ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๕๐-๕๑.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๔. จักกวรรค ๒. สังคหสูตร

๔. จักกวรรค
หมวดว่าด้วยจักร
๑. จักกสูตร
ว่าด้วยจักร ๔ ประการ
[๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จักร๑- ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้ เทวดาและมนุษย์ผู้ประกอบแล้วเป็นไปได้ และถึงความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์ใน โภคะทั้งหลายต่อกาลไม่นานนัก จักร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ (การอยู่ในถิ่นที่ดี) ๒. สัปปุริสูปัสสยะ (การสมาคมกับสัตบุรุษ) ๓. อัตตสัมมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ) ๔. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว) จักร ๔ ประการนี้แลเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ผู้ประกอบแล้วเป็นไปได้ และ ถึงความเป็นใหญ่ ความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลายต่อกาลไม่นานนัก ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง และความสุขย่อมหลั่งไหลมาสู่นรชน ผู้อยู่ในถิ่นที่ดี ผูกไมตรีกับอริยชน สมบูรณ์ด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว
จักกสูตรที่ ๑ จบ
๒. สังคหสูตร
ว่าด้วยสังคหวัตถุ
[๓๒] ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว) ๔ ประการนี้ สังคหวัตถุ ๔ ประการ๒- อะไรบ้าง คือ @เชิงอรรถ : @ จักร ในที่นี้หมายถึงสมบัติ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๑/๓๒๗) @ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๓/๒๐๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๕๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]

                                                                 ๔. จักกวรรค ๓. สีหสูตร

๑. ทาน (การให้) ๒. เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก) ๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) ๔. สมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ) ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล ทาน เปยยวัชชะ อัตถจริยาในโลกนี้ และสมานัตตตาในธรรมนั้นๆ ตามสมควร สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก เหมือนลิ่มสลักที่ยึดคุมรถซึ่งแล่นไปไว้ได้ฉะนั้น ถ้าไม่พึงมีธรรมเหล่านี้ มารดาหรือบิดา ก็ไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้น่าสรรเสริญ
สังคหสูตรที่ ๒ จบ
๓. สีหสูตร
ว่าด้วยพญาราชสีห์
[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น พญาราชสีห์ออกจากที่อาศัย บิดกาย ชำเลืองดูรอบๆ ทั้ง ๔ ทิศ บันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้วหลีกไปหาเหยื่อ โดยมาก สัตว์ดิรัจฉานที่ได้ฟังพญาราชสีห์บันลือสีหนาทย่อมถึงความกลัว หวาดหวั่น และ สะดุ้ง สัตว์พวกที่อาศัยอยู่ในโพรงก็หลบเข้าโพรง พวกที่อยู่ในน้ำก็ดำลงในน้ำ พวกที่ อยู่ในป่าก็หนีเข้าป่า พวกสัตว์ปีกก็บินขึ้นสู่อากาศ พญาช้างที่ถูกล่ามไว้ด้วยเครื่อง ผูกคือเชือกหนังที่มั่นคงแข็งแรง ในหมู่บ้าน ตำบล และเมืองหลวง ก็ตัดทำลาย เครื่องผูกเหล่านั้น ตกใจกลัว ถ่ายมูตรและกรีส๑- หนีไปทางใดทางหนึ่ง บรรดา สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย พญาราชสีห์เป็นสัตว์มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีศักดิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ มูตร หมายถึงปัสสาวะ กรีส หมายถึงอุจจาระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๕๑}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๕๐-๕๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=50&pages=2&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=1477 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=21&A=1477#p50 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๐-๕๑.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]