ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คหบดีวรรค
๑. กันทรกสูตร
ประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ครั้งนั้น บุตรนายหัตถาจารย์ชื่อเปสสะ และปริพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตร ถวายบังคมพระผู้มี- *พระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ส่วนกันทรกปริพาชกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วเหลียวดู ภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งเงียบอยู่ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า น่าอัศจรรย์ ท่านพระโคดม ไม่เคยมี ท่านพระโคดม เพียงเท่านี้ ท่านพระโคดมชื่อว่าทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว ท่านพระโคดม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ได้มีแล้วในอดีตกาล แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรง ให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนท่านพระโคดมทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบ ในบัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด จักมีในอนาคตกาล แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านั้น เหมือนท่านพระโคดมทรงให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบในบัดนี้. [๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกันทรกะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรกันทรกะ ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ได้มีแล้วในอดีตกาล แม้พระผู้มีพระภาค เหล่านั้น ก็ทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนเราให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบ ในบัดนี้. ดูกรกันทรกะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด จักมีในอนาคตกาล แม้พระผู้มี- *พระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้ เหมือนเราให้ภิกษุสงฆ์ ปฏิบัติชอบในบัดนี้. ดูกรกันทรกะ ก็ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้อรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบ แล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ มีอยู่ ดูกรกันทรกะ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังต้องศึกษา มีปกติสงบ มีความประพฤติสงบ มีปัญญาเลี้ยงชีพด้วยปัญญามีอยู่ เธอเหล่านั้น มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ดูกรกันทรกะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. [๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า สติปัฏฐาน ๔ นี้ พระองค์ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่จริง แม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ก็ยังมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อยู่ตามกาลที่สมควร ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์รกชัฏ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกาก เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวด เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏ ๑- คือมนุษย์ สิ่งที่ตื้น ๒- คือสัตว์ พระพุทธเจ้าข้า ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าสามารถ จะให้ช้างที่พอฝึกแล้วแล่นไปได้ ช้างนั้นจักทำนครจำปาให้เป็นที่ไปมาโดยระหว่างๆ จักทำความ โอ้อวด ความโกง ความคด ความงอ นั้นทั้งหมดให้ปรากฏด้วย ส่วนมนุษย์ คือทาส คนใช้ หรือกรรมกรของข้าพระพุทธเจ้า ย่อมประพฤติด้วยกายเป็นอย่างหนึ่ง ด้วยวาจาเป็นอย่างหนึ่ง และจิตของเขาเป็นอย่างหนึ่ง น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ในเมื่อมนุษย์ รกชัฏ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกาก เป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวด เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏ คือมนุษย์ สิ่งที่ตื้น คือสัตว์.
บุคคล ๔ จำพวก
[๔] พ. ดูกรเปสสะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรเปสสะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ก็สิ่งที่รกชัฏ คือมนุษย์ สิ่งที่ตื้น คือสัตว์ ดูกรเปสสะ บุคคล ๔ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก ๔ จำพวกนั้น เป็นไฉน? ดูกรเปสสะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายใน การทำตนให้เดือดร้อน. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำ ผู้อื่นให้เดือดร้อน. @(๑) เข้าใจยาก (๒) เข้าใจไม่ยาก บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการ ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน. บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน ดูกรเปสสะ บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ จำพวกไหนจะยังจิตของท่านให้ยินดี? [๕] เป. พระพุทธเจ้าข้า บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายใน การทำตนให้เดือดร้อนนี้ ไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ แม้บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ก็ไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ แม้ บุคคลทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ก็ไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้า ให้ยินดีได้ ส่วนบุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้ เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน บุคคลนี้ย่อมยังจิตของข้าพระพุทธเจ้า ให้ยินดี. ดูกรเปสสะ ก็เพราะเหตุไรเล่า บุคคล จำพวกนี้ จึงยังจิตของท่านให้ยินดีไม่ได้? [๖] พระพุทธเจ้าข้า บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตน ให้เดือดร้อนนี้ เขาย่อมทำตนซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อน เร่าร้อน ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ แม้บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาก็ย่อมทำผู้อื่นซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ ให้เดือดร้อน เร่าร้อน ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ แม้บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน และประกอบความ ขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาก็ย่อมทำตนและผู้อื่นซึ่งรักสุข เกลียดทุกข์ให้เดือดร้อน เร่าร้อน ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้จึงไม่ยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ ก็แลบุคคลผู้ไม่ทำตนให้ เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่น เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ใน ปัจจุบันนี้ ด้วยเหตุนี้ บุคคลนี้ ย่อมยังจิตของข้าพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจะไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่ต้องทำมาก. ดูกรเปสสะ บัดนี้ ท่านจงทราบกาลอันควรเถิด. ลำดับนั้น นายเปสสหัตถาโรหบุตร ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป. [๗] ครั้งนั้น เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตรหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรเป็นบัณฑิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรมีปัญญามาก ถ้านายเปสสหัตถาโรหบุตรพึงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง ชั่วเวลาที่เรา จำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดารแก่เขา เขาจักเป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ อนึ่ง แม้ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสหัตถาโรหบุตรยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ พวก ภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค นี้เป็นกาล ข้าแต่พระสุคต นี้เป็นกาลของการที่ พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดาร ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มี- *พระภาคโดยพิสดารแล้วจักทรงจำไว้. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. [๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบ ความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมารยาท เลียมือ เขาเชิญ ให้มารับภิกษาแล้วก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีรับภิกษา ที่เขาทำเฉพาะ ไม่ยินดีรับภิกษาที่เขานิมนต์ เขาไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากกระเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษา ของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูก ดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่เขา เลี้ยงสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่ม เมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๓ หลัง เยียวยา อัตภาพด้วยข้าว ๓ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๔ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๔ คำบ้าง รับภิกษา ที่เรือน ๕ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๕ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๖ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วย ข้าว ๖ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วย ภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๓ ใบบ้าง ๔ ใบบ้าง ๕ ใบบ้าง ๖ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือน แม้เช่นนี้ด้วยประการฉะนี้อยู่ เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าว เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีข้าวไหม้ เป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ. เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผม และหนวด คือประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบความเพียรในการกระโหย่ง (คือเดินกระโหย่งเหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) บ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง ประกอบ ความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทำกายให้เดือดร้อน เร่าร้อน หลายอย่างเห็นปานนี้อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน. [๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าแพะเลี้ยงชีวิต ฆ่าสุกรเลี้ยงชีวิต ฆ่านก เลี้ยงชีวิต ฆ่าเนื้อเลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนฆ่าโจร เป็นคนปกครองเรือนจำ หรือบุคคลเหล่าอื่นบางพวกเป็นผู้ทำการงานอันทารุณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน. [๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้ เดือดร้อน เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิกเษกแล้ว ก็ดี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็ดี พระราชาหรือพราหมณ์นั้น โปรดให้ทำโรงที่บูชายัญขึ้นใหม่ทาง ด้านบูรพาแห่งนคร แล้วทรงจำเริญพระเกสาและพระมัสสุ ทรงนุ่งหนังเสือทั้งเล็บ ทรงทาพระกาย ด้วยเนยใสและน้ำมันงา ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไปยังโรงที่บูชายัญใหม่ พร้อมด้วย พระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นดิน อันมิได้ลาดด้วยเครื่องลาด เขาทาด้วยโคมัย สด น้ำนมในเต้าที่หนึ่งแห่งโคแม่ลูกอ่อนตัวเดียวมีเท่าใด พระราชาทรงเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนม เท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๒ มีเท่าใด พระมเหสีทรงเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมใน เต้าที่ ๓ มีเท่าใด พราหมณ์ปุโรหิต ย่อมเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๔ มี เท่าใด ก็บูชาไฟด้วยน้ำนมเท่านั้น ลูกโคเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชาหรือพราหมณ์ นั้นตรัสอย่างนี้ว่า เพื่อต้องการบูชายัญ จงฆ่าโคผู้ประมาณเท่านี้ ลูกโคผู้ประมาณเท่านี้ ลูกโคเมีย ประมาณเท่านี้ แพะประมาณเท่านี้ ม้าประมาณเท่านี้ จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการ ทำเป็นเสายัญ จงเกี่ยวหญ้าประมาณเท่านี้ เพื่อต้องการลาดพื้น ชนเหล่าที่เป็นทาสก็ดี เป็นคนใช้ ก็ดี เป็นกรรมกรก็ดี ของพระราชาหรือพราหมณ์นั้น ชนเหล่านั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ ทำการงานตามกำหนด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เรากล่าวว่า ทำตน ให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๑-๑๖๖ หน้าที่ ๑-๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1&Z=166&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=1&items=10              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=1&items=10&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=13&item=1&items=10              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=13&item=1&items=10              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]