มหกสูตร
[๕๕๔] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากรูปอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า
มัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ไหว้แล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้อาราธนาว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ
ขอพระเถระทั้งหลายจงรับภัตตาหารที่โรงโคของข้าพเจ้าในวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายได้รับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีทราบการรับอาราธนา
ของภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว ลุกจากที่นั่งไหว้ทำประทักษิณแล้วจากไป ฯ
[๕๕๕] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า ภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังโรงโคของจิตตคฤหบดี ได้นั่ง ณ
อาสนะที่ได้ตบแต่งไว้ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดี ได้อังคาสภิกษุผู้เถระทั้งหลาย
ให้อิ่มหนำสำราญเพียงพอ ด้วยข้าวปายาสเจือด้วยเนยใสอย่างประณีต ด้วยมือ
ของตนเอง ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ลดมือจากบาตร ลุก
จากอาสนะแล้วจากไป แม้จิตตคฤหบดีได้สั่งทาสกรรมกรว่า พวกท่านจงทิ้งส่วน
ที่เหลือเสีย แล้วจึงได้ตามไปส่งภิกษุผู้เถระทั้งหลายข้างหลังๆ ก็โดยสมัยนั้นแล
ได้เกิดร้อนจัด ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้เดินไปด้วยกายที่คล้ายกับจะหดเข้าฉะนั้น
(จะเปื่อย) ทั้งที่ได้ฉันโภชนะอิ่มแล้ว ฯ
[๕๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหกะเป็นผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุ
สงฆ์หมู่นั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้พูดกะพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่
ท่านผู้เจริญ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมา และพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึง
โปรยลงมาทีละเม็ดๆ พระเถระกล่าวว่า ท่านมหกะ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมี
ลมเย็นพัดมา และพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ครั้งนั้นแล
ท่านพระมหกะได้บันดาลอิทธาภิสังขารให้มีลมเย็นพัดมา และมีแดดอ่อน ทั้งให้
มีฝนโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ฯ
[๕๕๗] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้คิดว่า ภิกษุผู้อ่อนกว่าทุกองค์ใน
ภิกษุสงฆ์หมู่นี้ เป็นผู้มีฤทธานุภาพเห็นปานนี้ทีเดียว ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะ
ไปถึงอารามแล้ว ได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การบันดาล
อิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอหรือ พระเถระผู้เป็นประธานได้กล่าวว่า ท่าน
มหกะ การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอ ท่านมหกะ การบันดาล
อิทธาภิสังขารเพียงเท่านี้เป็นอันเราทำแล้ว เป็นอันเราบูชาแล้ว ครั้นนั้นแล ภิกษุ
ผู้เถระทั้งหลายได้ไปตามที่อยู่ แม้ท่านมหกะก็ได้ไปยังที่อยู่ของตน ครั้งนั้นแล
จิตตคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระมหกะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ขอร้องว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหกะจงแสดงอิทธิ
ปาฏิหาริย์ที่เป็นอุตริมนุสธรรมแก่ข้าพเจ้าเถิด ท่านพระมหกะพูดว่า ดูกรคฤหบดี
ถ้าเช่นนั้น ท่านจงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วจงเอาฟ่อนหญ้ามาโปรยลงที่ผ้านั้น
จิตตคฤหบดีได้รับคำท่านพระมหกะแล้วจึงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วเอาฟ่อนหญ้ามา
โปรยลงที่ผ้านั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้เข้าไปสู่วิหารใส่ลูกดานแล้ว
ได้บันดาลอิทธาภิสังขารให้เปลวไฟแลบออกมาโดยช่องลูกดานและระหว่างลูกดาน
ไหม้หญ้า ไม่ไหม้ผ้าห่ม ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้สลัดผ้าห่มแล้ว สลดใจ (ตกใจ)
ขนลุกชัน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้นแล ท่านพระมหกะได้
ออกจากวิหาร (ห้องใน) ได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี การบันดาลอิทธาภิ
สังขารเท่านี้ เป็นการเพียงพอหรือ จิตตคฤหบดีได้กล่าวว่า ท่านมหกะผู้เจริญ
การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอ ท่านมหกะผู้เจริญ การบันดาล
อิทธาภิสังขารเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านกระทำแล้ว เป็นอันท่านบูชาแล้ว ขอ
พระคุณเจ้ามหกะจงชอบใจอัมพาฏกวนารามที่น่ารื่นรมย์ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด
ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขาร ท่าน
พระมหกะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี นั่นท่านกล่าวดีแล้ว ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะ
ได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้
กลับมาอีก เหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๔
เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๗๓๖๗-๗๔๑๕ หน้าที่ ๓๑๙-๓๒๑.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=7367&Z=7415&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=554&items=4
อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=554&items=4&mode=bracket
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=18&item=554&items=4
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :-
http://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=18&item=554&items=4
ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=554
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘
http://84000.org/tipitaka/read/?index_18
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖.
บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙.
การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com