ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๗. ยถาสันถติกสูตร
[๑๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้ อย่างไรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. เอกาสนิกสูตร
[๑๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็น วัตร ๕ จำพวกนี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๘
๙. ขลุปัจฉาภัตติกสูตร
[๑๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือห้ามภัตอันนำมาถวาย เมื่อภายหลัง เป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. ปัตตปิณฑิกสูตร
[๑๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวก นี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุเป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะโง่ เขลา เพราะหลงงมงาย ๑ มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงเป็น ผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๑ เป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑ เป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะรู้ว่าเป็นวัตรอัน พระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑ เป็นผู้ถือฉันเฉพาะ ในบาตรเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือฉัน เฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร เป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนย ใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นเลิศในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น ฉันใด ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือฉัน เฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตร เป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบอรัญญวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อารัญญกสูตร ๒. ปังสุกูลิกสูตร ๓. รุกขมูลิกสูตร ๔. โสสานิกสูตร ๕. อัพโภกาสิกสูตร ๖. เนสัชชิกสูตร ๗. ยถาสันถติก- *สูตร ๘. เอกาสนิกสูตร ๙. ขลุปัจฉาภัตติกสูตร ๑๐. ปัตตปิณฑิกสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
พราหมณวรรคที่ ๕
๑. โสณสูตร
[๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ๕ ประการนี้ บัดนี้ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ธรรม ๕ ประการเป็น ไฉน คือ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ กะหญิงที่ไม่ใช่พราหมณี บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีบ้าง ย่อมสม สู่กะหญิงที่ไม่ใช่พราหมณีบ้าง บัดนี้ พวกสุนัขย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมียเท่านั้น ไม่สมสู่กะสัตว์ตัวเมียที่ไม่ใช่พวกสุนัข นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๑ บัดนี้ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวก พราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะพราหมณีที่ไม่มีระดู บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่มีระดูบ้าง ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่ไม่ มีระดูบ้าง บัดนี้ พวกสุนัขย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมียที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะ สุนัขตัวเมียที่ไม่มีระดู นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๒ บัดนี้ปรากฏใน พวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อม ไม่ซื้อไม่ขายพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วยความรักความผูกพัน บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมซื้อบ้าง ย่อมขายบ้างซึ่งพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไป ด้วยความรักความผูกพัน บัดนี้ พวกสุนัขย่อมไม่ซื้อไม่ขายสุนัขตัวเมีย ยังการ อยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วยความรักความผูกพัน นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ข้อที่ ๓ บัดนี้ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อมไม่ทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงิน- *บ้าง ทองบ้าง บัดนี้ พวกสุนัขย่อมไม่ทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๔ บัดนี้ ย่อมปรากฏ ในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ ย่อมแสวงหาอาหารเย็นเพื่อกินในเวลาเย็น อาหารเช้าเพื่อกินในเวลาเช้า บัดนี้ พวกพราหมณ์บริโภคอาหารจนอิ่มตามต้องการแล้ว ย่อมถือเอาส่วนที่เหลือไป บัดนี้ พวกสุนัขย่อมแสวงหาอาหารเย็นเพื่อกินในเวลาเย็น อาหารเช้าเพื่อกินในเวลาเช้า นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๕ บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏ ในพวกพราหมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ ๕ ประการนี้แล บัดนี้ ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์ ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. โทณสูตร
[๑๙๒] ครั้งนั้นแล โทณพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณะโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญ ด้วยอาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนั้นเห็นจะเป็น เหมือนอย่างนั้น เพราะท่านพระโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วย อาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนี้ไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโทณะ แม้ท่านก็ย่อมปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์มิใช่ หรือ ฯ ท. ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ใดเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวว่าเป็นพราหมณ์ อุภโตสุชาติทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์ อิติหาสะเป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ผู้นั้นเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงหมายซึ่งข้าพระองค์ นั้นเทียว เพราะข้าพระองค์เป็นพราหมณ์อุภโตสุชาติทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์ เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุ และเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทายมหาปุริสลักษณะ ฯ พ. ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอก มนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่าน ขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ท่าน กล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวกนี้ คือ พราหมณ์ ผู้เสมอด้วยพรหม ๑ พราหมณ์เสมอด้วยเทวดา ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑ พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕ ดูกรโทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหนในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น ฯ โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ แต่ข้าพระองค์รู้ว่าเป็นพราหมณ์เท่านั้น ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงธรรมแก่ ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ ฯ พ. ดูกรโทณะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ โทณพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ ตรัสว่า ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้เป็น อุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมารพรหม- *จรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่อ อาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหา นั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การ เป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจาร อย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ มีใจประกอบด้วย เมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... ประกอบด้วยมุทิตา ... ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้อง บน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เธอเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการนี้แล้ว เมื่อ ตายไปย่อมเข้าถึงสุคติพรหมโลก ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้ชื่อว่าเสมอด้วยพรหม อย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครๆ จะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรม ไม่แสวงหาอย่างไม่เป็นธรรม ก็ธรรม ในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือ กระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรม ในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ ด้วยการขาย ย่อม แสวงหาพราหมณีเฉพาะที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ด้วยสตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่าง ทำรถ เทหยากเยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู ดูกรโทณะ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่ สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมี ครรภ์ไซร้ มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูก อ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมี ลูกอ่อน พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความ สนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว จึงปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาบวชแล้วอย่างนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอ เจริญฌานทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกร- *โทณะ พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีอย่างไร พราหมณ์ในโลก นี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับ บูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรม ในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือ กระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมใน การแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ การขาย ย่อมแสวงหา พราหมณีเฉพาะผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่ สตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเหยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู ดูกรโทณะ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ย่อมสมสู่สตรีมีครรภ์ ไซร้ มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูก อ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพหรือมาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูก อ่อน พราหมณีนั้นย่อมเป็นพราหมณีของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความ สนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว ปรารถนา ความยินดีในบุตรหรือธิดานั้น ครอบครองทรัพย์สมบัติ ไม่ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาดำรงอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด พราหมณ์ผู้ ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้ แล ชาวโลกจึงเรียกว่าพราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้ มีความประพฤติดีอย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีชั่วอย่างไร พราหมณ์ใน โลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์ อยู่ ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชา อาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมใน การแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยกสิกรรม พณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยว ภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหา ภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อม แสวงหาพราหมณีผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้น กษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นจักสาน บ้าง ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่ มีระดูบ้าง พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความ สนุกบ้าง ความยินดีบ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของ พราหมณ์แต่ปางก่อน ล่วงละเมิดพราหมณ์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของ พราหมณ์แต่ปางก่อน ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้ พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่าผู้มี ความประพฤติดีและชั่ว ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีและชั่วอย่าง นี้แล ฯ ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างไร พราหมณ์ในโลก นี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับ บูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยกสิกรรมบ้าง ด้วยพาณิชยกรรมบ้าง ด้วยโครักขกรรมบ้าง ด้วยการเป็นนักรบบ้าง ด้วยการรับ ราชการบ้าง ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อมแสวงหาพราหมณีที่ เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์ บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นช่างจักสานบ้าง ชั้นช่างทำรถ บ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง พราหมณี นั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดี บ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง พวกพราหมณ์ ได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุไรจึงสำเร็จการ เลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง เขาได้ตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนไฟ ย่อมไหม้สิ่งที่สะอาดบ้าง สิ่งที่ไม่สะอาดบ้าง แต่ไฟย่อมไม่ติดด้วยสิ่งนั้น แม้ ฉันใด ถ้าแม้พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่างไซร้ แต่พราหมณ์ย่อม ไม่ติดด้วยการงานนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงาน ทุกอย่าง เพราะเหตุดังนี้แล พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่า พราหมณ์จัณฑาล ดูกร โทณะ พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างนี้แล ฯ ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีที่เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอก มนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่าน ขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่าน กล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวก คือ พราหมณ์ ผู้เสมอด้วยพรหม ๑ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยเทวดา ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติ ดี ๑ พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑ พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕ ดูกร โทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหน ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น ฯ โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์ย่อมไม่ยัง แม้พราหมณ์จัณฑาลให้เต็มได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศ ธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอด ชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. สังคารวสูตร
[๑๙๓] ครั้งนั้นแล สังคารวพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มนต์แม้ที่ทำการ สาธยายตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งในกาลบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ ไม่ทำการสาธยาย และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มนต์แม้ที่ไม่ได้ทำการ สาธยายตลอดกาลนาน ก็แจ่มแจ้งได้ในกาลบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำ การสาธยาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอัน กามราคะกลุ้มรุม อันกามราคะครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง ธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น บุคคลย่อมไม่รู้ไม่ เห็นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึง มนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำ ซึ่งระคนด้วยครั่ง ขมิ้น สีเขียว หรือสีเหลืองอ่อน บุรุษมีตาดี มองดูเงาหน้าของตนในภาชนะอัน เต็มด้วยน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอันกามราคะกลุ้มรุม อันกามราคะครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัย นั้น บุคคลย่อมไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริงแม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่ แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันพยาบาทกลุ้มรุม อันพยาบาทครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออก แห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่ม แจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็ม ด้วยน้ำร้อนเพราะไฟ เดือดพล่านเป็นไอ บุรุษมีตาดีมองดูเงาหน้าของตนใน ภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอันพยาบาทกลุ้มรุม อันพยาบาทครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำ การสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันถีนมิทธะกลุ้ม รุม อันถีนมิทธะครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่อง สลัดออกแห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาล นานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะ ที่เต็มด้วยน้ำอันสาหร่ายและแหนปกคลุมแล้ว บุรุษมีตาดีมองดูเงาหน้าของตนใน ภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอันถีนมิทธะกลุ้มรุมอันถีนมิทธะครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัด ตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์ แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการ สาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันอุทธัจจกุกกุจจะ กลุ้มรุม อันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรม เป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ทำการ สาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำ อันลมพัด ไหว วน เป็นคลื่น บุรุษมีตาดีมองดู เงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอันอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม อันอุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่ง อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่ แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันวิจิกิจฉากลุ้มรุม อันวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออก แห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่ม แจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วย น้ำขุ่น มัว เป็นตม ที่เขาวางไว้ในที่มืด บุรุษมีตาดีมองดูเงาหน้าของตนใน ภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ สมัยใด บุคคลมีใจอันวิจิกิจฉากลุ้มรุม อันวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และย่อมไม่รู้ชัด ตามเป็นจริงซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์ แม้ที่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการ สาธยายฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็สมัยใดแล บุคคลมีใจอันกามราคะไม่กลุ้มรุม อันกามราคะ ไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกาม ราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัยนั้น บุคคลย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริงแม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอด กาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะอัน เต็มด้วยน้ำซึ่งไม่ระคนด้วยครั่ง ขมิ้น สีเขียว หรือสีเหลืองอ่อน บุรุษมีตาดีมอง ดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น พึงรู้พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด สมัยใด บุคคลมีใจอันกามราคะไม่กลุ้มรุม อันกามราคะไม่ครอบงำอยู่และย่อม รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว สมัย นั้น บุคคลย่อมรู้ย่อมเห็นตามเป็นจริงแม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันพยาบาทไม่กลุ้ม รุม อันพยาบาทไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่อง สลัดออกแห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์ที่ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนาน ก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะที่เต็มด้วย น้ำไม่ร้อนเพราะไฟ ไม่เดือดพล่าน ไม่เป็นไอ บุรุษมีตาดีมองดูเงาหน้าของตน ในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น พึงรู้พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด สมัยใด บุคคล มีใจอันพยาบาทไม่กลุ้มรุม อันพยาบาทไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ไม่ทำการ สาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย ฉันนั้น เหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันถีนมิทธะไม่ กลุ้มรุม อันถีนมิทธะไม่ครอบงำ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็น เครื่องสลัดออกแห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยาย ตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือน ภาชนะที่เต็มด้วยน้ำ อันสาหร่ายและแหนไม่ปกคลุมแล้ว บุรุษมีตาดีมองดูเงา หน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น พึงรู้พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ฉันใด สมัย ใด บุคคลมีใจอันถีนมิทธะไม่กลุ้มรุม อันถีนมิทธะไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัด ตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์ แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวมนต์ที่ทำการสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่กลุ้มรุม อันอุทธัจจกุกกุจจะไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรม เป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ไม่ทำการ สาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย เปรียบ เหมือนภาชนะที่เต็มด้วยน้ำอันลมไม่พัด ไม่ไหว ไม่วน ไม่เป็นคลื่น บุรุษมี ตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น พึงรู้พึงเห็นตามเป็นจริง แม้ ฉันใด บุคคลมีใจอันอุทธัจจกุกกุจจะไม่กลุ้มรุม อันอุทธัจจกุกกุจจะไม่ครอบงำ อยู่ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งอุทธัจจกุกกุจจะ ที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้อง กล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง สมัยใด บุคคลมีใจอันวิจิกิจฉาไม่ กลุ้มรุม อันวิจิกิจฉาไม่ครอบงำ และย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่อง สลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอด กาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย เปรียบเหมือนภาชนะ ที่เต็มด้วยน้ำอันใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว ที่เขาวางไว้ในที่สว่าง บุรุษมีตาดีมองดูเงาหน้า ของตนในภาชนะที่เต็มด้วยน้ำนั้น พึงรู้พึงเห็นตามเป็นจริงได้ แม้ฉันใด สมัยใด บุคคลมีใจอันวิจิกิจฉาไม่กลุ้มรุม อันวิจิกิจฉาไม่ครอบงำอยู่ และย่อมรู้ชัดตาม เป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ มนต์แม้ที่ ไม่ทำการสาธยายตลอดกาลนานก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มนต์แม้ที่ทำการสาธยาย ตลอดกาลนานไม่แจ่มแจ้งได้ในกาลบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ไม่ทำการ สาธยาย และนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มนต์แม้ที่ไม่ทำการสาธยายตลอด กาลนานก็แจ่มแจ้งได้ในกาลบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ทำการสาธยาย ฯ สังคารวพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มี จักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๓
๔. การณปาลีสูตร
[๑๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงานของเจ้าลิจฉวีอยู่ ได้เห็นปิงคิยานีพราหมณ์เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามว่า อ้อ ท่านปิงคิยานี มาจากไหนแต่ยังวัน (แต่วันนัก) ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า ข้าพเจ้ามาจากสำนัก พระสมณโคดม ฯ กา. ท่านปิงคิยานีย่อมเข้าใจพระปรีชา (ความฉลาดด้วยปัญญา) ของ พระสมณโคดมว่า เห็นจะเป็นบัณฑิตนั้นอย่างไร ฯ ปิ. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไรจึงจักรู้พระปรีชาของ พระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้นพึงเป็นเช่นกับ พระสมณโคดมนั้นแน่นอน ฯ กา. ได้ยินว่า ท่านปิงคิยานีสรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก ฯ ปิ. ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไรจึงจักสรรเสริญพระสมณโคดม และ ท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสรรเสริญแล้วๆ ว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ กา. ก็ท่านปิงคิยานีเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงเลื่อมใสยิ่งนักใน พระสมณโคดมอย่างนี้ ฯ ปิ. ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ ปรารถนารสที่เลวเหล่าอื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิว และความอ่อนเพลียครอบงำ พึงได้รวงผึ้ง เขา พึงลิ้มรสโดยลักษณะใดๆ ก็ย่อมได้รสดีอันไม่เจือ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมได้ความดีใจ ย่อมได้ความเลื่อมใส แห่งใจ โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษพึงได้ไม้จันทน์แห่งจันทน์ เหลืองหรือจันทน์แดง พึงสูดกลิ่นจากที่ใดๆ เช่นจากราก จากลำต้น หรือ จากยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมดี กลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดม พระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ก็ย่อมได้ความปราโมทย์ ย่อมได้โสมนัส โดยลักษณะนั้น ฉันนั้น เปรียบเหมือนบุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาดพึง บำบัดอาพาธของเขาโดยเร็ว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไปโดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น เปรียบเหมือนสระน้ำมีน้ำใสน่าเพลินใจ น้ำเย็น น้ำขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนเพราะแดด ถูกแดดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย เดินมาถึง เขาลงไปในสระน้ำนั้น อาบ ดื่ม พึง ระงับ ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวง ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความกระวนกระวาย ความ เหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงของเขา ก็ย่อมระงับไป โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น ฯ เมื่อปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว การณปาลีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานสามครั้งว่า ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วกล่าวต่อไปว่า ท่านปิงคิยานี ภาษิต ของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุ สงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านปิงคิยานีจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๕๑๔๒-๕๕๕๖ หน้าที่ ๒๒๔-๒๔๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=5142&Z=5556&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=187&items=8              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=187&items=8&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=187&items=8              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=187&items=8              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=187              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]