บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]
๒. ปาราปริยเถรคาถา
๒. ปาราปริยเถรคาถา ภาษิตของพระปาราปริยเถระ (พระปาราปริยเถระเมื่อจะประกาศอาการที่ตนคิด จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๗๒๖] ภิกษุชื่อปาราปริยะ เป็นสมณะ นั่งอยู่แต่ลำพังผู้เดียว มีจิตสงบสงัดเข้าฌานอยู่ ได้มีความคิดว่า [๗๒๗] คนพึงทำอะไรโดยลำดับ ประพฤติวัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร จึงจะชื่อว่าพึงทำกิจของตนและไม่เบียดเบียนใครๆ [๗๒๘] อินทรีย์ทั้งหลายนั่นแหละ ย่อมมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์สำหรับมวลมนุษย์ อินทรีย์ที่ไม่ได้ระวังรักษาย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ส่วนอินทรีย์ที่ระวังรักษาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ [๗๒๙] คนที่ระวังรักษาและคุ้มครองอินทรีย์เท่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจของตน และไม่พึงเบียดเบียนใครๆ [๗๓๐] ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ที่เป็นไปในรูปทั้งหลายมักไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย [๗๓๑] อนึ่ง ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์ที่เป็นไปในเสียงทั้งหลาย มักไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย [๗๓๒] หากผู้ใดไม่เห็นอุบายเป็นที่สลัดออก ส้องเสพกลิ่น ผู้นั้นยังติดอยู่ในกลิ่น ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้ [๗๓๓] ผู้ใดยังคำนึงถึงรสเปรี้ยว รสหวาน และรสขม ติดอยู่ในความอยากในรส ย่อมไม่รู้สึกถึงความคิดในใจที่เกิดขึ้นว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้ [๗๓๔] ผู้ใดยังนึกถึงโผฏฐัพพะที่สวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดีแล้ว ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์ต่างๆ ซึ่งมีราคะเป็นเหตุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๖๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]
๒.ปาราปริยเถรคาถา
[๗๓๕] ผู้ใดไม่อาจระวังรักษาใจจากธรรมารมณ์เหล่านี้ ทุกข์ที่เกิดจากกระแสอารมณ์ทั้ง ๕ ย่อมติดตามผู้นั้น เพราะไม่ระวังรักษาใจนั้น [๗๓๖] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง เลือด และซากศพเป็นจำนวนมาก ที่นรชนผู้กล้าสร้างไว้ เกลี้ยงเกลา วิจิตรงดงามแต่ภายนอก ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีคูถเป็นต้น ดุจสมุก [๗๓๗] ที่เผ็ดร้อน มีรสหวานชื่นใจ ผูกพันด้วยความรัก เป็นทุกข์ ฉาบไว้ด้วยของที่น่าชื่นใจภายนอก ดุจมีดโกนทาน้ำผึ้งที่คนเขลาไม่รู้ซึ้งฉะนั้น [๗๓๘] บุรุษที่ยังกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น (รส) และโผฏฐัพพะ ของสตรี ย่อมประสบทุกข์ต่างๆ [๗๓๙] กระแสตัณหาในสตรีทั้ง ๕ ย่อมไหลไปในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ ผู้ใดมีความเพียรอาจทำการป้องกันกระแสตัณหาทั้ง ๕ นั้นได้ [๗๔๐] ผู้นั้น มีความรู้ตั้งอยู่ในธรรม ขยัน มีปัญญาเครื่องพิจารณา ถึงจะยินดีอยู่ ก็พึงทำกิจที่ประกอบด้วยเหตุผลได้ [๗๔๑] ถ้ายังติดอยู่กับการประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ควรเว้นกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องพิจารณา รู้ว่ากิจนั้นไม่ควรทำแล้ว พึงเว้นเสีย [๗๔๒] ควรยึดกิจที่ประกอบประโยชน์ในปัจจุบัน และความยินดีที่ประกอบด้วยธรรม ประพฤติ เพราะความยินดี นั้นแล ชื่อว่าเป็นความยินดีสูงสุด [๗๔๓] ผู้ใดปรารถนาจะใช้อุบายต่างๆ ช่วงชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่น ฆ่า เบียดเบียนผู้อื่น และทำผู้อื่นให้เศร้าโศก ฉกชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่นด้วยความทารุณ ร้ายกาจ การกระทำของผู้นั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๖๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]
๓. เตลกานิเถรคาถา
[๗๔๔] คนมีกำลัง เมื่อจะถากไม้ย่อมใช้ลิ่มตอกลิ่ม ฉันใด ภิกษุผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ย่อมใช้อินทรีย์นั่นแหละขจัดอินทรีย์ [๗๔๕] นรชนใดอบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ใช้อินทรีย์ ๕ ฝึกอินทรีย์ ๕ เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ถึงอนุปาทิเสสนิพพาน [๗๔๖] นรชนนั้นมีความรู้ ตั้งอยู่ในธรรม ทำตามอนุสาสนีที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ ย่อมประสบสุขเนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๖๓-๔๖๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=386 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=7417&Z=7460 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=386 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=386&items=1 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=6896 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=386&items=1 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=6896 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thag16.2/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]