ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร

หน้าต่างที่ ๕ / ๖.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงพรรณนาศีล ๓ ประการโดยพิสดาร โดยอนุสนธิแห่งคำสรรเสริญที่พรหมทัตมาณพกล่าวด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ ทรงเริ่มประกาศความว่างเปล่าโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอื่นๆ ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ดังนี้ โดยอนุสนธิแห่งคำสรรเสริญที่ภิกษุสงฆ์กล่าว.
               คำว่า ธรรม ในพระบาลีนั้น ความว่า ธรรมศัพท์ เป็นไปในอรรถทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า คือ คุณธรรม เทศนาธรรม ปริยัติธรรม นิสัตตธรรม.
               จริงอยู่ ธรรมศัพท์เป็นไปในคุณธรรม เช่นในประโยคมีอาทิว่า๑-
                         ธรรมแลอธรรมทั้ง ๒ หามีผลเสมอกันไม่
                         อธรรมนำสัตว์ไปนรก ธรรมให้สัตว์ถึงสุคติ.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๒๘๔

               เป็นไปในเทศนาธรรม เช่นในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ....... แก่เธอทั้งหลาย.๒-
               เป็นไปในปริยัติธรรม เช่นประโยคมีอาทิว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ.๓-
               เป็นไปในนิสัตตธรรม เช่นในประโยคมีอาทิว่า ก็ในสมัยนั้นแล ธรรมมีอยู่ คือ ขันธ์ทั้งหลายมีอยู่.๔-
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๘๑๐   ๓- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๗๓   ๔- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๙๙

               ก็ในพระบาลีนี้ ธรรมศัพท์เป็นไปในคุณธรรม เพราะฉะนั้น พึงเห็นความในพระบาลีนี้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตยังมีคุณอื่นๆ อีก.
               บทว่า คมฺภีรา ความว่า มีที่ตั้งอันญาณของบุคคลอื่นหยั่งไม่ได้ ยกเว้นตถาคต เหมือนมหาสมุทรอันปลายจะงอยปากยุงหยั่งไม่ถึงฉะนั้น.
               ที่ชื่อว่า เห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้งนั่นเอง.
               ที่ชื่อว่า ได้ยาก เพราะเห็นได้ยากนั่นเอง.
               ที่ชื่อว่า สงบ เพราะดับความเร่าร้อนทั้งหมด.
               ก็ชื่อว่า สงบ แม้เพราะเป็นไปในอารมณ์ที่สงบ.
               ที่ชื่อว่า ประณีต เพราะทำให้ไม่รู้จักอิ่ม ดุจโภชนะที่มีรสอร่อย.
               ที่ชื่อว่า คาดคะเนเอาไม่ได้ เพราะจะใช้การคะเนเอาไม่ได้ เหตุเป็นวิสัยแห่งญาณอันสูงสุด.
               ที่ชื่อว่า ละเอียด เพราะมีสภาพละเอียดอ่อน.
               ที่ชื่อว่า รู้ได้เฉพาะบัณฑิต เพราะบัณฑิตเท่านั้นพึงรู้ เหตุมิใช่วิสัยของพวกพาล.
               ข้อว่า เย ตถาคโต สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ ความว่า ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ตถาคตเป็นผู้ที่มิใช่มีบุคคลอื่นแนะนำ ก็ทำให้ประจักษ์ด้วยพระปรีชาญาณอันวิเศษยิ่งเองทีเดียว แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง คือแสดง กล่าว ประกาศ.
               บทว่า เยหิ ความว่า ด้วยคุณธรรมเหล่าใด.
               บทว่า ยถาภุจฺจํ แปลว่า ตามเป็นจริง.
               ข้อว่า วณฺณํ สมฺมา วทมานา วเทยฺยุํ ความว่า ผู้ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญตถาคต พึงกล่าวได้โดยชอบ. อธิบายว่า อาจกล่าวได้ไม่บกพร่อง.
               ถามว่า ก็และธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญอย่างนี้นั้น ได้แก่อะไร?
               ตอบว่า ได้แก่พระสัพพัญญุตญาณ.
               ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงทรงทำนิเทศเป็นพหุวจนะ.
               ตอบว่า เพราะประกอบด้วยจิตมากดวง และมีอารมณ์มากมาย.
               จริงอยู่ พระสัพพัญญุตญาณนั้น ได้ในมหากิริยาจิตที่เป็นญาณสัมปยุต ๔ ดวง. และธรรมอะไรๆ ที่ไม่ชื่อว่าเป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญุตญาณนั้น หามิได้.
               สมดังคำที่พระสารีบุตรกล่าวไว้เป็นต้นว่า๕- ชื่อว่าพระสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้ธรรมทั้งหมด กล่าวคือ ธรรมส่วนอดีต อนาคต และปัจจุบัน. ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะไม่มีเครื่องขัดข้องในพระญาณนั้น.
____________________________
๕- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๘๖

               ทรงทำนิเทศเป็นพหุวจนะ เพราะประกอบด้วยจิตมากดวง และเพราะมีอารมณ์มากมายด้วยอำนาจที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยประการฉะนี้แล.
               ส่วนคำว่า อญฺเญว นี้เป็นคำกำหนดไว้ใพระบาลีนี้ พึงประกอบกับบททุกบทอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่าอื่นมิใช่ธรรมมีเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ลึกซึ้งจริงๆ ไม่ใช่ตื้น.
               ก็สาวกบารมีญาณลึกซึ้ง แต่ปัจเจกโพธิญาณยังลึกซึ้งกว่านั้น ฉะนั้น จึงไม่มีคำกำหนดไว้ในสาวกบารมีญาณนั้น และพระสัพพัญญุตญาณยังลึกซึ้งกว่าปัจเจกโพธิญาณนั้น ฉะนั้น จึงไม่มีคำกำหนดไว้ในปัจเจกโพธิญาณนั้น ส่วนญาณอื่นที่ลึกซึ้งกว่าพระสัพพัญญุตญาณนี้ไม่มี ฉะนั้น จึงได้คำกำหนดว่า ลึกซึ้งทีเดียว.
               พึงทราบคำทั้งหมดว่า เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เหมือนอย่างนั้น.
               ก็คำถามในบทว่า กตเม จ เต ภิกฺขเว นี้ เป็นคำถามเพื่อประสงค์จะแก้ธรรมเหล่านั้น.
               ในคำเป็นต้นว่า สนฺติ ภิกฺขเว เอเก สมณพฺราหฺมณา ดังนี้ เป็นคำตอบคำถาม.
               หากจะมีคำถามว่า ก็เหตุไร จึงทรงเริ่มคำตอบคำถามนี้อย่างไร?
               ตอบว่า การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถึงฐานะ ๔ ประการ แล้วทรงบันลือเป็นการยิ่งใหญ่ พระปรีชาญาณก็ติดตามมา ความที่พระพุทธญาณยิ่งใหญ่ย่อมปรากฏ พระธรรมเทศนาลึกซึ้ง ตรึงตราไว้ด้วยพระไตรลักษณ์ ประกอบด้วยสุญญตา.


               ฐานะ ๔ ประการอะไรบ้าง?               
               คือ ทรงบัญญัติพระวินัยประการ ๑ ทรงกำหนดธรรมอันเป็นภูมิพิเศษประการ ๑ ทรงจำแนกปัจจัยาการประการ ๑ ทรงรู้ถึงลัทธิอื่นประการ ๑.
               เพราะฉะนั้น ธรรมดาว่าการทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อเรื่องลงกันได้อย่างนี้ว่า นี้โทษเบา นี้โทษหนัก นี้เป็นความผิดแก้ไขไม่ได้ นี้เป็นอาบัติ นี้ไม่เป็นอาบัติ นี้เป็นอาบัติถึงขั้นเด็ดขาด นี้เป็นอาบัติถึงขึ้นอยู่กรรม นี้เป็นอาบัติขั้นแสดง นี้เป็นโลกวัชชะ นี้เป็นปัณณัตติวัชชะ ควรบัญญัติข้อนี้เข้าในเรื่องนี้ ดังนี้ ในการทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น ผู้อื่นไม่มีปรีชาสามารถ เรื่องนี้มิใช่วิสัยของผู้อื่น เป็นวิสัยของพระตถาคตเท่านั้น. ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถึงฐานะ คือทรงบัญญัติพระวินัยดังนี้ ทรงบันลือจึงเป็นการยิ่งใหญ่ พระปรีชาญาณก็ติดตามมา ประกอบด้วยสุญญตา ดังนี้แล.
               อนึ่ง คนเหล่าอื่นไม่มีปรีชาสามารถจะกล่าวจำแนกอภิธรรมปิฎก สมันตปัฏฐานอนันตนัย ๒๔ ประการว่า ชื่อว่าสติปัฏฐาน ๔ ชื่อว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่าขันธ์ ๕ ชื่อว่าอายตนะ ๑๒ ชื่อว่าธาตุ ๑๘ ชื่อว่าอริยสัจ ๔ ชื่อว่าอินทรีย์ ๒๒ ชื่อว่าเหตุ ๙ ชื่อว่าอาหาร ๔ ชื่อว่าผัสสะ ๗ ชื่อว่าเวทนา ๗ ชื่อว่าสัญญา ๗ ชื่อว่าเจตนา ๗ ชื่อว่าจิต ๗ ในธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า กามาวจรธรรมเท่านี้ ชื่อว่ารูปาวจรปริยาปันธรรมเท่านี้ ชื่อว่าอรูปาวจรอปริยาปันธรรมเท่านี้ ชื่อว่าโลกิยธรรมเท่านี้ ชื่อว่าโลกุตตธรรมเท่านั้น.
               ดังนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถึงฐานะ คือทรงกำหนดธรรมอันเป็นภูมิพิเศษ ทรงบันลือจึงเป็นการยิ่งใหญ่ พระปรีชาญาณก็ติดตามมา ประกอบด้วยสุญญตา ดังนี้แล.
               อนึ่ง อวิชชานี้ใดเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย โดยอาการ ๙ อย่าง คือ อวิชชานั้นเป็นปัจจัยโดยภาวะที่เกิดขึ้น ๑ เป็นปัจจัยโดยภาวะที่เป็นไป ๑ เป็นปัจจัยโดยภาวะที่เป็นนิมิต ๑ เป็นปัจจัยโดยความประมวลมา ๑ โดยเป็นความประกอบร่วม ๑ โดยเป็นความกังวล ๑ โดยเป็นสมุทัย ๑ โดยเป็นเหตุ ๑ โดยเป็นปัจจัย ๑.
               อนึ่ง สังขารเป็นต้นก็เป็นปัจจัยแก่วิญญาณเป็นต้น โดยอาการ ๙ อย่าง
               ดังที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า
               ปัญญาในการกำหนดปัจจัย ชื่อธัมมัฏฐิติญาณ อย่างไร?
               คือ อวิชชาเป็นที่ตั้งแห่งความเกิดของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งความเป็นไปของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งนิมิตของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งความประมวลมาของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งการประกอบร่วมของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งความกังวลของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งสมุทัยของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งเหตุของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งปัจจัยของสังขาร ๑.
               อวิชชาเป็นปัจจัยโดยอาการ ๙ อย่างนี้. สังขารเป็นธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นปัจจัยและเกิดแต่ปัจจัย. ปัญญาในการกำหนดปัจจัยดังกล่าวนี้ ชื่อธัมมัฏฐิติญาณ ทั้งอดีตกาล ทั้งอนาคตกาล อวิชชาเป็นที่ตั้งแห่งความเกิดขึ้นของสังขาร ๑ เป็นที่ตั้งแห่งปัจจัยของสังขาร ๑ อวิชชาเป็นปัจจัยโดยอาการ ๙ อย่างนี้ สังขารเป็นธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นปัจจัยและเกิดแต่ปัจจัย ปัญญาในการกำหนดปัจจัยดังกล่าวนี้ ชื่อธัมมัฏฐิติญาณ
               ชาติเป็นที่ตั้งแห่งความเกิดของชรามรณะ ๑ และเป็นที่ตั้งแหง่ปัจจัยของชรามรณะ ๑ ชาติเป็นปัจจัยโดยอาการ ๙ อย่างนี้ ชรามรณะเกิดแต่ปัจจัย ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นปัจจัยและเกิดแต่ปัจจัย.
               ปัญญาในการกำหนดปัจจัยดังกล่าวนี้ ชื่อธัมมัฏฐิติญาณ ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๙๔

               คนเหล่าอื่นไม่มีปรีชาสามารถที่จะกล่าวจำแนกปฏิจจสมุปบาทอันมีวัฏฏะ ๓ มีกาล ๓ มีสนธิ ๓ มีสังเขป ๔ มีอาการ ๒๐ ซึ่งเป็นไปโดยความเป็นปัจจัย โดยประการนั้นๆ แก่ธรรมนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้ได้ นี้มิใช่วิสัยของผู้อื่น เป็นวิสัยของพระตถาคตเท่านั้น.
               ดังนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถึงฐานะคือปัจจยาการ ทรงบันลือจึงเป็นการยิ่งใหญ่ พระปรีชาญาณก็ติดตามมา ประกอบด้วยสุญญตา ดังนี้แล.
               อนึ่ง คนพวกที่ชื่อว่า สัสสตวาทะ มี ๔
                      คนพวกที่ชื่อว่า เอกัจจสัสสตวาทะ มี ๔
                      คนพวกที่ชื่อว่า อันตานันติกะ มี ๔
                      คนพวกที่ชื่อว่า อมราวิกเขปะ มี ๔
                      คนพวกที่ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนิกะ มี ๒
                      คนพวกที่ชื่อว่า สัญญีวาทะ มี ๑๖
                      คนพวกที่ชื่อว่า อสัญญีวาทะ มี ๘
                      คนพวกที่ชื่อว่า เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ มี ๘
                      คนพวกที่ชื่อว่า อุจเฉทวาทะ มี ๗
                      คนพวกที่ชื่อว่า ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ มี ๕
               คนเหล่านั้นอาศัยทิฏฐินี้แล้ว ยึดถือทิฏฐินี้ ฉะนั้น จึงรวมเป็นทิฏฐิ ๖๒ คนเหล่าอื่นไม่มีปรีชาสามารถที่จะกล่าวทำลายทิฏฐิเหล่านั้น สะสางไม่ให้รกได้ นี้มิใช่วิสัยของผู้อื่น เป็นวิสัยของพระตถาคตเท่านั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรู้ถึงฐานะข้อที่เป็นลัทธิอื่นดังนี้ แล้วทรงบันลือจึงเป็นการยิ่งใหญ่ จัดเข้าเป็นพระปรีชาญาณย่อมติดตามมา ความที่พระพุทธญาณยิ่งใหญ่ก็ปรากฏ เทศนาย่อมลึกซึ้ง ตรึงตราไว้ด้วยลักษณะ ๓ ประกอบด้วยสุญญตา ดังนี้แล.
               แต่ในที่นี้ ได้ฐานะคือลัทธิอื่น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นธรรมราชา เมื่อทรงติดตามฐานะคือลัทธิอื่น เพื่อทรงแสดงความที่พระสัพพัญญุตญาณยิ่งใหญ่และเพื่อทรงประกอบสุญญตาด้วยพระธรรมเทศนา จึงทรงเริ่มคำถามและตอบอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า สนฺติ ความว่า มีปรากฏเกิดขึ้น.
               บทว่า ภิกฺขเว เป็นคำอาลปนะ.
               บทว่า เอเก ก็คือ บางพวก.
               บทว่า สมณพฺราหฺมณา ความว่า ที่ชื่อว่าสมณะ เพราะความเข้าบวช. ที่ชื่อว่าพราหมณ์ โดยกำเนิด. อีกอย่างหนึ่ง โลกสมมติอย่างนี้ว่า สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง.
               สมณพราหมณ์ ชื่อว่า ปุพฺพนฺตกปฺปิกา เพราะกำหนด คือแยกขันธ์ส่วนอดีตแล้วยึดถือ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปุพฺพนฺตกปฺปิกา เพราะการกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีอยู่แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               ศัพท์ว่า อนฺโต นี้ในพระบาลีนั้น ใช้ในอรรถ คือลำไส้ใหญ่ ภายใน ขอบเขต เลว สุด ส่วน.
               จริงอยู่ อนฺต ศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ลำไส้ใหญ่ เช่นในประโยคมีอาทิว่า อนฺตปูโร อุทรปูโร เต็มไส้ เต็มท้อง.๑-
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๑๒

               ใช้ในอรรถว่า ภายใน เช่นในประโยคมีอาทิว่า
                                   จรนฺติ โลเก ปริวารฉนฺนา
                                   อนฺโต อสุทฺธา พหิ โสภมานา

                         คนผู้ไม่สำรวม ภายในไม่บริสุทธิ์
                         งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร
                         เที่ยวไปในโลก.
๒-
____________________________
๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๕๘

               ใช้ในอรรถว่า ขอบเขต เช่นในประโยคมีอาทิว่า
               กายพนฺธนสฺส อนฺโต ชิรติ๓- สา หริตนฺตํ วา ปถนฺตํ วา๔-

               ขอบประคดเอวเก่า๓- ไฟนั้นมาถึงเขตของเขียวก็ดี เขตทางก็ดี.๔-
____________________________
๓- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๑๖๔   ๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๔๔

               ใช้ในอรรถว่า เลว เช่นในประโยคมีอาทิว่า๕-
               อนฺตมิทํ ภิกฺขเว ชีวิกานํ ยทิทํ ปิณฺโฑลฺยํ

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาการเลี้ยงชีพทั้งหลาย การเลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนี้เลว.
____________________________
๕- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๖๗

               ใช้ในอรรถว่า สุด เช่นในประโยคมีอาทิว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส นี้แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์.๖-
               จริงอยู่ ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งปวงเป็นส่วนสุด ท่านเรียกว่า ที่สุดแห่งทุกข์.
               ใช้ในอรรถว่า ส่วนอื่น เช่นในประโยคมีอาทิว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส นี่เป็นส่วนอื่นของทุกข์. อนึ่ง ส่วนอื่นของทุกข์ที่นับว่าเป็นปัจจัยทุกอย่างเรียกว่า ส่วนสุด.
____________________________
๖- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๘๕   สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๑๙๕

               ใช้ในอรรถว่า ส่วนเช่นในประโยคมีอาทิว่า๘-
                         สกฺกาโย โข อาวุโส เอโก อนฺโต
                         ดูก่อนอาวุโส สักกายะแล เป็นส่วนหนึ่ง.
____________________________
๘- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๓๒

               แม้ในที่นี้ อนฺต ศัพท์ นี้นั้น ก็เป็นไปในอรรถว่า ส่วน.
               แม้ กปฺป ศัพท์ ก็เป็นไปในอรรถหลายอย่าง เช่น อายุกัป เลสกัป และวินัยกัป เป็นต้น อย่างนี้ว่า ติฎฺฐตุ ภนฺเต ภควา กปฺปํ๙- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปเถิด อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุํ๑๐- มีเลสเพื่อจะนอน กปฺปกเตน อกปฺปกตํ สํสิพฺพิตํ โหติ๑๑- จีวรที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายไว้ เย็บกับจีวรที่ทำเครื่องหมายไว้แล้ว.
               ในที่นี้พึงทราบว่า เป็นไปในอรรถว่า กปฺโป กัปปะ มี ๒ อย่าง คือ ตัณหากัปปะ ข้อกำหนดคือตัณหา และทิฏฐิกัปปะ ข้อกำหนดคือทิฏฐิ ฉะนั้น พึงทราบความในคำว่า ปุพฺพนฺตกปฺปิกา นี้อย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตโดยเป็นตัณหาและทิฏฐิ ตั้งอยู่แล้ว เหตุนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ปุพฺพนฺตกปฺปิกา ผู้กำหนดขันธ์ส่วนอดีต.
____________________________
๙- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๙๔   ๑๐- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๘๕
๑๑- วิ. มหาวิ. เล่ม ๒/ข้อ ๖๒๒

               ที่ชื่อว่า ปุพฺพนฺตานุทิฎฺฐิโน เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ผู้กำหนดขันธ์ส่วนอดีตตั้งอยู่อย่างนี้ มีความเห็นไปตามขันธ์ส่วนอดีตนั่นเอง โดยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ. สมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ เมื่อมาปรารภอาศัย อ้างอิงขันธ์ส่วนอดีตนั้น ทำแม้คนอื่นให้เห็นไปด้วยกล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายอย่าง ด้วยเหตุ ๑๘ ประการ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า อเนกวิหิตานิ ได้แก่ หลายอย่าง.
               บทว่า อธิมุตฺติปทานิ ได้แก่ บทที่เป็นชื่อ.
               อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิ เรียกว่า อธิมุตติ เพราะเป็นไปครอบงำ. อรรถที่เป็นจริง ไม่ถือเอาตามสภาวะที่เป็นจริง. บทแห่งอธิมุตติทั้งหลาย ชื่อว่า อธิมุตติปทานิ ได้แก่ คำที่แสดงทิฏฐิ.
               บทว่า อฎฺฐารสหิ วตฺถูหิ ได้แก่ โดยเหตุ ๑๘ ประการ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำมีอาทิว่า สนฺติ ภิกฺขเว เพื่อตรัสถามโดยนัยมีอาทิว่า เต จ โภนฺโต แล้วจำแนกแสดงวัตถุเหล่านั้น เพื่อประสงค์จะแสดงวัตถุ ๑๘ ที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวย้ำ.
               ในพระบาลีนั้น ที่ชื่อว่าวาทะ เพราะเป็นเครื่องกล่าว. คำว่า วาทะ นี้เป็นชื่อแห่งทิฏฐิ.
               ที่ชื่อว่า สัสสตวาทะ เพราะมีวาทะว่าเที่ยง. อธิบายว่า เป็นพวกมีความเห็นว่าเที่ยง.
               แม้บทอื่นๆ นอกจากนี้ที่มีรูปอย่างนี้ ก็พึงทราบความโดยนัยนี้แหละ.
               คำว่า สสฺสตํ อตฺตานญฺจ โลกญฺจ ความว่า ยึดขันธ์มีรูปเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เป็นอัตตาและว่าเป็นโลก แล้วบัญญัติอัตตาและโลกนั้นว่ายั่งยืน ไม่ตาย เที่ยง มั่นคง ดังที่ตรัสไว้ว่า บัญญัติรูปว่าเป็นอัตตาและโลก บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง. อนึ่ง บัญญัติเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตาและโลก บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง.
               ในคำมีอาทิว่า อาตปฺปมนฺวาย มีอธิบายว่า ความเพียรชื่อว่าอาตัปปะ โดยภาวะที่ยังกิเลสให้เร่าร้อน ความเพียรนั้นแหละ ชื่อว่าปธานะ โดยเป็นความตั้งมั่น ชื่อว่าอนุโยคะ โดยที่ประกอบอยู่บ่อยๆ. ความว่า เป็นไปตาม คืออาศัย คือพึ่งพิงความเพียรทั้ง ๓ ประเภท ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ความไม่อยู่ปราศแห่งสติ เรียกว่า ความไม่ประมาท
               บทว่า สมฺมามนสิกาโร มีอธิบายว่า มนสิการโดยอุบาย คือมนสิการครั้งแรก โดยความได้แก่ปัญญา.
               ก็ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณสำเร็จแก่ผู้ที่ตั้งอยู่ในมนสิการใด มนสิการนี้ท่านประสงค์เอาว่ามนสิการ ในที่นี้. ฉะนั้น ในพระบาลีนั้นจึงมีความย่อดังนี้ว่า อาศัยความเพียร สติ และปัญญา.
               บทว่า ตถารูปํ ความว่า มีชาติอย่างนั้น.
               บทว่า เจโตสมาธึ ความว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต.
               บทว่า ผุสติ ความว่า ประสบ คือได้เฉพาะ.
               ข้อว่า ยถา สมาหิเต จิตฺเต ความว่า สมาธิซึ่งเป็นเหตุตั้งจิตไว้ชอบ คือตั้งไว้ด้วยดี.
               ความแห่งบทว่า อเนกวิหิตํ ปุพฺเพนิวาสํ เป็นต้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               คำว่า โส เอวมาห ความว่า เขาเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพแห่งฌานอย่างนี้ มีทิฏฐิจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า วญฺโฌ ความว่า ไม่มีผล คือไม่ให้กำเนิดแก่ใครๆ ดุจสัตว์เลี้ยงเป็นหมันและตาลเป็นหมันเป็นต้น ฉะนั้น ด้วยบทว่า วญฺโฌ นี้ เขาจึงปฏิเสธภาวะที่จะให้กำเนิดรูปเป็นต้นแห่งคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น ที่ยึดถือว่าเป็นอัตตาและเป็นโลก.
               ที่ชื่อว่า กูฏฎฺโฐ เพราะตั้งมั่นดุจยอดภูเขา.
               ข้อว่า เอสิกฎฺฐายี ฐิโต ความว่า ตั้งมั่นเป็นเหมือนเสาระเนียดที่ตั้งอยู่ เหตุนั้นจึงชื่อว่า เอสิกฎฺฐายิฎฺฐิโต. อธิบายว่า เสาระเนียดที่ฝังแน่นย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นไหวฉันใด อัตตาและโลกก็ตั้งมั่นเหมือนฉันนั้น. ด้วยบททั้งสอง ย่อมแสดงว่าโลกไม่พินาศ. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวเป็นพระบาลีว่า อีสิกฎฺฐายิฎฺฐิโต แล้วกล่าวว่า ตั้งอยู่ดุจไส้หญ้าปล้อง. ในคำของอาจารย์บางพวกนั้น มีอธิบายดังนี้ว่า คำที่กล่าวว่าย่อมเกิดนั้น มีอยู่ ย่อมออกไปดุจไส้ออกจากหญ้าปล้องตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ตั้งอยู่ดุจไส้หญ้าปล้องตั้งอยู่ ฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงแล่นไป คือจากภพนี้ไปในภพอื่น.
               บทว่า สํสรนฺติ ความว่า ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ.
               บทว่า จวนฺติ ความว่า ถึงการนับอย่างนี้.
               บทว่า อุปปชฺชนฺติ ก็เหมือนกัน.
               แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ด้วยการที่ท่านได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่าโลกและอัตตาเที่ยงดังนี้ มาบัดนี้กลับกล่าวว่า ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ดังนี้เป็นต้น สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฏฐินี้ ชื่อว่าย่อมทำลายวาทะของตนด้วยตนเอง ชื่อว่าความเห็นของผู้มีทิฏฐิไม่เนื่องกัน หวั่นไหวเหมือนหลักที่ปักประจำในกองแกลบ และในความเห็นนี้ ย่อมมีทั้งดีทั้งไม่ดี เหมือนชิ้นขนมคูถและโคมัยเป็นต้น ในกระเช้าของคนบ้า.
               บทว่า สสฺสติ ในคำว่า อตฺถิ เตฺวว สสฺสติสมํ นี้มีความว่า ย่อมสำคัญแผ่นดินใหญ่ว่าเที่ยง เพราะมีอยู่เป็นนิจ แม้ภูเขาสิเนรุ พระจันทร์ พระอาทิตย์ ก็สำคัญอย่างนั้น ฉะนั้น เมื่อสำคัญอัตตาเสมอด้วยสิ่งเหล่านั้นจึงกล่าวว่า แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอคงมีอยู่แท้ ดังนี้.
               บัดนี้ สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิ เมื่อจะแสดงเหตุเพื่อให้สำเร็จปฏิญญาว่า อัตตาและโลกเที่ยงดังนี้เป็นต้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้าพเจ้าอาศัยความเพียร ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า อิมินามหํ เอตํ ชานามิ ความว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิย่อมแสดงว่าด้วยการบรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้ดังนี้โดยประจักษ์ มิใช่ข้าพเจ้ากล่าวโดยเพียงความเชื่ออย่างเดียว ดังนี้. ก็ อักษร ในพระบาลีว่า อิมินา มหํ เอตํ ชานามิ นี้ ท่านกล่าวเพื่อทำบทสนธิ.
               คำว่า อิทํ ภิกฺขเว ปฐมํ ความว่า บรรดาฐานะทั้ง ๔ ที่ตรัสไว้ด้วยศัพท์ว่า ด้วยเหตุ ๔ อย่าง นี้เป็นฐานะที่ ๑. อธิบายว่า การระลึกชาติได้เพียงแสนชาติดังนี้ เป็นเหตุที่ ๑.
               แม้ในวาทะทั้ง ๒ ข้างต้นก็นัยนี้แหละ.
               ก็วาระนี้ ตรัสโดยระลึกได้แสนชาติอย่างเดียว. ๒ วาระนอกนี้ตรัสโดยระลึกได้ ๑๐ ถึง ๔๐ สังวัฏฏกัป และวิวัฏฏกัป.
               จริงอยู่ เดียรถีย์ผู้มีปัญญาน้อยระลึกได้ประมาณแสนชาติ ผู้มีปัญญาปานกลางระลึกได้ ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ผู้มีปัญญาหลักแหลมระลึกได้ ๔๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป ไม่เกินกว่านั้น.
               ในวาระที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               สมณะหรือพราหมณ์บางคน ที่ชื่อว่า ตกฺกี เพราะช่างตรึก. อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ตกฺกี เพราะว่า มีความตรึก. คำว่า ตกฺกี นี้เป็นชื่อของคนช่างตรึกตรองแล้ว ยึดถือเป็นทิฏฐิ.
               ที่ชื่อว่า วิมํสี เพราะประกอบด้วยปัญญาพิจารณา. ชื่อว่าการชั่งใจ การชอบใจ การถูกใจด้วยปัญญาพิจารณา. เหมือนอย่างว่า บุรุษใช้ไม้เท้าลองหยั่งน้ำดูแล้วจึงลงฉันใด ผู้ที่ชั่งใจชอบใจ ถูกใจแล้วจึงลงความเห็นนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่า วิมํสี เหมือนฉันนั้น.
               บทว่า ตกฺกปริยาหตํ ความว่า กำหนดเอาด้วยความตรึก. อธิบายว่า ตรึกไปตามทางนั้นๆ.
               บทว่า วิมํสานุจริตํ ความว่า ดำเนินตามปัญญาพิจารณา มีประการที่กล่าวแล้วนั้น.
               บทว่า สยํ ปาฏิภาณํ ความว่า เกิดแต่ปฏิภาณของตนเท่านั้น.
               บทว่า เอวมาห ความว่า ยึดสัสสตทิฏฐิ จึงกล่าวอย่างนี้.
               ในพระบาลีนั้น นักตรึกมี ๔ จำพวก คือ
                         ๑. อนุสฺสติโก นึกตามที่ได้ฟังเรื่องราวมา
                         ๒. ชาติสฺสโร นึกโดยระลึกชาติได้
                         ๓. ลาภี นึกเอาแต่ที่นึกได้
                         ๔. สุทฺธตกฺกิโก นึกเอาลอยๆ.
               ใน ๔ จำพวกนั้น ผู้ใดฟังเรื่องราวมาว่า ได้มีพระราชาพระนามว่าเวสสันดร ดังนี้เป็นต้นแล้วก็นึกเอาว่า ด้วยเหตุนั้นแหละ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าคือพระเวสสันดร อัตตาก็เที่ยงดังนี้ ถือเป็นทิฏฐิ ผู้นี้ชื่อว่านึกตามที่ได้ฟังเรื่องราวมา.
               ผู้ที่ระลึกชาติได้ ๒-๓ ชาติแล้วนึกเอาว่า เมื่อก่อน เรานี่แหละได้มีมาแล้วในที่ชื่อโน้น ฉะนั้น อัตตาจึงเที่ยงดังนี้ ชื่อว่านึกโดยระลึกชาติได้.
               อนึ่ง ผู้ใดนึกเอาว่า อัตตาของเราในบัดนี้ มีความสุขอยู่ฉันใด แม้ในอดีตก็ได้มีความสุขมาแล้ว แม้ในอนาคตก็จักมีความสุขเหมือนฉันนั้น ถือเป็นทิฏฐิโดยที่ได้แก่ตัว ผู้นี้ชื่อว่านึกเอาแต่ที่นึกได้.
               อนึ่ง ผู้ที่ยึดถือโดยเพียงแต่นึกเอาเองเท่านั้นว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่านึกเอาลอยๆ.
               คำว่า เอเตสํ วา อญฺญตเรน ความว่า ด้วยเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง คืออย่างเดียวบ้าง ๒ อย่างบ้าง ๓ อย่างบ้าง.
               คำว่า นตฺถิ อิโต ทหิทฺธา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันลือสีหนาทที่ใครๆ จะคัดค้านไม่ได้ว่า ก็เหตุอื่นแม้สักอย่างนอกจากเหตุเหล่านี้ ไม่มีเพื่อจะบัญญัติว่าเที่ยง.
               คำว่า ตยิทํ ภิกฺขเว ตถาคโต ปชานาติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้นั้น คือทิฏฐิทั้ง ๔ ประการ ตถาคตย่อมรู้โดยประการต่างๆ.
               ลำดับนั้น เมื่อจะทรงแสดงอาการคือการทรงรู้ชัดนั้น จึงตรัสพระบาลีมีอาทิว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่าฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ. อีกอย่างหนึ่ง แม้เหตุแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ก็ชื่อว่าฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหมือนกัน
               ดังที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า๑-
               ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ ๘ อย่างอะไรบ้าง? คือขันธ์บ้าง อวิชชาบ้าง ผัสสะบ้าง สัญญาบ้าง วิตกบ้าง อโยนิโสมนสิการบ้าง ปาปมิตรบ้าง การฟังมาจากคนอื่นบ้าง แต่ละอย่างเป็นฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ขันธ์เป็นเหตุเป็นปัจจัย ด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐานเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ขันธ์บ้างเป็นฐานะ เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิอย่างนี้. อวิชชาเป็นเหตุ ฯลฯ ปาปมิตรเป็นเหตุ ฯลฯ เสียงเล่าลือจากคนอื่นเป็นปัจจัย ด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐานเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐิทั้งหลาย เสียงเล่าลือจากคนอื่นเป็นฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิอย่างนี้.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๐๔

               คำว่า เอวํ คหิตา ความว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเบื้องต้น กล่าวคือทิฏฐิที่บุคคลถือไว้ ยึดไว้ คือเป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเที่ยง.
               คำว่า เอวํ ปรามฎฺฐา ความว่า ยึดไว้บ่อยๆ เพราะความเป็นผู้มีจิตไม่สงสัย ชื่อว่ายึดมั่นแล้ว คือให้สำเร็จว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า. ส่วนฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิ กล่าวคือเหตุ เมื่อถือไว้ด้วยประการใด ย่อมยังทิฏฐิทั้งหลายให้ตั้งขึ้นอันบุคคลถือไว้แล้วด้วยประการนั้น โดยเป็นอารมณ์ โดยเป็นความเป็นไป และโดยการซ่องเสพ ยึดมั่นไว้ ด้วยการถือบ่อยๆ เพราะเห็นว่าไม่มีโทษ.
               คำว่า เอวํ คติกา ความว่า มีนิรยคติ ติรัจฉานคติ และเปตวิสัยคติอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้.
               คำว่า เอวํ อภิสมฺปรายา นี้เป็นไวพจน์ของบทแรกนั่นเอง มีคำอธิบายว่า มีโลกนี้และโลกอื่น อย่างนี้.
               คำว่า ตญฺจ ตถาคโต ปชานาติ ความว่า ใช่ว่าตถาคตจะรู้ชัดเฉพาะทิฏฐิพร้อมทั้งเหตุ พร้อมทั้งคติ แต่อย่างเดียวก็หามิได้ ที่จริงตถาคตย่อมรู้ชัดทั้งหมดนั้น และรู้ชัดซึ่งศีล สมาธิ และพระสัพพัญญุตญาณซึ่งเป็นคุณธรรมยิ่งขึ้นไปกว่านั้น.
               คำว่า ตญฺจ ปชานํ น ปรามสติ ความว่า ก็แม้จะรู้ชุดคุณวิเศษยอดเยี่ยมอย่างนี้นั้น แต่ก็ไม่ยึดมั่นด้วยความยึดมั่น คือตัณหาทิฏฐิมานะว่า เรารู้ชัด.
               คำว่า อปรามสโต จสฺส ปจฺจตฺตญฺเจว นิพฺพุติ วิทิตา ความว่า และเมื่อไม่ยึดมั่นอย่างนี้ ตถาคตก็รู้ความดับสนิทแห่งกิเลส คือความยึดมั่นเหล่านั้นเองทีเดียว ถือด้วยตนนั่นเอง เพราะความไม่ยึดมั่นเป็นปัจจัย. ทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานของตถาคตปรากฏแล้ว.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงข้อปฏิบัติที่พระตถาคตทรงปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้ทรงบรรลุความดับสนิทนั้น พวกเดียรถีย์ยินดีแล้วในเวทนาเหล่าใด ย่อมเข้าไปสู่การยึดถือทิฏฐิว่า เราจักเป็นผู้มีความสุขในที่นี้ เราจักเป็นผู้มีความสุขในธรรมนี้ดังนี้ เมื่อจะตรัสบอกกรรมฐานโดยเวทนาเหล่านั้นแหละ จึงตรัสพระบาลีมีอาทิว่า เวทนานํ สมุทยญฺจ ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า ยถาภูตํ วิทิตฺวา ความว่า เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด ฉะนั้น บุคคลย่อมเห็นความเกิดแห่งเวทนาขันธ์ด้วยอรรถ คือความเกิดแห่งปัจจัย เวทนาเกิดเพราะตัณหาเกิด เพราะกรรมเกิด เพราะผัสสะเกิด แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความบังเกิด ชื่อว่าย่อมเห็นความเกิดแห่งเวทนาขันธ์ รู้ตามเป็นจริงซึ่งความเกิดแห่งเวทนาโดยลักษณะทั้ง ๕ นี้.๒- เพราะอวิชชาดับ เวทนาจึงดับ เพราะตัณหาดับ เพราะกรรมดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ฉะนั้น บุคคลย่อมเห็นความสิ้นไปแห่งเวทนาขันธ์ ด้วยอรรถคือความดับแห่งปัจจัย แม้เมื่อเห็นลักษณะแปรปรวน ชื่อว่าย่อมเห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์ รู้ตามเป็นจริงซึ่งการถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนาทั้งหลายโดยลักษณะทั้ง ๕ นี้๓- อาศัยเวทนาใดเกิดสุข โสมนัส นี้เป็นอัสสาทะแห่งเวทนา รู้ตามเป็นจริงซึ่งอัสสาทะแห่งเวทนาดังนี้ เวทนาไม่เที่ยง รู้ตามเป็นจริง ซึ่งอาทีนพแห่งเวทนาดังกล่าวนี้ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเวทนาใด นี้เป็นเหตุเครื่องออกไปแห่งเวทนา รู้ตามเป็นจริงซึ่งเหตุเครื่องออกไปแห่งเวทนา ดังกล่าวมานี้.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๐๘   ๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๐๙

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะมีฉันทราคะไปปราศแล้ว ตถาคตจึงไม่ยึดถือ จึงหลุดพ้น เมื่อยังมีอุปาทานใดอยู่ บุคคลก็พึงยึดถือธรรมอะไรๆ และขันธ์ก็จะพึงมีเพราะยึดถือไว้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ยึดถือธรรมอะไรๆ เพราะไม่มีอุปาทานนั้นเทียว จึงหลุดพ้นแล้ว ดังนี้.
               คำว่า อิเม โข เต ภิกฺขเว ความว่า ธรรมคือพระสัพพัญญุตญาณเหล่าใดที่ตถาคตได้แสดงไว้แล้วแก่เธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราได้ถามแล้วว่า ก็ธรรมเหล่านี้นั้น ที่ลึกซึ้ง เป็นไฉน?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้นั่นแล และตถาคตย่อมรู้ชัดข้อนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้นด้วยดังนี้ ธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่าลึกซึ้งเห็นได้ยาก ฯลฯ รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งเป็นเหตุให้ปุถุชนและพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่อาจจะกล่าวสรรเสริญตถาคตตามเป็นจริงได้ ที่จริง ตถาคตเท่านั้น เมื่อกล่าวสรรเสริญตามเป็นจริง ก็จะพึงกล่าวได้โดยชอบฉะนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อตรัสอธิบายอย่างนี้ ก็ตรัสถามเฉพาะสัพพัญญุตญาณ แม้เมื่อจะมอบให้ ก็มอบเฉพาะพระสัพพัญญุตญาณนั้น แต่ได้ทรงจำแนกทิฏฐิไว้ในระหว่าง ฉะนี้แล.
               วรรณนาภาณวารที่ ๑ จบ               

               ในพระบาลีนั้น บทว่า เอกจฺจสสฺสติกา ความว่า มีวาทะว่าบางอย่างเที่ยง.
               พวกที่มีวาทะว่าบางอย่างเที่ยง มี ๒ จำพวก คือพวกที่มีวาทะว่าบางอย่างของสัตว์เที่ยง ๑ พวกที่มีวาทะว่าบางอย่างของสังขารเที่ยง ๑. ในที่นี้ท่านถือเอาทั้ง ๒ จำพวกทีเดียว.
               บทว่า ยํ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า กทาจิ ความว่า ในกาลบางคราว.
               บทว่า กรหจิ เป็นไวพจน์ของบทว่า กทาจิ นั้นเอง.
               บทว่า ทีฆสฺส อทฺธุโน ได้แก่แห่งกาลนาน.
               บทว่า อจฺจเยน ได้แก่โดยล่วงไป.
               บทว่า สํวฏฺฏติ ได้แก่ย่อมพินาศ.
               บทว่า เยภุยฺเยน ตรัสหมายเอาสัตว์พวกที่เหลือจากพวกที่บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูง หรือในอรูปพรหม.
               ที่ชื่อว่า สำเร็จทางใจ เพราะบังเกิดด้วยฌานจิต.
               ที่ชื่อว่า มีปีติเป็นภักษา เพราะสัตว์เหล่านั้นมีปีติเป็นภักษา คือเป็นอาหาร.
               ที่ชื่อว่า มีรัศมีในตัวเอง เพราะสัตว์เหล่านั้นมีรัศมีเป็นของตัวเอง.
               ที่ชื่อว่า ผู้เที่ยวไปในอากาศ เพราะเที่ยวไปในอากาศ.
               ที่ชื่อว่า สุภฎฺฐายิโน เพราะอยู่ในสถานที่อันสวยงาม มีอุทยาน วิมาน และต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า สุภฎฺฐายิโน เพราะเป็นผู้สวยงาม คือมีผ้าและอาภรณ์อันน่ารื่นรมย์ใจอยู่.
               บทว่า จีรํ ทีฆมทฺธานํ ความว่า กำหนดอย่างสูงสุดตลอด ๘ กัลป.
               บทว่า วิวฏฺฏติ ได้แก่ ตั้งอยู่ด้วยดี.
               บทว่า สุญฺญํ พฺรหฺมวิมานํ ความว่า ชื่อว่าว่าง เพราะไม่มีสัตว์บังเกิดตามปกติ ภูมิอันเป็นที่สถิตของพวกพรหม ย่อมบังเกิด. ผู้สร้างก็ดี ผู้ใช้ให้สร้างก็ดี ซึ่งวิมานพรหมนั้น ย่อมไม่มี. แต่รัตนภูมิอันมีอุตุเป็นสมุฏฐานย่อมบังเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ตามนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรค. และในรัตนภูมินี้ย่อมบังเกิดอุทยานและต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นในสถานที่สัตว์บังเกิดตามปกตินั่นเอง ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดติดใจในสถานที่อยู่ตามปกติ สัตว์เหล่านั้นเจริญปฐมฌานแล้วลงจากสถานที่อยู่นั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ครั้งนั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อายุกฺขยา วา ปุญฺญกฺขยา วา ความว่า สัตว์เหล่าใดทำบุญกรรมไว้มากแล้วไปบังเกิดในเทวโลกที่มีอายุน้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง สัตว์เหล่านั้นไม่อาจดำรงอยู่ตลอดอายุ ด้วยกำลังบุญของตน แต่จะจุติโดยประมาณอายุของเทวโลกนั้นเอง ฉะนั้น จึงเรียกว่าจุติเพราะสิ้นอายุบ้าง. ส่วนสัตว์เหล่าใดทำบุญกรรมไว้น้อยแล้วไปบังเกิดในเทวโลกที่มีอายุยืน สัตว์เหล่านั้นไม่อาจดำรงอยู่ได้ตลอดอายุ ย่อมจุติเสียในระหว่าง เพราะฉะนั้น เรียกว่าจุติเพราะสิ้นบุญบ้าง.
               บทว่า ทีฆมทฺธานํ ติฎฺฐติ ความว่า ตลอดกัลปหรือกึ่งกัลป.
               บทว่า อนภิรติ ความว่า ปรารถนาให้สัตว์แม้อื่นมา. ก็ความระอาอันประกอบด้วยปฏิฆะ ไม่มีในพรหมโลก.
               บทว่า ปริตสฺสนา ความว่า ความยุ่งยากใจ ความกระสับกระส่าย.
               ก็ความดิ้นรนนี้นั้นมี ๔ อย่างคือ
                         ๑. ตาสตสฺสนา ความดิ้นรนเพราะความสะดุ้ง
                         ๒. ตณฺหาตสฺสนา ความดิ้นรนเพราะตัณหา
                         ๓. ทิฎฺฐิตสฺสนา ความดิ้นรนเพราะทิฏฐิ
                         ๔. ญาณตสฺสนา ความดิ้นรนเพราะญาณ
               ในความดิ้นรน ๔ อย่างนั้น อาศัยชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รู้สึกกลัว รู้สึกน่ากลัว สยอง ขนลุก จิตสะดุ้ง หวาดหวั่น ดังนี้๑- นี้ชื่อว่าความดิ้นรนเพราะความสะดุ้ง.
               ความดิ้นรนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้ ดังนี้๒- นี้ชื่อว่าความดิ้นรนเพราะตัณหา.
               ความสะดุ้ง ความดิ้นรนนั่นแล ดังนี้๓- นี้ชื่อว่าความดิ้นรนเพราะทิฏฐิ.
               ความดิ้นรนว่า แม้คนเหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว โดยมากถึงความกลัวความสังเวชหวาดเสียว๔- ดังนี้ นี้ชื่อว่าความดิ้นรนเพราะญาณ.
               ก็ในที่นี้ ย่อมควรทั้งความดิ้นรนเพราะตัณหา ทั้งความดิ้นรนเพราะทิฏฐิ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๘   ๒- ที. สี.เล่ม ๙/ข้อ ๓๑
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๕๑   ๔- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๕๖

               ก็คำว่า วิมานพรหม ในพระบาลีนี้ มิได้ตรัสว่า ว่างเปล่า เพราะมีสัตว์ผู้บังเกิดอยู่ก่อนแล้ว.
               บทว่า วอุปฺปชฺชนฺติ ความว่า เข้าไปด้วยการอุบัติ.
               บทว่า สหพฺยตํ ความว่า ภาวะร่วมกัน.
               บทว่า อภิภู ความว่า เป็นผู้ข่มว่า เราเป็นผู้เจริญที่สุด.
               บทว่า อนภิภูโต ความว่า คนเหล่าอื่นข่มไม่ได้.
               บทว่า อญฺญทตฺถุํ เป็นนิบาตในอรรถว่า ถ่องแท้.
               ที่ชื่อว่า ทโส โดยการเห็น. อธิบายว่า เราเห็นทุกอย่าง.
               บทว่า วสวตฺตี ความว่า เราทำชนทั้งปวงให้อยู่ในอำนาจ.
               บทว่า อิสฺสโร กตฺตา นิมฺมิตา ความว่า เราเป็นใหญ่ในโลก เราเป็นผู้สร้างโลก และเนรมิตแผ่นดิน ป่าหิมพานต์ ภูเขาสิเนรุ จักรวาล มหาสมุทร พระจันทร์ และพระอาทิตย์.
               บทว่า เสฎฺโฐ สชฺชิตา ความว่า ย่อมสำคัญว่า เราเป็นผู้สูงสุดและเป็นผู้จัดโลก คือเราเป็นผู้จำแนกสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ท่านจงชื่อว่ากษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต โดยที่สุด ท่านจงชื่อว่าอูฐ จงชื่อว่าโค ดังนี้.
               บทว่า วสี ปิตา ภูตภพฺยานํ ความว่า ย่อมสำคัญว่า เราชื่อว่าเป็นผู้มีอำนาจ เพราะเป็นผู้สั่งสมอำนาจไว้ เราเป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เป็นแล้ว และของเหล่าสัตว์ที่กำลังจะเป็น.
               บรรดาเหล่าสัตว์ ๒ ประเภทนี้ เหล่าสัตว์พวกอัณฑชะและชลาพุชะ อยู่ภายในกะเปาะไข่และอยู่ภายในมดลูก ชื่อว่ากำลังจะเป็น ตั้งแต่เวลาที่ออกภายนอกชื่อว่าเป็นแล้ว. เหล่าสัตว์พวกสังเสทชะ ในขณะจิตดวงแรก ชื่อว่ากำลังจะเป็น ตั้งแต่จิตดวงที่ ๒ ไปชื่อว่าเป็นแล้ว. เหล่าสัตว์พวกโอปปาติกะ ในอิริยาบทแรก ชื่อว่ากำลังจะเป็น ตั้งแต่อิริยาบทที่ ๒ ไป พึงทราบว่า ชื่อว่าเป็นแล้ว. ย่อมสำคัญว่า เราเป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เป็นแล้วและของเหล่าสัตว์ที่กำลังจะเป็น ด้วยความสำคัญว่า สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดเป็นบุตรของเรา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะให้เนื้อความสำเร็จโดยการสร้าง จึงทรงทำปฏิญญาว่า สัตว์เหล่านี้ เราเนรมิตแล้ว จึงตรัสพระบาลีมีอาทิว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
               บทว่า อิตฺถตฺตํ ความว่า เป็นอย่างนี้. อธิบายว่า เป็นพรหม.
               บทว่า อิมินา มยํ ความว่า สัตว์เหล่านั้นแม้จุติ แม้อุบัติด้วยกรรมของตนๆ แต่โดยเพียงที่สำคัญไปอย่างเดียวเท่านั้น ก็สำคัญว่า พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญเนรมิตแล้ว ต่างก็พากันน้อมตัวลงไปแทบบาทมูลของพระพรหมนั้นทีเดียว ดุจลิ่มสลักที่คดโดยช่องที่คดฉะนั้น.
               บทว่า วณฺณวนฺตตโร จ ความว่า มีผิวพรรณงามกว่า. อธิบายว่ามีรูปงาม น่าเลื่อมใส.
               บทว่า มเหสกฺขตโร ความว่า มียศใหญ่กว่า ด้วยอิสริยยศ และบริวารยศ.
               บทว่า ฐานํ โข ปเนตํ ความว่า ข้อนี้เป็นเหตุที่จะมีได้. ที่ตรัสดังนี้หมายถึงสัตว์ผู้นั้นว่า สัตว์ผู้นั้นจุติจากชั้นนั้นแล้ว ไม่ไปในโลกอื่น ย่อมมาในโลกนี้เท่านั้น.
               บทว่า อคารสฺมา ได้แก่ จากเรือน.
               บทว่า อนคาริยํ ได้แก่ บรรพชา. จริงอยู่ บรรพชา ท่านเรียกว่า อนคาริยะ เพราะไม่มีการงาน มีการทำนา และเลี้ยงโคเป็นต้นที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรือน.
               บทว่า ปพฺพชติ ได้แก่ เข้าถึง.
               บทว่า ตโต ปรํ นานุสฺสรติ ความว่า ระลึกไม่ได้เกินกว่าขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยนั้น เมื่อไม่อาจระลึกได้ ก็ตั้งอยู่ในขันธ์ที่อาศัยนั้น ยึดถือเป็นทิฏฐิ.
               ในคำว่า นิจฺโจ เป็นต้น ความว่า สัตว์เหล่านั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดของพระพรหมนั้น จึงกล่าวว่ายั่งยืน เมื่อไม่เห็นความตาย จึงกล่าวว่ามั่นคง. เพราะมีอยู่ทุกเมื่อ จึงกล่าวว่า ยั่งยืน. เพราะไม่มีความแปรปรวนแม้โดยชรา จึงกล่าวว่ามีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา.
               คำที่เหลือในวาระนี้ ง่ายทั้งนั้น ดังนี้แล.
               ในวาระที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               พวกเทวดาที่ชื่อว่า ขิฑฑาปโฑสิกะ เพราะเสียหาย คือพินาศด้วยการเล่น. นักเขียนเขียนบาลีเป็นปทูสิกา ก็มี. บาลีว่า ปทูสิกา นั้นไม่มีในอรรถกถา.
               บทว่า อติเวลํ ความว่า เกินกาล คือนานเกินไป.
               บทว่า หสฺสขิฑฺฑารติธมฺมสมาปนฺนา ความว่า หมกมุ่น คือฝักใฝ่อยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือการสรวลเส และความรื่นรมย์คือการเล่นหัว. อธิบายว่า ฝักใฝ่อยู่กับความสุข อันเกิดแต่การเล่นการสรวลเสและความสุข ที่เป็นกีฬาทางกายทางวาจา เป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยความรื่นรมย์มีประการดังกล่าวแล้วอยู่.
               บทว่า สติ ปมุสฺสติ ความว่า ลืมนึกถึงของเคี้ยว และของบริโภค.
               ได้ยินว่า เทวดาพวกขิฑฑาปโทสิกะเหล่านั้นเล่นนักษัตรด้วยสิริสมบัติอันใหญ่ของตนที่ได้มาด้วยบุญวิเศษ เพราะความที่ตนมีสมบัติใหญ่นั้น จึงไม่รู้ว่า เราบริโภคอาหารแล้วหรือยัง ครั้นเลยเวลาอาหารมื้อหนึ่งไป ทั้งเคี้ยวกินทั้งดื่มอยู่ไม่ขาดระยะ ก็จุติทันที ตั้งอยู่ไม่ได้.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมแรง.
               ก็มนุษย์ทั้งหลายมีเตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมอ่อน มีกรัชกายแข็งแรง และเมื่อเตโชธาตุของมนุษย์เหล่านั้นอ่อน กรัชกายแข็งแรง แม้เลยเวลาอาหารไปถึง ๗ วันก็อาจใช้น้ำร้อนและข้าวต้มใสเป็นต้นบำรุงร่างกายได้.
               ส่วนพวกเทวดามีเตโชธาตุแรง กรัชกายอ่อนแอ เทวดาเหล่านั้นเลยเวลาอาหารมื้อเดียวเท่านั้น ก็ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ เหมือนดอกปทุมหรือดอกอุบลที่บุคคลวางไว้บนแผ่นหินอันร้อนในเวลาเที่ยงวันแห่งฤดูร้อน ตกเย็น แม้จะตักน้ำรดตั้งร้อยหม้อก็ไม่เป็นปกติได้ ย่อมพินาศไปถ่ายเดียว ฉันใด เทวดาพวกขิฑฑาปโทสิกะแม้จะเคี้ยว แม้จะดื่มอยู่ไม่ขาดระยะในภายหลัง ก็จุติทันที ตั้งอยู่ไม่ได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะลืมสติ เทวดาเหล่านั้นจึงจุติจากชั้นนั้น ดังนี้.
               ถามว่า ก็เทวดาเหล่านั้น เป็นพวกไหน?
               ตอบว่า ในอรรถกถามิได้มีการวิจารณ์ไว้ว่า เป็นพวกชื่อนี้.
               แต่เพราะได้กล่าวไว้โดยไม่ต่างกันว่า เหล่าเทวดามีเตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมแรง มีกรัชกายอ่อนแอ ดังนี้ เทวดาพวกใดพวกหนึ่งซึ่งอาศัยกวฬิงการาหาร เลี้ยงชีพ ทำอยู่อย่างนี้ เทวดาเหล่านั้นแหละพึงทราบว่า จุติดังนี้. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เทวดาชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตตี คือเทวดาพวกขิฑฑาปโทสิกะนั้น ด้วยว่า เทวดาพวกนี้ ท่านเรียกว่าขิฑฑาปโทสิกะ ด้วยเหตุเพียงเสียเพราะการเล่นเท่านั้น.
               คำที่เหลือในวาระนี้ พึงทราบตามนัยแรกนั่นแล.
               ในวาระที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               พวกเทวดาที่ชื่อว่า มโนปโทสิกะ เพราะถูกใจลงโทษ คือทำให้ฉิบหาย ทำให้พินาศ เทวดาพวกนี้เป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราช.
               ได้ยินว่า บรรดาเทวดาเหล่านั้น เทพบุตรองค์หนึ่งคิดว่าจักเล่นนักษัตร จึงเดินทางไปดว้ยรถพร้อมทั้งบริขาร. ครั้งนั้น เทพบุตรองค์อื่นเมื่อออกไปเห็นเทพบุตรองค์นั้นไปข้างหน้า ก็โกรธกล่าวว่า ช่างกระไร ชาวเราเอ่ย เทพบุตรองค์นี้ช่างตระหนี่ ได้พบผู้หนึ่งราวกะว่าไม่เคยพบ ไปเหมือนกับจะยึดและเหมือนกับจะแตก ด้วยความอิ่มใจ.
               ฝ่ายเทพบุตรองค์ที่ไปข้างหน้า เหลียวกลับมาเห็นเทพบัตรองค์นั้นโกรธ ขึ้นชื่อว่า คนโกรธกัน ย่อมรู้ได้ง่าย จึงรู้ว่า เทพบุตรองค์นั้นโกรธ ก็เลยโกรธตอบว่า ท่านโกรธเรา จักทำอะไรเราได้ สมบัตินี้เราได้มาด้วยอำนาจบุญมีทานศีลเป็นต้น มิใช่ได้มาด้วยอำนาจของท่าน.
               ถ้าเมื่อเทพบุตรองค์หนึ่งโกรธอีกองค์ไม่โกรธก็ยังคุ้มอยู่ได้. แต่เมื่อโกรธทั้ง ๒ ฝ่าย ความโกรธของฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นปัจจัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ความโกรธของฝ่ายแม้นั้นก็เป็นปัจจัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้น ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงจุตินั้นๆ ที่นางสนมกำลังพากันคร่ำครวญอยู่นั่นเอง.
               นี้เป็นเรื่องธรรมดาในการโกรธของพวกเทวดา.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวนั่นแล.
               ในวาระของนักตรึก มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               สมณะหรือพราหมณ์ผู้ตรึกนี้ ย่อมเห็นความแตก ทำลายของจักษุเป็นต้น แต่เพราะเหตุที่จิตดวงแรกๆ พอให้ปัจจัยแก่ดวงหลังๆ จึงดับไปฉะนั้น จึงไม่เห็นความแตกทำลายของจิต ซึ่งแม้จะมีกำลังกว่าการแตกทำลายของจักษุเป็นต้น. สมณะหรือพราหมณ์ผู้ตรึกนั้น เมื่อไม่เห็นความแตกทำลายของจิตนั้น จึงยึดถือว่า เมื่ออัตตภาพนี้แตกทำลายแล้ว จิตย่อมไปในอัตตภาพอื่นเหมือนอย่างนกละต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วไปจับที่ต้นอื่นฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               คำที่เหลือในวาระนี้ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า อนฺตานนฺติกา ความว่า มีวาทะว่า โลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด.
               อธิบายว่า มีวาทะเป็นไปปรารภโลกว่า มีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี บางทีมีที่สุดและไม่มีที่สุด มีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่.
               บทว่า อนฺตสญฺญี โลกสฺมึ วิหรติ ความว่า สมณะหรือพราหมณ์มิได้ขยายปฏิภาคนิมิตไปถึงขอบจักรวาล ยึดถือเอาขอบจักรวาลนั้นว่าเป็นโลก จึงมีความสำคัญในโลกว่า มีที่สุดอยู่. แต่ในกสิณที่ขยายออกไปถึงของจักรวาล มีความสำคัญว่า โลกไม่มีที่สุด.
               อนึ่ง มิได้ขยายไปด้านบนและด้านล่างขยายไปแต่ด้านขวาง จึงมีความสำคัญในโลกว่าด้านบนและด้านล่างมีที่สุด มีความสำคัญในโลกว่าด้านขวางไม่มีที่สุด.
               วาทะของสมณะหรือพราหมณ์พวกตรึก พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               วาทะทั้ง ๔ อย่างนี้จัดเข้าในปุพพันตกัปปิกวาทะ เพราะยึดถือด้วยทิฏฐิตามทำนองที่ตนเคยเห็นแล้วนั่นเอง.

               อมราวิกฺเขปวาทวณฺณนา               
               ที่ชื่อว่า อมรา เพราะไม่ตาย.
               อมรานั้น คือ อะไร?
               คือความเห็นและวาทะของคนผู้เห็นไป ซึ่งเว้นจากความสิ้นสุด โดยนัยมีอาทิว่า ความเห็นของเราอย่างนี้ก็มิใช่ ดังนี้.
               ที่ชื่อว่า วิกฺเขโป เพราะดิ้นไปมีอย่างต่างๆ.
               ที่ชื่อว่า อมราวิกฺเขโป เพราะทิฏฐิและวาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว.
               สมณะหรือพราหมณ์ ชื่อว่า อมราวิกเขปิกะ เพราะมีทิฏฐิและวาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว.
               อีกนัยหนึ่ง ปลาชนิดหนึ่ง ชื่ออมรา แปลว่าปลาไหล. ปลาไหลนั้น เมื่อแล่นไปในน้ำด้วยการผุดขึ้นและดำลงเป็นต้น ใครๆ ไม่อาจจับได้ แม้วาทะนี้ก็เหมือนอย่างนั้น แล่นไปข้างโน้นข้างนี้ ไม่เข้าถึงอาการที่จะจับไว้ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า อมราวิกเขปะ.
               สมณะหรือพราหมณ์ที่ชื่อว่า อมราวิกเขปิกะ เพราะมีทิฏฐิและวาจาดิ้นได้เหมือนปลาไหล.
               บทว่า อิทํ กุสลนฺติ ยถาภูตํ นปฺปชานาติ ความว่า ไม่รู้กุศลกรรมบถ ๑๐ ตามความเป็นจริง. แม้ในฝ่ายอกุศลก็ประสงค์เอาอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นเอง.
               บทว่า โส มมสฺส วิฆาโต ความว่า พึงเป็นความเดือดร้อน คือพึงเป็นความทุกข์แก่เรา เพราะเกิดความร้อนใจว่า เรากล่าวเท็จเสียแล้ว.
               บทว่า โส มมสฺส อนฺตราโย ความว่า ความร้อนใจนั้น พึงเป็นอันตรายแก่สวรรค์และมรรคของเรา.
               บทว่า มุสาวาทภยา มุสาวาทปริเชคุจฺฉา ความว่า เพราะความเกรงกลัว และเพราะความละอายในการพูดเท็จ.
               บทว่า วาจาวิกฺเขปํ อาปชฺชติ ความว่า จึงกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายตัว คือดิ้นไปไม่มีที่สุด.
               ในคำว่า เอวนฺติปิ เม โน ดังนี้เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               คำว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ ดังนี้ เป็นคำดิ้นได้ไม่แน่นอน.
               คำว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนั้นก็มิใช่ ท่านปฏิเสธวาทะว่าเที่ยง ที่กล่าวไว้ว่าอัตตาและโลกเที่ยง
               คำว่า ความเห็นของเราว่า อย่างอื่นก็มิใช่ ท่านปฏิเสธวาทะว่าเที่ยงบางอย่าง ว่าไม่เที่ยงบางอย่าง ที่กล่าวไว้โดยประการอื่นจากความเที่ยง.
               คำว่า ความเห็นของเราว่า ไม่ใช่ก็มิใช่ ท่านปฏิเสธวาทะว่าขาดสูญ ที่กล่าวไว้ว่าเบื้องหน้าแต่ความตาย สัตว์ไม่มี.
               คำว่า เห็นของเรามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ท่านปฏิเสธวาทะของนักตรึก ที่กล่าวไว้ว่า เป็นก็ไม่ใช่ ไม่เป็นก็ไม่ใช่.
               ก็บุคคลผู้มีความเห็นดิ้นได้ไม่ตายตัวนี้ ถูกถามว่า นี้เป็นกุศลหรืออกุศล ย่อมไม่ตอบอะไรๆ หรือถูกถามว่า นี้เป็นกุศลหรือ ก็กล่าวว่าความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่.
               ลำดับนั้น เมื่อเขากล่าวว่าอะไรเป็นกุศล ก็กล่าวว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนั้นก็มิใช่ เมื่อเขากล่าวว่า อย่างอื่นจากทั้ง ๒ อย่างหรือ ก็กล่าวว่า ความเห็นของเราว่า อย่างอื่นก็มิใช่.
               ลำดับนั้น เมื่อเขากล่าวว่า ลัทธิของท่านว่า ไม่ใช่ทั้ง ๓ อย่างหรือ ก็กล่าวว่า ความเห็นของเราว่า ไม่ใช่ก็มิใช่.
               ลำดับนั้น เมื่อเขากล่าวว่า ลัทธิของท่านว่าไม่ใช่ก็มิใช่หรือ ก็กล่าวดิ้นไปอย่างนี้เลยว่า ความเห็นของเราว่า มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ดังนี้ ไม่ตั้งอยู่แม้ในฝ่ายหนึ่ง.
               บทว่า ฉนฺโท วา ราโค วา ความว่า แม้เมื่อไม่ยืนยัน ก็รีบตอบกุศลนั่นแหละว่า เป็นกุศล ตอบอกุศลนั่นแหละว่าเป็นอกุศล แล้วถามบัณฑิตเหล่านอื่นว่า ที่เราตอบคนชื่อโน้นไปอย่างนี้ คำตอบนั้น ตอบดีแล้วหรือ? เมื่อบัณฑิตเหล่านั้นตอบว่า ตอบดีแล้ว พ่อมหาจำเริญ กุศลนั่นแหละท่านตอบว่ากุศล อกุศลนั่นแหละท่านก็ตอบว่าอกุศล ก็จะพึงมีความพอใจบ้าง ความติดใจบ้างในข้อนี้ อย่างนี้ว่า บัณฑิตเช่นกับเราไม่มี.
               ก็ในพระบาลีนี้ ความพอใจ ได้แก่ความติดใจอย่างเพลา. ความติดใจ ได้แก่ความติดใจอย่างแรง.
               บทว่า โทโส วา ปฏิโฆ วา ความว่า แม้ที่เป็นกุศล ก็ตอบว่าเป็นอกุศล หรือที่เป็นอกุศล ก็ตอบว่าเป็นกุศล ดังนี้ แล้วถามบัณฑิตเหล่าอื่น เมื่อบัณฑิตเหล่านั้นตอบว่า ท่านตอบไม่ดี ก็จะพึงมีความเคืองใจบ้าง ความขัดใจบ้างแก่เราในข้อนั้นว่า เรื่องแม้เพียงเท่านี้ เราก็ไม่รู้.
               แม้ในพระบาลีนี้ ความเคืองใจ ได้แก่ความโกรธอย่างเพลา. ความขัดใจ ได้แก่ความโกรธอย่างแรง.
               บทว่า ตํ มมสฺส อุปาทานํ โส มมสฺส วิฆาโต ความว่า ความพอใจและความติดใจทั้ง ๒ นั้นจะพึงเป็นอุปาทานของเรา ความเคืองใจและความขัดใจทั้ง ๒ จะพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา หรือทั้ง ๒ อย่างเป็นอุปาทานด้วยอำนาจความยึดมั่น เป็นความลำบากใจด้วยอำนาจความกระทบ.
               จริงอยู่ ความติดใจย่อมจับอารมณ์ โดยความที่ไม่อยากจะปล่อย เหมือนปลิงเกาะ. ความเคืองใจย่อมจับอารมณ์ โดยความที่อยากจะให้พินาศ เหมือนอสรพิษ และทั้ง ๒ นี้ย่อมทำให้เดือดร้อนด้วยอรรถว่า แผดเผาทั้งนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นอุปาทาน และว่าเป็นความลำบากใจ.
               คำที่เหลือเหมือนกับวาระแรกนั่นแล.
               บทว่า ปณฺฑิตา ความว่า ผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องเป็นบัณฑิต.
               บทว่า นิปฺณา ความว่า ผู้เจริญด้วยปัญญาอันละเอียดสุขุมสามารถแทงตลอดอรรถอันพิเศษซึ่งละเอียดสุขุม.
               บทว่า กตปรปฺปวาทา ความว่า เข้าใจการโต้วาทะและคุ้นเคยการโต้กับฝ่ายอื่น.
               บทว่า วาลเวธิรูปา ความว่า เช่นกับนายขมังธนู ยิงถูกขนทราย.
               บทว่า เต ภินฺทนฺตา มญฺเญ ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเที่ยวไป ราวกับจะทำลายทิฏฐิของคนเหล่าอื่นแม้สุขุม ด้วยกำลังปัญญาของตน ดุจนายขมังธนูยิงถูกขนทรายฉะนั้น.
               บทว่า เต มํ ตตฺถ ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนเราในข้อที่เป็นกุศลและอกุศลนั้นๆ.
               บทว่า สมนุยุญฺเชยฺยุํ ความว่า พึงถามถึงลัทธิว่า ท่านจงกล่าวลัทธิของตนว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล.
               บทว่า สมนุคฺคาเหยฺยุํ ความว่า เมื่อตอบไปว่า เรื่องชื่อนี้เป็นกุศล เป็นอกุศล ก็จะพึงถามถึงเหตุว่า ท่านให้ถือความข้อนี้ด้วยเหตุอะไร.
               บทว่า สมนุภาเสยฺยุํ ความว่า เมื่อตอบไปว่า เรื่องชื่อนี้เป็นกุศล เป็นอกุศล ก็จะพึงถามถึงเหตุว่า ท่านให้ถือความข้อนี้ด้วยเหตุอะไร.
               บทว่า สมนุภาเสยฺยุํ ความว่า เมื่อตอบเหตุไปว่า ด้วยเหตุชื่อนี้ก็จะพึงชี้โทษซักไซ้อย่างนี้ว่า ท่านยังไม่รู้เหตุนี้ ท่านก็จงถือเอาข้อนี้ จงละข้อนี้เสีย.
               บทว่า น สมฺปาเยยฺยุํ ความว่า เราก็จะพึงให้คำตอบเขาไม่ได้ คือไม่อาจจะกล่าวตอบเขาได้.
               บทว่า โส มมสฺส วิฆาโต ความว่า ชื่อว่าแม้จะพูดซ้ำซากก็โต้ตอบเขาไม่ได้นั้น จะพึงเป็นความลำบากใจ คือเป็นทุกข์ เพราะทำให้ริมฝีปาก เพดาน ลิ้นและคอแห้งทีเดียวแก่เรา.
               คำที่เหลือแม้ในวาระที่ ๓ นี้ เหมือนกับวาระแรกนั่นเอง.
               บทว่า มนฺโท ความว่า มีปัญญาอ่อน. คำนี้เป็นชื่อของคนไม่มีปัญญานั่นเอง.
               บทว่า โมมูโห ความว่า เป็นคนมัวเมามากมาย. สัตว์ ท่านประสงค์เอาว่า ตถาคโต ในคำว่า โหติ ตถาคโต เป็นต้น.
               คำที่เหลือในวาระที่ ๔ แม้นี้ง่ายทั้งนั้น.
               อมราวิกเขปิกะทั้ง ๔ แม้เหล่านี้จัดเข้าในปุพพันตกัปปิกวาทะ เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นยึดถือความเห็นตามทำนองแห่งธรรมที่เป็นไปก่อนนั่นเอง.

               อธิจฺจสมุปฺปนฺนวาทวณฺณนา               
               ความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนะ. สมณพราหมณ์ที่ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนิกะ เพราะมีความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ.
               บทว่า อธิจฺจสมุปฺปนฺนํ ความว่า เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ.
               คำว่า อสญฺญีสตฺตา นี้เป็นหัวข้อเทศนา.
               ความว่า มีอัตตภาพสักแต่ว่ารูป เพราะไม่มีจิตเกิดขึ้น.
               พึงทราบความอุบัติของพวกอสัญญีสัตว์เหล่านั้นอย่างนี้.
               ก็บุคคลบางคนบวชในลัทธิเดียรถีย์แล้ว ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้บังเกิด ออกจากฌานแล้ว เห็นโทษในจิตว่า เมื่อมีจิตย่อมมีทุกข์ เพราะถูกตัดมือเป็นต้นและมีภัยทั้งปวง พอกันทีด้วยจิตนี้ ความไม่มีจิตสงบแท้ ครั้นเห็นโทษในจิตอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมถอย ทำกาละแล้วไปบังเกิดในพวกอสัญญีสัตว์ จิตของบุคคลนั้นย่อมกลับมาในโลกนี้ด้วยความดับแห่งจุติจิต. ในพวกอสัญญีสัตว์นั้นปรากฏแต่เพียงรูปขันธ์เท่านั้น.
               ธรรมดาว่า ลูกศรที่ถูกซัดขึ้นไปด้วยกำลังธนูย่อมไปในอากาศเท่ากำลังสายธนูนั้นเองฉันใด อสัญญีสัตว์เหล่านั้นในชั้นอสัญญีสัตว์นั้น ถูกซัดไปด้วยกำลังแห่งฌาน เกิดขึ้นแล้วก็จะดำรงอยู่ได้ตลอดกาลเท่าที่กำลังฌานมีอยู่เท่านั้นฉันนั้นนั่นแล. แต่เมื่อกำลังฌานเสื่อมถอย รูปขันธ์ในชั้นอสัญญีสัตว์นั้นก็จะอันตรธาน. ปฏิสนธิ สัญญาย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ ก็เพราะสัญญาที่เกิดขึ้นในโลกนี้นั้น เป็นเหตุให้ปรากฏการจุติของอสัญญีสัตว์เหล่านั้นในชั้นอสัญญีสัตว์นั้นฉะนั้น จึงตรัสต่อไปว่า ก็และเทวดาเหล่านั้นย่อมจุติจากชั้นนั้น เพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญา.
               บทว่า สนฺตตาย ความว่า เพื่อความสงบ.
               คำที่เหลือในวาระนี้ ง่ายทั้งนั้น.
               แม้วาทะของนักตรึก ก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว ดังนี้แล.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1&Z=1071
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :