ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

เราเรียกบุคคลผู้ที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ผู้ไม่สามารถหยั่งรู้ถึงคติได้ สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน หมดความกังวล ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร แสวงหาคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ชนะมารได้แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องทำให้หวั่นไหว ชำระล้างกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งอริยสัจว่า เป็นพราหมณ์ เราเรียกบุคคลผู้ระลึกถึงอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และนรก ถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้วว่า เป็นพราหมณ์ [๔๖๐] อันที่จริง นามและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก นามและโคตรปรากฏอยู่ได้ เพราะรู้ตามกันมา ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้นๆ นามและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้ เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานาน ของพวกคนผู้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้จึงกล่าวบุคคลว่า เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติตระกูลก็หาไม่ หรือไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติตระกูลก็หาไม่ บุคคลเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม หรือไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นช่างศิลปะก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นผู้รับใช้ก็เพราะกรรม บุคคลแม้เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นทหารอาชีพก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม แม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท มีความรู้ความเข้าใจในกรรมและผลของกรรม ย่อมพิจารณาเห็นกรรม ตามความเป็นจริงอย่างนี้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนรถมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้แล่นไปอยู่ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้ เพราะกรรมนี้ คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ๑- นี้ เป็นคุณธรรมสูงสุดของพราหมณ์ วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ สงบ สิ้นภพใหม่แล้ว เป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่” @เชิงอรรถ : @ ชื่อว่า ตบะ เพราะมีธุดงค์เป็นตบะ ชื่อว่า พรหมจรรย์ เพราะงดเว้นจากเมถุนธรรม ชื่อว่า สัญญมะ เพราะ @มีศีล ชื่อว่า ทมะ เพราะฝึกอินทรีย์แล้ว (ม.ม.อ. ๒/๔๖๐/๓๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๙. สุภสูตร

[๔๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาช- มาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
วาเสฏฐสูตรที่ ๘ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๘๑-๕๘๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=13&A=16418&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=48              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=11070&Z=11248&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=704              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=704&items=5              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=704&items=5              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]