ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1069อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1077อ่านอรรถกถา 8 / 1083อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
โจทนากัณฑ์ ข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เป็นต้น

               โจทนากัณฑกวัณณนา               
               [กิจของภิกษุผู้ว่าอรรถคดี]               
               บัดนี้ พระอุบาลีเถระเริ่มคำว่า อนุวิชฺชเกน เป็นอาทิ เพื่อแสดงกิจอันพระวินัยธรพึงกระทำ ในการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น.
               ในคำนั้น คาถาว่า ทิฏฺฐํ ทิฏฺเฐน เป็นต้น มีเนื้อความดังนี้ :-
               ภิกษุรูปหนึ่ง กำลังออกหรือกำลังเข้าไป โดยสถานที่อันเดียวกันกับมาตุคามผู้หนึ่ง อันโจทก์เห็นแล้ว. โจทก์นั้นจึงฟ้องภิกษุนั้นเป็นจำเลยด้วยอาบัติปาราชิก; ฝ่ายจำเลยยอมรับการเห็นของโจทก์นั้น แต่จำเลยยังไม่ถึงปาราชิก จึงไม่ปฏิญญา เพราะอิงการเห็นนั้น. ในคำของโจทก์และจำเลยนี้ การใดอันโจทก์นั้นเห็นแล้ว การนั้นสมด้วยคำที่ว่าได้เห็นของโจทก์นั้น นี้ว่า จำเลยอันข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ด้วยประการฉะนี้. แต่เพราะเหตุที่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมปฏิญญาโทษ เพราะอาศัยการเห็นนั้น จึงชื่อว่าผู้ถูกรังเกียจโดยไม่บริสุทธิ์. อธิบายว่า เป็นผู้รังเกียจโดยไม่มีมูล. สงฆ์พึงทำอุโบสถกับบุคคลนั้นตามปฏิญญาที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ ของบุคคลนั้น. ใน ๒ คาถาที่เหลือ มีนัยอย่างนี้แล.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.
               พรรณนากิจของภิกษุผู้ว่าอรรถคดี จบ.               

               [ว่าด้วยเบื้องต้นของโจทนาเป็นอาทิ]               
               วินิจฉัยในปุจฉาวิสัชนามีอาทิว่า อะไรเป็นเบื้องต้นของโจทนา พึงทราบดังนี้ :-
               หลายบทว่า สจฺเจ จ อกุปฺเป จ มีความว่า จำเลยพึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ให้การตามจริง ๑ ไม่ขุ่นเคือง ๑ คือว่าการใดอันตนกระทำหรือมิได้กระทำ การนั้นแล อันตนพึงให้การ (เช่นนั้น). และไม่พึงให้เกิดความขุ่นเคืองในโจทก์ หรือในภิกษุผู้ว่าอรรถคดี หรือในสงฆ์.
               สองบทว่า โอติณฺณาโนติณฺณํ ชานิตพฺพํ มีความว่า สงฆ์พึงรู้ถ้อยคำอันเข้าประเด็นและไม่เข้าประเด็น.
               ในคำนั้น มีวิธีสำหรับรู้ดังนี้ :-
               สงฆ์พึงรู้ว่า คำต้นของโจทก์เท่านี้ คำหลังเท่านี้ คำต้นของจำเลยเท่านี้ คำหลังเท่านี้.
               พึงกำหนดลักษณะที่ควรเชื่อถือของโจทก์ พึงกำหนดลักษณะที่ควรเชื่อถือของจำเลย พึงกำหนดลักษณะที่ควรเชื่อถือของภิกษุผู้ว่าอรรถคดี. ภิกษุผู้ว่าอรรถคดี เมื่อยังการพิจารณาให้บกพร่องแม้มีประมาณน้อย อันสงฆ์พึงสั่งว่า ผู้มีอายุ ท่านจงพิจารณาให้ดีบังคับคดีให้ตรง. สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างนี้.
               วินิจฉัยในคำว่า เยน ธมฺเมน เยน วินเยน เยน สตฺถุสาสเนน อธิกรณํ วูปสมฺมติ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า ธมฺโม ได้แก่ เรื่องที่เป็นจริง.
               บทว่า วินโย ได้แก่ กิริยาที่โจทก์ และกิริยาที่จำเลยให้การ.
               บทว่า สตฺถุสาสนํ ได้แก่ ญัตติสัมปทาและอนุสาวนสัมปทา.
               จริงอยู่ อธิกรณ์ย่อมระงับโดยธรรม โดยวินัย และโดยสัตถุศาสนานั่น เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ว่าอรรถคดี พึงโจทด้วยวัตถุที่เป็นจริง แล้วให้จำเลยระลึกถึงอาบัติ และยังอธิกรณ์นั้นให้ระงับด้วยญัตติสัมปทาและอนุสาวนสัมปทา. ภิกษุผู้ว่าอรรถคดีพึงปฏิบัติอย่างนี้.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.
               แม้ปุจฉาวิสัชนามีอาทิว่า อุโบสถ เพื่อประโยชน์อะไร? ก็ตื้นเหมือนกันแล.
               วินิจฉัยในอวสานคาถาทั้งหลาย พึงทราบดังนี้ :-
               บาทคาถาว่า เถเร จ ปริภาสติ มีความว่า เมื่อจะทำความดูหมิ่น ย่อมด่าว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่รู้อะไร.
               บาทคาถาว่า ขโต อุปหตินฺทฺริโย มีความว่า ชื่อว่าผู้มีตนอันขุดแล้ว เพราะความที่ตนเป็นสภาพอันตนเองขุดแล้ว ด้วยความเป็นผู้ถึงความลำเอียงด้วยฉันทาคติเป็นต้นนั้น และด้วยการด่านั้น และชื่อว่าผู้มีอินทรีย์อันตนเองขจัดเสียแล้ว เพราะความที่อินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้น เป็นคุณอันตนเองขจัดเสียแล้ว.
               สองบาทคาถาว่า นิรยํ คจฺฉติ ทุมฺเมโธ น จ สิกฺขาย คารโว มีความว่า ผู้มีตนอันขุดแล้ว มีอินทรีย์อันตนขจัดแล้วนั้น ชื่อว่าผู้มีปัญญาทราม เพราะไม่มีปัญญา และชื่อว่าไม่มีความเคารพในการศึกษา เพราะไม่ศึกษาในสิกขา ๓ เพราะแตกแห่งกาย ย่อมเข้าถึงนรก.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม่ควรอิงอามิส (และไม่ควรอิงบุคคลพึงเว้นส่วนทั้ง ๒ นั้นเสีย) กระทำตามธรรม.
               เนื้อความแห่งคำนั้นว่า ไม่พึงกระทำ เพราะอิงอามิส จริงอยู่ เมื่อถือเอาอามิสมีจีวรเป็นต้น ที่โจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ ชื่อว่ากระทำเพราะอิงอามิส ไม่พึงกระทำอย่างนั้น.
               หลายบทว่า น จ นิสฺสาย ปุคฺคลํ มีความว่า เมื่อลำเอียงเพราะความรักเป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้เป็นอุปัชฌาย์ของเรา หรือว่า ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเรา ชื่อว่ากระทำเพราะอิงบุคคล ไม่พึงกระทำอย่างนั้น. ทางที่ถูก พึงเว้นส่วนทั้ง ๒ นั้นเสีย กระทำตามที่เป็นธรรมเท่านั้น.
               บาทคาถาว่า อุปกณฺณกํ ชปฺเปติ มีความว่า กระซิบที่ใกล้หูว่า ท่านจงพูดอย่างนี้ อย่าพูดอย่างนี้.
               สองบทว่า ชิมฺหํ เปกฺขติ มีความว่า ย่อมแส่หาโทษเท่านั้น.
               บทว่า วีติหรติ ได้แก่ ยังการวินิจฉัยให้บกพร่อง.
               สองบทว่า กุมฺมคฺคํ ปฏิเสวติ มีความว่า ย่อมชี้อาบัติ.
               สองบทว่า อกาเลน จ โจเทติ มีความว่า ผู้อันพระเถระมิได้เชื้อเชิญ โจทในสมัยมิใช่โอกาส.
               บาทคาถาว่า ปุพฺพาปรํ น ชานาติ มีความว่า ไม่รู้คำต้นและคำหลัง.
               บาทคาถาว่า อนุสนฺธิวจนกถํ น ชานาติ มีความว่า ไม่รู้ถ้อยคำ ด้วยอำนาจความสืบสมแห่งคำให้การ และความสืบสมแห่งคำวินิจฉัย.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.

               โจทนากัณฑกวัณณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร โจทนากัณฑ์ ข้อซักถามของภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1069อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1077อ่านอรรถกถา 8 / 1083อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=9565&Z=9694
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=11264
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=11264
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :