ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
             [๙๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาตุมานครตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ
พุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์
ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น เวลานั้น
ของขบฉันคือผลไม้ในนครสาวัตถีมีดาดดื่นมาก จึงภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า ของขบฉันคือ
ผลไม้ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้แล้วหรือมิได้ทรงอนุญาต แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่
พระผู้มีพระภาค.
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ทุกชนิด.
พืชของสงฆ์และของบุคคล
[๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พืชของสงฆ์เขาเพาะปลูกในที่ของบุคคล พืชของบุคคล เขาเพาะปลูกในที่ของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่เพาะปลูกในที่ ของบุคคล พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค พืชของบุคคลที่เพาะปลูกในที่ของสงฆ์ พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค.
พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔
[๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค.
วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่ง ที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
พระพุทธานุญาตกาลิกระคน
[๙๓] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควร หรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับยาว- *กาลิกควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคน กับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส ว่าดังนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๒. สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๓. ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๔. สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้ว ไม่ควร. ๕. ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้วไม่ควร. ๖. ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วัน แล้วไม่ควร.
เภสัชชขันธกะ ที่ ๖ จบ.
ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง.
หัวข้อประจำขันธกะ
[๙๔] ๑. เรื่องอาพาธที่เกิดชุมในฤดูสารท ๒. เรื่องฉันเภสัชนอกกาล ๓. เรื่อง น้ำมันเปลวสัตว์เป็นยา ๔. เรื่องรากไม้ที่เป็นตัวยา ๕. เรื่องรากไม้ทำยาผง ๖. เรื่องน้ำฝาด ๗. เรื่องใบไม้ ๘. เรื่องผลไม้ ๙. เรื่องยางไม้ ๑๐. เรื่องเกลือ ๑๑. เรื่องมูลโค ๑๒. เรื่องยาผงและวัตถุเครื่องร่อนยา ๑๓. เรื่องเนื้อดิบเลือดสด ๑๔. เรื่องยาตา ๑๕. เรื่อง เครื่องยาผสมกับยาตา ๑๖. เรื่องกลักยาตา กลักยาตาชนิดต่างๆ และกลักยาตาไม่มีฝาปิด ๑๗. เรื่องไม้ป้ายยาตา ๑๘. เรื่องภาชนะเก็บไม้ป้ายยาตา ถุงกลักยาตา และเชือกผูกเป็นสาย สะพาย ๑๙. เรื่องน้ำมันหุงมันทาศีรษะ ๒๐. เรื่องการนัตถุ์ ๒๑. เรื่องกล้องนัตถุ์ยา ๒๒. เรื่องสูดควัน กล้องสูดควัน ฝาปิดกล้องสูดควัน ๒๓. เรื่องถุงเก็บกล้องสูดควัน ๒๔. เรื่องน้ำมันหุง ๒๕. เรื่องน้ำเมาที่ผสมในน้ำมันที่หุง ๒๖. เรื่องน้ำมันเจือน้ำเมามาก ๒๗. เรื่องน้ำมันเจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา ๒๘. เรื่องลักจั่น ๒๙. เรื่องเข้ากระโจม ๓๐. เรื่อง รมด้วยใบไม้ต่างๆ ๓๑. เรื่องการรมใหญ่และเอาใบไม้มาต้มรม ๓๒. เรื่องอ่างน้ำ ๓๓. เรื่อง ระบายเลือดออก ๓๔. เรื่องกรอกโลหิตด้วยเขา ๓๕. เรื่องยาทาเท้า ๓๖. เรื่องปรุงน้ำมัน ทาเท้า ๓๗. เรื่องผ่าฝี ๓๘. เรื่องชะแผลด้วยน้ำฝาด ๓๙. เรื่องงาที่บดแล้ว ๔๐. เรื่อง ยาพอกแผล ๔๑. เรื่องผ้าพันแผล ๔๒. เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งพรรณผักกาด ๔๓. เรื่อง รมแผลด้วยควัน ๔๔. เรื่องตัดเนื้องอกด้วยก้อนเกลือ ๔๕. เรื่องน้ำมันทาแผล ๔๖. เรื่อง ผ้าปิดกันน้ำมันเยิ้ม ๔๗. เรื่องยามหาวิกัฏ ๔๘. เรื่องรับประเคน ๔๙. เรื่องดื่มน้ำเจือคูถ และหยิบคูถเมื่อกำลังถ่าย ๕๐. เรื่องดื่มน้ำที่ละลายจากดินติดผาลไถ ๕๑. เรื่องดื่มน้ำด่าง อามิส ๕๒. เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตร ๕๓. เรื่องทาของหอม ๕๔. เรื่องดื่มยาถ่าย ๕๕. เรื่องน้ำข้าวใส ๕๖. เรื่องน้ำถั่วเขียวต้มที่ไม่ข้น ๕๗. เรื่องน้ำถั่วเขียวที่ข้นนิดหน่อย ๕๘. เรื่องน้ำเนื้อต้ม ๕๙. เรื่องชำระเงื้อมเขา และพระราชทานคนทำการวัด ๖๐. เรื่องฉัน เภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน ๖๑. เรื่องน้ำอ้อย ๖๒. เรื่องถั่วเขียว ๖๓. เรื่องยาดองโลณโสจิรกะ ๖๔. เรื่องอามิสที่หุงต้มเอง ๖๕. เรื่องภัตตาหารที่ต้องอุ่น ๖๖. เรื่องให้เก็บที่หุงต้มอามิส ในภายในและหุงต้มเอง เมื่อคราวอัตคัดอาหารต่อไปอีก ๖๗. เรื่องรับประเคนผลไม้ที่เป็น อุคคหิตได้ ๖๘. เรื่องถวายงา ๖๙. เรื่องของขบฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า ๗๐. เรื่อง เป็นไข้ตัวร้อน ๗๑. เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก ๗๒. เรื่องริดสีดวงทวาร ๗๓. เรื่อง สัตถกรรมและวัตถิกรรม ๗๔. เรื่องอุบาสิกาสุปปิยา ๗๕. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ๗๖. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง ๗๗. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า ๗๘. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข ๗๙. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู ๘๐. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์ ๘๑. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อ เสือโคร่ง ๘๒. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง ๘๓. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี ๘๔. เรื่อง ทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว ๘๕. เรื่องคอยโอกาสถวายภัตร และข้าวยาคู ๘๖. เรื่องมหาอำมาตย์ เริ่มเลื่อมใส เป็นต้นเหตุให้ทรงห้ามภิกษุรับนิมนต์ไว้แห่งหนึ่งแล้วไปฉันในที่อื่น ๘๗. เรื่อง ถวายงา น้ำอ้อย ๘๘. เรื่องทรงรับอาคารพักแรม ๘๙. เรื่องมหาอำมาตย์สุนีธะและวัสสการะ ๙๐. เรื่องแม่น้ำคงคา ๙๑. เรื่องเสด็จตำบลบ้านโกฏิ ทรงแสดงอริยสัจจกถา ๙๒. เรื่อง นางอัมพปาลีคณิกา ๙๓. เรื่องเจ้าลิจฉวี ๙๔. เรื่องอุทิศมังสะ ๙๕. เรื่องพระนครเวสาลี หาอาหารได้ง่าย ๙๖. เรื่องทรงห้ามอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้นใหม่ ๙๗. เรื่องฝนตั้งเค้า ๙๘. เรื่องพระโสชะอาพาธ ๙๙. เรื่องเมณฑกะคหบดี ถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง ๑๐๐. เรื่องเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน คือ น้ำผลมะม่วง น้ำผลหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วย ไม่มีเมล็ด น้ำผลทราง น้ำผลจันทน์ น้ำเหง้าบัว น้ำผลมะปราง ๑๐๑. เรื่องโรชะมัลลกษัตริย์ถวาย ผักสดและของขบฉันที่สำเร็จด้วยแป้ง ๑๐๒. เรื่องภิกษุช่างกัลบกในเมืองอาตุมา ๑๐๓. เรื่อง ผลไม้ดาดดื่นในพระนครสาวัตถี ๑๐๔. เรื่องพืช ๑๐๕. เรื่องเกิดสงสัยในพระบัญญัติบาง สิ่งบางอย่าง ๑๐๖. เรื่องกาลิกระคน.
หัวข้อประจำขันธกะ จบ.
-----------------------------------------------------
กฐินขันธกะ
ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้า
[๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุ เหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั่นเป็น พุทธประเพณี.
พุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอ ทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำ พรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมือง สาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วง ไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็ม ไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน
[๙๖] ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ ๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ๓. ฉันคณะโภชน์ได้ ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
วิธีกรานกฐิน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่ง ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐิน ผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน.
กฐินไม่เป็นอันกราน
[๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือ:- ๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงขีดรอย ๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า ๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า ๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า ๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า ๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บด้น ๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม ๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม ๙. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาต ๑๐. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาตด้านหน้า ๑๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า ๑๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมเป็นสีหม่นเท่านั้น ๑๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา ๑๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน ๑๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ ๑๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่มิได้ทำกัปปะพินทุ ๑๙. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าสังฆาฏิเสีย ๒๐. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอุตราสงค์เสีย ๒๑. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอันตรวาสกเสีย ๒๒. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑล เสร็จในวันนั้น ๒๓. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากการกรานแห่งบุคคล ๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่าไม่เป็นอันกราน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินไม่เป็นอันกราน.
กฐินเป็นอันกราน
[๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:- ๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่ ๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่ ๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า ๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสุกุล ๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน ๖. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา ๗. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา ๘. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา ๙. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน ๑๐. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์ ๑๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว ๑๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าสังฆาฏิ ๑๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอุตราสงค์ ๑๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอันตรวาสก ๑๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว ทำให้มีมณฑลเสร็จ ในวันนั้น ๑๖. กฐินเป็นอันกราน เพราะการแห่งบุคคล ๑๗. กฐินเป็นอันกราน ถ้าภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้ กฐินก็ชื่อว่า เป็นอันกราน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน. [๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันเดาะ.
มาติกา ๘
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อนี้ คือ:- ๑. กำหนดด้วยหลีกไป ๒. กำหนดด้วยจีวรทำเสร็จ ๓. กำหนดด้วยตกลงใจ ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย ๕. กำหนดด้วยได้ยินข่าว ๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง ๗. กำหนดด้วยล่วงเขต ๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน.
อาทายสัตตกะ ที่ ๖
[๑๐๐] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป ด้วยคิดว่าจักไม่กลับมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยหลีกไป. ๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับมาละ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะ กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้จีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ ๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอ ที่กำลัง ทำอยู่นั้นได้เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยผ้าเสียหาย ๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่าในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะกฐิน ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว ๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยล่วงเขต ๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.
อาทายสัตตกะที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------
สมาทายสัตตกะ ที่ ๒
[๑๐๑] ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป ด้วยคิดว่าจักไม่กลับมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยหลีกไป ๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐิน ของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักไม่ให้ทำจีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ ๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ เธอให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรของเธอที่ทำ อยู่นั้น ได้เสียหรือหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยผ้าเสียหรือหาย ๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่า ในอาวาสนั้น กฐินเดาะเสียแล้ว การเดาะ กฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว ๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา ให้ ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยล่วงเขต ๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่ ณ ภายนอก สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.
สมาทายสัตตกะ ที่ ๒ จบ.
-----------------------------------------------------
อาทายฉักกะ ที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๒๕๕๙-๒๗๙๘. หน้าที่ ๑๐๔ - ๑๑๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=2559&Z=2798&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=5&item=90&items=12              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=25              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=89              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=5&item=90&items=12&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=5&item=90&items=12&mode=bracket              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_5

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]