อนนุสสุตวรรคที่ ๔
อนนุสสุตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน
[๗๙๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง
ได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้คือการพิจารณาเห็นกายในกาย ... การ
พิจารณาเห็นกายในกายนี้นั้นอันเราควรเจริญ ... การพิจารณาเห็นกายในกายอันเราเจริญแล้ว.
[๗๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดขึ้น
แก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้คือการพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... การพิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนานี้นั้นอันเราควรเจริญ ... การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนานี้อันเราเจริญแล้ว.
[๗๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดขึ้น
แก่เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้คือการพิจารณาเห็นจิตในจิต ... การพิจารณาเห็นจิต
ในจิตนี้นั้นอันเราควรเจริญ ... การพิจารณาเห็นจิตในจิตนี้อันเราเจริญแล้ว.
[๗๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดขึ้นแก่
เราในธรรมที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า นี้คือการพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ... การพิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมนี้นั้นอันเราควรเจริญ ... การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมนี้อันเราเจริญแล้ว.
จบ สูตรที่ ๑
วิราคสูตร
เจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความหน่าย
[๘๐๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความ
สงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ...
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล อัน
บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อ
ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว.
จบ สูตรที่ ๒
วิรัทธสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ปรารภและปรารภอริยมรรค
[๘๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคประ
กอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตใน
จิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกเสีย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคล
เหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติ
ปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรค
ประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ.
จบ สูตรที่ ๓
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๔๗๒๖-๔๗๖๗ หน้าที่ ๑๙๗-๑๙๘.
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=4726&Z=4767&pagebreak=0
ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=19&siri=161
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=796
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-
[796-801] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=796&items=6
The Pali Tipitaka in Roman :-
[796-801] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=796&items=6
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙
https://84000.org/tipitaka/read/?index_19
อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :-
https://suttacentral.net/sn47.31/en/sujato
https://suttacentral.net/sn47.31/en/bodhi
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]