ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 9 / 178อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
อัมพัฏฐสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               วิชฺชาจรณกถาวณฺณนา               
               ก็ด้วยคาถานี้ อัมพัฏฐะได้ยินบทนี้ว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ จึงคิดว่า เวทสามชื่อว่าวิชชา ศีลห้าชื่อว่าจรณะ วิชชาและจรณะนี้นี่ของเราเองก็มี หากว่าผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุด ตัวเรานี้ก็นับว่าประเสริฐสุดได้ เขาถึงความตกลงใจแล้ว เมื่อจะทูลถามถึงวิชชาและจรณะ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็จรณะนั้นเป็นไฉน วิชชานั้นเป็นไฉน.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะปฏิเสธวิชชาและจรณะที่ประกอบด้วยวาทะปรารภเชื้อชาติเป็นต้น อันมีอยู่ในลัทธิของพราหมณ์นั้น แล้วทรงแสดงวิชชาและจรณะอันเยี่ยมยอด จึงตรัสพระดำรัสว่า น โข อมฺพฎฺฐ เป็นต้นแก่อัมพัฏฐะนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ชาติวาโท แปลว่า วาทะปรารภเชื้อชาติ. ใจความว่า ได้แก่คำพูดเป็นต้นว่า สิ่งนี้ควรแก่พราหมณ์เท่านั้น หาควรแก่ศูทรไม่. ในที่ทุกแห่งก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ชาติวาทวินิพนฺธา แปลว่า ผู้ยุ่งเกี่ยวในวาทะปรารภเชื้อชาติ. ในที่ทุกแห่งก็มีนัยเช่นนี้เหมือนกัน.
               ลำดับนั้น อัมพัฏฐะคิดว่า เราคิดว่า บัดนี้พวกเราจักติดอยู่ในที่ใด ทีนั้น พระสมณโคดมกลับเหวี่ยงพวกเราไปเสียไกลลิบ เหมือนคนซัดแกลบลงในลมแรง ก็พวกเราไม่ติดอยู่ในที่ใด พระสมณโคดมทรงชักจูงพวกเราไป ณ ที่นั้น การถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะของพวกเรานี้ สมควรจะรู้ไหม แล้วจึงได้ถามถึงวิชชาและจรณะอีก.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อที่จะแสดงวิชชาและจรณะจำเดิมแต่การเกิดขึ้นแก่อัมพัฏฐะนั้น จึงตรัสพระดำรัสว่า อิธ อมฺพฎฺฐ ตถาคโต เป็นต้น.
               ก็ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกศีล ๓ อย่าง แม้ที่นับเนื่องในจรณะ ไม่ตรัสระบุชัดว่า ข้อนี้ก็เป็นจรณะของภิกษุนั้น แต่ตรัสระบุชัดด้วยอำนาจแห่งศีลทีเดียวว่า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของภิกษุนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               เพราะว่า ศีลไรๆ แม้ของภิกษุนั้นก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อตรัสระบุชัดอยู่ด้วยอำนาจแห่งจรณะ ภิกษุพึงติดอยู่ในจรณะนั้นๆ นั่นแหละ ด้วยคิดว่า แม้พวกเราก็ถึงพร้อมด้วยจรณะ แต่จรณะใดอันภิกษุนั้นมิได้เคยเห็นเลย แม้ด้วยความฝัน เมื่อจะตรัสระบุชัดด้วยอำนาจแห่งจรณะนั้นนั่นแหละ จึงตรัสพระดำรัสว่า ภิกษุย่อมเข้าถึงฌานที่ ๑ อยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นจรณะของภิกษุนั้น ฯลฯ ภิกษุย่อมเข้าถึงฌานที่ ๔ อยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นจรณะของภิกษุนั้น เป็นต้น.
               ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าพระองค์ตรัสระบุชัดถึงสมาบัติแม้ทั้ง ๘ ว่าเป็นจรณะ. ส่วนปัญญาแม้ทั้ง ๘ นับแต่วิปัสสนาญาณไป พระองค์ตรัสระบุชัดว่า เป็นวิชชา.

               จตุอปายมุขกถาวณฺณนา               
               บทว่า อปายมุขานิ แปลว่า ปากทางแห่งความพินาศ.
               บทว่า ผู้ยังไม่ตรัสรู้ คือ ยังไม่บรรลุ หรือว่ายังไม่สามารถ. ในบทว่า ถือเอาเครื่องหาบดาบสบริขาร นี้ บริขารของดาบสมีไม้สีไฟ เต้าน้ำ เข็มและแส้หางจามรี เป็นต้น ชื่อว่า ขารี.
               บทว่า วิโธ แปลว่า หาบ. เพราะฉะนั้นจึงมีใจความว่า ถือเอาหาบอันเต็มด้วยบริขารดาบส. แต่อาจารย์ที่กล่าวว่า ขาริวิวิธํ ท่านก็พรรณนาว่า คำว่า ขาริ เป็นชื่อของหาบ
               คำว่า วิวิธํ คือ บริขารมากอย่างมีเต้าน้ำเป็นต้น.
               บทว่า เป็นคนรับใช้ คือ เป็นคนรับใช้ด้วยสามารถกระทำวัตร เช่น ทำกัปปิยะ รับบาตรและล้างเท้าเป็นต้น. สามเณรผู้เป็นพระขีณาสพ แม้มีคุณธรรมสูง ย่อมเป็นผู้รับใช้พระภิกษุผู้ปุถุชน โดยนัยที่กล่าวแล้วโดยแท้ แต่สมณะหรือพราหมณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ยังเป็นผู้ต่ำอยู่ทีเดียว ด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมบ้าง ด้วยอำนาจแห่งการกระทำการรับใช้บ้าง.
               ถามว่า ก็การบวชเป็นดาบส ท่านกล่าวว่า เป็นปากทางแห่งความพินาศของศาสนา เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะศาสนาที่กำลังดำเนินไปๆ ย่อมถอยหลัง ด้วยอำนาจแห่งการบรรพชาเป็นดาบส.
               เป็นความจริง ผู้ที่มีความละอาย ใคร่ในการศึกษา มักรังเกียจผู้ที่บวชในศาสนานี้ แล้วไม่สามารถบำเพ็ญสิกขา ๓ ให้เต็มได้ว่า เราจะไม่มีการกระทำอุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี กับท่าน แล้วหลีกเว้นไปเสีย.
               สมณะหรือพราหมณ์นั้นคิดว่า การบำเพ็ญข้อปฏิบัติให้เต็มบริบูรณ์ในศาสนาทำได้ยาก เปรียบเสมือนคมมีดโกน เป็นทุกข์ แต่การบวชเป็นดาบส ทำได้ง่าย ทั้งชนก็นับถือมากมาย ดังนี้แล้ว จึงสึกออกมาเป็นดาบส.
               คนอื่นๆ เห็นเขาต่างพากันถามว่า ท่านทำอะไรหรือ.
               เขาจึงตอบว่า การงานในศาสนาของพวกท่านหนักมาก แต่พวกเราก็ยังมีปรกติประพฤติด้วยความพอใจในศาสนานี้อยู่. แม้เขาก็คิดว่า ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เราก็จะบวชในศาสนานี้บ้าง ดังนี้แล้ว ศึกษาตามอย่างเขา บวชเป็นดาบส แม้พวกอื่นๆ ก็บวชเป็นดาบสทำนองนี้บ้าง เพราะฉะนั้น พวกดาบสจึงเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ.
               ในกาลที่พวกดาบสเหล่านั้นเกิดขึ้น ศาสนาชื่อว่าจักถอยหลัง. ชื่อว่าพระพุทธเจ้าเห็นปานฉะนี้ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ศาสนาของพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงจักเป็นเพียงเส้นด้ายเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงข้อนี้ จึงตรัสว่า การบวชเป็นดาบสเป็นปากทางแห่งความพินาศของศาสนา.
               บทว่า จอบและตะกร้า ได้แก่ จอบและตะกร้า เพื่อจะเก็บหัวเผือกมัน รากไม้และผลไม้. บทว่า ใกล้บ้านหรือ ใจความว่า ผู้ที่ยังมิได้บรรลุถึงความถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นต้น สำคัญอยู่ว่า การดำเนินชีวิตด้วยกสิกรรมเป็นต้น เป็นของลำบาก ดังนี้ เพื่อจะหลอกลวงให้คนหมู่มากหลงเชื่อ จึงสร้างโรงไฟ ในที่ใกล้หมู่บ้านบ้าง ในที่ใกล้ตำบลบ้าง บำเรอไฟด้วยอำนาจกระทำการบูชาด้วยเนยใส น้ำมัน นมส้ม น้ำผึ้ง งาและข้าวสารเป็นต้น และด้วยไม้นานาชนิดอาศัยอยู่.
               บทว่า สร้างเรือนมี ๔ ประตู ใจความว่า สร้างเรือนน้ำดื่ม มีหน้ามุข ๔ ด้าน สร้างมณฑปไว้ที่ประตู ตั้งน้ำดื่มไว้ในนั้น คอยเชิญให้ผู้ที่มาแล้วๆ ดื่มน้ำ. พวกเดินทางไกล เหน็ดเหนื่อย ดื่มน้ำดื่มแล้วให้สิ่งใดแก่เขา เป็นห่ออาหารที่บริโภคแล้วก็ดี เป็นข้าวสารเป็นต้นก็ดี ก็ถือเอาสิ่งนั้นทุกอย่าง กระทำยาคูเปรี้ยวเป็นต้น แล้วให้ข้าวแก่บางคน ให้ภาชนะเครื่องหุงต้มอาหารแก่บางคน เพื่อจะสงเคราะห์ด้วยอามิสให้มากยิ่งขึ้น. เขาถือเอาอามิสบ้าง บุพพัณชาติและอปรัณชาติเป็นต้นบ้าง ที่พวกเขาเหล่านั้นให้แล้ว เพื่อความเพิ่มพูนก็ใช้ของเหล่านั้นหาประโยชน์ต่อไป. โดยประการนี้ เขาก็มีสมบัติเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ก็ทำการรับโค กระบือ ทาสีและทาสต่อไป เขาก็รวมทรัพย์สินได้มากมาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาพวกนี้ จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า สร้างเรือนมี ๔ ประตูอยู่ ดังนี้.
               ส่วนคำนี้ว่า เราจักบูชาสมณะหรือพราหมณ์นั้นตามความสามารถตามกำลัง ดังนี้ เป็นทางปฏิบัติของเขา. เพราะเขาปฏิบัติอย่างนี้โดยทางนี้.
               ด้วยคำเพียงเท่านี้เป็นอันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นถึงการบวชเป็นดาบสอย่างครบถ้วน.
               ถามว่า ทรงแสดงอย่างไร.
               ตอบว่า ทรงแสดงว่า ดาบสนั้นมี ๘ จำพวก คือ พวกยังมีลูกเมีย ๑ พวกเที่ยวขอเขาเลี้ยงชีพ ๑ พวกอนัคคิปักกิกะ ๑ พวกอสามปากะ ๑ พวกอยมุฏฐิกะ ๑ พวกทันตวักกลิกะ ๑ พวกปวัตตผลโภชนะ ๑ พวกปัณฑุปลาสิกะ ๑.
               บรรดาดาบสเหล่านั้น ดาบสเหล่าใดรวบรวมทรัพย์สมบัติไว้ได้มากแล้วอยู่ ดังเช่นเกณิยชฏิล. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่ามีลูกเมีย.
               ส่วนดาบสเหล่าใดคิดว่า ขึ้นชื่อว่า ความเป็นผู้มีลูกเมีย ไม่สมควรแก่ผู้บวชแล้ว จึงเที่ยวหาเก็บข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วราชมาส และเมล็ดงา เป็นต้น ในที่ที่เขาเกี่ยวและนวด เอามาหุงต้มฉัน. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่าเที่ยวขอเขาเลี้ยงชีพ.
               ส่วนดาบสเหล่าใดคิดว่า ขึ้นชื่อว่าการเที่ยวไปจากลานโน้นสู่ลานนี้ เก็บเอาข้าวเปลือกมาตำกินไม่สมควร ดังนี้แล้ว ยอมรับแต่ภิกษาหารคือข้าวสาร ในหมู่บ้านและตำบลได้แล้ว เอามาหุงต้มฉัน. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่าผู้มิได้หุงต้มด้วยไฟ.
               ส่วนดาบสเหล่าใดคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการหุงต้มเองของผู้บวชแล้ว จึงเข้าไปยังหมู่บ้าน รับเอาเฉพาะแต่ภิกษาหารที่หุงต้มแล้วเท่านั้น. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่า ผู้ไม่หุงต้มเอง.
               ดาบสเหล่าใดคิดว่า ชื่อว่าการแสวงหาภิกษาหารทุกๆ วัน สำหรับผู้บวชแล้วลำบาก จึงเอากำปั้นเหมือนหินทุบเปลือกไม้มีต้นมะม่วงป่าเป็นต้น เคี้ยวกิน. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่าผู้มีกำกั้นเหมือนเหล็ก.
               ส่วนดาบสเหล่าใดคิดว่า ชื่อว่าการเที่ยวเอาหินทุบเปลือกไม้เป็นการลำบาก แล้วใช้ฟันนั่นแหละถอนขึ้นมาเคี้ยวกิน. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่าผู้ใช้ฟันแทะ.
               ดาบสเหล่าใดคิดว่า ชื่อว่าการใช้ฟันแทะเคี้ยวกินสำหรับผู้ที่บวชแล้วลำบาก จึงฉันผลไม้ที่ใช้ก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นปาหล่นลงมา. ดาบสเหล่านั้นชื่อว่าผู้ฉันผลไม้เฉพาะที่หล่นลงมา.
               ส่วนดาบสเหล่าใดคิดว่า ชื่อว่าการใช้ก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ปาผลไม้ให้หล่นลงมาแล้วฉัน ไม่สมควรแก่ผู้บวชแล้ว จึงเคี้ยวกินดอกไม้ ผลไม้ ผลใบไม้แห้งเป็นต้น เฉพาะที่ตกเองแล้วเท่านั้นยังชีพ ดาบสเหล่านั้นชื่อว่าผู้ฉันใบไม้แห้ง.
               ดาบสเหล่านั้นมี ๓ ชั้นด้วยอำนาจพวกชั้นอุกฤษฏ์ ชั้นปานกลาง และชั้นเพลา.
               ใน ๓ ชั้นนั้น ดาบสเหล่าใดไม่ลุกจากที่ที่ตนนั่ง ใช้มือเก็บเอาผลไม้ที่หล่นลงในที่ที่จะเอื้อมถึงได้เท่านั้นแล้ว เคี้ยวกิน ดาบสเหล่านั้นจัดว่าเป็นชั้นอุกฤษฏ์. ดาบสเหล่าใดไม่ยอมไปยังต้นไม้อื่นจากต้นไม้ต้นเดียว ดาบสเหล่านั้นจัดว่าเป็นชั้นกลาง. ดาบสเหล่าใดไปเที่ยวแสวงหายังโคนต้นไม้นั้นๆ มาแล้วเคี้ยวกิน ดาบสเหล่านั้นจัดว่าเป็นชั้นเพลา.
               แต่การบวชเป็นดาบสแม้ทั้ง ๘ อย่างเหล่านี้ก็ย่อลงได้เป็น ๔ อย่างเท่านั้น.
               ถามว่า ย่อลงอย่างไร.
               ตอบว่า ความจริงบรรดาการบวชเป็นดาบสเหล่านี้ การบวชที่ยังมีลูกเมียอยู่ ๑ ที่เที่ยวขอเขาฉัน ๑ รวมเป็นผู้ใช้เรือน. ที่ไม่ใช้ไฟหุงต้ม ๑ ที่ไม่หุงต้มเอง ๑ รวมเป็นผู้ใช้เรือนไฟ. ที่ใช้กำปั้นเหมือนเหล็กทุกเปลือกไม้ฉัน ๑ ที่ใช้ฟันแทะฉัน ๑ รวมเป็นผู้บริโภคเหง้าไม้ รากไม้และผลไม้. ที่ฉันผลไม้หล่นเอง ๑ ที่ฉันใบไม้เหลือง ๑ รวมเป็นผู้บริโภคผลไม้หล่นเอง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดง การบวชเป็นดาบสครบทุกอย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงแสดงว่า อาจารย์และอัมพัฏฐะยังไม่ถึงแม้ปากทางแห่งความเสื่อมแห่งการถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ จึงตรัสพระดำรัสว่า อัมพัฏฐะ เธอสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน ดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นล้วนมีเนื้อความง่ายแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า เป็นผู้ตกไปสู่อบายด้วยตนบำเพ็ญให้สมบูรณ์ ไม่ได้ คือมีตนตกไปสู่อบาย บำเพ็ญให้สมบูรณ์ไม่ได้ ในความถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ. บทว่า ทตฺติกํ แปลว่า ของที่พระราชทาน. บทว่า ไม่พระราชทาน แม้แต่จะให้เฝ้าต่อหน้าพระพักตร์.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่พระราชทาน.
               ตอบว่า ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นรู้มนต์ ชื่อ อาวัฏฏนี (มนต์ที่ดลใจทำให้งงงวย) เฉพาะหน้า. เมื่อใดพระราชาทรงประดับประดาด้วยเครื่องอลังการอันมีค่ามาก เมื่อนั้นเขาก็จะไปยืนในที่ใกล้พระราชา จะเรียกชื่อเครื่องอลังการนั้น. เมื่อเขาเรียกชื่อได้แล้ว พระราชาจะไม่ทรงสามารถตรัสว่า เราไม่ให้แก่พราหมณ์นั้นได้เลย ครั้นพระองค์พระราชทานแล้ว ในวันมีงานมหรสพอีก จึงตรัสว่า พวกท่านจงนำเครื่องอลังการมา เมื่อพวกอำมาตย์กราบทูล ไม่มี พระเจ้าข้า พระองค์พระราชทานแก่พราหมณ์ไปแล้ว จึงตรัสถามว่า เพราะเหตุไร เราจึงให้เขาไป. พวกอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พราหมณ์นั้นรู้กลมายาที่ทำให้งงงวยในที่ซึ่งหน้า เขาทำพระองค์ให้งงงวยด้วยกลมายานั้นแล้ว ก็ถือเอาไป.
               อีกพวกหนึ่ง ทนเห็นพราหมณ์นั้นเป็นพระสหายสนิทกับพระราชาไม่ได้ จึงได้กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ที่ตัวของพราหมณ์นั้นมีโรคเรื้อนชื่อสังขผลิตะ พระองค์พอเห็นพราหมณ์นั้นจะกอดหรือลูบคลำ ธรรมดาว่าโรคเรื้อนนี้ติดกันได้ เพราะอำนาจถูกต้องเนื้อตัวกัน ขอพระองค์อย่าทรงกระทำเช่นนั้น.
               จำเดิมแต่นั้นมา พระราชาจึงไม่พระราชทานให้พราหมณ์นั้นเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์. แต่เพราะเหตุที่พราหมณ์นั้นเป็นบัณฑิต ฉลาดในวิชาการเกษตร ชื่อว่าการงานที่ปรึกษากับเขาแล้วจึงทำ ย่อมไม่ผิดพลาดเลย เพราะฉะนั้น พระราชาจึงทรงยืนอยู่ภายในผ้าม่านที่กั้นไว้ ปรึกษากับเขาผู้ยืนอยู่ข้างนอก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเหตุนั้น จึงตรัสว่า พระราชาทรงปรึกษาทางข้างนอกชายผ้าม่าน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติโรทุสฺสนฺเตน แปลว่า ทางข้างนอกชายผ้าม่าน. อีกประการหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้นี่แหละ.
               บทว่า ชอบธรรม คือไม่มีโทษ. บทว่า ที่เขายกให้ คือที่เขานำมาให้.
               บทว่า กถนฺตสฺส ราชา ความว่า พราหมณ์พึงรับภิกษาหารเช่นนี้ของพระราชาใด พระราชานั้นไม่พึงพระราชทาน แม้การให้เฝ้าต่อพระพักตร์แก่พราหมณ์นั้นอย่างไร. แต่พราหมณ์นี้ถือเอาของที่พระราชามิได้พระราชทานด้วยมายากล เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงไม่พระราชทานให้พราหมณ์นั้นเฝ้าต่อพระพักตร์ พึงถึงความตกลงได้ในข้อนี้ ดังกล่าวมานี้ เป็นอธิบายในบทนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศว่า ชนจักถึงความตกลงได้ว่า ก็ใครๆ คนอื่นหารู้เหตุการณ์นี้ไม่ ยกเว้นพระราชากับพราหมณ์เท่านั้น ข้อนี้นั้นเป็นความลับด้วย ทั้งปกปิดด้วยด้วยประการฉะนี้. พระสมณโคดมผู้สัพพัญญูทรงทราบแน่นอน ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเพิ่มเติมพระธรรมเทศนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อทรงถอนมานะอาศัยมนต์ของคนทั้ง ๒ นั้น เพราะเหตุที่อัมพัฏฐะนี้กับอาจารย์ของเขาเป็นคนเย่อหยิ่ง เพราะอาศัยมนต์ จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูก่อนอัมพัฏฐะ เธอสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน พระราชาในโลกนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า บนเครื่องปูลาดในรถ คือบนที่ที่เขาจัดปูลาดไว้ เพื่อเป็นที่ประทับยืนของพระราชาในรถ.
               บทว่า ผู้ยิ่งใหญ่ คือกับอำมาตย์ชั้นสูงๆ ขึ้นไป. บทว่า กับเชื้อพระวงศ์ คือกับพระกุมารที่ยังมิได้อภิเษก. บทว่า ข้อปรึกษาบางประการ ได้แก่ข้อปรึกษาที่ปรากฏเห็นปานฉะนี้ว่า ควรจะขุดบ่อหรือทำเหมืองในที่โน้น ควรจะสร้างบ้าน นิคม หรือนครไว้ในที่โน้น ดังนี้.
               บทว่า ข้อปรึกษานั้น นั่นแหละ ใจความว่า ข้อราชการใดที่พระราชาทรงปรึกษา พระองค์พึงทรงปรึกษาข้อราชการนั้นด้วยพระอาการมีการทรงยกพระเศียรขึ้น และทรงยักพระภมุกาเป็นต้น ทำนองนั้นเท่านั้น.
               บทว่า ที่พระราชาตรัสแล้ว คือพระราชาตรัสพระราชาดำรัสโดยประการใด พระราชดำรัสนั้นสามารถให้สำเร็จประโยชน์ได้โดยประการนั้น. ใจความว่า แม้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตรัสพระราชดำรัสที่สามารถให้สำเร็จประโยชน์นั้นได้.
               บทว่า ปวตฺตาโร แปลว่า เป็นผู้บอก. บทว่า เหล่าใด คือเป็นสมบัติเก่าแก่ของพราหมณ์เหล่าใด. บทว่า บทแห่งมนต์ คือมนต์ กล่าวคือเวทนั่นเอง.
               บทว่า ขับร้อง คือที่พราหมณ์เก่าแก่ทั้ง ๑๐ มีอัฏฐกพราหมณ์เป็นต้น สาธยายแล้วด้วยอำนาจความถึงพร้อมด้วยเสียง. บทว่า ปวุตฺตํ แปลว่า บอกแก่คนเหล่าอื่น ความว่า กล่าวสอน. บทว่า รวบรวมไว้ คือประมวลไว้ ได้แก่ทำให้เป็นกองไว้ ความว่า รวมเก็บไว้เป็นกลุ่มก้อน. บทว่า ขับตามซึ่งมนต์นั้น ความว่า พราหมณ์ในบัดนี้ ขับตาม คือสาธยายตามซึ่งมนต์นั้นที่พราหมณ์เหล่านั้นขับแล้วในกาลก่อน. บทว่า กล่าวตามซึ่งมนต์นั้น คือว่าตามซึ่งมนต์นั้น. คำนี้เป็นไวพจน์ของคำแรกนั่นเอง.
               บทว่า กล่าวตามซึ่งมนต์ที่พราหมณ์พวกเก่าเหล่านั้นกล่าวไว้ คือสาธยายตามซึ่งมนต์ที่พราหมณ์พวกเก่าเหล่านั้นกล่าวไว้ คือสาธยายแล้ว.
               บทว่า กล่าวสอนตามซึ่งมนต์ที่พวกพราหมณ์เก่ากล่าวสอนไว้แล้ว คือกล่าวสอนตามซึ่งมนต์ที่พราหมณ์เหล่านั้นกล่าวสอนแล้วแก่คนอื่น.
               บทว่า อย่างไรนี่ ความว่า พราหมณ์เหล่านั้นมีใครบ้าง. คำว่า อัฏฐกะ เป็นต้น เป็นชื่อของพราหมณ์เหล่านั้น.
               ได้ยินว่า พราหมณ์เหล่านั้นมองดูด้วยทิพยจักษุ ไม่กระทำการทำร้ายผู้อื่น แต่งมนต์เทียบเคียงกับคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปสัมมาสัมพุทธะ. แต่พวกพราหมณ์นอกนี้ใส่ปาณาติบาตเป็นต้น ลงไปทำลายเวททั้ง ๓ ได้กระทำให้ผิดเพี้ยนกับพระพุทธวจนะ.
               บทว่า นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ คือท่านพึงเป็นฤาษีด้วยเหตุใด เหตุนั้นไม่มี. ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า อัมพัฏฐะนี้แม้อันเราถามอยู่ รู้ว่าตนถูกทับถม จักไม่ให้คำตอบ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงรับเอาคำปฏิญญา ปฏิเสธความเป็นฤาษีนั้น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงความที่อัมพัฏฐะพร้อมทั้งอาจารย์เป็นผู้ห่างไกลจากข้อปฏิบัติของพราหมณ์เหล่านั้น จึงตรัสว่า ดูก่อน อัมพัฏฐะ เธอสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุว่า พราหมณ์รุ่นเก่า ๑๐ คนเหล่านั้นไม่มีกลิ่นของสดคาว ไม่มีกลิ่นผู้หญิง เต็มไปด้วยฝุ่นละอองและขี้ไคล มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามเชิงเขาในราวป่า เมื่อใดปรารถนาจะไป ณ ที่ใด เมื่อนั้นก็เหาะไปได้ทางอากาศทีเดียวด้วยฤทธิ์ พวกเขาไม่มีกิจที่จะต้องใช้ยวดยาน การเจริญพรหมวิหารมีเมตตาเป็นต้นนั่นแหละ เป็นเครื่องคุ้มครองของพวกเขาในทุกสารทิศ พวกเขาไม่ต้องการความคุ้มกัน คือกำแพงและคน และข้อปฏิบัติของพวกพราหมณ์เหล่านั้น อัมพัฏฐะนี้ ก็เคยได้ยินมา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มีกากสีดำอันเลือกทิ้งไป คือ มีกากสีดำอันเลือกแล้ว นำออกทิ้งไป. บทว่า มีสีข้างอันอ่อนโน้มลงด้วยผ้าโพก คือ มีซี่โครง (เรือนร่าง) อันอ่อนช้อยด้วยผ้าโพกมีแผ่นผ้าและช้องผมผ้าเป็นต้น.
               บทว่า มีหางอันตัดแต่งแล้ว คือ มีหางอันตัดแล้ว ในที่ควรตัดแต่ง เพื่อทำให้ดูสวยงาม. อนึ่ง ในคำนี้ แม้รถทั้งหลายท่านก็เรียกว่า รถติดหางลาที่ตัดแล้ว เพราะเหตุที่รถทั้งหลายตัดหางลานั่นเองเทียมด้วยลา.
               บทว่า มีคูล้อมรอบ คือ ขุดคูไว้รอบ.
               บทว่า มีลิ่มอันลงไว้ คือ มีลิ่มอันสลักไว้. การกระทำการโบกปูนไว้เบื้องล่างของกำแพงเมืองโดยรอบ เพื่อป้องกันมิให้พวกศัตรูปืนป่ายขึ้นมาได้ ท่านเรียกว่ากำแพง ในคำว่า กำแพงเมือง แต่เมืองทั้งหลายที่ประกอบด้วยกำแพงเหล่านี้ ท่านประสงค์เอาว่าเป็นกำแพงเมืองในที่นี้.
               บทว่า ให้รักษา คือพวกเขาแม้จะอยู่ในเมืองเช่นนั้นก็ยังให้คนรักษาตน.
               บทว่า ความกังขา คือความสงสัยอย่างนี้ว่า เป็นพระสัพพัญญู หรือมิใช่พระสัพพัญญู. คำว่า วิมติ ก็เป็นไวพจน์ของคำนั้นนั่นเอง. ความคิดเห็นที่ผิดแปลกไป. อธิบายว่า ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความปรากฏขึ้นแห่งมรรค ไม่มีแก่อัมพัฏฐะโดยอัตภาพนี้ วันก็จะล่วงไปเปล่าอย่างเดียว ก็อัมพัฏฐะนี้แลมาเพื่อแสวงหาลักษณะ แม้กิจนั้นก็ยังระลึกไม่ได้ เอาเถอะ เพื่อจะให้เกิดสติ เราจะให้นัยแก่เขา.

               เทฺวลกฺขณทสฺสนวณฺณนา               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ เสด็จไปภายนอก เพราะเหตุว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งปลายประทับนั่งอยู่ก็ดี บรรทมอยู่ก็ดี ใครๆ มิสามารถที่จะแสวงหาลักษณะได้ แต่เมื่อพระองค์ประทับยืนก็ดี เสด็จจงกรมอยู่ก็ดี เขาสามารถ. ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบว่า เขามาเพื่อแสวงหาดูลักษณะแล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะทรงอธิษฐานจงกรม ข้อนี้เป็นอาจิณปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นต้น.
               บทว่า พิจารณาดู คือ เสาะดู ได้แก่พิจารณานับอยู่ ๑-๒.
               บทว่า โดยมาก คือโดยส่วนมาก. อธิบายว่า ได้เห็นแล้วเป็นส่วนมาก ส่วนน้อยมิได้เห็น.
               ต่อจากนั้น เพื่อที่จะแสดงมหาบุรุษลักษณะที่เขามิได้เห็น ท่านจึงกล่าวว่า เว้น ๒ อย่างเท่านั้น.
               บทว่า ยังเคลือบแคลง คือให้เกิดความปรารถนาขึ้นมาว่า โอหนอ เราพึงเห็น ดังนี้. บทว่า ยังสงสัย คือค้นดูมหาบุรุษลักษณะเหล่านั้น จากที่นั้นๆ ได้ลำบาก ได้แก่ไม่สามารถจะมองเห็นได้. บทว่า ยังไม่เชื่อ คือ ถึงการลงความเห็นไม่ได้ เพราะความสงสัยนั้น. บทว่า ไม่เลื่อมใส คือ ถึงความเลื่อมใสไม่ได้ในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ทรงมีพระลักษณะบริบูรณ์ เพราะเหตุนั้น.
               ความสงสัย ท่านกล่าวว่ามีกำลังอ่อนกว่าความเคลือบแคลง ความลังเลใจมีกำลังปานกลาง ความไม่ยอมเชื่อมีกำลังมาก เพราะไม่เลื่อมใส จิตก็จะเศร้าหมองด้วยธรรมทั้ง ๓ เหล่านั้น.
               บทว่า เก็บไว้ในฝัก คือ ปกปิดไว้ด้วยฝักลำไส้.
               บทว่า ปิดบังไว้ด้วยผ้า คือ องคชาต.
               ก็พระองคชาตของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เหมือนกับของช้างตัวประเสริฐ ปกปิดไว้ในฝัก ปิดบังไว้ด้วยผ้า เช่นเดียวกันห้องดอกบัวหลวงทองคำ.
               อัมพัฏฐะมองไม่เห็นพระองคชาตนั้น เพราะผ้าปกปิดไว้ และสังเกตเห็นไม่ได้ ซึ่งพระชิวหาอันกว้างใหญ่ เพราะอยู่ภายในพระโอฐ จึงมีความเคลือบแคลง และลังเลใจ ในพระลักษณะทั้ง ๒ นั้น.
               บทว่า เห็นปานนั้น คือรูปที่แน่นอน ในข้อนี้คนอื่นจะพึงกล่าวอย่างไร.
               ข้อนี้พระนาคเสนเถระถูกพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากหรือ ดังนี้ ได้กล่าวไว้แล้ว.
               พระนาคเสนเถระทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ทรงทำอะไรหรือ.
               พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโอกาสที่มหาชนเขาถือว่าเป็นความอายแก่อันเตวาสิกของพรหมายุพราหมณ์ แก่พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นอันเตวาสิกของพราหมณ์ อุตตระ และของพราหมณ์พาวรี และแก่มาณพ ๓๐๐ คนผู้เป็นอันเตวาสิกของเสลพราหมณ์.
               พระนาคเสนทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแสดงพระคุยหะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระฉายา ทรงบันดาลด้วยพระฤทธิ์ แสดงเพียงพระรูปเป็นเงาๆ ยังทรงนุ่งผ้าสบงอยู่ ยังทรงคาดรัดประคดอยู่ และยังทรงห่มผ้าจีวรอยู่ มหาบพิตร.
               พระเจ้ามิลินท์ เมื่อเห็นพระฉายาแล้วก็เป็นอันเห็นพระคุยหะด้วยใช่ไหม ขอรับ.
               พระนาคเสน ข้อนั้นยกไว้เถิด สัตว์ผู้เห็นหทัยรูปแล้วรู้ได้พึงมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พึงนำพระหทัยมังสะออกมาแสดง.
               พระเจ้ามิลินท์ ท่านนาคเสน ขอรับ ท่านพูดถูกต้องแล้ว.
               บทว่า ทรงแลบ คือ ทรงนำออกมา. บทว่า ทรงสอดกลับไป คือ ทรงกวาดกลับไปกระทำให้เหมือนกับเข็มเย็บผ้ากฐิน. พึงทราบอธิบายว่า ก็ในที่นี้ ท่านแสดงให้เห็นถึงความอ่อนนุ่ม ด้วยการทรงกระทำเช่นนั้น แสดงให้เห็นถึงความยาว ด้วยการสอดเข้าไปในช่องพระกรรณ แสดงให้เห็นถึงความหนาด้วยการปกปิดพระนลาต.
               บทว่า คอยต้อนรับอยู่ คือ รออยู่. ใจความว่า หวังการมาของเขา คอยมองดูอยู่. บทว่า การสนทนาปราศรัย คือ การพูดและการเจรจากัน. ใจความว่า การกล่าวและการกล่าวตอบ.
               บทว่า อโห วต นี้เป็นคำติเตียน. คำว่า เร นี้ เป็นคำร้องเรียกด้วยอำนาจเย้ยหยัน. พราหมณ์โปกขรสาติเกลียดอัมพัฏฐะนั่นแหละ จึงได้กล่าวว่า เจ้าบัณฑิต แม้ใน ๒ บทที่เหลือก็มีนัยอย่างเดียวกันนี้.
               พราหมณ์โปกขรสาติหมายเอาเนื้อความนี้ว่า คนพึงไปสู่นรกได้ เพราะเมื่อมีผู้ประพฤติประโยชน์ คือผู้กระทำประโยชน์อยู่เป็นเช่นเดียวกับท่าน ไม่พึงไปได้เพราะเหตุอื่นดังนี้ จึงได้กล่าวบทนี้ว่า ผู้เจริญ ได้ยินว่า คนพึงไปสู่นรกได้เพราะคนผู้ประพฤติประโยชน์เห็นปานนั้น.
               บทว่า เสียดสี คือ พูดกระทบกระเทียบ.
               บทว่า นำแม้พวกเราเข้าไปเปรียบเทียบอย่างนี้ๆ ความว่า
               พระโคดมตรัสว่า ดูก่อนอัมพัฏฐะ พราหมณ์โปกขรสาติ ดังนี้เป็นต้น ทรงนำพวกเราเข้าไปเปรียบเทียบอย่างนี้ๆ ทรงเปิดเผยเหตุอันปกปิดออกแล้ว ยกเอาความเป็นศูทรและทาสเป็นต้นขึ้นมาตรัส. อธิบายว่า พวกเราก็ถูกท่านให้ด่าด้วย.
               บทว่า ปัดด้วยเท้า คือเอาเท้าปัดให้อัมพัฏฐะล้มลงไปแล้ว.
               ก็ในกาลก่อน อัมพัฏฐะขึ้นรถไปกับอาจารย์ เป็นสารถีขับไปสู่ที่ใด อาจารย์แย่งเอาที่นั้นของเขาไปเสีย ได้ให้เขาเดินไปด้วยเท้าข้างหน้ารถ.

               โปกฺขรสาติพุทฺธูปสงฺกมนวณฺณนา               
               บทว่า ล่วงเลยเวลาวิกาลแล้ว คือเป็นเวลาวิกาลมากแล้ว ได้แก่ไม่มีเวลาที่จะกล่าวสัมโมทนียกถากันแล้ว.
               บทว่า อาคมา นุขฺวิธ โภ แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐะได้มา ณ ที่นี้หรือไม่หนอ. บทว่า อธิวาเสตุ แปลว่า จงทรงรับ. บทว่า สำหรับวันนี้ ใจความว่า เมื่อข้าพระองค์กระทำสักการะในพระองค์ สิ่งใดจักมีในวันนี้ คือบุญด้วย ปีติและปราโมทย์ด้วย เพื่อประโยชน์แก่สิ่งนั้น.
               บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้วโดษดุษณีภาพ ใจความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงให้ส่วนพระวรกายหรือส่วนพระวาจาให้เคลื่อนไหว ทรงดำรงพระขันติไว้ภายในนั่นแหละ ทรงรับนิมนต์แล้วโดยดุษณีภาพ คือทรงรับด้วยพระทัยเพื่อจะทรงอนุเคราะห์พราหมณ์.
               บทว่า ประณีต คือ สูงสุด. บทว่า สหตฺถา แปลว่า ด้วยมือตนเอง. บทว่า ให้อิ่มหนำแล้ว คือให้อิ่มเต็มที่ ได้แก่กระทำให้บริบูรณ์คือเต็มเปี่ยม ได้แก่เต็มอิ่ม.
               บทว่า สมฺปวาเรตฺวา แปลว่า ให้เพียงพอแล้ว คือให้ห้ามด้วยสัญญามือว่า พอแล้ว พอแล้ว. บทว่า ภุตฺตาวึ ผู้ทรงเสวยเสร็จแล้ว. บทว่า โอนีตปตฺตปาณึ แปลว่า มีพระหัตถ์ยกออกแล้วจากบาตร. อธิบายว่า มีพระหัตถ์ชักออกแล้ว. บาลีว่า โอนิตฺตปาณึ ก็มี.
               คำนี้อธิบายว่า ทรงวางบาตรที่ทรงชักพระหัตถ์ออกแล้ว คือเว้นอาหารต่างๆ จากฝ่าพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่า โอนิตฺตปตฺตปาณี.
               อธิบายว่า ผู้ทรงล้างพระหัตถ์และบาตรแล้ว ทรงวางบาตรไว้ ณ ที่ข้างหนึ่ง ประทับนั่งแล้ว.
               บทว่า นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ใจความว่า ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสวยเสร็จแล้วเช่นนั้น จึงนั่งในที่ว่างข้างหนึ่ง.
               บทว่า อนุปุพฺพิกถํ แปลว่า ถ้อยคำที่ควรกล่าวตามลำดับ.
               ที่ชื่อว่า อนุปุพพิกถา ได้แก่ ถ้อยคำที่แสดงเนื้อความเหล่านี้ คือศีลในลำดับต่อจากทาน สวรรค์ในลำดับต่อจากศีล มรรคในลำดับต่อจากสวรรค์. เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า คือ ทานกถา เป็นต้น.
               บทว่า ต่ำทราม คือ เลวทราม ได้แก่เป็นของลามก.
               บทว่า สามุกฺกํสิกา แปลว่า ที่พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง.
               ความว่า ที่พระองค์ทรงยกขึ้นถือเอาด้วยพระองค์เอง คือที่พระองค์ทรงเล็งเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ. อธิบายว่า เป็นของไม่ทั่วไปแก่ชนเหล่าอื่น.
               ถามว่า ก็พระธรรมเทศนานั้น คืออะไร.
               ตอบว่า คือเทศนาว่าด้วยอริยสัจ. เพราะฉะนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.
               ในบทว่า ธรรมจักษุนี้ ท่านมุ่งหมายเอาโสดาปัตติมรรค. เพื่อที่จะแสดงถึงอาการของการเกิดขึ้นแห่งธรรมจักษุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งสิ้นมีความดับไปเป็นธรรมดา. ก็ธรรมจักษุนั้นกระทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแทงตลอดซึ่งสังขตธรรมทั้งปวงอย่างนี้ด้วยอำนาจแห่งกิจ.

               โปกฺขรสาติอุปาสกตฺตปฏิเวทนากถาวณฺณนา               
               อริยสัจธรรมอันบุคคลนั้นเห็นแล้ว เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้.
               ความสงสัยอันบุคคลนี้ข้ามได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีความสงสัยอันข้ามได้แล้ว. ความไม่แน่ใจของบุคคลนั้นปราศจากไปแล้ว เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีความไม่แน่ใจปราศจากไปแล้ว.
               บทว่า เวสารชฺชปฺปตฺโต แปลว่า ถึงความเป็นผู้กล้าหาญแล้ว.
               ถามว่า ในไหน.
               ตอบว่า ในคำสอนของพระศาสดา. บุคคลอื่นเป็นปัจจัยไม่มีแก่ผู้นี้ คือความเชื่อต่อผู้อื่นไม่เป็นไปในบุคคลนี้ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าไม่มีบุคคลอื่นเป็นปัจจัย.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงปรากฏชัดแล้ว เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น และเพราะมีเนื้อความเข้าใจง่าย.

               อรรถกถาอัมพัฏฐสูตร ในอรรถกถาทีฆนิกาย               
               ชื่อสุมังคลวิลาสินี จบลงแล้วด้วยประการฉะนี้.               
               อัมพัฏฐสูตรที่ ๓ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อัมพัฏฐสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 9 / 178อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1920&Z=2832
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=5643
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=5643
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :