ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1035อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1046อ่านอรรถกถา 8 / 1054อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
อธิกรณเภท ว่าด้วยอธิกรณ์ ๔ อย่างเป็นต้น

               อธิกรณเภทวัณณนา               
               [รื้อสมถะด้วยรื้ออธิกรณ์]               
               วินิจฉัยในอธิกรณเภท พึงทราบดังนี้ :-
               พระอุบาลีเถระ ครั้นกล่าวรื้ออธิกรณ์ว่า การรื้อ ๑๐ เหล่านี้แล้วได้กล่าวว่า เมื่อรื้อวิวาทาธิกรณ์ ย่อมรื้อสมถะเท่าไร? เป็นอาทิ เพื่อแสดงการรื้อสมถะ เพราะรื้ออธิกรณ์อีก.
               ในบทหล่านั้น หลายบทว่า วิวาทาธิกรณํ อุกฺโกเฏนฺโต เทฺว สมเถ อุกฺโกเฏติ มีความว่า ย่อมรื้อ คือปฏิเสธค้านสมถะ ๒ นี้ คือ สัมมุขาวินัย ๑ เยภุยยสิกา ๑.
               หลายบทว่า อนุวาทาธิกรณํ อุกฺโกเฏนฺโต จตฺตาโร มีความว่า ย่อมรื้อสมถะ ๔ เหล่านี้ คือ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย ตัสสปาปิยสิกา.
               หลายบทว่า อาปตฺตาธิกรณํ อุกฺโกเฏนฺโต ตโย ได้แก่ ย่อมรื้อสมถะ ๓ นี้ คือ สัมมุขาวินัย ปฏิญญาตกรณะ ติณวัตถารกะ.
               หลายบทว่า กิจฺจาธิกรณํ อุกฺโกเฏนฺโต เอกํ มีความว่า ย่อมรื้อสมถะ ๑ นี้ คือ สัมมุขาวินัย.

               [การรื้อ ๑๒]               
               บรรดาการรื้อ ๑๒ ในวาระที่ตอบคำถามว่า การรื้อมีเท่าไร? เป็นอาทิ การรื้อ ๓ ก่อน มีอาทิคือ กรรมที่สงฆ์ยังไม่ได้ทำ ย่อมได้ในอนุวาทาธิกรณ์ที่ ๒ โดยพิเศษ.
               การรื้อสมถะ ๓ มีอาทิคือ อธิกรณ์ที่สงฆ์ยังมิได้ชำระ ย่อมได้ในวิวาทาธิกรณ์ที่ต้น.
               การรื้อสมถะ ๓ มีอาทิคือ อธิกรณ์ที่สงฆ์ยังมิได้วินิจฉัย ย่อมได้ในอาปัตตาธิกรณ์ที่ ๓.
               การรื้อ ๓ มีอาทิคือ อธิกรณ์ที่สงฆ์ยังมิได้ระงับ ย่อมได้ในกิจจาธิกรณ์ที่ ๔.
               อีกประการหนึ่ง การรื้อแม้ทั้ง ๑๒ ย่อมได้ในอธิกรณ์แต่ละอย่างแท้.

               [อาการ ๑๐ แห่งการรื้อ]               
               หลายบทว่า ตตฺถชาตกํ อธิกรณํ อุกฺโกเฏติ มีความว่า ในวัดใดมีอธิกรณ์ เพื่อต้องการบริกขารมีบาตรและจีวรเป็นต้นเกิดขึ้น โดยนัยมีอาทิว่า บาตรของข้าพเจ้า ภิกษุนี้ถือเอาเสีย, จีวรของข้าพเจ้า ภิกษุนี้ถือเอาเสีย, พวกภิกษุเจ้าอาวาสประชุมกันในวัดนั้นเอง ไกล่เกลี่ยพวกภิกษุผู้เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ยินยอมว่า อย่าเลย ผู้มีอายุ แล้วให้อธิกรณ์ระงับ ด้วยวินิจฉัยนอกบาลีแท้ๆ. นี้ชื่อว่าอธิกรณ์เกิดในที่นั้น อธิกรณ์นั้นระงับแล้ว เฉพาะด้วยวินิจฉัยแม้ใด วินิจฉัยแม้นั้น เป็นสมถะอันหนึ่งแท้. เป็นปาจิตตีย์ แม้แก่ภิกษุผู้รื้ออธิกรณ์นี้.
               สองบทว่า ตตฺถชาตกํ วูปสนฺตํ มีความว่า ก็ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้เจ้าถิ่น ไม่สามารถให้อธิกรณ์นั้นระงับได้ไซร้. ทีนั้น ภิกษุอื่นเป็นพระเถระผู้ทรงวินัยมาถามว่า อาวุโส ทำไมอุโบสถหรือปวารณาในวัดนี้ จึงงดเสีย? และเมื่อภิกษุเหล่านั้นเล่าอธิกรณ์นั้นแล้ว จึงวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น ด้วยสูตร โดยขันธกะและบริวาร ให้ระงับเสีย. อธิกรณ์นี้ ชื่อว่าเกิดในที่นั้นระงับแล้ว. คงเป็นปาจิตตีย์แม้แก่ภิกษุผู้รื้ออธิกรณ์นั่น.
               บทว่า อนฺตรามคฺเค มีความว่า หากว่า ภิกษุผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเหล่านั้นกล่าวว่า เราไม่ยอมตกลงในคำตัดสินของพระเถระนี้ พระเถระนี้ไม่ฉลาดในวินัย พระเถระทั้งหลาย ผู้ทรงวินัยอยู่ในบ้านชื่อโน้น เราจักไปตัดสินกันที่บ้านนั้น ดั่งนี้ กำลังไปกัน ในระหว่างทางนั่นเอง กำหนดเหตุได้ จึงตกลงกันเสียเอง หรือภิกษุเหล่าอื่น ยังภิกษุเหล่านั้นให้ตกลงกันได้ อธิกรณ์แม้นี้ เป็นอันระงับแท้. ภิกษุใดรื้ออธิกรณ์ในระหว่างทางที่ระงับอย่างนี้ คงเป็นปาจิตตีย์แม้แก่ภิกษุนั้น.
               สองบทว่า อนฺตรามคฺเค วูปสนฺตํ มีความว่า อนึ่ง อธิกรณ์เป็นอันระงับ ด้วยความยินยอมกะกันและกันเอง หรือด้วยการที่ภิกษุผู้เป็นสภาคกันให้ตกลงกันเสีย หามิได้เลย.
               ก็แต่ว่า พระวินัยธรรูปหนึ่งเดินสวนทางมา เห็นแล้วถามว่า ผู้มีอายุพวกท่านจะไปไหนกัน? เมื่อภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ไปบ้านชื่อโน้น ด้วยเหตุชื่อนี้ จึงกล่าวว่า อย่าเลยผู้มีอายุ จะมีประโยชน์อะไร ด้วยไปที่นั้น? แล้วยังอธิกรณ์นั้น ให้ระงับ โดยธรรม โดยวินัย ในที่นั้นเอง นี้ชื่อว่าอธิกรณ์ระงับในระหว่างทาง. คงเป็นปาจิตตีย์ แม้แก่ภิกษุผู้รื้ออธิกรณ์นั่น.
               สองบทว่า ตตฺถ คตํ มีความว่า ก็ถ้าว่า ภิกษุเหล่านั้น แม้อันพระวินัยธรกล่าวอยู่ว่า อย่าเลย ผู้มีอายุ จะมีประโยชน์อะไรด้วยไปที่นั่น? ตอบว่า เราจักไปให้ถึงการตัดสินในที่นั้นเอง ไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคำของพระวินัยธร คงไปจนได้ ครั้นไปแล้ว บอกเนื้อความนั่น แก่พวกภิกษุผู้เป็นสภาคกัน. สภาคภิกษุทั้งหลายห้ามปรามว่า อย่าเลย ผู้มีอายุ ขึ้นชื่อว่าการประชุมสงฆ์ เป็นการหนักแล้ว ให้พากันนั่งวินิจฉัยให้ตกลงกันในที่นั้นเอง. อธิกรณ์แม้นี้ ย่อมเป็นอันระงับแท้. ภิกษุใดรื้ออธิกรณ์ไปในที่นั้น ซึ่งระงับแล้วอย่างนี้ คงเป็นปาจิตตีย์แม้แก่ภิกษุนั้น.
               หลายบทว่า ตตฺถ คตํ วูปสนฺตํ มีความว่า อนึ่ง อธิกรณ์นั้นเป็นอันระงับ ด้วยกิริยาที่ให้ตกลงกันของสภาคภิกษุทั้งหลายก็หามิได้แล.
               ก็แต่ว่า พระวินัยธรทั้งหลาย ให้ระงับอธิกรณ์นั้นซึ่งให้ประชุมสงฆ์ บอกในท่ามกลางสงฆ์ นี้ชื่อว่าอธิกรณ์ไปในที่นั้นระงับแล้ว. คงเป็นปาจิตตีย์ แม้แก่ภิกษุผู้รื้ออธิกรณ์นั้น.
               บทว่า สติวินยํ มีความว่า เป็นปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้รื้อสติวินัยอันสงฆ์ให้แล้วแก่พระขีณาสพ.
               ในอมูฬหวินัย ที่สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุผู้บ้าก็ดี ในตัสสปาปิยสิกาอันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุผู้มีบาปหนาแน่นก็ดี มีนัยเหมือนกัน.
               สองบทว่า ติณวตฺถารกํ อุกฺโกเฏติ มีความว่า เมื่ออธิกรณ์อันสงฆ์ระงับแล้ว ด้วยติณวัตถารกสมถะ ธรรมดาอาบัติ ที่ภิกษุเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งนั่งกระโหย่งประณมมือแสดงเสีย ชื่อว่าย่อมออก.
               ก็ภิกษุแม้กล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการออกจากอาบัติ แม้ของภิกษุผู้หลับอยู่ นี้ใด การออกจากอาบัตินั่น ไม่ชอบใจข้าพเจ้า ดังนี้ ชื่อว่ารื้อติณวัตถารกะ. คงเป็นปาจิตตีย์ แม้แก่ภิกษุนั้น.

               [ว่าด้วยองค์ ๔ เป็นเหตุรื้ออธิกรณ์]               
               หลายบทว่า ฉนฺทาคตึ ฯเปฯ คจฺฉนฺโต อธิกรณํ อุกฺโกเฏติ มีความว่า ภิกษุเป็นพระวินัยธร เมื่อแสดงอธรรมว่า ธรรม เป็นอาทิ รื้ออธิกรณ์ที่สงฆ์วินิจฉัยเสร็จแล้วในกาลก่อน ด้วยอาการรื้อ ๑๒ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่ชนที่รักมีอุปัชฌาย์เป็นต้นของตน ชื่อว่าถึงฉันทาคติรื้ออธิกรณ์.
               ก็ในภิกษุผู้เป็นข้าศึกกัน ๒ รูป ภิกษุผู้มีอาฆาตในฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า เขาได้ประพฤติความฉิบหายแก่เรา เมื่อแสดงอธรรมว่า ธรรมเป็นต้น รื้ออธิกรณ์ที่สงฆ์วินิจฉัยเสร็จแล้วในกาลก่อน ด้วยการรื้อ ๑๒ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง เพื่อยกความแพ้ให้แก่ภิกษุผู้เป็นข้าศึกนั้น ชื่อว่าถึงโทสาคติ รื้ออธิกรณ์.
               ฝ่ายภิกษุผู้โง่งมงาย เมื่อแสดงอธรรมว่า ธรรม เป็นต้น เพราะความที่ตนเป็นคนโง่งมงายนั่นเอง รื้ออธิกรณ์โดยนัยกล่าวแล้วนั้นแล ชื่อว่าถึงโมหาคติ รื้ออธิกรณ์.
               ก็ถ้าว่า ในภิกษุ ๒ รูปผู้เป็นข้าศึกกัน รูปหนึ่งเป็นผู้อิงกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ อิงทิฏฐิและอาศัยผู้มีกำลัง เพราะเป็นผู้อิงกายกรรมเป็นต้น ที่ไม่สม่ำเสมอ อิงมิจฉาทิฏฐิ คือความยึดถือ และอาศัยภิกษุผู้มีชื่อเสียง มีพรรคพวกมีกำลัง. เพราะกลัวภิกษุนั้นว่า ผู้นี้จะพึงทำอันตรายแก่ชีวิต หรืออันตรายแก่พรหมจรรย์ของเรา เมื่อแสดงอธรรมว่า ธรรม เป็นอาทิ รื้ออธิกรณ์ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่าถึงภยาคติ รื้ออธิกรณ์.

