ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกฉัตติยเถระ
(พระเอกฉัตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๒] ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรม เกลื่อนกล่นด้วยทรายขาวสะอาด ใกล้แม่น้ำจันทภาคา และได้สร้างบรรณศาลาไว้ [๓๓] แม่น้ำจันทภาคานั้น เป็นแม่น้ำสายเล็กที่มีฝั่งลาด และมีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ มีปลาและเต่าชุกชุม ทั้งยังเป็นที่อาศัยของจระเข้ [๓๔] หมี นกยูง เสือเหลือง นกการเวก และนกสาลิกา ร่ำร้องระงมอยู่ทุกเวลา ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๕] นกดุเหว่ามีเสียงไพเราะ และหงส์มีเสียงเสนาะ ก็ส่งเสียงร้องอยู่ใกล้อาศรมนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๖] ราชสีห์ เสือโคร่ง หมูป่า หมี หมาป่า และหมาใน เที่ยวส่งเสียงคำรนอยู่ตามซอกเขา ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๗] เนื้อทราย กวาง สุนัขจิ้งจอก สุกร ก็มีมาก ต่างส่งเสียงร้องอยู่ตามซอกเขา ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๘] ต้นราชพฤกษ์ ต้นจำปา ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย ต้นอุโลก๑- และต้นอโศก ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม @เชิงอรรถ : @ ต้นอุโลก เป็นไม้ชนิดหนึ่ง เนื้อไม้สีขาว (ใช้ทำยาได้) เวลามีดอกส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ @(ขุ.อิติ.อ. ๖๘๕/๑๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

[๓๙] ต้นปรู ต้นคัดเค้า ต้นตีนเป็ด ต้นมะกล่ำหลวง ต้นคนทีสอ และต้นกรรณิการ์ ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง อยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๔๐] ต้นกากะทิง ต้นสาละ และต้นสน รวมทั้งต้นมะม่วงป่า ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ งดงามอยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๔๑] และที่ใกล้อาศรมนั้น มีต้นโพธิ์ ต้นประดู่ ต้นกระท้อน ต้นสาละ และต้นประยงค์ ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง งดงามอยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๔๒] ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นหมากหอมควาย ต้นกระทุ่ม ต้นขานาง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๔๓] ต้นอโศก ต้นมะขวิด และต้นกุหลาบ ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๔๔] ต้นกระทุ่ม ต้นกล้วย ถั่วเหลือง และต้นมะกล่ำดำ ล้วนผลิผลอยู่เนืองนิตย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๔๕] ต้นสมอ ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม ก็ผลิผลอยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๔๖] ในที่ไม่ไกลจากอาศรม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ ดารดาษด้วยดอกบัวเผื่อน ดอกบัวหลวง และดอกบัวเขียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

[๔๗] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม บางกอกำลังมีดอกบาน บางกอก็มีกลีบและเกสร หลุดร่วง อยู่ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า [๔๘] ปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า และฝูงปลาตะเพียน ต่างว่ายวนอยู่ในน้ำใส ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๔๙] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี และต้นลำเจียกซึ่งขึ้นอยู่ที่ริมฝั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๕๐] น้ำหวานไหลออกจากเหง้าบัว นมสดและเนยใสไหลออกจากก้านบัว ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๕๑] ใกล้อาศรมนั้น มีเนินทรายที่สวยงามดาษดื่น มีไม้ดอกที่อาศัยน้ำเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ผลิดอกขาวบานสะพรั่ง ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๕๒] ฤๅษีทั้งหลายผู้สวมชฎาและเครื่องบริขาร นุ่งห่มผ้าหนังสัตว์ ทรงผ้าเปลือกไม้ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๕๓] ฤๅษีทั้งหลายมีปกติทอดสายตาดูประมาณชั่วแอก มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ ไม่มีความยินดี ไม่มีความกำหนัดในกาม อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๕๔] ฤๅษีทั้งหลายผู้มีขนรักแร้ เล็บ และมีขนงอกยาว มีฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ คลุกฝุ่นและละออง ล้วนอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

[๕๕] ฤๅษีเหล่านั้นล้วนเชี่ยวชาญอภิญญา เหาะไปในท้องฟ้าได้ เมื่อเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๕๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อมอยู่ในป่าใหญ่ เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌาน จนไม่รู้จักกลางคืนและกลางวัน [๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้ทรงเป็นมหามุนี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนคือโมหะให้พินาศไป [๕๘] ครั้งนั้น ศิษย์บางรูปประสงค์จะเล่าเรียนคัมภีร์ลักษณะ อันมีองค์ ๖ ๑- ในคัมภีร์พระเวท๒- ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า [๕๙] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้ทรงเป็นมหามุนี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เมื่อจะทรงประกาศสัจจะ ๔ ๓- จึงได้ทรงแสดงอมตบท๔- @เชิงอรรถ : @ ลักษณะมีองค์ ๖ ในที่นี้หมายถึงมนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ คือ (๑) กัปปศาสตร์ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับ @การบูชายัญ) (๒) พยากรณ์ศาสตร์ (แสดงการแยกปกติ) (๓) นิรุตติศาสตร์ (แสดงศัพท์ เติมปัจจัย) @(๔) สิกขาศาสตร์ (แสดงฐานกรณ์และปตยนะของอักษร) (๕) ฉันโทวิจิติศาสตร์ (แสดงลักษณะของฉันท์) @(๖) โชติสัตถศาสตร์ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์) @(ขุ.วิ.อ. ๙๙๖/๓๐๙) @ดูเทียบเวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี ๖ อย่างคือ (๑) ศึกษา คือ วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง @(๒) ไวยากรณ์ (๓) ฉันท์ (๔) เชยติส คือดาราศาสตร์ (๕) นิรุกติ คือกำเนิดของคำ และ (๖) กัลปะคือ @วิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๗๓) @ คัมภีร์พระเวท หมายถึงคัมภีร์ของพราหมณ์ คัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตของชาวฮินดู @(ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๓) @ สัจจะ ๔ ได้แก่ (๑) ทุกข์ (๒) สมุทัย (๓) นิโรธ (๔) มรรค (ขุ.อป.อ. ๒/๗/๑๐๗) @ ดูเชิงอรรถหน้า ๔ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

[๖๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความยินดี ร่าเริงบันเทิงใจ มุ่งหวังกองธรรมอันวิเศษ ออกจากอาศรมแล้วพูดดังนี้ว่า [๖๑] พระพุทธเจ้าผู้ทรงลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก มาเถิด ท่านทั้งหลาย เราทุกคนจักไปยังสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๖๒] ศิษย์เหล่านั้นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนบรรลุบารมีในพระสัทธรรม แสวงหาประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม ต่างรับว่า สาธุ [๖๓] ครั้งนั้น พวกเขาสวมชฎาและทรงบริขาร นุ่งห่มผ้าหนังสัตว์ แสวงหาประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมได้ออกไปจากป่า @เชิงอรรถ : @ ลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ คือ (๑) มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน (๒) พื้นใต้พระบาททั้ง ๒ มีจักร @ปรากฏข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกงและดุม มีส่วนประกอบครบบริบูรณ์ทุกอย่าง (๓) ทรงมีส้นพระบาทยาว @(๔) มีองคุลียาว (๕) ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (๖) ทรงมีลายดุจตาข่ายที่ฝ่าพระหัตถ์ @และฝ่าพระบาท (๗) ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (๘) ทรงมีพระชงฆ์เรียว ดุจแข้งเนื้อทราย (๙) เมื่อ @ประทับยืน ไม่ต้องทรงก้มก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒ (๑๐) ทรงมีพระคุยหฐานเร้น @อยู่ในฝัก (๑๑) ทรงมีพระฉวีวรรณงดงามดุจหุ้มด้วยทองคำ (๑๒) ทรงมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลี @ไม่เกาะติดพระวรกาย (๑๓) ทรงมีพระโลมชาติงอกเส้นเดียวในแต่ละขุม (๑๔) ทรงมีพระโลมชาติสีเข้ม @เหมือนดอกอัญชันขดเป็นลอนเวียนขวามีปลายตั้งขึ้น (๑๕) ทรงมีพระวรกายตรงดุจกายพรหม (๑๖) ทรง @มีพระมังสะพูนเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ หลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสะทั้ง ๒ และ @ลำพระศอ) (๑๗) ทรงมีส่วนพระวรกายบริบูรณ์ดุจกึ่งกายท่อนหน้าของพญาราชสีห์ (๑๘) ทรงมีพระ @ปฤษฎางค์เต็มเรียบเสมอกัน (๑๙) ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลต้นไทร พระวรกายสูง @เท่ากับวาของพระองค์ (๒๐) ทรงมีพระศอกลมงามเต็มเสมอ (๒๑) ทรงมีเส้นประสาทสำหรับรับรส @พระกระยาหารได้อย่างดี (๒๒) ทรงมีพระหนุดุจคางราชสีห์ (๒๓) ทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (๒๔) ทรง @มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (๒๕) ทรงมีพระทนต์ไม่ห่างกัน (๒๖) ทรงมีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม (๒๗) ทรง @มีพระชิวหาใหญ่ (๒๘) ทรงมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหมตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (๒๙) ทรงมีพระเนตร @ดำสนิท (๓๐) ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด (๓๑) ทรงมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง @สีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น (๓๒) ทรงมีพระเศียรงดงามดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ @(ที.ปา. (แปล) ๑๑/๒๐๐/๑๕๙-๑๖๓, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๘๖/๔๗๔-๔๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

[๖๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี มีพระยศยิ่งใหญ่๑- เมื่อจะทรงประกาศสัจจะ ๔ จึงได้ทรงแสดงอมตบท [๖๕] ข้าพเจ้ายืนถือเศวตฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ครั้นกั้นถวายตลอดวันหนึ่งแล้ว ได้กราบไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๖๖] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๖๗] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเลื่อมใส ซึ่งได้กั้นเศวตฉัตรให้เราด้วยมือทั้ง ๒ ของตน ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๖๘] เมื่อผู้นี้เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ประชาชนจักคอยกั้นฉัตรให้ทุกเมื่อ นี้เป็นผลแห่งการกั้นฉัตรถวาย [๖๙] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ [๗๐] และจักครองเทวสมบัติตลอด ๗๗ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๗๑] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐ ผู้มีพระจักษุ จักเสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนให้พินาศไป @เชิงอรรถ : @ มีพระยศใหญ่ หมายถึงมียศแผ่ไปในโลก ๓ คือ มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๖๑๔/๓๖๔, @ขุ.อป.อ. ๒/๒๕๑/๓๓๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๒. ภัททาลิวรรค]

๒. เอกฉัตติยเถราปทาน

[๗๒] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน [๗๓] นับแต่กาลที่ข้าพเจ้าได้ทำกรรม คือการได้กั้นฉัตรถวายพระพุทธเจ้าเป็นต้นมา ในระหว่างนี้ข้าพเจ้าไม่รู้ภาวะที่ตนไม่เคยได้รับการกั้นเศวตฉัตรให้ [๗๔] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของข้าพเจ้า ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่ ทุกวันนี้เหนือศีรษะของข้าพเจ้า ก็ได้มีการกั้นฉัตรตลอดกาลเป็นนิตย์ [๗๕] โอหนอ กรรมข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้ว ในสำนักพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้มั่นคง อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๗๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๗๗] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๗๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระเอกฉัตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกฉัตติยเถราปทานที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖-๑๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=2              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=69&Z=160                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=2              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=2&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=2&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap414/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :