ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สามัญญผลสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๗.

               ในวาทะของครูมักขลิโคสาล มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               คำว่า ปจฺจโย เป็นไวพจน์ของคำว่า เหตุ.
               แม้ด้วยบทว่า ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยทั้ง ๒ เป็นอันครูมักขลิโคสาลปฏิเสธปัจจัยแห่งความเศร้าหมองของกายทุจริตเป็นต้น และปัจจัยแห่งความบริสุทธิ์ของกายสุจริตเป็นต้น ที่มีอยู่นั่นแล.
               บทว่า อตฺตกาเร ความว่า การกระทำของตนเอง สัตว์เหล่านี้ถึงความเป็นเทพก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี การตรัสรู้เป็นพระสาวกก็ดี การตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ความเป็นพระสัพพัญญูก็ดี ด้วยกรรมที่ตนกระทำแล้วอันใด ครูมักขลิโคสาลปฏิเสธกรรมอันนั้น.
               ด้วยบทที่ ๒ (นตฺถิ ปรกาเร) เป็นอันครูมักขลิโคสาลปฏิเสธการกระทำของผู้อื่น คือชนที่เหลือลงเว้นพระมหาสัตว์ อาศัยโอวาทานุศาสนีของผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำของผู้อื่น ตั้งแต่สร้างความโสภาคย์ของมนุษย์จนบรรลุพระอรหัต. คนพาลนี้ชื่อว่าย่อมให้การประหารในชินจักร ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า นตฺถิ ปุริสกาเร ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมถึงสมบัติทั้งหลาย ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยการกระทำของบุรุษใด ครูมักขลิโคสาลปฏิเสธการกระทำของบุรุษแม้นั้น.
               บทว่า นตฺถิ พลํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในกำลังของตนอันใด กระทำความเพียรแล้วถึงสมบัติเหล่านั้น ครูมักขลิโคสาลปฏิเสธกำลังอันนั้น.
               บทว่า นตฺถิ วิริยํ เป็นต้นทั้งหมด เป็นไวพจน์ของบทว่า ปุริสการํ แต่บทเหล่านี้ถือเอาไว้แผนกหนึ่งด้วยสามารถการปฏิเสธคำที่เป็นไปอย่างนี้ว่า นี้เป็นไปด้วยความเพียรของบุรุษ นี้เป็นไปด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ นี้เป็นไปด้วยความบากบั่นของบุรุษ.
               ด้วยบทว่า สพฺเพ สตฺตา ท่านรวมเอา อูฐ โค ลา เป็นต้นไม่เหลือเลย.
               ด้วยบทว่า สพฺเพ ปาณา ท่านกล่าวด้วยคำเป็นต้นว่า ปาณะมีอินทรีย์เดียว ปาณะมี ๒ อินทรีย์.
               ด้วยบทว่า สพฺเพ ภูตา ท่านกล่าวหมายเอาภูตทั้งหลายบรรดาที่เกิดในฟองไข่และเกิดในมดลูก.
               ด้วยบทว่า สพฺเพ ชีวา ท่านกล่าวหมายเอาข้าวสาลี ข้าวเหนียวและข้าวละมานเป็นต้น ก็ในชีวะเหล่านั้น ครูมักขลิโคสาลนั้นเข้าใจว่า ชีวะ โดยที่งอกได้.
               บทว่า อวสา อพลา อวิริยา ความว่า ชีวะเหล่านั้นไม่มีอำนาจหรือกำลังหรือความเพียรของตน.
               ในบทว่า นิยติ สงฺคติ ภาวปริณตา นี้ วินิจฉัยว่า
               นิยติ ได้แก่ เคราะห์.
               สงฺคติ ได้แก่ การไปในภพนั้นๆ ของอภิชาติทั้ง ๖.
               ภาวะ ได้แก่ สภาวะนั่นเอง.
               ความแปรไปตามเคราะห์ ตามความประจวบและตามสภาวะ ถึงความเป็นประการต่างๆ ครูมักขลิโคสาลแสดงว่า ก็ผู้ใดพึงเป็นด้วยประการใด ผู้นั้นย่อมเป็นด้วยประการนั้นแหละ ผู้ใดไม่พึงเป็น ผู้นั้นย่อมไม่เป็น.
               ด้วยบทว่า ฉเสฺววาภิชาตีสุ ครูมักขลิโคสาลแสดงว่า ผู้ตั้งอยู่ในอภิชาติ ๖ นั่นแล ย่อมเสวยสุขและทุกข์ ภูมิที่ให้เกิดสุขเกิดทุกข์แห่งอื่น ไม่มี.
               บทว่า โยนิปฺปมุขสตสหสฺสานิ ความว่า กำเนิดเป็นที่ประธาน คือกำเนิดชั้นสูงสุด ๑,๔๐๖,๖๐๐.
               บทว่า ปญฺจ จ กมฺมุโน สตานิ ได้แก่ กรรม ๕๐๐.
               ครูมักขลิโคสาลแสดงทิฏฐิที่ไร้ประโยชน์ ด้วยเหตุเพียงตรึกอย่างเดียว.
               แม้ในบทว่า ปญฺจ จ กมฺมานิ ตีณิ จ กมฺมานิ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า ปญฺจ จ กมฺมานิ นั้น ท่านกล่าวหมายอินทรีย์ ๕ และกรรม ๓ ท่านกล่าวหมายกายกรรมเป็นต้น.
               ก็ในบทว่า กมฺเม จ อุปฑฺฒกมฺเม จ นี้ ครูมักขลิโคสาลนั้นมีลัทธิว่า กายกรรมและวจีกรรมเป็นกรรม มโนกรรมเป็นครึ่งกรรม.
               บทว่า ทฺวฎฺฐิปฏิปทา ความว่า ครูมักขลิโคสาลกล่าวว่า ปฏิปทา ๖๒.
               บทว่า ทฺวฎฺฐนฺตรกปฺปา ความว่า ในกัปหนึ่งมีอันตรกัป ๖๔. แต่ครูมักขลิโคสาลนี้ไม่รู้อันตรกัปอีก ๒ อันตรกัป จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ฉฬาภิชาติโต ความว่า ครูมักขลิโคสาลกล่าวถึงอภิชาติ ๖ เหล่านี้ คืออภิชาติดำ อภิชาติเขียว อภิชาติแดง อภิชาติเหลือง อภิชาติขาว อภิชาติขาวยิ่ง.
               อภิชาติ ๖ เหล่านั้น พวกฆ่าแพะ พวกฆ่านก พวกฆ่าเนื้อ พวกฆ่าหมู พวกพราน พวกฆ่าปลา พวกโจร พวกฆ่าโจร พวกผู้คุม ก็หรือคนอื่นๆ บางพวกที่มีการงานหนักนี้๑- ครูมักขลิโคสาล เรียกว่าอภิชาติดำ. เขาเรียกภิกษุทั้งหลายว่า อภิชาติเขียว.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นเอาหนามใส่ในปัจจัย ๔ ฉัน. อนึ่ง ครูมักขลิโคสาลเรียกภิกษุทั้งหลายว่า มีความประพฤติดั่งหนาม.๑- นี้แหละเป็นแนวของผู้ที่ครูมักขลิโคสาลกล่าวถึง.
____________________________
๑- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๒๘

               อีกอย่างหนึ่ง ครูมักขลิโคสาลกล่าวว่า บรรพชิตเหล่านั้นชื่อว่าผู้มีความประพฤติดั่งหนาม.
               ครูมักขลิโคสาลกล่าวว่า พวกนิครนถ์ที่มีผ้าผืนเดียว ชื่ออภิชาติแดง. ได้ยินว่า พวกอภิชาติแดงเหล่านี้ขาวกว่า ๒ พวกข้างต้น.
               พวกคฤหัสถ์ที่นุ่งขาว เป็นสาวกของพวกอเจลก เรียกว่าอภิชาติเหลือง.
               ครูมักขลิโคสาลทำผู้ให้ปัจจัยแก่ตนให้เป็นผู้เจริญที่สุดกว่านิครนถ์ทั้งหลายอย่างนี้. เขาเรียกอาชีวกชายและอาชีวกหญิง ว่าอภิชาติขาว. ได้ยินว่า พวกอภิชาติขาวเหล่านั้นขาวกว่า ๔ พวกข้างต้น. ท่านกล่าวว่า นันทะ วัจฉะ กีสะ สังกิจจะ ท่านมักขลิโคสาลเป็นอภิชาติขาวยิ่ง ได้ยินว่า ท่านเหล่านั้นขาวกว่าท่านอื่นๆ ทั้งหมด.
               บทว่า อฎฺฐ ปุริสภูมิโย ความว่า ครูมักขลิโคสาลกล่าวว่า ภูมิ ๘ เหล่านี้ คือ มันทภูมิ ขิฑฑาภูมิ ปทวีมังสภูมิ อุชุคตภูมิ เสขภูมิ สมณภูมิ ชินภูมิ ปันนภูมิ เป็นปุริสภูมิ.
               ในภูมิ ๘ นั้น ตั้งแต่วันคลอดมาใน ๗ วัน สัตว์ทั้งหลายยังมึนงงอยู่ เพราะออกมาจากที่คับแคบ. ครูมักขลิโคสาลเรียกคนภูมินี้ว่า มันทภูมิ.
               ส่วนผู้ที่มาจากทุคคติย่อมร้องไห้ส่งเสียงอยู่เนืองๆ ผู้ที่มาจากสุคติ ระลึกถึงสุคตินั้นเสมอย่อมหัวเราะ นี้ชื่อว่า ขิฑฑาภูมิ.
               เด็กที่จับมือหรือเท้าของมารดาบิดา หรือจับเตียงหรือตั่ง แกว่งเท้าบนพื้น ชื่อว่าปทวีมังสภูมิ.
               เด็กในเวลาที่สามารถเดินได้ ชื่อว่าอุชุคตภูมิ.
               ในเวลาศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชื่อว่าเสขภูมิ.
               ในเวลาออกจากเรือนบวช ชื่อว่าสมณภูมิ.
               ในเวลาที่คบหาอาจารย์แล้วรู้วิชา ชื่อว่าชินภูมิ.
               สมณะผู้ไม่มีรายได้ เรียกว่าปันนภูมิ ดังที่กล่าวไว้ว่า ภิกษุก็ดี พวกปันนกะหรือชินะก็ดี ไม่กล่าวขออะไรๆ.
               บทว่า เอกูนปญฺญาส อาชีวสเต ได้แก่ ความประพฤติของอาชีวก ๔,๙๐๐.
               บทว่า ปริพฺพาชกสเต ได้แก่ ปริพาชกที่บรรพชา ๑๐๐ พวก.
               บทว่า นาควาสสเต ได้แก่ มณฑลของนาค ๑๐๐ มณฑล.
               บทว่า วีเส อินฺทฺริยสเต ได้แก่ อินทรีย์ ๒,๐๐๐.
               บทว่า ตึเส นิริยสเต ได้แก่ นรก ๓,๐๐๐.
               ด้วยบทว่า รโชธาตุโย ท่านกล่าวหมายเอาฐานที่เปรอะเปื้อนธุลี มีหลังมือหลังเท้าเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า สตฺตสญฺญีคพฺภา ท่านกล่าวหมายเอาอูฐ โค ลา แพะ สัตว์เลี้ยง เนื้อ กระบือ.
               ด้วยบทว่า สตฺตอสญฺญีคพฺภา ท่านกล่าวหมายเอาข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้.
               ด้วยบทว่า นิคฺคณฺฐิคพฺภา ท่านกล่าวหมายเอาพืชที่มีท้องเกิดที่ข้อมีอ้อย ไม้ไผ่และไม้อ้อเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า สตฺตเทวา ท่านกล่าวว่า เทวดาจำนวนมาก. แต่ครูมักขลิโคสาลเรียกว่า สัตว์. แม้มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่มีที่สุด ครูมักขลิโคสาลก็เรียกว่า สัตว์.
               ด้วยบทว่า สตฺตปิสาจา ครูมักขลิโคสาลกล่าวว่า พวกสัตว์ใหญ่ๆ ชื่อว่าปิศาจ.
               ด้วยบทว่า สรา ได้แก่สระใหญ่. ครูมักขลิโคสาลกล่าวระบุสระชื่อกัณณมุณฑกะ สระชื่อรถการะ สระชื่ออโนตัตตะ สระชื่อสีหปปาตะ สระชื่อฉัททันต์ สระชื่อมันทากินีและสระชื่อกุณาละ.
               บทว่า ปวุฏา ได้แก่ ปล่อง.
               บทว่า ปปาตา ได้แก่ เหวใหญ่.
               บทว่า ปปาตสตานิ ได้แก่ เหวเล็ก ๑๐๐ เหว.
               บทว่า สุปินา ได้แก่ ฝันใหญ่.
               บทว่า สุปินสตานิ ได้แก่ ฝันเล็ก ๑๐๐ ฝัน.
               บทว่า มหากปฺปิโน ได้แก่ มหากัป.
               ในบทว่า มหากปฺปิโน นั้น ครูมักขลิโคสาลกล่าวว่า ทุกๆ ร้อยปี คนนำน้ำหยาดหนึ่งไปจากสระใหญ่ประมาณเท่านี้ ด้วยปลายหญ้าคา ทำสระน้ำนั้นให้ไม่มีน้ำ ๗ ครั้ง เป็นมหากัปหนึ่ง. มหากัปเห็นปานนี้สิ้นไป ๘ ล้าน ๔ แสนครั้ง ทั้งคนโง่ทั้งคนฉลาดย่อมสิ้นทุกข์ได้. นี้เป็นลัทธิของครูมักขลิโคสาล.
               ได้ยินว่า แม้บัณฑิตก็ไม่อาจบริสุทธิ์ในระหว่างใด. แม้คนพาลก็ไม่เลยกาลนานนั้นไปได้.
               บทว่า สีเลน ได้แก่ ด้วยศีลอเจลกหรือศีลอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า วตฺเตน ได้แก่ ด้วยวัตรเช่นนั้นแหละ.
               บทว่า ตเปน ได้แก่ ด้วยการบำเพ็ญตบะ.
               ผู้ใดบริสุทธิ์กลางคันด้วยสำคัญว่า เราเป็นบัณฑิต ผู้นั้นชื่อว่าบ่มสิ่งซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะสุกได้.
               ผู้ใดล่วงเลยเวลาที่กะไว้ว่าเรายังโง่ไป ผู้นั้นชื่อว่าสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้วทำให้สิ้นสุดได้.
               บทว่า เหวํ นตฺถิ ได้แก่ ไม่มีอย่างนี้. ด้วยว่า ครูมักขลิโคสาลย่อมแสดงทั้ง ๒ อย่างนั้นว่าไม่อาจกระทำได้.
               บทว่า โทณมิเต ได้แก่ เหมือนตวงด้วยทะนาน.
               บทว่า สุขทุกฺเข ได้แก่ สุขและทุกข์.
               บทว่า ปริยนฺตกเต ได้แก่ ทำที่สุดตามกาลมีประมาณดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า นตฺถิ หานวฑฺฒเน ได้แก่ ไม่มีความเสื่อมและความเจริญ. อธิบายว่า สังสารวัฏมิได้เสื่อมสำหรับบัณฑิต มิได้เจริญสำหรับคนพาล.
               บทว่า อุกฺกํสาวกฺกํเส ได้แก่ สูงทั้งต่ำ บทนี้เป็นไวพจน์ของความเสื่อมและความเจริญ.
               บัดนี้ เมื่อจะยังความนั้นให้สำเร็จด้วยอุปมา ครูมักขลิโคสาลจึงกล่าวว่า เสยฺยถาปิ นาม เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า สุตฺตคุเล ได้แก่ กลุ่มด้ายที่เขาม้วนไว้.
               ด้วยบทว่า นิพฺเพฐิยมานเมว ปเลติ ครูมักขลิโคสาลแสดงว่า เลยกาลที่กล่าวแล้ว ไม่มีใครจะไปได้ อุปมาเหมือนคนยืนบนภูเขาหรือยอดไม้ ซัดกลุ่มด้ายให้คลี่ออกไปตามประมาณของด้าย เมื่อด้ายหมดแล้ว ด้ายก็หยุดอยู่ตรงนั้น ไม่ไปอีกฉะนั้น.

               ในวาทะของครูอชิตเกสกัมพล มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ด้วยคำว่า นตฺถิ ทินฺนํ นั้น ครูอชิตเกสกัมพลกล่าวหมายเอาความไร้ผลของทานที่ให้แล้ว.
               การบูชาใหญ่ เรียกว่า ยิฏฐะ.
               บทว่า หุตํ ประสงค์เอาสักการะอย่างเพียงพอ.
               ทั้ง ๒ ข้อนั้น ครูอชิตเกสกัมพลปฏิเสธไปถึงความไร้ผลทีเดียว.
               บทว่า สุกตทุกฺกฏานํ ความว่า กรรมที่ทำดีทำชั่ว ได้แก่กุศล
               ด้วยบทว่า ผลํ วิปาโก ครูอชิตเกสกัมพลกล่าวว่า สิ่งใดที่เรียกกันว่าผลก็ดี ว่าวิบากก็ดี สิ่งนั้นไม่มี.
               บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก ความว่า โลกนี้ไม่มีสำหรับคนที่อยู่โลกอื่น.
               บทว่า นตฺถิ ปรโลโก ความว่า โลกอื่นไม่มีแม้สำหรับคนที่อยู่โลกนี้.
               ครูอชิตเกสกัมพลแสดงว่า สัตว์ทุกจำพวกย่อมขาดสูญในภพนั้นๆ นั่นแหละ.
               ด้วยบทว่า นตฺถิ มาตา นตฺถิ ปิตา ครูอชิตาเกสกัมพลกล่าวหมายถึงความไร้ผลแห่งการปฏิบัติชอบและการปฏิบัติผิดในมารดาบิดาเหล่านั้น.
               ด้วยบทว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา ครูอชิตเกสกัมพลกล่าวว่า ชื่อว่าสัตว์ที่จุติแล้วอุบัติ ไม่มี.
               บทว่า จาตุมฺมหาภูติโก ได้แก่ สำเร็จแต่มหาภูตรูป ๔.
               บทว่า ปฐวี ปฐวีกายํ ได้แก่ ปฐวีธาตุที่เป็นภายในติดตามปฐวีธาตุที่เป็นภายนอก.
               บทว่า อนุเปติ แปลว่า ติดตาม.
               บทว่า อนุปคจฺฉติ เป็นไวพจน์ของบทว่า อนุเปติ นั่นเอง ความว่า อนุคจฺฉติ ดังนี้ก็มี.
               ด้วยบททั้ง ๒ ครูอชิตเกสกัมพลแสดงว่า อุเปติ อุปคจฺฉติ.
               แม้ใน อาโปธาตุ เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖ ย่อมเลื่อนลอยไปสู่อากาศ.
               บทว่า อาสนฺทิปญฺจมา ได้แก่มีเตียงนอนเป็นที่ ๕. อธิบายว่า เตียงและบุรุษ ๔ คนที่ยืนถือขาเตียงทั้ง ๔.
               บทว่า ยาวาฬาหนา ได้แก่ แค่ป่าช้า.
               บทว่า ปทานิ ได้แก่ บทแสดงคุณและโทษที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ผู้นี้เป็นผู้มีศีลอย่างนี้ เป็นผู้ทุศีลอย่างนี้. อีกอย่างหนึ่ง สรีระนั่นเอง ท่านประสงค์เอาเองว่า ปทานิ ในบทว่า ปทานิ นี้.
               บทว่า กาโปตกานิ ได้แก่ เท้าเตียงสีเหมือนนกพิราบ. อธิบายว่า มีสีเหมือนเป็นนกพิราบ.
               บทว่า ภสฺสนฺตา ได้แก่ มีเถ้าเป็นที่สุด.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า หุติโย ได้แก่ ทานที่บุคคลให้แล้วต่างโดยของต้อนรับแขกเป็นต้นอันใด ทานนั้นทั้งหมดย่อมมีเถ้าเป็นที่สุดเท่านั้น ไม่ให้ผลเกินไปกว่านั้น.
               บทว่า ทตฺตุปญฺญตฺตํ ได้แก่ ทานอันคนเซอะ คือมนุษย์โง่ๆ บัญญัติไว้. อธิบายว่า ทานนี้อันคนโง่ก็คือคนไม่มีความรู้บัญญัติไว้ มิใช่บัณฑิตบัญญัติ ครูอชิตเกสกัมพลแสดงว่า คนโง่ให้ทาน คนฉลาดรับทาน.
               บรรดาครูทั้ง ๖ นั้น ปูรณะชี้แจงว่า เมื่อทำบาปก็ไม่เป็นอันทำ ชื่อว่าย่อมปฏิเสธกรรม.
               อชิตะชี้แจงว่า เพราะกายแตก สัตว์ย่อมขาดสูญ ชื่อว่าปฏิเสธวิบาก.
               มักขลิชี้แจงว่า ไม่มีเหตุ ชื่อว่า ปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากทั้ง ๒.
               ในข้อนั้น แม้เมื่อปฏิเสธกรรม ก็ชื่อว่าปฏิเสธวิบากด้วย. แม้เมื่อปฏิเสธวิบาก ก็ชื่อว่าปฏิเสธกรรมด้วย. ดังนั้น เจ้าลัทธิแม้ทั้งหมดนั้นว่าโดยอรรถก็คือปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากของกรรมทั้ง ๒ ย่อมเป็นอเหตุวาทะด้วย เป็นอกิริยวาทะด้วย เป็นนัตถิกวาทะด้วย.
               ก็บุคคลเหล่าใดถือลัทธิของเจ้าลัทธิเหล่านั้น นั่งสาธยายพิจารณา ในที่พักกลางคืนในที่พักกลางวัน บุคคลเหล่านั้นย่อมมีมิจฉาสติจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นว่า ทำบาปไม่เป็นอันทำ เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี สัตว์ตายแล้วขาดสูญดังนี้ ย่อมมีจิตแน่วแน่ ชวนะทั้งหลายย่อมแล่นไป ในปฐมชวนะ ยังพอเยียวยาได้. ในชวนะที่ ๒ เป็นต้นก็เช่นกัน. ครั้นแน่วแน่ในชวนะที่ ๗ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ทรงเยียวยาไม่ได้ มีอันไม่กลับเป็นธรรมดา เช่นภิกษุอริฏฐะ และสามเณรกัณฏกะ.
               ในนิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นั้น บางคนดิ่งลงสู่ทัศนะเดียว บางคน ๒ ทัศนะ บางคน ๓ ทัศนะก็มี เมื่อดิ่งลงไปในทัศนะเดียวก็ดี ใน ๒-๓ ทัศนะก็ดี ย่อมเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ห้ามทางสวรรค์และห้ามทางนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์แม้ในภพที่ติดต่อกันนั้น จะกล่าวไปไยถึงนิพพานเล่า. สัตว์นี้ชื่อว่าเป็นตอวัฏฏะ เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน โดยมากคนมีทิฏฐิเห็นปานนี้ ออกจากภพไม่ได้.
                         เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เห็นประจักษ์หวังความเจริญ
                         พึงเว้นอกัลยาณปุถุชนให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นห่าง
                         งูมีพิษร้ายฉะนั้น.


               ในวาทะของครูปกุทธกัจจายนะ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า อกฏา แปลว่า ไม่มีใครทำ.
               บทว่า อกฏวิธา แปลว่า ไม่มีวิธีที่ใครทำไว้. อธิบายว่า ถึงจะให้ใครๆ ทำว่า จงทำอย่างนี้ ก็ไม่เป็นอันทำ.
               บทว่า อนิมฺมิตา ได้แก่ ไม่มีใครเนรมิตแม้ด้วยฤทธิ์.
               บทว่า อนิมฺมาตา ได้แก่ ไม่มีใครให้เนรมิต.
               อาจารย์บางพวกกล่าวบทว่า อนิมฺมาเปตพฺพา บทนั้นไม่ปรากฏในบาลีและในอรรถกถา.
               ๓ บทมีบทว่า วญฺฌา เป็นต้น มีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               บทว่า น อิญฺชนฺติ ความว่า ไม่หวั่นไหว เพราะตั้งมั่นเหมือนเสาระเนียด.
               บทว่า น วิปริณมนฺติ ได้แก่ ไม่ละปรกติ.
               บทว่า น อญฺญมญฺญํ พฺยาพาเธนฺติ ได้แก่ ไม่กระทบกันและกัน.
               บทว่า นาลํ ได้แก่ ไม่สามารถ.
               ในบทว่า ปฐวีกาโย เป็นต้น กองดินหรือดินรวมกัน ก็คือดินนั่นเอง.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในกายซึ่งมีชีวะเป็นที่ ๗ เหล่านั้น.
               บทว่า สตฺตนฺนํเนว กายานํ ความว่า ศัสตราย่อมเข้าไปตามระหว่าง คือช่องซอกของกายทั้ง ๗ เหมือนอย่างศัสตราที่ฟันลงไปในกองถั่วเขียวเป็นต้น ย่อมเข้าไปตามระหว่างถั่วเขียวเป็นต้นฉะนั้น. ครูปกุทธกัจจายนะแสดงว่า ในสัตวนิกายนั้นมีเพียงสัญญาว่าเราจะปลงสัตว์นี้จากชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น (หาใช่เป็นการปลงชีวิตไม่).

               ในวาทะของนิครนถนาฏบุตร มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า จาตุยามสํวรสํวุโต ความว่า สำรวมทั้ง ๔ ด้าน.
               บทว่า สพฺพวาริวาริโต จ ความว่า เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง. อธิบายว่า เป็นผู้ห้ามน้ำเย็นทั้งหมด.
               ได้ยินว่า ครูนิครนถนาฏบุตรนั้น เข้าใจว่าน้ำเย็นมีสัตว์มีชีวิต ฉะนั้น จึงไม่ใช้น้ำเย็นนั้น.
               บทว่า สพฺพวาริยุตฺโต ได้แก่ ประกอบด้วยเครื่องกั้นบาปทั้งปวง.
               บทว่า สพฺพวาริธุโต ได้แก่ กำจัดบาปด้วยเครื่องกั้นบาปทั้งปวง.
               บทว่า สพฺพวาริผุฏฺโฐ ได้แก่ อันเครื่องกั้นบาปทั้งปวงต้องแล้ว.
               บทว่า คตตฺโต ได้แก่ มีจิตถึงที่สุด.
               บทว่า ยตตฺโต ได้แก่ มีจิตสำรวมแล้ว.
               บทว่า ฐิตตฺโต ได้แก่ มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว.
               ในวาทะของครูนิครนถนาฏบุตรนี้ มีบางอย่างที่เข้ากันกับศาสนาได้บ้าง. แต่เพราะเป็นลัทธิไม่บริสุทธิ์ จึงเกิดเป็นทิฏฐิทั้งหมดเลย.


               สญฺชยเวลฏฺฐปุตฺตวาทวณฺณนา               
               วาทะของครูสญชัยเวลัฏฐบุตร มีนัยดังกล่าวแล้วในอมราวิกเขปวาทะ (ในพรหมชาลสูตร) นั่นแล.

               ปฐมสนฺทิฏฺฐิกสามญฺญผลวณฺณนา               
               บทว่า โสหํ ภนฺเต เป็นต้น ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่ได้สาระในวาทะของเดียรถีย์ทั้งหลาย เหมือนคั้นทรายไม่ได้น้ำมัน จึงขอทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ยถา เต ขเมยฺย ความว่า ตามที่พอพระทัย.
               บทว่า ทาโส ได้แก่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ ทาสที่เป็นเชลยศึก และทาสที่สมัครเป็นทาสเอง อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า กมฺมกาโร ได้แก่ ไม่เกียจคร้านทำการงานเสมอทีเดียว.
               ชื่อว่า ปุพฺพุฎฺฐายี ด้วยอรรถว่า เห็นนายแต่ไกล ลุกขึ้นก่อนทันที.
               ชื่อว่า ปจฺฉานิปาตี ด้วยอรรถว่า ลุกขึ้นอย่างนี้แล้วปูอาสนะให้นาย ทำกิจที่ควรทำมีล้างเท้าเป็นต้น แล้วจึงพักผ่อน คือนอนในภายหลัง.
               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ปุพฺพุฎฺฐายี ด้วยอรรถว่า ลุกขึ้นก่อน เมื่อนายยังไม่ลุกจากที่นอน.
               ชื่อว่า ปจฺฉานิปาตี ด้วยอรรถว่า ทำกิจทั้งปวงตั้งแต่เช้าตรู่จนนายเข้านอนในราตรี ตนจึงพักผ่อน คือนอนในภายหลัง.
               ชื่อว่า กึการปฏิสฺสาวี ด้วยอรรถว่า คอยเฝ้าฟังบัญชาจะโปรดให้ทำอะไรด้วยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจะทำอะไร.
               ชื่อว่า มนาปจารี ด้วยอรรถว่า ทำแต่กิริยาที่น่าพอใจเท่านั้น.
               ชื่อว่า ปิยวาที ด้วยอรรถว่า พูดแต่คำที่น่ารักเท่านั้น.
               ชื่อว่า มุขมุลฺลิโก ด้วยอรรถว่า คอยดูหน้านายที่แจ่มใสร่าเริง.
               บทว่า เทโว มญฺเญ ได้แก่ เหมือนเทวดา.
               บทว่า โส วตสฺสาหํ ปุญฺญานิ กเรยฺยํ ความว่า แม้เรานั้นหนอก็พึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างองค์นี้ ถ้าเราทำบุญทั้งหลาย.
               ปาฐะว่า โส วตสฺสายํ ดังนี้ก็มี ความก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               ด้วยบทว่า ยนฺนูนาหํ แสดงความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราจักให้ทานแม้ตลอดชีวิตเรา ก็ไม่อาจให้แม้เพียงส่วนหนึ่งในร้อยของทานที่พระราชา พระราชทานในวันเดียวได้ จึงทำอุตสาหะในบรรพชา.
               บทว่า กาเยน สํวุโต ได้แก่ สำรวมกาย ปิดประตูมิให้อกุศลเข้าไปได้.
               แม้ใน ๒ บทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า ฆาสจฺฉาทนปรมตาย ความว่า ด้วยความมีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างยิ่ง คืออย่างสูง. อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่การบวชนี้จริงๆ จึงละอเนสนา สันโดษด้วยสัลเลขปฏิบัติอย่างเลิศ
               บทว่า อภิรโต ปวิเวเก ความว่า ยินดีในวิเวก ๓ อย่าง ซึ่งท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า กายวิเวก สำหรับผู้ที่มีกายปลีกออกเพื่อความสงัด ๑ จิตตวิเวก สำหรับผู้ที่ยินดีการออกจากกาม ถึงความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง ๑ อุปธิวิเวก สำหรับบุคคลหมดกิเลส หมดเครื่องปรุงแต่ง ๑. ละความคลุกคลีด้วยหมู่ ปลีกกายอยู่คนเดียว ละความเกลือกกลั้วด้วยกิเลสทางใจ อยู่คนเดียวด้วยอำนาจสมาบัติ ๘ เข้าผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติแล้ว บรรลุพระนิพพานอยู่.
               บทว่า ยคฺเฆ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าเตือน.
               บทว่า อาสเนนปิ นิมนฺเตยฺยาม ความว่า ควรจะจัดอาสนะสำหรับนั่งแล้วกล่าวว่า นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้.
               บทว่า อภินิมนฺตเยฺยามปิ นํ ความว่า ควรจะเชื้อเชิญเขาเข้ามา. ในการนั้น มีการเชื้อเชิญ ๒ อย่าง คือ ด้วยวาจาอย่าง ๑ ด้วยกายอย่าง ๑.
               จริงอยู่ ทายกที่กล่าวว่า ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบ ท่านต้องการสิ่งใดเช่นจีวรเป็นต้น โปรดบอกในขณะที่ท่านต้องการทุกครั้งดังนี้ ชื่อว่าเชื้อเชิญให้มาด้วยวาจา. ส่วนทายกที่สังเกตเห็นว่าจีวรเป็นต้นขาดแคลน จึงถวายจีวรเหล่านั้นด้วยกล่าวว่า โปรดรับจีวรนี้ ดังนี้ ชื่อว่าเชื้อเชิญเข้ามาด้วยกาย.
               ท่านกล่าวว่า อภินิมนฺเตยฺยามปิ นํ หมายเอาการเชื้อเชิญทั้ง ๒ อย่างนั้น.
               ก็ยาเป็นที่สบายแก่คนไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า คิลานเภสชฺชปริกฺขาร ในที่นี้ ก็ความแห่งคำกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า รกฺขาวรณคุตฺตึ ได้แก่ การคุ้มครอง กล่าวคือการรักษาและการป้องกัน.
               ก็การคุ้มครองที่เป็นการรักษาและป้องกันนี้นั้น หาใช่จัดบุรุษถืออาวุธยืนรักษาไว้ จะชื่อว่าคุ้มครองเป็นธรรมไม่ เป็นแต่เพียงจัดการรักษามิให้คนหาฟืนคนเก็บใบไม้เป็นต้น เข้าไปในวิหารในเวลาอันไม่สมควรหรือมิให้พรานเนื้อเป็นต้น จับเนื้อหรือปลาในเขตวิหาร ก็ชื่อว่าคุ้มครองเป็นธรรม.
               ท่านกล่าวว่า ธมฺมิกํ หมายถึง การคุ้มครองเป็นธรรมที่กล่าวแล้วนั้น.
               บทว่า ยทิ เอวํ สนฺเต ความว่า ถ้าเมื่อทาสของพระองค์ได้รับปฏิสันถารมีอภิวาทเป็นต้นจากสำนักของพระองค์เช่นนั้น.
               คำว่า อทฺธา เป็นคำจำกัดความลงไปส่วนเดียว.
               บทว่า ปฐมํ ความว่า เมื่อกล่าวถึงที่ ๑ ย่อมแสดงว่ายังมีที่อื่นๆ ต่อไป. ด้วยบทว่า ปฐมํ นั่นแหละ พระราชาจึงทูลว่า สกฺกา ปน ภนฺเต อญฺญํปิ ดังนี้เป็นต้น.

               ทุติยสนฺทิฏฺฐิกสามญฺญผลวณฺณนา               
               ชื่อว่า ชาวนา ด้วยอรรถว่า ไถนา.
               ชื่อว่า คฤหบดี ด้วยอรรถว่า เป็นใหญ่เฉพาะเรือน คือเป็นหัวหน้าเพียงในเรือนหลังเดียว.
               ชื่อว่า ผู้เสียค่าอากร ด้วยอรรถว่า กระทำค่าอากร กล่าวคือพลีให้.
               ชื่อว่า ผู้เพิ่มพูนพระราชทรัพย์ ด้วยอรรถว่า เพิ่มพูนกองข้าวเปลือกและกองทรัพย์.
               บทว่า อปฺปํ วา ได้แก่ น้อย โดยที่สุดแม้เพียงข้าวสารทะนานหนึ่ง.
               บทว่า โภคกฺขนฺธํ ได้แก่ กองโภคะ.
               บทว่า มหนฺตํ วา ได้แก่ ไพบูลย์.
               เพื่อแสดงว่า ก็การที่จะละโภคะมากไปบวช ทำได้ยากฉันใด โภคะแม้น้อยก็ละไปบวชได้ยากฉันนั้น ท่านจึงกล่าวไว้เสียทั้ง ๒ อย่าง.
               ก็จะวินิจฉัยในวาระแห่งทาส :-
               เพราะเหตุที่ทาสไม่เป็นอิสระแม้แก่ตน จะป่วยกล่าวไปไยถึงโภคะทั้งหลาย ก็ทรัพย์ใดของทาสนั้น ทรัพย์นั้นก็เป็นของนายนั่นเอง ฉะนั้น จึงมิได้ถือว่าเป็นโภคะ.
               เครือญาติก็คือญาตินั่นแหละ.

               ปณีตตรสามญฺญผลวณฺณนา               
               ข้อว่า สกฺกา ปน ภนฺเต อญฺญมฺปิ ทิฎฺเฐว ธมฺเม ความว่า ในที่นี้ พระเจ้าอชาตศัตรูมิได้ทูลว่า เอวเมว.
               หากจะถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร.
               แก้ว่า เพราะถ้าเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทูลว่า เอวเมว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะทรงแสดงสามัญญผลโดยอุปมาทั้งหลายเห็นปานนั้น ตลอดวันแม้ทั้งสิ้นหรือยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอย่างเพียงพอ พระเจ้าอชาตศัตรูจะมัวสดับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ในที่นั้นไม่มีที่สิ้นสุดโดยแท้. แม้ถึงอย่างนั้น เนื้อความก็จักมีอยู่เท่านั้นเอง. พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระดำริดังนี้ เพื่อจะทูลถามให้วิเศษขึ้นไป จึงมิได้ทูลว่า เอวเมว แต่ทูลยิ่งขึ้นไปว่า อภิกฺกนฺตตรํ ปณีตตรํ ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า อภิกฺกนฺตตรํ ได้แก่ ที่น่าพอใจกว่า คือประเสริฐยิ่งกว่า.
               บทว่า ปณีตตรํ ได้แก่ สูงสุดกว่า.
               บทว่า เตนหิ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าส่งเสริม.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงส่งเสริมในการฟัง จึงได้ตรัสกะพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นอย่างนี้.
               บทว่า สุณาหิ ความว่า พระองค์จงฟังสามัญญผลที่ดีกว่าและประณีตกว่า.
               ก็ในบทว่า สาธุกํ มนสิกโรหิ นี้ คำว่า สาธุกํ และ สาธุ นี้มีอรรถอย่างเดียวกัน.
               ก็สาธุศัพท์นี้ แปลได้หลายอย่าง เช่น ขอโอกาส รับคำ ทำให้ร่าเริงดี และทำให้มั่นเป็นต้น.
               ที่แปลว่า ขอโอกาส เช่นในประโยคว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ดังนี้เป็นต้น.๑-
____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๕๙๙

               ที่แปลว่า รับคำ เช่นในประโยคว่า สาธุ ภนฺเตติ โข โส ภิกฺขุ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิตฺวา อนุโมทิตฺวา ภิกษุนั้นรับคำว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น.๒-
               ที่แปลว่า ทำให้ร่าเริง เช่นในประโยคว่า สาธุ สาธุ สารีปุตฺต ดีแล้ว ดีแล้ว สารีบุตร ดังนี้เป็นต้น.๓-
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๒๑   ๓- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๘๕

               ที่แปลว่า ดี เช่นในคาถาเป็นต้นว่า๔-
                         สาธุ ธมฺมรุจี ราชา    สาธุ ปญฺญาณวา นโร
                         สาธุ มิตฺตานมทฺทุพฺโภ    ปาปสฺสากรณํ สุขํ
                         พระราชาใฝ่ธรรม ดี    นระผู้มีปัญญา ดี
                         ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ดี    การไม่ทำบาป ดี.
____________________________
๔- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๕๐

               ที่แปลว่า ทำให้มั่น เช่นในประโยคว่า เตนหิ พฺราหฺมณ สาธุกํ สุณาหิ ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังให้ดี.๕-
____________________________
๕- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๙๕

               สาธุกศัพท์นั่นแหละ บางท่านแปลว่า บังคับ ก็มี.
               แม้ในที่นี้พึงทราบว่า แปลว่าทำให้มั่นนี้แหละด้วย แปลว่าบังคับด้วย. แม้จะแปลว่าดีก็ควร.
               จริงอยู่ โดยแปลว่าทำให้มั่น ย่อมส่องความว่า จงฟังธรรมนี้ให้มั่น ยึดถือไว้อย่างดี.
               โดยแปลว่าบังคับ ย่อมส่องความว่า จงฟังตามบังคับของเรา.
               โดยแปลว่าดี ย่อมส่องความว่า จงฟังธรรมนี้ให้ดี คือให้ได้เนื้อถ้อยกระทงความ.
               บทว่า มนสิกโรหิ ความว่า จงนึกรวบรวม. อธิบายว่า จงมีจิตแน่วแน่เงี่ยโสตตั้งใจ.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สุณาหิ ในพระบาลีนี้ เป็นการห้ามความฟุ้งซ่านแห่งโสตินทรีย์.
               คำว่า สาธุกํ มนสิกโรหิ เป็นการห้ามความฟุ้งซ่านแห่งมนินทรีย์โดยประกอบให้มั่นในมนสิการ.
               แลใน ๒ คำนี้ คำต้นห้ามถือพยัญชนะคลาดเคลื่อน คำหลังห้ามถืออรรถคลาดเคลื่อน.
               แลด้วยคำต้นชักชวนให้ฟังธรรม ด้วยคำหลังชักชวนให้จำและไตร่ตรองธรรมที่ฟังแล้วเป็นต้น.
               แลด้วยคำต้นแสดงว่าธรรมนี้พร้อมพยัญชนะ เพราะฉะนั้นจึงควรฟัง ด้วยคำหลังแสดงว่าธรรมนี้พร้อมอรรถ เพราะฉะนั้นจึงควรใส่ใจไว้ให้ดี.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สาธุกํ พึงประกอบด้วยบททั้ง ๒ (ว่า สาธุกํ สุณาหิ สาธุกํ มนสิกโรหิ).
               บทว่า ภาสิสฺสามิ ความว่า เราจักกล่าวแสดงสามัญญผลที่ได้ปฏิญญาไว้อย่างนี้ว่า อาจ มหาบพิตร ดังนี้ โดยพิสดาร.
               บทว่า เทสิสฺสามิ เป็นการแสดงโดยย่อ.
               บทว่า ภาสิสฺสามิ เป็นการแสดงโดยพิสดาร.
               เพราะเหตุนั้น พระวังคีสเถระจึงกล่าวว่า๖-
                         สงฺขิตฺเตนปิ เทเสติ    วิฏฺฐาเรนปิ ภาสติ
                         สาลิกายิว นิคฺโฆโส    ปฏิภาณํ อุทีรยีติ ฯ
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าเทศนาโดยย่อบ้าง ตรัสโดยพิสดารบ้าง
                         พระสุรเสียงกังวานไพเราะเหมือนเสียงนกสาลิกา พระปฏิภาณก็ไว.
____________________________
๖- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๔๓

               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรเจ้าแผ่นดินมคธก็เกิดพระอุตสาหะรับพร้อมพระพุทธดำรัส. อธิบายว่า รับเฉพาะแล้ว.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้แก่พระเจ้าอชาตศัตรูนั้น. อธิบายว่า ได้ตรัสพระสูตรทั้งสิ้น มีคำว่า อิธ มหาราช เป็นต้น ที่ควรจะตรัสในบัดนี้.
               บทว่า อิธ ในพระบาลีนั้นเป็นนิบาตใช้ในอรรถอ้างถึงท้องถิ่น. อิธศัพท์นี้นั้น บางแห่งท่านกล่าวหมายถึงโลก อย่างที่กล่าวว่า พระตถาคตย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้.๗-
               บางแห่งหมายถึงศาสนา อย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีในศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ ก็มีในศาสนานี้.๘-
____________________________
๗- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๐๐   ๘- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔๑

               บางแห่งหมายถึงโอกาส อย่างที่กล่าวว่า๙-
                         เมื่อเราเป็นเทวดาดำรงอยู่ในโอกาสนี้
                         เราต่ออายุได้อีกจริงๆ จงทราบอย่างนี้เถิด ท่าน.
               บางแห่งเป็นเพียงปทปูรณะเท่านั้น อย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราบริโภคแล้ว ห้ามภัตแล้ว.๑๐-
____________________________
๙- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๖๔   ๑๐- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๒

               ก็ในที่นี้ พึงทราบว่า ตรัสหมายถึงโลก.
               บทว่า มหาราช ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มหาบพิตรอีก เพื่อทรงแสดงเทศนาตามที่ทรงปฏิญญาไว้. คำนี้มีอธิบายว่า ดูก่อนมหาบพิตร ตถาคตย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม.
               ตถาคต ศัพท์ในพระบาลีนั้น ตรัสไว้ในพรหมชาลสูตร. ศัพท์ว่า อรหํ เป็นต้น กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคโดยพิสดาร.
               ก็ในพระบาลีว่า โลเก อุปฺปชฺชติ นี้ คำว่า โลกมี ๓ อย่าง คือ โอกาสโลก สัตวโลก สังขารโลก. แต่ในที่นี้ประสงค์สัตวโลก.
               พระตถาคตแม้เมื่อเกิดในสัตวโลก จะได้เกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกก็หาไม่ ย่อมเกิดในมนุษยโลกเท่านั้น. แม้ในมนุษยโลก ก็ไม่เกิดในจักรวาลอื่น ย่อมเกิดในจักรวาลนี้เท่านั้น. แม้ในจักรวาลนี้นั้น ก็ไม่เกิดในที่ทั่วไป ย่อมเกิดในมัชฌิมประเทศ๑๑- โดยยาว ๓๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๒๕๐ โยชน์ โดยวงรอบ ๙๐๐ โยชน์ ซึ่งท่านกำหนดไว้อย่างนี้ว่า ทิศตะวันออกมีนิคมชื่อชังคละ, ต่อจากนิคมชื่อชังคละนั้น มีนิคมชื่อมหาสาละ, ต่อจากนั้นเป็นปัจจันตชนบท, ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศตะวันออกเฉียงใต้มีแม่น้ำชื่อสัลลวดี, ต่อจากนั้นเป็นปัจจันตชนบท, ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ในทิศใต้มีนิคมชื่อเสตกัณณิกะ, ต่อจากนั้นเป็นปัจจันตชนบท, ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศตะวันตกมีพราหคามชื่อถูนะ, ต่อจากนั้นเป็นปัจจันตชนบท, ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศเหนือมีภูเขาชื่ออุสีรธชะ, ต่อจากนั้นเป็นปัจจันตชนบท, ร่วมในเป็นมัชฌิมชนบท.
____________________________
๑๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๓

               และมิใช่แต่พระตถาคตเท่านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอัครสาวกทั้งหลาย พระอสีติมหาเถระทั้งหลาย พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พระเจ้าจักรพรรดิ พราหมณ์และคฤหบดีที่มีหลักฐานอื่นๆ ย่อมเกิดในมัชฌิมประเทศนี้เท่านั้น.
               ในคำว่า ตถาคโต โลเก อุปฺปชฺชติ นั้น พระตถาคต ตั้งแต่เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายจนถึงอรหัตมรรค ชื่อว่าย่อมอุบัติ. เมื่อบรรลุอรหัตตผล ชื่อว่าอุบัติแล้ว หรือว่าตั้งแต่มหาภิเนษกรมณ์จนถึงอรหัตมรรค หรือว่าตั้งแต่ภพชั้นดุสิตจนถึงอรหัตมรรคหรือว่าตั้งแต่บาทมูลของพระพุทธเจ้าทีปังกร จนถึงอรหัตตมรรค ชื่อว่าย่อมอุบัติ. เมื่อบรรลุอรหัตตผล ชื่อว่าอุบัติแล้ว.
               คำว่า อุปฺปชฺชติ ในพระบาลีนี้ ท่านกล่าวหมายเอาภาวะที่อุบัติแล้วก่อนทั้งหมด.
               ก็ในที่นี้มีเนื้อความดังนี้ว่า พระตถาคตอุบัติแล้วในโลก.
               บทว่า โส อิมํ โลกํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงทำโลกนี้ให้แจ้ง. บัดนี้จะแสดงคำที่ควรกล่าว.
               บทว่า สเทวกํ ความว่า กับเทวดาทั้งหลาย ชื่อสเทวกะ กับมาร ชื่อสมารกะ อย่างเดียวกัน กับพรหม ชื่อสพรหมกะ กับสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อสัสสมณพราหมณี. ชื่อหมู่สัตว์เพราะเกิดทั่ว ซึ่งหมู่สัตว์นั้น กับเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อสเทวมนุสสะ.
               ในบทเหล่านั้น ด้วยคำว่า สเทวกะ พึงทราบว่าถือเอากามาพจรเทพ ๕ ชั้น. ด้วยคำว่า สมารกะ พึงทราบว่าถือเอากามาพจรเทพชั้นที่ ๖. ด้วยคำว่า สพรหมกะ ถือเอาพรหมมีชั้นพรหมกายิกะเป็นต้น. ด้วยคำว่า สัสสมณพราหมณี ถือเอาสมณพราหมณ์ที่เป็นข้าศึกและปัจจามิตรต่อพระศาสนา และถือเอาสมณพราหมณ์ที่ระงับบาปลอยบาปได้แล้ว. ด้วยคำว่า ปชา ถือเอาสัตวโลก. ด้วยคำว่า สเทวมนุสสะ ถือเอาสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือ.
               ด้วยบท ๓ บท ในที่นี้ พึงทราบว่า ท่านถือเอาสัตวโลกกับโอกาสโลก. เฉพาะสัตวโลก ท่านถือเอาด้วยคำว่า ปชา ด้วยบททั้ง ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ด้วยศัพท์ว่า สเทวกะ ท่านถือเอาอรูปาวจรเทวโลก. ด้วยศัพท์ว่า สมารกะ ท่านถือเอาฉกามาวจรเทวโลก. ด้วยศัพท์ว่า สพรหมกะ ท่านถือเอารูปพรหมเทวโลก. ด้วยศัพท์ว่า สัสสมณพราหมณีเป็นต้น ท่านถือเอามนุษยโลกกับสมมติเทพทั้งหลายโดยเป็นบริษัท ๔ หรือถือเอาสัตวโลกทั้งหมดที่เหลือลง.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทเหล่านี้ ด้วยคำว่า สเทวกะ ท่านกล่าวถึงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำโลกทั้งปวงให้แจ้งโดยกำเนิดอย่างสูง. ลำดับนั้น ชนเหล่าใดมีความคิดว่า วสวัตดีมาร ผู้มีอานุภาพมาก เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นกามาพจร. วสวัตดีมารแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้แจ้งด้วยหรือ. เมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมารกํ ดังนี้.
               ก็ชนเหล่าใดมีความคิดว่า พรหมผู้มีอานุภาพใหญ่ แผ่แสงสว่างไปในพันจักรวาลด้วยองคุลีหนึ่ง -- ด้วย ๒ องคุลี ฯลฯ แผ่แสงสว่างไปในหนึ่งจักรวาลด้วย ๑๐ องคุลี และเสวยสุขในฌานสมาบัติชั้นยอดเยี่ยม. พรหมแม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้แจ้งด้วยหรือ เมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า สพฺรหฺมกํ ดังนี้.
               ลำดับนั้น ชนเหล่าใดคิดว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมากที่เป็นข้าศึกต่อพระศาสนา สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้แจ้งด้วยหรือ เมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความที่พระองค์ทรงทำฐานะชั้นสูงทั้งหลายให้แจ้งแล้ว ลำดับนั้น เมื่อจะทรงประกาศความที่พระองค์ทรงทำสัตวโลกที่เหลือจนชั้นสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือลงทั้งหลายด้วยกำหนดอย่างสูง จึงตรัสว่าสเทวมนุสฺสํ ดังนี้. นี้เป็นลำดับการขยายความในที่นี้.
               ก็พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า บทว่า สเทวกํ ได้แก่ โลกที่เหล่าลงรวมทั้งเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า สมารกํ ได้แก่ โลกที่เหลือลงรวมทั้งมาร.
               บทว่า สพฺรหฺมกํ ได้แก่ โลกที่เหลือลงรวมทั้งพรหมทั้งหลาย.
               โดยอธิบายอย่างนี้ เป็นอันผนวกสัตว์ที่เข้าถึงภพ ๓ ทั้งหมด ในบททั้ง ๓ ด้วยอาการ ๓. เมื่อจะถือเอาด้วยบททั้ง ๒ อีก จึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ ดังนี้.
               โดยอธิบายอย่างนี้ เป็นอันถือเอาสัตวโลกที่เป็นไตรธาตุนั่นเทียว โดยอาการนั้นๆ ด้วยบททั้ง ๕.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1072&Z=1919
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=3185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=3185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :