ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
อธิปไตยสูตร
[๔๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อัตตาธิปไตย ๑ โลกาธิปไตย ๑ ธรรมาธิปไตย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อัตตาธิปไตยเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่ง เสนาสนะ เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีและความไม่มี เช่นนั้น ก็แต่ว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ท่วมทับแล้ว ไฉน ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็การที่เราจะพึงแสวงหากามที่ละ ได้แล้วออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น เป็นความเลวทรามอย่างยิ่ง ข้อนั้นไม่เป็นการ สมควรแก่เราเลย เธอย่อมสำเหนียกว่า ก็ความเพียรที่ปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วจะไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่ เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำตนเองแลให้เป็นใหญ่ แล้วละ อกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โลกาธิปไตยเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมสำเหนียกว่า ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่ง ความมีและความไม่มีเช่นนั้น ก็แต่ว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ ท่วมทับแล้ว ไฉนความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็การที่เราออก บวชเป็นบรรพชิตเช่นนี้ พึงตรึกกามวิตกก็ดี พึงตรึกพยาบาทวิตกก็ดี พึงตรึก วิหิงสาวิตกก็ดี ก็โลกสันนิวาสนี้ใหญ่โต ในโลกสันนิวาสอันใหญ่โต ย่อมจะมี สมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของคนอื่นได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมมองเห็นได้แม้แต่ไกล แม้ใกล้ๆ เราก็มองท่านไม่เห็น และท่านย่อมรู้ชัด ซึ่งจิตด้วยจิต สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ก็พึงรู้เราดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ดูกุลบุตรนี้ซี เขาเป็นผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่เกลื่อนกล่นไปด้วย ธรรมที่เป็นบาปอกุศลอยู่ ถึงเทวดาที่มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของคนอื่นได้ก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมมองเห็นได้แต่ไกล แม้ใกล้ๆ เราก็มองท่านไม่เห็น และท่าน ย่อมรู้ชัดซึ่งจิตด้วยจิต เทวดาเหล่านั้นก็พึงรู้เราดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ดูกุลบุตรนี้ซี เขาเป็นผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่เกลื่อน กล่นไปด้วยธรรมที่เป็นบาปอกุศลอยู่ เธอย่อมสำเหนียกว่า ความเพียรที่เรา ปรารภแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วจักไม่หลงลืม กายที่สงบระงับ แล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำโลก ให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มี โทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโลกาธิปไตย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมาธิปไตยเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมสำเหนียกว่า ก็ เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งเสนาสนะเราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความ มีและความไม่มีเช่นนั้น ก็แต่ว่าเราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ท่วมทับแล้ว ไฉนความทำที่สุด แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคล พึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน จะพึงรู้เฉพาะตน ก็เพื่อนสพรหมจารีผู้ที่รู้อยู่ เห็นอยู่ มีอยู่แล ก็และการที่เราได้ออก บวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว จะพึงเป็นผู้เกียจ คร้านมัวเมาประมาทอย่างนี้ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย ดังนี้ เธอย่อม สำเหนียกว่า ก็ความเพียรที่เราปรารภแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้ว จักไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมี อารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำธรรมนั่นแหละให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญ กุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เรียกว่าธรรมาธิปไตย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ อย่างนี้แล ฯ ขึ้นชื่อว่าความลับไม่มีในโลก สำหรับผู้ทำบาปกรรม ดูกร บุรุษ จริงหรือเท็จ ตัวของท่านเองย่อมจะรู้ได้ แน่ะผู้เจริญ ท่านสามารถที่จะทำความดีได้หนอ แต่ท่านดูหมิ่นตนเองเสีย อนึ่ง ท่านได้ปกปิดความชั่วซึ่งมีอยู่ในตนท่านนั้นซึ่งเป็นคน พาล ประพฤติตึงๆ หย่อนๆ อันเทวดาและพระตถาคต ย่อมเห็นได้ เพราะฉะนั้นแหละ คนที่มีตนเป็นใหญ่ ควรมีสติ เที่ยวไป คนที่มีโลกเป็นใหญ่ ควรมีปัญญาและเพ่งพินิจ และคนที่มีธรรมเป็นใหญ่ ควรเป็นผู้ประพฤติโดยสมควรแก่ ธรรม มุนีผู้มีความบากบั่นอย่างจริงจัง ย่อมจะไม่เลวลง อนึ่ง บุคคลใดมีความเพียร ข่มขี่มาร ครอบงำมัจจุ ผู้ทำที่สุดเสีย ได้แล้ว ถูกต้องธรรมอันเป็นที่สิ้นชาติ บุคคลผู้เช่นนั้น ย่อม เป็นผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดี เป็นมุนี ผู้หมดความทะยานอยาก ในธรรมทั้งปวง ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ -
๑. พรหมสูตร ๒. อานันทสูตร ๓. สารีปุตตสูตร ๔. นิทานสูตร ๕. หัตถกสูตร ๖. ทูตสูตร ๗. ราชสูตรที่ ๑ ๘. ราชสูตรที่ ๒ ๙. สุขุมาลสูตร ๑๐. อธิปไตยสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๓๘๒๗-๓๘๙๙ หน้าที่ ๑๖๕ - ๑๖๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=3827&Z=3899&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=479&book=20              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=20&siri=84              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=479              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=20&A=3872              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=20&A=3872              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_20

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]