ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ิง ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ, กรรมที่เป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม สักแต่ว่าทำคือไม่ได้จงใจจะให้เป็นอย่างนั้นโดยตรง หรือมีเจตนาอ่อนไม่ชัดเจน ย่อมให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่น ท่านเปรียบเสมือนคนบ้ายิงลูกศร ย่อมไม่มีความหมายจะให้ถูกใคร ทำไปโดยไม่ตั้งใจชัดเจน
       ดู กรรม ๑๒

กตัตตาวาปนกรรม ดู กตัตตากรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กปิสีสะ ไม้ที่ทำเป็นรูปหัวลิง ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนทเถระยืนเหนี่ยวไม้นี้ร้องไห้ เสียใจว่าตนยังไม่สำเร็จพระอรหัต พระพุทธเจ้าก็จักปรินิพพานเสียแล้ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กพฬิงการาหาร ดู กวฬิงการาหาร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ได้แก่ อาหารที่กลืนกินเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นวัตถุ
       (ข้อ ๑ ในอาหาร ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
กะเทย คนหรือสัตว์ ที่ไม่ปรากฏว่าเป็นชายหรือหญิง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
กัญจนา เจ้าหญิงแห่งเทวทหนครเป็นมเหสีของพระเจ้าสีหนุ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เป็นพระชนนีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระอัยยิกาของเจ้าชายสิทธัตถะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
กัลยาณี นางงาม, หญิงงาม, หญิงที่มีคุณธรรมน่านับถือ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
กายสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องด้วยกาย, การเคล้าคลึงร่างกาย,
       เป็นชื่ออาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๒ ที่ว่าภิกษุมีความกำหนัดถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม, การจับต้องกายหญิงโดยมีจิตกำหนัด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
กาลิก เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
       ๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น
           เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
       ๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่
           ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
       ๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน
           ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕
       ๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา
           ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น
           (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
ิงกรณีเยสุ ทักขตา ความเป็นผู้ขยันช่วยเอาใจใส่ในกิจธุระของเพื่อนภิกษุ สามเณร
       (ข้อ ๕ ในนาถกรณธรรม)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
กุณฑธานะ พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์
       ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา
       ตั้งแต่นั้นมา ก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลา จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป
       ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
กุมารี เด็กหญิง, เด็กรุ่นสาว, นางสาว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
กุลธิดา ลูกหญิงผู้มีตระกูลมีความประพฤติดี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
กุลสตรี หญิงมีตระกูลมีความประพฤติดี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
กุศลวิตก ความตริตรึกที่เป็นกุศล, ความนึกคิดที่ดีงามมี ๓ คือ
       ๑. เนกขัมมวิตก ความตรึกปลอดจากกาม
       ๒. อพยาบาทวิตก ความตรึกปลอดจากพยาบาท
       ๓. อวิหิงสาวิตก ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
โกลิยวงศ์ ชื่อวงศ์กษัตริย์ข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ที่ครองกรุงเทวทหะ;
       พระสิริมหามายา พุทธมารดา และพระนางพิมพา ชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเจ้าหญิงฝ่ายโกลิยวงศ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
ขันธมาร ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ถูกปัจจัยต่างๆ มีอาพาธเป็นต้น บีบคั้นเบียดเบียนเป็นเหตุขัดขวางหรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง
       (ข้อ ๒ ในมาร ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
คณิกา หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
คิหิณี หญิงผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์หญิง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
คืบพระสุคต ชื่อมาตราวัด ตามอรรถกถานัยว่า เท่ากับ ๓ คืบของคนปานกลาง คือ เท่ากับศอกคืบช่างไม้ แต่มตินี้ไม่สมจริง
       ปัจจุบันยุติกันว่าให้ถือตามไม้เมตร คือ เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร ประมาณกันกับคืบช่างไม้ ซึ่งเป็นการสะดวก และถ้าหากจะสั้นกว่าขนาดจริง ก็ไม่เสีย เพราะจะไม่เกินกำหนด ไม่เสียทางวินัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
คุณของพระรัตนตรัย คุณของรัตนะ ๓ คือ
       ๑. พระพุทธเจ้า รู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
       ๒. พระธรรม เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงาม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
       ๓. พระสงฆ์ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
เครื่องราง ของที่นับถือว่าป้องกันอันตรายได้ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
เคลือบแฝง อาการชักให้เป็นที่สงสัย, แสดงความจริงไม่กระจ่างทำให้เป็นที่สงสัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
เคาะ ในประโยคว่า “เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาว” พูดให้รู้ท่า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
โคจรวิบัติ วิบัติแห่งโคจร, เสียในเรื่องที่เที่ยว, ความเสียหายในการไปมาหาสู่
       เช่น ภิกษุไปในที่อโคจรมีร้านสุรา หญิงแพศยา แม่หม้าย บ่อนการพนัน เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
ฆราวาสธรรม หลักธรรมสำหรับการครองเรือน,
       ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ
           ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน
           ๒. ทมะ ความฝึกฝน ปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี
           ๓. ขันติ ความอดทน
           ๔. จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
จตุธาตุววัตถาน การกำหนดธาตุ ๔
       คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าไปในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
จาคะ การสละ, การให้ปัน, การเสียสละ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ; การสละกิเลส
       (ข้อ ๔ ในฆราวาสธรรม ๔, ข้อ ๓ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๖ ในอริยทรัพย์ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
จิตกาธาน เชิงตะกอน, ที่เผาศพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
เจตภูต สภาพเป็นผู้คิดอ่าน,
       ตามที่เข้าใจกัน หมายถึงดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย
       เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่า อาตมัน หรือ อัตตา ของลัทธิพราหมณ์ และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
ชตุเภสัช พืชที่มียางเป็นยา, ยาทำจากยางพืช เช่น มหาหิงคุ์ กำยาน เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
ชนนี หญิงผู้ให้เกิด, แม่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
ชักสื่อ นำถ้อยคำหรือข่าวสาสน์ของชายและหญิง จากฝ่ายหนึ่งไปบอกอีกฝ่ายหนึ่ง หรือจากทั้งสองฝ่ายให้รู้ถึงกัน เพื่อให้เขาสำเร็จความประสงค์ในทางเมถุน
       (สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
ชี นักบวช, หญิงถือบวช, อุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาวโกนผมโกนคิ้ว ถือศีล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
ชีวก ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์
       หมอชีวกเกิดที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อว่าสาลวดี แต่ไม่รู้จักมารดาบิดาของตน เพราะเมื่อนางสาลวดีมีครรภ์ เกรงค่าตัวจะตกจึงเก็บตัวอยู่ ครั้นคลอดแล้วก็ให้คนรับใช้เอาทารกไปทิ้งที่กองขยะ
       แต่พอดีเมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ เจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร จะไปเข้าเฝ้า เสด็จผ่านไป เห็นการุมล้อมทารกอยู่ เมื่อทรงทราบว่าเป็นทารกและยังมีชีวิตอยู่ จึงได้โปรดให้นำไปให้นางสนมเลี้ยงไว้ในวัง ในขณะที่ทรงทราบว่าเป็นทารกเจ้าชายอภัยได้ตรัสถามว่าเด็กยังมีชิวิตอยู่ (หรือยังเป็นอยู่) หรือไม่ และทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ = ยังเป็นอยู่ หรือยังมีชีวิตอยู่) ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะเหตุที่เป็นผู้อันเจ้าชายเลี้ยงจึงได้มีสร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง)
       ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้น พอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวงหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตน จึงได้เดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ศึกษาอยู่ ๗ ปี อยากทราบว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ให้ถือเสียมไปตรวจดูทั่วบริเวณ ๑ โยชน์รอบเมืองตักสิลา เพื่อหาสิ่งที่ไม่ใช่ยา ชีวกไม่พบ กลับมาบอกอาจารย์ๆ ว่าสำเร็จการศึกษามีวิชาพอเลี้ยงชีพแล้ว และมอบเสบียงเดินทางให้เล็กน้อย ชีวกเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
       เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกต โดยไปอาสารักษาภรรยาเศรษฐีเมืองนั้นซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ให้รางวัลมากมาย หมอชีวกได้เงินมา ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ พร้อมด้วยทาสทาสีและรถม้า เดินทางกลับถึงพระนครราชคฤห์ นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง ไม่ทรงรับเอา และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
       ต่อมาไม่นาน เจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมชนแห่งมคธทรงหายประชวรแล้ว จะพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ นางให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
       หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
       หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก)
       เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
       ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิด
       นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
ซัดไปประหาร ฆ่าหรือทำร้ายโดยยิง ด้วยศรหรือด้วยปืน พุ่งด้วยหอก ขว้างด้วยศิลา เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชากำหนดรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และการออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ตามความเป็นจริง
       (ข้อ ๗ ในทศพลญาณ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
ดวงตาเห็นธรรม แปลจากคำว่า ธรรมจักษุ หมายถึงความรู้เห็นตามเป็นจริง ด้วยปัญญาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา;
       ดู ธรรมจักษุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
ตถาคต พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ
       ๑. พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น
       ๒. พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชา สละปวงกิเลส เสด็จไป เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น
       ๓. พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง
       ๔. พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน
       ๕. พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง
       ๖. พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น
       ๗. พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น
       ๘. พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
ตะเบ็งมาน เป็นชื่อวิธีห่มผ้าของหญิงอย่างหนึ่ง
       คือ เอาผ้าโอบหลังสอดรักแร้ ๒ ข้างออกมาข้างหน้า ชักชายไขว้กันขึ้นพาดบ่าปกลงไปเหน็บไว้ที่ผ้าโอบหลัง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
ตักสิลา ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป
       ตักสิลามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาล เคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า บัดนี้ อยู่ในเขตราวัลปินดิ ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
       ตักสิลาเป็นราชธานีที่มั่นคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีเรื่องราวเล่าไว้ในชาดกเป็นอันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
       ตักสิลาเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ซึ่งเดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป
       แต่ในยุคก่อนพุทธกาล ชนวรรณะสูงเท่านั้นจึงมีสิทธิเข้าเรียนได้ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักสิลา เช่น
       พระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมารภัจ และองคุลิมาล เป็นต้น
       ต่อมาภายหลังพุทธกาล ตักสิลาได้ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์กรีกยึดครอง มีหนังสือที่คนชาติกรีกกล่าวถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองตักสิลา เช่นว่า
       ประชาชนชาวตักสิลา ถ้าเป็นคนยากจนไม่สามารถจะปลูกฝังธิดาให้มีเหย้าเรือนตามประเพณีได้ ก็นำธิดาไปขายที่ตลาด โดยเป่าสังข์ตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณ ประชาชนก็พากันมาล้อมดู ถ้าผู้ใดชอบใจก็ตกลงราคากันนำไปเป็นภรรยา หญิงที่สามีตายจะต้องเผาตัวตายไปกับสามี
       นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้นมา ตักสิลาได้เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งเจริญขึ้นมาเคียงข้างศาสนาฮินดู เป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนา ดังมีซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และประติมากรรมแบบศิลปะคันธาระจำนวนมากปรากฏเป็นหลักฐาน
       ต่อมาราว พ.ศ. ๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียนได้มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังได้มานมัสการพระสถูปเจดีย์ที่เมืองตักสิลา แสดงว่าเมืองตักสิลายังคงบริบูรณ์ดีอยู่ แต่ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีอินเดีย และได้ทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักสิลาพินาศสาบสูญไป
       ครั้นถึง พ.ศ. ๑๑๘๖ หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย กล่าวว่า เมืองตักสิลาตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เป็นเพียงเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่ในแคว้นกัษมีระ โบสถ์วิหารสถานศึกษา และปูชนียสถานถูกทำลายหมด จากนั้นมา ก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักสิลาอีก;
       เขียนเต็มตามบาลีเป็น ตักกสิลา เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ตักษศิลา อังกฤษเขียน Taxila

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
ตู่, กล่าวตู่ กล่าวอ้างหรือทึกทักเอาของผู้อื่นว่าเป็นของตัว, กล่าวอ้างผิดตัว ผิดสิ่ง ผิดเรื่อง,
       ในคำว่า “กล่าวตู่พระพุทธเจ้า” หรือ “ตู่พุทธพจน์” หมายความว่า
       อ้างผิดๆ ถูกๆ,
       กล่าวสิ่งที่ตรัสว่ามิได้ตรัส กล่าวสิ่งที่มิได้ตรัสว่าได้ตรัสไว้,
       พูดให้เคลื่อนคลาดหรือไขว้เขวไปจากพุทธดำรัส,
       พูดใส่โทษ, กล่าวข่มขี่,
       พูดกด เช่น คัดค้านให้เห็นว่า ไม่จริงหรือไม่สำคัญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
ไตรปิฎก “ปิฎกสาม”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว
       โดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพระพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก;
       พระไตรปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่ โดยย่อดังนี้
       ๑. พระวินัยปิฎก ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ
           ๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ ปาราชิกถึงอนิยต
           ๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
           ๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน
           ๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ
           ๕. ปริวาร คัมภีร์ ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย
       พระวินัยปิฎกนี้ แบ่งอีกแบบหนึ่ง เป็น ๕ คัมภีร์เหมือนกัน (จัด ๒ ข้อ ในแบบต้นนั้นใหม่) คือ
           ๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์
           ๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๓๑๑ ข้อ) ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
           ๓. มหาวรรค ๔. จุลวรรค ๕. ปริวาร
       บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น ๓ หมวด คือ
           ๑. วิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
               (คือรวมข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นทั้ง ๒ แบบเข้าด้วยกัน)
           ๒. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒๒ ขันธกะหรือ ๒๒ บทตอน
               (คือรวมข้อ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกัน)
           ๓. ปริวาร คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ ๕ ข้างบน)
       ๒. พระสุตตันตปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ
           ๑. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร
           ๒. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร
           ๓. สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวของรวม ๕๖ สังยุต มี ๗,๗๖๒ สูตร
           ๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร
           ๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตรคาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าใน ๔ นิกายแรกไม่ได้ มี ๑๕ คัมภีร์
       ๓. อภิธรรมปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ
           ๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภทๆ
           ๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
           ๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
           ๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
           ๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
           ๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
           ๗. ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
       พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย ท่านจัดแบ่งเป็น ๔๕ เล่ม แสดงพอให้เห็นรูปเค้าดังนี้
       ก. พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม
       เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยตสิกขาบท (สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑๙ ข้อแรก)
       เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ (เป็นอันครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ศีล ๒๒๗)
       เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ของภิกษุณี
       เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
       เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ มี ๖ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนัง เภสัช กฐินจีวร นิคคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี
       เล่ม ๖ จุลวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม วุฏฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์
       เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ มี ๘ ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒
       เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย
       ข. พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม
       ๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม
       เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
       เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย “มหา” เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
       เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียงเช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร ิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
       ๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม
       เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
       เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลาง มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
       เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ บั้นปลาย มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร
       ๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม
       เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุต
       เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรมสังสารวัฏ ลาภสักการะเป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุต
       เล่ม ๑๗ ขันธวาวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ด รวมทั้งเรื่อง สมาธิและทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุต
       เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุต
       เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุต (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตรเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)
       ๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
       เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
       เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
       เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕-๖
       เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗-๘-๙
       เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐-๑๑
       ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิตและสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน
       ๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม
       เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ
           ขุททกปาฐะ (บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะมงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร)
           ธรรมบท (เฉพาะตัวคาถาทั้ง ๔๒๓)
           อุทาน (พุทธอุทาน ๘๐)
           อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย “เอวมฺเม สุตํ” แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า “อิติ วุจฺจติ” รวม ๑๑๒ สูตร) และ
           สุตตนิบาต (ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม ๗๑ สูตร)
       เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน ๔ คือ
           วิมานวัตถุ (เรื่องผู้เกิดในสวรรค์ อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง)
           เปตวัตถุ (เรื่องเปรตเล่ากรรมชี่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง)
           เถรคาถา (คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น)
           เถรีคาถา (คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น)
       เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง
       เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา รวมอีก ๒๒ เรื่อง บรรจบทั้ง ๒ ภาคเป็น ๕๔๗ ชาดก
       เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต
       เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตรในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต
       เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่น เรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
       เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ
           เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า)
           ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า)
           ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหัตเถระ)
           เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่องไปจนจบภาค ๑ รวม พระอรหันตเถระ ๔๑๐ รูป
       เล่ม ๓๓
           อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระ ต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐
               ต่อนั้นเป็นเถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง
               เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป
               ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญเรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มี
           คัมภีร์ พุทธวงศ์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์จนถึงประวัติของพระองค์เองรวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ จบแล้วมี
           คัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ
       ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม
       เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี
           ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้ง
           ชุด ๓ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามี
               เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง
               เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และ
           ชุด ๒ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็น
               สังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง
               รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง
               โลกิยธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น
               รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา
           จากนั้นขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม ที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
           ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ
           (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)
       เล่ม ๓๕ วิภังค ยกหลักธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ
           ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌานอัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่างๆ และ
           เบ็ดเตล็ด ว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ
               เช่น อธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น
           รวมมี ๑๘ วิภังค์
       เล่ม ๓๖
           ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และ
           ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น
       เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่น ความเห็นว่า
               พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้
               เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้
               ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น
           ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา
       เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู่อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่)
           เช่น ถามว่า
               ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล,
               รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป,
               ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจ หรือว่าทุกขสัจ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์
           หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น
           เล่มนี้ จึงมี ๗ ยมก
       เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ
               จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก
           บรรจบเป็น ๑๐ ยมก
       เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑
           คัมภีร์ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ
           ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา
           ปัฏฐาน เล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน
           จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ
           อนุโลมติกาปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า
               กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
                    (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ)
               กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
                    (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ,
                    มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะ ว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ)
               อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
                    (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ)
               กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
                    (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ)
               อย่างนี้เป็นต้น
           (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธจึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน)
       เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ
           อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น
               อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
               (พิจารณารูปเสียงเป็นต้นที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น
       เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน
           อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กัน แห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น
               โลกิยธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกิยธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
               (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น
       เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ
       เล่ม ๔๔ ปํฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน
           แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย
           อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา)
               เช่น อธิบาย “กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม” เป็นอย่างไร เป็นต้น
           อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน
               เช่น ชุดโลกิยะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น
       เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น
           ปัจจยนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรม เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศล ธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           และในทั้ง ๓ แบบ นี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓ ชุด ๒ กับ ชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้น แต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติกา ทุกทุก ตามลำดับ
           (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปํฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)
       คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้น เล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้ว เอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า “มหาปกรณ์” แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ
       พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น
           พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
           พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และ
           พระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
ไตรลักษณ์ ลักษณะสาม อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ
       ๓ ประการ ได้แก่
           ๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง
           ๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้
           ๓. อนัตตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน
       (คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลง่ายๆ ว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”)
       ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์,
       ลักษณะทั้ง ๓ เหล่านี้มีแก่ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขารทั้งปวง เป็นสามัญเสมอเหมือนกัน จึงเรียกว่า สามัญญลักษณะ
       (ไม่สามัญแก่ธรรมที่เป็นอสังขตะ คือวิสังขาร ซึ่งมีเฉพาะลักษณะที่สาม คืออนัตตาอย่างเดียว ไม่มีลักษณะสองอย่างต้น);
       ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฏธรรมชาติ มีอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่า ธรรมนิยาม
       พึงทราบว่า พระบาลีในพระไตรปิฎก เรียกว่า ธรรมนิยาม (ธมฺมนิยามตา) ส่วน ไตรลักษณ์ และสามัญลักษณะ เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคอรรถกถา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
ไตรลิงค์ สามเพศ หมายถึง คำศัพท์ที่เป็นได้ทั้งสามเพศในทางไวยากรณ์
       กล่าวคือ
           ปุงลิงค์ เพศชาย
           อิตถีลิงค์ เพศหญิง
           นปุงสกลิงค์ มิใช่เพศชายและหญิง;
       คำบาลีที่เป็นไตรลิงค์
           เช่น นิพฺพุโต นิพฺพุตา นิพฺพุตํ
           เป็น ปุงลิงค์ อิตถีลิงค์ และนปุงสกลิงค์ ตามลำดับ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
ถวายพระเพลิง ให้ไฟ คือ เผา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
ถุลลัจจัย “ความล่วงละเมิดที่หยาบ”,
       ชื่ออาบัติหยาบอย่างหนึ่งเป็นความผิดขั้นถัดรองลงมาจากอาบัติสังฆาทิเสส เช่น
           ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
           ภิกษุชักสื่อบัณเฑาะก์ (กะเทย) ต้องอาบัติถุลลัจจัย
           ภิกษุนุ่งห่มหนังเสืออย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย;
       ดู อาบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
เถรี พระเถระผู้หญิง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
ทมิฬ ชื่อชนเผ่าหนึ่งในเกาะลังกา เคยชิงราชสมบัติพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
ทวดึงสาการ ดู ทวัตติงสาการ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
ทวัตติงสกรรมกรณ์ ดู ทวดึงสกรรมกรณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
ทวัตติงสาการ อาการ ๓๒, ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๓๒ อย่าง ในร่างกาย
       คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ปัสสาวะ);
       ในขุททกปาฐะ (ฉบับสยามรัฐ) เรียงลำดับมันสมองไว้เป็นข้อสุดท้าย;
       ทวัตดึงสาการ หรือ ทวดึงสาการ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
ทัณฑกรรมนาสนา ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ
       หมายถึง การไล่ออกจากสำนัก
       เช่น ที่ทำแก่กัณฑกสามเณร ผู้กล่าวตู่พระธรรมเทศนาว่า ธรรมที่ตรัสว่าเป็นอันตราย ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
ทาฐธาตุ, ทาฒธาตุ พระธาตุคือเขี้ยว,
       พระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๔ องค์ ตำนานว่า
           พระเขี้ยวแก้วบนขวาประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์ในดาวดึงส์เทวโลก,
           องค์ล่างขวาไปอยู่ ณ แคว้นกาลิงคะ แล้วต่อไปยังลังกาทวีป,
           องค์บนซ้ายไปอยู่ ณ แคว้นคันธาระ,
           องค์ล่างซ้ายไปอยู่ในนาคพิภพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
ทายิกา (หญิง) ผู้ให้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น
       คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้
       (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัว จัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้
       ๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดามารดา :
       บุตรธิดา พึงบำรุงมารดาบิดา ดังนี้
           ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
           ๒. ช่วยทำกิจของท่าน
           ๓. ดำรงวงศ์สกุล
           ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
           ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน;
       มารดาบิดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
           ๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
           ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
           ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
           ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
           ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
       ๒. ทักขิณทิส ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์ :
       ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ดังนี้
           ๑. ลุกต้อนรับแสดงความเคารพ
           ๒. เข้าไปหา
           ๓. ใฝ่ใจเรียน
           ๔. ปรนนิบัติ
           ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ;
       ครูอาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ดังนี้
           ๑. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
           ๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
           ๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
           ๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน
           ๕. สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศ คือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้
       ๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา :
       สามีพึงบำรุงภรรยาดังนี้
           ๑. ยกย่องสมฐานะภรรยา
           ๒. ไม่ดูหมิ่น
           ๓. ไม่นอกใจ
           ๔. มอบความเป็นใหญ่ ในงานบ้านให้
           ๕. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส;
       ภรรยาอนุเคราะห์สามี ดังนี้
           ๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
           ๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้ง ๒ ฝ่ายด้วยดี
           ๓. ไม่นอกใจ
           ๔. รักษาสมบัติที่หามาได้
           ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
       ๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย :
       พึงบำรุงมิตรสหาย ดังนี้
           ๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
           ๒. พูดจามีน้ำใจ
           ๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
           ๔. มีตนเสมอ
           ๕. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน;
       มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบดังนี้
           ๑. เมื่อเพื่อประมาทช่วยรักษาป้องกัน
           ๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
           ๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
           ๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
           ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
       ๕. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน :
       นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ดังนี้
           ๑. จัดการงานให้ทำตามกำลังความสามารถ
           ๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
           ๓. จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
           ๔. ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
           ๕. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันสมควร;
       คนรับใช้และคนงาน อนุเคราะห์นายดังนี้
           ๑. เริ่มทำงานก่อน
           ๒. เลิกงานทีหลัง
           ๓. เอาแต่ของที่นายให้
           ๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
           ๕. นำความดีของนายไปเผยแพร่
       ๖. อุปริมทิศ ทิศเบื้องบน ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์:
       คฤหัสถ์พึงบำรุงพระสงฆ์ ดังนี้
           ๑. จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา
           ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
           ๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
           ๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
           ๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔;
       พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ดังนี้
           ๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
           ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
           ๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
           ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
           ๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
           ๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
ทีฆาวุ พระราชโอรสของพระเจ้าทีฆีติราชาแห่งแคว้นโกศล ซึ่งถูกพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกาสีชิงแคว้นจับได้ และประหารชีวิตเสีย ทีฆาวุกุมารดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระบิดาที่ตรัสก่อนจะถูกประหาร
       ภายหลังได้ครองราชสมบัติทั้ง ๒ แคว้น คือ แคว้นกาสีกับแคว้นโกศล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
ทุกรกิริยา กิริยาที่ทำได้โดยยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่
       การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ
       เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น
       ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง;
       เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
ทุฏฐุลลวาจา วาจาชั่วหยาบ เป็นชื่ออาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๓ ที่ว่าภิกษุผู้มีความกำหนัด พูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ คือ พูดเกี้ยวหญิง กล่าววาจาหยาบโลมพาดพิงเมถุน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
เทพธิดา นางฟ้า, หญิงชาวสรรค์, เทวดาผู้หญิง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
เทวดา หมู่เทพ, ชาวสวรรค์ เป็นคำรวมเรียกชาวสวรรค์ทั้งเพศชายและเพศหญิง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
เทวทูต ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู,
       สัญญาณที่เตือนให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิตมิให้มีความประมาท
           จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย,
           จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย
       (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์);
       ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรก เป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่
       อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ
       (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้ง ๔ อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่า เป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
เทศกาล คราวสมัยที่กำหนดไว้เป็นประเพณี เพื่อทำบุญและการรื่นเริงในท้องถิ่น เช่น ตรุษสงกรานต์ เข้าพรรษา สารท เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
ธรรม สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง;
       เหตุ, ต้นเหตุ;
       สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด;
       คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ;
       หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่;
       ความชอบ, ความยุติธรรม;
       พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

ธรรม ในประโยคว่า “ให้กล่าวธรรมโดยบท” บาลีแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ท่านเรียงไว้ จะเป็นพุทธภาษิตก็ตาม สาวกภาษิตก็ตาม ฤษีภาษิตก็ตาม เทวดาภาษิตก็ตาม เรียกว่า ธรรม ในประโยคนี้

ธรรม (ในคำว่า “การกรานกฐินเป็นธรรม”) ชอบแล้ว, ถูกระเบียบแล้ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา;
       ธรรมจักษุโดยทั่วไป เช่น ที่เกิดแก่ท่านโกณฑัญญะเมื่อสดับธรรมจักร ได้แก่ โสดาปัตติมรรคหรือโสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้เป็นโสดาบัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
ธรรมนิยาม กำหนดแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ,
       ความจริงที่มีอยู่หรือดำรงอยู่ธรรมชาติของมัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วทรงนำมาแสดงชี้แจงอธิบายให้คนทั้งหลายให้รู้ตาม มี ๓ อย่าง
       แสดงความตามพระบาลีดังนี้
           ๑. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
           ๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวง คงทนอยู่มิได้
           ๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวง ไม่เป็นตัวตน;
       ดู ไตรลักษณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
ธรรมวินัย ธรรมและวินัย,
       คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย
           ธรรม = คำสอนแสดงหลักความจริงและแนะนำความประพฤติ,
           วินัย = บทบัญญัติกำหนดระเบียบความเป็นอยู่และกำกับความประพฤติ ;
       ธรรม = เครื่องควบคุมใจ, วินัย = เครื่องควบคุมกายและวาจา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
ธรรมสวนะ การฟังธรรม, การหาความรู้ความเข้าใจในหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม ด้วยการเล่าเรียน อ่านและสดับฟัง, การศึกษาหาความรู้ ที่ปราศจากโทษ;
       ธัมมัสสวนะ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่,
       ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงานและเหตุผลเป็นใหญ่ ทำการด้วยปัญญา โดยเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา มุ่งเพื่อความดีงาม ความจริง ความชอบธรรมเป็นประมาณ;
       ดู อธิปไตย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
ธัมมาธิปเตยยะ ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ นึกถึงความจริง ความถูกต้องสมควรก่อนแล้วจึงทำ
       บัดนี้นิยมเขียน ธรรมาธิปไตย;
       ดู อธิปเตยยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
นครโศภินี หญิงงามเมือง, หญิงขายตัว
       (พจนานุกรมเขียน นครโสภิณี, นครโสเภณี)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
นาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง,
       คุณธรรมที่ทำให้พึ่งตนได้ มี ๑๐ อย่าง คือ
           ๑. ศีล มีความประพฤติดี
           ๒. พาหุสัจจะ ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก
           ๓. กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม
           ๔. โสวจัสสตา เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล
           ๕. ิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ
           ๖. ธัมมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม
           ๗. วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร
           ๘. สันตุฏฐี มีความสันโดษ
           ๙. สติ มีสติ
           ๑๐. ปัญญา มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
นารี ผู้หญิง, นาง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
นาลันทา ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะ หรือ นาลันทคาม
       ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. ๙๔๔-๙๕๓ บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา
       แต่ต่อมาไม่นาน กษัตริยราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือ กุมารคุปตะที่ ๑ ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๕๘-๙๙๘ ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ต่อๆมาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ จนมีถึง ๖ วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง ๖ รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทา มหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกว่าทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”
       พระเจ้าหรรษวรรธนะ มหาราชาพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๔๙-๑๑๙๑ ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภก์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๗ ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และมีอาจารย์ประมาณ ๑,๕๐๐ คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน ๒๐๐ หมู่โดยรอบถวายโดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ
       แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเชียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมาก และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน
       หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๒๓ ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทาและได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านานจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. ๑๓๐๓-๑๖๘๕) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
       อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ นาลันทาได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ และทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนาฮินดู มากขึ้นเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา
       ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๒ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย
       มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้นและมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ได้ถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา ซากของนาลันทาที่ถูกขุดค้นพบในภายหลังยังประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของนาลันทาในอดีต
       ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อินเดียได้เริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ได้มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” (นาลันทามหาวิหารแห่งใหม่) ขึ้น เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตสมัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
นาสนา ให้ฉิบหายเสีย คือ ลงโทษบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศ
       มี ๓ อย่าง คือ
           ๑. ลิงคนาสนา ให้ฉิบหายจากเพศ คือให้สึกเสีย
           ๒. ทัณฑกรรมนาสนา ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ
           ๓. สังวาสนาสนา ให้ฉิบหายจากสังวาส

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
นิปปริยาย ไม่อ้อมค้อม, ตรง, สิ้นเชิง
       (พจนานุกรมเขียน นิปริยาย)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
นิปปริยายสุทธิ ความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ไม่มีการละและการบำเพ็ญอีก
       ได้แก่ ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์;
       ตรงข้ามกับ ปริยายสุทธิ;
       ดู สุทธิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
นิพพิทา “ความหน่าย” หมายถึง ความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง
       ถ้าหญิงชายอยู่กินกันเกิดหน่ายกัน เพราะความประพฤติไม่ดีต่อกัน หรือหน่ายในมรรยาทของกันและกัน อย่างนี้ไม่จัดเป็นนิพพิทา;
       ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
นิมิต
       1. เครื่องหมาย ได้แก่วัตถุอันเป็นเครื่องหมายแห่งสีมา,
           วัตถุที่ควรใช้เป็นนิมิตมี ๘ อย่าง ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ
       2. (ในคำว่าทำนิมิต) ทำอาการเป็นเชิงชวนให้เขาถวาย, ขอเขาโดยวิธีให้รู้โดยนัย ไม่ขอตรงๆ
       3. เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน,
           ภาพที่เห็นในใจของผู้เจริญกรรมฐาน,
           ภาพที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน มี ๓ คือ
               ๑. บริกรรมนิมิต นิมิตแห่งบริกรรม หรือนิมิตตระเตรียม ได้แก่สิ่งที่เพ่ง หรือกำหนดนึกเป็นอารมณ์กรรมฐาน
               ๒. อุคคหนิมิต นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตาติดใจ ได้แก่ สิ่งที่เพ่งหรือนึกนั้นเอง ที่แม่นในใจ จนหลับตามองเห็น
               ๓. ปฏิภาคนิมิต นิมิตเสมือน หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่ อุคคหนิมิตนั้น เจนใจจนกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา เป็นของบริสุทธิ์ จะนึกขยาย หรือย่อส่วนก็ได้ตามปรารถนา
       4. สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก่อนเสด็จออกบรรพชา ๔ อย่าง;
           ดู เทวทูต


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ิง&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D4%A7&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]