ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
ว่าด้วยมหาสัตว์อโยฆรราช
(พระโพธิสัตว์อโยฆรราชเมื่อจะแสดงธรรมโปรดพระราชบิดา จึงตรัสว่า) [๓๖๓] สัตว์ถือปฏิสนธิครั้งแรก อยู่ในครรภ์ตลอดคืนหนึ่ง ดำเนินไปไม่หวนกลับเหมือนเมฆหมอกที่ตั้งขึ้นแล้วลอยผ่านไป [๓๖๔] นรชนทั้งหลายประกอบพร้อมด้วยกำลังพล สู้รบอยู่ในสงคราม จะไม่แก่ไม่ตายก็หาไม่ เพราะว่ามณฑลแห่งปาณสัตว์นั้นล้วนถูกชาติและชราเบียดเบียน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๖๕] พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้น ทรงข่มขี่ราชศัตรู ผู้มีเสนาประกอบด้วยองค์ ๔ มีรูปร่างน่าสะพรึงกลัว เอาชนะไปได้ แต่ไม่ทรงสามารถชนะเสนาแห่งพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)

[๓๖๖] พระราชาบางพวกแวดล้อมด้วยกองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า ย่อมพ้นจากเงื้อมมือของปัจจามิตรได้ แต่ไม่อาจจะทรงพ้นจากพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๖๗] พระราชาทั้งหลายผู้ทรงกล้าหาญ ทรงหักค่าย ทำลายนคร กำจัดมหาชนได้ด้วยกองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า แต่ไม่อาจจะทรงหักราญพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๖๘] คชสารทั้งหลายตัวตกมัน มีมันแตกไหลเยิ้ม ย่อมย่ำยีบ้านเมือง เข่นฆ่าประชาชนได้ แต่ไม่อาจจะย่ำยีพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๖๙] นายขมังธนูทั้งหลายผู้มีฝีมือฝึกปรือดีแล้ว เป็นผู้กล้าหาญ สามารถยิงไปได้ไกล แม่นยำไม่ผิดพลาด แต่ไม่อาจจะยิงพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๐] สระทั้งหลายย่อมเสื่อมสิ้นไป พื้นปฐพีพร้อมทั้งภูเขาและราวป่าก็หมดสิ้นไป ถึงทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตลอดกาลนานเข้าก็เสื่อมสิ้นไป เพราะสังขารทั้งปวงนั้นย่อมแตกสลายไปตามกาลกำหนด เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๑] แท้จริง ชีวิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวงทั้งหญิงชายในโลกนี้ มีสภาพหวั่นไหว ปั่นป่วน เหมือนแผ่นผ้าของนักเลง เหมือนต้นไม้ที่เกิดใกล้ฝั่ง เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)

[๓๗๒] ทั้งคนหนุ่ม ทั้งคนแก่ ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งบัณเฑาะก์ (กะเทย) ย่อมมีกายแตกทำลายไปเหมือนผลไม้หล่นจากต้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๓] ดวงจันทร์ซึ่งเป็นราชาแห่งดวงดาวเป็นฉันใด วัยนี้หาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะส่วนใดล่วงไปแล้ว ส่วนนั้นเป็นอันล่วงไปแล้วในบัดนี้ อนึ่ง คนแก่เฒ่าชราแล้วหามีความยินดีไม่ ความสุขจะมีแต่ที่ไหน เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๔] ยักษ์ ปีศาจ หรือแม้เปรตทั้งหลายเหล่านั้นโกรธขึ้นมาแล้ว ย่อมเข้าสิงมนุษย์ทั้งหลายได้ แต่ไม่อาจจะเข้าสิงพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๕] ยักษ์ ปีศาจ หรือแม้เปรตทั้งหลายเหล่านั้นโกรธขึ้นมาแล้ว มนุษย์ทั้งหลายย่อมกระทำให้อดโทษได้ด้วยพลีกรรม แต่จะทำพญามัจจุราชให้อดโทษด้วยพลีกรรมหาได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๖] พระราชาทั้งหลายทรงทราบความผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว จึงทรงลงอาชญาคนผู้มีความผิด ผู้ประทุษร้าย และผู้เบียดเบียนประชาชน แต่ไม่ทรงสามารถจะลงอาชญาพญามัจจุราชได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๗] ชนทั้งหลายผู้กระทำความผิด ผู้ประทุษร้าย และผู้เบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมได้เพื่อจะทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่จะทำพญามัจจุราชให้อภัยโทษหาได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)

[๓๗๘] ความเพ่งเล็งด้วยความหวังดีว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ ผู้นี้เป็นคนมั่งคั่ง เป็นคนมีพลัง หรือเป็นคนมีเดช ไม่ได้มีแก่พญามัจจุราชเลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๗๙] สิงโต เสือโคร่ง และแม้เสือเหลืองทั้งหลาย ย่อมข่มขี่กัดกินสัตว์ที่ดิ้นรนไปมาได้ แต่ไม่อาจจะกัดกินพญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๘๐] นักมายากลทั้งหลายเมื่อแสดงมายากลท่ามกลางสนาม ย่อมลวงตาประชาชนให้หลงใหลได้เพียงนั้น แต่ไม่อาจจะลวงตาพญามัจจุราชให้หลงใหลได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๘๑] อสรพิษทั้งหลายตัวที่มีพิษร้ายกาจ โกรธขึ้นมาแล้วย่อมขบกัดมนุษย์ทั้งหลายให้ตายได้ แต่ไม่อาจจะขบกัดพญามัจจุราชได้เลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๘๒] อสรพิษทั้งหลายโกรธขึ้นมาแล้วย่อมขบกัดผู้ใด หมอผู้เยียวยายังถอนพิษในร่างกายของผู้นั้นได้ แต่ถอนพิษอันร้ายกาจของพญามัจจุราชหาได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๘๓] นายแพทย์ธรรมมนตรี ๑ นายแพทย์เวตดรุณ ๑ นายแพทย์โภชะ ๑ กำจัดพิษพญานาคทั้งหลายได้ แต่นายแพทย์เหล่านั้น ได้ยินว่า ได้ตายไปแล้วเช่นกันแล เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐) รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้

แต่นายแพทย์เหล่านั้น ได้ยินว่า ได้ตายไปแล้วเช่นกันแล เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๘๔] วิทยาธรทั้งหลาย เมื่อร่ายเวทย์ชื่อโฆรมนต์ ย่อมหายตัวไปได้ด้วยโอสถทั้งหลาย แต่จะร่ายเวทย์ไม่ให้พญามัจจุราชเห็นหาได้ไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม [๓๘๕] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ [๓๘๖] สภาวะทั้ง ๒ คือ ธรรมและอธรรม หามีผลวิบากเสมอกันได้ไม่ เพราะอธรรมนำสัตว์ไปนรก ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
อโยฆรชาดกที่ ๑๔ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. มาตังคชาดก ๒. จิตตสัมภูตชาดก ๓. สีวิราชชาดก ๔. สิรีมันตชาดก ๕. โรหณมิคชาดก ๖. จูฬหังสชาดก ๗. สัตติคุมพชาดก ๘. ภัลลาติยชาดก ๙. โสมนัสสชาดก ๑๐. จัมเปยยชาดก ๑๑. มหาปโลภนชาดก ๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก ๑๓. หัตถิปาลชาดก ๑๔. อโยฆรชาดก
วีสตินิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๓๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๓๓-๕๓๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=510              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=9067&Z=9162                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2261              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2261&items=24              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=3355              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2261&items=24              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=3355                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja510/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :