ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ูป ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กฐิน ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร;
       ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ)
       ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔);
       ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ);
       สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป;
       ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
       ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา ดู จำพรรษา) ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น
       คำถวายผ้ากฐิน
       แบบสั้นว่า : อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม. (ว่า ๓ จบ)
       แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์
       แบบยาวว่า : อิมํ, ภนฺเต, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ, กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน, กฐินํ, อตฺถรตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.
       แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ

กฐินทาน การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้วปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่นๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กปิสีสะ ไม้ที่ทำเป็นรูปหัวลิง ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนทเถระยืนเหนี่ยวไม้นี้ร้องไห้ เสียใจว่าตนยังไม่สำเร็จพระอรหัต พระพุทธเจ้าก็จักปรินิพพานเสียแล้ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กรานกฐิน ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
       พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจตั้งแต่ ซัก กะตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้ เพื่ออนุโมทนา และภิกษุสงฆ์นั้นได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน
       ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บย้อม ก็ไม่มี
       (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขึง คือทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง กรานกฐินก็คือขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง)
       เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
กริยา ในทางไวยากรณ์ คือรูปสันสกฤตของคำว่า กิริยา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยหมดสงสัยในนามรูป คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ว่า เพราะอะไรเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
กัณฑกสามเณร ชื่อสามเณรรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ผู้กล่าวตู่พระธรรม เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ และทรงให้สงฆ์นาสนะเธอเสีย
       เขียนเป็น กัณฏกะ ก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
กัมมัฏฐาน ๔๐ คือ
       กสิณ ๑๐
       อสุภะ ๑๐
       อนุสสติ ๑๐
       พรหมวิหาร ๔
       อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
       จตุธาตุววัตถาน ๑
       อรูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
กามคุณ ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี ๕ อย่าง
       คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่ น่าพอใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
กามฉันท์, กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น,
       ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
       (ข้อ ๑ ในนิวรณ์ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
กามสังวร ความสำรวมในกาม, การรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลหมกมุ่นใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
       (ข้อ ๓ ในเบญจธรรม)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
กามารมณ์
       1. อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้แก่กามคุณ ๕ นั่นเอง
       2. ภาษาไทย มักหมายถึงความรู้สึกทางกาม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
การก ผู้กระทำกรรมได้ตามพระวินัย มี ๓ คือ สงฆ์ คณะ และ บุคคล เช่น ในการทำอุโบสถ
       ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปเรียก สงฆ์ สวดปาฏิโมกข์ได้
       ภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป เรียก คณะ ให้บอกความบริสุทธิ์ได้
       ภิกษุรูปเดียวเรียกว่า บุคคล ให้อธิษฐาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
กาลามสูตร สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ
       อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา,
           ด้วยการถือสืบๆ กันมา,
           ด้วยการเล่าลือ,
           ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์,
           ด้วยตรรก,
           ด้วยการอนุมาน,
           ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล,
           เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน,
           เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ,
           เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา;
       ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น
       เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
กุณฑธานะ พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์
       ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา
       ตั้งแต่นั้นมา ก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลา จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป
       ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
กุลุปกะ, กุลูปกะ “ผู้เข้าถึงสกุล”,
       พระที่คุ้นเคยสนิท ไปมาหาสู่ประจำของตระกูล, พระที่เขาอุปถัมภ์และเป็นที่ปรึกษาประจำของครอบครัว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
เก็บวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือ เมื่อภิกษุต้องครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสสกำลังอยู่ปริวาส ยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้ก็ดี กำลังประพฤติมานัตยังไม่ครบ ๖ ราตรีก็ดี เมื่อมีเหตุอันสมควร ก็ไม่ต้องประพฤติติดต่อกันเป็นรวดเดียว พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า นั่งกระหย่ง ประณมมือ
       ถ้าเก็บปริวาสพึงกล่าวว่า
           “ปริวาสํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บปริวาส”
           หรือว่า “วตฺตํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บวัตร”
           ว่าคำใดคำหนึ่ง ก็เป็นอันพักปริวาส ;
       ถ้าเก็บมานัต พึงกล่าวว่า
           “มานตฺตํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บมานัต”
           หรือว่า “วตฺตํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บวัตร” ดังนี้
           ว่าคำใดคำหนึ่งก็เป็นอันพักมานัต
       ต่อไปเมื่อมีโอกาสก็ให้สมาทานวัตรใหม่ได้อีก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
ขันธ์ กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว;
       หมวดหนึ่งๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็น ๕ กอง คือ
           ูปขันธ์ กองรูป
           เวทนาขันธ์ กองเวทนา
           สัญญาขันธ์ กองสัญญา
           สังขารขันธ์ กองสังขาร
           วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
       เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
ขันธปัญจก หมวด ๕ แห่งขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
       (นิยมเรียก ขันธปัญจก)
       ดู ขันธ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
ขันธมาร ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ถูกปัจจัยต่างๆ มีอาพาธเป็นต้น บีบคั้นเบียดเบียนเป็นเหตุขัดขวางหรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง
       (ข้อ ๒ ในมาร ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
ขึ้นวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือ
       เมื่อภิกษุต้องครุกาบัติชั้นสังฆาทิเสสแล้วอยู่ปริวาส ยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้หรือประพฤติมานัตอยู่ยังไม่ครบ ๖ ราตรี พักปริวาสหรือมานัตเสียเนื่องจากมีเหตุอันสมควร
       เมื่อจะสมาทานวัตรใหม่เพื่อประพฤติปริวาสหรือมานัตที่เหลือนั้น เรียกว่าขึ้นวัตรคือการสมาทานวัตรนั่นเอง
       ถ้าขึ้นปริวาส พึงกล่าวคำในสำนักภิกษุรูปหนึ่งว่า
           “ปริวาสํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นปริวาส”
           “วตฺตํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นวัตร”
       ถ้าขึ้นมานัต พึงกล่าวว่า
           “มานตฺตํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นมานัต” หรือ
           “วตฺตํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นวัตร”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
เขมา พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่ง ประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ
       ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
คณญัตติกรรม การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่
       การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่ายหนึ่ง สวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึงทำเหมือนกันอย่างนั้น) ;
       เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
คณปูรกะ ภิกษุผู้เป็นที่ครบจำนวนในคณะนั้นๆ
       เช่น สังฆกรรมที่ต้องมีภิกษุ ๔ รูป หรือยิ่งขึ้นไป เป็นผู้ทำ
       ยังขาดอยู่เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่ง มีภิกษุอื่นมาสมบท ทำให้ครบองค์สงฆ์ ในสังฆกรรมนั้นๆ
       ภิกษุที่มาสมทบนั้น เรียกว่า คณปูรกะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
คณโภชน์ ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะ แล้วฉัน;
       อีกนัยหนึ่งว่า นั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
คัคคภิกษุ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เคยเป็นบ้า และได้ต้องอาบัติหลายอย่างในระหว่างเวลานั้น ภายหลังหายเป็นบ้าแล้ว ได้มีผู้โจทว่า เธอต้องอาบัตินั้นๆ ในคราวที่เป็นบ้าไม่รู้จบ
       พระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพุทธานุญาตให้ระงับอธิกรณ์ด้วย อมูฬหวินัย เป็นครั้งแรก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
จตุกกัชฌาน ฌานหมวด ๔ คือ รูปฌานที่แบ่งเป็น ๔ ขั้น อย่างที่รู้จักกันทั่วไป;
       ดู ฌาน ๔;
       เทียบ ปัญจกัชฌาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
จตุรวรรค, จตุวรรค สงฆ์พวก ๔,
       สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำเพียง ๔ รูป เช่น สงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรมเป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
จักขุวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตา, รูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น, การเห็น
       (ข้อ ๑ ในวิญญาณ ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
จักขุสัมผัส อาการที่ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
จักขุสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
จักร ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ
       ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ
       ๒. สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี
       ๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
       ๔. ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน

จักรธรรม ธรรมเปรียบด้วยล้อรถ ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญ หรือให้ถึงจุดมุ่งหมาย มี ๔ อย่าง
       ดู จักร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
จาตุมหาราช ท้าวมหาราช ๔, เทวดาผู้รักษาโลกใน ๔ ทิศ, ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ คือ
       ๑. ท้าวธตรฐ จอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก
       ๒. ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้
       ๓. ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก
       ๔. ท้าวกุเวร หรือ เวสสวัณ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
จาตุรงคสันนิบาต การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ
       ๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือน ๓)
       ๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกัน โดยมิได้นัดหมาย
       ๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
       ๔. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ
           ดู มาฆบูชา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
จำพรรษา อยู่ประจำวัด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ
       ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียก ปุริมพรรษา แปลว่า “พรรษาต้น”) หรือ
       ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า “พรรษาหลัง”);
       วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา,
       วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา ;
       คำอธิษฐานพรรษา ว่า
           “อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ;
           ทุติยมฺปี อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ;
           ตติยมฺปิ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ”
       แปลว่า “ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้” (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้);
       อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ
           ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา
           ๒. จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
           ๓. ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
           ๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
           ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ
       อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
       นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน
       (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
จิต, จิตต์ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ;
       ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือพิสดารเป็น ๑๒๑)
       แบ่ง โดยชาติ เป็น
           อกุศลจิต ๑๒
           กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗)
           วิปากจิต ๓๖ (๕๒) และ
           กิริยาจิต ๒๐;
       แบ่ง โดยภูมิ เป็น
           กามาวจรจิต ๕๔
           รูปาวจรจิต ๑๕
           อรูปาวจรจิต ๑๒ และ
           โลกุตตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
จุตูปปาตญาณ ปรีชารู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย,
       มีจักษุทิพย์มองเห็นสัตว์กำลังจุติบ้าง กำลังเกิดบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้างเป็นต้น ตามกรรมของตน
       เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุ
       (ข้อ ๒ ในญาณ ๓ หรือวิชชา ๓, ข้อ ๗ ในวิชชา ๘, ข้อ ๕ ในอภิญญา ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
เจดีย์ ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา,
       เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ
           ๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
           ๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
           ๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์
           ๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป;
       ในทางศิลปกรรมไทย หมายถึง สิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุ และอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
เจริญวิปัสสนา ปฏิบัติวิปัสสนา, บำเพ็ญวิปัสสนา, ฝึกอบรมปัญญาโดยพิจารณาสังขาร คือ รูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดแยกออกเป็นขันธ์ๆ กำหนดด้วยไตรลักษณ์ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
ชฎา ผมที่เกล้าเป็นมวยสูงขึ้น, เครื่องประดับสำหรับศีรษะ รูปคล้ายมงกุฎ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
ชีต้น พระสงฆ์ที่คุ้นเคยใกล้ชิตกับครอบครัวหรือตระกูล ซึ่งเขาเคารพนับถือเป็นอาจารย์เป็นที่ปรึกษา
       เรียกอย่างคำบาลีว่า กุลุปกะ, กุลูปกะ หรือกุลุปก์;
       ดู กุลุปกะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการตามรักษาสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมด้วย) ดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว เป็นต้น มี ๒ ฝ่ายคือ
       ๑. ชีวิตินทรีย์ที่เป็นชีวิตรูป เป็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๑๓) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงเหล่ากรรมชรูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) บางทีเรียก ูปชีวิตินทรีย์
       ๒. ชีวิตินทรีย์ที่เป็นเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) อย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๖) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงนามธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลาย บางทีเรียก อรูปชีวิตินทรีย์ หรือ นามชีวิตินทรีย์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
ญาณ ๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ
       ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป
       ๒. (นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป
       ๓. สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
       ๔. - ๑๒. (ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙)
       ๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
       ๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค
       ๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล
       ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน;
       ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส;
       ดู วิปัสสนาญาณ ๙

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
ฐานานุรูป สมควรแก่ตำแหน่ง, สมควรแก่เหตุที่จะเป็นได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
ตักสิลา ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป
       ตักสิลามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาล เคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า บัดนี้ อยู่ในเขตราวัลปินดิ ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
       ตักสิลาเป็นราชธานีที่มั่นคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีเรื่องราวเล่าไว้ในชาดกเป็นอันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
       ตักสิลาเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ซึ่งเดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป
       แต่ในยุคก่อนพุทธกาล ชนวรรณะสูงเท่านั้นจึงมีสิทธิเข้าเรียนได้ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักสิลา เช่น
       พระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมารภัจ และองคุลิมาล เป็นต้น
       ต่อมาภายหลังพุทธกาล ตักสิลาได้ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์กรีกยึดครอง มีหนังสือที่คนชาติกรีกกล่าวถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองตักสิลา เช่นว่า
       ประชาชนชาวตักสิลา ถ้าเป็นคนยากจนไม่สามารถจะปลูกฝังธิดาให้มีเหย้าเรือนตามประเพณีได้ ก็นำธิดาไปขายที่ตลาด โดยเป่าสังข์ตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณ ประชาชนก็พากันมาล้อมดู ถ้าผู้ใดชอบใจก็ตกลงราคากันนำไปเป็นภรรยา หญิงที่สามีตายจะต้องเผาตัวตายไปกับสามี
       นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้นมา ตักสิลาได้เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งเจริญขึ้นมาเคียงข้างศาสนาฮินดู เป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนา ดังมีซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และประติมากรรมแบบศิลปะคันธาระจำนวนมากปรากฏเป็นหลักฐาน
       ต่อมาราว พ.ศ. ๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียนได้มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังได้มานมัสการพระสถูปเจดีย์ที่เมืองตักสิลา แสดงว่าเมืองตักสิลายังคงบริบูรณ์ดีอยู่ แต่ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีอินเดีย และได้ทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักสิลาพินาศสาบสูญไป
       ครั้นถึง พ.ศ. ๑๑๘๖ หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย กล่าวว่า เมืองตักสิลาตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เป็นเพียงเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่ในแคว้นกัษมีระ โบสถ์วิหารสถานศึกษา และปูชนียสถานถูกทำลายหมด จากนั้นมา ก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักสิลาอีก;
       เขียนเต็มตามบาลีเป็น ตักกสิลา เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ตักษศิลา อังกฤษเขียน Taxila

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
ติสรณคมนูปสัมปทา อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์
       เป็นวิธีบวชพระที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรในครั้งต้นพุทธกาล ต่อมาเมื่อทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมแล้ว ก็ทรงอนุญาตการบวชด้วยไตรสรณคมน์นี้ ให้เป็นวิธีบวชสามเณรสืบมา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
ตุมพสตูป พระสถูปบรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์เป็นผู้สร้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
ไตรปิฎก “ปิฎกสาม”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว
       โดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพระพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก;
       พระไตรปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่ โดยย่อดังนี้
       ๑. พระวินัยปิฎก ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ
           ๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ ปาราชิกถึงอนิยต
           ๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
           ๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน
           ๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ
           ๕. ปริวาร คัมภีร์ ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย
       พระวินัยปิฎกนี้ แบ่งอีกแบบหนึ่ง เป็น ๕ คัมภีร์เหมือนกัน (จัด ๒ ข้อ ในแบบต้นนั้นใหม่) คือ
           ๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์
           ๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๓๑๑ ข้อ) ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
           ๓. มหาวรรค ๔. จุลวรรค ๕. ปริวาร
       บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น ๓ หมวด คือ
           ๑. วิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
               (คือรวมข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นทั้ง ๒ แบบเข้าด้วยกัน)
           ๒. ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒๒ ขันธกะหรือ ๒๒ บทตอน
               (คือรวมข้อ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกัน)
           ๓. ปริวาร คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ ๕ ข้างบน)
       ๒. พระสุตตันตปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ
           ๑. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร
           ๒. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร
           ๓. สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวของรวม ๕๖ สังยุต มี ๗,๗๖๒ สูตร
           ๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร
           ๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตรคาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าใน ๔ นิกายแรกไม่ได้ มี ๑๕ คัมภีร์
       ๓. อภิธรรมปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ
           ๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภทๆ
           ๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
           ๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
           ๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
           ๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
           ๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
           ๗. ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
       พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย ท่านจัดแบ่งเป็น ๔๕ เล่ม แสดงพอให้เห็นรูปเค้าดังนี้
       ก. พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม
       เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยตสิกขาบท (สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑๙ ข้อแรก)
       เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ (เป็นอันครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ศีล ๒๒๗)
       เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ของภิกษุณี
       เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
       เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ มี ๖ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนัง เภสัช กฐินจีวร นิคคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี
       เล่ม ๖ จุลวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม วุฏฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์
       เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ มี ๘ ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒
       เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย
       ข. พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม
       ๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม
       เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
       เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย “มหา” เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
       เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียงเช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร
       ๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม
       เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
       เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลาง มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
       เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ บั้นปลาย มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร
       ๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม
       เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุต
       เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรมสังสารวัฏ ลาภสักการะเป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุต
       เล่ม ๑๗ ขันธวาวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ด รวมทั้งเรื่อง สมาธิและทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุต
       เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุต
       เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุต (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตรเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)
       ๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
       เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
       เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
       เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕-๖
       เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗-๘-๙
       เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐-๑๑
       ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิตและสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน
       ๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม
       เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ
           ขุททกปาฐะ (บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะมงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร)
           ธรรมบท (เฉพาะตัวคาถาทั้ง ๔๒๓)
           อุทาน (พุทธอุทาน ๘๐)
           อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย “เอวมฺเม สุตํ” แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า “อิติ วุจฺจติ” รวม ๑๑๒ สูตร) และ
           สุตตนิบาต (ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม ๗๑ สูตร)
       เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน ๔ คือ
           วิมานวัตถุ (เรื่องผู้เกิดในสวรรค์ อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง)
           เปตวัตถุ (เรื่องเปรตเล่ากรรมชี่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง)
           เถรคาถา (คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น)
           เถรีคาถา (คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น)
       เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง
       เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา รวมอีก ๒๒ เรื่อง บรรจบทั้ง ๒ ภาคเป็น ๕๔๗ ชาดก
       เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต
       เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตรในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต
       เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่น เรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
       เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ
           เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า)
           ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า)
           ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหัตเถระ)
           เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่องไปจนจบภาค ๑ รวม พระอรหันตเถระ ๔๑๐ รูป
       เล่ม ๓๓
           อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระ ต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐
               ต่อนั้นเป็นเถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง
               เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป
               ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญเรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มี
           คัมภีร์ พุทธวงศ์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์จนถึงประวัติของพระองค์เองรวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ จบแล้วมี
           คัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ
       ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม
       เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี
           ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้ง
           ชุด ๓ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามี
               เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง
               เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และ
           ชุด ๒ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็น
               สังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง
               รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง
               โลกิยธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น
               รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา
           จากนั้นขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม ที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
           ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ
           (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)
       เล่ม ๓๕ วิภังค ยกหลักธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ
           ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌานอัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่างๆ และ
           เบ็ดเตล็ด ว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ
               เช่น อธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น
           รวมมี ๑๘ วิภังค์
       เล่ม ๓๖
           ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และ
           ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น
       เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่น ความเห็นว่า
               พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้
               เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้
               ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น
           ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา
       เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู่อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่)
           เช่น ถามว่า
               ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล,
               รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป,
               ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจ หรือว่าทุกขสัจ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์
           หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น
           เล่มนี้ จึงมี ๗ ยมก
       เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ
               จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก
           บรรจบเป็น ๑๐ ยมก
       เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑
           คัมภีร์ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ
           ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา
           ปัฏฐาน เล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน
           จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ
           อนุโลมติกาปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า
               กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
                    (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ)
               กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
                    (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ,
                    มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะ ว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ)
               อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย
                    (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ)
               กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
                    (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ)
               อย่างนี้เป็นต้น
           (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธจึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน)
       เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ
           อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น
               อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
               (พิจารณารูปเสียงเป็นต้นที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น
       เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน
           อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กัน แห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น
               โลกิยธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกิยธรรม โดยอารัมมณปัจจัย
               (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น
       เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ
       เล่ม ๔๔ ปํฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน
           แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย
           อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา)
               เช่น อธิบาย “กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม” เป็นอย่างไร เป็นต้น
           อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน
               เช่น ชุดโลกิยะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น
       เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น
           ปัจจยนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรม เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรม เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศล ธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
           และในทั้ง ๓ แบบ นี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓ ชุด ๒ กับ ชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้น แต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติกา ทุกทุก ตามลำดับ
           (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปํฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)
       คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้น เล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้ว เอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า “มหาปกรณ์” แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ
       พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น
           พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
           พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และ
           พระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
ไตรวัฏฏ์ วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก
       (เรียกเต็มว่า
           ๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
           ๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ
           ๓. วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส)
       คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
       เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น
       หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด;
       ไตรวัฏ ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
ูปารหบุคคล บุคคลผู้ควรแก่สถูป คือ บุคคลที่ควรนำกระดูกบรรจุสถูปไว้บูชา มี ๔ คือ
       ๑. พระพุทธเจ้า
       ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
       ๓. พระอรหันตสาวก
       ๔. พระเจ้าจักรพรรดิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
ทศวรรค สงฆ์มีพวกสิบ คือ สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๑๐ รูปเป็นอย่างน้อย จึงจะครบองค์ ทำสังฆกรรมประเภทนั้นๆ ได้
       เช่น การอุปสมบทในมัธยมประเทศ ต้องใช้สงฆ์ทศวรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
ทสพลญาณ พระญาณเป็นกำลังของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ เรียกตามบาลีว่า ตถาคตพลญาณ (ญาณเป็นกำลังของพระตถาคต) ๑๐ คือ
       ๑. ฐานาฐานญาณ
       ๒. กรรมวิปากญาณ
       ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ
       ๔. นานาธาตุญาณ
       ๕. นานาธิมุตติกญาณ
       ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ
       ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ
       ๘. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
       ๙. จุตูปปาตญาณ
       ๑๐. อาสวักขยญาณ;
           นิยมเขียน ทศพลญาณ;
           ดู ญาณ ชื่อนั้นๆ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
ทักษิโณทก น้ำที่หลั่งในเวลาทำทาน, น้ำกรวด,
       คือ เอาน้ำหลั่งเป็นเครื่องหมายของการให้แทนสิ่งของที่ให้
       เช่น ที่ดิน ศาลา กุฎี บุญกุศล เป็นต้น ซึ่งใหญ่โตเกินกว่าที่จะยกไหว หรือไม่มีรูปที่จะยกขึ้นได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
ทิฏฐาวิกัมม์ การทำความเห็นให้แจ้ง
       ได้แก่ แสดงความเห็นแย้ง คือ ภิกษุผู้เข้าประชุมในสงฆ์บางรูปไม่เห็นร่วมด้วยคำวินิจฉัยอันสงฆ์รับรองแล้วก็ให้แสดงความเห็นแย้งได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น
       คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้
       (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
ทิพพจักขุ จักษุทิพย์, ตาทิพย์, ญาณพิเศษของพระพุทธเจ้า และท่านผู้ได้อภิญญาทั้งหลาย ทำให้สามารถเล็งเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปต่างๆ กันเพราะอำนาจกรรม
       เรียกอีกอย่างว่า จุตูปปาตญาณ
       (ข้อ ๗ ในวิชชา ๘, ข้อ ๕ ในอภิญญา ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
เทวรูปูปเทวดาที่นับถือ ตามลัทธิที่นับถือเทวดา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
เทวรูปนาคปรก เทวรูปลักษณะคล้ายพระพุทธรูปนาคปรก แต่ภายในนาคปรกนั้นเป็นเทวรูป ไม่ใช่พระพุทธรูป ที่เทวสถานเมืองลพบุรีมีมาก เป็นของลัทธิพราหมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
เทวสถาน ที่ประดิษฐานเทวรูป, โบสถ์พราหมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
โทณพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีฐานะเป็นครูอาจารย์
       เป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนมากในชมพูทวีป เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้สำเร็จได้โดยสันติวิธี เป็นผู้สร้างตุมพสตูป บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
ธรรม ๒
       หมวดหนึ่ง คือ
           ๑. ูปธรรม ได้แก่ รูปขันธ์ทั้งหมด
           ๒. อรูปธรรม ได้แก่ นามขันธ์ ๔ และนิพพาน;
       อีกหมวดหนึ่ง คือ
           ๑. โลกียธรรม ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก
           ๒. โลกุตตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ;
       อีกหมวดหนึ่ง คือ
           ๑. สังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด
           ๒. อสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
ธรรมกาย
       1. “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; พรหมกาย หรือ พรหมภูต ก็เรียก;
       2. “กองธรรม” หรือ “ชุมนุมแห่งธรรม” ธรรมกายย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน
       ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพาน ตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า
           “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ... รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”;
       สรุปตามนัยอรรถกถา ธรรมกาย ในความหมายนี้ ก็คือ โลกุตตรธรรม ๙ หรือ อริยสัจจ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
ธรรมปฏิรูป ธรรมปลอม, ธรรมที่ไม่แท้, ธรรมเทียม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”,
       พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม เป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม)
       ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
       (ข้อ ๒ ในอนุสติ ๑๐)
       เขียนอย่างรูปเดิมในภาษาบาลีเป็น ธัมมานุสสติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
นันทะ พระอนุชาของพระพุทธเจ้า แต่ต่างมารดา คือประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ออกบวชในวันมงคลสมรสกับนางชนปทกัลยาณี
       เบื้องแรกประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยความจำใจ แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยอุบาย จนพระนันทะเปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรม และในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
       ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์
       พระนันทะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธเจ้า แต่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ ๔ นิ้ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
นันทกุมาร พระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางปชาบดีโคตมี
       ต่อมาออกบวชมีชื่อว่า พระนันทะ คือองค์ที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธองค์นั่นเอง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
นาคาวโลก การเหลียวมองอย่างพญาช้าง,
       มองอย่างช้างเหลียวหลัง คือ เหลียวดูโดยหันกายกลับมาทั้งหมด เป็นกิริยาของพระพุทธเจ้า;
       เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง ซึ่งทำกิริยาอย่างนั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
นาม ธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจ เป็นเรื่องของจิตใจ, สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้
       1. ในที่ทั่วไปหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
       2. บางแห่งหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ นั้นและนิพพาน (รวมทั้งโลกุตตรธรรมอื่นๆ)
       3. บางแห่งเช่นในปฏิจจสมุปบาท บางกรณีหมายเฉพาะเจตสิกธรรมทั้งหลาย;
       เทียบ ูป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
นามกาย “กองแห่งนามธรรม” หมายถึง เจตสิกทั้งหลาย;
       เทียบ ูปกาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
นามธรรม สภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์,
       ใจและอารมณ์ที่เกิดกับใจ คือ จิต และเจตสิก,
       สิ่งของที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ทางใจ;
       ดู นาม;
       คู่กับ ูปธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
นามรูป นามธรรม และรูปธรรม
       นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ
           ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
       รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป
           ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป,
       ญาณหยั่งรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามและรูป และกำหนดจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม
       (ข้อ ๑ ในญาณ ๑๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป,
       ญาณหยั่งรู้ที่กำหนดจับได้ซึ่งปัจจัยแห่งนามและรูป โดยอาการที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
       (ข้อ ๒ ในญาณ ๑๖)
       เรียกกันสั้นๆ ว่า ปัจจัยปริคคหญาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
นาลันทา ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะ หรือ นาลันทคาม
       ภายหลังพุทธกาล ชื่อเมืองนาลันทาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. ๙๔๔-๙๕๓ บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา
       แต่ต่อมาไม่นาน กษัตริยราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าศักราทิตย์ หรือ กุมารคุปตะที่ ๑ ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๕๘-๙๙๘ ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ต่อๆมาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ จนมีถึง ๖ วัด อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่อันเดียวล้อมรอบ ทำให้วัดทั้ง ๖ รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่า นาลันทา มหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ แห่งสำคัญยิ่ง ที่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน เรียกว่าทั่วไปว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”
       พระเจ้าหรรษวรรธนะ มหาราชาพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๔๙-๑๑๙๑ ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภก์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. ๑๑๗๒-๑๑๘๗ ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน และมีอาจารย์ประมาณ ๑,๕๐๐ คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน ๒๐๐ หมู่โดยรอบถวายโดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ
       แต่ที่เด่นชัดก็คือนาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีนักศึกษาเดินทางมาจากต่างประเทศหลายแห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น เอเชียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมาก และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดนี้ไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือน
       หลวงจีนอี้จิงซึ่งจาริกมาในระยะประมาณ พ.ศ. ๑๒๒๓ ก็ได้มาศึกษาที่นาลันทาและได้เขียนบันทึกเล่าไว้อีก นาลันทารุ่งเรืองสืบมาช้านานจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ (พ.ศ. ๑๓๐๓-๑๖๘๕) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ก็ทรงอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเฉพาะโอทันตปุระที่ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
       อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ นาลันทาได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ และทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนาฮินดู มากขึ้นเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา
       ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๒ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดนโดยลำดับ กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงในช่วงระยะเวลานั้นด้วย
       มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเล่าว่า ที่นาลันทา พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้นและมหาวิทยาลัยนาลันทาก็ได้ถึงความพินาศสูญสิ้นลงแต่บัดนั้นมา ซากของนาลันทาที่ถูกขุดค้นพบในภายหลังยังประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงความยิ่งใหญ่ของนาลันทาในอดีต
       ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ อินเดียได้เริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ได้มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” (นาลันทามหาวิหารแห่งใหม่) ขึ้น เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในอดีตสมัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
นิคคหิต อักขระที่ว่ากดเสียง,
       อักขระที่ว่าหุบปากกดกรณ์ไว้ไม่ปล่อย มีรูปเป็นจุดกลวง เช่น สงฺฆํ อุปสมฺปทํ;
       บัดนี้นิยมเขียน นิคหิต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
นิวรณูปกิเลส โทษเครื่องเศร้าหมองคือนิวรณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
นิสัย
       1. ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป)
           อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม)
       2. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
       3. ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
       การขอนิสัย (ขออยู่ในปกครองหรือขอให้เป็นที่พึ่งในการศึกษา) สำเร็จด้วยการถืออุปัชฌาย์ (ขอให้เป็นอุปัชฌาย์) นั่นเอง ในพิธีอุปสมบทอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ การขอนิสัยถืออุปัชฌาย์เป็นบุพกิจตอนหนึ่งของการอุปสมบท ก่อนจะทำการสอนซ้อม ถามตอบอันตรายิกธรรม
       ผู้ขออุปสมบทเปล่งวาจาขอนิสัยถืออุปัชฌาย์ดังนี้
       (เฉพาะข้อความที่พิมพ์ตัวหนาเท่านั้นเป็นวินัยบัญญัติ นอกนั้นท่านเสริมเข้ามาเพื่อให้หนักแน่น) :
           “อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           ทุติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           ตติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ,
           อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ, อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ”
       ลำดับนั้น ผู้จะเป็นอุปัชฌายะกล่าวตอบว่า
           “สาหุ” (ดีละ)
           “ลหุ” (เบาใจดอก)
           “โอปายิกํ” (ชอบแก่อุบาย)
           “ปฏิรูปํ” (สมควรอยู่)
           “ปาสาทิเกน สมฺปาเทหิ” (จงให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด)
       คำใดคำหนึ่ง หรือให้รู้เข้าใจด้วยอาการทางกายก็ตาม ก็เป็นอันได้ถืออุปัชฌาย์แล้ว แต่นิยมกันมาให้ผู้ขอกล่าวรับคำของท่านแต่ละคำว่า สาธุ ภนฺเต หรือ สมฺปฏิจฺฉามิ แล้ว กล่าวต่อไปอีกว่า
           อชฺชตฺตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร, อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร (ว่า ๓ หน)
           (= ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระเป็นภาระของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของพระเถระ)
       ภิกษุนวกะถ้าไม่ได้อยู่ในปกครองของอุปัชฌาย์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้นิสัยระงับ เช่น อุปัชฌาย์ ไปอยู่เสียที่อื่น ต้องถือภิกษุอื่นเป็นอาจารย์และอาศัยท่านแทน วิธีถืออาจารย์ก็เหมือนกับวิธีถืออุปัชฌาย์เปลี่ยนแต่คำของว่า
           “อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ, อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ”
           (ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าๆ จักอยู่อาศัยท่าน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
       เป็นชื่ออรูปฌาน หรืออรูปภพที่ ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
บริโภคเจดีย์ เจดีย์คือสิ่งของหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอยเกี่ยวข้อง
       ได้แก่ ตุมพสตูป อังคารสตูป และสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตลอดถึงบาตร จีวร เตียง ตั่ง กฎี วิหาร ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
บริวาร
       1. ผู้แวดล้อม, ผู้ห้อมล้อม ติดตาม, ผู้รับใช้
       2. สิ่งแวดล้อม, ของสมบท, สิ่งประกอบร่วม เช่น ผ้าบริวาร บริวารกฐิน เป็นต้น
       3. ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน ๕ หมวด
           คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร;
       เรียกตามรูปเดิมในบาลีว่า ปริวาร ก็มี


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ูป&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D9%BB&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]