็นต้น จัดเข้าพวกเขียงเท้าไม้เหมือนกัน. สองบทว่า เอกาทส ปตฺตา ได้แก่ บาตรที่ทำด้วยรตนะ ๑๐ ชนิด รวมทั้งบาตรที่ทำด้วยทองแดงหรือทำด้วยไม้. สองบทว่า เอกาทส จีวรานิ ได้แก่ จีวรเขียวล้วนเป็นต้น. สองบทว่า เอกาทส ยาวตติยกา ได้แก่ อุกขิตตานุวัตติกา ๑ สังฆาทิเสสของภิกษุณี ๘ อริฏฐสิกขาบท ๑ จัณฑกาฬีสิกขาบท ๑. อันตรายิกธรรมทั้งหลาย อันภิกษุณีผู้สวดกรรมวาจาพึงถาม มีข้อว่า น สีมนิมิตฺตา เป็นต้น ชื่อว่าอันตรายิกธรรม ๑๑. หลายบทว่า เอกาทส จีวรานิ อธิฏฺฐาตพฺพานิ ได้แก่ ไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้านิสีทนะ ผ้าปูนอน ผ้าปิดฝี ผ้าเช็ดหน้า บริขารโจล ผ้าอาบน้ำ ผ้าคาดนม. บทว่า น วิกปฺเปตพฺพานิ มีความว่า จีวร ๑๑ ชนิดนั้นแล จำเดิมแต่กาลที่อธิษฐานแล้ว ไม่ควรวิกัปป์. ลูกดุมและลูกถวิน มี ๑๑ อย่าง รวมทั้งที่ถักด้วยด้าย. ทั้งหมดนั้นได้แสดงแล้วในขุททกขันธกะ. ปฐพี ได้แสดงแล้วในปฐวีสิกขาบท.๑- ระงับนิสัย จากอุปัชฌาย์ ๕ จากอาจารย์ ๖ รวมเป็น ๑๑ อย่างนี้. บุคคลไม่ควรไหว้ รวมทั้งบุคคลผู้เปลือยกายจึงเป็น ๑๑, บุคคลไม่ควรไหว้ทั้งหมดนั้น ได้แสดงแล้วในเสนาสนขันธกะ. อย่างยิ่ง ๑๑ พึงทราบในอย่างยิ่ง ๑๔ ที่กล่าวแล้วในหนหลัง แต่จัดด้วยอำนาจหมวด ๑๑. สองบทว่า เอกาทส วรานิ ได้แก่ พร ๑๐ ประการที่กล่าวแล้วในหนหลัง กับพรที่พระนางมหาปชาบดีทูลขอ. สีมาโทษ ๑๑ อย่าง จักมาในกัมมวรรค โดยนัยมีคำว่า สมมติสีมาเล็กเกินนัก เป็นอาทิ. ขึ้นชื่อว่า โทษ ๑๑ ประการ ในบุคคลผู้ด่า ผู้กล่าวขู่ พึงทราบโดยพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นใด ผู้ด่า ผู้กล่าวขู่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย มักด่าว่าพระอริยะ, ข้อที่ภิกษุนั้นไม่พึงประสบความฉิบหาย ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส. ความฉิบหาย ๑๑ อย่าง คืออะไรบ้าง? คือ ภิกษุนั้นไม่บรรลุคุณที่ไม่บรรลุ ๑ เสื่อมจากคุณที่ได้บรรลุแล้ว ๑ สัทธรรมของภิกษุนั้นไม่ผ่องใส ๑ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้มีความดูหมิ่นในพระสัทธรรม ๑ เบื่อหน่ายประพฤติพรหมจรรย์ ๑ ต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ ลาสิกขาเวียนมาเป็นคนเลว ๑ ถูกความเจ็บไข้คือโรคอย่างหนัก ๑ ถึงความคลั่งเป็นบ้า ๑ ย่อมหลงใหลทำกาลกิริยา ๑ เบื้องหน้าแต่มรณะเพราะแตกแห่งกาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑. ก็พระพุทธวจนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ว่า สัทธรรม ในบทว่า สทฺธมฺมสฺส นี้. บทว่า อาเสวิตาย ได้แก่ เสพมาตั้งแต่แรก. บทว่า ภาวิตาย ได้แก่ ให้สำเร็จ หรือให้เจริญ. บทว่า พหุลีกตาย ได้แก่ กระทำบ่อยๆ. บทว่า ยานีกตาย ได้แก่ ทำให้คล้ายยานที่เทียมไว้ดีแล้ว. บทว่า วตฺถุกตาย ได้แก่ ทำให้เป็นคุณตั้งมั่น โดยประการที่จะตั้งมั่น. บทว่า อนุฏฺฐิตาย ได้แก่ ประพฤติเนืองๆ. อธิบายว่า อธิษฐานเป็นนิตย์. บทว่า ปริจิตาย ได้แก่ สะสมโดยรอบ คือ สะสมในทิศทั้งปวงคือ สะสมทั่วถึง. อธิบายว่า ให้เจริญยิ่งๆ. บทว่า สุสมารทฺธาย ได้แก่ ปรารภดีพร้อม. อธิบายว่า น้อมเข้าไปสู่ความเป็นผู้ชำนาญ. สองบทว่า น ปาปกํ สุปินํ มีความว่า ไม่ฝันเห็นเฉพาะที่ลามกเท่านั้น, แต่ย่อมฝันเห็นที่ดี คือ ที่เป็นเหตุแห่งความเจริญ. สองบทว่า เทวตา รกฺขนฺติ มีความว่า อารักขเทวดาทั้งหลายย่อมจัดตั้งการรักษาที่ชอบธรรม. หลายบทว่า ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ ได้แก่ จิตย่อมตั้งมั่น (เป็นสมาธิ) เร็ว. สองบทว่า อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต มีความว่า เมื่อไม่กระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ซึ่งยิ่งกว่าเมตตาฌานขึ้นไป คงเป็นเสขบุคคลหรือปุถุชนก็ตาม เมื่อทำกาลกิริยา ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก. คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล. ____________________________ ๑- มหาวิภงฺค. ๒/๒๓๐. เอกุตตริกวัณณนามีพรรณนาหมวด ๑๑ เป็นที่สุดจบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๑๑ จบ. |