ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ุญ ”             ผลการค้นหาพบ  8  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 8
[259] อุบาสกธรรม 5 (ธรรมของอุบาสกที่ดี, สมบัติหรือองค์คุณของอุบาสกอย่างเยี่ยม — qualities of an excellent lay disciple)
       1. มีศรัทธา (to be endowed with faith)
       2. มีศีล (to have good conduct)
       3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)
       4. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)
       5. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)

       ธรรม 5 อย่างนี้ ในบาลีที่มาเรียกว่า ธรรมของอุบาสกรัตน์ (อุบาสกแก้ว) หรือ อุบาสกปทุม (อุบาสกดอกบัว)

       ดู [260] อุบาสกธรรม 7 ด้วย.

A.III.206. องฺ.ปญฺจก. 22/175/230.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 8
[265] ทิศ 6 (บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว - directions; quarters)
1. ปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน - parents as the east or the direction in front)
       ก. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้
           1) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
           2) ช่วยทำการงานของท่าน
           3) ดำรงวงศ์สกุล
           4) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
           5) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
       In five ways a child should minister to his parents as the eastern quarter (saying to himself) :
           a) Having been supported by them I will support them in my turn.
           b) I will do their work for them.
           c) I will keep up the honor and the traditions of my family.
           d) I will make myself worthy of my heritage.
           c) I will make offerings, dedicating merit to them after their death.
๑. แปลอีกอย่างว่า I will grant donations for them.

       ข. บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
           1) ห้ามปรามจากความชั่ว
           2) ให้ตั้งอยู่ในความดี
           3) ให้ศึกษาศิลปวิทยา
           4) หาคู่ครองที่สมควรให้
           5) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
       In five ways his parents, thus served as the eastern quarter, show their love for him:
           a) They keep him back form evil.
           b) they train him in virtue.
           c) They have him taught arts and sciences.
           d) They arrange for his marriage to a suitable wife.
           c) They hand over his inheritance to him in due time.

2. ทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชาคุณ - teachers as the south or the dierction in the right)
       ก. ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้
           1) ลุกต้อนรับ
           2) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา และรับคำแนะนำ เป็นต้น)
๒. อุปฏฺฐาน

           3) ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา)
๓. สุสฺสูสา (=ฟังด้วยดี)

           4) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
           5) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ)
       In five ways a pupil should minister to gis teachers as the southern quarter;
           a) by rising to receive them.
           b) by waiting upon them.
           c) by eagerness to learn.
           d) by personal service.
           c) by attentively learning the and sciences.
       ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
           1) ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
           2) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
           3) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
           4) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
           5) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี)
       In five ways his teachers, thus served as the southern quarter, show their love for him:
           a) They train him so that he is well-trained.
           b) They teach him in such a way that he understands and remembers well what he has been taught.
           c) They thoroughly instruct him in the lore of every art.
           d) They introduce him to his friends and companions.
           e) They provide for his safety and security in every quarter.

3. ปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง - wife and children as the west or the direction behind)
       ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
           1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
           2) ไม่ดูหมิ่น
           3) ไม่นอกใจ
           4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
           5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
       In five ways a husband should serve his wife as the western quarter:
           a) by honoring her.
           b) by being courteous to her.
           c) by being faithful to her.
           d) by handing over authority to her.
           e) by providing her with ornaments.
       ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
           1) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
           2) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
           3) ไม่นอกใจ
           4) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
           5) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
       In five ways his wife, thus served as the western quarter, shows her love for him:
           a) The household affairs are to be well managed.
           b) She should be hospitable and helpful to friends and relations of both hers and his.
           c) She should be faithful to him.
           d) She should take care of the goods he brings home.
           e) She should be skilful and industrious in all her duties.

4. อุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย ทิศเหนือ ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรคภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุน ให้บรรลุความสำเร็จ - friends and companions as the north or the direction in left)
       ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
           1) เผื่อแผ่แบ่งปัน
           2) พูดจามีน้ำใจ
           3) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
           4) มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
           5) ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน
       In five ways a clansman should serve his friends and associates as the northern quarter:
           a) by generosity
           b) by kind words.
           c) by gelping them and acting for their welfare.
           d) by putting them on equal terms.
           c) by being sincere to them.
       ข. มิตรสหายย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
           1) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
           2) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
           3) ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
           4) ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
           5) นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
       In five ways his friends and associates, thus served as the northern quarter, show their love for him:
           a) They protect him when he is careless.
           b) They guard his property when he is careless.
           c) They are a refuge for him when he is in danger.
           d) They do not leave him in his troubles.
           e) They show due respect to other members of his family.

5. เหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้ - servants and workmen as the nadir)
       ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นทิศเบื้องล่าง ดังนี้
           1) จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
           2) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
           3) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลให้ยามเจ็บไข้ เป็นต้น
           4) ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
           5) ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
       In five ways a master should serve his servants and workmen as the lower quarter:
           a) by assigning them work according to their strength.
           b) by giving them due food and wages.
           c) by caring for them in sickness.
           d) by sharing with them unusual luxuries.
           c) by giving them holidays and leave at suitable times.
       ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นาย ดังนี้
           1) เริ่มทำการงานก่อนนาย
           2) เลิกงานทีหลังนาย
           3) ถือเอาแต่ของที่นายให้
           4) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
           5) นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่
       In five ways his servants and workmen, thus served as the lower quarter, show their love for him:
           a) They get up to work before him.
           b) They go to rest after him.
           c) They take only what is given to them.
           d) They do their work well.
           e) They spread about his praise and good name.

6. อุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจ - monks as the zenith)
       ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้
           1) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
           2) จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
           3) จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
           4) ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
           5) อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4
       In five ways a clansman should serve monks and Brahmins as the upper quarter:
           a) by kindly acts.
           b) by kindly words.
           c) by kindly thoughts.
           d) by keeping open house to them.
           e) by supplying them with their material needs.
       ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้
           1) ห้ามปรามจากความชั่ว
           2) ให้ตั้งอยู่ในความดี
           3) อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
           4) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
           5) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
           6) บอกทางสวรรค์ คือทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้
       In six ways the monks, thus served as the upper quarter, show their love for him:
           a) They keep him back from evil.
           b) They encourage him to do good.
           c) They feel for him with kindly thoughts.
           d) They teach him what he has not heard before.
           e) They correct and clarity what he has learnt.
           f) They show him the way to heaven.

       ผู้ปฏิบัติดังกล่าวนี้ชื่อว่า ปกปักรักษาทั่วทุกทิศให้เป็นแดนเกษมสุขปลอดภัย

D.III.189. 192 ที.ปา. 11/198-204/202-206.

[***] ธรรมคุณ 6 ดู [306] ธรรมคุณ 6
[***] ธาตุ 6 ดู [148] ธาตุ 6
[***] บัญญัติ 6 ดู [28] บัญญัติ 2, 6

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 8
[307] สังฆคุณ 9 (คุณของพระสงฆ์ — virtues of the Sangha; virtues or attributes of the community of noble disciples)
       1. สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี — Of good conduct is the community of noble disciples of the Blessed One)
       2. อุชุปฏิปนฺโน (เป็นผู้ปฏิบัติตรง — of upright conduct)
       3. ญายปฏิปนฺโน (เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง — of right conduct)
       4. สามีจิปฏิปนฺโน (เป็นผู้ปฏิบัติสมควร — of dutiful conduct; of proper conduct)
           ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา (ได้แก่ คู่บุรุษ 4 ตัวบุคคล 8 — namely, the four pairs of men, the eight types of individuals.)
           เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ (พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ — This community of the disciples of the Blessed One is)
       5. อาหุเนยฺโย (เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรรับของที่เขานำมาถวาย — worthy of gifts)
       6. ปาหุเนยฺโย (เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ — worthy of hospitality)
       7. ทกฺขิเณยฺโย (เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา, ควรแก่ของทำบุญ — worthy of offerings)
       8. อญฺชลีกรณีโย (เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี, ควรแก่การกราบไหว้ — worthy of reverential salutation)
       9. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส (เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก, เป็นแหล่งปลูกฝังและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก — the incomparable field of merit or virtue for the world)

M.I.37;
A.III.286
ม.มู. 12/95/67;
องฺ.ฉกฺก. 22/281/318.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 8
[311] วิปัสสนาญาณ 9 (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง — insight-knowledge)
       1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall)
       2. ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution)
       3. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น -- knowledge of the appearance as terror)
       4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages)
       5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion)
       6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance)
       7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป — knowledge of reflective contemplation)
       8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations)
       9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge)

       ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์ — Comprehension-knowledge) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ

       ดู [285] วิสุทธิ 7; [345] ญาณ 16

Ps.I.I;
Vism.630-671;
Comp.210.
ขุ.ปฏิ. 31/1/1;
วิสุทธิ. 3/262-319;
สงฺคห. 55.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 8
[323] ทศพลญาณ (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง — the Ten Powers of the Perfect One)
       1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฏธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน — knowledge of instance and no instance; knowledge of possibilities and impossibilities)
       2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน — knowledge of ripening of action; knowledge of the results of karma)
       3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร — knowledge of the way that leads anywhere; knowledge of the practice leading to all destinies and all goals)
       4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นเอนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิการปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะ และธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น — knowledge of the world with its many and different elements)
       5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน — knowledge of the different dispositions of beings)
       6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ — knowledge of the state of faculties of beings; knowledge of the inferiority and superiority of the controlling faculties of various beings; knowledge as regards maturity of persons)
       7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ่ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย — knowledge of defilement, cleansing and emergence in the cases of the meditations, liberations, concentrations and attainments)
       8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ — knowledge of the remembrance of former existences)
       9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม -- knowledge of the decease and rebirth of beings)
       10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย — knowledge of the exhaustion of mental intoxicants)

M.I.69;
A.V.33;
Vbh.336.
ม.มู. 12/166/140;
องฺ.ทสก. 24/21/35;
อภิ.วิ. 35/839/454.

[***] ทศพิธราชธรรม ดู [326] ราชธรรม 10.
[***] ธรรมจริยา 10 เป็นอีกชื่อหนึ่งของ [320] กุศลกรรมบถ 10.
[***] ธรรมมีอุปการะมาก 10 ดู [324] นาถกรณธรรม 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 8
[325] บารมี 10 หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น — perfections)
       1. ทาน (การให้ การเสียสละ — giving; charity; generosity; liberality)
       2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย — morality; good conduct)
       3. เนกขัมมะ (การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม — renunciation)
       4. ปัญญา (ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง — wisdom; insight; understanding)
       5. วิริยะ (ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ — energy; effort; endeavour)
       6. ขันติ (ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส — forbearance; tolerance; endurance)
       7. สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ — truthfulness)
       8. อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่ — resolution; self-determination)
       9. เมตตา (ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ — loving-kindness; friendliness)
       10. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใดๆ — equanimity; indifference to praise and blame in the performance of duty)

       ทศบารมีนี้ เรียงตามที่ถือว่าได้บำเพ็ญในทศชาติ (จัดแบบไทย) ดังนี้
       1. พระเตมีย์ — เนกขัมมะ (ข้อที่ 3)
       2. พระมหาชนก — วิริยะ (5)
       3. พระสุวรรณสาม — เมตตา (9)
       4. พระเนมิราช — อธิษฐาน (8)
       5. พระมโหสถ — ปัญญา (4)
       6. พระภูริทัตต์ — ศีล (2)
       7. พระจันทกุมาร — ขันติ (6)
       8. พระนารท — อุเบกขา (10)
       9. พระวิธุร — สัจจะ (7)
       10. พระเวสสันดร — ทาน (1)

       บารมีนั้น ท่านกล่าวว่าจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ต้องครบ 3 ขั้น คือ
       1. บารมี (ระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย — ordinary perfections)
       2. อุปบารมี (ระดับรองหรือจวนจะสูงสุด เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การเสียสละอวัยวะเป็นทาน — superior perfections)
       3. ปรมัตถบารมี (ระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น — supreme perfections)

       บำเพ็ญทั้ง 10 บารมี ครบ 3 ขั้นนี้ เรียกว่า สมตึสปารมี หรือ สมดึงสบารมี แปลว่า บารมี 30 ถ้วน.

Bv.6 ขุ.พุทฺธ. 33/1/414;
ขุ.จริยา. 33/36/596.

[***] บุญกิริยาวัตถุ 10 ดู [89]ุญกิริยาวัตถุ 10.
[***] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 ดู [248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10.
[***] มิจฉัตตะ ดู [334] มิจฉัตตะ 10.
[***] มูลเหตุการบัญญัติพระวินัย 10 ดู [327] วัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัย 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 8
[353] มงคล 38 (สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ — blessings; เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือมงคลอันสูงสุด — highest blessings)
       คาถาที่ 1
       1. อเสวนา จ พาลานํ (ไม่คบคนพาล — not to associate with fools; to dissociate from the wicked)
       2. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (คบบัณฑิต — to associate with the wise)
       3. ปูชา จ ปูชนียานํ (บูชาคนที่ควรบูชา — to honor those who are worthy of honor)

       คาถาที่ 2
       4. ปฏิรูปเทสวาโส จ (อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี — living in a suitable region; good environment)
       5. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น — having formerly done meritorious deeds)
       6. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (ตั้งตนไว้ชอบ — setting oneself in the right course; right direction in self-guidance; perfect self-adjustment)

       คาถาที่ 3
       7. พาหุสจฺจญฺจ (เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟัง ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ — great learning; extensive learning)
       8. สิปฺปญฺจ (มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน — skill; knowledge of the arts and sciences)
       9. วินโย จ สุสิกฺขิโต (มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี — highly trained discipline)
       10. สุภาสิตา จ ยา วาจา (วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี — well-spoken speech)

       คาถาที่ 4
       11. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (บำรุงมารดาบิดา — support of mother and father)
       12/13. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห (สงเคราะห์บุตร — cherishing of children) และ ทารสงฺคห (สงเคราะห์ภรรยา — cherishing of wife)
       14. อนากุลา จ กมฺมนฺตา (การงานไม่อากูล — a livelihood which is free from complications)
ท่านอธิบายว่า ได้แก่ อาชีพการงาน ที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาธุระ รู้จักกาล ไม่คั่งค้าง ย่อหย่อน -- spheres of work which are free from such unprofitableness as dilatoriness and tardiness. (ขุทฺทก.อ. 153; KhA.139).

       คาถาที่ 5
       15. ทานญฺจ (รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ — charity; liberality; generosity)
       16. ธมฺมจริยา จ (ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม — righteous conduct)
       17. ญาตกานญฺจ สงฺคโห (สงเคราะห์ญาติ — rendering aid to relations)
       18. อนวชฺชานิ กมฺมานิ (การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย — blameless actions; unexceptionable or beneficial activities)
ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น การสมาทานอุโบสถ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน เป็นต้น (ขุทฺทก.อ. 156; KhA.141)

       คาถาที่ 6
       19. อารตี วิรตี ปาปา (เว้นจากความชั่ว — abstaining from evils and avoiding them)
       20. มชฺชปานา จ สญฺญโม (เว้นจากการดื่มน้ำเมา — abstinence from intoxicants)
       21. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย — diligence in virtue; perseverance in virtuous acts)

       คาถาที่ 7
       22. คารโว จ (ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม — reverence; respect; appreciative action)
       23. นิวาโต จ (ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน — humility; courtesy; politeness)
       24. สนฺตุฏฺฐี จ (ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม — contentment)
       25. กตญฺญุตา (มีความกตัญญู — gratitude)
       26. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงาม และเรื่องที่เป็นประโยชน์ — the opportune hearing of the Doctrine; listening to good advice and the teaching of Truth on due occasions)

       คาถาที่ 8
       27. ขนฺตี จ (มีความอดทน — patience; forbearance; tolerance)
       28. โสวจสฺสตา (เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย, พูดกันง่าย ฟังเหตุผล — amenability to correction; obedience)
       29. สมณานญฺจ ทสฺสนํ (พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยียนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส — seeing the holy men)
       30. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันเกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์ — religious discussion at due seasons; regular or opportune discussion of Truth)

       คาถาที่ 9
       31. ตโป จ (มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก — self-control; simple life)
       32. พฺรหฺมจริยญฺจ (ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัตตามควร* — a holy life)
* พรหมจรรย์ในที่นี้ มุ่งเอาอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลัก แต่จะตีความแคบหมายถึงเมถุนวิรัติก็ได้ ความหมายอย่างหย่อนสำหรับคฤหัสถ์ คือ ถือพรหมจรรย์ในบุคคลที่มิใช่คู่ครอง หรือถือเด็ดขาดในวันอุโบสถ เป็นต้น

       33. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ (เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต — discernment of the Noble Truths)
       34. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน — realization of Nibbana)

       คาถาที่ 10
       35. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว — to have a mind which is not shaken when touched by worldly vicissitudes)
       36. อโสกํ (จิตไร้เศร้า — to have the mind which is free from sorrow)
       37. วิรชํ (จิตปราศจากธุลี — to have the mind which is undefiled)
       38. เขมํ (จิตเกษม — to have the mind which is secure)

       แต่ละคาถามีบทสรุปว่า “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” (นี้เป็นมงคลอันอุดม — this is the highest blessing)
       มีคาถาสรุปท้ายมงคลทั้ง 38 นี้ว่า
           “เอตาทิสานิ กตฺวานสพฺพตฺถมปราชิตา
           สพฺพตฺถ โสตฺถี คจฺฉนฺติตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ.”
       แปลว่า “เทวะมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คืออุดมมงคลของเทวะมนุษย์เหล่านั้น.” (Those who have done these things see no defeat and go in safety everywhere. To them these are the highest blessings.)

Kh.V.3;
Sn.259-268.
ขุ.ขุ. 25/5/3;
ขุ.สุ. 25/317/376.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 8
[355] เจตสิก 52 (ธรรมที่ประกอบกับจิต, สภาวธรรมที่เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกันกับจิต, อาการและคุณสมบัติต่างๆ ของจิต - mental factors; mental concomitants)
       ก. อัญญาสมานาเจตสิก 13 (เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพวกเดียว - the Common-to-Each-Other; general mental factors)
           1) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 7 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง - universal mental factors; the Primary)
               1. ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์ - contact; sense-impression)
               2. เวทนา (ความเสวยอารมณ์ - feeling)
               3. สัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ - perception)
               4. เจตนา (ความจงใจต่ออารมณ์ - volition)
               5. เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว - one-pointedness; concentration)
               6. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง - vitality; life-faculty)
               7. มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ - attention)

           2) ปกิณณกเจตสิก 6 (เจตสิกที่เรี่ยรายแพร่กระจายทั่วไป คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง - particular mental factors; the Secondary)
               8. วิตก (ความตรึกอารมณ์ - initial application; thought conception; applied thought)
               9. วิจาร (ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์ - sustained application; discursive thinking; sustained thought)
               10. อธิโมกข์ (ความปลงใจหรือปักใจในอารมณ์ - determination; resolution)
               11. วิริยะ (ความเพียร - effort; energy)
               12. ปีติ (ความปลาบปลื้มในอารมณ์, อิ่มใจ - joy; interest)
               13. ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์ - conation; zeal)

       ข. อกุศลเจตสิก 14 (เจตสิกฝ่ายอกุศล - immoral or unwholesome mental factors; unprofitable mental factors)
           1) สัพพากุสลสาธารณเจตสิก 4 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง - universal immorals; the Primary)
               14. โมหะ (ความหลง - delusion)
               15. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป - shamelessness; lack of moral shame)
               16. อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป - fearlessness; lack of moral dread)
               17. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน - restlessness; unrest)

           2) ปกิณณกอกุศลเจตสิก 10 (อกุศลเจตสิกที่เกิดเรี่ยรายแก่อกุศลจิต - particular immorals; the Secondary)
               18. โลภะ (ความอยากได้อารมณ์ - greed)
               19. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด - wrong view)
               20. มานะ (ความถือตัว - conceit)
               21. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย - hatred)
               22. อิสสา (ความริษยา - envy; jealousy)
               23. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ - stinginess; meanness)
               24. กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ - worry; remorse)
               25. ถีนะ (ความหดหู่ - sloth)
               26. มิทธะ (ความง่วงเหงา - torpor)
               27. วิจิกิจฉา (ความคลางแคลงสงสัย - doubt; uncertainty; scepsis)

       ค. โสภณเจตสิก 25 (เจตสิกฝ่ายดีงาม - beautiful mental factors; lofty mental factors)
           1) โสภณสาธารณเจตสิก 19 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตดีงามทุกดวง - universal beautiful mental factors; the Primary)
               28. สัทธา (ความเชื่อ - confidence; faith)
               29. สติ (ความระลึกได้, ความสำนึกพร้อมอยู่ - mindfulness)
               30. หิริ (ความละอายต่อบาป - moral shame; conscience)
               31. โอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวต่อบาป - moral dread)
               32. อโลภะ (ความไม่อยากได้อารมณ์ - non-greed)
               33. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย - non-hatred)
               34. ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ - equanimity; specific neutrality)
               35. กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งกองเจตสิก - tranquillity of mental body)
               36. จิตตปัสสัทธิ (ความสงบแห่งจิต - tranquillity of mind)
               37. กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก - lightness of mental body; agility of ~)
               38. จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต - lightness of mind; agility of ~)
               39. กายมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก - pliancy of mental body; elasticity of ~)
               40. จิตตมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต - pliancy of mind; elasticity of ~)
               41. กายกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งกองเจตสิก - adaptability of mind; wieldiness of ~)
               42. จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งจิต - adaptability of mind; wieldiness of ~)
               43. กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก - proficiency of mental body)
               44. จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต - proficiency of mind)
               45. กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก - rectitude of mental body; uprightness of ~)
               46. จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต - rectitude of mind; uprightness of ~)

           2) วิรตีเจตสิก 3 (เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น - abstinences)
               47. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ - right speech)
               48. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ - right action)
               49. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ - right livelihood)

           3) อัปปมัญญาเจตสิก 2 (เจตสิกคืออัปปมัญญา - boundless states)
               50. กรุณา (ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์ - compassion)
               51. มุทิตา (ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข - sympathetic joy)

           4) ปัญญินทรีย์เจตสิก 1 (เจตสิกคือปัญญินทรีย์ - faculty of wisdom)
               52. ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ (ความรู้เข้าใจ ไม่หลง - undeludedness; wisdom)

Comp. 94 สงฺคห. 7.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ุญ&detail=on&nextseek=259
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D8%AD&detail=on&nextseek=259


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]