ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๙. มหาปุณณมสูตร (๑๐๙)
[๑๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกา วิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มี พระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม ประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้น เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่ประทับของพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มี- *พระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะขอทูลถามปัญหาสักเล็กน้อย กะพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจะประทานโอกาสเพื่อพยากรณ์ปัญหาแก่ ข้าพระองค์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจงนั่งลงยังอาสนะ ของตน ประสงค์จะถามปัญหาข้อใด ก็ถามเถิด ฯ [๑๒๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้นนั่งยังอาสนะของตนแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ มี ๕ ประการเท่านี้หรือหนอแล ฯ พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ มี ๕ ประการเท่านี้ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ฯ ภิกษุนั้นกล่าว ชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีอะไรเป็นมูล ฯ พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีฉันทะเป็นมูล ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นอย่างเดียวกัน หรือ หรือว่าอุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ฯ พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น จะอย่างเดียวกันก็มิใช่ อุปาทานจะอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็มิใช่ ดูกรภิกษุ ความกำหนัดพอใจ ใน อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแล เป็นตัวอุปาทานในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น ฯ [๑๒๒] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความต่างแห่งความกำหนัด พอใจ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ พึงมีหรือ ฯ พระผู้มีพระภาคทรงรับว่า มี แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลบางคนใน โลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญา อย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ในอนาคตกาลเถิด ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล เป็นความต่างแห่งความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ฯ [๑๒๓] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขันธ์ทั้งหลายมีชื่อเรียกว่าขันธ์ ได้ ด้วยเหตุเท่าไร ฯ พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียด ก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นรูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็น ไปภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่ เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ก็ตาม นี่เป็นสัญญาขันธ์ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็น อนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือ ละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็น สังขารขันธ์ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็น ปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลว หรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี่เป็นวิญญาณขันธ์ ดูกรภิกษุ ขันธ์ทั้งหลาย ย่อมมีชื่อเรียกว่าขันธ์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ฯ [๑๒๔] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติรูปขันธ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ เวทนาขันธ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ สัญญาขันธ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติสังขารขันธ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์ ฯ พ. ดูกรภิกษุ มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติรูป ขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติสัญญาขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ สังขารขันธ์ นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์ ฯ [๑๒๕] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สักกายทิฐิ จะมีได้อย่างไร ฯ พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดย ความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็น อัตตาในรูปบ้าง ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนา บ้าง เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสัญญา โดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็น อัตตาว่ามีสังขารบ้าง เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็ง เห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล สักกายทิฐิจึงมีได้ ฯ [๑๒๖] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฐิจะไม่มีได้อย่างไร ฯ พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็น พระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็น สัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็น รูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็ง เห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง ไม่เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในเวทนา บ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง ไม่เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็น สังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง ไม่เล็งเห็นสังขาร ในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็น อัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่ เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล สักกายทิฐิจึงไม่มี ฯ [๑๒๗] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นคุณเป็นโทษ เป็น ทางสลัดออกในรูป อะไรเป็นคุณ เป็นโทษ เป็นทางสลัดออกในเวทนา อะไร เป็นคุณ เป็นโทษ เป็นทางสลัดออกในสัญญา อะไรเป็นคุณ เป็นโทษ เป็น ทางสลัดออกในสังขาร อะไรเป็นคุณ เป็นโทษ เป็นทางสลัดออกในวิญญาณ ฯ พ. ดูกรภิกษุ อาการที่สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในรูป อาการที่รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในรูป อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะ ในรูปได้ นี้เป็นทางสลัดออกในรูป อาการที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในเวทนา อาการที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในเวทนา อาการที่กำจัด ฉันทราคะ ละฉันทราคะในเวทนาได้ นี้เป็นทางสลัดออกในเวทนา อาการที่สุข โสมนัสอาศัยสัญญาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในสัญญา อาการที่สัญญาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในสัญญา อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในสัญญาได้ นี้เป็นทางสลัดออกในสัญญา อาการที่สุขโสมนัส อาศัยสังขารเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในสังขาร อาการที่สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี ความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในสังขาร อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในสังขารได้ นี้เป็นทางสลัดออกในสังขาร อาการที่สุขโสมนัสอาศัย วิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณในวิญญาณ อาการที่วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความ แปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษในวิญญาณ อาการที่กำจัดฉันทราคะ ละฉันทราคะในวิญญาณได้ นี้เป็นทางสลัดออกในวิญญาณ ฯ [๑๒๘] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อรู้ เมื่อเห็นอย่างไรจึงไม่มี อนุสัยคือความถือตัว ว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้ง หมดในภายนอก ฯ พ. ดูกรภิกษุ บุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปใน ภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของ เรา เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เห็นด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้ง หมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เห็นด้วยปัญญาอัน ชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็น อนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือ ละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความ เป็นจริงดังนี้ว่า วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้ง ที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ดูกรภิกษุ เมื่อรู้ เมื่อเห็นอย่างนี้แล จึงไม่มี อนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเราว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้ง หมดในภายนอก ฯ [๑๒๙] ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่าง นี้ว่า จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็น อนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรง ทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้นด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้แล้ว ตกอยู่ในอวิชชา ใจ มีตัณหาเป็นใหญ่ พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็น อนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร เราจะขอสอบถาม ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราได้แนะนำพวกเธอในธรรมนั้นๆ แล้วแล พวกเธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า ฯ ภิ. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควร หรือหนอที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิ. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิ. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ฯ ภิ. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควร หรือหนอที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิ. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิ. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ ภิ. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควร หรือหนอที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิ. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สังขารเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ ภิ. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ ภิ. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควร หรือหนอที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิ. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ ภิ. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ฯ ภิ. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควร หรือหนอที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ ภิ. ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอัน ชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียด ก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความ เป็นจริงดังนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่ เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็น ไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ อัตตาของเรา พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า สังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้ง ที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอก ก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ก็ตาม ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะ คลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล ฯ
จบ มหาปุณณมสูตร ที่ ๙
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๙๘๐-๒๑๘๖ หน้าที่ ๘๔-๙๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1980&Z=2186&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=120&items=10              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=120&items=10&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=14&item=120&items=10              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=14&item=120&items=10              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=120              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]