ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
จตุตถปัณณาสก์
อินทรียวรรคที่ ๑
[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อินทรีย์คือศรัทธา ๑ อินทรีย์คือวิริยะ ๑ อินทรีย์คือสมาธิ ๑ อินทรีย์ คือปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ พละคือศรัทธา ๑ พละคือวิริยะ ๑ พละคือสมาธิ ๑ พละคือปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ พละคือปัญญา ๑ พละคือวิริยะ ๑ พละคือกรรมอันหาโทษมิได้ ๑ พละคือการสงเคราะห์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ พละคือสติ ๑ พละคือสมาธิ ๑ พละคือกรรมอันหาโทษมิได้ ๑ พละคือ การสงเคราะห์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ พละคือการพิจารณาหาทาง ๑ พละคือการบำเพ็ญ ๑ พละคือกรรมอันหาโทษ มิได้ ๑ พละคือการสงเคราะห์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัป ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด สังวัฏกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจ นับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้แสนปี ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อใด สังวัฏฏัฏฐายีกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจนับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้แสนปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด วิวัฏกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ไม่อาจนับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้แสนปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด วิวัฏฏัฏฐายีกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ไม่อาจนับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้ แสนปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัป ๔ ประการนี้แล ฯ [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือโรคทางกาย ๑ โรคทางใจ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ปฏิญาณความ ไม่มีโรคด้วยโรคทางกาย ตลอดปีหนึ่งมีปรากฏ ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคตลอด ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ผู้ปฏิญาณความไม่มีโรคแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีบ้าง มีปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดปฏิญาณความไม่มีโรคทางใจแม้ครู่หนึ่ง สัตว์เหล่านั้นหาได้ยากในโลก เว้นจากพระขีณาสพ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้คับแค้น ไม่สันโดษ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ตามมีตามได้ ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก มีความคับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ตามมีตามได้แล้ว ย่อมตั้งความปรารถนา ลามกเพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ ภิกษุนั้น วิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภ สักการะและความ สรรเสริญ เธอเข้าไปหาตระกูลทั้งหลายเพื่อให้เขานับถือ ย่อมนั่ง [ในตระกูล] เพื่อให้เขานับถือ พูดธรรมเพื่อให้เขานับถือ กลั้นอุจจาระปัสสาวะเพื่อให้ เขานับถือ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักไม่เป็นผู้มี ความมักมาก มีจิตคับแค้น ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลาน ปัจจัยเภสัชบริขาร จักไม่ตั้งความปรารถนาลามกเพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ ลาภสักการะและความสรรเสริญ จักไม่วิ่งเต้น จักไม่ขวนขวาย จักไม่พยายาม เพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะ และความสรรเสริญ จักเป็น ผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหายต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและ สัตว์เสือกคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำอันหยาบคายร้ายแรงต่างๆ เราจักเป็น ผู้อดกลั้นต่อเวทนาทางสรีระที่บังเกิดขึ้น อันเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ชื่นชม ไม่เป็นที่พอใจ อาจปลงชีวิตเสียได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ [๑๕๘] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลายผู้มีอายุ ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจในข้อนี้ว่า เราย่อม เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่าเป็นความเสื่อม ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีราคะ ไพบูลย์ ๑ ความเป็นผู้มีโทสะไพบูลย์ ๑ ความเป็นผู้มีโมหะไพบูลย์ ๑ และไม่มีปัญญาจักษุ ก้าวไปในฐานะ และอฐานะอันลึกซึ้ง ๑ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็น ภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้ในตน ผู้นั้นพึงถึงความ ตกลงใจในข้อนี้ว่า เราย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นความเสื่อม ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจในข้อนี้ว่า เราไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมี ธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่เป็นความเสื่อม ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีราคะเบาบาง ๑ ความเป็นผู้มีโทสะ เบาบาง ๑ ความเป็นผู้มีโมหะเบาบาง ๑ และมีปัญญาจักษุก้าวไปในฐานะ และอฐานะอันลึกซึ้ง ๑ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือ ภิกษุณีก็ตาม พิจารณาเห็นธรรม ๔ ประการนี้ในตน ผู้นั้นพึงถึงความตกลงใจ ในข้อนี้ว่า เราไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย การมีธรรม ๔ ประการอยู่ในตนนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่เป็นความเสื่อม ฯ [๑๕๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมือง โกสัมพี ครั้งนั้นแล ภิกษุณีรูปหนึ่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาว่า บุรุษผู้เจริญ พ่อจงมา พ่อจงเข้าไปหาพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ จงไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้กำลังอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก นางย่อมไหว้เท้าของพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และพ่อ จงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้น ยังสำนักของภิกษุณีนั้นด้วยเถิด บุรุษนั้นรับคำภิกษุณีนั้นแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบเรียนท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้กำลังอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก นางไหว้เท้าของพระผู้เป็น เจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้น ยังสำนักของ นางภิกษุณีด้วยเถิด ท่านพระอานนท์รับคำด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล ท่านพระ อานนท์ครองผ้าในเวลาเช้า ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักของนางภิกษุณี ภิกษุณีนั้นได้เห็นท่านพระอานนท์ มาแต่ไกลแล้ว จึงนอนคลุมผ้า ตลอดศีรษะ อยู่บนเตียง ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาภิกษุณีนั้น แล้วนั่งบนอาสนะ ที่แต่งตั้งไว้ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุณีนั้นว่า ดูกรน้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นด้วย อาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหา แล้วพึงละตัณหาเสีย กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เสตุฆาต ๑- ดูกรน้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัย อาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรน้องหญิง @ การฆ่ากิเลสด้วยอริยมรรค ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว บริโภคอาหาร ไม่บริโภค เพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อประดับ บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อระงับความ หิวกระหาย เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า ด้วยการบริโภคนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าได้ด้วย และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิด ความดำเนินไป ได้ ความไม่มีโทษ และความผาสุก จักมีแก่เรา สมัยต่อมา ภิกษุนั้นอาศัยอาหาร แล้วละอาหารเสียได้ ดูกรน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว ดูกรน้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุ ชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ เธอคิด อย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ แม้เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ สมัยต่อมา เธออาศัยตัณหาแล้วละตัณหาเสียได้ ดูกรน้องหญิง คำที่กล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว ดูกรน้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะ แล้วพึงละมานะเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรน้องหญิง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุ ชื่อนั้น กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ ไฉนเรา จักกระทำไม่ได้ สมัยต่อมา เธออาศัยมานะแล้วย่อมละมานะเสียเอง ดูกรน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว ดูกรน้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุนพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เสตุฆาต ดังนี้ ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกขึ้นจากเตียง กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้าง หนึ่ง หมอบลงแทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า แล้วกล่าวกะท่าน พระอานนท์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงยกโทษแก่ดิฉันซึ่งได้ กระทำอย่างนี้ เพื่อสำรวมต่อไป ท่านพระอานนท์กล่าวว่า เอาเถอะน้องหญิง เธอเป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอซึ่งได้ทำ อย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราย่อมยกโทษให้เธอ ดูกรน้องหญิง การเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวม ต่อไป นี้เป็นความเจริญ ในวินัยของพระอริยะ ฯ [๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสุคตหรือวินัยของพระสุคตยังดำรง อยู่ในโลก พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อสุขแก่ชนเป็น อันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระสุคตเป็นไฉน ตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือพระสุคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วินัยของพระสุคตเป็นไฉน พระสุคตนั้นย่อมทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือวินัยของพระสุคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสุคตหรือวินัยของพระสุคตยังดำรงอยู่ในโลก พึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรอันเรียนกันมาผิดลำดับ ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ผิด แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ผิด ย่อมมีนัยผิดไปด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเสื่อมสูญแห่งพระ สัทธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมอันทำให้ เป็นผู้ว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเสื่อมสูญแห่งพระ สัทธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุนั้นไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุ เหล่านั้นมรณภาพลง พระสูตรย่อมมีรากขาดสูญ ไม่มีที่พึ่งอาศัย ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเสื่อม สูญแห่งพระสัทธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นผู้มักมาก มีความ ประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการก้าวลง ทอดธุระในวิเวก ไม่ปรารภความ เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรม ที่ยังไม่ทำให้แจ้ง หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลังย่อมดำเนินตามอย่างภิกษุเหล่านั้น แม้ชน ผู้เกิดมาภายหลังนั้น ก็เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าใน การก้าวลง ทอดธุระในวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความ เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรอัน เรียนกันมาดี ด้วยบทและพยัญชนะอันตั้งไว้ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะ ที่ตั้งไว้ดี ย่อมมีนัยดีไปด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็น ไป เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญแห่ง พระสัทธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็น ผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น ธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความ ไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุเหล่านั้นบอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุ เหล่านั้นมรณภาพลง พระสูตรย่อมไม่ขาดมูลเดิม ยังมีที่พึ่งอาศัย ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการก้าวลง เป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความ เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรม ที่ยังไม่ทำให้แจ้ง หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลังย่อมดำเนินตามอย่างภิกษุเหล่านั้น แม้หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลังเหล่านั้น ก็เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อมหย่อน ทอดธุระในการก้าวลง เป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความ ไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม ฯ
จบอินทรียวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๓๘๘๔-๔๐๘๒ หน้าที่ ๑๖๗ - ๑๗๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=3884&Z=4082&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=156&book=21              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=21&siri=132              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=151              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=21&A=4041              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=21&A=4041              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]