ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สามัญญผลสูตร

หน้าต่างที่ ๗ / ๗.

               อาสวกฺขยญาณกถาวณฺณนา               
               บทว่า อาสวานํ ขยญาณาย ความว่า เพื่อให้เกิดอาสวักขยญาณ. ก็ชื่อว่าอาสวักขยะ ในที่นี้ ท่านเรียกว่า มรรคบ้าง ผลบ้าง นิพพานบ้าง ภังคะบ้าง.
               จริงอยู่ มรรค ท่านเรียกว่า อาสวักขยะ ในบาลีว่า ขเย ญาณํ อนุปฺปาเท ญาณํ ญาณในมรรค ญาณในความไม่เกิดขึ้น.๑-
               ผล ท่านเรียกว่า อาสวักขยะ ในบาลีนี้ว่า อาสวานํ ขยา สมโณ โหติ ย่อมเป็นสมณะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป.๒-
____________________________
๑- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๒๗   ๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๘๒

               นิพพาน ท่านเรียกว่า อาสวักขยะ ในคาถานี้ว่า๓-
                         ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส         นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
                         อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ    อารา โส อาสวกฺขยา
                         คนที่คอยจ้องโทษผู้อื่น    มุ่งแต่จะยกโทษอยู่เป็นนิจ
                         อาสวะของเขาย่อมเจริญ    เขาย่อมไกลจากนิพพาน.
____________________________
๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘

               ภังคะ ท่านเรียกว่า อาสวักขยะ ในบาลีนี้ว่า อาสวานํ ขโย วโย เภโท อนิจฺจตา อนฺตรธานํ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป เสื่อมไป แตกไป ไม่เที่ยง สูญหาย.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอานิพพาน แม้อรหัตตมรรคก็ใช้ได้เหมือนกัน.
               บทว่า จิตฺตํ อภินีหรติ ความว่า ทำวิปัสสนาจิตให้น้อมไปให้โน้มไป ให้เงื้อมไปสู่อาสวักขยญาณนั้น.
               ในคำว่า โส อิทํ ทุกฺขํ เป็นต้น ความว่า รู้ชัดซึ่งทุกขสัจแม้ทั้งหมดตามความเป็นจริง โดยแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจว่า ทุกข์มีประมาณเท่านี้ ยิ่งไปกว่านี้ไม่มี และรู้ชัดซึ่งตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ และรู้ชัดซึ่งฐานะที่ทุกข์และทุกขสมุทัยทั้ง ๒ นั้นถึงแล้วดับไป คือความไม่เป็นไป ความดับแห่งทุกข์และทุกขสมุทัยเหล่านั้นว่า นี้ความดับแห่งทุกข์ และรู้ชัดซึ่งอริยมรรคอันยังทุกขนิโรธนั้นให้ถึงพร้อมตามความเป็นจริง โดยแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
               ครั้นทรงแสดงสัจจะโดยสรุปอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงย้ำอีกบรรยายหนึ่งโดยเป็นกิเลส จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อิเม อาสวา ดังนี้.
               บทว่า ตสฺส เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต ความว่า เมื่อภิกษุนั้นรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จึงตรัสมรรคถึงที่สุดพร้อมด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า กามาสวา แปลว่า จากอาสวะคือกาม.
               ด้วยบทว่า วิมุจฺจติ นี้ ทรงแสดงมรรคขณะ.
               ด้วยบทว่า วิมุตฺตสฺมึ นี้ ทรงแสดงผลขณะ.
               ด้วยบทว่า วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ นี้ ทรงแสดงปัจจเวกขณญาณ.
               ด้วยบทว่า ขีณา ชาติ เป็นต้น ทรงแสดงภูมิของปัจจเวกขณญาณนั้น.
               ด้วยว่า พระขีณาสพ เมื่อพิจารณาด้วยญาณนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว เป็นต้น.
               ถามว่า ก็ชาติไหนของภิกษุนั้นสิ้นแล้ว และภิกษุนั้นจะรู้ชัดข้อนั้นได้อย่างไร.
               แก้ว่า ชาติที่เป็นอดีตของภิกษุนั้นยังไม่สิ้นก่อน เพราะสิ้นไปแล้วในกาลก่อนเทียว. ชาติที่เป็นอนาคตก็ยังไม่สิ้น เพราะไม่มีความพยายามในอนาคต. ชาติที่เป็นปัจจุบันยังไม่สิ้น เพราะขันธบัญจกของภิกษุนั้นยังมีอยู่. แต่ชาติใดพึงเกิดขึ้นเพราะมรรคยังมิได้อบรม ต่างโดยประเภท คือขันธบัญจก ๑ และ ๔ และ ๕ ในเอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพ ชาตินั้นชื่อว่าสิ้นแล้ว เพราะถึงความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะมรรคอบรมแล้ว. ภิกษุนั้นพิจารณากิเลสที่ตนละได้ด้วยมรรคภาวนา เมื่อรู้ว่า กรรมแม้ยังมีอยู่ ก็ไม่ทำปฏิสนธิต่อไป เพราะไม่มีกิเลส ดังนี้ ชื่อว่าย่อมรู้ชัดซึ่งชาตินั้น.
               บทว่า วุสิตํ แปลว่า อยู่แล้ว อยู่จบแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์.
               พระเสขะ ๗ จำพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย ชื่อว่ากำลังอยู่พรหมจรรย์. พระขีณาสพชื่อว่าอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว. เพราะฉะนั้น พระขีณาสพนั้น เมื่อพิจารณาถึงการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของตน ย่อมรู้ชัดว่าพรหมจรรย์ เราอยู่จบแล้ว.
               บทว่า กตํ กรณียํ ความว่า กิจ ๑๖ อย่าง คือ ปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจ และภาวนากิจ ด้วยมรรค ๔ ในสัจจะ ๔ สำเร็จแล้ว. อธิบายว่า กิเลสอันมรรคนั้นๆ พึงละ เธอละได้แล้ว เหตุแห่งทุกข์ เธอตัดขาดแล้ว.
               จริงอยู่ กัลยาณปุถุชนเป็นต้นยังกระทำกิจนั้น พระขีณาสพกระทำกรณียกิจเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น พระขีณาสพนั้น เมื่อพิจารณากรณียกิจที่ตนทำแล้วย่อมรู้ชัดว่า กิจที่ควรทำ เราทำเสร็จแล้ว.
               บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า ย่อมรู้ชัดว่า กิจคือมรรคภาวนา เพื่อความเป็นอย่างนี้ คือเพื่อความเป็นกิจ ๑๖ อย่าง หรือเพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลสอย่างนี้ว่า ในบัดนี้ไม่มีแก่เรา.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อิตฺถตฺตาย ความว่า ย่อมรู้ชัดว่า ขันธสันดานอื่นจากความเป็นอย่างนี้คือ จากขันธสันดานที่กำลังเป็นไปในบัดนี้ นี้คือมีประการอย่างนี้ ไม่มีแก่เรา ก็เบญจขันธ์เหล่านี้เรากำหนดรู้แล้ว ตั้งอยู่เหมือนต้นไม้ขาดราก เบญจขันธ์เหล่านั้นจักดับเหมือนไฟไม่มีเชื้อ และจักถึงความไม่มีบัญญัติเพราะจริมกจิตดับ.
               บทว่า ปพฺพตสงฺเขเป แปลว่า บนยอดภูเขา.
               บทว่า อนาวิโล แปลว่า ไม่มีเปือกตม.
               หอยโข่งและหอยกาบทั้งหลาย ชื่อว่า สิปปิสัมพุกะ ก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วยทั้งหลาย ชื่อว่า สักขรกถละ.
               ชื่อว่า มัจฉคุมพะ ด้วยอรรถว่า ฝูงคือกลุ่มปลาทั้งหลาย.
               ในคำว่า ติฎฺฐนฺตํปิ จรนฺตํปิ นี้ ความว่า ก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วยอยู่เฉยๆ ฝ่ายฝูงปลานอกนี้ว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี. เหมือนอย่างว่า ในโคทั้งหลายที่ยืนอยู่ก็มี จ่อมอยู่ก็มี มีอยู่รวมๆ กัน โคเหล่านี้เที่ยวไป ฉะนั้น แม้โคนอกนี้ เขาก็เรียกว่าเที่ยวไป เพราะกำหนดเอาโคที่กำลังเที่ยว ฉันใด แม้หอยและฝูงปลาทั้ง ๒ นอกนี้ ก็เรียกว่าหยุดอยู่ เพราะกำหนดเอาก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วยที่อยู่เฉยๆ แม้ก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วย ก็เรียกว่าเที่ยวไป เพราะกำหนดเอาหอยและฝูงปลาทั้ง ๒ นอกนี้ที่ว่ายอยู่ ฉันนั้น.
               ในอาสวักขยญาณนั้นมีอุปมาว่า เวลาที่สัจจะ ๔ ปรากฏชัดแก่ภิกษุผู้นั่งน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยะ พึงเห็นเหมือนเวลาที่หอยโข่งและหอยกาบเป็นต้นปรากฏแก่คนตาดียืนดูอยู่ริมฝั่งฉะนั้น
               ด้วยคำอธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันแสดงไขญาณ ๑๐ คือ วิปัสสนาญาณ มโนมยญาณ อิทธิวิธญาณ ทิพโสตญาณ เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสญาณ ญาณคู่คืออนาคตตังสญาณและยถากัมมุปคญาณ ซึ่งสำเร็จโดยเป็นทิพยจักษุ ทิพยจักษุญาณ อาสวักขยญาณ.
               พึงทราบการจำแนกอารมณ์ของญาณ ๑๐ เหล่านั้น ดังต่อไปนี้
               ในญาณ ๑๐ เหล่านั้น วิปัสสนาญาณมีอารมณ์ ๗ อย่าง คือ ปริตตารมณ์ มหัคคตารมณ์ อตีตารมณ์ อนาคตารมณ์ ปัจจุบันนารมณ์ อัชฌัตตารมณ์ พหิทธารมณ์.
               มโนมยญาณทำเพียงรูปายตนะที่นิรมิตแล้วเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ ฉะนั้น จึงเป็นปริตตารมณ์ ปัจจุบันนารมณ์ และพหิทธารมณ์.
               อาสวักขยญาณ เป็นอัปปมาณารมณ์ พหิทธารมณ์ และอวัตตัพพารมณ์.
               ประเภทของอารมณ์ที่เหลือ กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทวา อุตฺตริตรํ วา ปณีตตรํ วา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงด้วยยอดคือพระอรหัตว่า ชื่อว่าสามัญญผลที่ประเสริฐกว่านี้ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มี.

               อชาตสตฺตุอุปาสกตฺตปฏิเวทนากถา               
               พระราชาทรงถวายสาธุการทุกๆ ตอน ทรงสดับเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งพระพุทธพจน์โดยเคารพ มีพระดำริว่า ก็เราถามปัญหาเหล่านี้กะสมณพราหมณ์เป็นอันมากนานหนอ ไม่ได้สาระอะไรๆ เลย เหมือนตำแกลบ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีคุณสมบัติน่าอัศจรรย์ ทรงวิสัชนาปัญหาเหล่านี้แก่เรา ทำความสว่างไสวเหมือนทรงส่องแสงประทีปพันดวง เราถูกลวงมิให้รู้คุณานุภาพของพระทศพลมาตั้งนาน ดังนี้ มีพระสรีระอันปีติ ๕ อย่างซึ่งเกิดขึ้นด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณสัมผัสแล้ว.
               เมื่อจะทรงเผยความเลื่อมใสของพระองค์ จึงทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก. เพื่อจะแสดงความข้อนั้น ท่านจึงเริ่มต้นว่า เอวํ วุตฺเต ราชา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น อภิกฺกนฺต ศัพท์ ในคำว่า อภิกฺกนฺตํ ภนฺเต นี้ ปรากฏในอรรถว่า สิ้นไป ดี งาม และน่ายินดียิ่ง.
               ก็ อภิกฺกนฺต ศัพท์นี้ ปรากฏในอรรถว่า สิ้นไป ดังในบาลีมีอาทิว่า อภิกฺกนฺตา ภนฺเต รตฺติ นิกฺขนฺโต ปฐโม ยาโม จิรํ นิสินฺโน ภิกฺขุสงฺโฆ ราตรีสิ้นไปแล้ว พระเจ้าข้า ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ดังนี้.๑-
               ในความดี ดังในบาลีมีอาทิว่า อยํ อิเมสํ จตุนฺนํ ปุคฺคลานํ อภิกฺกนฺตตโร จ ปณีตตโร จ ผู้นี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคล ๔ เหล่าดังนี้.๒-
____________________________
๑- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๔๔๗   ๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๐๐

               ในความงาม ดังในคาถามีอาทิว่า
                         โก เม วนฺทติ ปาทานิ    อิทฺธิยา ยสสา ชลํ
                         อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน    สพฺพา โอภาสยํ ทิสา
                         ใครรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ มีวรรณะงามนัก
                         ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ไหว้เท้าของเรา ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๑

               ในความว่าน่ายินดียิ่ง ดังในบาลีมีอาทิว่า น่ายินดีนัก ท่านพระโคดมผู้เจริญ ดังนี้.๔-
____________________________
๔- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๔

               แม้ในที่นี้ ก็ปรากฏในอรรถว่า น่ายินดียิ่งนั่นแหละ และเพราะปรากฏว่าในอรรถว่า น่ายินดียิ่ง ฉะนั้น พึงทราบว่า เท่ากับรับสั่งว่า ดีแล้ว ดีแล้ว พระเจ้าข้า ดังนี้.
               ก็เนื้อความว่า อภิกฺกนฺตํ ภนฺเต อภิกฺกนฺตํ ภนฺเต นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระเจ้าอชาตศัตรูตรัส ๒ ครั้งโดยความเลื่อมใสในพระพุทธพจน์นี้ โดยลักษณะนี้ว่า ผู้รู้พึงกล่าวซ้ำในขณะกลัว ขณะโกรธ ขณะสรรเสริญ ขณะรีบด่วน ขณะตื่นเต้น ขณะร่าเริง ขณะโศกเศร้า และขณะเลื่อมใส ดังนี้ และโดยความสรรเสริญ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อภิกฺกนฺตํ มีอธิบายว่า น่าใคร่นัก น่าปรารถนายิ่ง น่าพอใจยิ่ง ดียิ่ง.
               ในพระบาลีนี้ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงชื่นชมพระเทศนาด้วย อภิกฺนนฺตศัพท์ ศัพท์หนึ่ง ทรงชื่นชมความเลื่อมใสของพระองค์ด้วย อภิกฺกนฺตศัพท์ อีกศัพท์หนึ่ง.
               ก็ในพระบาลีนี้มีอธิบายดังนี้ว่า จับใจจริง พระเจ้าข้า เพราะพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าน่ายินดียิ่งนัก พระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์อาศัยพระธรรมเทศนา จึงเลื่อมใส.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงชื่นชมพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล หมายถึงประโยชน์ ๒ อย่าง คือพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าดีนักเพราะทำโทษให้พินาศ ดีนักเพราะให้บรรลุคุณ.
               อนึ่ง พึงประกอบความด้วยเหตุอย่างนี้เป็นต้นว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าดีนัก เพราะ
                         ๑. ให้เกิดศรัทธา
                         ๒. ให้เกิดปัญญา
                         ๓. พร้อมด้วยอรรถ
                         ๔. พร้อมด้วยพยัญชนะ
                         ๕. มีบทง่าย
                         ๖. มีอรรถลึกซึ้ง
                         ๗. สบายหู
                         ๘. จับใจ
                         ๙. ไม่ยกตน
                         ๑๐. ไม่ข่มท่าน
                         ๑๑. เยือกเย็นด้วยกรุณา
                         ๑๒. ผ่องแผ้วด้วยปัญญา
                         ๑๓. เป็นคลองธรรมน่ารื่นรมย์
                         ๑๔. น่าขบคิด
                         ๑๕. ฟังได้ง่าย
                         ๑๖. ทดลองทำตามได้ประโยชน์.
               แม้ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงชื่นชมพระเทศนานั่นแหละ ด้วยอุปมา ๔ อย่าง.
               ในอุปมา ๔ อย่างนั้น บทว่า นิกฺกุชฺชิตํ ความว่า ตั้งเอาปากลง หรือตั้งปากไว้ข้างล่าง.
               บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย ความว่า ทำให้มีปากขึ้นข้างบน.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ ความว่า ปิดด้วยหญ้าและใบไม้เป็นต้น.
               บทว่า วิวเรยฺย แปลว่า เพิกขึ้น.
               บทว่า มูฬฺหสฺส วา แปลว่า แก่คนหลงทิศ.
               บทว่า มคฺคํ อาจิกฺเขยฺย ความว่า จูงมือไปบอกว่า นี่ทาง.
               บทว่า อนฺธกาเร ความว่า ในความมืดมีองค์ ๔ คือ วันแรม ๑๔ ค่ำ ๑ เที่ยงคืน ๑ ไพรสณฑ์ทึบ ๑ ก้อนเมฆบัง ๑.
               เนื้อความของบทที่ยากมีเพียงเท่านี้.
               ส่วนอธิบายประกอบมีดังนี้
               ใครๆ หงายภาชนะที่คว่ำไว้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้ายังเราผู้หันหลังให้พระสัทธรรม ตกลงไปในอสัทธรรม ให้หลุดพ้นจากอสัทธรรมได้ ฉันนั้น.
               ใครๆ เปิดของที่ปิด ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดพระศาสนาซึ่งถูกรกชัฏ คือมิจฉาทิฏฐิปิดไว้ตั้งแต่ครั้งศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปอันตรธานไป ฉันนั้น.
               ใครๆ บอกทางแก่คนหลง ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำทางสวรรค์ทางนิพพานให้แจ้งแก่เราผู้เดินทางผิด ฉันนั้น.
               ใครๆ ส่องประทีปน้ำมันในที่มืด ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราผู้ทรงไว้ซึ่งประทีปคือเทศนาอันขจัดเสียซึ่งความมืดคือโมหะที่ปิดบังพระรัตนตรัยนั้น ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย เพราะทรงประกาศโดยปริยายเหล่านี้ แก่เราผู้จมอยู่ในความมืดคือโมหะ ไม่เห็นรูปรัตนะมีพระพุทธรัตนะเป็นต้น ฉันนั้น.
               พระเจ้าอชาตศัตรูทรงชื่นชมพระเทศนาอย่างนี้แล้ว มีพระทัยเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ด้วยพระเทศนานี้ เมื่อจะทรงทำอาการที่เลื่อมใส จึงมีพระดำรัสว่า เอสาหํ เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า เอสาหํ ตัดบทเป็น เอโส อหํ.
               บทว่า ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ ความว่า ข้าพระองค์ขอถึง คือ คบ ซ่องเสพ เข้าไปนั่งใกล้ เข้าใจด้วยความประสงค์นี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดหน่วง เป็นผู้ขจัดไข้ใจ เป็นผู้จัดแจงประโยชน์ของเรา.
               ก็ธาตุเหล่าใดมีเนื้อความว่าไป แม้ความรู้ก็เป็นเนื้อความของธาตุเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เนื้อความของบทว่า คจฺฉามิ ข้าพระองค์ขอถึง นี้ ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ทีเดียวว่า ชานามิ พุชฺฌามิ ข้าพระองค์รู้เข้าใจ ดังนี้.
               ก็ในคำว่า ธมฺมญฺจ ภิกฺขุสงฺฆญฺจ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าพระธรรม ด้วยอรรถว่าทรงไว้ซึ่งผู้บรรลุมรรคแล้ว ทำนิโรธให้เป็นแจ้งแล้ว และปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพร่ำสอน มิให้ตกไปในอบายทั้งหลาย.
               พระธรรมนั้น โดยอรรถก็คืออริยมรรคและนิพพาน.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เป็นสังขตะ อริยมรรคมีองค์ ๘ ตถาคตกล่าวว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ดังนี้.๕-
               พึงทราบความพิสดาร.
____________________________
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๔

               และมิใช่แต่อริยมรรคและนิพพานอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นพระธรรม แม้ปริยัตติธรรมกับอริยผลทั้งหลาย ก็เป็นพระธรรมโดยแท้แล.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ในฉัตตมาณวกวิมานว่า๖-
                         เธอจงเข้าถึงพระธรรมนี้ ซึ่งเป็นเครื่องสำรอกราคะ
                         ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก เป็นอสังขตธรรม ไม่ปฏิกูล
                         มีรสเอมโอช ซื่อตรง บัณฑิตจำแนกไว้ดีแล้ว ว่าเป็น
                         สรณะที่มีประโยชน์.

____________________________
๖- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๓

               ก็ในคาถานี้ ที่ว่าเป็นเครื่องสำรอกราคะ ท่านกล่าวหมายเอามรรค. ที่ว่าไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก หมายเอาผล. ที่ว่าเป็นอสังขตธรรม หมายเอานิพพาน. ที่ว่าไม่ปฏิกูล ที่รสเอมโอช ซื่อตรง บัณฑิตจำแนกไว้ดีแล้ว หมายเอาธรรมขันธ์ทั้งหมดที่จำแนกไว้โดยปิฏก ๓.
               ชื่อว่าพระสงฆ์ คือผู้ที่เข้ากันได้โดยการรวมกันด้วยทิฏฐิและศีล. พระสงฆ์นั้น โดยอรรถก็คือหมู่แห่งพระอริยบุคคล ๘.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ในวิมานวัตถุนั้นแหละว่า๗-
                         ก็ทานที่บุคคลถวายแล้วในบุญเขตใด ท่านกล่าวว่ามีผลมาก
                         บุญเขตนั้น คือคู่แห่งบุรุษ ๔ ผู้สะอาด และจำแนกรายบุคคล
                         เป็น ๘ ซึ่งเป็นผู้เห็นธรรม เธอจงเข้าถึงพระสงฆ์นี้ว่า เป็น
                         สรณะที่มีประโยชน์.

____________________________
๗- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๓

               หมู่แห่งภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าภิกษุสงฆ์. พระราชาทรงประกาศการถึงสรณะ ๓ ด้วยคำเพียงเท่านี้.
               เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสรณคมน์เหล่านั้น บัดนี้พึงทราบวิธีนี้ว่า สรณะ สรณคมน์ ผู้ที่เข้าถึงสรณะ ประเภทแห่งสรณคมน์ ผลแห่งสรณคมน์ ความเศร้าหมอง และการแตกทำลาย.
               ข้อนี้เป็นอย่างไร?
               จะขยายความโดยอรรถแห่งบทก่อน.
               ชื่อว่า สรณะ ด้วยอรรถว่า เบียดเบียน. อธิบายว่า ฆ่า เบียดเบียน ทำให้พินาศ ซึ่งความกลัว ความสะดุ้ง ความทุกข์ ทุคติ ความเศร้าหมองทุกด้าน ด้วยการเข้าถึงสรณะนั้นแหละ.
               คำว่าสรณะนี้เป็นชื่อของพระรัตนตรัยนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า พุทธะ ด้วยอรรถว่า กำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย เหตุให้ดำเนินไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้หันกลับจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์.
               ชื่อว่า ธรรม ด้วยอรรถว่า กำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย เหตุให้ข้ามกันดารคือภพได้ และให้ความแช่มชื่น.
               ชื่อว่า สงฆ์ ด้วยอรรถว่า กำจัดภัยของสัตว์ทั้งหลาย เหตุทำสิ่งที่ทำแม้น้อยให้ได้ผลไพบูลย์.
               เพราะฉะนั้น พระรัตนตรัยจึงชื่อว่าเป็นสรณะโดยปริยายนี้.
               จิตตุปาบาทที่ดำเนินไปโดยอาการมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า มีกิเลสอันความเลื่อมใสและความเคารพในพระรัตนตรัยนั้นกำจัดแล้ว ชื่อว่าสรณคมน์.
               สัตว์ผู้มีพระรัตนตรัยนั้นพร้อมแล้ว ย่อมถึงสรณะ. อธิบายว่า ย่อมเข้าถึงอย่างนี้ว่า รัตน ๓ เหล่านี้เป็นที่พึ่งของเรา เหล่านี้เป็นที่นับถือของเรา ดังนี้ ด้วยจิตตุปบาทมีประการดังกล่าวแล้ว. พึงทราบ ๓ อย่างนี้ คือ สรณะ ๑ สรณคมน์ ๑ และผู้เข้าถึงสรณะ ๑ เท่านี้ก่อน.

               ก็ในประเภทแห่งสรณคมน์ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้               
               สรณคมน์มี ๒ อย่าง คือ โลกุตตรสรณคมน์และโลกิยสรณคมน์.
               ใน ๒ อย่างนั้น โลกุตตรสรณคมน์ ว่าโดยอารมณ์มีนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมสำเร็จด้วยตัดขาดอุปกิเลสของสรณคมน์ ในมัคคขณะแห่งพระอริยบุคคลผู้เห็นสัจจะแล้ว ว่าโดยกิจย่อมสำเร็จในพระรัตนตรัยแม้ทั้งสิ้น.
               โลกิยสรณคมน์ ว่าโดยอารมณ์มีพระพุทธคุณเป็นต้นเป็นอารมณ์ ย่อมสำเร็จด้วยการข่มอุปกิเลสของสรณคมน์ของปุถุชนทั้งหลาย. โลกิยสรณคมน์นั้น ว่าโดยอรรถได้แก่การได้เฉพาะซึ่งศรัทธาในวัตถุทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น และสัมมาทิฏฐิซึ่งมีศรัทธาเป็นมูล ที่ท่านเรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ.
               โลกิยสรณคมน์นี้นั้นจำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ โดยมอบกายถวายชีวิต ๑ โดยมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า ๑ โดยมอบตัวเป็นศิษย์ ๑ โดยความนอบน้อม ๑.
               ใน ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่ามอบกายถวายชีวิต ได้แก่ การสละตนแก่พระพุทธเจ้าเป็นต้นอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอมอบตนแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์.
               ที่ชื่อว่ามีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า ได้แก่ ความเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้าอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายโปรดทรงจำข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม และมีพระสงฆ์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               ที่ชื่อว่ามอบตัวเป็นศิษย์ ได้แก่ เข้าถึงความเป็นศิษย์อย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายโปรดทรงจำข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าเป็นอันเตวาสิกของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์.
               ที่ชื่อว่าความนอมน้อม ได้แก่ การเคารพอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้าเป็นต้นอย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอท่านทั้งหลายโปรดทรงจำข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าจะกระทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแด่วัตถุทั้ง ๓ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเท่านั้น.
               ก็เมื่อกระทำอาการ ๔ อย่างนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันถือเอาสรณะแล้วโดยแท้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบการมอบกายถวายชีวิตแม้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าสละตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า สละตนแด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ ข้าพเจ้าสละชีวิต ข้าพเจ้าสละตนแน่นอน สละชีวิตแน่นอน ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เป็นที่เร้นภัย เป็นที่ป้องกันภัยของข้าพเจ้า.
               การมอบตนเป็นศิษย์ พึงทราบหมือนการถึงสรณะของพระมหากัสสปะแม้อย่างนี้ว่า๑-
               ข้าพเจ้าพึงเห็นพระศาสดาหนอ พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเทียว
               ข้าพเจ้าพึงเห็นพระสุคตหนอ พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเทียว
               ข้าพเจ้าถึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนอ พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเทียว.

____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๕๒๓

               ความมีพระรัตนตรัยนั้นเป็นเบื้องหน้า พึงทราบเหมือนการถึงสรณะของอาฬวกยักษ์เป็นต้นอย่างนี้ว่า๒-
               ข้าพเจ้านั้นจักเที่ยวไปจากบ้านนั้นสู่บ้านนี้ จากเมืองนั้นสู่เมืองนี้
               นมัสการพระสัมพุทธเจ้า และความเป็นธรรมที่ดีของพระธรรม.

____________________________
๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๔๖

               ความนอบน้อม พึงทราบแม้อย่างนี้ว่า ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อพรหมายุ ลุกจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยศีรษะ ใช้ปากจุมพิตพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า และใช้มือทั้ง ๒ นวดฟั้น พร้อมกับประกาศชื่อว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ ดังนี้.๓-
____________________________
๓- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๙๘

               ก็การนอบน้อมนี้นั้น มี ๔ อย่าง คือ เพราะเป็นญาติ ๑ เพราะกลัว ๑ เพราะเป็นอาจารย์ ๑ และเพราะถือว่าเป็นทักขิไณยบุคคล ๑.
               ใน ๔ อย่างนั้น เพราะนอบน้อมว่าเป็นทักขิไณยบุคคล จัดเป็นสรณคมน์ นอกนี้ไม่ใช่.
               จริงอยู่ เพราะการนับถือพระรัตนตรัยอย่างประเสริฐนั่นแหละ บุคคลย่อมถือสรณะได้และขาดได้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เป็นศากยะก็ตาม โกลิยะก็ตาม ไหว้ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นญาติของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการถือสรณะเลย
               หรือผู้ใดไหว้ด้วยความกลัวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ที่พระราชาทรงบูชา มีอานุภาพมาก เมื่อเราไม่ไหว้ จะพึงทำแม้ความพินาศให้ ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการถือสรณะเลย
               หรือผู้ใดระลึกถึงมนต์อะไรๆ ที่ตนเรียนในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าในกาลเป็นพระโพธิสัตว์ หรือในกาลเป็นพระพุทธเจ้า เรียนอนุศาสนีเห็นปานนี้ว่า
                         บัณฑิตอยู่ครองเรือน พึงแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน
                         พึงใช้สอยส่วน ๑ พึงประกอบการงาน ๒ ส่วน
                         พึงเก็บส่วนที่ ๔ ไว้ เผื่อจักมีอันตราย ดังนี้.
๔-
               แล้วไหว้ด้วยคิดว่า อาจารย์ของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เป็นการถือสรณะเลย.
____________________________
๔- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๙๗

