ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
โมรนิวาปสูตรที่ ๓
[๕๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีปรกติประพฤติ พรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้เป็นไฉน คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาญาณะ ความรู้ชอบ ๑ สัมมาวิมุติ ความหลุดพ้นชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะ ล่วงส่วน มีปรกติประพฤติพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบโยธาชีววรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โยธสูตร ๒. ปริสสูตร ๓. มิตตสูตร ๔. อุปปาทสูตร ๕. เกสกัมพลสูตร ๖. สัมปทาสูตร ๗. วุฑฒิสูตร ๘. อัสสสูตรที่ ๑ ๙. อัสสสูตรที่ ๒ ๑๐. อัสสสูตรที่ ๓ ๑๑. โมรนิวาปสูตรที่ ๑ ๑๒. โมรนิวาป สูตรที่ ๒ ๑๓. โมรนิวาปสูตรที่ ๓ ฯ
-----------------------------------------------------
มังคลวรรคที่ ๕
อกุศลสูตร
[๕๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องตก- *นรก เหมือนกับถูกนำไปฝังไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรม ฝ่าย อกุศล ๑ วจีกรรมฝ่ายอกุศล ๑ มโนกรรมฝ่ายอกุศล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องตกนรก เหมือนกับถูกนำไปฝังไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องได้ขึ้นสวรรค์เหมือนกับ เชิญไปวางไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมฝ่ายกุศล ๑ วจีกรรม ฝ่ายกุศล ๑ มโนกรรมฝ่ายกุศล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องได้ขึ้นสวรรค์เหมือนกับเชิญไปวางไว้ ฯ
สาวัชชสูตร
[๕๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องตก- *นรก เหมือนกับถูกนำไปฝังไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรม ที่มีโทษ ๑ วจีกรรมที่มีโทษ ๑ มโนกรรมที่มีโทษ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องตกนรก เหมือนกับถูกนำไปฝังไว้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องได้ขึ้นสวรรค์เหมือนกับ เชิญไปวางไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมที่ไม่มีโทษ ๑ วจีกรรม ที่ไม่มีโทษ ๑ มโนกรรมที่ไม่มีโทษ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญไปวางไว้ ฯ
วิสมสูตร
[๕๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องตก- *นรก เหมือนกับถูกนำเอาไปฝังไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรม ที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ วจีกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ มโนกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องตกนรก เหมือน กับถูกนำเอาไปฝังไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการต้องได้ ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปวางไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรม ที่สม่ำเสมอ ๑ วจีกรรมที่สม่ำเสมอ ๑ มโนกรรมที่สม่ำเสมอ ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับ เชิญไปวางไว้ ฯ
อสุจิสูตร
[๕๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้อง ตกนรก เหมือนกับถูกนำเอาไปฝังไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรม ที่ไม่สะอาด ๑ วจีกรรมที่ไม่สะอาด ๑ มโนกรรมที่ไม่สะอาด ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องตกนรก เหมือนกับถูกนำ เอาไปฝังไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปวางไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมที่สะอาด ๑ วจีกรรมที่สะอาด ๑ มโนกรรมที่สะอาด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วย ธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปวางไว้ ฯ
ขตสูตรที่ ๑
[๕๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มี โทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึงติเตียน และต้องประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมฝ่ายอกุศล ๑ วจีกรรมฝ่ายอกุศล ๑ มโนกรรมฝ่ายอกุศล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เป็น ผู้มีโทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึงติเตียน และต้องประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เป็นผู้ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่พึง ติเตียน และได้ประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรม ฝ่ายกุศล ๑ วจีกรรมฝ่ายกุศล ๑ มโนกรรมฝ่ายกุศล ๑ ฯลฯ ฯ
ขตสูตรที่ ๒
[๕๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฯลฯ คือ กายกรรมที่มีโทษ ๑ วจีกรรมที่มี โทษ ๑ มโนกรรมที่มีโทษ ๑ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบ แหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฯลฯ คือ กายกรรมที่ไม่มีโทษ ๑ วจีกรรม ที่ไม่มีโทษ ๑ มโนกรรมที่ไม่มีโทษ ๑ ฯลฯ ฯ
ขตสูตรที่ ๓
[๕๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฯลฯ คือ กายกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ วจีกรรม ที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ มโนกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษ ผู้ฉลาด เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฯลฯ คือ กายกรรมที่ สม่ำเสมอ ๑ วจีกรรมที่สม่ำเสมอ ๑ มโนกรรมที่สม่ำเสมอ ๑ ฯลฯ ฯ
ขตสูตรที่ ๔
[๕๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้โง่เขลา ไม่เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ คือ กายกรรมที่ไม่สะอาด ๑ วจีกรรมที่ไม่สะอาด ๑ มโนกรรมที่ไม่สะอาด ๑ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฯลฯ คือ กายกรรมที่สะอาด ๑ วจีกรรมที่ สะอาด ๑ มโนกรรมที่สะอาด ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูก ทำลาย ย่อมเป็นผู้ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่พึงติเตียน และได้ประสบบุญเป็น อันมาก ฯ
วันทนาสูตร
[๕๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไหว้ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ไหว้ทางกาย ๑ ไหว้ทางวาจา ๑ ไหว้ทางใจ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไหว้ ๓ อย่างนี้แล ฯ
สุปุพพัณหสูตร
[๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลา เช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วย วาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของ สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่า นั้น สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็น ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา วจีกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา มโนกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา สัตว์ทั้งหลายทำ กรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว ย่อมได้ผลประโยชน์อัน เป็นส่วนเบื้องขวา ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว จงได้รับ ความสุข จงงอกงามในพระพุทธศาสนา จงไม่มีโรค ถึง ความสุข พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ
จบมังคลวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อกุศลสูตร ๒. สาวัชชสูตร ๓. วิสมสูตร ๔. สุจริตสูตร ๕. ขตสูตรที่ ๑ ๖. ขตสูตรที่ ๒ ๗. ขตสูตรที่ ๓ ๘. ขตสูตรที่ ๔ ๙. วันทนาสูตร ๑๐. สุปุพพัณหสูตร ฯ
ตติยปัณณาสก์จบบริบูรณ์
-----------------------------------------------------
พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์
[๕๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อาคาฬหปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า ๑ นิชฌามปฏิปทา ข้อปฏิบัติ อย่างเหี้ยมเกรียม ๑ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างกลาง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาคาฬหปฏิปทาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิ อย่างนี้ว่า โทษในกามไม่มี เขาย่อมถึงความเป็นผู้ตกไปในกาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็นิชฌามปฏิปทาเป็นไฉน อเจลกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไร้มรรยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากกะเช้า ไม่รับ ภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับ ภิกษาที่คนสองคนกำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของ หญิงที่กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่ นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่ได้รับเลี้ยงดูสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวัน ไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมัก ดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษา ที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง ... รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียว บ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ๒ ใบบ้าง ... เยียวยาอัตภาพด้วย ภิกษาในถาดน้อย ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง ๒ วันบ้าง ... ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือน เช่นนี้ อเจลกนั้น เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูก เดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็น ภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง บริโภคผลไม้หล่น เยียวยาอัตภาพ อเจลกนั้นทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุล บ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้า เปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำ ด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือ ห้ามอาสนะ บ้าง เป็นผู้กระโหย่งคือประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบน หนาม คือ สำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวาย ในการ ทำร่างกายให้เดือดร้อนกระสับกระส่ายหลายวิธีดังกล่าวมา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ เรียกว่านิชฌามปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาเป็นไฉน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้แล ฯ [๕๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉนคือ อาคาฬหปฏิปทา ๑ นิชฌามปฏิปทา ๑ มัชฌิมาปฏิปทา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาคาฬหปฏิปทาเป็นไฉน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็นิชฌามปฏิปทาเป็นไฉน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า นิชฌามปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมามปฏิปทาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อยังธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อละธรรม อันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อ ความตั้งมั่น ไม่เสื่อมสูญ เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่ เกิดขึ้นแล้ว ... เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทะสมาธิ และปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิและปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทอัน ประกอบด้วยจิตสมาธิและปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสา- *สมาธิและปธานสังขาร ... เจริญสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ... เจริญสัทธาพละ วิริยพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ... เจริญ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ... เจริญสัมมา ทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้แล ฯ [๕๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้อง ตกนรก เหมือนกับถูกนำเอาไปฝังไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ฆ่าสัตว์ ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องตกนรก เหมือนกับ ถูกนำเอาไปฝังไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปวางไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ เว้นขาดจากการฆ่า สัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการงด เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ ... ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการลักทรัพย์ ๑ พอใจในการลักทรัพย์ ๑ ... งดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่น ในการงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑ พอใจในการงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑ ... ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการประพฤติผิดในกาม ๑ พอใจ ในการประพฤติผิดในกาม ๑ ... งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑ ชักชวนผู้ อื่นในการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑ พอใจในการงดเว้นจากการประพฤติ ผิดในกาม ๑ ... พูดเท็จด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการพูดเท็จ ๑ พอใจใน การพูดเท็จ ๑ ... งดเว้นจากการพูดเท็จด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้น จากการพูดเท็จ ๑ พอใจในการงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ ... กล่าวคำส่อเสียดด้วย ตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในคำส่อเสียด ๑ พอใจในคำส่อเสียด ๑ ... งดเว้นจาก คำส่อเสียดด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากคำส่อเสียด ๑ พอใจใน การงดเว้นจากคำส่อเสียด ๑ ... กล่าวคำหยาบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในคำ หยาบ ๑ พอใจในคำหยาบ ๑ ... งดเว้นจากคำหยาบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่น ในการงดเว้นจากคำหยาบ ๑ พอใจในการงดเว้นจากคำหยาบ ๑ ... กล่าวคำเพ้อ เจ้อด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในคำเพ้อเจ้อ ๑ พอใจในคำเพ้อเจ้อ ๑ ... เว้น ขาดจากคำเพ้อเจ้อด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากคำเพ้อเจ้อ ๑ พอ ใจในการงดเว้นจากคำเพ้อเจ้อ ๑ ... เป็นผู้ละโมภด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นใน ความละโมภ ๑ พอใจในความละโมภ ๑ ... ไม่มากด้วยความละโมภด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความไม่ละโมภ ๑ พอใจในความไม่ละโมภ ๑ ... มีจิตพยาบาท ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความพยาบาท ๑ พอใจในความพยาบาท ๑ ... มี จิตไม่พยาบาทด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความไม่พยาบาท ๑ พอใจในความ ไม่พยาบาท ๑ ... มีความเห็นผิดด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความเห็นผิด ๑ พอใจในความเห็นผิด ๑ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปวางไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ มีความเห็นชอบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความเห็นชอบ ๑ พอใจในความ เห็นชอบ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องได้ ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปวางไว้ ฯ [๕๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงควร เจริญธรรม ๓ ประการ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญา อันยิ่ง จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพื่อกำหนดรู้ราคะ ฯลฯ เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อ ความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสละ เพื่อความสละคืนราคะ จึงควรเจริญ ธรรม ๓ ประการ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความ สิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสละ เพื่อความสละคืน โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ ทมะ ปมาทะ จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ ฉะนี้แล ฯ
จบติกนิบาต
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๗๗๑๐-๗๙๓๓ หน้าที่ ๓๓๐-๓๔๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=7710&Z=7933&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=585&items=15              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=585&items=15&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=20&item=585&items=15              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=20&item=585&items=15              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=585              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]