ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อาทิตตสูตรที่ ๑
[๑๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วง ไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๑๓๖] เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถา เหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออก ไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่ มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด ฯ โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควร นำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุ ที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ฯ ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อม ไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้ เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้ ฯ อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วย ตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและ ให้ทาน ฯ เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึง สถานที่อันเป็นสวรรค์ ฯ
กินททสูตรที่ ๒
[๑๓๗] เทวดาทูลถามว่า บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถาม พระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ [๑๓๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยาน พาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุและ ผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอน ธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม ฯ
อันนสูตรที่ ๓
[๑๓๙] เทวดากราบทูลว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้ ฯ [๑๔๐] พ. ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้นแลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะ เหตุนั้นบุคคลพึงนำความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความ ตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียให้ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่ พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ
เอกมูลสูตรที่ ๔
[๑๔๑] เทวดากราบทูลว่า บาดาล มีรากอันเดียว มีความวนสอง มีมลทินสาม มี เครื่องลาดห้าเป็นทะเล หมุนไปได้สิบสองด้าน ฤาษีข้ามพ้น แล้ว ฯ
อโนมิยสูตรที่ ๕
[๑๔๒] เทวดากราบทูลว่า ท่านทั้งหลายเชิญดูพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระนามไม่ ทราม ผู้ทรงเห็นประโยชน์อันละเอียด ผู้ให้ซึ่งปัญญา ไม่ทรงข้องอยู่ในอาลัยคือกาม ตรัสรู้ธรรมทุกอย่าง มี พระปรีชาดี ทรงก้าวไปในทางอันประเสริฐ ผู้ทรงแสวงคุณ อันใหญ่ ฯ
อัจฉราสูตรที่ ๖
[๑๔๓] เทวดาทูลถามว่า ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ [๑๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มี เสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพานด้วยยาน นี้แหละ ฯ
วนโรปสูตรที่ ๗
[๑๔๕] เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลาง- *คืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ ไปสวรรค์ ฯ [๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้ (ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญ ในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ใน ธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
เชตวนสูตรที่ ๘
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่ อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่ แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอย่างสูง ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือก เฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น ฯ พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น (เป็นผู้ประเสริฐ) ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มี ท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นเยี่ยม ฯ
มัจฉริสูตรที่ ๙
[๑๔๘] เทวดาทูลถามว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขา จะเป็นเช่นไร ฯ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึง จะรู้ความข้อนั้น ฯ [๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหา ท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก ฯ คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้ สิ่งนั้น สมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้า ก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย ฯ [๑๕๐] เทวดาทูลถามว่า ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่น กะพระโคดม ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบาก ของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะ เป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉน ข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ [๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศ- *จากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏ ในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิด ในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความร่าเริงและความสนุกสนาน โดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสม ไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็น สุคติ ฯ
ฆฏิกรสูตรที่ ๑๐
[๑๕๒] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า ภิกษุ ๗ รูปผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ โทสะสิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงของมารที่ ข้ามได้แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้วก้าวล่วงซึ่งทิพย- *โยคะ ฯ ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า คือท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวม เป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพหุ- *ทันตี ๑ ท่านสิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้น ล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงทิพยโยคะได้แล้ว ฯ [๑๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของใครเล่า จึง ตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ [๑๕๔] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า ท่านเหล่านั้น ตรัสรู้ธรรมของผู้ใดจึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้นไม่มีอื่นไป จากคำสั่งสอนของพระองค์ ฯ นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้น ในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ [๑๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านกล่าววาจาลึกรู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรม ของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้ ฯ [๑๕๖] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสป พุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้ เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จัก ภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว ฯ [๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะนายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใด เรื่องนั้นได้เป็น จริงแล้วอย่างนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา เป็น อุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคน เคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปาง ก่อน ฯ พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีใน ที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
จบ อาทิตตวรรค ที่ ๕
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในอาทิตตวรรคนั้น คือ
อาทิตตสูตร กินททสูตร อันนสูตร เอกมูลสูตร อโนมิยสูตร อัจฉรา สูตร วนโรปสูตร เชตวนสูตร มัจฉริสูตร ฆฏิกรสูตร ฉะนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๙๐๐-๑๐๗๔ หน้าที่ ๔๑-๔๘. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=900&Z=1074&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=15&siri=41              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=135              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [135-157] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=15&item=135&items=23              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=2101              The Pali Tipitaka in Roman :- [135-157] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=15&item=135&items=23              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=2101              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i135-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn01/sn01.041.than.html https://suttacentral.net/sn1.41/en/sujato https://suttacentral.net/sn1.41/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :