ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1296อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1340อ่านอรรถกถา 8 / 1359อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
ปัญจวรรค กรรมวรรคที่ ๑

               ปัญจวัคควัณณนา               
               วินิจฉัยในกัมมวรรค พึงทราบดังนี้ :-
               ความแตกต่างกันแห่งกรรม ๔ อย่าง ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในสมถะขันธกะแล. แม้ได้กล่าวแล้วก็จริง ถึงกระนั้น กรรมวินิจฉัยนี้ เมื่อได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น. ย่อมเป็นวินิจฉัยที่ชัดเจน, เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวข้อที่ควรกล่าว ในกัมมวรรคนี้ จำเดิมแต่ต้นทีเดียว.
               คำว่า จตฺตาริ นี้ เป็นคำบอกกำหนดจำนวนแห่งกรรมทั้งหลาย.
               คำว่า กมฺมานิ เป็นคำชี้กรรมที่กำหนดไว้แล้ว.

               [ความต่างแห่งกรรม ๔]               
               กรรมที่ต้องยังสงฆ์ผู้ตั้งอยู่ในสีมาให้หมดจด นำฉันทะของภิกษุผู้ควรฉันทะมา สวดประกาศ ๓ ครั้ง ทำตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ชื่อว่าอปโลกนกรรม.
               กรรมที่ต้องทำด้วยญัตติอย่างเดียว ตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่าญัตติกรรม.
               กรรมที่ต้องทำด้วยอนุสาวนา มีญัตติเป็นที่ ๒ อย่างนี้ คือ ญัตติ ๑ อนุสาวนา ๑ ตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่าญัตติทุติยกรรม.
               กรรมที่ต้องทำด้วยอนุสาวนา ๓ มีญัตติเป็นที่ ๔ อย่างนี้ คือ ญัตติ ๑ อนุสาวนา ๓ ตามอนุมัติของสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่าญัตติจตุตถกรรม.
               บรรดากรรมเหล่านั้น อปโลกนกรรม พึงทำเพียงอปโลกน์, ไม่ต้องทำด้วยอำนาจญัตติกรรมเป็นต้น.
               อนึ่ง ญัตติกรรม พึงทำตั้งญัตติอย่างเดียว, ไม่ต้องทำด้วยอำนาจอปโลกนกรรมเป็นต้น.
               ส่วนญัตติทุติยกรรม ที่ต้องอปโลกน์ทำก็มี ไม่ต้องอปโลกน์ทำก็มี. ใน ๒ อย่างนั้น กรรมหนัก ๖ อย่างนี้ คือ สมมติสีมา ถอนสีมา ให้ผ้ากฐิน รื้อกฐิน แสดงที่สร้างกุฎี แสดงที่สร้างวิหาร ไม่ควรอปโลกน์ทำ; พึงสวดญัตติทุติยกรรมวาจาทำเท่านั้น.
               กรรมเบาเหล่านี้ คือ สมมติ ๑๓ ที่เหลือ และสมมติมีการให้ถือเสนาสนะและให้มฤดกจีวรเป็นต้น ควรเพื่อทำทั้งอปโลกน์.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า "แต่ญัตติทุติยกรรมนั้น ไม่ควรทำด้วยอำนาจญัตติกรรมและญัตติจตุตถกรรมแท้. เมื่อทำด้วยอำนาจญัตติจตุตถกรรม ย่อมเป็นกรรมมั่นคงกว่า; เพราะเหตุนั่น ควรทำ." คำของพระอาจารย์พวกนั้นได้ถูกค้านเสียแล้วว่า "ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ความสังกระแห่งกรรมย่อมมี เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรทำ."
               ก็ถ้าว่า กรรมนั้นเสียโดยอักขระก็ดี เสียโดยบทก็ดี มีบทที่สวดไม่ชัดก็ดีไซร้, การที่สวดซ้ำๆ เพื่อชำระกรรมนั้นก็ควร. การสวดซ้ำๆ นี้ เป็นทัฬหีกรรมของกรรมที่ไม่กำเริบ, คงคืนเป็นกรรมในกรรมที่กำเริบ.
               ญัตติจตุตถกรรม ต้องทำทั้งสวดญัตติและกรรมวาจา ๓ ไม่พึงทำด้วยอำนาจกรรมอื่น มีอปโลกนกรรมเป็นต้น.
               หลายบทว่า ปญฺจหากาเรหิ วิปชฺชนฺติ มีความว่า กรรม ๔ นี้ย่อมวิบัติโดยเหตุ ๕ ประการ.

               [กรรมวิบัติโดยวัตถุ]               
               ในข้อว่า กรรมที่ควรทำพร้อมหน้า สงฆ์ทำไม่พร้อมหน้า กรรมไม่เป็นธรรม วิบัติโดยวัตถุ นี้ กรรมที่ควรทำพร้อมหน้าก็มี กรรมที่ควรทำไม่พร้อมหน้าก็มี. ใน ๒ อย่างนั้น ขึ้นชื่อว่ากรรมที่ควรทำไม่พร้อมหน้ามี ๘ อย่าง คือ อุปสมบทด้วยทูต คว่ำบาตร หงายบาตร อนุมัตตกสมมติ ที่สงฆ์พึงทำแก่ภิกษุบ้า เสขสมมติแก่สกุลพระเสขะ พรหมทัณฑ์แก่พระฉันนภิกษุ ปกาสนียกรรมแก่พระเทวทัตต์ อวันทิยกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุผู้แสดงอาการไม่น่าเลื่อมใส. กรรมทั้งปวงนั้น พึงทราบตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในที่มานั้นๆ แล. กรรมทั้ง ๘ อย่างนี้ อันสงฆ์ทำแล้วไม่พร้อมหน้า ย่อมเป็นอันทำด้วยดี ไม่กำเริบ.
               กรรมทั้งปวงที่เหลือ ควรทำพร้อมหน้าเท่านั้น, คือ พึงทำให้อิงสัมมุขาวินัย ๔ อย่างนี้ คือ ความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล.
               อันกรรมทั้งปวงที่ทำแล้วด้วยประการอย่างนั้น ย่อมเป็นอันทำดีแล้ว. แต่กรรมเหล่านั้น ที่ไม่ทำอย่างนั้น ย่อมจัดเป็นกรรมวิบัติโดยวัตถุ เพราะทำเว้นวัตถุ กล่าวคือสัมมุขาวินัยนี้เสีย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กรรมที่ควรทำพร้อมหน้า สงฆ์ทำไม่พร้อมหน้า กรรมไม่เป็นธรรม วิบัติโดยวัตถุ.
               แม้ในกรรมทั้งหลาย มีกรรมที่ควรทำด้วยสอบถามเป็นต้น การทำกิจมีสอบถามเป็นต้นนั่นแล จัดเป็นวัตถุ. พึงทราบความที่กรรมแม้เหล่านั้น วิบัติโดยวัตถุ เพราะกระทำเว้นวัตถุนั้นเสีย. แต่ข้อนี้ เป็นเพียงเนื้อความเฉพาะคำ ในคำที่ว่า ปฏิปุจฺฉากรณียํ เป็นต้นนี้.
               หลายบทว่า ปฏิปุจฺฉากรณียํ อปฺปฏิปุจฺฉา กโรติ มีความว่า กรรมที่ควรถามแล้วจึงโจท แล้วให้จำเลยให้การกระทำ สงฆ์กระทำไม่ถาม ไม่โจท ไม่ให้จำเลยให้การเสียเลย.
               หลายบทว่า ปฏิญฺญาย กรณียํ อปฺปฏิญฺญาย กโรติ มีความว่า กรรมที่ควรยกปฏิญญาเป็นหลัก ทำตามปฏิญญาซึ่งจำเลยให้อย่างไร, สงฆ์กระทำโดยหักโหม แก่ภิกษุผู้คร่ำคราญบ่นเพ้ออยู่ด้วย ไม่ยอมปฏิญญา.
               บทว่า สติวินยารหสฺส ได้แก่ พระขีณาสพ เช่นพระทัพพมัลลบุตรเถระ.
               บทว่า อมูฬฺหวินยารหสฺส ได้แก่ ภิกษุบ้า เช่นคัคคภิกษุ.
               บทว่า ตสฺสปาปิยสิกากมฺมารหสฺส ได้แก่ ภิกษุผู้มีบาปหนาแน่น เช่นอุปวาฬภิกษุ.
               นัยในบททั้งปวง ก็เช่นนี้แล.
               หลายบทว่า อนุโปสเถ อุโปสถํ กโรติ มีความว่า ทำอุโบสถในวันที่มิใช่วันอุโบสถ.
               วันสามัคคีของสงฆ์ผู้แตกกันและวันที่ ๑๔ และวันที่ ๑๕ ค่ำ (ตามนัย) ที่กล่าวแล้ว ใน ๑๑ เดือนที่เหลือ เว้นเดือนกัตติกาเสีย ชื่อว่าวันอุโบสถ.
               เมื่อทำอุโบสถในวันอื่น เว้นวันอุโบสถทั้ง ๓ ประการอย่างนั้นเสีย ชื่อว่าทำอุโบสถในวันมิใช่วันอุโบสถ.
               ก็ในวัดใด ภิกษุทั้งหลายวิวาทกันเพราะเหตุเล็กน้อย เพื่อประโยชน์แก่บริขารมีบาตรและจีวรเป็นต้น จึงงดอุโบสถหรือปวารณาเสีย. เมื่ออธิกรณ์นั้นวินิจฉัยแล้ว ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นย่อมไม่ได้เพื่อกล่าวว่า พวกเราเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน แล้วทำสามัคคีอุโบสถในวันอันเป็นระหว่าง. เมื่อกระทำอุโบสถ ชื่อว่าเป็นอันกระทำในวันมิใช่วันอุโบสถ.
               สองบทว่า อปวารณาย ปวาเรติ มีความว่า สงฆ์ปวารณาในวันมิใช่วันปวารณา.
               วันสามัคคีของสงฆ์ผู้แตกกัน ๑ วันที่สงฆ์เลื่อนไปตั้งไว้ ๑ ในเดือนกัตติกาเดือนเดียว และวันกลางเดือน ๒ ครั้ง ชื่อว่าวันปวารณา.
               เมื่อปวารณาในวันอื่น เว้นวันปวารณาทั้ง ๔ ประการอย่างนี้เสีย ชื่อว่าปวารณาในวันมิใช่วันปวารณา. แม้ในการปวารณานี้ ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ได้เพื่อทำสามัคคีปวารณา ในเพราะวิวาทมีประมาณน้อยระงับลง. เมื่อทำปวารณา ย่อมเป็นอันกระทำในวันมิใช่วันปวารณา.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้เมื่อสงฆ์ให้อุปสมบทบุคคลผู้มีปีหย่อน ๒๐ หรือบุคคลผู้เคยต้องอันติมวัตถุ หรืออภัพบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ในอภัพบุคคล ๑๑ ย่อมเป็นกรรมไม่เป็นธรรม วิบัติโดยวัตถุ.
               กรรมทั้งหลายย่อมวิบัติโดยวัตถุ ด้วยประการฉะนี้.

               [กรรมวิบัติโดยญัตติ]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในวิบัติโดยญัตติ ดังต่อไปนี้ :-
               สองบทว่า วตฺถุํ น ปรามสติ มีความว่า สงฆ์ทำกรรมมีอุปสมบทเป็นต้นแก่บุคคลเหล่าใด ไม่ระบุบุคคลนั้น คือไม่ระบุชื่อบุคคลนั้น ได้แก่ สวดว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟ้งข้าพเจ้า อุปสัมปทาเปกขะของท่านพุทธรักขิต ในเมื่อควรสวดว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ธัมมรักขิตนี้ เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านพุทธรักขิต ไม่ระบุวัตถุอย่างนี้.
               สองบทว่า สงฺฆํ น ปรามสติ มีความว่า ไม่ระบุชื่อสงฆ์ คือสวดว่า ท่านผู้เจริญ ขอจงฟังข้าพเจ้า ธัมมรักขิตนี้ ดังนี้ ในเมื่อควรสวดว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ธัมมรักขิตนี้ ไม่ระบุสงฆ์อย่างนี้.
               สองบทว่า ปุคฺคลํ น ปรามสติ มีความว่า ภิกษุใด เป็นอุปัชฌาย์ของอุปสัมปทาเปกขะ ไม่ระบุภิกษุนั้น คือไม่ระบุชื่อของภิกษุนั้น ได้แก่สวดว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ธัมมรักขิตนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ ดังนี้ ในเมื่อควรสวดว่า ท่านผู้เจริญ ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ธัมมรักขิตนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านพุทธรักขิต ไม่ระบุบุคคลอย่างนี้.
               สองบทว่า ญตฺตึ น ปรามสติ มีความว่า ไม่ระบุญัตติโดยประการทั้งปวง คือ ในญัตติทุติยกรรม ไม่ตั้งญัตติ กระทำอนุสาวนากรรม ด้วยกรรมวาจาเท่านั้น. แม้ในญัตติจตุตถกรรม ก็ไม่ตั้งญัตติ กระทำอนุสาวนากรรม ด้วยกรรมวาจาเท่านั้น ๔ ครั้ง ไม่ระบุญัตติอย่างนี้.
               หลายบทว่า ปจฺฉา วา ญตฺตึ ฐเปตึ มีตวามว่า กระทำอนุสาวนากรรม ด้วยกรรมวาจาก่อน แล้วจึงกล่าวว่า เอสา ญตฺติ แล้วกล่าวว่า ขมติ สงฺฆสฺส ตสฺมา ตุณฺหี เอวเมตํ ธารยามิ. ตั้งญัตติภายหลังอย่างนี้. กรรมวิบัติโดยญัตติ ด้วยอาการ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.

               [กรรมวิบัติโดยอนุสาวนา]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในวิบัติโดยอนุสาวนา ดังต่อไปนี้ :-
               วัตถุเป็นต้น พึงทราบก่อนตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. ก็การไม่ระบุวัตถุเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมมีอย่างนี้ :-
               ในอนุสาวนาที่ ๑ ว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ ก็ดี
               ในอนุสาวนาที่ ๒ ที่ ๓ ที่ว่า ทุติยมฺปิ เอตมตฺถํ วทามิ, ตติยมฺปิ เอตมตฺถํ วทามิ, สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ ก็ดี
               เมื่อควรจะสวดต่อว่า อยํ ธมฺมรกฺขิโต อายสฺมโต พุทฺธรกฺขิตสฺส อุปสมฺปทาเปกฺโข
               ภิกษุสวดเสียว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อายสฺมโต พุทฺธรกฺขิตสฺส ดังนี้ ชื่อว่าไม่ระบุวัตถุ.
               เมื่อควรจะสวดว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อยํ ธมฺมรกฺขิโต
               สวดเสียว่า สุณาตุ เม ภนฺเต อยํ ธมฺมรกฺขิโต ดังนี้ ชื่อว่าไม่ระบุสงฆ์.
               เมื่อควรจะสวดว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อยํ ธมฺมรกฺขิโต อายสฺมโต พุทฺธรกฺขิตสฺส
               สวดเสียว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, อยํ ธมฺมรกฺขิโต อุปสมฺปทาเปกฺโข ดังนี้ ชื่อว่าไม่ระบุบุคคล.
               สองบทว่า สาวนํ หาเปติ มีความว่า ไม่กระทำการสวดประกาศ ด้วยกรรมวาจาโดยประการทั้งปวง. คือตั้งญัตติเท่านั้น ๒ ครั้ง ในญัตติทุติยกรรม ตั้งญัตติเท่านั้น ๔ ครั้ง ในญัตติจตุตถกรรม. ทิ้งวาจาประกาศเสียอย่างนี้.
               แม้ภิกษุใด เมื่อตั้งญัตติหนหนึ่งแล้วสวดกรรมวาจาหนหนึ่งทิ้งอักขระหรือบทเสีย หรือว่าผิดในญัตติทุติยกรรม แม้ภิกษุนี้ชื่อว่าทิ้งวาจาประกาศเสียเหมือนกัน.
               ส่วนในญัตติจตุตถกรรม เมื่อตั้งญัตติหนหนึ่งแล้ว สวดประกาศด้วยกรรมวาจา เพียงครั้งเดียวหรือ ๒ ครั้งก็ดี เมื่อทิ้งอักขระหรือบทเสียก็ดี เมื่อว่าผิดก็ดี พึงทราบว่า ทิ้งอนุสาวนาเสียแท้.
               ก็วินิจฉัยในคำว่า ทุรุตฺตํ กโรติ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               อันภิกษุใด ว่าอักขระอื่นในเมื่อตนควรว่าอักขระอื่น ภิกษุนี้ชื่อว่าว่าผิด. เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้จะสวดกรรมวาจาพึงสนใจให้ดี ซึ่งประเภทแห่งพยัญชนะ ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ความแตกฉานด้วยปัญญาเครื่องรู้พยัญชนะ ๑๐ อย่าง คือ สิถิล ธนิต ทีฆะ รัสสะ ครุ ลหุ นิคหิค สัมพันธ์ ววัตถิตะ วิมุตต์.
               ก็ในประเภทแห่งพยัญชนะ ๑๐ ตัวนี้ พยัญชนะที่ ๑ และที่ ๓ ในวรรคทั้ง ๕ ชื่อว่าสิถิล (เสียงเพลา). พยัญชนะที่ ๒ และที่ ๔ ในวรรคเหล่านั้นแล ชื่อว่าธนิต (เสียงแข็ง)
               สระที่จะพึงว่าโดยระยะยาว ได้แก่ สระ อา เป็นต้น ชื่อว่าทีฆะ.
               สระที่จะพึงว่าโดยระยะสั้นกึ่งระยะยาวนั้น ได้แก่สระ อะ เป็นต้น ชื่อว่ารัสสะ.
               ทีฆะนั่นเองชื่อว่าครุ อีกอย่างหนึ่ง สระที่สั้นกล่าวไว้มีพยัญชนะสะกดข้างหลังอย่างนี้ว่า อายสฺมโต พุทฺธรกฺขิตตฺเถรสฺส ยสฺส นกฺขมติ จัดเป็นครุ.
               รัสสะนั่นเอง ชื่อว่าลหุ อีกอย่างหนึ่ง สระที่กล่าวไม่ให้มีพยัญชนะสะกดข้างหลังอย่างนี้ว่า อายสฺมโต พุทฺธรกฺขิตเถรสฺส ยสฺส น ขมติ ก็จัดเป็นลหุ.
               อักขระที่ว่าหุบปากกดกรณ์ไว้ไม่ปล่อย ทำเสียงให้ขึ้นจมูกชื่อว่านิคหิต.
               บทที่ว่าเชื่อมกับบทอื่น เช่น ตุณฺหสฺส หรือว่า ตุณฺหิสฺส ชื่อว่าสัมพันธ์.
               บทที่แยกว่า ไม่เชื่อมกับบทอื่น เช่น ตุณฺหิ อสฺส ชื่อว่าววัตถิตะ.
               อักขระที่ว่าเปิดปาก ไม่ทำเสียงให้ขึ้นจมูก ปล่อยเสียง ไม่กดกรณ์ไว้ ชื่อว่าวิมุตต์.
               ในพยัญชนะประเภทมีสิถิลเป็นต้นนั้น บทที่จะพึงว่า สุณาตุ เม ภนฺเต ว่า เป็น เสีย ว่า สุณาถุ เม ชื่อว่าทำสิถิลให้เป็นธนิต และบทอันจะพึงว่า ปตฺตกลฺลํ เอสา ญตฺติ ว่า เป็น เสีย ว่า ปตฺถกลฺลํ เอสา ญตฺถิ เป็นต้น ก็เหมือนกัน.
               บทอันจะพึงว่า ภนฺเต สงฺโฆ ว่า เป็น ว่า เป็น เสียว่า พนฺเต สงฺโค ชื่อว่าทำธนิตให้เป็นสิถิล.
               ส่วนบทอันจะพึงเปิดปากว่า สุณาตุ เม ว่าหุบปากให้เสียงขึ้นจมูก เป็น สุณนฺตุ เม ก็ดี บทอันจะพึงเปิดปากว่า เอสา ญตฺติ ว่าหุบปาก ให้เสียงขึ้นจมูกเป็น เอสํ ญตฺติ ก็ดี ชื่อว่า ว่าวิมุตต์ให้เป็นนิคหิต.
               คำอันจะพึงหุบปากให้เสียงขึ้นจมูกว่า ปตฺตกลฺลํ ว่าเปิดปากไม่ทำให้เสียงขึ้นจมูกว่า ปตฺตกลฺลา ชื่อว่า ว่านิคหิตให้เป็นวิมุตต์.
               พยัญชนะ ๔ เหล่านี้ คือ เมื่อควรว่าให้เป็นสิถิล ว่าเป็นธนิต เมื่อควรว่าให้เป็นธนิต ว่าเป็นสิถิล เมื่อควรว่าให้เป็นเป็นวิมุตต์ ว่าเป็นนิคหิต เมื่อควรว่าให้เป็นนิคหิต ว่าเป็นวิมุตต์ ย่อมทำกรรมให้เสีย ในภายในกรรมวาจา ด้วยประการฉะนี้. จริงอยู่ ภิกษุผู้สวดอย่างนั้น ว่าอักขระอื่น ในเมื่ออักขระอื่นอันตนควรว่าท่านกล่าวว่า ว่าผิด.
               อันภิกษุผู้สวดกรรมวาจา ควรว่าอักขระนั้นๆ แล ให้ถูกต้องตามฐานอย่างนี้ คือ ในพยัญชนะ ๖ นอกนี้ มีทีฆะและรัสสะเป็นต้นว่าทีฆะให้คงในที่แห่งทีฆะ ว่ารัสสะให้คงในที่แห่งรัสสะ อย่าให้ประเพณีอันมาแล้วโดยลำดับสูญเสีย ทำกรรมวาจา.
               แต่ถ้าภิกษุผู้สวดกรรมวาจาไม่ว่าอย่างนั้น เมื่อควรจะว่าให้เป็นทีฆะว่าเป็นรัสสะเสีย หรือเมื่อควรจะว่าให้เป็นรัสสะ ว่าเป็นทีฆะเสียก็ดี เมื่อควรจะว่าให้เป็นครุ ว่าเป็นลหุเสีย หรือเมื่อควรจะว่าให้เป็นลหุ ว่าเป็นครุเสียก็ดี อนึ่ง เมื่อควรจะว่าให้เชื่อมกัน ว่าแยกกันเสีย หรือเมื่อควรจะว่าให้แยกกัน ว่าเชื่อมกันเสียก็ดี. แม้เมื่อว่าอย่างนี้ กรรมวาจาก็ไม่เสีย. จริงอยู่ พยัญชนะ ๖ นี้ ไม่ยังกรรมให้เสีย.
               ก็คำใดที่พระสุตตันติกเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท กลายเป็น ต ได้ ต กลายเป็น ท ได้ จ กลายเป็น ช ได้ ช กลายเป็น จ ได้ ย กลายเป็น ก ได้ ก กลายเป็น ย ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อควรจะว่า ท เป็นต้น ว่าเป็น ต เป็นต้นเสีย ก็ไม่ผิด. คำนั้นถึงกรรมวาจาแล้วย่อมไม่ควร. เพราะเหตุนั้น พระวินัยธรไม่พึงว่า ท เป็น ต ฯลฯ ไม่พึงว่า ก เป็น ย พึงสวดกรรมวาจา ชำระภาษาตามควรแก่บาลี หลีกโทษที่กล่าวแล้ว แห่งภาษาคือพยัญชนะทั้ง ๑๐ อย่างเสีย. จริงอยู่ เมื่อว่าโดยประการนอกนี้แล้ว ชื่อว่าทิ้งสาวนาเสีย.
               สองบทว่า อกาเล วา สาเวติ มีความว่า งดญัตติไว้ ทำอนุสาวนากรรมเสียก่อน ในสมัยมิใช่กาล คือมิใช่โอกาสแห่งสาวนาแล้ว ตั้งญัตติต่อภายหลัง.
               กรรมย่อมวิบัติโดยอนุสาวนา ด้วยอาการ ๕ นี้ ด้วยประการฉะนี้.

               [กรรมวิบัติโดยสีมา]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในวิบัติโดยสีมา ดังต่อไปนี้ :-
               สีมาใด ไม่จุภิกษุได้ ๒๑ รูป สีมานั้น จัดว่าสีมาเล็กเกินไป.
               แต่ในกุรุนทีว่า ภิกษุ ๒๑ รูป ไม่อาจเพื่อนั่งในสีมาใด สีมานั้นจัดว่าเล็กเกินไป. เพราะเหตุนั้น สีมาเห็นปานนี้อันสงฆ์สมมติแล้วก็ตาม เป็นอันไม่ได้สมมติ ย่อมคงเป็นเช่นกับคามเขต. กรรมที่ทำในสีมานั้น ย่อมเสีย. แม้ในสีมาที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้.
               ก็นัยสีมาเหล่านี้ สีมาใด เป็นแดนอันสงฆ์สมมติเกิน ๓ โยชน์แม้เพียงปลายเส้นผมเดียว สีมานั้น จัดว่าใหญ่เกินไป.
               สีมามีนิมิตไม่ต่อกัน เรียกว่า สีมามีนิมิตขาด. ภิกษุทักนิมิตในทิศตะวันออกแล้ว ทักในทิศใต้ ทิศตะวันตกและทิศเหนือ วนไปโดยลำดับกัน แล้วทักซ้ำนิมิตที่เคยทักแล้ว ในทิศตะวันออกอีก แล้วจึงหยุด จึงจะควร. สีมาย่อมเป็นแดนมีนิมิตไม่ขาดอย่างนี้. ก็ถ้าว่า ทักมาตามลำดับแล้ว ทักนิมิตในทิศเหนือแล้ว หยุดเสียแค่ทิศเหนือนั่นเอง, สีมา ย่อมมีนิมิตขาด.
               สีมาใดที่สงฆ์สมมติ จัดเอาต้นไม้มีเปลือกแข็งก็ดี ตอไม้ก็ดี กองดิน กองทรายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ซึ่งไม่ควรเป็นนิมิต ให้เป็นนิมิตอันหนึ่งในระหว่าง สีมานั้นจัดเป็นสีมามีนิมิตขาดอีกชนิดหนึ่ง.
               สีมาใดที่สงฆ์สมมติ กะเอาเงาภูเขาเป็นต้นเงาอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นนิมิต สีมานั้น ชื่อว่ามีฉายาเป็นนิมิต.
               สีมาใดที่สงฆ์สมมติ ไม่ทักนิมิตโดยประการทั้งปวง, สีมานั้น ชื่อว่าหานิมิตมิได้.
               ภิกษุทักนิมิตแล้ว ยืนอยู่ภายนอกนิมิตสมมติสีมา ชื่อว่ายืนอยู่นอกสีมาสมมติสีมา.
               ภิกษุสมมติสีมาในน่านน้ำมีแม่น้ำเป็นต้นเหล่านี้ ชื่อว่าสมมติสีมาในแม่น้ำ ในทะเล ในสระเกิดเอง. สีมานั้น แม้สงฆ์สมมติแล้วอย่างนั้น ย่อมไม่เป็นอันสมมติเลย เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งปวง ไม่ใช่สีมาทะเลทั้งปวง ไม่ใช่สีมา, สระเกิดเองทั้งปวง ไม่ใช่สีมา.
               หลายบทว่า สีมาย สีมํ สมฺภินฺทติ มีความว่า คาบเกี่ยวสีมาของผู้อื่นด้วยสีมาของตน.
               บทว่า อชฺโฌตฺถรติ ได้แก่ สมมติทับสีมาของผู้อื่น ด้วยสีมาของตน.
               ในการสมมติสีมานั้น ความคาบเกี่ยวกันและความทับกันจะมีได้ด้วยลักษณะอย่างใด, ลักษณะทั้งปวงนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวเสร็จแล้วในอุโบสถขันธกะ.
               สีมาทั้ง ๑๑ อย่างนี้ ไม่จัดเป็นสีมา เป็นเท่ากับคามเขตเท่านั้น. กรรมที่สงฆ์นั่งทำในสีมาเหล่านั้น ย่อมเสีย ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กรรมย่อมวิบัติโดยสีมา ด้วยอาการ ๑๑ เหล่านี้.

               [กรรมวิบัติโดยปริสะ]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในวิบัติแห่งกรรมโดยปริสะ ดังต่อไปนี้ :-
               ไม่มีคำน้อยหนึ่งที่จัดว่าไม่ตื้น.
               ลักษณะของภิกษุผู้เข้ากรรมและภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะ ในกรรมวิบัติ โดยปริสะนั้น ที่ข้าพเจ้าควรกล่าวก็มีบ้าง แต่ท่านได้กล่าวไว้ข้างหน้าแล้วแล โดยนัยเป็นต้นว่า จตฺตาโร ภิกฺขู ปกตตฺตา กมฺมปปฺตตา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ปกตตฺตา กมฺมปฺปตฺตา มีความว่า ในกรรมที่สงฆ์จตุวรรคพึงทำ ภิกษุ ๔ รูปผู้มีตนเป็นปกติ คือผู้อันสงฆ์มิได้ยกวัตร อันสงฆ์มิได้ลงโทษ ผู้มีศีลบริสุทธิ์, ภิกษุ ๔ รูป ผู้เข้ากรรม คือผู้ควร ผู้สมควร ได้แก่เป็นเจ้าของแห่งกรรม. กรรมนั้น เว้นพวกเธอเสีย ย่อมทำไม่ได้. ฉันทะก็ดี ปาริสุทธิก็ดี ของพวกเธอยังไม่มา. ฝ่ายภิกษุที่เหลือถ้าแม้มีประมาณพันรูป. ถ้าว่าเป็นสมานสังวาสก์ ย่อมเป็นผู้ควรแก่ฉันทะทั้งหมดทีเดียว. พวกเธอมอบฉันทะและปาริสุทธิแล้ว จะมาหรือไม่มาก็ตาม. ส่วนกรรมคงตั้งอยู่.
               แต่สงฆ์ทำกรรมมีปริวาสเป็นต้น แก่ภิกษุใด, ภิกษุนั้นมิใช่ผู้เข้ากรรม ทั้งมิใช่ผู้ควรแก่ฉันทะ. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุนั้นอันท่านเรียกว่า กัมมารหบุคคล ก็เพราะเหตุที่สงฆ์จัดบุคคลนั้นให้เป็นวัตถุกระทำกรรม.
               แม้ในกรรมที่เหลือ ก็นัยนี้แล.
               ท่านกล่าวนัยเป็นต้นว่า จตฺตาริ กมฺมานิ ไว้อีก ก็เพื่อแสดงข้อที่อภัพบุคคลมีบัณเฑาะก์เป็นต้น ไม่จัดเป็นวัตถุ.
               คำที่เหลือในนัยนี้ ตื้นทั้งนั้น.

               [ว่าด้วยอปโลกนกรรม]               
               บัดนี้ เพื่อแสดงประเภทแห่งกรรมเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า อปโลกนกมฺมํ กติ ฐานานิ คจฺฉติ เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทที่ว่า อปโลกนกรรม ย่อมถึงฐานะ ๕ เหล่าไหน? ฐานะ ๕ เหล่านี้ คือ โอสาณา นิสสารณา ภัณฑุกรรม พรหมทัณฑ์ ทั้งกรรมลักษณะเป็นคำรบ ๕ นี้ คำที่ว่า โอสารณา นิสสารณา นั้น ท่านกล่าวแล้ว เพื่อเป็นบทที่ไพเราะ. แต่นิสสารณามีก่อน โอสาณา มีภายหลัง.

               [นิสสารณาและโอสารณา]               
               ใน ๒ อย่างนั้น ทัณฑกรรมนาสนาที่สงฆ์ทำแก่กัณฏกสามเณร พึงทราบว่าเป็นนิสสารณา. เพราะเหตุนั้น ในบัดนี้ แม้ถ้าสามเณรกล่าวโทษพระพุทธ พระธรรมหรือพระสงฆ์, แสดงสิ่งที่ไม่ควรว่าควร, เป็นผู้มีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ; สามเณรนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงห้ามปราม ให้สละความยึดถือนั้นเสีย เพียงครั้งที่ ๓, หากเธอไม่ยอมสละพึงให้ประชุมสงฆ์กล่าวว่า จงสละเสีย, หากเธอไม่ยอมสละ ภิกษุผู้ฉลาดพึงทำอปโลกนกรรมลงโทษเธอ.
               ก็แลกรรมอันภิกษุนั้นพึงทำอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถามสงฆ์ว่า สามเณรชื่อนี้ๆ มีความเห็นผิด มักกล่าวโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, สามเณรเหล่าอื่นย่อมได้การนอนร่วมกับภิกษุทั้งหลาย ๒-๓ คืนอันใด การลงโทษเธอ เพื่อไม่ได้การนอนร่วมนั้น ชอบใจสงฆ์หรือ? ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถามสงฆ์เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถามสงฆ์เป็นครั้งที่ ๓ ว่า สามเณรชื่อนี้ๆ มีความเห็นผิด ฯลฯ การลงโทษเธอ เพื่อไม่ได้การนอนร่วมนั้น ชอบใจสงฆ์หรือ? การลงโทษนั้น ชอบใจสงฆ์; เจ้าคนเสีย เจ้าจงไปเสีย เจ้าจงฉิบหายเสีย.
               โดยสมัยอื่น สามเณรนั้นขอโทษว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้กระทำอย่างนั้น เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะไม่รู้ เพราะเป็นผู้ไม่พิจารณา, ข้าพเจ้านั้นขอขมาสงฆ์ ดังนี้ พึงให้เธอขอเพียงครั้งที่ ๓ แล้ว ถอนโทษด้วยอปโลกนกรรมนั่นแล.
               ก็แลสามเณรนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงถอนโทษอย่างนี้ :-
               ภิกษุผู้ฉลาด พึงสวดประกาศ โดยอนุมัติของสงฆ์ในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามสงฆ์ว่า สามเณรชื่อนี้ๆ มีความเห็นผิด มักกล่าวโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันสงฆ์ลงโทษแล้ว เพื่อไม่ได้การนอนร่วมกับภิกษุทั้งหลาย ๒-๓ คืน ซึ่งสามเณรเหล่าอื่นได้, บัดนี้ สามเณรนี้นั้นเสงี่ยมแล้ว เว้นได้แล้ว ประพฤติเจียมตัว หันเข้าหาลัชชีธรรมแล้ว ตั้งมั่นในหิริโอตตัปปะแล้ว ได้ทำทัณฑกรรมแล้ว สารภาพโทษอยู่; การให้ความพร้อมเพรียงด้วยกายสมโภคเหมือนในกาลก่อน แก่สามเณรนี้ ชอบใจสงฆ์หรือ? พึงสวดอย่างนี้ ๓ ครั้ง. อปโลกนกรรมย่อมถึงโอสารณาและนิสสารณา ด้วยประการฉะนี้.
               ภัณฑุกรรม ข้าพเจ้าได้กล่าวเสร็จแล้วในมหาขันธกวัณณนา.

               [พรหมทัณฑ์]               
               พรหมทัณฑ์ อันพระอานนทเถระได้กล่าวไว้แล้วในปัญจสติกขันธกะ. ก็แลพรหมทัณฑ์นั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ เฉพาะพระฉันนะรูปเดียวหามิได้. ภิกษุแม้อื่นใด เป็นผู้มีปากร้าย เสียดสี ด่า ข่มภิกษุทั้งหลายด้วยถ้อยคำหยาบคายอยู่. สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุแม้นั้น.
               ก็แลพรหมทัณฑ์นั้น พึงลงอย่างนี้ :-
               ภิกษุผู้ฉลาด พึงสวดประกาศโดยอนุมัติของสงฆ์ ในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้ มีปากร้าย เสียดสีภิกษุทั้งหลาย ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอยู่, ภิกษุนั้น พึงกล่าวคำที่ตนปรารถนาจะกล่าว, ภิกษุชื่อนี้ อันภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงพร่ำสอน, ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามสงฆ์ว่า การลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุชื่อนี้ ชอบใจสงฆ์หรือ? ข้าพเจ้าถามเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้าถามเป็นครั้งที่ ๓ ว่า การลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุชื่อนี้ ชอบใจสงฆ์หรือ? ท่านผู้เจริญ.
               พรหมทัณฑ์อันสงฆ์พึงระงับแก่ภิกษุนั้น ผู้ประพฤติชอบแล้ว ขอโทษอยู่โดยสมัยอื่น.
               ก็แลสงฆ์พึงระงับอย่างนี้ :-
               ภิกษุผู้ฉลาด พึงสวดประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ได้ลงพรหมทัณฑ์ แก่ภิกษุโน้น, ภิกษุนั้น เสงี่ยมแล้ว ประพฤติเจียมตัวหันเข้าหาลัชชีธรรมแล้ว ตั้งมั่นในหิริโอตตัปปะแล้ว พิจารณาแล้ว ตั้งอยู่ในสังวรต่อไป, ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามสงฆ์ว่า การระงับพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุนั้น ชอบใจสงฆ์หรือ?. พึงกล่าวอย่างนี้ เพียงครั้งที่ ๓ ระงับพรหมทัณฑ์เสียด้วยอปโลกนกรรมแล.

               [กรรมลักษณะ]               
               สองบทว่า กมฺมลกฺขณญฺเญว ปญฺจมํ มีความว่า ในเรื่องเหล่านี้ที่ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุฉัพพัคคีย์ เอาน้ำโคลนรดภิกษุณีทั้งหลาย ด้วยหมายว่า แม้ไฉนภิกษุณีทั้งหลายพึงรักใคร่ในพวกเรา เปิดกายอวดภิกษุณีทั้งหลาย, ถลกขาอวดภิกษุณีทั้งหลาย, เปิดองคชาตแสดงแก่ภิกษุณีทั้งหลาย พูดเกี้ยวภิกษุณีทั้งหลาย ชักสื่อกับภิกษุณีทั้งหลายด้วยหมายว่า แม้ไฉน ภิกษุณีทั้งหลายพึงรักใคร่ในพวกเรา ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติทุกกฏแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วทรงอนุญาตอวันทิยกรรมอันใด ไว้ในภิกขุนีขันธกะอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อลงทัณฑกรรมแก่ภิกษุนั้น, ครั้นนั้นเล ภิกษุทั้งหลายได้มีความรำพึงเช่นนี้ว่า ทัณฑกรรม อันเราจะพึงทำอย่างไรหนอ? จึงกราบทูลเนื้อความนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นอันภิกษุณีสงฆ์ พึงทำให้เป็นผู้อันตนไม่ควรไหว้ ดังนี้. อวันทิยกรรมนั้น ย่อมเป็นกรรมลักษณะแท้ ย่อมเป็นฐานะที่ครบ ๕ แห่งอปโลกนกรรมนี้.
               จริงอยู่ อวันทิยกรรมนั้น เป็นลักษณะคือกรรมแห่งอปโลกนกรรมนั้น หากลายเป็นอย่างอื่นมีโอสารณาเป็นต้นไม่. เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่ากรรมลักษณะ. การทำอวันทิยกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในภิกขุนีขันธกะนั้นแล้วแล.
               อีกประการหนึ่ง เพื่อแสดงอวันทิยกรรมนั้นกับทั้งกิริยาที่ระงับโดยพิสดาร ข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ในกัมมวัคค์แม้นี้ :-
               ภิกษุณีผู้ฉลาด พึงสวดประกาศโดยอนุมัติของภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งประชุมกันในสำนักภิกษุณีว่า แม่เจ้า ข้าพเจ้าถามภิกษุณีสงฆ์ว่า พระผู้เป็นเจ้าชื่อโน้น แสดงอาการไม่น่าเลื่อมใสแก่ภิกษุณีทั้งหลาย, การทำพระผู้เป็นเจ้านั้น ให้เป็นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงไหว้ ชอบใจสงฆ์หรือ? ข้าพเจ้าถามภิกษุณีสงฆ์เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า แม่เจ้า พระผู้เป็นเจ้าชื่อโน้น แสดงอาการไม่น่าเลื่อมใส แก่ภิกษุณีทั้งหลาย, การทำพระผู้เป็นเจ้านั้น ให้เป็นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงไหว้ ชอบใจสงฆ์หรือ? อวันทิยกรรมอันภิกษุณีสงฆ์พึงสวดประกาศ ๓ ครั้ง ทำด้วยอปโลกนกรรมอย่างนี้.
               จำเดิมแต่นั้น ภิกษุนั้น อันภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงไหว้. ถ้าว่าภิกษุนั้นอันภิกษุณีทั้งหลายไม่ไหว้อยู่ กลับเกิดหิริและโอตตัปปะขึ้นแล้ว ประพฤติชอบไซร้, ภิกษุณีทั้งหลายอันเธอพึงขอโทษ. เมื่อจะขอโทษ ไม่พึงไปสู่สำนักภิกษุณี พึงเข้าหาสงฆ์หรือคณะหรือภิกษุรูปหนึ่ง ในวิหารนั่นเอง นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี ขอโทษว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้ว จะตั้งอยู่ในสังวรต่อไป, จักไม่แสดงอาการไม่น่าเลื่อมใสอีก, ขอภิกษุณีสงฆ์ จงอดโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด.
               สงฆ์หรือคณะนั้น พึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไป หรือภิกษุรูปหนึ่งนั้นพึงไปเองทีเดียว แล้วกล่าวกะภิกษุณีทั้งหลายว่า ภิกษุนี้พิจารณาแล้ว ตั้งอยู่ในสังวรต่อไป ภิกษุณีสงฆ์ อันภิกษุนี้สารภาพโทษแล้ว ขอโทษแล้ว, ขอภิกษุณีสงฆ์ จงทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อันตนพึงไหว้เถิด. ภิกษุนั้น อันภิกษุณีสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้อันตนพึงไหว้.
               ก็แลเมื่อจะทำ พึงทำอย่างนี้ :-
               ภิกษุณีผู้ฉลาด พึงสวดประกาศ โดยอนุมัติของภิกษุณีสงฆ์ผู้ประชุมกันในสำนักภิกษุณีว่า แม่เจ้า ข้าพเจ้าถามภิกษุณีสงฆ์ว่า พระผู้เป็นเจ้าชื่อโน้นแสดงอาการไม่น่าเลื่อมใสแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ; พระผู้เป็นเจ้านั้น อันภิกษุณีสงฆ์ทำให้เป็นผู้อันตนไม่พึงไหว้แล้ว หันเข้าหาลัชชีธรรม พิจารณาแล้ว ตั้งอยู่ในสังวรต่อไป สารภาพโทษแล้ว ขอโทษภิกษุณีสงฆ์อยู่, การทำพระผู้เป็นเจ้านั้น ให้เป็นผู้อันภิกษุณีทั้งหลายพึงไหว้ ชอบใจสงฆ์หรือ? พึงกล่าว ๓ ครั้ง. ภิกษุนั้น อันภิกษุณีสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้อันตนพึงไหว้ด้วยอปโลกนกรรมนั่นแล อย่างนี้.

               [กรรมลักษณวินิจฉัย]               
               ก็ในกัมมวัคค์นี้ มีวินิจฉัยกรรมลักษณะแม้ที่พ้นจากบาลี พึงทราบดังต่อไปนี้ :-
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า กรรมลักษณะ ทรงบัญญัติมีภิกษุณีสงฆ์เป็นมูล แต่ย่อมได้แก่ภิกษุสงฆ์ด้วยแท้.
               ก็ภิกษุสงฆ์ทำอปโลกนกรรมใด ในโรงสลาก โรงยาคู โรงภัตต์และโรงอุโบสถ, อปโลกนกรรมแม้นั้น เป็นกรรมลักษณะแท้.
               อันการที่ภิกษุผู้ฉลาด ให้ประชุมสงฆ์แล้ว สวดประกาศเพียงครั้งที่ ๓ ทำอปโลกนกรรม ให้จีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจีวรถูกโจรชิง ผู้มีจีวรเก่าและผู้มีจีวรหาย ย่อมควร. แต่ของเล็กน้อยมีเข็มเป็นต้น มีประเภทซึ่งกล่าวแล้วในเสนาสนขันธกวัณณนา อันภิกษุผู้แจกของเล็กน้อย แม้ไม่ต้องอปโลกน์ ก็ให้แก่ภิกษุผู้ทำจีวรได้. ภิกษุผู้แจกของเล็กน้อยนั้นเท่านั้น เป็นใหญ่ในการให้ของเล็กน้อยเหล่านั้น. เมื่อจะให้ของที่เกินกว่านั้น ต้องอปโลกน์ให้. เพราะว่าสงฆ์เป็นเจ้าของในการให้ของที่เกินกว่านั้น.
               แม้คิลานเภสัช ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในเสนาสนขันธกวัณณนานั้นอันภิกษุผู้แจกของเล็กน้อย พึงให้เองก็ได้. พึงอปโลกน์ให้แก่ภิกษุผู้ต้องการมาก.
               ก็แต่ว่า ภิกษุใด ไม่มีกำลังก็ดี เป็นง่อยก็ดี ขาดทางภิกษาจารก็ดี อาพาธหนักก็ดี, สำหรับภิกษุนั้น เมื่อจะให้ข้าวสารหนึ่งทะนาน หรือกึ่งทะนาน ทุกๆ วัน หรือจะให้ข้าวสาร ๕ ทะนานหรือ ๑๐ ทะนานเฉพาะวันเดียว จากกัลปนาสงฆ์ที่เกิดในที่นั้น ในอาวาสใหญ่ทั้งหลาย ต้องทำอปโลกนกรรมให้. เพื่อจะปลดกังวลคือหนี้แก่ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักก็ดี จะให้เสนาสนะที่ไม่ต้องย้ายแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตช่วยภาระของสงฆ์ก็ดี จะให้เบี้ยเลี้ยงแก่อารามิกชนมีกัปปิยการกเป็นต้น ผู้ทำกิจของสงฆ์ก็ดี จากกัลปนาสงฆ์ที่เกิดในอาวาสนั้น ควรให้ด้วยอปโลกนกรรมเท่านั้น.
               จะให้บำรุงอาวาสของสงฆ์ จากกัลปนาสงฆ์ที่เกิดขึ้นในอาวาสนั้นซึ่งทายกถวาย ด้วยอำนาจจตุปัจจัย ก็ควร. แต่เพื่อตัดคำติเตียนว่า ภิกษุนี้ย่อมจัดการ ด้วยถือตนเป็นใหญ่ จึงควรถามสงฆ์ที่ในโรงสลากเป็นต้น หรือในที่ประชุมอื่นเสียก่อน จึงให้บำรุง.
               อาวาสอันภิกษุผู้ฉลาดพึงอปโลกน์แล้วให้บำรุง แม้จากกัลปนาสงฆ์ที่เกิดขึ้นในอาวาสนั้นที่ทายกเจาะจงถวาย เพื่อประโยชน์แก่จีวรและบิณฑบาต. แม้จะไม่อปโลกน์ ก็ควร. แต่เพื่อตัดคำติเตียนซึ่งเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้กล้าจริงนะ ให้บำรุงอาวาสจากกัลปนาสงฆ์ที่เขาให้ เพื่อประโยชน์แก่จีวรและบิณฑบาต จึงควรทำอปโลกนกรรมก่อน แล้วจึงให้บำรุง.
               เมื่อทำฉัตรหรือเวทีที่เจดีย์ หรือเรือนโพธิ หรือหอฉันซึ่งยังไม่ได้ทำก็ดี จะปฏิสังขรณ์สิ่งที่ทรุดโทรมก็ดี จะทำการก่อด้วยปูนก็ดี ชักชวนพวกชาวบ้านช่วยทำ ก็ควร. ถ้าไม่มีผู้ทำ, พึงให้ทำจากรายได้ที่ฝากไว้เพื่อเจดีย์. แม้เมื่อรายได้ที่ฝากไว้ไม่มี ก็พึงทำอปโลกนกรรมแล้วให้จัดทำ จากกัลปนาสงฆ์ที่เกิดขึ้นในอาวาสนั้น จะอปโลกน์แล้วกระทำกิจของเจดีย์แม้ด้วยทรัพย์ของสงฆ์ก็ควร. แม้อปโลกน์แล้วทำกิจของสงฆ์ด้วยทรัพย์ของเจดีย์หาควรไม่. แต่จะถือเอาเป็นของยืมแล้วใช้คืนให้อย่างเดิม ควรอยู่.
               แต่การที่ภิกษุทั้งหลายผู้ทำสุธากรรมเป็นต้นที่เจดีย์ เมื่อไม่ได้อาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไป จากภิกขาจารหรือจากสงฆ์ จะจ่ายอาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไป จากทรัพย์ของเจดีย์มาฉัน กระทำวัตร (ทดแทน) ก็ควร.
               จะทำสังฆภัตรด้วยปลาและเนื้อเป็นต้น ด้วยอ้างว่า เราทำวัตร หาควรไม่.
               ต้นไม้มีผลเหล่าใด แม้ที่ปลูกไว้ในวัด เป็นของที่สงฆ์หวงห้าม ย่อมได้การบำรุง. ภิกษุทั้งหลายย่อมตีระฆังแล้วแบ่งกันฉัน ซึ่งผลทั้งหลายแห่งต้นไม้เหล่าใด, ในต้นไม้เหล่านั้น ไม่ควรทำอปโลกนกรรม.
               ส่วนต้นไม้มีผลเหล่าใด อันสงฆ์ไม่หวงห้าม, ในต้นไม้เหล่านั้นแล ควรทำอปโลกนกรรม. ก็อปโลกนกรรมนั้น ควรทำแม้ในโรงสลาก โรงยาคู โรงภัตรและที่ประชุมอื่น. อนึ่ง ในโรงอุโบสถก็ควรทำแท้. เพราะว่า ฉันทะและปาริสุทธิของภิกษุทั้งหลาย แม้ผู้มิได้มาในโรงอุโบสถนั้น อันภิกษุรูปหนึ่งย่อมนำมา. เพราะเหตุนั้น อปโลกนกรรมนั้น ย่อมเป็นกรรมที่ชำระให้หมดจดดี.
               ก็แลเมื่อจะทำ พึงทำอย่างนี้ :-
               ภิกษุผู้ฉลาด พึงสวดประกาศโดยอนุมัติของภิกษุสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามสงฆ์ว่า สิ่งใดเป็นของสงฆ์ มีราก เปลือก ใบ หน่อ ดอกและผล ซึ่งควรขบฉันได้เป็นต้น มีอยู่ภายในสีมาในวัดนี้, การที่ภิกษุทั้งหลายที่มาแล้วๆ บริโภคสิ่งทั้งปวงนั้นตามสบาย ชอบใจสงฆ์หรือ? พึงถาม ๓ ครั้ง. อปโลกนกรรมนั้น อันภิกษุ ๔-๕ รูปทำแล้ว ก็เป็นอันใช้ได้แท้.
               ภิกษุ ๒-๓ รูปอยู่ในวัดแม้ใด, อปโลกนกรรมแม้ที่ภิกษุเหล่านั้นนั่งทำแล้วในวัดนั้น ย่อมเป็นเช่นกับอปโลกนกรรมที่สงฆ์ทำแล้วแท้. อนึ่ง ในวัดใด มีภิกษุรูปเดียว, กติกวัตรแม้ที่ภิกษุนั้น ผู้นั่งกระทำบุพกรณ์และบุพกิจกระทำแล้วในวันอุโบสถ ย่อมเป็นเช่นกับอปโลกนกรรมที่สงฆ์กระทำแล้วเหมือนกัน.
               ก็แลกติกวัตรนั้น อันภิกษุผู้จะทำ แม้ทำตามคราวแห่งผลไม้ก็ควร. กำหนดทำอย่างนี้ว่า ๔ เดือน, ๖ เดือน, ๑ ปี ก็ตาม, ไม่กำหนดทำก็ตาม ควรทั้งนั้น.
               ในคราวที่กำหนด พึงบริโภคตามที่กำหนดไว้ แล้วทำใหม่. ในคราวที่ไม่กำหนด ควรเพียงกาลที่ต้นไม้ทั้งหลายยังทรงอยู่. ต้นไม้เหล่าอื่นแม้ใด ที่เพาะแล้ว ด้วยพืชทั้งหลายแห่งต้นไม้เหล่านั้น, กติกานั้นแล ใช้สำหรับต้นไม้เหล่านั้นด้วย.
               ก็ถ้าว่า เป็นต้นไม้ที่เพาะปลูกในวัดอื่น, สงฆ์ในวัดซึ่งเป็นผู้ที่ปลูกเท่านั้น เป็นเจ้าของต้นไม้เหล่านั้น.
               ต้นไม้แม้เหล่าใด อันใครๆ นำพืชมาจากที่อื่น ปลูกลงทีหลังในวัดดั้งเดิม, สำหรับต้นไม้เหล่านั้น ต้องทำกติกาอย่างอื่น. เมื่อทำกติกาแล้ว ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ในฐานเป็นของบุคคล. ควรบริโภคผลเป็นต้นตามสบาย.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุทั้งหลายในวัดดั้งเดิมนี้ ล้อมโอกาสนั้นๆ ทำบริเวณไว้ แล้วทำนุบำรุงอยู่. ภิกษุเหล่าใด ทำนุบำรุง, ต้นไม้เหล่านั้น ตั้งอยู่ในฐานเป็นของบุคคลแห่งภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่าอื่นย่อมไม่ได้เพื่อบริโภค. แต่ภิกษุผู้ทำนุบำรุงเหล่านั้น ต้องให้ส่วนที่ ๑๐ แก่สงฆ์ แล้วจึงบริโภค.
               แม้ภิกษุใด เอากิ่งไม้ล้อมรักษาไว้กลางวัด แม้ภิกษุนั้น ก็นัยนี้แล.
               ด้วยความดีใจว่า พระเถระมาแล้ว สามเณรทั้งหลายจึงนำผลไม้น้อยใหญ่มาถวายภิกษุผู้ควรยกย่อง ซึ่งไปสู่วัดเก่าแก่. ถ้าว่าในกาลครั้งเดิม ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ทรงปริยัติธรรมทั้งสิ้น อยู่ในวัดนั้น. ภิกษุนั้นพึงบริโภค โดยไม่ต้องมีความรังเกียจว่า ในวัดนี้จักมีกติกาที่ทำไว้ยั่งยืนเป็นแน่. ผลไม้น้อยใหญ่ในวัด ย่อมควรแม้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้ถือบิณฑปาติกธุดงค์ คือไม่ยังธุดงค์ให้เสีย.
               สามเณรทั้งหลายถวายผลไม้น้อยใหญ่เป็นอันมาก แก่อาจารย์ และอุปัชฌาย์ของตน, ภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่ได้ย่อมโพนทะนา, การโพนทะนานั้น ก็เป็นสักว่าโพนทะนาเท่านั้น.
               แต่ถ้าเป็นคราวที่ภิกษาฝืดเคือง, ชนทั้ง ๖๐ อาศัยขนุนต้นเดียวเลี้ยงชีวิต. ในกาลเช่นนั้น ต้องแบ่งกันกิน เพื่อประโยชน์จะทำการสงเคราะห์ให้ทั่วถึงกัน. ทำเช่นนี้เป็นการชอบ.
               ก็แลวัตรตามกติกา ยังไม่ระงับเพียงใด, ผลไม้ที่ภิกษุเหล่านั้นฉันแล้ว เป็นอันฉันแล้วด้วยดีแท้เพียงนั้น. ก็เมื่อไรเล่า วัตรตามกติกา จึงจะระงับ? ในกาลใด สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงประชุมกันสวดประกาศว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ภิกษุทั้งหลายจงแบ่งกันฉัน, ในกาลนั้น วัตรตามกติกา ย่อมระงับ. อนึ่ง ในวัดที่มีภิกษุรูปเดียวเมื่อคำประกาศ แม้อันภิกษุรูปเดียวประกาศ กติกาเดิม ย่อมระงับเหมือนกัน.
               ถ้าว่า เมื่อกติการะงับแล้ว สามเณรทั้งหลายหาได้ยังผลไม้ทั้งหลายให้หล่นจากต้นไม่ หาได้เก็บผลไม้จากพื้นดินถวายภิกษุทั้งหลายไม่, เที่ยวเหยียบย่ำผลไม้ที่หล่นแล้วเสียด้วยเท้า. สงฆ์พึงเพิ่มผลไม้ให้แก่สามเณรเหล่านั้น ตั้งแต่เสี้ยวที่ ๑๐ จนถึงกึ่งส่วนแห่งผลไม้. เพราะได้เพิ่มส่วน พวกเธอจักนำมาถวายแน่แท้.
               ในคราวที่ภิกษากลับหาได้ง่ายอีก เมื่อกัปปิยการกทั้งหลาย มาทำการล้อมด้วยกิ่งไม้เป็นต้น รักษาต้นไม้ไว้ ไม่ต้องให้ส่วนเพิ่มแก่พวกสามเณร พึงแบ่งกันบริโภค.
               ชนทั้งหลาย จากบ้านรอบวัดคิดว่า ในวัดมีผลไม้น้อยใหญ่ จึงมาขอเพื่อประโยชน์แก่คนไข้หรือหญิงมีครรภ์ว่า ขอท่านจงให้มะพร้าว ๑ ผล, จงให้มะม่วง ๑ ผล จงให้ขนุนสำมะลอ ๑ ผล; ถามว่า ควรให้หรือไม่ควร? ตอบว่า ควรให้. เพราะว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายไม่ให้ พวกเขาจะพากันเสียใจ. แต่เมื่อจะให้ ต้องให้ประชุมสงฆ์ สวดประกาศเพียงครั้งที่ ๓ ทำอปโลกนกรรม ให้หรือพึงทำกติกวัตรตั้งไว้.
               ก็แลกติกวัตรนั้น อันสงฆ์พึงทำอย่างนี้ :-
               ภิกษุผู้ฉลาด พึงสวดประกาศโดยอนุมัติของสงฆ์ว่า ชนทั้งหลาย จากบ้านรอบวัดมาขอผลไม้น้อยใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่คนไข้เป็นต้น, การที่ไม่ห้ามชนเหล่านั้น ผู้ถือเอามะพร้าว ๒ ผล ตาล ๒ ผล ขนุน ๒ ผล มะม่วง ๕ ผล กล้วย ๕ ผล และการที่ไม่ห้ามชนเหล่านั้น ผู้ถือเอาผลไม้จากต้นไม้โน้น ชอบใจแก่ภิกษุสงฆ์ ดังนี้ พึงสวด ๓ ครั้ง. จำเดิมแต่นั้น ชนเหล่านั้น เมื่อระบุชื่อคนไข้เป็นต้นขอ อันภิกษุทั้งหลายไม่พึงกล่าวว่า เอาเถิด. แต่พึงบอกวัตรว่า สงฆ์ได้ตกลงไม่ห้ามชนทั้งหลาย ผู้ถือเอาผลมะพร้าวเป็นต้น โดยจำกัดชื่อนี้ และผู้ถือเอาผลไม้จากต้นไม้โน้น. แต่ไม่พึงเที่ยวตามบอกว่า มะม่วงต้นนี้ มีผลอร่อย ท่านจงเก็บจากต้นนี้.
               อนึ่ง ภิกษุผู้อันสงฆ์สมมติแล้ว พึงให้กึ่งส่วนแก่ชนเหล่านั้น ผู้มาแล้วในเวลาแบ่งผลไม้. ภิกษุที่สงฆ์ไม่ได้สมมติ พึงอปโลกน์ให้. บุคคลผู้สิ้นเสบียงก็ดี พ่อค้าเกวียนผู้จะเดินทางก็ดี อิสรชนอื่นก็ดีมาขอ พึงอปโลกน์ให้. เมื่อเขาเก็บกินโดยพลการ ก็ไม่พึงห้าม. เพราะเขาโกรธแล้ว จะพึงตัดต้นไม้เสียก็ได้ จะพึงทำความฉิบหายอย่างอื่นก็ได้. เมื่อเขามายังบริเวณส่วนตัวบุคคล ขอโดยชื่อคนไข้ ภิกษุผู้เป็นเจ้าของ พึงบอกว่า ฉันปลูกไว้เพื่อประโยชน์แก่ร่มเงาเป็นต้น, ถ้าผลมี ท่านจงรู้เองเถิด.
               ก็ถ้าว่า ต้นไม้ทั้งหลายมีผลดก. ภิกษุเอาหนามสะไว้ ฉันผลเป็นคราวๆ. ภิกษุนั้น เมื่อไม่หวังตอบแทนแล้ว ก็พึงให้. เมื่อเขาเก็บเอาโดยพลการ ก็ไม่พึงห้าม. เหตุในข้อที่ไม่ควรห้ามนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.
               สวนผลไม้ของสงฆ์มี แต่ไม่ได้รับการบำรุง. หากว่า ภิกษุบางรูปบำรุงสวนนั้น ด้วยมุ่งวัตรเป็นใหญ่, สวนนั้นยังคงเป็นของสงฆ์. แม้ถ้าว่า สงฆ์มอบให้เป็นภาระของภิกษุผู้สามารถบางรูปว่า สัตบุรุษ ท่านจงช่วยบำรุงสวนนี้ให้เถิด, หากภิกษุนั้น บำรุงด้วยมุ่งวัตร, แม้อย่างนี้ ก็ยังเป็นของสงฆ์. แต่สงฆ์พึงให้ส่วนเพิ่มเพียงเสี้ยวที่ ๓ หรือกึ่งส่วน แก่ภิกษุนั้นผู้หวังส่วนเพิ่ม.
               ก็แลเมื่อเธอกล่าวว่า เป็นกรรมหนัก แล้วไม่ปรารถนาด้วยส่วนเพิ่มเพียงเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวบ้างว่า ท่านจงทำผลไม้ทั้งหมดให้เป็นของท่านคนเดียว จงให้เพียงส่วนที่ ๑๐ เป็นส่วนมูลค่า แล้วบำรุงเถิด. แต่ไม่พึงให้ด้วยอำนาจขาดมูลค่า เพราะสวนนั้นเป็นครุภัณฑ์.
               ภิกษุผู้ให้ส่วนแห่งมูลค่าแล้วฉันนั้น ให้สร้างเสนาสนะที่อยู่ซึ่งยังไม่ได้สร้างบ้าง ทำนุบำรุงเสนาสนะที่เขาสร้างไว้แล้วบ้าง แล้วมอบสวนแก่พวกนิสสิต. แม้พวกนิสสิตนั้น ก็พึงให้ส่วนแห่งมูลค่า.
               ก็ภิกษุทั้งหลายสามารถจะบำรุงเองในกาลใด, ในกาลนั้น สงฆ์ไม่พึงให้ภิกษุเหล่านั้นบำรุง, ไม่พึงห้าม ในกาลที่ผลไม้อันพวกเธอได้บำรุงแล้ว. พึงห้ามในเวลาที่เริ่มจะบำรุงเท่านั้น. พึงกล่าวว่า พวกท่านได้ฉันมากแล้ว, บัดนี้อย่าบำรุงเลย, ภิกษุสงฆ์จักบำรุงเอง.
               ก็ถ้าว่า ผู้บำรุงด้วยมุ่งวัตรก็ไม่มี ผู้บำรุงด้วยหวังส่วนเพิ่มก็ไม่มี, ทั้งสงฆ์ก็ไม่สามารถจะบำรุงเองไซร้; ภิกษุรูป ๑ ไม่เรียนสงฆ์ก่อน บำรุงเอง ทำให้เจริญแล้วหวังส่วนเพิ่ม, ส่วนเพิ่มอันสงฆ์พึงเพิ่มให้ด้วยอปโลกนกรรม.
               อปโลกนกรรมแม้ทั้งปวงนี้ จัดเป็นกรรมลักษณะแท้. อปโลกนกรรม ย่อมถึงฐานะ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.

               [ญัตติกรรม]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัย ในประเภทแห่งฐานแห่งญัตติกรรม ดังต่อไปนี้ :-
               วาจาสำหรับเรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้ามา อย่างนี้ว่า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีอายุชื่อนี้ ข้าพเจ้าสอนซ้อมเขาแล้ว, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ขอผู้มีชื่อนี้พึงมา เพราะฉะนั้น ผู้มีชื่อนี้อันข้าพเจ้าพึงเรียกว่า เจ้าจงมา ดังนี้ ชื่อว่าโอสารณา.
               วาจาสำหรับถอนภิกษุผู้ธรรมกถึกออก ในอุพพาหิกวินิจฉัย อย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า, ภิกษุผู้มีชื่อนี้รูปนี้เป็นธรรมกถึก, สูตรของพระธรรมกถึกนี้ หามาไม่, วิภังค์แห่งสูตรก็หามาไม่, เธอไม่พิจารณาอรรถ ค้านอรรถด้วยเงาแห่งพยัญชนะ, ถ้าความพรั่งพร้อมของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, พึงถอนภิกษุชื่อนี้ออกเสีย พวกเราที่เหลือพึงระงับอธิกรณ์นี้ ดังนี้ ชื่อว่านิสสารณา.
               ญัตติที่ตั้งด้วยอำนาจอุโบสถกรรมอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า อุโบสถวันนี้ที่ ๑๕, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงทำอุโบสถ ดังนี้ ชื่อว่าอุโบสถ.
               ญัตติที่ตั้งด้วยอำนาจปวารณากรรมอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ปวารณาวันนี้ที่ ๑๕, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงปวารณา ดังนี้ ชื่อว่าปวารณา.
               ญัตติที่ตั้ง เพื่อสมมติตนเองหรือผู้อื่นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงสอนซ้อมผู้ที่มีชื่อนี้, ดังนี้ก็ดี, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของภิกษุถึงที่แล้ว, ผู้มีชื่อนี้ พึงสอนซ้อมผู้ที่มีชื่อนี้ ดังนี้ก็ดี, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าพึงถามอันตรายิกธรรมกะ ผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ก็ดี, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, ผู้มีชื่อนี้ พึงถามอันตรายิกธรรมกะผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ก็ดี, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าพึงถามวินัยกะผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ก็ดี, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, ผู้มีชื่อนี้ พึงถามวินัยกะผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ก็ดี ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าอันผู้มีชื่อนี้ถามวินัยแล้ว ขอวิสัชนา ดังนี้ก็ดี, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว ผู้มีชื่อนี้ อันผู้มีชื่อนี้ถามวินัยแล้ว พึงวิสัชนา ดังนี้ก็ดี ชื่อว่าสมมติ.
               การคืนบริขารมีจีวรและบาตรที่ภิกษุอื่นเสียสละเป็นต้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรนี้ ของภิกษุผู้มีชื่อนี้เป็นนิสสัคคีย์ อันเธอสละแล้วแก่สงฆ์, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงคืนจีวรนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, ท่านทั้งหลายพึงคืนจีวรนี้ แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ชื่อว่าการให้.
               การรับอาบัติอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ รูปนี้ ระลึกได้เปิดเผย ทำให้ตื้น แสดงอาบัติ, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุผู้มีชื่อนี้, ว่า ถ้าความพรั่งพร้อมของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุผู้มีชื่อนี้, เธออันภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า ท่านเห็นหรือ? เมื่อเธอตอบว่า ขอรับ ข้าพเจ้าเห็น พึงกล่าวว่า ท่านพึงสำรวมต่อไป ดังนี้ ชื่อว่าการรับ.
               ปวารณาที่สงฆ์ทำอย่างนี้ คือ ภิกษุเจ้าถิ่นผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศว่า ขอท่านทั้งหลายผู้เจ้าถิ่น จงฟังข้าพเจ้า, ถ้าความพรั่งพร้อมของท่านทั้งหลาย ถึงที่แล้ว, บัดนี้ เราทั้งหลายพึงทำอุโบสถ พึงสวดปาฏิโมกข์ พึงปวารณาในกาฬปักษ์อันจะมาข้างหน้า. ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ก่อความบาดหมางกัน ก่อความทะเลาะกัน ก่อการวิวาทกัน ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ หน่วงอยู่ตลอดกาฬปักษ์นั้นไซร้ ภิกษุเจ้าถิ่นผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้ภิกษุเจ้าถิ่นทั้งหลายทราบว่า ขอท่านทั้งหลายผู้เจ้าถิ่น จงฟังข้าพเจ้า, ถ้าความพรั่งพร้อมของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว, บัดนี้ เราทั้งหลายพึงทำอุโบสถ พึงสวดปาฏิโมกข์, พึงปวารณาในชุณหปักษ์อันจะมาข้างหน้า ดังนี้ ชื่อว่าเลื่อนปวารณาออกไป.
               ญัตติที่ครอบทั่วไป อันเป็นต้นแห่งญัตติทั้งปวง ซึ่งกระทำด้วยติณวัตถารกสมถะอย่างนี้ คือ ภิกษุทุกๆ รูปพึงประชุมในที่เดียวกัน, ครั้นประชุมกันแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า, เมื่อเราทั้งหลายเกิดความบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติอัชฌาจารไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ต่างกล่าวซัดกัน, ถ้าเราทั้งหลายจะพึงปรับกันและกัน ด้วยอาบัติเหล่านี้, ข้อนั้นจะพึงเป็นอธิกรณ์ก็ได้, อธิกรณ์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายกาจ เพื่อความแตกกัน, ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยติณวัตถารกะ เว้นอาบัติมีโทษล่ำ เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์เสีย ดังนี้ ชื่อว่ากรรมลักษณะ.
               ญัตติ ๒ นับฝ่ายละ ๑ ญัตติ ต่อจากสัพพสังคาหิกาญัตตินั้นไป ก็เหมือนกัน.
               ญัตติกรรมมีประเภทตามที่กล่าวแล้ว ย่อมถึงฐานะ ๙ เหล่านี้ คือ โอสารณา นิสสารณา อุโบสถ ปวารณา สมมติ การให้ การรับ การเลื่อนปวารณาออกไป และกรรมลักษณะเป็นที่ ๙ ด้วยประการฉะนั้น.

               [ญัตติทุติยกรรม]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในประเภทแห่งฐานะแห่งญัตติทุติยกรรม ดังต่อไปนี้ :-
               พึงทราบนิสสารณาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขันธกะ ด้วยอำนาจคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี และโอสารณาที่ตรัสด้วยอำนาจหงายบาตรแก่วัฑฒลิจฉวีนั้นแล.
               พึงทราบสมมติ เนื่องด้วยสมมติเหล่านี้ คือ สมมติสีมา สมมติแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร สมมติสันถัต สมมติพระภัตตุทเทสก์ สมมติภิกษุผู้เสนาสนคาหาปกะ สมมติภิกษุผู้รักษาเรือนคลัง สมมติภิกษุผู้รับแจกจีวร สมมติภิกษุผู้แจกจีวร สมมติภิกษุผู้แจกยาคู สมมติภิกษุผู้แจกของเคี้ยว สมมติภิกษุผู้แจกผลไม้ สมมติภิกษุผู้แจกของเล็กน้อย สมมติภิกษุผู้รับผ้า สมมติภิกษุผู้ปัตตคาหาปกะ สมมติภิกษุผู้ใช้คนวัด สมมติภิกษุผู้ใช้สามเณร.
               การให้ พึงทราบด้วยอำนาจการให้จีวรกฐิน และให้จีวรมรดก.
               การถอน พึงทราบด้วยอำนาจการรื้อกฐิน.
               การแสดง พึงทราบด้วยอำนาจแสดงพื้นที่สร้างกุฏี และพื้นที่สร้างวิหาร.
               กรรมลักษณะ พึงทราบด้วยอำนาจญัตติทุติยกรรมวาจา ๒ ที่ท่านกล่าวไว้ในติณวัตถารกสมถะ คือ เว้นญัตติ ๓ อย่าง คือ สัพพสังคาหิกาญัตติ และญัตติในฝ่ายหนึ่งๆ ฝ่ายละ ๑ ญัตติเสีย ได้แก่ กรรมวาจาอีกฝ่ายละ ๑.
               ญัตติทุติยกรรม ย่อมถึงฐานะ ๗ นี้ ด้วยประการนี้.

               [ญัตติจตุตถกรรม]               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในประเภทแห่งฐานแห่งญัตติจตุตถกรรม ดังต่อไปนี้ :-
               นิสสารณา พึงทราบด้วยอำนาจกรรม ๗ อย่าง มีตัชชนียกรรมเป็นต้น. โอสารณา พึงทราบด้วยอำนาจการระงับกรรมเหล่านั้นแล.
               สมมติ พึงทราบด้วยอำนาจสมมติภิกษุผู้สอนภิกษุณี.
               การให้ พึงทราบด้วยอำนาจการให้ปริวาสและให้มานัต.
               นิคคหะ พึงทราบด้วยอำนาจมูลายปฏิกัสสนกรรม.
               สมนุภาสนา พึงทราบด้วยอำนาจสมนุภาสนา ๑๑ อย่างเหล่านี้ คือ อุกขิตตานุวัตตกสิกขาบท ยาวตติยกสิกขาบท ๘ (ของภิกษุณี) อริฏฐสิกขาบทและจัณฑาลีสิกขาบท ยาวตติยกสิกขาบทนั้นเหล่านี้.
               ส่วนกรรมลักษณะ พึงทราบด้วยอำนาจแห่งอุปสมบทกรรม และอัพภานกรรม.
               ญัตติจตุตถกรรม ย่อมถึงฐานะ ๗ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               พระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงกรรม กรรมวิบัติ และความถึงประเภทแห่งฐานะแห่งกรรมทั้งหลาย ที่เว้นจากวิบัติด้วยประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จะแสดงจำนวนแห่งสงฆ์ผู้กระทำกรรมเหล่านั้น จึงกล่าวสืบไปว่า ในกรรมที่สงฆ์จตุวรรคพึงทำ เป็นอาทิ. เนื้อความแห่งคำนั้น บัณฑิตพึงทราบ โดยนัยที่ได้กล่าวแล้ว ในวัณณนาแห่งกรรมวิบัติโดยปริสะนั่นเทียว ฉะนี้แล.

               พรรณนากัมมวัคค์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร ปัญจวรรค กรรมวรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1296อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1340อ่านอรรถกถา 8 / 1359อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=12991&Z=13224
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=12305
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=12305
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :