ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
จีวรขันธกะ
เรื่องคนมีทรัพย์ ชาวพระนครราชคฤห์
[๑๒๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระนครเวสาลี เป็นบุรีมั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีหญิงงามเมือง ชื่ออัมพปาลีเป็นสตรีทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญ ในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วม อภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะ นางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น ครั้งนั้น พวกคนมีทรัพย์คณะหนึ่ง ชาวพระนครราชคฤห์ ได้เดินทางไปพระนครเวสาลีด้วยกรณียะบางอย่าง และได้เห็นพระนครเวสาลีมั่งคั่งกว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีนางอัมพปาลีหญิงงามเมือง ผู้ทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ และพระนครเวสาลี งามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมือง นั้น ครั้นพวกเขาเสร็จกรณียะนั้นในพระนครเวสาลีแล้ว กลับมาพระนครราชคฤห์ตามเดิม เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ครั้นแล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะฯ พระนครเวสาลี เป็นบุรีที่มั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองผู้ทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วย ผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความ ประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วยราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ และพระนครเวสาลีงาม เพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น ขอเดชะฯ แม้ชาวเราจะตั้ง หญิงงามเมืองขึ้นบ้าง ก็จะเป็นการดี. พระราชารับสั่งว่า พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเสาะหากุมารีผู้มีลักษณะงามเช่นนั้น ที่ควรจะคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง.
กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
ก็สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดีเป็นสตรีทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง จึงพวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์ ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดี เป็นหญิงงามเมือง ครั้นนางกุมารีสาลวดี ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัว ไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์ ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ จึงนางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆ ทราบว่าเรา มีครรภ์ ลาภผลของเราจักเสื่อมหมด ถ้ากระไร เราควรแจ้งให้เขาทราบว่าเป็นไข้ ต่อมานางได้ สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า นายประตูจ๋า โปรดอย่าให้ชายใดๆ เข้ามา และผู้ใดถามหาดิฉัน จงบอก ให้เขาทราบว่าเป็นไข้นะ คนเฝ้าประตูนั้นรับคำนางสาลวดีหญิงงามเมืองว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น หลังจากนั้น อาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่า แม่สาวใช้ จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ ทาสีนั้นรับคำนางว่า ทำเช่นนั้นได้ เจ้าค่ะ ดังนี้ แล้ววางทารกนั้นลงบนกระด้งเก่าๆ นำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตร เห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่า พนายนั่นอะไรฝูงการุมกันตอม ม. ทารก พ่ะย่ะค่ะ อ. ยังเป็นอยู่หรือ พนาย ม. ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ อ. พนาย ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกนั้นไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้ คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาว่า อย่างนั้น พ่ะย่ะค่ะ แล้วนำทารกนั้นไปวังเจ้าชายอภัย มอบแก่นางนมว่า โปรดเลี้ยงไว้ด้วย อาศัยคำว่า ยังเป็นอยู่ เขาจึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก ชีวกนั้น อันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์ ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่เจ้าชายอภัยว่า ใครเป็น มารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ เจ้าชายรับสั่งว่า พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้. จึงชีวกโกมารภัจจ์มีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะ จะเข้าพึ่ง พระบารมี ทำไม่ได้ง่าย ถ้ากระไร เราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้.
เรียนศิลปะทางแพทย์
[๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา จึงชีวกโกมารภัจจ์ ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แก่นายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์ กระผมประสงค์จะศึกษาศิลปะ นายแพทย์สั่งว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้น จึงศึกษาเถิด. ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียน ได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ตัวเราเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้ก็ไม่ลืม และเราเรียนมาได้ ๗ ปีแล้วยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไร จักสำเร็จสักที จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วได้เรียนถามว่า ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปี ก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ. นายแพทย์ตอบว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมเที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา ชีวกโกมารภัจจ์รับคำนายแพทย์ว่า เป็นเช่นนั้นท่านอาจารย์ ดังนั้นแล้ว ถือเสียมเดินไป รอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง จึงเดินทางกลับ เข้าไปหานายแพทย์ และได้กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์กระผมเดินไปรอบเมือง ตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง นายแพทย์บอกว่า พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้ แล้ว ได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่ชีวกโกมารภัจจ์ ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ครั้นเดินทางไปเสบียงเพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลงที่เมืองสาเกต ในระหว่างทาง จึงเกิดความ ปริวิตกว่าหนทางเหล่านี้แลกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร คนไม่มีเสบียงจะเดินไป ทำไม่ได้ง่าย จำเราจะต้องหาเสบียง.
ภาคปฏิบัติงานแพทย์
[๑๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็น อันมาก จึงชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปสู่เมืองสาเกต ถามคนทั้งหลายว่า พนาย ใครเจ็บไข้บ้าง ฉันจะ รักษา คนทั้งหลายพากันบอกว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีนั้นปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญไป รักษาภรรยาเศรษฐีเถิดท่านอาจารย์ จึงชีวกโกมารภัจจ์เดินทางไปบ้านเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้ว ได้สั่งคนเฝ้าประตูว่า พ่อนาย ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย คนเฝ้าประตูรับคำชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้นขอรับ อาจารย์ ดังนั้น แล้วเข้าไปหา ภรรยาเศรษฐี แล้วได้กราบเรียนว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยม คุณนาย ภรรยาเศรษฐีถามว่า พ่อนายเฝ้าประตูจ๋า หมอเป็นคนเช่นไร พ. เป็นหมอหนุ่มๆ ขอรับ ภ. ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก จึงนายประตูนั้น เดินออกมาหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้เรียนว่า ท่านอาจารย์ ภรรยา เศรษฐีพูดอย่างนี้ว่า ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศา ปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก ชี. พ่อนายเฝ้าประตู ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ คุณหมอสั่ง มาอย่างนี้ว่า ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้ว คุณนายประสงค์จะให้สิ่งใด จึง ค่อยให้สิ่งนั้นเถิด นายประตูรับคำชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้น ขอรับอาจารย์ ดังนั้นแล้วเข้าไปหา ภรรยาเศรษฐี ได้กราบเรียนว่า คุณนายขอรับ คุณหมอบอกข่าวมาอย่างนี้ว่า ขอคุณนายอย่าเพิ่ง ให้อะไรๆ ก่อน ต่อเมื่อคุณนายหายโรคแล้ว ประสงค์จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า พ่อนายประตู ถ้าเช่นนั้นเชิญคุณหมอมา นายประตูรับคำภรรยาเศรษฐีว่า อย่างนั้นขอรับ แล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้ แจ้งให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป
เริ่มรักษาภรรยาเศรษฐี
ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ครั้นแล้วตรวจดูความผันแปรของภรรยา เศรษฐี แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใสหนึ่งซองมือ ครั้น ภรรยาเศรษฐีสั่งให้หาเนยใสหนึ่งซองมือมาให้แก่ชีวกแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์จึงหุงเนยใสหนึ่งซอง มือนั้น กับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงายบนเตียง แล้วให้นัตถุ์ ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัตถุ์ นั้นได้พุ่งออกจากปาก จึงภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้นลงในกระโถน สั่งทาสีว่า แม่สาวใช้จงเอา สำลีซับเนยใสนี้ไว้ จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้คิดว่า แปลกจริงพวกเรา แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรก เนยใสนี้จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อย ให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง ขณะนั้นภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้อาการอันแปลกของชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้ถามคำนี้แก่ ชีวกโกมารภัจจ์ว่า อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ ชี. เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า แปลกจริงแม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสนี้ จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง ภ. อาจารย์ พวกดิฉันชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรสงวน เนยใสนี้ยังดีอยู่จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ อาจารย์ท่านอย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อย คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หาย โดยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็น เงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์ เศรษฐีคหบดีทราบว่า ภรรยาของเราหายโรคแล้วได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาส ทาสี รถม้าอีกด้วย จึงชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้าเดินมุ่ง ไปพระนครราชคฤห์ ถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า เงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอ ใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า พระราชกุมารรับสั่งว่า อย่าเลย พ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และ เจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า แล้วได้สร้าง บ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย.
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก
[๑๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงประชวรโรคริดสีดวง งอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่า บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรง มีระดู ต่อมาพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนัก พระองค์จักประสูติ พระราชา ทรงเก้อเพราะคำเย้ยหยันของพวกพระสนมนั้น ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้นแก่เจ้าชายอภัยว่า พ่ออภัย พ่อป่วยเป็นโรคเช่นนั้นถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่า บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนัก พระองค์ จักประสูติ เอาเถอะ พ่ออภัย เจ้าช่วยหาหมอชนิดที่พอจะรักษาพ่อได้ให้ทีเถิด อ. ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระพุทธเจ้า ยังหนุ่ม ทรงคุณวุฒิ เธอจัก รักษาพระองค์ได้ พ. พ่ออภัย ถ้าเช่นนั้นเธอจงสั่งหมอชีวก เขาจักได้รักษาพ่อ ครั้งนั้นเจ้าชายอภัย สั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เธอจงไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ชีวกโกมารภัจจ์รับสนองพระบัญชาว่าอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วเอาเล็บตักยาเดินไปในราชสำนัก ครั้นถึงแล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราชว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักตรวจโรคของพระองค์ แล้วรักษาโรค ริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นาง ตกแต่งเครื่องประดับทั้งปวง ให้เปลื้องออกทำเป็นห่อแล้ว ได้มีพระราชโองการแก่ชีวกโกมาร- *ภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นางนี้จงเป็นของเจ้า ชี. อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงโปรดระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระ- *พุทธเจ้าเถิด พ. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า.
เรื่องเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์
[๑๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ขนเงินไปเป็นอันมาก อนึ่ง เศรษฐีนั้นถูกนายแพทย์บอกคืน นายแพทย์บางพวกได้ทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดี จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ครั้งนั้นพวกคนร่ำรวย ชาวพระนครราชคฤห์ได้มีความปริวิตกว่า เศรษฐีคหบดีผู้นี้แล มีอุปการะมากแก่พระเจ้าอยู่หัวและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกคืนเสียแล้ว นายแพทย์ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกผู้นี้เป็นนายแพทย์หลวงที่หนุ่มทรงคุณวุฒิ ถ้าเช่นนั้นพวกเรา พึงทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะให้รักษาเศรษฐีคหบดี แล้วจึงพากันไปใน ราชสำนัก ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลแด่พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า ขอ เดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เศรษฐีคหบดีผู้นี้มีอุปการะมากแก่ใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกคืนเสียแล้ว นายแพทย์บางพวกทำนายไว้ อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดี จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรม ในวันที่ ๗ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงมีพระบรมราช โองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อได้รักษาเศรษฐีคหบดี ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีคหบดี ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะ แล้วไปหาเศรษฐี คหบดี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีคหบดีแล้ว ได้ถามเศรษฐีคหบดีว่า ท่านคหบดี ถ้าฉันรักษาท่านหายโรค จะพึงมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง? ศ. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาส ของท่าน ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม? ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ไหม? ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม? ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงถลกหนังศีรษะ เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ประชาชนว่า ท่านทั้งหลายจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง พวกอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจักเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ ตัวใหญ่นี้ ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ส่วนพวกอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจักเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ ตัวเล็กนี้ ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ดังนี้ แล้วปิดแนวประสานกะโหลกศีรษะ เย็บหนังศีรษะแล้วได้ทายาสมานแผล ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือน ได้ดังนี้ มิใช่หรือ? ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน ข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนเถิด ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ ดังนี้มิใช่หรือ? ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน ข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ ดังนี้ มิใช่หรือไม่? ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงาย ตลอด ๗ เดือนได้ ชี. ท่านคหบดี ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนเท่านั้นไม่ได้ แต่ฉันทราบอยู่ก่อน แล้วว่า เศรษฐีคหบดีจักหายโรคในสามสัปดาห์ ลุกขึ้นเถิด ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้ จะได้รางวัลอะไรแก่ฉัน ศ. ท่านอาจารย์ ก็ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน ชี. อย่าเลย ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่านก็ ไม่ต้องยอมเป็นทาสของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัวแสนกษาปณ์ ให้ฉัน แสนกษาปณ์ก็พอแล้ว ครั้นเศรษฐีคหบดีหายป่วย ได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์แด่พระเจ้าอยู่หัว แสนกษาปณ์ ได้ให้ แก่ชีวกโกมารภัจจ์ แสนกษาปณ์.
เรื่องบุตรเศรษฐีป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้
[๑๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสีผู้เล่นกีฬาหกคะเมน ได้ป่วย เป็นโรคเนื้องอกที่ลำไส้ ข้าวยาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระ และปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้งนั้นเศรษฐีชาวพระนครพาราณสีได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า บุตรของเราได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก บุตรของเรานั้นจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เพราะโรคนั้น ถ้ากระไร เราพึงไปพระนครราชคฤห์แล้วทูลขอ นายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา ต่อแต่นั้นเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ แล้ว เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะฯ บุตรของ ข้าพระพุทธเจ้าได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เพราะโรคนั้น ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลี- *พระบาทจงมีพระบรมราชโองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อจะได้รักษาบุตรของข้าพระพุทธเจ้า ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปพระนครพาราณสี แล้วรักษาบุตรของเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะฯ แล้วไปพระนคร พาราณสี เข้าไปหาเศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีบุตรชาว พระนครพาราณสี เชิญประชาชนให้ออกไปเสีย ขึงม่านมัดเศรษฐีบุตรไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ ข้างหน้า ผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกแสดงแก่ภรรยาว่า เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่สามีเธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออก ไม่สะดวก เพราะโรคนี้ สามีเธอนี้จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นดังนี้ แล้วตัดเนื้องอกในลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับดังเดิม แล้วเย็บ หนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี ได้หายโรคแล้ว ครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนครพาราณสีคิดว่า บุตรของเราหายโรคพ้นอันตรายแล้ว จึงให้ รางวัลแก่ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์นั้น เดินทางกลับมาสู่พระนครราชคฤห์ตามเดิม.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๒๕๘-๓๕๑๓ หน้าที่ ๑๓๔ - ๑๔๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=3258&Z=3513&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=128&book=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=32              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=128              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=5&A=3465              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=5&A=3465              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_5

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]