               แต่ผู้ใดไหว้ด้วยคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นทักขิไณยบุคคลเลิศในโลก ดังนี้ ผู้นั้นแหละได้ถือสรณะแล้ว.
               ก็เมื่ออุบาสกหรืออุบาสิกาผู้ถือสรณะอย่างนี้แล้ว ถึงไหว้ญาติแม้บวชในอัญญเดียรถีย์ ด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นญาติของเราดังนี้ ย่อมไม่ขาดสรณคมน์ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผู้ที่ไม่ได้บวช.
               ผู้ไหว้พระราชาโดยความกลัวก็เหมือนกัน เพราะพระราชานั้น เมื่อใครไม่ไหว้ จะพึงทำแม้ความพินาศให้ก็ได้ เพราะเป็นผู้ที่รัฐบูชาแล้ว ดังนี้. ถึงไหว้แม้เดียรถีย์ผู้สอนศิลปะคนใดคนหนึ่ง ด้วยคิดว่า ผู้นี้เป็นอาจารย์ของเราดังนี้ ก็ไม่ขาดสรณคมน์.
               พึงทราบประเภทแห่งสรณคมน์ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในที่นี้ สรณคมน์ที่เป็นโลกุตตระ มีสามัญญผล ๔ เป็นวิบากผล มีความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งปวงเป็นอานิสังสผล.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า๕-
                         ส่วนผู้ใดยึดเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
                         ผู้นั้นเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นทุกข์ เหตุเกิด
                         แห่งทุกข์ ความล่วงพ้นทุกข์ และมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘
                         อันประเสริฐ อันเป็นทางถึงความดับทุกข์ สรณะนั้นของผู้นั้น
                         เป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะสูงสุด บุคคลอาศัยสรณะนี้แล้ว
                         ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ดังนี้.

____________________________
๕- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๔

               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอานิสงส์ผลแห่งสรณคมน์นี้ แม้โดยการที่เขาไม่เข้าถึงภาวะมีนิจจสัญญาเป็นต้น.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า๖-
               ไม่เป็นฐานะ ไม่เป็นโอกาสที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ จะพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดยเป็นของเที่ยง ยึดถือสังขารอะไรๆ ว่าเป็นสุข ยึดถือธรรมอะไรๆ ว่าเป็นตัวตน ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายพระตถาคตทำให้ห้อพระโลหิต ทำลายสงฆ์ อุทิศศาสดาอื่น นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
____________________________
๖- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๔๕

               ก็สรณคมน์ที่เป็นโลกิยะ มีภวสมบัติบ้าง โภคสมบัติบ้าง เป็นผลแน่นอน.
               สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า๗-
                         ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
                         ชนเหล่านั้นจักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์แล้ว
                         จักยังเทวกายให้บริบูรณ์ ดังนี้.

____________________________
๗- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๒๑

               แม้ผลอย่างอื่นของสรณคมน์ที่เป็นโลกิยะ ท่านก็กล่าวไว้ว่า๘-
               ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาพร้อมด้วยเทวดา ๘ หมื่น เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ฯลฯ ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวคำนี้กะท้าวสักกะจอมเทวดาผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่งว่า แน่ะจอมเทวดา การถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งดีแล แน่ะจอมเทวดา สัตว์บางจำพวกในโลกนี้เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุที่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างนี้ สัตว์เหล่านั้นย่อมเทียบเท่าเทวดาเหล่าอื่น โดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทิพย์ ดังนี้.
               ในพระธรรมและพระสงฆ์ก็นัยนี้.
____________________________
๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๒๑

               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบผลวิเศษแห่งสรณคมน์ แม้ด้วยอำนาจเวลามสูตรเป็นต้น.
               พึงทราบผลแห่งสรณคมน์อย่างนี้.
               ในสรณคมน์ทั้งโลกิยะและโลกุตตระเหล่านั้น สรณคมน์ที่เป็นโลกิยะย่อมเศร้าหมองด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความเข้าใจผิดในพระรัตนตรัยเป็นต้น ไม่รุ่งเรืองมากมายไปได้ ไม่แพร่หลายใหญ่โตไปได้.
               สรณคมน์ที่เป็นโลกุตตระไม่มีความเศร้าหมอง.
               อนึ่ง การแตกแห่งสรณคมน์ที่เป็นโลกิยะมี ๒ ประเภท คือ ที่มีโทษ ๑ ที่ไม่มีโทษ ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น ที่มีโทษ ย่อมมีได้ด้วยเหตุเป็นต้นว่า มอบตนในศาสดาอื่นเป็นต้น. สรณคมน์ที่มีโทษนั้นมีผลไม่น่าปรารถนา. สรณคมน์ที่ไม่มีโทษ ย่อมมีด้วยกาลกิริยา. สรณคมน์ที่ไม่มีโทษนั้น ไม่มีผล เพราะไม่เป็นวิบาก.
               ส่วนสรณคมน์ที่เป็นโลกุตตระไม่มีการแตกเลย เพราะพระอริยสาวกไม่อุทิศศาสดาอื่นแม้ในระหว่างภพ.
               พึงทราบความเศร้าหมองและการแตกแห่งสรณคมน์ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อุปาสกํ มํ ภนฺเต ภควา ธาเรตุ ความว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำ คือทรงทราบข้อพระองค์ไว้อย่างนี้ว่า ข้าพระองค์อชาตศัตรูนี้เป็นอุบาสก.
               ก็เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในวิธีของอุบาสก ควรทราบข้อปกิณณกะ ในที่นี้ดังนี้ว่า
                         ใครเป็นอุบาสก เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า อุบาสก
                         อะไรคือศีลของอุบาสก อาชีพอย่างไร
                         วิบัติอย่างไร สมบัติอย่างไร.
               ในปกิณณกะนั้น ใครคืออุบาสก คือคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า๙-
               ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ชื่อว่าอุบาสก.
____________________________
๙- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๕๙๐

               เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า อุบาสก?
               เพราะนั่งใกล้พระรัตนตรัย.
               จริงอยู่ อุบาสกนั้น ชื่อว่าอุบาสก ด้วยอรรถว่า นั่งใกล้พระพุทธเจ้า. นั่งใกล้พระธรรมพระสงฆ์ ก็เป็นอุบาสกเหมือนกัน.
               อะไรคือศีลของอุบาสกนั้น?
               เวรมณี ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า๑๐-
               ดูก่อนมหานาม เพราะเหตุที่อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
               ดูก่อนมหานาม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล.
____________________________
๑๐- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๕๙๑

