ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ วิมุตติ ”             ผลการค้นหาพบ  19  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 19
เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ
       เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต (สันตเจโตวิมุตติ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 19
ตทังควิมุตติ “พ้นด้วยองค์นั้นๆ”
       หมายความว่า พ้นจากกิเลสด้วยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น เกิดเมตตา หายโกรธ เกิดสังเวช หายกำหนัด เป็นต้น
       เป็นการหลุดพ้นชั่วคราว และเป็นโลกิยวิมุตติ
       ดู วิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 19
นิสสรณวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยออกไปเสีย หรือสลัดออกได้
       เป็นการพ้นที่ยั่งยืนตลอดไป ได้แก่ นิพพาน,
       เป็นโลกุตตรวิมุตติ
       (ข้อ ๕ ในวิมุตติ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 19
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับ ได้แก่
       การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอริยผล
       เป็นการหลุดพ้นที่ยั่งยืน ไม่ต้องขวนขวายเพื่อละอีก เพราะกิเลสนั้นสงบไปแล้ว
       เป็นโลกุตตรวิมุตติ
       (ข้อ ๔ ในวิมุตติ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 19
ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา,
       ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผล
       และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป;
       เทียบ เจโตวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 19
มิจฉาวิมุตติ พ้นผิด เช่นการระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เพราะกลัวอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลก การระงับกิเลสนั้นดี แต่การระงับเพราะกลัวอำนาจพระเจ้าสร้างโลกนั้น ผิดทาง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง
       (ข้อ ๑๐ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 19
โลกิยวิมุตติ วิมุตติที่เป็นโลกีย์ คือความพ้นอย่างโลกๆ ไม่เด็ดขาด ไม่สิ้นเชิง กิเลสและความทุกข์ยังกลับครอบงำได้อีก ได้แก่วิมุตติ ๒ อย่างแรกคือ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ;
       ดู วิมุตติ, โลกุตตรวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 19
โลกุตตรวิมุตติ วิมุตติที่เป็นโลกุตตระ คือ ความหลุดพ้นที่เหนือวิสัยโลก ซึ่งกิเลสและความทุกข์ที่ละได้แล้ว ไม่กลับคืนมาอีก ไม่กลับกลาย
       ได้แก่ วิมุตติ ๓ อย่างหลัง คือ สมุจเฉทวิมุตติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ
       ดู วิมุตติ, โลกิยวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 19
วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้
       ได้แก่ ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้นานกว่าตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก จัดเป็นโลกิยวิมุตติ
       (ข้อ ๒ ในวิมุตติ ๕; ในบาลีเป็นข้อ ๑ ถึงชั้นอรรถกถา จึงกลายมาเป็นข้อ ๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 19
วิขัมภนวิมุตติ ดู วิกขัมภนวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 19
วิมุตติ ความหลุดพ้น, ความพ้นจากกิเลส มี ๕ อย่าง คือ
       ๑. ตทังควิมุตติ พ้นด้วยธรรมคู่ปรับหรือพ้นชั่วคราว
       ๒. วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดได้
       ๓. สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยตัดขาด
       ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ
       ๕. นิสฺสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป;
           ๒ อย่างแรก เป็น โลกิยวิมุตติ
           ๓ อย่างหลังเป็น โลกุตตรวิมุตติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 19
วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส
       (ข้อ ๙ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 19
วิมุตติขันธ์ กองวิมุตติ,
       หมวดธรรมว่าด้วยวิมุตติ คือการทำจิตให้พ้นจากอาสวะ
       เช่น ปหานะ การละ, สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง
       (ข้อ ๔ ในธรรมขันธ์ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 19
วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 19
วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส
       (ข้อ ๑๐ ในกถาวัตถุ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 19
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองวิมุตติญาณทัสสนะ,
       หมวดธรรมว่าด้วย ความรู้ความเห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ
       เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ
       (ข้อ ๕ ในธรรมขันธ์ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 19
วิมุตติสุข สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ และปวงทุกข์;
       พระพุทธเจ้าภายหลังตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ได้เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ตามลำดับคือ
           สัปดาห์ที่ ๑ ประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท
           สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปประทับยืนด้านอีสาน ทรงจ้องดูต้นมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตร ที่นั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์
           สัปดาห์ที่ ๓ ทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นระหว่างกลางแห่งพระมหาโพธิ์และอนิมิสเจดีย์ เสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน ที่นั้นเรียก รัตนจงกรมเจดีย์
           สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎก ณ เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตในทิศพายัพแห่งต้นมหาโพธิ์ ที่นั้นเรียก รัตนฆรเจดีย์
           สัปดาห์ที่ ๕ ประทับใต้ร่มไม้ไทร ชื่ออชปาลนิโครธ ทรงตอบปัญหาของพราหมณ์หุํหุกชาติ แสดงสมณะและพราหมณ์ที่แท้ พร้อมทั้งธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่าธิดามาร ๓ ตน ได้มาประโลมพระองค์ ณ ที่นี้
           สัปดาห์ที่ ๖ ประทับใต้ต้นไม้จิก ชื่อ มุจจลินท์ มีฝนตก มุจจลินทนาคราชมาวงขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ ทรงเปล่งอุทานแสดงความสุขทีแท้ อันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น
           สัปดาห์ที่ ๗ ประทับใต้ต้นไม้เกต ชื่อ ราชายตนะ พาณิช ๒ คน คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผล สัตตุก้อน และได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒
       เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ ๗ ที่นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน แล้วน้อมพระทัยที่จะไม่แสดงธรรม เป็นเหตุให้สหัมบดีพรหมมากราบทูลอาราธนา
       และ ณ ที่นี้เช่นกัน ได้ทรงพระดำริเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นเอกายนมรรคและอินทรีย์ ๕ อันมีอมตธรรมเป็นที่หมาย;
       พึงสังเกตว่า เรื่องในสัปดาห์ที่ ๒-๓-๔ นั้น เป็นส่วนที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวแทรกเข้ามา
       ความนอกนั้น มาในมหาวรรค แห่งพระวินัยปิฎก
       (เรื่องดำริถึงสติปัฏฐานและอินทรีย์ มาในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระสุตตันตปิฎก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 19
สมุจเฉทวิมุตติ หลุดพ้นด้วยตัดขาด ได้แก่ พ้นจากกิเลสด้วยอริมรรค กิเลสเหล่านั้นขาดเด็ดไป ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เป็นโลกุตตรวิมุตติ
       (ข้อ ๓ ในวิมุตติ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 19
สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ ได้แก่ อรหัตตผลวิมุตติ
       (ข้อ ๑๐ ในสัมมัตตะ ๑๐)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=วิมุตติ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%D4%C1%D8%B5%B5%D4


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]