ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า
(ต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงฟังประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า) [๘๓] พระอานนทเถระ ผู้เป็นมุนีชาวแคว้นวิเทหะ น้อมกายลง ทูลถามพระตถาคตผู้ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า ข้าแต่พระธีรเจ้า ได้ทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ อุบัติขึ้นเพราะเหตุอะไร [๘๔] ลำดับนั้น พระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้เจริญด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะว่า ธีรชนเหล่าใดได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ยังไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งหลาย [๘๕] เพราะมีความสลดใจนั้นแลเป็นตัวนำ ธีรชนเหล่านั้นผู้มีปัญญาแก่กล้าดี ถึงจะเว้นจากพระพุทธเจ้า๑- ก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้ แม้ด้วยอารมณ์เพียงนิดหน่อย [๘๖] ในโลกทั้งปวง๒- ยกเว้นเราเสียแล้ว ไม่มีใครเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นมหามุนีเหล่านั้นอย่างชัดเจน [๘๗] เธอทุกรูปเมื่อปรารถนาพระนิพพานอันเป็นโอสถวิเศษ มีใจผ่องใสดีแล้ว ก็จงตั้งใจฟังถ้อยคำที่ไพเราะ ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อยๆ (เกี่ยวกับประวัติ) @เชิงอรรถ : @ เว้นจากพระพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงเว้นจากคำกล่าวสอนและคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า @(ขุ.อป.อ. ๑/๘๕/๑๕๒) @ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงโลกทั้ง ๓ คือมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๘๖/๑๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นมหาฤๅษี ผู้ตรัสรู้ได้เองเถิด [๘๘] ประวัติในอดีต การพยากรณ์ โทษ เหตุปราศจากความกำหนัดอันใด ของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุบัติขึ้นแต่ละองค์ๆ และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้บรรลุพระโพธิญาณด้วยเหตุอันใด [๘๙] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีการกำหนดหมาย ในวัตถุที่น่ารักใคร่๑- ว่าปราศจากความน่ารักใคร่ มีจิตคลายกำหนัดในโลกที่มีสภาวะน่ากำหนัด ละกิเลสที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ชนะทิฏฐิ๒- ที่เป็นเหตุให้ดิ้นรนแล้ว ได้บรรลุพระโพธิญาณเพราะเหตุอันนั้นนั่นเอง [๙๐] บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น มีจิตเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น ก็ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก @เชิงอรรถ : @ วัตถุที่น่าใคร่ ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.อป.อ. ๑/๘๙/๑๕๓) @ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๙/๑๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมประโยชน์ไปได้ บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันใด ความห่วงใยในบุตรและทาระ ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันนั้น บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ ตามความพอใจฉันใด วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก บุคคลเมื่อเพ่งการบวชที่ให้ถึงความเสรี๑- ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @ การบวชที่ให้ถึงความเสรี ในที่นี้หมายถึงเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุปัจเจกโพธิญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๙๖/๑๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

[๙๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ในท่ามกลางสหายย่อมมีการเล่น มีความยินดี และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์ บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า) พระปัจเจกพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ครอบงำอันตรายทั้งหลายและไม่หวาดเสียว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๙๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) แม้บรรพชิตพวกหนึ่งและคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน ก็สงเคราะห์ยาก บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์ ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

[๑๐๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์ ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว เหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น [๑๐๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้ บุคคลควรคบหาสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า) ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) เพราะกามทั้งหลาย๑- สวยงาม มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ ยั่วยวนจิตด่วยอารมณ์หลายรูปแบบ @เชิงอรรถ : @ กามทั้งหลาย หมายถึงกาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม วัตถุกาม ได้แก่ วัตถุภายนอกที่ @มองเห็นได้มีรูปสวยๆ งามๆ เป็นต้น กิเลสกาม ได้แก่ ความปรารถนาแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น @(ขุ.อป.อ. ๑/๑๐๖/๒๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัททวะ เป็นโรค เป็นดุจลูกศร เป็นภัย๑- บุคคลเห็นภัยในกามคุณแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลพึงครอบงำภัยทั้งปวงแม้เหล่านี้ คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๐๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) พระปัจเจกพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์เกิดดีแล้ว มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในป่าตามความชอบใจได้ เหมือนนาคะละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามความชอบใจ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ว่า @เชิงอรรถ : @ คำว่า กาม ชื่อว่าเป็นอันตราย เพราะนำมาซึ่งความฉิบหาย ชื่อว่าเป็นดุจฝี เพราะหลั่งกิเลสออกมา ชื่อ @ว่าเป็นอุปัททวะ เพราะรบกวน ชื่อว่าเป็นโรค เพราะปล้นเอาความไม่มีโรคไป ชื่อว่าเป็นดุจลูกศร เพราะเสียดแทง @จิตใจและถอนยาก ชื่อว่าเป็นภัย เพราะนำมาซึ่งภัยในภพนี้และภพหน้า (ขุ.อป.อ. ๑/๑๐๗/๒๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย๑- วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ดังนี้แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฎฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม๒- ถึงนิยาม๓- ได้เฉพาะมรรคแล้ว๔- เป็นผู้มีญาณอันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่ กำจัดสภาวะ (กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความหวังในโลกทั้งปวง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @ หมายถึง สามยิกวิมุตติ ความหลุดพ้นเฉพาะสมัยที่จิตแน่วแน่ สา หิ (โลกิยสมาปตฺติ) เอว ปจฺจตฺถิเกหิ @วิมุจฺจนโต สามยิกา วิมุตฺตีติ วุจฺจติ ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๐/๒๑๘-๒๑๙, สามยิกํ เจโตวิมุตฺตินฺติ @อปฺปิตปฺปิตกฺขเณ ปจฺจนีกธมฺเมหิ วิมุจฺจติ.... โลกิยสมาปตฺติ สามยิกา เจโตวิมุตฺติ นาม สํ.ส.อ. ๑/๑๕๙/ @๑๗๔, ลทฺธตฺตา สามยิกํ ชื่อว่าสามยิกะ เพราะได้เฉพาะสมัย), เป็นคุณที่เสื่อมได้ (อายสฺมา โคธิโก @อปฺปมตฺโต อาตาปี ปหิตตฺโต วิหรนฺโต สามยิกํ เจโตวิมุตฺตึ ผุสิ... สามยิกาย เจโตวิมุตฺติยา หริหายิ @ท่านโคธิกะ ไม่ประมาท มีความเพียรในความหลุดพ้น ๖๘ อย่าง (ดู ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๐๙/๓๔๖) @เป็นโลกิยสมาบัติ พระอรรถกถาจารย์กล่าวตามภาษิตของพระสารีบุตรเถระ (กตโม สามยิโก วิโมกฺโข @จตฺตาริ จ ฌานานิ จตสฺโส จ อรูปสมาปตฺติโย อยฺ สามยิโก วิโมกฺโข) ความหลุดพ้นเฉพาะสมัย คือ @รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (สมาบัติ ๘ ก็เรียก) @ ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙) @ ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุโสดาปัตติมรรค (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙) @ ได้มรรคแล้ว หมายถึงได้มรรคที่เหลือ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) @(ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

[๑๑๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลพึงละเว้นสหายชั่ว ผู้ไม่เห็นประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด ไม่พึงคบผู้ขวนขวาย และผู้ประมาทด้วยตนเอง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) บุคคลพึงคบมิตรผู้ได้ศึกษามาก๑- ทรงธรรม ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว พึงกำจัดความสงสัยได้ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่ชื่นชมการเล่น ความยินดีและความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้องและกามตามส่วนแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย @เชิงอรรถ : @ ศึกษามาก หมายถึงศึกษา ๒ อย่าง คือ ศึกษาในปริยัติอันมั่นคงคือพระไตรปิฎก และศึกษาในปฏิเวธ @อันเป็นเครื่องรู้แจ้งมรรค ผล วิชชา และอภิญญา (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๔/๒๒๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

ในกามนี้ มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว เหมือนสัตว์นำทำลายข่าย และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๑๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คุ้มครองอินทรีย์๑- รักษาใจได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว ครองผ้ากาสาวะออกบวช เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่างๆ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @ อินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ ๖ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๙/๒๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

[๑๒๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละเครื่องกั้นทางใจ ๕ ประการ๑- ขจัดอุปกิเลส๒- แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว ไม่อิงอาศัยเครื่องอาศัยคือทิฏฐิ ตัดความรักและความชังได้แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์ โสมนัส โทมนัส ก่อนๆ ได้แล้ว ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ไม่ละการหลีกเร้น๓- และฌาน๔- ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @ เครื่องกั้นทางใจ ๕ ประการ ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๒/๒๓๒) @ อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต (มี ๑๖ คือ อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ @อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ) @(ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๒/๒๓๒) @ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก สงัดกาย (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๕/๒๓๖) @ ฌาน ในที่นี้หมายถึงจิตตวิเวก สงัดจิต (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๕/๒๓๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

[๑๒๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) เมื่อปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ ผู้มีสังขตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียงเหมือนราชสีห์ ไม่ติดข่ายเหมือนลม ไม่เปียกน้ำเหมือนบัว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๒๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๓๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ ทำลายสังโยชน์ได้เสีย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

[๑๓๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า) ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด๑- พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๑๓๒] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย๒- มีศีลบริสุทธิ์ (ด้วยปาริสุทธิศีล ๔) มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น หมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น เห็นแจ้ง(ไตรลักษณ์) เห็นธรรมวิเศษ๓- รู้อยู่โดยพิเศษซึ่งอริยธรรมที่ประกอบด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์ [๑๓๓] ธีรชนเหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์แล้ว ยังไม่บรรลุความเป็นสาวกในศาสนาพระชินเจ้า ธีรชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า [๑๓๔] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีธรรมยิ่งใหญ่ มีธรรมกายมาก๔- มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงแห่งทุกข์ทั้งมวลได้แล้ว มีจิตเบิกบาน มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เหมือนราชสีห์ เหมือนนอแรด [๑๓๕] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้มีอินทรีย์สงบแล้ว มีจิตสงบแล้ว มีจิตเป็นสมาธิ ประพฤติตอบแทน(ด้วยความเอ็นดูและความกรุณา) @เชิงอรรถ : @ ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยการกระทำทางกาย วาจา และใจ ในทางไม่ดี @(ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๑/๒๔๔) @ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวคาถาเฉพาะคาถาที่ ๙๑-๑๓๑ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๕๘-๑๖๕) ตั้งแต่คาถาที่ @๑๓๒ นี้เป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าให้พระอานนทเถระฟังต่อ @ เห็นธรรมวิเศษ หมายถึงมีปกติเห็นกุศลธรรม ๑๐ สัจจธรรม ๔ หรือโลกุตตรธรรม ๙ (คือ มรรค ๔ @ผล ๔ นิพพาน ๑) โดยวิเศษ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๒/๒๔๔) @ มีธรรมกายมาก ในที่นี้หมายถึงมีกายคือสภาวธรรมมาก (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๔/๒๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

ในเหล่าสัตว์ที่อยู่ตามชายแดน เหมือนดวงประทีปส่องสว่างอยู่ในโลกนี้ และในโลกหน้า เกื้อกูลสัตว์โลกเป็นนิตย์ [๑๓๖] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้เป็นผู้สูงสุดในหมู่ชน ละเครื่องกั้นทั้งปวงได้แล้ว เป็นดวงประทีปของโลก มีรัศมีเช่นกับประกายแสงแห่งทองแท่ง เป็นผู้สมควรรับทักษิณาอย่างดีของชาวโลกอย่างแน่นอน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้เป็นผู้แนบแน่นอยู่เป็นนิตย์๑- [๑๓๗] ถ้อยคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ดีแล้ว ย่อมแผ่ไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ชนพาลเหล่าใดได้ฟังแล้ว ไม่ใส่ใจถึงคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนั้น ชนพาลเหล่านั้นย่อมแล่นไปในกองทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีก [๑๓๘] ถ้อยคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ดีแล้ว เป็นถ้อยคำไพเราะ ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อยๆ ไหลหยดลงฉะนั้น ชนเหล่าใดได้ฟังแล้วปฏิบัติตามอย่างนั้น ชนเหล่านั้น เป็นผู้เห็นสัจจะ มีปัญญา [๑๓๙] คาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้แล้ว เป็นคาถาที่โอฬาร ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นคำที่พระศากยสีหะผู้สูงสุดในนรชน เสด็จออกผนวชประกาศไว้แล้วเพื่อให้เวไนยสัตว์ได้รู้ธรรม [๑๔๐] ถ้อยคำเหล่านี้ ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น กล่าวไว้แล้วเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ซึ่งพระสยัมภูผู้สีหะ(นำมา) ประกาศไว้เพื่อเพิ่มพูนความสลดสังเวช ความไม่คลุกคลี และปัญญา
ปัจเจกพุทธาปทาน จบ
@เชิงอรรถ : @ แนบแน่นอยู่ป็นนิตย์ ในที่นี้หมายถึงอิ่มหนำบริบูรณ์เป็นนิตย์ แม้ต้องอดอาหารถึง ๗ วัน ก็บริบูรณ์ @อยู่ได้ด้วยอำนาจสมาบัติ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๖/๒๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๒๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๑๓-๒๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=2              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=147&Z=289                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=2              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=2&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=2&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap2/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :