ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๘. สังโยคสูตร
ว่าด้วยความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง
[๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย๑- เรื่องความเกี่ยวข้องและ ความไม่เกี่ยวข้องแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ธรรมบรรยายเรื่องความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างไร คือ สตรีย่อมกำหนด ๑. ความเป็นสตรีภายในตน ๒. กิริยาของสตรี ๓. ท่าทางของสตรี๒- ๔. ความไว้ตัวของสตรี @เชิงอรรถ : @ คำว่า บรรยาย ในคำว่า ธรรมบรรยาย นี้แปลจาก ปริยาย ศัพท์ ซึ่งมีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึง @เทศนา (ดู ม.มู. ๑๒/๒๐๕/๑๗๕, องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๖๓/๓๙๐) (๒) หมายถึงวาระ (ดู ม.อุ. ๑๔/๒๙๘/๓๔๔) @(๓) หมายถึงเหตุ (ดู วิ.มหา. ๑/๑๖๔/๙๕) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (วิ.อ. ๑/๓/๑๒๖, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๑/๑๘๕) @ ท่าทางของสตรี หมายถึงมรรยาทต่างๆ เช่น การนุ่ง การห่ม เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๑/๑๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕. มหายัญญวรรค ๘. สังโยคสูตร

๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี ๗. เครื่องประดับของสตรี เธอย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายในตนเป็นต้นนั้น เธอผู้ติดใจยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมกำหนด ๑. ความเป็นบุรุษภายนอก ๒. กิริยาของบุรุษ ๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ ๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ ๗. เครื่องประดับของบุรุษ เธอย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น เธอผู้ติดใจยินดียิ่ง ในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมมุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอกและมุ่งหวัง สุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดียิ่ง ในความเป็นสตรี ย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับบุรุษทั้งหลาย สตรีล่วงพ้นความเป็นสตรีไปไม่ได้ อย่างนี้แล บุรุษย่อมกำหนด ๑. ความเป็นบุรุษภายในตน ๒. กิริยาของบุรุษ ๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ ๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ ๗. เครื่องประดับของบุรุษ เขาย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น เขาผู้ติดใจยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมกำหนด ๑. ความเป็นสตรีภายนอก ๒. กิริยาของสตรี ๓. ท่าทางของสตรี ๔. ความไว้ตัวของสตรี ๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี ๗. เครื่องประดับของสตรี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕. มหายัญญวรรค ๘. สังโยคสูตร

เขาย่อมติดใจยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น เขาผู้ติดใจยินดียิ่ง ในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมมุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอกและมุ่งหวัง สุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดียิ่ง ในความเป็นบุรุษ ย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับสตรีทั้งหลาย บุรุษล่วงพ้นความเป็นบุรุษไป ไม่ได้ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ความเกี่ยวข้องเป็นอย่างนี้แล ความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างไร คือ สตรีย่อมไม่กำหนด ๑. ความเป็นสตรีภายในตน ๒. กิริยาของสตรี ๓. ท่าทางของสตรี ๔. ความไว้ตัวของสตรี ๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี ๗. เครื่องประดับของสตรี เธอย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายในตนเป็นต้นนั้น เธอผู้ไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีในภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมไม่กำหนด ๑. ความเป็นบุรุษภายนอก ๒. กิริยาของบุรุษ ๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ ๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ ๗. เครื่องประดับของบุรุษ เธอย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น เธอผู้ไม่ติดใจ ไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมไม่มุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอก และไม่มุ่งหวังสุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรี ย่อมเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับบุรุษทั้งหลาย สตรีล่วงพ้น ความเป็นสตรีไปได้ อย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๕. มหายัญญวรรค ๘. สังโยคสูตร

บุรุษย่อมไม่กำหนด ๑. ความเป็นบุรุษภายในตน ๒. กิริยาของบุรุษ ๓. ท่าทางของบุรุษ ๔. ความไว้ตัวของบุรุษ ๕. ความพอใจของบุรุษ ๖. เสียงของบุรุษ ๗. เครื่องประดับของบุรุษ เขาย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น เขาผู้ไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษภายในตนเป็นต้นนั้น ย่อมไม่กำหนด ๑. ความเป็นสตรีภายนอก ๒. กิริยาของสตรี ๓. ท่าทางของสตรี ๔. ความไว้ตัวของสตรี ๕. ความพอใจของสตรี ๖. เสียงของสตรี ๗. เครื่องประดับของสตรี เขาย่อมไม่ติดใจไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น เขาผู้ไม่ติดใจ ไม่ยินดียิ่งในความเป็นสตรีภายนอกเป็นต้นนั้น ย่อมไม่มุ่งหวังการเกี่ยวข้องภายนอกและ ไม่มุ่งหวังสุขและโสมนัสที่จะเกิดขึ้นเพราะการเกี่ยวข้องนั้นเป็นปัจจัย สัตว์ทั้งหลายผู้ ไม่ยินดียิ่งในความเป็นบุรุษ ย่อมเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับสตรีทั้งหลาย บุรุษล่วงพ้นความ เป็นบุรุษไปได้ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ความไม่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายเรื่องความเกี่ยวข้องและความไม่เกี่ยวข้อง เป็น อย่างนี้แล
สังโยคสูตรที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๘๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๘๕-๘๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=48              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1298&Z=1339                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=48              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=48&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4131              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=48&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4131                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i041-e.php#sutta8 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an07/an07.048.than.html https://suttacentral.net/an7.51/en/sujato https://suttacentral.net/an7.51/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :