ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
กุตุหลสาลาสูตร
[๗๙๙] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ เมื่อวันก่อนๆ โน้น พวกสมณพราหมณ์และปริพาชกผู้ถือลัทธิ อื่นมากด้วยกัน นั่งประชุมกันในศาลาวุ่นวาย ได้เกิดมีการสนทนาขึ้นใน ระหว่างว่า ปูรณกัสสปนี้แลเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มี เกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี ปูรณกัสสปนั้นย่อมพยากรณ์ สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพ โน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้สาวกคนใดของท่านปูรณกัสสปนั้น เป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม บรรลุความปฏิบัติยอดเยี่ยมแล้ว ท่าน ปูรณกัสสปก็ย่อมพยากรณ์สาวกแม้นั้นผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติ ทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้ มักขลิโคสาล... แม้นิครณฐนาฏบุตร... แม้สญชัยเวลัฏฐบุตร... แม้ปกุธกัจจานะ ... แม้อชิตเกสกัมพลก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี แม้ท่านอชิตเกสกัมพลนั้นก็ย่อมพยากรณ์ สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้สาวกใดของท่านอชิตเกสกัมพลนั้นเป็นบุรุษ สูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว ท่านอชิตเกส- *กัมพลก็ย่อมพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วแม้นั้นในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน แม้พระ สมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็น เจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี แม้พระสมณโคดมนั้น ก็ทรงพยากรณ์สาวกผู้ กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่าน โน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ และสาวกของพระสมณโคดมนั้น รูปใดเป็นบุรุษ สูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว พระสมณโคดม ก็ทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้น ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่าน โน่นเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น พระสมณโคดมนั้นยังทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้นอย่างนี้ว่า รูปโน้นตัดตัณหาขาดแล้ว ถอนสังโยชน์ทิ้งเสียแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วเพราะได้บรรลุเหตุที่ละมานะได้ โดยชอบ ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้น มีความเคลือบแคลงสงสัย แท้ว่า อย่างไรๆ พระสมณโคดมก็ต้องทรงรู้ธรรมอันบุคคลพึงรู้ยิ่ง ฯ [๘๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวัจฉะ จริงทีเดียว ควรที่ท่านจะ สงสัยเคลือบแคลงใจ ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านในฐานะที่ควรสงสัย ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่ คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ ดูกรวัจฉะ ไฟมีเชื้อจึงลุกโพลง ไม่มีเชื้อหาลุกโพลงไม่ แม้ฉันใด ดูกรวัจฉะ เราก็ย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทาน หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ ก็พระโคดมผู้เจริญจะทรงบัญญัติอะไรแก่เปลวไฟนี้ ในเพราะเชื้อเล่า ฯ พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ เราย่อม บัญญัติเชื้อ คือ ลมนั้น ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของ เปลวไฟนั้น ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด สัตว์ย่อมทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่ เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่งด้วย ก็พระโคดมผู้เจริญ จะทรงบัญญัติอะไรแก่สัตว์นี้ใน เพราะอุปาทานเล่า ฯ พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่ง ด้วย เราย่อมบัญญัติอุปาทาน คือ ตัณหานั่นแล ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น ฯ
จบสูตรที่ ๙
อานันทสูตร
[๘๐๑] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ อัตตามีอยู่หรือ เมื่อวัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงดุษณีเสีย วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอีกว่า ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ ก็อัตตาไม่มีหรือ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงดุษณีเสีย เหมือนกัน ครั้นแล้ว วัจฉโคตรปริพาชกก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งหลีกไป ฯ [๘๐๒] ครั้งนั้น เมื่อวัจฉโคตรปริพาชกหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระ อานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุอะไรหนอ พระผู้มีพระภาคอันวัจฉโคตรปริพาชกทูลถามปัญหาแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่ หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของ พวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นสัสสตทิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วม กับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นอุจเฉททิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตร- *ปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ ของเรานั้น จักอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา บ้างหรือหนอ ฯ อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าหากเราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ จะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นคงจักเป็นไปเพื่อความหลงงมงาย แก่วัจฉโคตรปริพาชกผู้งมงายอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนอัตตาของเราได้มีแล้วแน่นอน บัดนี้ อัตตานั้นไม่มี ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
สภิยสูตร
[๘๐๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสภิยกัจจานะอยู่ ณ ที่พักซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้านญาติ ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปหาท่านพระสภิยกัจจานะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านสภิยกัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสภิยกัจจานะว่า ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านพระสภิย- *กัจจานะตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก หรือ ฯ ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อม ไม่เกิดอีกก็มีหรือ ฯ ส. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป แล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มี พระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ดูกรกัจจานะ ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ท่านก็ ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสมณโคดมไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ ส. ดูกรวัจฉะ เหตุอันใดและปัจจัยอันใดเพื่อการบัญญัติว่า สัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญา ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เหตุอันนั้นและปัจจัยอันนั้น พึงดับทุกๆ อย่าง หาเศษมิได้ บุคคลเมื่อบัญญัติสัตว์ ว่าสัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์หาสัญญามิได้ก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี พึงบัญญัติด้วยอะไร ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ ท่านบวชนานเท่าไร ฯ ส. ไม่นาน ได้สามพรรษา ฯ ว. ดูกรท่านผู้มีอายุ การกล่าวแก้ของผู้ที่กล่าวแก้ได้มากถึงเท่านี้ ก็เมื่อ การกล่าวแก้ไพเราะอย่างนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องพูดอะไรกันอีก ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
จบ อัพยากตสังยุตต์
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เขมาเถรีสูตร ๒. อนุราธสูตร ๓. สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑ ๔. สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒ ๕. สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓ ๖. สาริปุตต- *โกฏฐิตสูตรที่ ๔ ๗. โมคคัลลานสูตร ๘. วัจฉสูตร ๙. กุตุหลสาลา สูตร ๑๐. อานันทสูตร ๑๑. สภิยสูตร ฯ
จบสฬายตนวรรคสังยุตต์
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในสังยุตต์นี้ คือ
๑. สฬายตนสังยุตต์ ๒. เวทนาสังยุตต์ ๓. มาตุคามสังยุตต์ ๔. ชัมพุขาทกสังยุตต์ ๕. สามัณฑกสังยุตต์ ๖. โมคคัลลานสังยุตต์ ๗. จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ๘. คามณิสังยุตต์ ๙. อสังขตสังยุตต์ ๑๐. อัพยากตสังยุตต์ ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๙๙๒๙-๑๐๐๕๙ หน้าที่ ๔๒๗-๔๓๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=9929&Z=10059&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=799&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=799&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=18&item=799&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=18&item=799&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=799              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]