ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

อติเรกทสกะ - หมวดเกิน 10
Groups of More Than Ten
[338] กรรม 12 (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม, ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น — karma; kamma; action; volitional action)
       หมวดที่ 1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (classification according to the time of ripening or taking effect)
           1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ — kamma to be experienced here and now; immediately effective kamma)
           2. อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า — kamma to be experienced on rebirth; kamma ripening in the next life)
           3. อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆไป — kamma to be experienced in some subsequent becoming; indefinitely effective kamma)
           4. อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก — lapsed or defunct kamma)

       หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (classification according to function)
           5. ชนกกรรม (กรรมแต่งให้เกิด, กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด — productive kamma; reproductive kamma)
           6. อุปัตถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน, กรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม — supportive kamma; consolidating kamma)
           7. อุปปีฬกกรรม (กรรมบีบคั้น, กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน obstructive kamma; frustrating kamma)
           8. อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน, กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น — destructive kamma; supplanting kamma)

       หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล (classification according to the order of ripening)
           9. ครุกกรรม (กรรมหนัก ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม — weighty kamma)
           10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม (กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม — habitual kamma)
           11. อาสันนกรรม (กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น — death threshold kamma; proximate kamma)
           12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ, กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล — reserve kamma; casual act)

       กรรม 12 หรือ กรรมสี่ 3 หมวดนี้ มิได้มีมาในบาลีในรูปเช่นนี้โดยตรง พระอาจารย์สมัยต่อมา เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ได้รวบรวมมาจัดเรียงเป็นแบบไว้ภายหลัง.

Vism.601;
Comp.144.
วิสุทธิ. 3/223;
สงฺคห. 28.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=338

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]