ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน

(เทพบุตรตอบว่า) [๑๒๔๘] ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร คุ้มครองทางทะเลทราย ทำตามคำสั่งของท้าวเวสวัณ จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่ (พวกพ่อค้าถามว่า) [๑๒๔๙] วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนาหรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายมอบให้ พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า วิมานที่น่าชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร (เทพบุตรตอบว่า) [๑๒๕๐] วิมานนี้มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง มิใช่ข้าพเจ้าทำเอง ทั้งมิใช่เทวดาทั้งหลายมอบให้ วิมานที่น่าชอบใจนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามของตน (พวกพ่อค้าถามว่า) [๑๒๕๑] อะไรเป็นวัตรและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร (เทพบุตรตอบว่า) [๑๒๕๒] ข้าพเจ้าได้มีนามว่า ปายาสิ เมื่อครั้งข้าพเจ้าครองราชสมบัติในแคว้นโกศล ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ๑- เป็นคนตระหนี่ มีธรรมเลวทราม และมีปกติกล่าวว่าขาดสูญ๒- @เชิงอรรถ : @ ลัทธิที่ถือว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖) @ ลัทธิที่ถือว่า ตายแล้วไม่เกิดอีก (ที.สี.อ. ๘๔/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน

[๑๒๕๓] ได้มีสมณะนามว่า กุมารกัสสปะ เป็นพหูสูต ผู้เลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจ๑- ของข้าพเจ้าได้ [๑๒๕๔] ข้าพเจ้าฟังธรรมกถาของท่านนั้นแล้ว ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา [๑๒๕๕] ข้อนั้นเป็นวัตร และเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามนั้นนั่นเอง (พวกพ่อค้าถามว่า) [๑๒๕๖] ทราบมาว่า คนมีปัญญาทั้งหลายพูดแต่คำจริง คำพูดของบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น คนทำบุญไว้จะไปในที่ใดย่อมมีแต่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่ บันเทิงอยู่ในที่นั้น [๑๒๕๗] ณ ที่ใดมีความโศก ความร่ำไห้ การฆ่า การจองจำ และเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย๒- คนทำบาปไว้ก็จะไปในที่นั้น ไม่พ้นจากคติที่ชั่วไปได้ ไม่ว่ากาลไหนๆ [๑๒๕๘] พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ เทพบริวารจึงเป็นเสมือนผู้ฟั่นเฟือนไปในชั่วครู่นี้ เหมือนน้ำใสถูกกวนให้ขุ่น เพราะเหตุอะไรหนอ เทพบริวารนี้และตัวท่านจึงได้มีความโทมนัส @เชิงอรรถ : @ มิจฉาทิฏฐิ @ ความหายนะ (พินาศ) (ขุ.วิ.อ. ๑๒๕๗/๔๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน

(เทพบุตรตอบว่า) [๑๒๕๙] พ่อทั้งหลาย กลิ่นทิพย์เหล่านี้โชยกลิ่นหอมระรื่นจากป่าไม้ซึก หอมตลบอบอวลไปทั่ววิมานนี้ กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน [๑๒๖๐] ล่วงไป ๑๐๐ ปี ฝักไม้ซึกเหล่านี้แต่ละฝักก็จะแตกออก เป็นที่รู้กันว่า ๑๐๐ ปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดานี้ [๑๒๖๑] พ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้เห็นแล้วว่า ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในวิมานนี้เพียง ๕๐๐ ปีทิพย์ แล้วจึงจุติเพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ ข้าพเจ้าจึงซบเซาเพราะความโศกนั้นนั่นเอง (พวกพ่อค้ากล่าวว่า) [๑๒๖๒] ผู้ที่ได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานานเช่นนั้น จะพึงเศร้าโศกไปทำไมเล่า แต่พวกผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้นๆ นั้นแหละควรเศร้าโศกแท้ (เทพบุตรกล่าวว่า) [๑๒๖๓] พ่อทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาที่น่ารักกับข้าพเจ้า นั่นเป็นการกล่าวตักเตือนอันสมควรแก่ข้าพเจ้า ส่วนข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายไปยังที่ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาโดยความสวัสดีเถิด (พวกพ่อค้ากล่าวว่า) [๑๒๖๔] ข้าพเจ้าทั้งหลายต้องการทรัพย์ หวังกำไร จึงพากันไปยังสินธุและโสวีระประเทศ แล้วจักพยายามค้าขายตามที่ตั้งใจไว้ มีการเสียสละอย่างบริบูรณ์ ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรอย่างโอฬาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน

(เทพบุตรกล่าวว่า) [๑๒๖๕] ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรเลย สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดถึงทั้งหมดจักมีแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายจงงดเว้นกรรมชั่วและจงตั้งใจประพฤติธรรมเถิด [๑๒๖๖] ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต ประกอบด้วยศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ มีศีลเป็นที่รักยิ่ง มีวิจารณญาณ สันโดษ มีความรู้ [๑๒๖๗] ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม [๑๒๖๘] เขามีความเคารพ ยำเกรง มีวินัย ไม่เป็นคนเลว เป็นคนบริสุทธิ์ในอธิศีล มีความประพฤติประเสริฐ เลี้ยงดูมารดาบิดาโดยชอบธรรม [๑๒๖๙] เขาเห็นจะแสวงหาโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา มิใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป เขาก็น้อมไปในเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์ [๑๒๗๐] เขาเป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่พูดมีเลศนัย เขาทำแต่กรรมดี ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้รับทุกข์อย่างไรเล่า [๑๒๗๑] เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว พ่อค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเห็นธรรมเถิด เพราะเว้นอุบาสกนั้นเสียแล้ว ท่านทั้งหลายจะสับสน เหมือนคนตาบอดหลงเข้าไปในป่าเป็นเถ้าถ่านไป การทอดทิ้งผู้อื่นเป็นการง่ายสำหรับคนทั่วไป (แต่เป็นการยากสำหรับสัตบุรุษ) การคบหาสัตบุรุษจึงนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน

(พวกพ่อค้าถามว่า) [๑๒๗๒] อุบาสกคนนั้นคือใคร และทำงานอะไร เขาชื่ออะไร และโคตรอะไร เทวดา แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้น ที่ท่านมาที่นี้เพื่อช่วยเหลือ อุบาสกที่ท่านชอบ เป็นคนโชคดี (เทพบุตรตอบว่า) [๑๒๗๓] ผู้ใดเป็นกัลบก๑- มีชื่อว่า สัมภวะ อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ เขาเป็นคนรับใช้ของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าผู้นั้นเป็นอุบาสก ท่านทั้งหลายอย่าได้ดูหมิ่นเขา เขาเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักยิ่ง (พวกพ่อค้ากล่าวว่า) [๑๒๗๔] เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนเช่นนี้เลย เทวดา แม้พวกเราฟังคำของท่านแล้ว ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร (เทพบุตรกล่าวว่า) [๑๒๗๕] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้ ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ หรือคนปูนกลาง ทุกคนนั้นแหละเชิญขึ้นวิมาน พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย (พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว ๖ คาถาในตอนจบเรื่องว่า) [๑๒๗๖] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้นต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ พร้อมกับกล่าวว่าเราก่อนๆ @เชิงอรรถ : @ ช่างแต่งกาย (ขุ.วิ.อ. ๑๒๗๓/๔๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน

[๑๒๗๗] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างก็ประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า เราก่อนๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ในโลก ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา [๑๒๗๘] พ่อค้าทุกคนนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นแล้ว ได้ไปยังประเทศที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยฤทธิ์ของเทวดาเนืองๆ ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป [๑๒๗๙] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามที่ตั้งใจไว้ มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย [๑๒๘๐] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรอย่างโอฬาร ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสริสสกะขึ้น [๑๒๘๑] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้ การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสริสสกวิมานที่ ๑๐ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๖๓}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๕๘-๑๖๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=4478&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=84              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=2771&Z=2939&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=84              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=84&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=84&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]