ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัป ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[2] โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย - reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
       ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่ อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท - earnestness; diligence), วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น - instigation of energy; energetic effort), อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้ - fewness of wishes; paucity of selfish desire), สันตุฏฐี (ความสันโดษ - contentment), สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา - awareness; full comprehension); กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม - pursuit of virtue); ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ - possession of will), อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว - self-possession; self-realization), ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ - possession of right view), และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ - possession of earnestness)

S.V.2-30;
A.I.11-31;
It.9.
สํ.ม. 19/136-137/34, 154-155/41
องฺ.เอก. 20/68/15, 124/24;
ขุ.อิติ. 25/194/236

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[3] อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย การทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป - earnestness; diligence; heedfulness) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน (internal factor; personal factor) และเป็น ฝ่ายสมาธิ (a factor belonging to the category of concentration)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอารยอัษฎางคิกมรรคที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”
       “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด, รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
       “ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยอาศัยธรรมเอกข้อนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย”
       “ธรรมเอกอันจะทำให้ยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์สามัญของชีวิต เช่น ทรัพย์ ยศ กามสุข เป็นต้น) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจหรือคุณธรรม) ก็คือความไม่ประมาท”
       “สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
       “ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

D.II.156;
S.I.86-89;
S.V.30-45;
A.I.11-17;
A.III.365;
A.V.21
ที.ม. 10/143/180;
สํ.ส. 15/378-384/125-129;
สํ.ม. 19/135/37, 262/66;
องฺ.เอก. 20/60/13, 116/23;
อํ.ฉกฺก. 22/324/407;
องฺ.ทสก. 24/15/23

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[7] ฌาน 2 (การเพ่ง, การเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ - meditation; scrutiny; examination)
       1. อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และ อรูปฌาน 4 - object-scrutinizing Jhana)
       2. ลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล - characteristic-examining Jhana)

       วิปัสสนา ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะพินิจสังขารโดยไตรลักษณ์
       มรรค ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะยังกิจแห่งวิปัสสนานั้นให้สำเร็จ
       ผล ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเพ่งนิพพานอันมีลักษณะเป็นสุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ อย่างหนึ่ง และเพราะเห็นลักษณะอันเป็นสัจจภาวะของนิพพาน อย่างหนึ่ง
       ฌานที่แบ่งเป็น 2 อย่างนี้ มีมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา.

       ดู [8] [9] [10] ฌาน ต่างๆ และ [47] สมาธิ 3

AA. II. 41;
PsA.281;
DhsA. 167.
องฺ.อ. 1/536;
ปฏิสํ.อ. 221;
สงฺคณี.อ. 273

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[23] ธรรมคุ้มครองโลก 2 (ธรรมที่ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เดือดร้อนและสับสนวุ่นวาย - virtues that protect the world)
       1. หิริ (ความละอาย, ละอายใจต่อการทำความชั่ว - moral shame; conscience)
       2. โอตตัปปะ (ความกลัวบาป, เกรงกลัวต่อความชั่ว - moral dread)

A.I. 51;
It. 36.
องฺ.ทุก. 20/255/655;
ขุ.อิติ. 25/220/257

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[45] สมาธิ 2 (ความตั้งมั่นแห่งจิต, ภาวะที่จิตสงบนิ่งจับอยู่ที่อารมณ์อันเดียว : concentration)
       1. อุปจารสมาธิ (สมาธิเฉียดๆ, สมาธิจวนจะแน่วแน่ — access concentration)
       2. อัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่, สมาธิแนบสนิท, สมาธิในฌาน — attainment concentration)

Vism. 85, 371. วิสุทธิ. 1/105; 2/194

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[46] สมาธิ 3 (ความตั้งมั่นแห่งจิต, ภาวะที่จิตสงบนิ่งจับอยู่ที่อารมณ์อันเดียว : concentration)
       1. ขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ — momentary concentration)
       2. อุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่ — access concentration)
       3. อัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่ — attainment concentration)

DhsA.117;
Vism.144.
สงฺคณี.อ. 207;
วิสุทธิ. 1/184.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[47] สมาธิ 3 (ความตั้งมั่นแห่งจิต หมายถึงสมาธิในวิปัสสนา หรือตัววิปัสสนานั่นเอง แยกประเภทตามลักษณะการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ ข้อที่ให้สำเร็จความหลุดพ้น — concentration)
       1. สุญญตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ — concentration on the void)
       2. อนิมิตตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ — concentration on the signless)
       3. อัปปณิหิตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ : concentration on the desireless or non-hankering)

       ดู [107] วิโมกข์ 3

D.III.219;
A.I.299;
Ps.I.49.
ที.ปา. 11/228/231;
องฺ.ติก. 20/599/385;
ขุ.ปฏิ. 31/92/70.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[51] สาสน์ หรือ ศาสนา 2 (คำสอน : teaching; dispensation)
       1. ปริยัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปริยัติ, คำสอนอันจะต้องเล่าเรียนหรือจะต้องช่ำชอง ได้แก่ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ — teaching to be studied or mastered; textual or scriptural teaching; dispensation as text) = [302] นวังคสัตถุสาสน์
       2. ปฏิบัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปฏิบัติ, คำสอนที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ สัมมาปฏิปทา อนุโลมปฏิปทา อปัจจนีกปฏิปทา (ปฏิปทาที่ไม่ขัดขวาง) อันวัตถปฏิปทา (ปฏิปทาที่เป็นไปตามความมุ่งหมาย) ธัมมานุธัมมปฏิปทา (ปฏิบัติธรรมอันถูกหลัก) กล่าวคือ การบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์, [128] ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค สติสัมปชัญญะ, [182] สติปัฏฐาน 4, [156] สัมมัปปธาน 4, [213] อิทธิบาท 4, [258] อินทรีย์ 5, [228] พละ 5, [281] โพชฌงค์ 7, [293] มรรคมีองค์ 8, — teaching to be practised; practical teaching; dispensation as practice) ที่เป็นสำคัญในหมวดนี้ ก็คือ [352] โพธิปักขิยธรรม 37.

Nd1 143. ขุ.ม. 29/232/175.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[80] ทุจริต 3 (ความประพฤติชั่ว, ประพฤติไม่ดี — evil conduct; misconduct)
       1. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย — evil conduct in act; misconduct by body) มี 3 คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และ กาเมสุมิจฉาจาร
       2. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา — evil conduct in word; misconduct by speech) มี 4 คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา และ สัมผัปปลาปะ
       3. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ — evil conduct in thought; misconduct by mind) มี 3 คือ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ)

       ดู รายละเอียดที่ [321] อกุศลกรรมบถ 10.

D.III.214;
Dhs.1305.
ที.ปา. 11/228/227;
อภิ.สํ. 34/840/327.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[81] สุจริต 3 (ความประพฤติดี, ประพฤติชอบ — good conduct)
       1. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย — good conduct in act) มี 3 คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
       2. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา — good conduct in word) มี 4 คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา และ สัมผัปปลาปะ
       3. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ — good conduct in thought) มี 3 คือ อนภิชฌา อพยาบาท และ สัมมาทิฏฐิ.

       ดู รายละเอียดที่ [320] กุศลกรรมบถ 10.

D.III.215;
Dhs.1306.
ที.ปา. 11/228/227;
อภิ.สํ. 34/840/327.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[84] เทวทูต 5 (ทูตของยมเทพ — divine messengers)
       1. ทหระ หรือ มันทกุมาร (เด็กอ่อน — a young baby)
       2. ชิณณะ (คนแก่ — an old men)
       3. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ — a sick man)
       4. กรรมการณัปปัตตะ (คนถูกลงโทษ, คนถูกจองจำลงอาญา — a criminal subjected to punishment)
       5. มตะ (คนตาย — a dead man)

M.III.179. ม.อุ. 14/507/335.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[87] นิมิต 3 (เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้อารมณ์กรรมฐาน — sign; mental image)
       1. บริกรรมนิมิต (นิมิตแห่งบริกรรม, นิมิตตระเตรียมหรือนิมิตแรกเริ่ม ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือ พุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น — preliminary sign) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุคคหนิมิต (นิมิตที่ใจเรียน, นิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั้นเพ่งหรือนึกกำหนดจนเห็นแม่นในใจ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตามองเห็น เป็นต้น — learning sign; abstract sign; visualized image) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       3. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน, นิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิจึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา — sign; conceptualized image) นิมิตนี้ได้เฉพาะในกรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติ1 และอานาปานสติ 1

       เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมกับอุปจารสมาธิ เมื่อเสพปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิก็จะสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิต่อไป ปฏิภาคนิมิตจึงชื่อว่าเป็นอารมณ์แก่อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา.

       ดู [99] ภาวนา 3

Comp.203;
Vism.125.
สงฺคห. 51;
วิสุทธิ. 1/59.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[99] ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
       1. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
       3. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage) ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หักอนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุววัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และกายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)

       ดู [87] นิมิต 3

Comp.203. สงฺคห. 51.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[107] วิโมกข์ 3 (ความหลุดพ้น, ประเภทของความหลุดพ้น จัดตามลักษณะการเห็นไตรลักษณ์ ข้อที่ให้ถึงความหลุดพ้น — liberation; aspects of liberation)
       1. สุญญตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยเห็นความว่างหมดความยึดมั่น ได้แก่ ความหลุดพ้น ที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนัตตา คือ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตา แล้วถอนความยึดมั่นเสียได้ — liberation through voidness; void liberation) = อาศัยอนัตตานุปัสสนา ถอนอัตตาภินิเวส.
       2. อนิมิตตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิต ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตา แล้วถอนนิมิตเสียได้ — liberation through signlessness; signless liberation) = อาศัยอนิจจานุปัสสนา ถอนวิปัลลาสนิมิต.
       3. อัปปณิหิตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นทุกข์ คือ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกขตาแล้วถอนความปรารถนาเสียได้ — liberation through dispostionlessness; desireless liberation) = อาศัยทุกขานุปัสสนา ถอนตัณหาปณิธิ.

       ดู [47] สมาธิ 3.

Ps.II.35.
Vism.657;
Comp.211
ขุ.ปฏิ. 31/469/353;
วิสุทธิ. 3/299;
สงฺคห. 55.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[123] สัปปุริสบัญญัติ 3 (บัญญัติของสัตบุรุษ, ข้อปฏิบัติที่สัตบุรุษวางเป็นแบบไว้ หรือกล่าวสรรเสริญไว้, ความดีที่คนดีถือลงกัน — things established by righteous people; recommendation of the good)
       1. ทาน (การให้ปัน, สละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น — giving; generosity; charity; benefaction)
       2. ปัพพัชชา (การถือบวช, เว้นการเบียดเบียน ดำรงในธรรม คือ อหิงสา สัญญมะ และทมะ อันเป็นอุบายให้ไม่เบียดเบียนกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความสุข — renunciation consisting in non-violence, restraint and self-control)
       3. มาตาปิตุอุปัฏฐาน (การบำรุงมารดาบิดา, ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข — support of mother and father)

A.I.151. องฺ.ติก. 20/484/191.

[***] สามัญลักษณะ 3 ดู [76] ไตรลักษณ์.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[134] อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน 3 (ลักษณะการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้คำสอนของพระองค์ ควรแก่การประพฤติปฏิบัติตาม และทำให้เหล่าสาวกเกิดความมั่นใจเคารพเลื่อมใสในพระองค์อย่างแท้จริง — the Three Aspects of the Buddha’s Teaching; the Buddha’s manners of teaching)
       1. อภิญญายธัมมเทสนา (ทรงแสดงธรรมด้วยความรู้ยิ่ง, ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงเองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่น เพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงตาม ในธรรมที่ควรรู้ยิ่งเห็นจริง — Having himself fully comprehended, he teaches others for the full comprehending of what should be fully comprehended; teaching with full comprehension)
       2. สนิทานธัมมเทสนา (ทรงแสดงธรรมมีเหตุผล, ทรงสั่งสอนชี้แจงให้เห็นเหตุผล ไม่เลื่อนลอย — He teaches the doctrine that has a causal bias; teaching in terms of or with reference to causality)
       3. สัปปาฏิหาริยธัมมเทสนา (ทรงแสดงธรรมให้เห็นจริงได้ผลเป็นอัศจรรย์, ทรงสั่งสอนให้มองเห็นชัดเจนสมจริงจนต้องยอมรับ และนำไปปฏิบัติได้ผลจริงเป็นอัศจรรย์ — He teaches the doctrine that is wondrous as to its convincing power and practicality; teaching in such a way as to be convincing and practical)

       ข้อ 1 บางท่านแปลว่า ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง

M.II.9;
A.I.276.
ม.ม. 13/330/322;
องฺ.ติก. 20/565/356.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[140] จักร 4 (ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย - virtues wheeling one to prosperity)
       1. ปฏิรูปเทสวาสะ (อยู่ในถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม - living in a suitable region; good or favourable environment)
       2. สัปปุริสูปัสสยะ (สมาคมกับสัตบุรุษ - association with good people)
       3. อัตตสัมมาปณิธิ (ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง - setting oneself in the right course; aspiring and directing oneself in the right way)
       4. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นเดิมดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น - having formerly done meritorious deeds; to have prepared oneself with good background)

       ธรรม 4 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก (virtues of great assistance) เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆ ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.

A.11.32;
D.III.276.
องฺ.จตุกฺก. 21/31/41;
ที.ปา. 11/400/293.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[156] ปธาน 4 (ความเพียร - effort; exertion)
       1. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น - the effort to prevent; effort to avoid)
       2. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - the effort to abandon; effort to overcome)
       3. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี - the effort to develop)
       4. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ - the effort to maintain)

       ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4 (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ - right exertions; great or perfect efforts).

A.II.74,16,15. องฺ.จตุกฺก. 21/69/96; 14/20; 13/19.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส - those who measure, judge or take standard)
       1. รูปประมาณ (ผู้ถือประมาณในรูป, บุคคลที่มองเห็นรูปร่างสวยงาม ทรวดทรงดี อวัยวะสมส่วน ท่าทางสง่า สมบูรณ์พร้อม จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by from or outward appearance; one whose faith depends on good appearance)
       2. โฆษประมาณ (ผู้ถือประมาณในเสียง, บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเสียงสรรเสริญ เกียรติคุณหรือเสียงพูดจาที่ไพเราะ จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by voice or reputation; one whose faith depends on sweet voice or good reputation)
       3. ลูขประมาณ (ผู้ถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองเช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำคร่ำเครียดเป็นทุกรกิริยา ประพฤติเคร่งครัดเข้มงวดขูดเกลาตน จึงชอบใจ เลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by shabbiness, mediocrity or hard life; one whose faith depends on shabbiness or ascetic or self-denying practices)
       4. ธรรมประมาณ (ผู้ถือประมาณในธรรม, บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรมหรือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชอบใจเลื่อมใส น้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by the teaching or righteous behavior; one whose faith depends on right teachings and practices)

       บุคคล 3 จำพวกต้น ยังมีทางพลาดได้มาก โดยอาจเกิดความคิดใคร่ ถูกครอบงำชักพาไปด้วยความหลง ถูกพัดวนเวียนหรือติดอยู่แค่ภายนอก ไม่รู้จักคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริงและไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมเป็นประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไป เข้าถึงธรรมที่ปราศจากสิ่งครอบคลุม
       พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสี่ข้อ (เฉพาะข้อ 3 ทรงถือแต่พอดี) จึงทรงครองใจคนทุกจำพวกได้ทั้งหมด คนที่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่จะไม่เลื่อมใสนั้น หาได้ยากยิ่งนัก
       ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ

A.II.71;
Pug.7,53;
DhA.114;
SnA.242.
องฺ.จตุกฺก. 21/65/93;
อภิ.ปุ. 36/10/135; 133/204;
ธ.อ. 5/100;
สุตฺต.อ. 1/329.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัป&detail=on&nextseek=161
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%BB&detail=on&nextseek=161


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]