ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๓
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๒๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนคร กบิลพัสดุ์ สักกชนบท. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์เข้าไปสู่สำนักภิกษุณี แล้วกล่าวสอนภิกษุณี ฉัพพัคคีย์อยู่. ภิกษุณีทั้งหลายได้กล่าวคำนี้กะภิกษุณีฉัพพัคคีย์ว่า มาเถิด แม่เจ้าทั้งหลาย พวกเราจัก ไปรับโอวาทกัน. ภิกษุณีฉัพพัคคีย์พูดว่า แม่เจ้าทั้งหลาย พวกเราจะต้องไปเพราะเหตุแห่งโอวาททำไม เพราะพระคุณเจ้าฉัพพัคคีย์กล่าวสอนพวกเราอยู่ ณ ที่นี้แล้ว. ภิกษุณีทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงเข้ามากล่าว สอนพวกภิกษุณีถึงสำนักภิกษุณีเล่า? แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. บรรดาภิกษุที่มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้ เข้าไปกล่าวสอนพวกภิกษุณี ถึงสำนักภิกษุณีเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอเข้าไป กล่าวสอนพวกภิกษุณี ถึงสำนักภิกษุณี จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้เข้าไป กล่าวสอนพวกภิกษุณีถึงสำนักภิกษุณีเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๓๒. ๓. อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี แล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
เรื่องพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
[๔๓๐] ต่อจากสมัยนั้นมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีอาพาธ. พระเถระทั้งหลาย พากันเข้าไปเยี่ยมพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีถึงสำนัก แล้วได้กล่าวคำนี้กะพระเถรีว่า ดูกรพระโคตมี ท่านยังพอทนได้หรือ? ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ?. พระมหาปชาบดีโคตมีตอบว่า ดิฉันทนไม่ไหว ให้อัตภาพเป็นไปไม่ได้ เจ้าข้า ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดแสดงธรรมเถิด เจ้าข้า. ดูกรน้องหญิง การเข้ามาสู่สำนักภิกษุณีแล้วแสดงธรรมแก่ภิกษุณียังไม่สมควรก่อน พระเถระเหล่านั้นกล่าวดังนี้แล้วต่างก็รังเกียจอยู่ ไม่แสดงธรรม ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปเยี่ยม พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีถึงสำนัก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย แล้วได้ตรัสคำนี้กะพระ- *มหาปชาบดีโคตมีว่า ดูกรโคตมี เธอยังพอทนได้หรือ? ยังพอให้อัตภาพเป็นไปได้หรือ? พระมหาปชาบดีโคตมีกราบทูลว่า เมื่อก่อนพระเถระทั้งหลายพากันมาแสดงธรรมแก่ หม่อมฉัน เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงมีความสำราญ แต่บัดนี้ ท่านกล่าวว่า พระองค์ทรงห้ามแล้ว จึงรังเกียจ ไม่แสดง เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงไม่มีความสำราญ พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ครั้นแล้วพระองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าไปสู่สำนักภิกษุณีแล้วสั่งสอนภิกษุณีผู้อาพาธได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระอนุบัญญัติ
๗๒. ๓. ข. อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณีแล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์. สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือ ภิกษุณีอาพาธ นี้เป็น สมัยในเรื่องนั้น.
เรื่องพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๔๓๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง ประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ที่อาศัยแห่งภิกษุณี ได้แก่สถานเป็นที่พักแรมของพวกภิกษุณี แม้เพียง คืนเดียว. บทว่า เข้าไป คือ ไปในสถานที่นั้น. บทว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย. บทว่า สั่งสอน ความว่า ภิกษุกล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นสมัย. ที่ชื่อว่า ภิกษุณีอาพาธ ได้แก่ ภิกษุณีไม่สามารถจะไปรับโอวาทหรือไปร่วมประชุมได้.
บทภาชนีย์
ติกะปาจิตตีย์
[๔๓๒] อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณี เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี เว้นแต่สมัย สั่งสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสงสัยเข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี เว้นไว้แต่สมัย สั่งสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบันภิกษุณี เข้าไปสู่ที่อาศัยแห่งภิกษุณี เว้นไว้ แต่สมัย สั่งสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
จตุกกะทุกกฏ
ภิกษุสั่งสอนด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุสั่งสอนภิกษุณีผู้อุปสมบทแต่สงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบันภิกษุณี สั่งสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
อนุปสัมบันภิกษุณี ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบันภิกษุณี ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๔๓๓] ภิกษุสั่งสอนในสมัย ๑ ภิกษุให้อุเทศ ๑ ภิกษุให้ปริปุจฉา ๑ ภิกษุอันภิกษุณี กล่าวว่า นิมนต์ท่านสวดเถิด เจ้าข้า ดังนี้ สวดอยู่ ๑ ภิกษุถามปัญหา ๑ ภิกษุถูกถามปัญหา แล้วแก้ ๑ ภิกษุสั่งสอนเพื่อประโยชน์แห่งผู้อื่น แต่ภิกษุฟังอยู่ด้วย ๑ ภิกษุสั่งสอน สิกขมานา ๑ ภิกษุสั่งสอนสามเณรี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๙๕๘๐-๙๖๖๔ หน้าที่ ๓๙๕-๓๙๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=9580&Z=9664&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=429&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=429&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=429&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=429&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=429              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]