บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
[273] สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้ 1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง to be amiable in deed, openly and in private) 2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง to be amiable in word, openly and in private) 3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน to be amiable in thought, openly and in private) 4. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้ 5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ to keep without blemish the rules of conduct along with ones fellows, openly and in private) 6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา to be endowed with right views along with ones fellows, openly and in private) ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to nonquarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน to unity)
[***] อนุตตริยะ 6 ดู [127] อนุตตริยะ 6 [***] อบายมุข 6 ดู [200] อบายมุข 6. |
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=273
บันทึก ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]