บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
ทูลขอบรรพชาและอุปสมบท [๕๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า โมฆบุรุษนี้ ได้มีความคิดอย่างนี้ มานานแล้วว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่ ถ้ากระไร เราพึงให้ชฎิลนี้สลดใจ แล้วจึงตรัสกะชฎิลอุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป ท่านไม่ใช่ พระอรหันต์แน่ ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ แม้ปฏิปทาของท่านที่จะเป็นเหตุให้เป็น พระอรหันต์ หรือพบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มี. ทีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ ซบเศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ท่านเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึกสอน เป็นผู้เลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ท่านจงบอกกล่าวพวกนั้นก่อน พวกนั้นจักทำตามที่เข้าใจ. ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปเข้าไปหาชฎิลเหล่านั้น ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์ ต่อชฎิลเหล่านั้นว่า ผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงทำตามที่เข้าใจ. ชฎิลพวกนั้นกราบเรียนว่า พวกข้าพเจ้าเลื่อมใสยิ่งในพระมหาสมณะมานานแล้ว ขอรับ ถ้าท่านอาจารย์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติ- *พรหมจรรย์ในพระมหาสมณะเหมือนกัน. ต่อมา ชฎิลเหล่านั้นได้ลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ แล้ว พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลขอบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้ มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. [๕๒] ชฎิลนทีกัสสปได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงลอยน้ำมา ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายเราเลย จึงส่งชฎิลไปด้วยคำสั่งว่า พวกเธอ จงไป จงรู้พี่ชายของเรา ดังนี้แล้ว ทั้งตนเองกับชฎิล ๓๐๐ ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสป แล้วเรียนถามว่า ข้าแต่พี่กัสสป พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ? พระอุรุเวลกัสสปตอบว่า แน่ละเธอ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ. หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นลอยผม ชฎา เครื่องบริขารและเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ แล้ว พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลขอบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนัก พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. [๕๓] ชฎิลคยากัสสปได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิง ลอยน้ำมา. ครั้นแล้ว ได้มีความดำริว่า อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายทั้งสองของเราเลย แล้วส่งชฎิลไปด้วย คำสั่งว่า พวกเธอจงไป จงรู้พี่ชายทั้งสองของเรา ดังนี้แล้ว ทั้งตนเองกับชฎิล ๒๐๐ คน ได้เข้า ไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสป แล้วเรียนถามว่า ข้าแต่พี่กัสสป พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ? พระอุรุเวลกัสสปตอบว่า แน่ละเธอ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ. หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ แล้วพากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลขอ บรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพวกข้าพระพุทธเจ้าพึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด. พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น. [๕๔] พวกชฎิลนั้น ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนไม่ได้ แล้วผ่าได้ ก่อไฟไม่ติด แล้วก่อไฟติด ขึ้นได้ ดับไฟไม่ดับ แล้วดับได้ ด้วยการเพ่งอธิษฐานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ทรงนิรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง. ปาฏิหาริย์ ๓๕๐๐ วิธี ย่อมมีโดยนัยนี้.----------------------------------------------------- อาทิตตปริยายสูตร [๕๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จ จาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็น ปุราณชฎิล. ได้ยินว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑๐๐๐ รูป. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่ เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะ ความคับแค้น. โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ... ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ... ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ... กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน ... มนะเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่ เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะ ความคับแค้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สัมผัสอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน วิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้น แล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี. ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.อาทิตตปริยายสูตร จบ อุรุเวลปาฏิหาริย์ ตติยภาณวาร จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๑๒๔-๑๒๑๕ หน้าที่ ๔๗-๕๐. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=1124&Z=1215&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=4&siri=16 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=37 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [51-55] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=51&items=5 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=552 The Pali Tipitaka in Roman :- [51-55] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=4&item=51&items=5 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=552 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic15 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:15.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.14.6
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]