ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๒. เสรีสกเปตวัตถุ
เรื่องเสรีสกเปรต
(พระควัมปติกล่าวว่า) [๖๐๔] ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดาและพวกพ่อค้า ที่ได้มาพบกันในทางทะเลทรายในคราวนั้น และขอเชิญทุกท่านฟังถ้อยคำตามที่เทวดา และพวกพ่อค้ากล่าวสนทนากัน @เชิงอรรถ : @ สามัญญผล แปลว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ ความเป็นสมณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา @พระผู้มีพระภาคทรงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การบวชได้ผลเห็นประจักษ์ (หมายถึงการบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ @นิพพาน ๑ ไปตามลำดับ) (สุตฺต ๙/๒๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

[๖๐๕] ยังมีพระราชาผู้ทรงยศพระนามว่า ปายาสิ ได้เกิดร่วมกับหมู่ภุมเทวดา มีบริวารยศบันเทิงอยู่ในวิมานของตน เป็นเทวดาแต่ได้มาสนทนากับพวกมนุษย์ (เสรีสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า) [๖๐๖] มนุษย์ทั้งหลายผู้กลัวทางคดเคี้ยว มีใจหวาดหวั่นอยู่ในที่น่าระแวงว่ามีภัย ในป่า ในถิ่นของอมนุษย์ ในทางกันดาร ซึ่งมีน้ำมีอาหารไม่เพียงพอ เดินไปได้แสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย [๖๐๗] ในทางทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน ไม่มีเชื้อไฟ ในทางทะเลทรายนี้ จักหาอาหารได้แต่ที่ไหน นอกจากฝุ่นและทรายที่แดดแผดเผาทั้งร้อน ทั้งทารุณ [๖๐๘] ที่นี้เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ หาความสบายมิได้ เทียบเท่านรก สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้ามีปีศาจเป็นต้น เป็นภูมิประเทศเหมือนถูกสาปไว้ [๖๐๙] อนึ่ง พวกท่านหวังอะไร เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน เพราะความโลภ ความกลัว หรือเพราะความหลง (พวกพ่อค้าตอบว่า) [๖๑๐] พวกข้าพเจ้านั้นเป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ ต้องการทรัพย์ หวังกำไร จึงบรรทุกสินค้ามามาก พากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

[๖๑๑] กลางวัน พวกข้าพเจ้าทุกคนทนความกระหายน้ำไม่ได้ ทั้งมุ่งหวังจะอนุเคราะห์สัตว์พาหนะ จึงรีบเดินทางมาในกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาวิกาล [๖๑๒] พวกข้าพเจ้าไปผิดทาง จึงหลงทาง สับสนเหมือนคนตาบอด เดินหลงเข้าไปในป่าที่ไปได้ยากแสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย เกิดงุนงงสงสัย ไม่รู้ทิศทาง [๖๑๓] ท่านที่ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้พบวิมานอันประเสริฐ และตัวท่านซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนนี้ จึงหวังจะรอดชีวิตยิ่งกว่าแต่ก่อน เพราะได้เห็น จึงพากันร่าเริง ดีใจและเบิกบานใจ (เทพบุตรถามว่า) [๖๑๔] เพราะโภคทรัพย์เป็นต้นเหตุ พวกท่านจึงพากันไปยังทิศทางต่างๆ คือ ฝั่งสมุทรทะเลทรายทางที่ต้องใช้เครื่องหวาย ทางที่ต้องตอกทอย๑- ทางที่มีแม่น้ำ และทางภูเขาที่ไปได้ยาก [๖๑๕] พ่อค้าทั้งหลาย พวกท่านได้ไปยังแคว้นของพระราชาอื่นๆ พบเห็นผู้คนชาวต่างประเทศ พวกเราขอฟังสิ่งอัศจรรย์ ที่พวกท่านได้ยิน หรือได้เห็นมา @เชิงอรรถ : @ ตอกทอย หมายถึง การตีลูกทอยคือไม้แหลมๆ ที่ทำเป็นตะปูตีเข้าที่ต้นไม้ (หรือที่หน้าผาเพื่อทำเป็น @บันไดไต่ขึ้นไป) (ขุ.วิ.อ. ๑๒๓๘/๓๙๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

(พวกพ่อค้าตอบว่า) [๖๑๖] พ่อกุมาร สมบัติของมนุษย์ที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งอัศจรรย์กว่าวิมานของท่านแม้นี้ พวกข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นหรือได้ยิน วิมานของท่านซึ่งมีรัศมีไม่เลว พวกข้าพเจ้าแลดูแล้วไม่อิ่มเลย [๖๑๗] ที่วิมานของท่านมีสระโบกขรณี ลอยอยู่ในอากาศ มีสวนดอกไม้มากมาย มีบัวขาวมาก มีหมู่ไม้ผลิดอกออกผลเป็นนิตย์ โชยกลิ่นหอมตลบอบอวล [๖๑๘] เสาวิมานเหล่านี้เป็นเสาแก้วไพฑูรย์ สูงร้อยศอก ประดับด้วยแก้วผลึก แก้วประพาฬ แก้วลาย และทับทิม มีรัศมีโชติช่วง [๖๑๙] วิมานของท่านนี้มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น ภายในประกอบด้วยแก้ว ภายนอกล้อมรอบด้วยไพทีทองคำ๑- และมุงบังอย่างดีด้วยแผ่นทองคำ มีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ งามอยู่บนเสาเหล่านั้น [๖๒๐] วิมานของท่านนี้สว่างไสวด้วยทองชมพูนุทชั้นเยี่ยม ทุกส่วนของวิมานเกลี้ยงเกลาดี ประกอบด้วยบันไดและพื้นน่าพอใจ มั่นคง งดงาม มีส่วนประกอบกลมกลืน ชวนพิศอย่างยิ่ง น่าชอบใจ @เชิงอรรถ : @ เวทีที่ทำด้วยทอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการฟ้อนรำขับร้อง หรือบางแห่งใช้ตั้งเครื่องบูชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

[๖๒๑] ภายในวิมานแก้ว มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ ตัวท่านมีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อม กึกก้องด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดุริยางค์ เป็นผู้ที่ทวยเทพนอบน้อมแล้วด้วยการชมเชยและกราบไหว้ [๖๒๒] ตัวท่านนั้นมีอานุภาพสุดที่จะคิด ประกอบด้วยคุณทุกอย่าง ผู้อันหมู่เทพนารีปลุกเร้า บันเทิงอยู่ในวิมานปราสาทที่ประเสริฐ น่ารื่นรมย์ใจ เหมือนท้าวเวสวัณบันเทิงอยู่ในนฬินีสถาน๑- [๖๒๓] ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์ เป็นท้าวสักกะจอมเทพ หรือเป็นมนุษย์ พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน โปรดบอกด้วยเถิด ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร (เทพบุตรตอบว่า) [๖๒๔] ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร คุ้มครองทางทะเลทราย ทำตามคำสั่งท้าวเวสวัณ จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่ (พวกพ่อค้าถามว่า) [๖๒๕] วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนา หรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายมอบให้ พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า วิมานที่น่าชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร @เชิงอรรถ : @ สถานที่ทรงเล่นกีฬาสนามกีฬา (ขุ.วิ.อ. ๑๒๔๖/๔๐๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

(เทพบุตรตอบว่า) [๖๒๖] วิมานนี้มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง มิใช่ข้าพเจ้าทำเองทั้งมิใช่เทวดาทั้งหลายมอบให้ วิมานที่น่าชอบใจนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามของตน (พวกพ่อค้าถามว่า) [๖๒๗] อะไรเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร (เทพบุตรตอบว่า) [๖๒๘] ข้าพเจ้าได้มีนามว่าปายาสิ เมื่อครั้งข้าพเจ้าครองราชสมบัติแคว้นโกศล ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ๑- เป็นคนตระหนี่ มีธรรมเลวทราม และมีปกติกล่าวว่าขาดสูญ๒- [๖๒๙] ได้มีสมณะ ผู้พหูสูต นามว่ากุมารกัสสปะ ซึ่งเลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจของข้าพเจ้าได้ @เชิงอรรถ : @ มีความเห็นผิดว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเอง @(สุตฺต. ๙/๑๖๘/๕๔) @ การกล่าวว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชายัญไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี @ทำชั่วไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ ฯลฯ (สุตฺต. ๙/๑๗๑/๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

[๖๓๐] ข้าพเจ้าฟังธรรมกถาของท่านแล้ว ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา [๖๓๑] ข้อนั้นเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าสั่งสมไว้ดีแล้ว วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามนั้นนั่นเอง (พวกพ่อค้าถามว่า) [๖๓๒] ทราบมาว่า คนมีปัญญาทั้งหลายพูดแต่คำจริง คำพูดของบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น คนทำบุญไว้จะไปที่ใด ย่อมมีแต่สิ่งที่น่ารักน่าใคร่ บันเทิงอยู่ในที่นั้น [๖๓๓] ณ ที่ใด มีความโศก ความร่ำไห้ การฆ่า การจองจำ และเหตุเกิดเรื่องเลวร้าย คนทำบาปไว้ก็จะไปในที่นั้น ไม่พ้นจากคติที่ชั่วไปได้ไม่ว่าในกาลไหน [๖๓๔] พ่อกุมาร เพราะเหตุอะไรหนอ เทพบริวารจึงเป็นเสมือนผู้ฟั่นเฟือนไปในชั่วครู่นี้ เหมือนน้ำใสถูกกวนให้ขุ่น เพราะเหตุไรหนอ เทพบริวารนี้และตัวท่านจึงได้มีความโทมนัส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

(เทพบุตรตอบว่า) [๖๓๕] พ่อทั้งหลาย กลิ่นทิพย์เหล่านี้ โชยกลิ่นหอมระรื่นจากป่าไม้ซึก หอมตลบอบอวลทั่ววิมานนี้ กำจัดความมืดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน [๖๓๖] ล่วงไป ๑๐๐ ปี เปลือกฝักไม้ซึกเหล่านี้ แต่ละฝักก็จะแตกออก เป็นที่รู้กันว่า ๑๐๐ ปีของมนุษย์ล่วงไปแล้ว ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดานี้ [๖๓๗] พ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้เห็นแล้วว่า ข้าพเจ้าจักดำรงอยู่ในวิมานนี้อีก ๕๐๐ ปีทิพย์ แล้วจึงจุติ เพราะสิ้นบุญ สิ้นอายุ ข้าพเจ้าจึงซบเซา เพราะความโศกนั้นนั่นเอง (พวกพ่อค้ากล่าวว่า) [๖๓๘] ผู้ที่ได้วิมานซึ่งหาที่เปรียบมิได้เป็นเวลานานเช่นนั้น จะพึงเศร้าโศกไปทำไมเล่า แต่พวกผู้มีบุญน้อยเข้าอยู่วิมานชั่วเวลาสั้นนั้นแหละ ควรเศร้าโศกแท้ (เทพบุตรกล่าวว่า) [๖๓๙] พ่อทั้งหลาย ข้อที่ท่านทั้งหลายกล่าววาจาที่น่ารักกับข้าพเจ้า นั่นเป็นการกล่าวตักเตือนอันสมควรแก่ข้าพเจ้า ส่วนข้าพเจ้าจะตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายไปยังที่ ที่ท่านทั้งหลายปรารถนาโดยความสวัสดีเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

(พวกพ่อค้ากล่าวว่า) [๖๔๐] พวกข้าพเจ้าต้องการทรัพย์ หวังกำไร จึงพากันไปยังสินธุประเทศ และโสวีระประเทศ แล้วจักประกอบกรรมที่ได้รับรองไว้ตามสมควร มีการเสียสละอย่างบริบูรณ์ กระทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร (เทพบุตรกล่าวว่า) [๖๔๑] ท่านทั้งหลาย อย่าได้ทำการบูชาเสรีสกเทพบุตรเลย สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดถึงทั้งหมด จักมีแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายจงงดเว้นกรรมชั่วและจงตั้งใจประกอบตามธรรม [๖๔๒] ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต มีศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ มีศีลเป็นที่รักอย่างยิ่ง มีวิจารณญาณ สันโดษ มีความรู้ [๖๔๓] ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม [๖๔๔] เขามีความเคารพ ยำเกรง มีวินัย ไม่เป็นคนเลว เป็นผู้บริสุทธิ์ในอธิศีล มีความประพฤติประเสริฐ เลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม [๖๔๕] เขาเห็นจะแสวงหาโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา มิใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป เขาก็น้อมไปในเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

[๖๔๖] เขาเป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่พูดมีเลศนัย เขาทำแต่กรรมดี ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้รับทุกข์อย่างไรเล่า [๖๔๗] เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว พ่อค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเห็นธรรมเถิด เพราะเว้นอุบาสกนั้นเสียแล้ว ท่านทั้งหลายจะสับสน เหมือนคนตาบอดหลงเข้าไปในป่าเป็นเถ้าถ่านไป การทอดทิ้งผู้อื่นเป็นการง่ายสำหรับคนทั่วไป (แต่เป็นการยากสำหรับสัตบุรุษ) คบหาสัตบุรุษจึงนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง (พวกพ่อค้าถามว่า) [๖๔๘] อุบาสกคนนั้นคือใคร และทำงานอะไร เขาชื่ออะไร และโคตรอะไร ข้าแต่เทวดา แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้นที่ท่านมาที่นี้ เพื่อช่วยเหลืออุบาสกที่ท่านชอบ เป็นคนโชคดี (เทพบุตรตอบว่า) [๖๔๙] ผู้ที่เป็นกัลบกมีชื่อว่าสัมภวะ อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ เป็นคนรับใช้ของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าเป็นอุบาสก ท่านทั้งหลายอย่าดูหมิ่นเขา เขาเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักยิ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๒. เสรีสกเปตวัตถุ

(พวกพ่อค้ากล่าวว่า) [๖๕๐] ข้าแต่เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี แต่ไม่รู้จักว่า เขาเป็นคนเช่นนี้เลย แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายฟังคำของท่านแล้ว ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร (เทพบุตรกล่าวว่า) [๖๕๑] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้ ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ หรือคนปูนกลาง ทั้งหมดทุกคนนั้น เชิญขึ้นไปบนวิมาน พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย (พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว ๖ คาถาในตอนจบเรื่องว่า) [๖๕๒] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้น ต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ พร้อมกล่าวว่า เราก่อนๆ [๖๕๓] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า เราก่อนๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา [๖๕๔] พ่อค้าทุกคน ครั้นต่างคนต่างประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นแล้วได้ไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยเทวฤทธิ์เนืองๆ ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๒๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๔. มหาวรรค]

๓. นันทกเปตวัตถุ

[๖๕๕] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามปรารถนา มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย [๖๕๖] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม บูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสรีสกะขึ้น [๖๕๗] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้ การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสรีสกเปตวัตถุที่ ๒ จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๒๖๕-๒๗๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=122              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=4586&Z=4589                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=122              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=122&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5801              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=122&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5801                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :