ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ าน 4 ”             ผลการค้นหาพบ  9  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 9
[9] ฌาน 4 = รูปฌาน 4 (the Four Jhanas)
       1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 - the First Absorption) มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
       2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 - the Second Absorption) มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
       3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3 - the Third Absorption) มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา
       4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 - the Fourth Absorption) มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

       คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น 5 ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ที่มีองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน ในฌาน 4 ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)

M.I.40 ม.มู. 12/102/72

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 9
[145] ธรรมสมาทาน 4 (ข้อที่ยึดถือเอาเป็นหลักความประพฤติปฏิบัติ, หลักการที่ประพฤติ, การที่กระทำ, การประกอบกรรม - religious undertakings; undertaken courses of practices)
       1. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การประพฤติวัตรทรมานตนของพวกอเจลก หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก ทั้งมีความเดือดร้อนใจเป็นต้น - the undertaking the gives suffering in the present and results in suffering in the future)
       2. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังแรงกล้า ฝืนใจพยายามประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก เป็นต้น - the undertaking that gives suffering in the present but results in happiness in the future)
       3. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การหลงมัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกาม หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความสนุกสนานพอใจ เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present but results in suffering in the future)
       4. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังน้อย ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความพอใจ ได้เสวยเนกขัมมสุข หรือ ผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถ ด้วยความพอใจ ได้เสวยสุขโสมนัส เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present and results in happiness in the future)

D.III.229;
M.I.305-316.
ที.ปา. 11/251/241;
ม.มู. 12/515-534/556-575.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 9
[147] ธาตุกัมมัฏฐาน 4 (กรรมฐานคือธาตุ, กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ กำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เป็นว่าเป็นเพียงธาตุสี่แต่ละอย่างไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา - meditation on the elements; meditation subject consisting of elements)
       1. ปฐวีธาตุ (the earth-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะแข้นแข็งเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
       2. อาโปธาตุ (the water-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะเอิบอาบเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้.
       3. เตโชธาตุ (the fire-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะร้อน ภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายใน สำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะร้อนเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้
       4. วาโยธาตุ (the air-element) คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึง ภายในตัวก็มี ภายนอกตัวก็มี กล่าวเฉพาะที่เป็นภายในสำหรับกำหนด พอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามในตัว ที่มีลักษณะพัดผันไปเป็นต้น อย่างเดียวกันนี้

       ตัวอย่างธาตุที่แสดงข้างต้นนี้ ในปฐวีธาตุมี 19 อย่าง ในอาโปธาตุมี 12 อย่าง เติมมัตถลุงค์ คือมันสมอง เข้าเป็นข้อสุดท้ายในปฐวีธาตุ รวมเป็น 32 เรียกว่า อาการ 32 หรือ ทวัตติงสาการ.
       ธาตุกัมมัฏฐานนี้ เรียกอย่างอื่นว่า ธาตุมนสิการ (การพิจารณาธาตุ - contemplation on the elements) บ้าง จตุธาตุววัฏฐาน (การกำหนดธาตุสี่ - determining of the four elements) บ้าง เมื่อพิจารณากำหนดธาตุ 4 ด้วยสติสัมปชัญญะ มองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไปในกาย ตระหนักว่ากายนี้ก็สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ดังนี้ จัดเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานส่วนหนึ่ง (หมวดที่ 5 คือ ธาตุมนสิการบรรพ).

D.II.244;
M.I 185;
M.III.240;
Vism.347.
ที.ม. 10/278/329;
ม.มู. 12/342/350;
ม.อุ. 14/684-687/437;
วิสุทธิ. 2/161.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 9
[156] ปธาน 4 (ความเพียร - effort; exertion)
       1. สังวรปธาน (เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น - the effort to prevent; effort to avoid)
       2. ปหานปธาน (เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว - the effort to abandon; effort to overcome)
       3. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี - the effort to develop)
       4. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์ - the effort to maintain)

       ปธาน 4 นี้ เรียกอีกอย่างว่า สัมมัปปธาน 4 (ความเพียรชอบ, ความเพียรใหญ่ - right exertions; great or perfect efforts).

A.II.74,16,15. องฺ.จตุกฺก. 21/69/96; 14/20; 13/19.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 9
[182] สติปัฏฐาน 4 (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
       1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ 1 อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ 1 สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง 1 ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ 1 ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ 1 นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น 1
       2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.

D.II.290.315. ที.ม. 10/273-300/325-351.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 9
[188] สังเวชนียสถาน 4 (สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, สถานที่เนื่องด้วยพุทธประวัติ ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรไปดูเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดความไม่ประมาท จะได้เร่งขวนขวายประกอบกุศลกรรม และสำหรับผู้ศรัทธาจะได้จาริกไปชม เพื่อเพิ่มพูนปสาทะ กระทำสักการบูชา อันจะนำให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ - places apt to cause the feeling of urgency; places made sacred by the Buddha's association; places to be visited with reverence; the four Buddhist Holy Places)
       1. ชาตสถาน (ที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ อุทยานลุมพินี - birthplace of the Buddha)
       2. อภิสัมพุทธสถาน (ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ควงโพธิ์ที่ตำบลพุทธคยา - place where the Buddha attained the Enlightenment)
       3. ธัมมจักกัปปวัตตนสถาน (ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เรียกปัจจุบันว่า สารนาถ - place where the Buddha preached the First Sermon)
       4. ปรินิพพุตสถาน (ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน คือ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา - place where the Buddha passed away into Parinibbana)

D.II.140. ที.ม. 10/131/163.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 9
[197] อธิษฐาน หรือ อธิษฐานธรรม 4 (ธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมมทับถมตน, บางทีแปลว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ - foundation; foundations on which a tranquil sage establishes himself; virtues which should be established in the mind)
       1. ปัญญา (ความรู้ชัด คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง - wisdom; insight)
       2. สัจจะ (ความจริง คือ ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ - truthfulness)
       3. จาคะ (ความสละ คือ สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส - liberality renunciation)
       4. อุปสมะ (ความสงบ คือ ระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้ - tranquillity; peace)

       ทั้ง 4 ข้อนี้ พึงปฏิบัติตามกระทู้ดังนี้
       1. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย (ไม่พึงประมาทปัญญา คือ ไม่ละเลยการใช้ปัญญา - not to neglect wisdom)
       2. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย (พึงอนุรักษ์สัจจะ - to safeguard truthfulness)
       3. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย (พึงเพิ่มพูนจาคะ - to foster liberality)
       4. สนฺตึ สิกฺเขยฺย (พึงศึกษาสันติ - to train oneself in tranquillity)

D.III.229;
M.III.243.
ที.ปา. 11/254/241;
ม.อุ. 14/682/437.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 9
[214] อุปาทาน 4 (ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง - attachment; clinging; assuming)
       1. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ - clinging to sensuality)
       2. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ - clinging to views)
       3. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล - clinging to mere rule and ritual)
       4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ - clinging to the ego-belief)

D.III.230;
M.I.66;
Vbh.375.
ที.ปา. 11/262/242;
ม.มู. 12/156/132;
อภิ.วิ. 35/963/506.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 9
[354] กรรมฐาน 40 (ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต, สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา, อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต — mental exercises; subjects of meditation)
       1. กสิณ 10 ดู [315]
       2. อสุภะ 10 ดู [336]
       3. อนุสติ 10 ดู [335]
       4. อัปปมัญญา 4 ดู [161]
       5. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร — perception of the loathsomeness of food)
       6. จตุธาตุววัฏฐาน (กำหนดพิจารณาธาตุ 4, พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ; ธาตุมนสิการ ก็เรียก — analysis of the four elements)
       7. อรูป 4 ดู [207]

       กรรมฐานใดให้ได้สมาธิถึงขั้นใด ดู [99] ภาวนา 3; กรรมฐานใดเหมาะกับจริตใด ดู [262] จริต 6.

Vism.110;
Comp.204.
วิสุทธิ. 1/139;
สงฺคห. 51.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=าน_4
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D2%B9_4


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]