ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
             [๘๓๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้าน
นครวินทะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้ง
แล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบ
เหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น พวกข้าพระองค์
นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดม
ผู้เจริญ จงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไป ฯ
จบ นครวินเทยยสูตร ที่ ๘
-----------------------------------------------------
๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร (๑๕๑)
[๘๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระ สารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรสารีบุตร เธอมีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณ บริสุทธิ์ผุดผ่อง เธออยู่ด้วยวิหารธรรมอะไรเป็นส่วนมากในบัดนี้ ฯ ท่านพระสารีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่ด้วยวิหาร ธรรมคือสุญญตสมาบัติแลเป็นส่วนมากในบัดนี้ ฯ [๘๓๘] พ. ดูกรสารีบุตร ดีละๆ เป็นอันว่าเธออยู่ด้วยวิหารธรรม ของมหาบุรุษเป็นส่วนมากในบัดนี้ เพราะวิหารธรรมของมหาบุรุษนี้ก็คือสุญญต- *สมาบัติ เพราะฉะนั้นแล สารีบุตร ภิกษุถ้าหวังว่าจะอยู่ด้วยวิหารธรรมคือสุญญต- *สมาบัติเป็นส่วนมาก ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทาง และประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือ ความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุบ้างไหม ดูกร สารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยว บิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและ ประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือ ความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอยู่ ภิกษุ นั้นพึงพยายามละอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นเสีย ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุ พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปใน ประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เราไม่มีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษา เนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ได้ด้วยปีติและ ปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๓๙] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรา เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับจาก บิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความ กำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่งทางใจ ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ... ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ... ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนบ้างไหม ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาต ไปในประเทศใด และกลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เรามีความพอใจ หรือความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือ แม้ความกระทบกระทั่งทางใจในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโนอยู่ ภิกษุนั้นพึงพยายาม ละอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นเสีย ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ ว่า เราเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านทางใด เที่ยวบิณฑบาตไปในประเทศใด และกลับ จากบิณฑบาตแต่บ้านทางใด ในทางและประเทศนั้นๆ เราไม่มีความพอใจ หรือ ความกำหนัด หรือความขัดเคือง หรือความลุ่มหลง หรือแม้ความกระทบกระทั่ง ทางใจในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๐] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรา ละกามคุณ ๕ ได้แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรา ยังละกามคุณ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามละกามคุณ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้า ภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราละกามคุณ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้น นั่นแล ฯ [๘๔๑] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรา ละนีวรณ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังละนีวรณ์ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามละนีวรณ์ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราละนีวรณ์ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๒] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เรากำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังกำหนดรู้อุปาทานขันธ์ ๕ ไม่ได้เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามกำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรากำหนดรู้ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๓] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสติปัฏฐาน ๔ ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วย ปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๔] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสัมมัปปธาน ๔ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ ว่า เรายังไม่ได้เจริญสัมมัปปธาน ๔ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสัมมัปปธาน ๔ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญสัมมัปปธาน ๔ แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๕] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญอิทธิบาท ๔ ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วย ปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๖] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอินทรีย์ ๕ แล้วหรือหนอแล ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญอินทรีย์ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญอินทรีย์ ๕ แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษา เนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๗] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญพละ ๕ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรา ยังไม่ได้เจริญพละ ๕ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญพละ ๕ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้า ภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญพละ ๕ แล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์ นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๘] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ เลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญโพชฌงค์ ๗ ดูกร สารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วย ปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๔๙] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐแล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุ พิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐเลย ภิกษุนั้น พึงพยายามเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐแล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้น นั่นแล ฯ [๘๕๐] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราเจริญสมถะและวิปัสสนาแล้วหรือหนอ ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเลย ภิกษุนั้นพึงพยายามเจริญสมถะ และวิปัสสนา ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เราเจริญสมถะ และวิปัสสนาแล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ใน กุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๕๑] ดูกรสารีบุตร ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุพึงพิจารณาดังนี้ว่า เราทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้งแล้วหรือหนอแล ดูกรสารีบุตร ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้ทำวิชชาและวิมุตติให้แจ้งเลย ภิกษุนั้นพึงพยายามทำวิชชา และวิมุตติให้แจ้ง ดูกรสารีบุตร แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราทำวิชชา และวิมุตติให้แจ้งแล้ว ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นนั่นแล ฯ [๘๕๒] ดูกรสารีบุตร ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์แล้วในอดีตกาล ทั้งหมดนั้น พิจารณาแล้วๆ อย่างนี้เทียว จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้จักทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์ในอนาคตกาล ทั้งหมดนั้น ต้องพิจารณาแล้วๆ อย่างนี้เทียว จึงจักทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กำลังทำ บิณฑบาตให้บริสุทธิ์อยู่ในบัดนี้ ทั้งหมดนั้น ย่อมพิจารณาแล้วๆ อย่างนี้เทียว จึงทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงสำเหนียกว่า จักพิจารณา แล้วๆ ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ ดูกรสารีบุตร พวกเธอพึงสำเหนียกไว้ อย่างนี้แล ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ที่ ๙
-----------------------------------------------------
๑๐. อินทริยภาวนาสูตร (๑๕๒)
[๘๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าไผ่ ในนิคมชื่อกัชชังคลา ครั้ง นั้นแล อุตตรมาณพ ศิษย์พราหมณ์ปาราสิริยะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ ประทับ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทักทายปราศรัยพอให้ ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๘๕๔] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามดังนี้ว่า ดูกร อุตตระ ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือเปล่า ฯ อุ. แสดง พระโคดมผู้เจริญ ฯ พ. ดูกรอุตตระ แสดงอย่างใด ด้วยประการใด ฯ อุ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ท่านปาราสิริยพราหมณ์แสดงการ เจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียง ด้วยโสต ฯ พ. ดูกรอุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้วตามคำของ ปาราสิริยพราหมณ์ ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอด ไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส แล้วอย่างนี้ อุตตรมาณพ ศิษย์ปาราสิริยพราหมณ์ นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ ฯ [๘๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า อุตตรมาณพศิษย์ ปาราสิริยพราหมณ์ นิ่ง คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงรับสั่งกะ ท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ปาราสิริยพราหมณ์ ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์ แก่สาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของ พระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต เป็นการสมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระ อริยะ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ต่อไป ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๘๕๖] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรอานนท์ ก็การเจริญ อินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ เป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ ขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบ ใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา เธอจึงดับความ ชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบ ใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดย ไม่ลำบากเหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น ดูกร อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ ฯ [๘๕๗] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต เธอรู้ ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ ขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยการเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้ง ความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่าง บุรุษมีกำลัง ดีดนิ้วมือโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การ เจริญอินทรีย์ในเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ฯ [๘๕๘] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ ขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบ ใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุ รูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างหยาดน้ำกลิ้ง ไปบนใบบัว ย่อมไม่ติดในที่ที่กลิ้งไปสักน้อยหนึ่ง ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เรา เรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ ฯ [๘๕๙] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เธอรู้ชัดอย่าง นี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น แล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบ ใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุ รูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือนอย่างบุรุษมีกำลัง ตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น แล้วถ่มไปโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ ฯ [๘๖๐] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยัง มีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้โดยเร็วพลันทันที โดยไม่ลำบาก เหมือน อย่างบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดโดยไม่ลำบาก ฉะนั้น ดูกร อานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อย่างไม่มีวิธี อื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ฯ [๘๖๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอรู้ชัด อย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ เกิดความไม่ชอบใจ เกิดทั้งความชอบใจและไม่ ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมี สิ่งละเอียด ประณีต นั่นคืออุเบกขา เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกร อานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและ ไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบากอย่างนี้ เหมือนบุรุษมี กำลัง หยดหยาดน้ำสองหรือสามหยาดลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน ความ หยดลงแห่งหยาดน้ำยังช้า ทันทีนั้น หยาดน้ำนั้นจะถึงความสิ้นไป แห้งไปเร็ว ทีเดียว ฉะนั้น ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ ด้วยมโนอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ฯ ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลเป็นการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัย ของพระอริยะ ฯ [๘๖๒] ดูกรอานนท์ ก็พระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่เป็นอย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ ชอบใจ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบ ใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น เกิด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียง ด้วยโสต ... เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ... เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิด ขึ้นแล้วนั้น ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ ฯ [๘๖๓] ดูกรอานนท์ ก็พระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่ง ปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของ ไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความ สำคัญในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความ สำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้ง ไม่ปฏิกูลและปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่า เป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสอง นั้น อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติ สัมปชัญญะได้ ฯ [๘๖๔] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเกิดความชอบใจ ความ ไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต ... เพราะ ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา ... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นของ ไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความ สำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้ง ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ ถ้าหวังว่าจะวางเฉยเว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้น อยู่อย่างมีสติ สัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้ ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ฯ [๘๖๕] ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์ แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลาย จงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำ พร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคฉะนี้แล ฯ
จบ อินทรียภาวนาสูตร ที่ ๑๐
จบ สฬายตนวรรค ที่ ๕
-----------------------------------------------------
หัวข้อเรื่องของสฬายตนวรรคนั้น ดังนี้
วรรคที่ ๕ มีเรื่องเด่น คือ ๑. เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๒. เรื่องพระฉันนะ ๓. เรื่องพระปุณณะ ๔. เรื่องพระนันทกะ ๕. เรื่องพระราหุล ๖. เรื่องธรรมหมวดหก ๖ หมวด ๗. เรื่องธรรมเนื่องด้วยอายตนะ ๖ ๘. เรื่องพราหมณ์ชาวบ้านนครวินทะ ๙. เรื่องบิณฑบาตบริสุทธิ์ และ ๑๐. เรื่องการเจริญอินทรีย์ ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ๒. ฉันโนวาทสูตร ๓. ปุณโณวาทสูตร ๔. นันทโกวาทสูตร ๕. จูฬราหุโลวาทสูตร ๖. ฉฉักกสูตร ๗. สฬายตนวิภังคสูตร ๘. นครวินเทยยสูตร ๙. ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ๑๐. อินทริยภาวนาสูตร
จบ อุปริปัณณาสก์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๑๐๗๗๓-๑๑๐๗๓ หน้าที่ ๔๕๗-๔๗๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=10773&Z=11073&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=836&items=30              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=836&items=30&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=14&item=836&items=30              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=14&item=836&items=30              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=836              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_14 https://84000.org/tipitaka/english/?index_14

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]