ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๒๐๐.

สุญญตวรรค
๑. จูฬสุญญตสูตร (๑๒๑)
[๓๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระ- *อานนท์ออกจากสถานที่หลีกเร้นอยู่ในเวลาเย็น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่สักยนิคมชื่อนครกะ ในสักกชนบท ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ ได้สดับ ได้รับพระดำรัสนี้เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ บัดนี้ เราอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ข้าพระองค์ได้สดับดี แล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้วหรือ ฯ [๓๓๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรอานนท์ แน่นอน นั่นเธอสดับดี แล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว ดูกรอานนท์ ทั้งเมื่อก่อนและ บัดนี้ เราอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมารดา หลังนี้ ว่างเปล่าจากช้าง โค ม้า และลา ว่างเปล่าจากทองและเงิน ว่างจากการ ชุมนุมของสตรีและบุรุษ มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น ฉันใด ดูกรอานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ใส่ใจสัญญาว่าบ้าน ไม่ใส่ใจสัญญา ว่ามนุษย์ ใส่ใจแต่สิ่งเดียว เฉพาะสัญญาว่าป่า จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าป่า เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในสัญญาว่าป่านี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่าบ้าน และชนิดที่อาศัยสัญญาว่ามนุษย์ เลย มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือภาวะเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่าเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าบ้าน สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ และ รู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่าเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๑.

จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลือ อยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความ ว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๕] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่ามนุษย์ ไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าแผ่นดิน จิตของเธอย่อม แล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าแผ่นดิน เปรียบเหมือน หนังโคที่เขาขึงดีแล้วด้วยหลักตั้งร้อย เป็นของปราศจากรอยย่น ฉันใด ดูกร- *อานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ใส่ใจแผ่นดินนี้ ซึ่งจะมีชั้นเชิง มีแม่น้ำ ลำธาร มีที่เต็มด้วยตอหนาม มีภูเขาและพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ ทั้งหมด ใส่ใจแต่ สิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่า แผ่นดิน จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และ นึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าแผ่นดิน เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในสัญญาว่าแผ่นดินนี้ ไม่มี ความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่ามนุษย์ และชนิดที่อาศัยสัญญาว่าป่า มีอยู่ ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะสัญญาว่าแผ่นดินเท่านั้น เธอ รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าป่า และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าแผ่นดินเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละเธอจึง พิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๖] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดิน ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากาสานัญจายตน- *สัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในอากาสานัญจายตนสัญญานี้ ไม่มีความกระวน- *กระวาย ชนิดที่อาศัยสัญญาว่าป่าและชนิดที่อาศัยสัญญาว่าแผ่นดิน มีอยู่ก็แต่ เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าป่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าแผ่นดิน และรู้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๒.

ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการ นี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการ ก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๗] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดิน ไม่ใส่ใจอากาสานัญจายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะวิญญาณัญจายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในวิญญาณัญจายตน- *สัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในวิญญาณัญจายตนสัญญานี้ไม่มีความกระวน- *กระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่าแผ่นดิน และชนิดที่อาศัยอากาสานัญจายตนสัญญา มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะวิญญาณัญจายตนสัญญา เท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าแผ่นดิน สัญญานี้ว่างจากอากาสานัญ จายตนสัญญาและรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะวิญญาณัญจายตนสัญญา เท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ใน สัญญานั้นเลยและรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๘] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากาสานัญ จายตนสัญญา ไม่ใส่ใจวิญญาณัญจายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะอากิญจัญญา ยตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากิญ- *จัญญายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในอากิญจัญญายตนสัญญานี้ไม่มีความ กระวนกระวายชนิดที่อาศัยอากาสานัญจายตนสัญญาและชนิดที่อาศัยวิญญาณัญ- *จายตนสัญญา มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือภาวะเดียวเฉพาะอากิญจัญญาย- *ตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากาสานัญจายตนสัญญา สัญญานี้ ว่างจากวิญญาณัญจายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะอากิญ- *จัญญายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละเธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่ง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๓.

ที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลยและรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกร อานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๙] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจวิญญาณัญจายตน- *สัญญา ไม่ใส่ใจอากิญจัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเนวสัญญานา- *สัญญายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเนว สัญญานาสัญญายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา นี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยวิญญาณัญจายตนสัญญาและชนิดที่อาศัย อากิญจัญญายตนสัญญา มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือภาวะเดียวเฉพาะ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากวิญญาณัญจายตน สัญญา สัญญานี้ว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียว เฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณา เห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ใน สัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๔๐] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญา- *ยตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อม อยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในเจโตสมาธินี้ ไม่มีความ กระวนกระวายชนิดที่อาศัยอากิญจัญญายตนสัญญาและชนิดที่อาศัยเนวสัญญานา- *สัญญายตนสัญญา มีอยู่แต่เพียงความกระวนกระวายคือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากิญจัญญายตน- *สัญญา สัญญานี้ว่างจากเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาและรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็ คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้ แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๔.

รู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของ ภิกษุนั้น ฯ [๓๔๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญาตน- *สัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ใน เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล ยังมี ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้ ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จาก กามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าในญาณนี้ไม่มีความ กระวนกระวายชนิดที่อาศัยกามาสวะ ชนิดที่อาศัยภวาสวะและชนิดที่อาศัยอวิชชา- *สวะ มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัย กายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากกามาสวะ สัญญานี้ ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ว่างจากอวิชชาสวะ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิด แห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึง พิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลือ อยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๔๒] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาลไม่ว่าพวกใดๆ ที่ บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ก็ได้บรรลุสุญญตสมา- *บัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาลไม่ว่าพวก ใดๆ ที่จะบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ก็จัก บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในบัดนี้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๕.

ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ย่อมบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ ดูกรอานนท์ เพราะ ฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า เราจักบรรลุสุญญตสมาบัติอัน บริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ จูฬสุญญตสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๖.

๒. มหาสุญญตสูตร (๑๒๒)
[๓๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนคร กบิลพัสดุ์ในสักกชนบท ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตร- *จีวรแล้ว เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับ จากบิณฑบาตภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้ากาล- *เขมกะ ศากยะ เพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน สมัยนั้นแล ในวิหารของเจ้า กาลเขมกะ ศากยะ มีเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกัน พระผู้มีพระภาคทอด พระเนตรเห็นเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกันแล้ว จึงมีพระดำริดังนี้ว่า ในวิหาร ของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน ที่นี่มีภิกษุอยู่มาก มายหรือหนอ ฯ [๓๔๔] สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์กับภิกษุมากรูป ทำจีวรกรรมอยู่ ในวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจาก ที่ทรงหลีกเร้นอยู่แล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ แล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ ว่า ดูกรอานนท์ ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้ มากด้วยกัน ที่นั่นมีภิกษุอยู่มากมายหรือ ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า มากมาย พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จีวรกาลสมัยของพวกข้าพระองค์กำลังดำเนินอยู่ ฯ [๓๔๕] พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลี กัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิง ร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการ คลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุข

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๗.

เกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไป สงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นเป็น ฐานะที่มีได้ ฯ ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วม หมู่นั้นหนอ จักบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่ กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังบรรลุเจโตวิมุติอันน่าปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโต- *วิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ดูกรอานนท์ เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้รูปอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ไม่เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะความแปรปรวนและความเป็น อย่างอื่นของรูป ตามที่เขากำหนัดกันอย่างยิ่งซึ่งบุคคลกำหนัดแล้ว ฯ [๓๔๖] ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือ ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการ ทั้งปวง จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้ ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่ เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ [๓๔๗] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๘.

จิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ (๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฯ (๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอก ผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่ สมาธิอยู่ ฯ (๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข ด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่ เป็นสุข อยู่ ฯ (๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน ให้จิตภายใน สงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น ฯ ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตยัง ไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐๙.

ยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ ดูกรอานนท์ ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายใน ให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล เธอย่อม ใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อม ใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่าง นี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อม ไปในความว่างภายใน ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่าง ภายในนั้นได้ ฯ ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็น เช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตย่อม แล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ ด้วยอาการนี้แล ย่อม เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๔๗๑๔-๔๙๓๔ หน้าที่ ๒๐๐-๒๐๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4714&Z=4934&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=333&items=15&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=333&items=15&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=14&item=333&items=15&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=14&item=333&items=15&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=333              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]