ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
             [๕๖๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์
ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระกามภูว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สังขารมี
เท่าไรหนอแล ท่านพระกามภูตอบว่า ดูกรคฤหบดี สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร
วจีสังขาร จิตตสังขาร
             [๕๖๑] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม
อนุโมทนาภาษิตของท่านพระกามภู แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่าน
ผู้เจริญ ก็กายสังขารเป็นไฉน วจีสังขารเป็นไฉน จิตตสังขารเป็นไฉน ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแลชื่อว่ากายสังขาร
วิตกวิจารชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ
             [๕๖๒] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เพราะเหตุไร ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
จึงชื่อว่ากายสังขาร วิตกวิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตต-
*สังขาร ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นของเกิดที่กาย
ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากาย
สังขาร บุคคลย่อมตรึกตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจาภายหลัง ฉะนั้น วิตกวิจาร
จึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นของเกิดที่จิต ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต
ฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ
             [๕๖๓] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเกิดมีได้อย่างไร ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้คิด
อย่างนี้ว่า เราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง
เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วบ้าง โดยที่ถูกก่อนแต่จะเข้า ท่านได้อบรมจิตที่
จะน้อมไปเพื่อความเป็นจิตแท้ (จิตดั้งเดิม) ฯ
             [๕๖๔] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ธรรม
เหล่าไหนดับก่อน คือ กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารดับก่อน ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ วจีสังขารดับก่อน
ต่อจากนั้นกายสังขารดับ ต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ ฯ
             [๕๖๕] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้า
สัญญาเวทยิตนิโรธ ทั้งสองนี้มีความต่างกันอย่างไร ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว มีกายสังขารดับสงบ
มีวจีสังขารดับสงบ มีจิตตสังขารดับสงบ มีอายุสิ้นไป ไออุ่นสงบ อินทรีย์
แตกกระจาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ กายสังขารดับสงบ วจีสังขาร
ดับสงบ จิตตสังขารดับสงบ (แต่) ยังไม่สิ้นอายุ ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์
ผ่องใส ดูกรคฤหบดี คนตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
มีความต่างกันอย่างนี้ ฯ
             [๕๖๖] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้วได้ ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมมี
อย่างไร ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้
คิดอย่างนี้ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เรากำลังออกจาก
สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วบ้าง
โดยที่แท้ ก่อนแต่จะออก ท่านได้อบรมจิตที่น้อมเข้าไปเพื่อความเป็นจิตแท้ ฯ
             [๕๖๗] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ธรรมเหล่าไหนเกิดก่อน คือกายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารเกิดก่อน ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขาร
เกิดก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจึงเกิด ต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด ฯ
             [๕๖๘] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา
ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญา
เวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี ผัสสะ ๓ อย่าง คือ ๑ สุญญผัสสะ อนิมิตตผัสสะ
อัปปณิหิตผัสสะ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
             [๕๖๙] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถาม
ปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
สมาบัติ ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่อะไร โน้มไปสู่อะไร เงื้อมไปสู่อะไร ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่วิเวก โน้มไปสู่วิเวก เงื้อมไปสู่วิเวก ฯ
             [๕๗๐] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม
อนุโมทนาภาษิตของท่านพระกามภูแล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่าน
ผู้เจริญ ก็ธรรมเท่าไร ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
             กา. ดูกรคฤหบดี ท่านถามปัญหาที่ควรจะถามก่อนล่าช้าไปหน่อย แต่ว่า
อาตมาจักพยากรณ์ปัญหาแก่ท่าน ดูกรคฤหบดี ธรรม ๒ อย่าง คือ สมถะ ๑
วิปัสสนา ๑ ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
จบสูตรที่ ๖
โคทัตตสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๗๔๕๗-๗๕๒๕ หน้าที่ ๓๒๓-๓๒๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=7457&Z=7525&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=560&items=11&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=560&items=11              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=18&item=560&items=11&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=18&item=560&items=11&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=560              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]