ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ วก ”             ผลการค้นหาพบ  5  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 5
[109] วิเวก 3 (ความสงัด, ความปลีกออก — seclusion)
       1. กายวิเวก (ความสงัดกาย ได้แก่ อยู่ในที่สงัดก็ดี ดำรงอิริยาบถและเที่ยวไปผู้เดียวก็ดี - bodily seclusion; i.e.solitude)
       2. จิตตวิเวก (ความสงัดใจ ได้แก่ทำจิตให้สงบผ่องใส สงัดจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัย เป็นต้น หมายเอาจิตแห่งท่านผู้บรรลุฌาน และอริยมรรค อริยผล - mental seclusion, i.e. the state of Jhana and the Noble Paths and Fruitions)
       3. อุปธิวิเวก (ความสงัดอุปธิ ได้แก่ธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง ปราศจากกิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ที่เรียกว่าอุปธิ หมายเอาพระนิพพาน - seclusion from the essentials of existence, i.e. Nibbana)

Nb 26,140,157,341 ขุ.ม. 29/33/29; 229/170

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 5
[222] นวกภิกขุธรรม 5 (ธรรมที่ควรฝึกสอนภิกษุบวชใหม่ให้ประพฤติ ปฏิบัติอย่างมั่นคง, องค์แห่งภิกษุใหม่ — qualities of a newly ordained monk; qualities which should be established in newly ordained monks)
       1. ปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์ รักษาศีลเคร่งครัด ทั้งในส่วนเว้นข้อห้าม และทำตามข้ออนุญาต — restraint in accordance with the monastic code of discipline; self-control strictly in accordance with the fundamental training-rules)
       2. อินทรีย์สังวร (สำรวมอินทรีย์ มีสติระวังรักษาใจ มิให้กิเลสคือความยินดี ยินร้ายเข้าครอบงำ ในเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 มีเห็นรูปด้วยตาเป็นต้น — restraint of the senses; sense-control)
       3. ภัสสปริยันตะ (พูดคุยมีขอบเขต คือ จำกัดการพูดคุยให้น้อย รู้ขอบเขต ไม่เอิกเกริกเฮฮา — restraint as regards talking)
       4. กายวูปกาสะ (ปลีกกายอยู่สงบ คือ เข้าอยู่ในเสนาสนะอันสงัด — seclusion as to the body; love of solitude)
       5. สัมมาทัสสนะ (ปลูกฝังความเห็นชอบ คือ สร้างเสริมสัมมาทิฏฐิ — cultivation of right views.)

A.III 138. องฺ.ปญฺจก. 22/114/156

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 5
[224] นิโรธ 5 (ความดับกิเลส, ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้น — extinction; cessation of defilements)
       1. วิกขัมภนนิโรธ (ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น — extinction by suppression)
       2. ตทังคนิโรธ (ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ — extinction by substitution of opposites)
       3. สมุจเฉทนิโรธ (ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อสมุจเฉทนิโรธ — extinction by cutting off or destruction)
       4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ (ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรคดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้นชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ — extinction by tranquillization)
       5. นิสสรณนิโรธ (ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน — extinction by escape; extinction by getting freed)

       ปหาน 5 (การละกิเลส — abandonment), วิมุตติ 5 (ความหลุดพ้น — deliverance), วิเวก 5 (ความสงัด, ความปลีกออก — seclusion), วิราคะ 5 (ความคลายกำหนัด, ความสำรอกออกได้ — detachment; dispassionateness), โวสสัคคะ 5 (ความสละ, ความปล่อย — relinquishing) ก็อย่างเดียวกันนี้ทั้งหมด

Ps.I.27,220-221;
Vism.410
ขุ.ปฏิ. 31/65/39; 704/609;
วิสุทธิ. 2/249.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 5
[247] อภิณหปัจจเวกขณ์ 5 (ข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ — ideas to be constantly reviewed; facts which should be again and again contemplated)
       1. ชราธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ — He should again and again contemplate: I am subject to decay and I cannot escape it.)
       2. พยาธิธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ — I am subject to disease and I cannot escape it.)
       3. มรณธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ — I am subject to death and I cannot escape it.)
       4. ปิยวินาภาวตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น — There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
       5. กัมมัสสกตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาท ของกรรมนั้น — I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)

       ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ 5 อย่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อละสาเหตุต่างๆ มี ความมัวเมา เป็นต้น ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท และประพฤติทุจริตทางไตรทวาร กล่าวคือ :-
       ข้อ 1 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย
       ข้อ 2 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี
       ข้อ 3 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต
       ข้อ 4 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย
       ข้อ 5 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ โดยตรง

       เมื่อพิจารณาขยายวงออกไป เห็นว่ามิใช่ตนผู้เดียวที่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่เป็นคติธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่จะต้องเป็นไป เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้เสมอๆ มรรคก็จะเกิดขึ้น เมื่อเจริญมรรคนั้นมากเข้า ก็จะละสังโยชน์ทั้งหลาย สิ้นอนุสัยได้.

A.III.71. องฺ.ปญฺจก. 22/57/81.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 5
[248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ — ideas to be constantly reviewed by a monk; facts which the monk should again and contemplate)
       บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า (เติมลงหน้าข้อความทุกข้อ)
       1. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว (I have come to a status different from that of a layman.)
๑. ในนวโกวาท มีต่อว่า “อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”

           ข้อนี้บาลีว่า “เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต” ในที่นี้แปล เววณฺณิย ว่า ความมีเพศต่าง (จากคฤหัสถ์) แต่หลายท่าน แปลว่า ความปราศจากวรรณะ (casteless state) คือเป็นคนนอกระบบชนชั้น หรือ หมดวรรณะ คือ หมดฐานะในสังคม หรือเป็นคนนอกสังคม (outcast) ความต่าง หรือปราศจาก หรือหมดไปนี้ อรรถกถาอธิบายว่า เป็นไปในสองทาง คือ ทางสรีระ เพราะปลงผมและหนวดแล้ว และทางบริขาร คือเครื่องใช้ เพราะแต่ก่อนครั้งเป็นคฤหัสถ์ เคยใช้ผ้าดีๆ รับประทานอาหารรสเลิศในภาชนะเงินทอง เป็นต้น ครั้งบวชแล้ว ก็นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดฉันอาหาร คลุกเคล้าในบาตรเหล็กบาตรดิน ปูหญ้านอนต่างเตียง เป็นต้น
           ส่วนวัตถุประสงค์แห่งการพิจารณาธรรมข้อนี้ อรรถกถาแก้ว่า จะละความกำเริบใจ (ความจู้จี้เง้างอน) และมานะ (ความถือตัว) เสียได้.
       2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น (คือต้องอาศัยผู้อื่น — My livelihood is bound up with other.)
๒. ในนวโกวาท มีต่อว่า “เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย”

           วัตถุประสงค์ ตามอรรถกถาแก้ว่า เพื่อให้อิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม มีอาชีวะบริสุทธิ์ เคารพในบิณฑบาต และบริโภคปัจจัยสี่ด้วยใส่ใจพิจารณา
       3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ (I have a different way to behave.)
๓. ในนวโกวาท ทรงเรียงเป็นข้อความใหม่ว่า “อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้” จะเห็นว่า ข้อ 1 กับข้อ 3 ทรงตีความต่างออกไป ถ้าแปลตามนัยอรรถกถา ข้อ 1 จะได้ว่า “เราเป็นผู้หมดวรรณะ คือไม่มีฐานะในสังคมแล้ว จะต้องไม่มีความกระด้างถือตัวใดๆ” ข้อ 3 จะได้ว่า “เราจะต้องมีอาการกิริยาต่างจากคฤหัสถ์ สำรวมให้เหมาะกับความเป็นสมณะ” (องฺ.อ. 3/395)

           อรรถกถาอธิบายว่า เราควรทำอากัปป์ (คือกิริยามารยาท) ที่ต่างจากของคฤหัสถ์ เช่น มีอินทรีย์สงบ ก้าวเดินสม่ำเสมอ เป็นต้น และแสดงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้มีอิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม บำเพ็ญไตรสิกขาได้บริบูรณ์
       4. ตัวเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Does my not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดหิริพรั่งพร้อมอยู่ในใจ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Do my discerning fellows in the holy life, on considering me, not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ดำรงโอตตัปปะในภายนอกไว้ได้ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       6. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น (There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท และเป็นอันได้ตั้งมรณสติไปด้วย
       7. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น (I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้กระทำความชั่ว
       8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่ (How has my passing of the nights and days been ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความไม่ประมาทให้บริบูรณ์
       9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ (Do I delight in a solitary place or not?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกายวิเวกให้บริบูรณ์
       10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถาม ในกาลภายหลัง (Have I developed any extraordinary qualities whereon when questioned in my latter days by my fellows in the holy life I shall not be confounded ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้เป็นผู้ตายเปล่า

A.V.87;
Netti. 185.
องฺ.ทสก. 24/48/97;
องฺ.อ. 3/395.

[***] อรหันต์ 5 ดู [62] อรหันต์ 5.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วก
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C7%A1


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]