ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
             [๒๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้าง
คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตาย
ก็ดี ของร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ ฉะนั้น ปุถุชน
ผู้มิได้สดับ จึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายนั้น แต่
ตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณ
บ้าง ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิต
เป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนผู้มิ
ได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่น
เป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงจะเบื่อ
หน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นไม่ได้เลย ฯ
             [๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่าง
กายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะ
เข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกาย
อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปี
บ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง
ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุม
แห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่ง
เกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและในกลางวัน ฯ
             [๒๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมใส่ใจด้วยดีโดย
แยบคายถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม ในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะ
เหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้
จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนาจึง
เกิดสุขเวทนา เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงดับ จึงสงบไป เพราะอาศัย
ผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัย
แห่งทุกขเวทนานั้นดับไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่ง
ทุกขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งเวทนาที่ไม่ใช่
สุข ไม่ใช่ทุกข์ จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขม-
*สุขเวทนานั้นดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัย
แห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป ฯ
             [๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันครูดสีกันจึงเกิดไออุ่น เกิด
ความร้อน แต่ถ้าแยกไม้ทั้งสองอันนั้นแหละออกเสียจากกัน ไออุ่นซึ่งเกิดจาก
การครูดสีกันนั้น ก็ดับไป สงบไป แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัย
ผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งสุขเวทนา จึงเกิดสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็น
ปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้นดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอันเป็น
ปัจจัยแห่งสุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่ง
ทุกขเวทนา จึงเกิดทุกขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้น
ดับไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนานั้น
จึงดับ จึงสงบไป เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งเวทนาที่มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข
จึงเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้น เพราะผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น
ดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยผัสสะอันเป็นปัจจัยแห่งอทุกขม-
*สุขเวทนานั้น จึงดับ จึงสงบไป ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
             [๒๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้
ย่อมหน่ายแม้ในผัสสะ ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อม
หน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อหน่าย ย่อมคลาย
กำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุด
พ้นแล้วและย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำ
เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. ปุตตมังสสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๕๖๘-๒๖๒๐ หน้าที่ ๑๐๖-๑๐๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=16&A=2568&Z=2620&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=16&item=235&items=5&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=16&item=235&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=16&item=235&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=16&item=235&items=5&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=235              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_16 https://84000.org/tipitaka/english/?index_16

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]