               อาชีพอย่างไร?
               คือ ละการค้าขายผิดศีลธรรม ๕ อย่าง เลี้ยงชีพโดยธรรมสม่ำเสมอ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า๑๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้ อุบาสกไม่ควรทำ ๕ อย่างอะไรบ้าง? การค้าขายศัสตรา การค้าขายสัตว์ การค้าขายเนื้อสัตว์ การค้าขายน้ำเมา การค้าขายยาพิษ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้แล อุบาสกไม่ควรทำ ดังนี้.
____________________________
๑๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๗๗

               วิบัติอย่างไร?
               คือ ศีลวิบัติและอาชีววิบัติของอุบาสกนั้นแหละ เป็นวิบัติของอุบาสก.
               อีกอย่างหนึ่ง อุบาสกนี้เป็นจัณฑาล เป็นมลทิน และเป็นผู้ที่น่ารังเกียจด้วยกิริยาใด กิริยาแม้นั้น พึงทราบว่าเป็นวิบัติของอุบาสก.
               ก็วิบัติเหล่านั้น โดยอรรถได้แก่ธรรม ๕ อย่างมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสว่า๑๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมเป็นอุบาสกจัณฑาล เป็นอุบาสกมลทิน และเป็นอุบาสกที่น่ารังเกียจ. ๕ อย่างอะไรบ้าง? คือเป็นผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนทุศีล เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม และแสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา ทำบุญในทักขิไณยบุคคลเหล่านั้น ดังนี้.
               สมบัติอย่างไร?
               ศีลสมบัติและอาชีวสมบัติของอุบาสกนั้นนั่นแหละ เป็นสมบัติของอุบาสก ได้แก่ธรรม ๕ ประการมีศรัทธาเป็นต้น ที่กระทำความเป็นอุบาสกรัตนะเป็นต้น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า๑๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยอรรถ ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ เป็นอุบาสกปทุมและเป็นอุบาสกบุณฑริก. ๕ ประการอะไรบ้าง คือเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีล ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ไม่แสวงหาทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา และทำบุญในพระศาสนานี้ ดังนี้.
____________________________
๑๒- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๗๕

               อคฺค ศัพท์ ในบทว่า อชฺชตคฺเค นี้ ปรากฏในอรรถว่า เป็นเบื้องต้น เบื้องปลาย ส่วน และประเสริฐที่สุด.
               ปรากฏในอรรถว่า เป็นเบื้องต้น ในประโยคมีอาทิว่า อชฺชตคฺเค สมฺม โทวาริก อาวรามิ ทฺวารํ นิคฺคณฺฐานํ นิคฺคณฺฐีนํ แน่ะนายประตูผู้สบาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะปิดประตูต้อนรับนิครนถ์ชายหญิง.๑๓-
____________________________
๑๓- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๗๕

               ในอรรถว่า เบื้องปลาย ในประโยคมีอาทิว่า เตเนว องฺคุลคฺเคน ตํ องฺคุลคฺคํ ปรามเสยฺย อุจฺฉคฺคํ เวฬคฺคํ พึงเอาปลายนิ้วจดปลายนิ้ว เอาปลายอ้อยจดปลายอ้อย เอาปลายไม้ไผ่จดปลายไม้ไผ่.๑๔-
____________________________
๑๔- อภิ. ก. เล่ม ๓๗/ข้อ ๑๐๗๓

               ในอรรถว่า ส่วน ในประโยคมีอาทิว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อมฺพิลคฺคํ วา มธุรคฺคํ วา ติตฺกคฺคํ วา วิหารคฺเคน วา ปริเวณคฺเคน วา ภาเชตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แบ่งส่วนรสเปรี้ยวก็ดี ส่วนรสหวานก็ดี ส่วนรสขมก็ดี๑๕- ตามส่วนวิหารหรือตามส่วนบริเวณ.๑๖-
____________________________
๑๕- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๗๐๔   ๑๖- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๒๗๙

               ในอรรถว่า ประเสริฐที่สุด ในประโยคมีอาทิว่า ยาวตา ภิกฺขเว สตฺตา อปทา วา ฯเปฯ ตถาคโต เตสํ อคฺคมกฺขายติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใด ไม่มีเท้าก็ตาม ฯลฯ ตถาคต เรากล่าวว่าประเสริฐที่สุดของสัตว์เหล่านั้น.๑๗-
____________________________
๑๗- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๔๕

               แต่ในที่นี้ อคฺค ศัพท์นี้ พึงเห็นในอรรถว่า เป็นเบื้องต้น เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในบทว่า อชฺชตคฺเค นี้ อย่างนี้ว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
               บทว่า อชฺชตํ แปลว่า เป็นในวันนี้ ปาฐะว่า อชฺชทคฺเค ดังนี้ ก็มี อักษรทำบทสนธิเข้าไว้ ความว่า ทำวันนี้ให้เป็นต้น.
               บทว่า ปาณุเปตํ ได้แก่ เข้าถึงด้วยชีวิต.
               พระเจ้าอชาตศัตรูถึงสรณะด้วยการมอบตนอย่างนี้ว่า ชีวิตของข้าพระองค์ยังเป็นไปอยู่ตราบใด ขอพระองค์โปรดทรงจำ คือทรงทราบข้าพระองค์ไว้ตราบนั้นเถิดว่า เข้าถึงแล้ว ไม่มีผู้อื่นเป็นศาสดา ถึงสรณะเป็นด้วยสรณคมน์ทั้ง ๓ เป็นอุบาสก เป็นกัปปิยการก (ศิษย์รับใช้) ด้วยว่า แม้หากจะมีใครเอาดาบคมกริบตัดศีรษะของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะไม่พึงกล่าวพระพุทธเจ้าว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า ไม่พึงกล่าวพระธรรมว่าไม่ใช่พระธรรม ไม่พึงกล่าวพระสงฆ์ว่าไม่ใช่พระสงฆ์ ดังนี้.
               เมื่อประกาศความผิดที่ตนทำ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อจฺจโย มํ ภนฺเต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อจฺจโย แปลว่า ความผิด.
               บทว่า มํ อจฺจคมา ความว่า ก้าวล่วง คือครอบงำข้าพระองค์เป็นไป.
               ในบทว่า ธมฺมิกํ ธมฺมราชานํ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า ธัมมิกะ ด้วยอรรถว่า ประพฤติธรรม.
               ชื่อว่า ธรรมราชา ด้วยอรรถว่า เป็นพระราชาโดยธรรมทีเดียว มิใช่โดยอธรรมมีปิตุฆาตเป็นต้น.
               บทว่า ชีวิตา โวโรเปสึ ได้แก่ ปลงชีวิต.
               บทว่า ปฏิคฺคณฺหาตุ ได้แก่ จงอดโทษ.
               บทว่า อายตึ สํวราย ความว่า เพื่อสังวรในอนาคต คือเพื่อไม่กระทำความผิดคือโทษ คือความพลั้งพลาดเห็นปานนี้อีก.
               บทว่า ตคฺฆ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ส่วนเดียว.
               บทว่า ยถาธมฺมํ ปฏิกโรสิ ความว่า จงกระทำอย่างที่เธอจะดำรงอยู่ได้. อธิบายว่า จงให้อดโทษเสีย.
               บทว่า ตนฺเต มยํ ปฏิคฺคณฺหาม ความว่า ความผิดของมหาบพิตรนั้น เราอดโทษให้.
               บทว่า วุฑฺฒิ เหสา มหาราช อริยสฺส วินเย ความว่า มหาบพิตร นี้ชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมในวินัยของพระอริยะ คือในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อย่างไร?
               คือการเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป. แต่เมื่อทรงทำเทศนาให้เป็นบุคคลาธิษฐานตามสมควร จึงตรัสว่า การที่บุคคลเห็นโทษโดยเป็นโทษ แล้วสารภาพโทษ รับสังวรต่อไป นี้เป็นวัฒนธรรมในวินัยของพระอริยเจ้าแล.
               บทว่า เอวํ วุตฺเต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว.
               ศัพท์ว่า หนฺท ในคำว่า หนฺท จ ทานิ มยํ ภนฺเต นี้ เป็นนิบาต ในอรรถว่า คำละเอียดอ่อน. ด้วยว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นทรงทำคำละเอียดอ่อนในการเสด็จไป จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า พหุกิจฺจา ได้แก่ มีกิจมาก.
               คำว่า พหุกรณียา เป็นไวพจน์ของคำว่า พหุกิจฺจา นั้นเอง.
               บทว่า ยสฺสทานิ ตฺวํ ความว่า มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสำคัญ คือทราบเวลาที่เสด็จไปในบัดนี้เถิด. อธิบายว่า พระองค์นั่นแหละจะทรงทราบเวลาที่เสด็จนั้น.
               บทว่า ปทกฺขิณํ กตฺวา ปกฺกามิ ความว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ยกอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยทศนัขสโมธานไว้เหนือเศียร ผินพระพักตร์ตรงพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จถอยหลังชั่วทัศนวิสัยแล้ว ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ณ ภาคพื้นตรงที่พ้นทัศนวิสัย แล้วเสด็จหลีกไป.
               บทว่า ขตายํ ภิกฺขเว ราชา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว.
               บทว่า อุปหตายํ ความว่า พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว. มีอธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว ถูกขจัดเสียแล้ว มีที่พึ่งถูกทำลายแล้ว คือตนเองถูกตนเองขุดเสียแล้วก็หมดที่พึ่ง.
               บทว่า วิรชํ ได้แก่ ปราศจากธุลีคือราคะเป็นต้น.
               ชื่อว่า มีมลทินไปปราศแล้ว เพราะปราศจากมลทินคือราคะเป็นต้นนั่นแล.
               บทว่า ธมฺมจกฺขุ ได้แก่ จักษุในธรรมทั้งหลาย หรือจักษุที่สำเร็จด้วยธรรม.
               คำว่า ธรรมจักษุ นี้ เป็นชื่อของมรรค ๓ ในฐานะอื่นๆ แต่ในที่นี้ เป็นชื่อของโสดาปัตติมรรคเท่านั้น.
               มีอธิบายว่า หากพระเจ้าอชาตศัตรูมิได้ปลงพระชนม์พระบิดา พระองค์ประทับนั่งบนอาสนะนี้แหละ จักได้ทรงบรรลุโสดาปัตติมรรคในบัดนี้ แต่เพราะทรงคบมิตรชั่ว จึงเกิดอันตรายแก่พระองค์ แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูนี้เข้าเฝ้าพระตถาคต ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจะบังเกิดในโลหกุมภี ตกอยู่ในเบื้องต่ำ ๓ หมื่นปี ถึงพื้นเบื้องล่างแล้วผุดขึ้นเบื้องบน ๓ หมื่นปี ถึงพื้นเบื้องบน อีกจึงจักพ้นได้ เหมือนใครๆ ฆ่าคนแล้ว พึงพ้นโทษได้ด้วยทัณฑกรรมเพียงดอกไม้กำมือหนึ่งฉะนั้น เพราะพระศาสนาของเรามีคุณใหญ่.
               ได้ยินว่า คำที่กล่าวมาแล้วแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วทีเดียว แต่มิได้ยกขึ้นไว้ในบาลี.
               ถามว่า ก็พระราชาทรงสดับพระสูตรนี้แล้ว ทรงได้อานิสงส์อะไร?
               แก้ว่า ได้อานิสงส์มาก.
               ด้วยว่า ตั้งแต่เวลาที่ปลงพระชนม์พระชนกแล้ว พระราชานี้มิได้บรรทมหลับเลยทั้งกลางคืนกลางวัน แต่ตั้งแต่เวลาที่เข้าเฝ้าพระศาสดา ทรงสดับพระธรรมเทศนาอันไพเราะมีโอชานี้แล้ว ทรงบรรทมหลับได้ ได้ทรงกระทำสักการะใหญ่แด่พระรัตนตรัย ชื่อว่าผู้ที่ประกอบด้วยศรัทธาระดับปุถุชนที่เสมอเหมือนพระราชานี้ไม่. ก็ในอนาคต จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าชีวิตวิเสส จักปรินิพพานแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นดีใจชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

               อรรถกถาสามัญญผลสูตร               
               ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี               
               จบแล้ว ด้วยประการฉะนี้.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1072&Z=1919
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=3185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=3185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :