ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดงหน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] วิภังคปกรณ์

หน้าที่ ๓๗๑-๓๗๓.


                                                                 พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๑. มัคควิภังค์]

                                                                 ๑. สุตตันตภาชนีย์

๑๑. มัคควิภังค์
๑. สุตตันตภาชนีย์
อริยมรรคมีองค์ ๘ นัยที่ ๑
[๔๘๖] อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) [๔๘๗] บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านั้น สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกข- นิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ (๑) สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริใน การไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ (๒) สัมมาวาจา เป็นไฉน เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา (๓) สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ (๔) สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ (๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๓๗๑}

                                                                 พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๑. มัคควิภังค์]

                                                                 ๑. สุตตันตภาชนีย์

สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ... เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ... เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ... เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่ง กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ (๖) สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ (๗) สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มี วิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว บรรลุ ทุติยฌานที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มี แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ผู้มี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๓๗๒}

                                                                 พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๑. มัคควิภังค์]

                                                                 ๒. อภิธรรมภาชนีย์

อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส และโทมนัสดับ ไปก่อน บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ (๘)
อริยมรรคมีองค์ ๘
[๔๘๘] อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ [๔๘๙] บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสัมมาทิฏฐิที่อาศัยวิเวก วิราคะ และนิโรธ น้อมไป เพื่อความปล่อยวาง ฯลฯ เจริญสัมมาสังกัปปะ ฯลฯ เจริญสัมมาวาจา ฯลฯ เจริญสัมมากัมมันตะ ฯลฯ เจริญสัมมาอาชีวะ ฯลฯ เจริญสัมมาวายามะ ฯลฯ เจริญสัมมาสติ ฯลฯ เจริญสัมมาสมาธิที่อาศัยวิเวก วิราคะ และนิโรธ น้อมไป เพื่อความปล่อยวาง
สุตตันตภาชนีย์ จบ
๒. อภิธรรมภาชนีย์
[๔๙๐] มรรคมีองค์ ๘ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ [๔๙๑] บรรดาสภาวธรรมเหล่านั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญฌานที่เป็นโลกุตตระซึ่งเป็นเหตุนำออกจากวัฏฏทุกข์ ให้ ถึงนิพพาน เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้น สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๓๗๓}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๓๕ หน้าที่ ๓๗๑-๓๗๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=35&page=371&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=35&A=10495 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=35&A=10495#p371 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 35 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_35 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu35 https://84000.org/tipitaka/english/?index_35



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๗๑-๓๗๓.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]