               [ว่าด้วยผู้รื้ออธิกรณ์ต้องอาบัติ]               
               บทว่า ตทหุปสมฺปนฺโน มีความว่า สามเณรรูปหนึ่งเป็นผู้ฉลาด เป็นพหุสุตะ เธอเห็นภิกษุทั้งหลายผู้แพ้ในการตัดสินแล้วเป็นผู้ซบเซา จึงถามว่า เหตุไรพวกท่านจึงพากันซบเซา? ภิกษุเหล่านั้น จึงบอกเหตุนั้นแก่เธอ. เธอจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า เอาเถิด ขอรับ ท่านจงอุปสมบทให้ผม ผมจักยังอธิกรณ์นั้นให้ระงับเอง. ภิกษุเหล่านั้น ยังเธอให้อุปสมบท. เธอตีกลองให้สงฆ์ประชุมกันในวันรุ่งขึ้น. ลำดับนั้น เธออันภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า สงฆ์ใครให้ประชุม? จึงตอบว่า ผม ให้ประชุมเพราะเหตุไร? เมื่อวานอธิกรณ์วินิจฉัยไม่ดี ผมจักวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น ในวันนี้. ก็เมื่อวานคุณไปข้างไหนเสีย? ผมยังเป็นอนุปสัมบัน ขอรับ แต่วันนี้ผมเป็นอุปสัมบันแล้ว. เธออันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวว่า อาวุโส สิกขาบทนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เช่นคุณ ว่า ภิกษุผู้อุปสมบทในวันนั้นรื้อต้องอุกโกฏนกปาจิตตีย์ จงไปแสดงอาบัติเสีย. แม้ในอาคันตุกะก็นัยนี้แล.
               บทว่า การโก มีความว่า ภิกษุทั้งหลายผู้แพ้ พูดกะภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไปสู่บริเวณวินิจฉัยอธิกรณ์พร้อมกับสงฆ์ ว่า ทำไมพวกท่านจึงตัดสินอธิกรณ์อย่างนั้นเล่า ขอรับ ควรตัดสินอย่างนี้ มิใช่หรือ? ภิกษุนั้นกล่าวว่า เหตุไร ท่านจึงไม่พูดอย่างนี้เสียก่อนเล่า? ดังนี้ ชื่อว่ารื้ออธิกรณ์นั้น ภิกษุใดเป็นผู้ทำ รื้ออธิกรณ์อย่างนั้น เป็นอุกโกฏนกปาจิตตีย์แม้แก่ภิกษุนั้น.
               บทว่า ฉนฺททายโก มีความว่า ภิกษุรูปหนึ่งมอบฉันทะในการวินิจฉัยอธิกรณ์แล้ว เห็นพวกภิกษุผู้เป็นสภาคกันแพ้มาเป็นผู้ซบเซาจึงกล่าวว่า พรุ่งนี้แล ข้าพเจ้าจักตัดสินเอง ให้สงฆ์ประชุมกันแล้ว อันภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ให้ประชุมสงฆ์ เพราะเหตุไร? จึงตอบว่า เมื่อวาน อธิกรณ์ตัดสินไม่ดี วันนี้ ข้าพเจ้าจักตัดสินอธิกรณ์นั้นเอง. ก็เมื่อวาน ท่านไปไหนเสียเล่า? ข้าพเจ้ามอบฉันทะแล้วนั่งอยู่. เธออันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวว่า อาวุโส สิกขาบทนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เช่นท่านว่า ผู้มอบฉันทะ รื้อ ต้องอุกโกฎนกปาจิตตีย์ จงไปแสดงอาบัติเสีย.

               [ว่าด้วยนิทานเป็นต้นแห่งอธิกรณ์]               
               วินิจฉัยในคำว่า วิวาทาธิกรณํ กึนิทานํ เป็นอาทิพึงทราบดังนี้ :-
               ชื่อว่ามีอะไรเป็นนิทาน เพราะอรรถว่า อะไรเป็นเหตุอำนวยแห่งอธิกรณ์นั้น.
               ชื่อว่ามีอะไรเป็นสมุทัย เพราะอรรถว่า อะไรเป็นเหตุเป็นแดนเกิดพร้อมแห่งอธิกรณ์นั้น.
               ชื่อว่ามีอะไรเป็นชาติ เพราะอรรถว่า อะไรเป็นกำเนิดแห่งอธิกรณ์นั้น.
               ชื่อว่ามีอะไรเป็นสมุฏฐาน เพราะอรรถว่า อะไรเป็นแดนเกิดก่อน อะไรเป็นองค์ อะไรเป็นที่เกิดแห่งอธิกรณ์นั่น.
               บทเหล่านี้ทั้งหมด เป็นไวพจน์ของเหตุนั่นเอง.
               วินิจฉัยแม้ในคำว่า วิวาทนิทานํ เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้ :-
               ชื่อว่ามีวิวาทเป็นนิทาน เพราะอรรถว่า วิวาทกล่าวคือเรื่องก่อความแตกกัน ๑๘ ประการ เป็นเหตุอำนวยแห่งวิวาทาธิกรณ์นั่น.
               คำว่า วิวาทนิทานํ นั่น ท่านกล่าวด้วยอำนาจวิวาทซึ่งอาศัยการเถียงกันเกิดขึ้น.
               ชื่อว่ามีอนุวาทเป็นนิทาน เพราะอรรถว่า การโจทเป็นเหตุอำนวยแห่งอนุวาทาธิกรณ์นั้น.
               แม้คำว่า อนุวาทนิทานํ นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจอนุวาทที่อาศัยการโจทกันเกิดขึ้น.
               ชื่อว่ามีอาบัติเป็นนิทาน เพราะอรรถว่า อาบัติเป็นเหตุอำนวยแห่งอาปัตตาธิกรณ์นั้น.
               คำว่า อาปตฺตินิทานํ นั่น ท่านกล่าวด้วยอำนาจอาบัติที่อาศัยความต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ภิกษุย่อมต้องอาบัติ ๔ ซึ่งมีอาปัตตาธิกรณ์เป็นปัจจัย.
               ชื่อว่ามีกิจเป็นนิทาน เพราะอรรถว่า กิจ ๔ อย่าง เป็นเหตุอำนวยแห่งกิจจาธิกรณ์นั้น. อธิบายว่า สังฆกรรม ๔ อย่าง เป็นเหตุแห่งกิจจาธิกรณ์นั้น.
               คำว่า กิจฺจยนิทานํ นั่น ท่านกล่าวด้วยอำนาจกิจทั้งหลายที่อาศัยการที่จำต้องทำเกิดขึ้น มีสมนุภาสน์เพียงครั้งที่ ๓ เป็นต้น แก่ภิกษุณีผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร.
               นี้เป็นวาจาประกอบเฉพาะบทเดียว ในฝ่ายวิสัชนาอธิกรณ์ทั้ง ๔. ทุกๆ บทพึงประกอบโดยทำนองนี้.
               ในวิสัชนามีคำว่า มีเหตุเป็นนิทาน เป็นอาทิ แห่งทุติยปุจฉา พึงทราบภาวะแห่งนิทานเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งกุศลเหตุอกุศลเหตุและอัพยากตเหตุ ๙ หมวด.
               ในวิสัชนาแห่งตติยปุจฉา พึงทราบว่าต่างกันแต่สักว่าพยัญชนะ. จริงอยู่ เหตุนั่นแล ท่านกล่าวว่า ปัจจัย ในตติยปุจฉานี้.

               [ว่าด้วยมูลเป็นต้นแห่งอธิกรณ์]               
               วินิจฉัยในวาระที่ตอบคำถามถึงมูล พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า ทฺวาทส มูลานิ ได้แก่ มูล ๑๒ ซึ่งเป็นไปในภายในสันดานเหล่านี้ คือวิวาทมูล ๖ มีโกรธ ผูกโกรธและความแข่งดีเป็นอาทิ โลภะ โทสะและโมหะ ๓ อโลภะ อโทสะและอโมหะ ๓.
               สองบทว่า จุทฺทส มูลานิ ได้แก่ มูล ๑๒ นั้นเอง กับกายและวาจาจึงรวมเป็น ๑๔.
               สองบทว่า ฉ มูลานิ ได้แก่ มูล ๖ มีกายเป็นต้น.
               วินิจฉัยในวาระที่ตอบคำถามถึงสมุฏฐาน พึงทราบดังนี้ :-
               เรื่องก่อความแตกกัน ๑๘ ประการ เป็นสมุฏฐานแห่ง (วิวาทาธิกรณ์) จริงอยู่ วิวาทาธิกรณ์นั่น ย่อมตั้งขึ้นในเรื่องก่อความแตกกัน ๑๘ ประการเหล่านั้น หรือว่าย่อมตั้งขึ้น เพราะเรื่องก่อความแตกกันเหล่านั่นเป็นตัวเหตุ. ด้วยเหตุนั้น เรื่องก่อความแตกกันเหล่านั่น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นสมุฏฐานแห่งวิวาทาธิกรณ์นั้น. ในอธิกรณ์ทั้งปวงก็นัยนี้.
               ในนัยอันต่างกันโดยคำว่า วิวาทาธิกรณ์ เป็นอาบัติหรือ? เป็นอาทิ คำว่า ด้วยอธิกรณ์อันหนึ่ง คือกิจจาธิกรณ์ นี้ ท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงบรรดาอธิกรณ์ทั้งหลาย เฉพาะอธิกรณ์ที่เป็นเครื่องระงับอาบัติทั้งหลาย. แต่กองอาบัติเหล่านั้น จะระงับด้วยกิจจาธิกรณ์โดยส่วนเดียวเท่านั้นหามิได้. เพราะธรรมดากิจจาธิกรณ์จะสำเร็จแก่ภิกษุผู้แสดงในสำนักบุคคลหามิได้.
               สองบทว่า น กตเมน สมเถน มีความว่า อาบัติที่ไม่มีส่วนเหลือนั้น หาระงับเหมือนอาบัติที่มีส่วนเหลือไม่. เพราะว่าอาบัติที่เป็นอนวเสสนั้นอันภิกษุไม่อาจแสดง คือไม่อาจตั้งอยู่ในส่วนหมดจด จำเดิมแต่อนวเสสาบัตินั้น.
               นัยว่า วิวาทาธิกรณํ โหติ อนุวาทาธิกรณํ เป็นอาทิ ตื้นทั้งนั้น.
               เบื้องหน้าแต่นั้น ท่านกล่าวปุจฉา ๖ คู่ ไม่เว้นสัมมุขาวินัย มีคำว่า ยตฺถ สติวินโย เป็นอาทิ, ท่านประกาศเนื้อความแล้ว ด้วยวิสัชนาปุจฉาเหล่านั้นแล.

               [ว่าด้วยสมถะระคนและไม่ระคนกัน]               
               วินิจฉัยในวาระที่แก้คำถามถึงสมถะที่ระคนกันเป็นอาทิ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า สํสฏฺฐา มีความว่า ธรรมเหล่านี้ คือ สัมมุขาวินัยก็ดี สติวินัยก็ดี ชื่อว่าระคนกัน คือไม่แยกกัน เพราะสมถะทั้ง ๒ สำเร็จในขณะแห่งกรรมวาจาให้สติวินัยนั่นเอง. ก็เพราะความสำเร็จแห่งสมถะทั้ง ๒ เป็นดุจความเนื่องกันแห่งกาบกล้วยในต้นกล้วย ใครๆ ไม่สามารถจะแสดงการแยกสมถะเหล่านั้นออกจากกัน. ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ก็แลใครๆ ไม่สามารถบัญญัติการแยกพรากธรรมเหล่านี้ออกจากกันได้. ในบททั้งปวงก็นัยนี้.

               [ว่าด้วยนิทานเป็นต้นแห่งสมถะ]               
               วินิจฉัยในวาระที่แก้คำถามว่า กึนิทาโน พึงทราบดังนี้ :-
               สัมมุขาวินัย ชื่อว่ามีนิทานเป็นนิทาน เพราะอรรถว่า มีนิทานเป็นเหตุอำนวย.
               ในนิทานเหล่านั้น นี้คือความเป็นต่อหน้าสงฆ์ ความเป็นต่อหน้าธรรม ความเป็นต่อหน้าวินัย ความเป็นต่อหน้าบุคคล เป็นนิทานแห่งสัมมุขาวินัย. พระขีณาสพผู้ถึงความไพบูลย์ด้วยสติซึ่งได้ถูกโจท เป็นนิทานแห่งสติวินัย.
               ภิกษุบ้า เป็นนิทานแห่งอมูฬหวินัย.
               ความพร้อมหน้าแห่งบุคคลทั้ง ๒ คือ ผู้แสดงและผู้เป็นที่แสดงเป็นนิทานแห่งปฏิญาตกรณะ.
               ความที่สงฆ์เป็นผู้ไม่สามารถจะระงับอธิกรณ์ ของภิกษุทั้งหลายผู้เกิดบาดหมางกัน เป็นนิทานแห่งเยภุยยสิกา.
               บุคคลผู้บาปหนา เป็นนิทานแห่งตัสสปาปิยสิกา.
               อัชฌาจารไม่สมควรแก่สมณะมาก ของภิกษุทั้งหลายผู้บาดหมางกัน เป็นนิทานแห่งติณวัตถารกะ.
               วาระว่าด้วยเหตุและปัจจัย มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               [ว่าด้วยสมุฏฐานแห่งสมถะ]               
               คำแก้คำถามถึงมูล ตื้นทั้งนั้น.
               ในคำถามถึงสมุฏฐาน ท่านกล่าวว่า สมถะทั้ง ๗ มีสมุฏฐาน ๓๖ อะไรบ้าง? ดังนี้ แม้โดยแท้, ถึงกระนั้น ท่านก็จำแนกสมุฏฐาน ๖ แห่งสมถะ ๖ เท่านั้น เพราะสัมมุขาวินัยไม่มีสมุฏฐานเพราะไม่มีกรรมสงเคราะห์.
               บรรดาบทเหล่านั้น ญัตติพึงทราบว่า กรรมกิริยา.
               การหยุดในเวลาควรหยุด ด้วยญัตตินั่นแล พึงทราบว่า กรณะ.
               การเข้าไปเอง อธิบายว่า ความกระทำกรรมนั้นด้วยตนเอง พึงทราบว่า อุปคมนะ.
               การที่เข้าถึงความอัญเชิญ อธิบายว่า การเชิญผู้อื่นมีสัทธิวิหาริกเป็นต้นว่า ท่านจงทำกรรมนี้ พึงทราบว่า อัชฌุปคมนะ.
               กิริยาที่ยินยอม อธิบายว่า ได้แก่ การมอบฉันทะอย่างนี้ว่า สงฆ์จงทำกรรมนั่นแทนข้าพเจ้า เรียกว่าอธิวาสนา.
               กิริยาที่ไม่คัดค้านว่า กรรมนั้นไม่ชอบใจข้าพเจ้า, พวกท่านอย่าทำอย่างนั้น เรียกว่า อัปปฏิโกสนา.
               พึงทราบสมุฏฐาน ๓๖ ด้วยอำนาจหมวดหก ๖ หมวด ด้วยประการฉะนี้.
               คำแก้คำถามถึงอรรถต่างกัน ตื้นทั้งนั้น.
               วินิจฉัยในคำแก้คำถามถึงอธิกรณ์ พึงทราบดังนี้ :-
               หลายบทว่า อยํ วิวาโท โน อธิกรณํ มีความว่า การเถียงกันแห่งชนทั้งหลายมีมารดากับบุตรเป็นต้น จัดเป็นวิวาท เพราะเป็นการกล่าวแย้งกัน, แต่ไม่จัดเป็นอธิกรณ์ เพราะไม่มีความเป็นเหตุที่ต้องระงับด้วยสมถะทั้งหลาย. แม้ในอนุวาทเป็นต้น ก็นัยนี้แล.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               อธิกรณเภทวัณณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร อธิกรณเภท ว่าด้วยอธิกรณ์ ๔ อย่างเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1035อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1046อ่านอรรถกถา 8 / 1054อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=9021&Z=9201
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=11034
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=11034
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :