ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ึก ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
เอกกะ - หมวด 1
Groups of One
(including related groups)
[1] กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (external factor; environmental factor)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
       “อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

S.V.2-30;
A.I.14-18;
It.10.
สํ.ม. 19/5/2, 129/36;
องฺ.เอก. 20/72/16, 128/25;
ขุ.อิติ. 25/195/237

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[2] โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย - reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
       ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่ อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท - earnestness; diligence), วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น - instigation of energy; energetic effort), อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้ - fewness of wishes; paucity of selfish desire), สันตุฏฐี (ความสันโดษ - contentment), สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา - awareness; full comprehension); กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม - pursuit of virtue); ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ - possession of will), อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว - self-possession; self-realization), ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ - possession of right view), และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ - possession of earnestness)

S.V.2-30;
A.I.11-31;
It.9.
สํ.ม. 19/136-137/34, 154-155/41
องฺ.เอก. 20/68/15, 124/24;
ขุ.อิติ. 25/194/236

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[25] ธรรมมีอุปการะมาก 2 (ธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือในการทำความดีทุกอย่าง - virtues of great assistance)
       1. สติ (ความระลึกได้, นึกได้, สำนึกอยู่ไม่เผลอ - mindfulness)
       2. สัมปชัญญะ (ความรู้ชัด, รู้ชัดสิ่งที่นึกได้, ตระหนัก, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง - clear comprehension)

D.III.273;
A.I.95.
ที.ปา. 11/378/290;
องฺ.ทุก. 20/424/119

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[34] ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ 2 (ทางเกิดแห่งแนวคิดที่ถูกต้อง, ต้นทางของความดีงามทั้งปวง : sources or conditions for the arising of right view)
       1. ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร : another’ s utterance; inducement by others; hearing or learning from others)
       2. โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย : reasoned attention; systematic attention; genetical reflection; analytical reflection)

       ข้อธรรม 2 อย่างนี้ ได้แก่ ธรรมหมวดที่ [1] และ [2] นั่นเอง แปลอย่างปัจจุบันว่า “องค์ประกอบของการศึกษา” หรือ “บุพภาคของการศึกษา” โดยเฉพาะข้อที่ 1 ในที่นี้ใช้คำกว้างๆ แต่ธรรมที่ต้องการเน้น ก็คือ กัลยาณมิตตตา
       ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่าง คือ ปรโตโฆสะ และ อโยนิโสมนสิการ ซึ่งตรงข้ามกับที่กล่าวมานี้.

M.I.294;
A.I.87.
ม.มู. 12/497/539;
องฺ.ทุก. 20/371/110.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[36] ภาวนา 2 (การเจริญ, การทำให้เกิดให้มีขึ้น, การฝึกอบรมจิตใจ : mental development)
       1. สมถภาวนา (การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ : tranquillity development)
       2. วิปัสสนาภาวนา (การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา : insight development)

       สองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม และ วิชชาภาคิยธรรม. ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน (อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต - stations of mental exercises; mental exercise; สงฺคห. 51 ; Comp. 202)

D.III.273;
A.I. 60.
ที.ปา. 11/379/290;
องฺ.ทุก. 20/275/77.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[37] ภาวนา 4 (การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา : cultivation; training; development)
       1. กายภาวนา (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)
       2. สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)
       3. จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)
       4. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

       ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา 4 นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์

A.III.106 องฺ.ปญฺจก. 22/79/121

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (the Four Primary Elements; primary matter)
       1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน : element of extension; solid element; earth)
       2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ : element of cohesion; fluid element; water)
       3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ : element of heat or radiation; heating element; fire)
       4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม : element of vibration or motion; air element; wind)

       สี่อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธาตุ 4

D.I.214;
Vism. 443;
Comp. 154.
ที.สี. 9/343/277;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 33

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[43] วิมุตติ 2 (ความหลุดพ้น : deliverance; liberation; freedom)
       1. เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ : deliverance of mind; liberation by concentration)
       2. ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง : deliverance through insight; liberation through wisdom)

A.I.60 องฺ.ทุก. 20/276/78

[**] เวทนา 2 ดู [110] เวทนา 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[55] อริยบุคคล 2 (บุคคลผู้ประเสริฐ, ผู้บรรลุธรรมพิเศษตั้งแต่โสดาปัตติมรรคขึ้นไป, ผู้เป็นอารยะในความหมายของพระพุทธศาสนา — noble individuals; holy persons)
       1. เสขะ (พระเสขะ, พระผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่พระอริยบุคคล 7 เบื้องต้นในจำนวน 8 — the learner)
       2. อเสขะ (พระอเสขะ, พระผู้ไม่ต้องศึกษา ได้แก่ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว : the adept)

A.I.62. องฺ.ทุก. 20/280/80.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[69] กุศลวิตก 3 (ความตรึกที่เป็นกุศล, ความนึกคิดที่ดีงาม — wholesome thoughts)
       1. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม, ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน — thought of renunciation; thought free from selfish desire)
       2. อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองในแง่ร้าย — thought free from hatred)
       3. อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย — thought of non-violence; thought free from cruelty)

A.III.446. องฺ.ฉกฺก. 22/380/496.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[70] อกุศลวิตก 3 (ความตรึกที่เป็นอกุศล, ความนึกคิดที่ไม่ดี — unwholesome thoughts)
       1. กามวิตก (ความตรึกในทางกาม, ความนึกคิดในทางแส่หาหรือพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยาก — thought of sensual pleasures)
       2. พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคืองเพ่งมองในแง่ร้าย — thought full of hatred or ill-will; malevolent thought)
       3. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน, ความนึกคิดในทางทำลาย ทำร้ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น — thought of violence or cruelty; cruel thought)

A.III.446. องฺ.ฉกฺก. 22/380/496.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[83] เทวทูต 3 (ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิตอันมีความตายเป็นที่สุด เพื่อจะได้เกิดความสังเวชและเร่งขวนขวายทำความดี ด้วยความไม่ประมาท — divine messengers; messengers of death)
       1. ชิณณะ (คนแก่ — old men)
       2. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ, ผู้ป่วย — sick men)
       3. มตะ (คนตาย — dead men)

A.I.138. องฺ.ติก. 20/475/175.

[**] เทวทูต 4 ดู [150] นิมิต 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[87] นิมิต 3 (เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้อารมณ์กรรมฐาน — sign; mental image)
       1. บริกรรมนิมิต (นิมิตแห่งบริกรรม, นิมิตตระเตรียมหรือนิมิตแรกเริ่ม ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือ พุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น — preliminary sign) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุคคหนิมิต (นิมิตที่ใจเรียน, นิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั้นเพ่งหรือนึกกำหนดจนเห็นแม่นในใจ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตามองเห็น เป็นต้น — learning sign; abstract sign; visualized image) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       3. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน, นิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิจึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา — sign; conceptualized image) นิมิตนี้ได้เฉพาะในกรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติ1 และอานาปานสติ 1

       เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมกับอุปจารสมาธิ เมื่อเสพปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิก็จะสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิต่อไป ปฏิภาคนิมิตจึงชื่อว่าเป็นอารมณ์แก่อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา.

       ดู [99] ภาวนา 3

Comp.203;
Vism.125.
สงฺคห. 51;
วิสุทธิ. 1/59.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[88] บุญกิริยาวัตถุ 3 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, เรื่องที่จัดเป็นการทำความดี, หลักการทำความดี, ทางทำความดี — bass of meritorious action; grounds for accomplishing merit)
       1. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in giving or generosity)
       2. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ (ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย — meritorious action consisting in observing the precepts or moral behaviour)
       3. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ — meritorious action consisting in mental development)

D.III.218;
A.IV.239;
It.51.
ที.ปา. 11/228/230;
องฺ.อฏฺฐก. 23/126/245;
ขุ.อิติ. 25/238/270.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[89] บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action)
       1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
       2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
       3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)
       4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — by humility or reverence)
       5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — by rendering services)
       6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)
       7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)
       8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
       9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
       10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)

       ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย; 6 และ 7 ในทานมัย; 8 และ 9 ในภาวนามัย; ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา

D.A.III.999;
Comp.146.
ที.อ. 3/246;
สังคหะ 29.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[93] ปัญญา 3 (ความรอบรู้, รู้ทั่ว, เข้าใจ, รู้ซึ้ง — knowledge; understanding)
       1. จินตามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การคิดการพิจารณาหาเหตุผล — wisdom resulting form reflection; knowledge that is thought out)
       2. สุตมยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การสดับการเล่าเรียน — wisdom resulting from study; knowledge that is learned from others)
       3. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาเกิดแต่การฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ — wisdom resulting from mental development; knowledge that is gained by development or practice)

D.III.219;
Vbh.324.
ที.ปา. 11/228/231;
อภิ.วิ. 35/804/438.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[99] ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
       1. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
       2. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
       3. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage) ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หักอนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุววัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และกายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)

       ดู [87] นิมิต 3

Comp.203. สงฺคห. 51.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[106] วิชชา 3 (ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ — the Threefold Knowledge)
       1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้, ระลึกชาติได้ — reminiscence of past lives)
       2. จุตูปปาตญาณ (ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม, เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ — knowledge of the decease and rebirth of beings; clairvoyance)
       3. อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ, ความตรัสรู้ — knowledge of the destruction of mental intoxication)

       วิชชา 3 นี้ เรียกสั้นๆ ว่า ญาณ 3; ดู [297] วิชชา 8 ด้วย.

D.III.220.275;
A,V.211
ที.ปา. 11/228/232; 398/292;
องฺ.ทสก. 24/102/225.

[***] วิปัลลาส 3 ระดับ ดู [178] วิปัลลาส 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[108] วิรัติ 3 (การเว้นจากทุจริต, การเว้นจากกรรมชั่ว — abstinence)
       1. สัมปัตตวิรัติ (เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า, เว้นเมื่อประสบซึ่งหน้า หรือเว้นได้ทั้งที่ประจวบโอกาส คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่า ตนมีชาติตระกูล วัยหรือคุณวุฒิอย่างนี้ ไม่สมควรกระทำกรรมเช่นนั้น แล้วงดเว้นเสียได้ไม่ทำผิดศีล — abstinence as occasion arises; abstinence in spite of opportunity)
       2. สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน คือ ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้รับศีล คือ สมาทานสิกขาบทไว้แล้ว ก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น — abstinence by undertaking; abstinence in accordance with one’s observances)
       3. สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด หรือด้วยชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว, เว้นได้เด็ดขาด คือ การงดเว้นความชั่ว ของพระอริยะทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรคซึ่งขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วนั้นๆ เสร็จสิ้นแล้ว ไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นเลย — abstinence by destruction (of the roots of evil))

       วิรัติ 2 อย่างแรก ยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน วิรัติข้อที่ 3 จึงจะแน่นอนสิ้นเชิง

DA.I.305;
Kha.142;
DhsA.103
ที.อ. 1/377;
ขุทฺทก.อ. 156;
สงฺคณี.อ. 188

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[111] เวทนา 3 (การเสวยอารมณ์, ความรู้สึกรสของอารมณ์ — feeling; sensation)
       1. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม — pleasant feeling; pleasure)
       2. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม — painful feeling pain)
       3. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา — neither-pleasant-nor-painful feeling; indifferent feeling)

D.III.216; 275;
S.IV.331.
ที.ปา. 11/228/229; 391/291;
สํ.สฬ. 18/432/287.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ึก&detail=on&nextseek=112
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D6%A1&detail=on&nextseek=112


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]