ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 4 ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[153] บุคคล 4 (ประเภทของบุคคล - four kinds of persons)
       1. อุคฆฏิตัญญู (ผู้ที่พอยกหัวข้อก็รู้, ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง - a person of quick intuition; the genius; the intuitive)
       2. วิปจิตัญญ (ผู้รู้ต่อเมื่อขยายความ, ผู้รู้เข้าใจได้ ต่อเมื่อท่านอธิบายความพิสดารออกไป - a person who understands after a detailed treatment; the intellectual)
       3. เนยยะ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้, ผู้ที่พอจะค่อยชี้แจงแนะนำให้เข้าใจได้ ด้วยวิธีการฝึกสอนอบรมต่อไป - a person who is guidable; the trainable)
       4. ปทปรมะ (ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง, ผู้อับปัญญา สอนให้รู้ได้แต่เพียงตัวบทคือพยัญชนะหรือถ้อยคำ ไม่อาจเข้าใจอรรถคือความหมาย - a person who has just word of the text at most; an idiot)

A.II.135;
Pug 41;
Nett.7,125.
องฺ.จตุกฺก. 21/133/183;
อภิ.ปุ. 36/108/185.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[154] ปฏิปทา 4 (แนวปฏิบัติ, ทางดำเนิน, การปฏิบัติแบบที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมาย คือความหลุดพ้นหรือความสิ้นอาสวะ - modes of practice; modes of progress to deliverance)
       1. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะ แรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น อีกทั้งอินทรีย์ก็อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า พระจักขุบาลอาจเป็นตัวอย่างในข้อนี้ได้ - painful progress with slow insight)
       2. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น แต่มีอินทรีย์แก่กล้า จึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระมหาโมคคัลลานะเป็นตัวอย่าง - painful progress with quick insight)
       3. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสบาย แต่รู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะ นั้น เนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต แต่มีอินทรีย์อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า - pleasant progress with slow insight)
       4. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสบาย ทั้งรู้ได้ไว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นเนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต อีกทั้งมีอินทรีย์แก่กล้าจึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง - pleasant progress with quick insight)

A.II.149-152,154-5 องฺ.จตุกฺก. 21/161-163/200-204; 167-168/207-209.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[155] ปฏิสัมภิทา 4 (ปัญญาแตกฉาน - analytic insight; discrimination)
       1. อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย, เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล - discrimination of meanings; analytic insight of consequence)
       2. ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก, เห็นอรรถาธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ - discrimination of ideas; analytic insight of origin)
       3. นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ, ปรีชาแจ้งในภาษา, รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจ้งให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ - discrimination of language; analytic insight of philology)
       4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ, มีไหวพริบ ซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้าสร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณีเข้ากับเหตุการณ์ - discrimination of sagacity; analytic insight of ready wit; initiative; creative and applicative insight)

A.II.160;
Ps.I.119;
Vbh.294.
องฺ.จตุกฺก. 21/172/216;
ขุ.ปฏิ. 31/268/175;
อภิ.วิ. 35/784/400.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[156] ปธาน 4 (ความเพียร - effort; exertion)
       1. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น - the effort to prevent; effort to avoid)
       2. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - the effort to abandon; effort to overcome)
       3. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี - the effort to develop)
       4. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ - the effort to maintain)

       ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4 (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ - right exertions; great or perfect efforts).

A.II.74,16,15. องฺ.จตุกฺก. 21/69/96; 14/20; 13/19.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[157] ปรมัตถธรรม 4 (สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด - ultimate realities; abstract realities; realities in the ultimate sense)
       1. จิต (สภาพที่คิด, ภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ - consciousness; state of consciousness)
       2. เจตสิก (สภาวะที่ประกอบกับจิต, คุณสมบัติและอาการของจิต - mental factors)
       3. รูป (สภาวะที่เป็นร่าง พร้อมทั้งคุณและอาการ - matter; corporeality)
       4. นิพพาน (สภาวะที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง, สภาวะที่ปราศจากตัณหา)

       ดู รายละเอียดแต่ละอย่างใน [356] จิต 89; [355] เจตสิก 52; [38] รูป 28; [27] นิพพาน 2.

Comp.81. สงฺคห. 1

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส - those who measure, judge or take standard)
       1. รูปประมาณ (ผู้ถือประมาณในรูป, บุคคลที่มองเห็นรูปร่างสวยงาม ทรวดทรงดี อวัยวะสมส่วน ท่าทางสง่า สมบูรณ์พร้อม จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by from or outward appearance; one whose faith depends on good appearance)
       2. โฆษประมาณ (ผู้ถือประมาณในเสียง, บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเสียงสรรเสริญ เกียรติคุณหรือเสียงพูดจาที่ไพเราะ จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by voice or reputation; one whose faith depends on sweet voice or good reputation)
       3. ลูขประมาณ (ผู้ถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองเช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำคร่ำเครียดเป็นทุกรกิริยา ประพฤติเคร่งครัดเข้มงวดขูดเกลาตน จึงชอบใจ เลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by shabbiness, mediocrity or hard life; one whose faith depends on shabbiness or ascetic or self-denying practices)
       4. ธรรมประมาณ (ผู้ถือประมาณในธรรม, บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรมหรือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชอบใจเลื่อมใส น้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by the teaching or righteous behavior; one whose faith depends on right teachings and practices)

       บุคคล 3 จำพวกต้น ยังมีทางพลาดได้มาก โดยอาจเกิดความคิดใคร่ ถูกครอบงำชักพาไปด้วยความหลง ถูกพัดวนเวียนหรือติดอยู่แค่ภายนอก ไม่รู้จักคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริงและไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมเป็นประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไป เข้าถึงธรรมที่ปราศจากสิ่งครอบคลุม
       พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสี่ข้อ (เฉพาะข้อ 3 ทรงถือแต่พอดี) จึงทรงครองใจคนทุกจำพวกได้ทั้งหมด คนที่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่จะไม่เลื่อมใสนั้น หาได้ยากยิ่งนัก
       ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ

A.II.71;
Pug.7,53;
DhA.114;
SnA.242.
องฺ.จตุกฺก. 21/65/93;
อภิ.ปุ. 36/10/135; 133/204;
ธ.อ. 5/100;
สุตฺต.อ. 1/329.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[159] ปัจจัย 4 (สิ่งค้ำจุนชีวิต, สิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิต, สิ่งที่ต้องอาศัยเลี้ยงอัตตภาพ - the four necessities of life; requisites)
       1. จีวร (ผ้านุ่งห่ม - robes; clothing)
       2. บิณฑบาต (อาหาร - almsfood; food)
       3. เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย, ที่นั่งที่นอน - lodging)
       4. คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือ เภสัช (ยาและอุปกรณ์รักษาโรค - medicine; medical equipment)

       สี่อย่างนี้ สำหรับภิกษุ จำกัดเข้าอีกเรียกว่า นิสสัย 4 แปลว่า เครื่องอาศัยของบรรพชิต (resources; means of support on which the monastic life depends)
       1. ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง - almsfood of scraps; food obtained by going on the alms-gathering)
       2. บังสุกุลจีวร (ผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะหรือตามป่าช้า - discarded cloth taken from the rubbish heap or the charnel ground; rag-robes)
       3. รุกขมูลเสนาสนะ (อยู่อาศัยโคนไม้ - dwelling at the foot of a tree)
       4. ปูติมุตตเภสัช (ยาน้ำมูตรเน่า - medicines pickled in stale urine; ammonia as a medicine)

       ส่วนที่อนุญาตนอกเหนือจากนี้ เป็น อติเรกลาภ (extra acquisitions; extra allowance)

Vin.1.58 วินย. 4/87/106

[***] ปัญญาวุฒิธรรม 4 ดู [179] วุฒิธรรม 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[160] ปาริสุทธิศีล 4 (ศีลคือความบริสุทธิ์, ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์, ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล - morality consisting in purity; morality for purification; morality of pure conduct)
       1. ปาฏิโมกขสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย - restraint in accordance with the monastic disciplinary code)
       2. อินทรียสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 - restraint of the senses; sense-control)
       3. อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา มีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพเป็นต้น - purity of conduct as regards livelihood)
       4. ปัจจัยสันนิสิตศีล (ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา - pure conduct as regards the necessaries of life)

Vism.16;
Comp.212
วิสุทฺธิ. 1/19;
สงฺคห. 55.

[***] ผล 4 ดู [165] ผล 4.
[***] พร 4 ดู [227] พร 5.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[161] พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)
       1. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
       2. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
       3. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
       4. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)

       ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
       พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones)
       พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต
       พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.
       อนึ่ง ในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติและวิบัติของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้
       ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
       1. เมตตา = (มีน้ำใจ)เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
       2. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
       3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
       4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่า สัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง

       ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)
       1. เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
       2. กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
       3. มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
       4. อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร

       ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)
       1. เมตตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
       2. กรุณา: สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
       3. มุทิตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
       4. อุเบกขา: สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)

       ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป
       1. เมตตา: ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ
       2. กรุณา: ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
       3. มุทิตา: ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
       4. อุเบกขา: ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ

       จ. ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
       1. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
       2. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
       3. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
       4. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

       พึงทราบด้วยว่า
       ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้
       การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง
       สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น

AIII.226;
D.III.220;
Vism.320.
องฺ.ปญฺจก 22/192/252;
อภิ.สํ. 34/190/75;
วิสุทธิ. 2/124

[***] พละ 4 ดู [229] พละ 4
[***] พุทธลีลาในการสอน 4 ดู [172] ลีลาการสอน 4.
[***] ภาวนา 4 ดู [37] ภาวนา 4.
[***] ภาวิต 4 ดู [37] ภาวิต 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[162] ภูมิ 4 (ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต - planes of consciousness; planes of existence; degrees of spiritual development)
       1. กามาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม, ระดับจิตใจที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ คือยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ, ระดับจิตใจของสัตว์ในกามภพทั้ง 11 ชั้น - sensuous plane)
       2. รูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้ฌานหรือผู้อยู่ในรูปภพทั้ง 16 ชั้น - form-plane)
       3. อรูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภอรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้อรูปฌาน หรือผู้อยู่ในอรูปภพทั้ง 4 ชั้น - formless plane)
       4. โลกุตตรภูมิ (ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับแห่งโลกุตตรธรรม, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้าอันพ้นแล้วจากโลกียภูมิ 3 ข้างต้น - supramundane plane) ข้อนี้ในบาลีที่มาเรียกว่า อปริยาปันนภูมิ.

       ดู [98] ภพ 3 และ [351] ภูมิ 4, 31 ด้วย.

Ps.I.83. ขุ.ปฏิ. 31/171/122.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[163] โภควิภาค 4 (การแบ่งโภคะเป็น 4 ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน - fourfold division of money)
       1. เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย (1 ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ - On one part he should live and do his duties towards others.)
       2-3. ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย (2 ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน - With two parts he should expand his business.)
       4. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย (อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น - And he should save the fourth for a rainy day.)

D.III.188. ที.ปา. 11/197/202

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[164] มรรค 4 (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด - the path)
       1. โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส - the path of stream-entry)
       2. สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง - the path of once-returning)
       3. อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง 5 - the path of non-returning)
       4. อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10 - the path of Arahantship).

       ดู [329] สังโยชน์ 10.

Vbh.335. อภิ.วิ. 35/837/453.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[165] ผล 4 (ผลที่เกิดสืบเนื่องจากการละกิเลสได้ด้วยมรรค, ธรรมารมณ์อันพระอริยะพึงเสวย ที่เป็นผลเกิดเองในเมื่อกิเลสสิ้นไปด้วยอำนาจมรรคนั้นๆ - fruition)
       1. โสดาปัตติผล (ผลแห่งการเข้าถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพาน, ผลอันพระโสดาบันพึงเสวย - fruition of stream-entry)
       2. สกทาคามิผล (ผลอันพระสกทาคามีพึงเสวย - fruition of once-returning)
       3. อนาคามิผล (ผลอันพระอนาคามีพึงเสวย - fruition of non-returning)
       4. อรหัตตผล (ผลคือความเป็นพระอรหันต์, ผลอันพระอรหันต์พึงเสวย - fruition of Arahantship)

       ผล 4 นี้ บางทีเรียกว่า สามัญญผล (ผลของความเป็นสมณะ, ผลแห่งการบำเพ็ญสมณธรรม - fruits of a monk's life; fruits of the monkhood)

D.III.227; Vbh.335. ที.ปา. 11/242/240;
อภิ.วิ. 35/837/453.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[166] มหาปเทส 4 (ที่อ้างอิงข้อใหญ่, หลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียง หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักทั่วไป - great authorities; principal references or citations)
       1. หากมีภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: “Face to face with the Blessed One did I hear this; face to face with him did I receive this. This is the Doctrine, this is the Discipline, this is the Master's teaching.”)
       2. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: “In such and such a monastery resides an Order together with an elder monk, together with a leader. Face to face with that Order did I hear this; . . .)
       3. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (คือชำนาญในพุทธพจน์ทั้ง 5 นิกาย) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: “In such and such a monastery reside a great number of elder monks, widely learned, versed in the Collections, experts on the Doctrine, experts on the Discipline, experts on the Summaries, In the presence of those monks did I hear this; . . .)
       4. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่รูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (A monk might say: “In such and such a monastery resides an elder monk of wide learning. . . .)

       เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตรเทียบดูในวินัย (The words of that monk are neither to be welcomed nor scorned, the words and syllables thereof are to be studied thoroughly, laid beside the Discourses and compared with the Discipline.)

       ก. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้นพระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย (If, when laid beside the Discourses and compared with the Discipline, these words and syllables lie not along with the Discourses and agree not with the Discipline then you nay come to the conclusion; Surely this is not the word of the Blessed One, and it has been wrongly grasped by that monk. Then reject it.)
       ข. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี (If . . . they lie along with the Discourses and agree with the Discipline . . . Surely this is the word of the Blessed One . . .)

       โดยสรุป คือ การยกข้ออ้างหรือหลักฐาน 4 (the four principal appeals to authority) คือ
       1. พุทธาปเทส (ยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง - the appeal to the Enlightened One as authority)
       2. สังฆาปเทส (ยกเอาพระสงฆ์ขึ้นอ้าง - the appeal to a community of monks or an Order as authority)
       3. สัมพหุลัตเถราปเทส (ยกเอาพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้าง - the appeal to a number of elders as authority)
       4. เอกเถราปเทส (ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นอ้าง - the appeal to a single elder as authority)

D.II.123;
A.II.167.
ที.ม. 10/113-116/144;
องฺ.จตุกฺก. 21/180/227.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[167] มหาปเทส 4 หมวดที่ 2 เฉพาะในทางพระวินัย (great authorities; principal references)
       1. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร (Whatever has not been objected to as not allowable, if it fits in with what is not allowable and goes against what is allowable, that is not allowable.)
       2. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร (Whatever has not been objected to as not allowable, if it fits in with what is allowable and goes against what is not allowable, that is allowable.)
       3. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร (Whatever has not been permitted as allowable, if it fits in with what is not allowable and goes against what is allowable, that is not allowable.)
       4. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร (Whatever has not been permitted as allowable, of it fits in with what is allowable and goes against what is not allowable, that is allowable.)

Vin.I.250 วินย. 5/92/131.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[168] มิตรปฏิรูปก์ หรือ มิตรเทียม 4 (คนเทียมมิตร, คนที่พึงทราบว่า เป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร - false friends; foes in the guise of friends)
       1. คนปอกลอก คนขนเอาของเพื่อนไปถ่ายเดียว (อัญญทัตถุหร - the out-and-out robber) มีลักษณะ 4 คือ
           1) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
           2) ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอามาก
           3) ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
           4) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์
           a) He appropriates his friend's possessions.
           b) Giving little, he expects a lot in return.
           c) He gives a helping hand only when he himself is in danger.
           d) He makes friends with others only for his own interests.
       2. คนดีแต่พูด (วจีบรม - the man who pays lip-service) มีลักษณะ 4 คือ
           1) ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
           2) ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
           3) สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
           4) เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
           a) He speaks you fair about the past.
           b) He speaks you fair about the future
           c) He tries to gain your favor by empty sayings.
           d) When tries to gain your favor by empty sayings.
       3. คนหัวประจบ (อนุปปิยภาณี - the flatterer) มีลักษณะ 4 คือ
           1) จะทำชั่วก็เออออ
           2) จะทำดีก็เออออ
           3) ต่อหน้าสรรเสริญ
           4) ลับหลังนินทา
           a) He consents to your doing wrong.
           b) He consents to your doing right.
           c) He sings your praises to your face.
           d) He runs your down behind your back.
       4. คนชวนฉิบหาย (อปายสหาย - the leader to destruction) มี ลักษณะ 4 คือ
           1) คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
           2) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
           3) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
           4) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
           a) He is your companion when you indulge in drinking.
           b) He is your companion when you roam the streets at unseemly hours.
           c) He is your companion when you frequent shows and fairs.
           d) He is your companion when you indulge in gambling.

D.III.185. ที.ปา. 11/186/199.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[169] สุหทมิตร หรือ มิตรแท้ 4 (มิตรมีใจดี, มิตรที่จริงใจ - true friends; true-hearted friends)
       1. มิตรอุปการะ (อุปการกะ - the helper) มีลักษณะ 4 คือ
           1) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
           2) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
           3) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
           4) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
           a) He guards you when you are off your guard.
           b) He guards your property when you are off your guard.
           c) He is a refuge to you when you are in danger.
           d) He provides a double supply of what you may ask in time of need.
       2. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ (สมานสุขทุกข์ - the man who is the same in weal and woe) มีลักษณะ 4 คือ
           1) บอกความลับแก่เพื่อน
           2) ปิดความลับของเพื่อน
           3) มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง
           4) แม้ชีวิตก็สละให้ได้
           a) He tells you his secrets.
           b) He keeps secret your secrets.
           c) He does not forsake you in your troubles.
           d) He can even die for your sake.
       3. มิตรแนะประโยชน์ (อัตถักขายี - the man who gives good counsel) มีลักษณะ 4 คือ
           1) จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
           2) คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
           3) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
           4) บอกทางสุขทางสวรรค์ให้
           a) He keeps you back from evil.
           b) He encourages you to do good.
           c) He informs you of what you have not heard.
           d) He shows you the way to heaven.
       4. มิตรมีน้ำใจ (อนุกัมปกะ มิตรมีความรักใคร่ หรือมิตรผู้รักใคร่เอ็นดู - the man who sympathizes) มีลักษณะ 4 คือ
           1) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)
           2) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)
           3) เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
           4) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน
           a) He does not rejoice over your misfortunes.
           b) He rejoices in your good fortune.
           c) He protests against anyone who speaks ill of you.
           d) He admires those who speak well of you.

D.III.187. ที.ปา. 11/192/201.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[170] โยคะ 4 (สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกกรรมไว้กับวิบาก - the Four Bonds) ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา เหมือนในอาสวะ 4.

       ดู [136] อาสวะ 4.

D.III.230;
A.II.10;
Vbh.374.
ที.ปา. 11/259/242;
องฺ.จตุกฺก. 21/10/13;
อภิ.วิ. 35/963/506.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[171] โยนิ 4 (กำเนิด, แบบหรือชนิดของการเกิด - ways or kinds of birth; modes of generation)
       1. ชลาพุชะ (สัตว์เกิดในครรภ์ คือ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน โค สุนัข แมว เป็นต้น - the viviparous; womb-born creatures)
       2. อัณฑชะ (สัตว์เกิดในไข่ คือ ออกไข่เป็นฟองก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น - the oviparous; egg-born creatures)
       3. สังเสทชะ (สัตว์เกิดในไคล คือ เกิดในของชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย ขยายแพร่ออกไปเอง เช่น กิมิชาติบางชนิด - putrescence-born creatures; moisture-born creatures)
       4. โอปปาติกะ (สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางพวก และเปรตบางพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ - spontaneously born creatures; the apparitional)

D.III.230;
M.I.73.
ที.ปา. 11/263/242;
ม.มู. 12/169/147.

[***] ราชสังคหวัตถุ 4 ดู [187] สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[172] ลีลาการสอน หรือ พุทธลีลาในการสอน หรือ เทศนาวิธี 4 (การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง แม้ที่เป็นเพียงธรรมีกถา หรือการสนทนาทั่วไป ซึ่งมิใช่คราวที่มีความมุ่งหมายเฉพาะพิเศษ ก็จะดำเนินไปอย่างสำเร็จผลดีโดยมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ 4 ประการ - the Buddha's style or manner of teaching)
       1. สันทัสสนา (ชี้แจงให้เห็นชัด คือ จะสอนอะไร ก็ชี้แจงจำแนกแยกแยะอธิบายและแสดงเหตุผลให้ชัดเจน จนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นจริงเห็นจัง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา - elucidation and verification)
       2. สมาทปนา (ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรปฏิบัติหรือหัดทำ ก็แนะนำหรือบรรยายให้ซาบซึ้งในคุณค่า มองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝนบำเพ็ญ จนใจยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ - incitement to take upon oneself; inspiration towards the Goal)
       3. สมุตเตชนา (เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า คือ ปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้น เกิดความอุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ สู้งาน ไม่หวั่นระย่อไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวยาก - urging; encouragement; animation; filling with enthusiasm)
       4. สัมปหังสนา (ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง คือ บำรุงจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป ทำให้ผู้ฟังมีความหวังและร่าเริงเบิกบานใจ - gladdening; exhilaration; filling with delight and joy)

       อรรถกถาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อ 1 ปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว ข้อ 2 ปลดเปลื้องความประมาท ข้อ 3 ปลดเปลื้องความอืดคร้าน ข้อ 4 สัมฤทธิ์ การปฏิบัติ จำ 4 ข้อนี้สั้นๆ ว่า ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริง หรือ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

D.I.126; ete.;
DA.II.473;
UdA.242,361, 384
ที.สี. 9/198/161; ฯลฯ,
ที.อ. 2/89;
อุ.อ. 304,457,490


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_4&nextseek=173
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_4&nextseek=173


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]