บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
๙. โคลิสสานิสูตร ว่าด้วยอรัญญิกธุดงค์ [๒๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขต พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้น ภิกษุชื่อโคลิสสานิ เป็นผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ มีมารยาท หยาบคาย มานั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง. [๒๐๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรปรารภโคลิสสานิภิกษุ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ มีความเคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อ ไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุ นั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่เป็นผู้เคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะเป็นประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้นอันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มี ความเคารพยำเกรง ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย. [๒๐๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ใน สงฆ์ ควรเป็นผู้ฉลาดในที่นั่งด้วยดีดังนี้ว่า เราจักไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ และจักไม่ห้าม อาสนะภิกษุผู้นวกะ. ถ้าภิกษุสมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปในสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่เป็นผู้ฉลาด ในที่นั่ง จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่รู้จักธรรม แม้เพียงอภิสมาจาริกวัตร จะมีประโยชน์ อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุ นั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควร เป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง. [๒๐๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่ แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก. [๒๐๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต. ถ้าภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ถึงความเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่าการเที่ยวไปในเวลาวิกาล อันท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ก็จะกล่าวทักท้วงเธอผู้ไปสู่สงฆ์ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัต ในเวลาหลังภัต. [๒๐๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ความคะนองกาย คะนองวาจา อันท่าน ผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ก็จะ กล่าวทักท้วงเธอผู้ไปสู่สงฆ์ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา. [๒๐๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไป สู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น. [๒๑๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร จะมีประโยชน์ อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้น ได้ดังนี้ เพราะฉะนั้นภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร. [๒๑๑] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ไม่เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดไม่เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. [๒๑๒] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้รู้ประมาณ ในโภชนะ. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้ใดเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในโภชนะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ. [๒๑๓] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้ไม่ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นเนืองๆ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ใดเป็นผู้ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น เนืองๆ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แต่ท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่นเนืองๆ. [๒๑๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ปรารภ ความเพียร. ถ้าภิกษุสมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้เกียจคร้าน จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านนี้ ใดเป็นผู้เกียจคร้าน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควร เป็นผู้ปรารภความเพียร. [๒๑๕] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มี สติฟั่นเฟือน จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่ แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์จึงควรเป็นผู้มี สติตั้งมั่น. [๒๑๖] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ ไม่มีจิตตั้งมั่น จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้มี จิตตั้งมั่น. [๒๑๗] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีปัญญา ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เป็นผู้มีปัญญาทราม จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรเป็นผู้มีปัญญา. [๒๑๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอภิธรรมและในอภิวินัย กะภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์มีอยู่. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย. [๒๑๙] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรใน วิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ. เพราะคนผู้ถามในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติมีอยู่. ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหาในวิโมกข์ อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่า ภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหาในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า แก่ท่านผู้นี้ซึ่ง สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียรไว้ในวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ. [๒๒๐] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียร ในอุตตริมนุสสธรรม. เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอุตตริมนุสสธรรมกะภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ มีอยู่ ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรมแล้ว ให้ความประสงค์ ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้บวชเพื่อประโยชน์แห่งคุณวิเศษอันใด ไม่รู้จักประโยชน์แห่งคุณวิเศษอันนั้นจะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่ง สมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทาน อรัญญิกธุดงค์จึงควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม. [๒๒๑] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า ดูกรท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์เท่านั้นหรือที่ควรสมาทานธรรม เหล่านี้ประพฤติ หรือแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ? ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรโมคคัลลานะ แม้ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ยังควร สมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ จะกล่าวไปไยถึงภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเล่า.จบ โคลิสสานิสูตร ที่ ๙. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๓๘๖๕-๓๙๘๐ หน้าที่ ๑๖๘-๑๗๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=3865&Z=3980&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=203&items=19 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=203&items=19&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=13&item=203&items=19 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=13&item=203&items=19 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=203 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]